ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม 2485

ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
ประกาศสงคราม
ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
  • พล ต. อาทิตย์ทิพอาภา
  • พล อ. พิชเยนทรโยธิน
  • ปรีดี พนมยงค์

โดยที่ฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้กระทำการรุกรานประเทศไทยมาเป็นลำดับ โดยส่งทหารรุกล้ำเขตต์แดนเข้ามาบ้าง และโดยฉะเพาะอย่างยิ่ง ได้ส่งเครื่องบินลอบเข้ามาทิ้งระเบิดบ้านเรือนของราษฎรผู้ประกอบการหาเลี้ยงชีพอย่างปกติ ทั้งระดมยิงราษฎรสามัญผู้ไร้อาวุธอย่างทารุณผิดวิสัยของอารยชน ไม่กระทำการอย่างเปิดเผยตามประเพณีนิยมระหว่างชาติ นับได้ว่า เป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและมนุษยธรรม ประเทศไทยจึงไม่สามารถที่จะทนดูต่อไปอีกได้

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้มีสถานะสงครามระหว่างประเทศไทย ฝ่ายหนึ่ง กับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา อีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่เวลาเที่ยงวัน วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นต้นไป

ฉะนั้น จึงให้ประชาชนชาวไทย ทุกเพศ ทุกวัย ร่วมมือร่วมใจกับรัฐบาล ปฏิบัติกิจการเพื่อให้ประเทศไทยประสบชัยชะนะถึงที่สุด และพ้นจากการรุกรานอันไม่เปนธรรมของฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยกระทำการสนับสนุนกิจการของรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียง และปฏิบัติตามคำสั่งของราชการอย่างเคร่งครัด ทั้งให้ประกอบอาชีพตามปกติของตนอย่างเต็มที่ ให้ได้ผลเพื่อนำมาช่วยเหลือและเกื้อกูลเพื่อนร่วมชาติและพันธมิตรของชาติอย่างมากที่สุด

ส่วนผู้อาศัยอยู่ในประเทศนี้ ที่มิได้เป็นคนไทย และมิได้เป็นชนชาติศัตรูนั้น ให้ตั้งอยู่ในความสงบ และดำเนินอาชีพอย่างปกติ และให้กระทำกิจการให้สมกับที่ตนได้รับยกย่องว่า เป็นมิตรของประเทศไทย

ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ เป็นปีที่ ๙ ในรัชชกาลปัจจุบัน

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • จอมพล ป. พิบูลสงคราม
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก