ปก ลงสารบัญ




ความทรงจำ


พระนิพนธ์


สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ


ที่ทรงค้างไว้ห้าตอน




พ.ศ. ๒๔๘๙



หน้า (๑) ขึ้นลงสารบัญ



ความทรงจำ


พระนิพนธ์


สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ


ที่ทรงค้างไว้ห้าตอน




พ.ศ. ๒๔๘๙



หน้า (๒) ขึ้นลงสารบัญ



ลูกพูน


ขอถวายพระกุศลเสด็จพ่อ


ด้วยความระลึกถึงอย่างไม่มีสิ่งใดเปรียบ


ในปีประสูติพิเศษเจ็ดรอบจอ




พิมพ์ในงานวันที่ ๑ ธันวาคม


วันสิ้นพระชนม์


ครอบรอบสามปี



หน้า (๓) ขึ้นลงสารบัญ




๑. Mr Francis George Patterson พระอาจารย์

๒. พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร

๓. พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร

๔. สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์

๕. พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์

๖. พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์



หน้า ก–ฆ ขึ้นลง



สารบัญ


หน้า
 
ตอนที่ ๑
เริ่มเรื่องประวัติ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
ประสูติ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
ได้พระราชทานพระนาม
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
ลักษณะการพระราชทานพระนามพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๔
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
เริ่มทรงศึกษา
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๐
การศึกษาของพระเจ้าลูกเธอ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๐
เรื่องพระประวัติเมื่อทรงพระเยาว์
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๔
เรื่องตามเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่หว้ากอ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๒๖
เรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรสวรรคต
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๓๑
 
ตอนที่ ๒
เรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อก่อนเสวยราชย์
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๓๕
เสด็จสมภพ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๓๕
เรื่องพระราชทานพระนาม
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๓๖
เรื่องพระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๔๑
เรื่องพระราชประวัติเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๔๓
เรื่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประชวรสวรรคต
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๔๕
เรื่องถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๔๖
เรื่องพระราชประวัติเมื่อตอนทรงผนวช
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๔๘
เรื่องทรงสอบความรู้พระปริยัติธรรม
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๕๑
เรื่องทรงตั้งคติธรรมยุติกา
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๕๖
เรื่องเสด็จเที่ยวธุดงค์
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๖๐
เรื่องพระราชประวัติตอนเสด็จอยู่วัดบวรนิเวศฯ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๖๑
เรื่องทรงเป็นกรรมการสอบความรู้พระปริยัติธรรม
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๖๔
เรื่องทรงศึกษาภาษาฝรั่ง
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๖๘
พิเคราะห์เรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงรับราชสมบัติ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๗๕
เหตุการณ์เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวร
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๘๑
เรื่องทรงรับราชสมบัติ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๘๓
เรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสวยราชย์แล้ว
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๘๕
เรื่องแก้ขนบธรรมเนียมประเภทต่าง ๆ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๙๕
การศาสนา
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๙๕
การพิธีสำหรับบ้านเมือง
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๙๙
ระเบียบยศศักดิ์
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๐๑
เรื่องพระราชานุกิจ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๐๗
เรื่องตีเมืองเชียงตุง
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๑๑
เรื่องจัดทหารบกทหารเรือ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๑๖
 
ตอนที่ ๓
เรื่องเมื่อเปลี่ยนรัชกาล
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๑๘
เรื่องพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรัชทายาท
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๒๒
เรื่องตั้งระเบียบวิธีว่าราชการแผ่นดิน
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๓๕
เรื่องระเบียบพระราชานุกิจในรัชกาลที่ ๕
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๓๗
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๓๙
เรื่องกงสุลอังกฤษลดธง
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๔๐
เรื่องอัฐปลอม
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๔๒
เรื่องเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๔๔
เรื่องพวกจีนตั้วเหี่ย (อั้งยี่)
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๔๖
 
ตอนที่ ๔
เรื่องเริ่มรัชกาลที่ ๕
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๕๐
เรื่องทหารไทยที่หัดตามแบบฝรั่ง
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๕๑
เรื่องสร้างวัดราชบพิธฯ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๕๕
เรื่องสร้างพระบรมรูปสี่รัชกาล
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๕๖
เรื่องสร้างพระที่นั่งใหม่
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๕๙
เรื่องตั้งระเบียบเครื่องราชอิสริยาภรณ์
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๖๑
ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เมื่อเริ่มรัชกาลใหม่
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๖๒
การศึกษาของเจ้านายในตอนต้นรัชกาลที่ ๕
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๖๕
การไปมาในกรุงเทพฯ สมัยนั้น
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๗๐
เรื่องการทะนุบำรุงบ้านเมืองในปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๗๔
เรื่องตั้งกรมทหารมหาดเล็ก
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๗๘
เรื่องเครื่องแบบแต่งกายฝ่ายพลเรือน
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๘๐
 
ตอนที่ ๕
เรื่องเสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๘๒
อธิบายมูลเหตุที่จะเสด็จไปต่างประเทศ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๘๒
แก้ไขขนบธรรมเนียมเดิมหลายอย่าง
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๘๔
เปลี่ยนแปลงประเพณีไว้ผมมหาดไทย
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๘๕
เสด็จประพาสสิงคโปร์ บะเตเวีย และสมารัง
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๘๗
เสด็จประพาสอินเดีย
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๙๔
เรื่องตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแก่ลูกผู้ดี
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๑๙๙
เรื่องเกิดอหิวาตกโรค
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๒๐๑
เรื่องเรียนภาษาอังกฤษ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๒๐๓
เรื่องประวัติครูแปตเตอร์สัน
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๒๐๖
เรื่องพระประวัติเมื่อทรงพระเยาว์ (ต่อ)
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๒๑๔
 




หน้า ๑–๓๔ ขึ้นลงสารบัญ



ความทรงจำของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ


(ลงมือแต่งวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖)




ตอนที่ ๑


เริ่มเรื่องประวัติ


พ.ศ. ๒๔๐๕–๒๔๑๑





ฉันเกิดในพระบรมมหาราชวังเมื่อปีจอ วันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน[1] พ.ศ. ๒๔๐๕ ประเพณีในราชสกุลสมัยนั้น เมื่อพระเจ้าลูกเธอประสูติ ถ้าเป็นพระองค์ชาย ได้พระราชทานพระขรรค์เล่มหนึ่งกับปืนพกกระบอกหนึ่ง ถ้าเป็นพระองค์หญิง ได้พระราชทานพระภูษาแพรคลุมพระองค์ผืนหนึ่ง เป็นของเฉลิมขวัญให้วางไว้ในกระด้งที่รองพระองค์ เมื่อประสูติแล้วได้สามวัน มีการพิธีเวียนเทียนสมโภชตำหนักที่ประสูติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงประทับเป็นประธาน ทรงรดน้ำพระมหาสังข์และเจิมพระราชทาน ฉันได้เฝ้า "ทูลกระหม่อม"[2] สมเด็จพระบรมชนกนาถของฉันเป็นครั้งแรกในวันนั้น ต่อนั้นมา เมื่อประสูติแล้วได้เดือนหนึ่ง มีการพิธีสมโภชอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า สมโภชเดือน เป็นการใหญ่กว่าสมโภชสามวัน[3] ต้องหาฤกษ์ทำในวันดี บางทีเกินวันครบเดือนไปหลาย ๆ วัน พิธีนั้นเริ่มด้วยพระสงฆ์เจริญพระปริตรตอนบ่ายเมื่อก่อนวันฤกษ์ ครั้นถึงวันฤกษ์ เวลาเช้า เลี้ยงพระ และสงฆ์อำนวยพรก่อน[4] แล้วจึงทำพิธีพราหมณ์ คือ โกนผมไฟ ไว้จุก แล้วพระครูพราหมณ์เอาลงอาบน้ำในขันสาคร ครั้นถึงเวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงประทับเป็นประธานในการพิธีเวียนเทียนสมโภช และทรงรดน้ำพระมหาสังข์ ทรงเจิมเหมือนครั้งก่อน สมโภชแล้วพระครูพราหมณ์อุ้มเอาขึ้นวางในพระอู่ไกวร่ายมนต์กล่อมสามลา เป็นเสร็จการพิธี ในวันพิธีสมโภชเดือนนี้ ทูลกระหม่อมพระราชทานของขวัญ คือ ทองคำสำหรับให้ทำเครื่องแต่งตัวกับเงินร้อยชั่ง (แปดพันบาท) สำหรับเป็นทุน และพระราชทานชื่อด้วย ฉันได้พระราชทานชื่อว่า "พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร" คนทั้งหลายเรียกกันว่า "พระองค์ดิศ" มาจนได้รับกรมในรัชกาลที่ ๕ นาม "ดิศ" ที่พระราชทานเป็นชื่อของฉันนั้นในทางพระศาสนาถือว่า มีสิริมงคล ด้วยเป็นพระนามพระพุทธเจ้าก็มี เป็นพระนามของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงพระเกียรติในการอุปถัมภกพระพุทธศาสนาก็มี แต่ตามคำของท่านผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติซึ่งรับราชการอยู่ใกล้ชิดพระองค์สมัยนั้น ท่านว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอานามของคุณตา (ท่านชื่อ "ดิศ" เป็นพระยาบำเรอภักดีอยู่ในเวลานั้น) มาพระราชทาน ด้วยทรงพระราชดำริว่า เป็นคนซื่อตรง เรื่องประวัติของคุณตานั้น ปู่ของท่านชื่อ บุญเรือง เดิมเป็นที่หลวงคลังเมืองสวรรคโลก ได้เป็นข้าหลวงเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีความชอบมาแต่ครั้งรบพม่าที่เมืองเหนือ ครั้นเสด็จผ่านพิภพจึงทรงตั้งให้เป็นที่พระจันทราทิตย์ในกรมสนมพลเรือน ต่อมา เลื่อนขึ้นเป็นพระยาในรัชกาลที่ ๑ นั้น[5] บุตรของพระยาจันทราทิตย์คนหนึ่งชื่อ เลี้ยง ไม่ปรากฏว่าได้ทำราชการตำแหน่งใด มีบุตรคือคุณตา เกิดแต่ในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่องานพระราชพิธีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงทรง คุณตาอายุได้เจ็ดขวบ พระยาจันทราทิตย์ผู้ปู่นำถวายสมโภช จึงได้เป็นมหาดเล็กหลวงเดิมอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ยังทรงพระเยาว์มา ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพได้เป็นพระมหาอุปราช ทรงคุ้นเคยกับนายเลี้ยง บิดาของท่านมาแต่ก่อน จึงโปรดตั้งให้เป็นที่จมื่นอินทรประพาสในกรมวังวังหน้า เวลานั้น พระยาจันทราทิตย์ถึงอนิจกรรมแล้ว จมื่นอินทรประพาสจะเอาคุณตาไปถวายตัวทำราชการให้มียศศักดิ์ในวังหน้า คุณตาไม่ยอมไป ว่า "ไม่ขอเป็นข้าสองเจ้า" ถึงจะเป็นอย่างไรก็จะอยู่เป็นข้าแต่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว แล้วอยู่สนองพระเดชพระคุณมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ จึงทรงยกย่องความซื่อตรงของท่าน เล่ากันมาอย่างนี้ และมีความปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งหนึ่ง ทรงบริภาษพวกข้าหลวงเดิมว่า เห็นผู้อื่นมีบุญ ก็มักเอาใจออกหาก เคยเห็นใจมาเสียแล้ว จะไม่เป็นเช่นนั้นก็แต่ "อ้ายเฒ่าดิศ" (กับใครอีกสองคน) พระราชดำรัสนี้ดูประกอบคำที่เล่าให้เห็นว่าเป็นความจริง[6]

ลักษณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามพระเจ้าลูกเธอนั้น ทรงเขียนลายพระราชหัตถ์เป็นสองฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นอักษรและภาษาไทยพระราชทานนาม อีกฉบับหนึ่งเป็นอักษรอริยกะ[7] และภาษามคธ ทรงพระราชนิพนธ์เป็นคาถาพระราชทานพร คาถาที่พระราชทานพรฉันว่า

สุขี อยํ โหตุ สทา กุมาโร

นาเมน โส ติสฺสวโร กุมาโร

อายุญฺจ วณฺณญฺจ สุขพฺพลญฺจ

ติกฺขญฺจ ปญฺญญฺจ ปฏิภาณภูตํ

ลทฺธา ยสฺสี สุขตํ มหิทฺธี

ปโหตุ สพฺพตฺถ จิรํ สุชีวี

กุลญฺจ รกฺเขถ สมาจรญฺจ

สพฺเพหิ สตฺตูหิ ชยํ ลเภถ

สุขี ทีฑายุโก โหตุ ปุตฺโต ติสฺสวรวฺหโย
กุมาโร ชุมปุตฺโตยํ อิทฺธิมา โหตุ สพฺพทา
พุทฺโธ ธมฺโม จ สงฺโฆ จ อิจฺเจตํ รตนตฺตยํ
ตสฺสาปิ สรณํ โหตุ สมฺมา รกฺขตุ นํ สทา

คำสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทรฯ แปลคาถา

ขอกุมารนี้จงมีความสุขในกาลทุกเมื่อ กุมารนี้จงมีนามว่า ดิศวรกุมร โดยนามนิยม ขอดิศวรกุมารนี้จงได้ซึ่งชนมายุยืนยงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน ขอจงได้ซึ่งวรรณผิวกายอันผ่องใส และจงได้วรรณคุณความสรรเสริญเป็นนิรันดร ขอจงได้ซึ่งสุขกายสุขใจเป็นนิจกาล จงได้ซึ่งกำลังกายอันแกล้วกล้า ทั้งให้มีกำลังปัญญารู้รอบคอบในกิจการทั้งปวง และให้ฉลาดในปฏิภาณโวหารกล่าวคำโต้ตอบในที่ประชุมชน ขอให้ดิศวรกุมารอิศริยยศ บริวารยศ ปรากฏด้วยมหิทธิศักดาเดชานุภาพมาก ขอให้มีชนมชีพยืนนานพอเพียงควรแก่กาล

อนึ่ง ขอให้ดิศวรกุมารพึงรักษาไว้ซึ่งสกุลวงศ์ให้ดำรงยืนยาว และพึงรักษาไว้ซึ่งจรรยา คือ ความประพฤติชอบธรรมสุจริต พึงได้ชัยชำนะปัจจามิตรในที่ทั้งปวง

อนึ่ง ขอให้กุมารบุตรของเราอันมีนามว่าดิศวรกุมารผู้เป็นบุตรชุ่มนี้ จงมีฤทธานุภาพในการทั้งปวง

ขอพระรัตนตรัยทั้งสาม คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า จงเป็นที่พึ่งแก่ดิศวรกุมารนั้น และจงรักษาซึ่งดิศวรกุมารนั้นโดยชอบในกาลทุกเมื่อเทอญ

คาถาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานพระเจ้าลูกเธอนั้นประทานพรบางอย่างเหมือนกันทุกพระองค์ แต่มีบางอย่างแปลก ๆ กัน สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้ทรงพยายามรวบรวมคาถาพระราชทานพรแปลเป็นภาษาไทย[8] ตรัสว่า ทรงพิจารณาดูพรที่พระราชทานแปลกกันนั้น มักจะได้ดังพระราชทาน พรที่ตัวฉันได้พระราชทานจะได้จริงเพียงไรแล้วแต่ผู้อื่นที่รู้จักจะพิจารณา แต่ลูกของฉันเองเพิ่งได้อ่านหนังสือประชุมคาถาพระราชทานพรเมื่อกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรโปรดให้พิมพ์แจกเป็นของชำร่วยในงานฉลองพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ อ่านแล้วพูดกันว่า "พรที่ทูลกระหม่อมปู่พระราชทานเสด็จพ่อไม่เห็นมีว่าให้มั่งมี" เป็นทำนองว่า เพราะฉันไม่ได้พระราชทานพรข้อนี้ จึงไม่รู้จักมั่งมี ตามความเข้าใจของคนทั้งหลายในปัจจุบันนี้ดูเหมือนจะหมายความว่า ต้องมีเงินนับด้วยแสนจึงมั่งมี แต่ก่อนมาหาเช่นนั้นไม่ ด้วยตั้งแต่โบราณมาจนสมัยเมื่อฉันยังเป็นเด็ก ไม่ใคร่มีใครมีเงินมาก เพราะการเลี้ยงชีพไม่ต้องใช้เงินเท่าใดนัก ข้าวปลาอาหารราคายังถูก เป็นต้นว่า ข้าวสารราคาก็เพียงถังละห้าสิบสตางค์[9] ผู้ทรงศักดิ์มีบ่าวไพร่เป็นชาวสวนชาวนายังได้ของกำนัลเจือจาน การที่ต้องใช้เงินไม่มีมากมายเท่าใดนัก แม้จนเครื่องนุ่งห่มใช้สอยและของเล่นที่ยั่วให้ซื้อก็มิใคร่มีอะไร ผิดกับทุกวันนี้มาก ในเหล่าเจ้านายจึงมีน้อยพระองค์ทีเดียวที่รู้จักเอาพระทัยใส่ในการสะสมเงินทอง[10] อีกประการหนึ่ง ผลประโยชน์ของเจ้านายที่ได้พระราชทานก็ยังน้อย ว่าส่วนตัวฉันเองได้เงินเดือนเดือนละแปดบาท ได้ข้าวสารสำหรับให้พี่เลี้ยง แม่นม และบ่าวไพร่กิน กับน้ำมันมะพร้าวสำหรับตามตะเกียงที่เรือน จะเป็นเดือนละกี่ถังลืมเสียแล้ว ถึงปีได้พระราชทานเบี้ยหวัด เบี้ยหวัดพระเจ้าลูกเธอที่ยังไม่ได้โสกันต์กำหนดเป็นสามชั้น ชั้นต่ำปีละสองชั่ง (หนึ่งร้อยหกสิบบาท) ชั้นกลางสองชั่งสิบตำลึง (สองร้อยบาท) ชั้นสูงสามชั่ง (สองร้อยสี่สิบบาท) ฉันได้เคยรับทั้งสามชั้น แต่ได้เลื่อนชั้นเร็วเพราะอยู่ในพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็กที่โปรดทรงใช้สอย พออายุหกขวบก็ได้รับเบี้ยหวัดถึงชั้นหนึ่ง นอกจากนั้น ยังได้ "เงินงวด" ประจำปีจากภาษีอากรบางอย่าง และมีอสังหาริมทรัพย์ได้พระราชทานสองแห่ง คือ ตึกแถวที่ริมถนนเจริญกรุงสองห้อง ได้ค่าเช่าห้องหนึ่งเดือนละสี่บาท กับนาที่ริมคลองมหาสวัสดิ์แปลงหนึ่ง เป็นเนื้อนารวมสามร้อยไร่ คุณตาจัดการทำได้ข้าวมาเจือจานกันกินบ้าง ถ้าคิดเป็นเงินรายได้ทุกประเภทที่กล่าวมา เห็นจะตกราวปีละสามพันบาท ดูก็ไม่รู้สึกอัตคัดในสมัยนั้น

เรื่องประวัติในตอนเมื่อฉันยังเป็นทารก แม่เล่าให้ฟังบ้าง ได้ยินท่านผู้อื่นที่ได้เลี้ยงดูอุปการะเล่าบ้างเป็นเรื่อง ๆ ไม่สู้ติดต่อกัน แม่เล่าให้ฟังเป็นเรื่องต้นว่า เมื่อพาฉันขึ้นไปเฝ้าบนพระมหามนเทียรทั้งแรก ทูลกระหม่อมเอานิ้วพระหัตถ์จิ้มที่ปากสักครู่หนึ่งแล้วตรัสแก่แม่ว่า "ลูกคนนี้จะฉลาด" เมื่อมาคิดว่า ในเวลานั้นอายุของฉันเพียงสักสามสี่เดือน จะทรงพยากรณ์ด้วยสังเกตอย่างไร ดูก็น่าพิศวง บางทีจะทรงสังเกตว่า ดูดนิ้วพระหัตถ์หรือไม่ เพราะธรรมดาลูกอ่อนย่อมชอบดูดนม เมื่อเอานิ้วจิ้มที่ปาก ถ้าเป็นทารกมีอุปนิสัยสังเกต รู้ว่ามิใช่นมก็ไม่ดูด ถ้าไม่มีอุปนิสัยเช่นนั้นก็หลงดูดนิ้วด้วยสำคัญว่านม หลักของวิธีที่ทรงพยากรณ์จะเป็นดังว่านี้ดอกกระมัง

เรื่องประวัติตามได้ยินท่านผู้ใหญ่เล่าต่อมาว่า เมื่ออายุฉันได้สองขวบ เจ็บหนักครั้งหนึ่งถึงคาดกันว่าจะตาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งเป็นอธิบดีกรมหมอหลวงเสด็จเข้าไปทรงดูแลการรักษาพยาบาล และกรมหลวงวงศาฯ ตรัสให้หลวงจินดา (ชื่อตัวว่ากระไรลืมเสียแล้ว) ตั้งยารักษาฟื้นจึงได้รอดชีวิตมา เมื่อหายเจ็บแล้วต่อมาจะได้ตามเสด็จไปพระนครศรีอยุธยา แม่เกรงว่า เอาแม่นมไปด้วยจะลำบาก จึงคิดจะให้ฉันหย่านม[11] ด้วยหาอาหารอย่างอื่นล่อ และห้ามมิให้แม่นมให้กินนม แต่ฉันร้องไห้จนนมพลัดแกสงสารลอบมาให้กินนมทุกวัน ก็ไม่หย่านมได้ทันวันตามเสด็จ จึงต้องให้แม่นมไปด้วย แต่เมื่อไปอยู่ตำหนักเล็กบนลานข้างพลับพลาจตุรมุขในวังจันทรเกษม แม่ยอมให้กินนมแต่วันแรก พอตกค่ำสั่งให้เอาตัวนมพลัดไปคุมไว้เสียที่อื่นไม่ให้ลอบมาหาได้ ในคืนวันนั้นปล่อยให้ฉันร้องไห้ดิ้นรนจนหลับไปเอง รุ่งขึ้นก็เป็นหย่านมได้ ตำหนักในวังจันทรฯ หลังนั้นยังอยู่จนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อฉันขึ้นไปภายหลังนึกว่าจำได้ตั้งแต่ครั้งเมื่อถูกอดนม ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงเป็นเพราะรู้สึกตามประสาเด็กว่า ได้รับความทุกข์ร้อนใหญ่หลวงเป็นครั้งแรกจึงไม่ลืม แต่เมื่อมาคิดดูว่า เวลานั้นอายุยังไม่ถึงสามขวบ ก็เกิดสงสัยว่า หรือจะหลงเอาเรื่องที่ได้ฟังเล่ากับที่ได้เห็นในภายหลังมาสำคัญปนกันไป มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งจำได้เนื่องกับตามเสด็จไปวังจันทรฯ คือ เขาเอาดินปั้นเป็นกรงมีซี่ไม้ไผ่อยู่ข้างบนใส่จิ้งหรีดมาให้เล่น ฟังมันร้องและดูมันกัดกันสนุกดี แต่ก็ได้ไปวังจันทรฯ หลายครั้ง อาจจะมาจำได้ต่อเมื่อไปครั้งหลัง ๆ เพราะฉะนั้น เห็นจะไม่ควรอวดว่า รู้จักจำมาแต่เล็ก ที่มาเริ่มจำความได้จริงนั้นตั้งแต่ปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ เมื่ออายุได้สี่ขวบเป็นต้นมา ถึงตอนนี้เริ่มเรียนหนังสือและขึ้นไปเฝ้าทูลกระหม่อมทุกวัน เวลานั้น เสด็จประทับที่พระอภิเนาว์นิเวศน์แล้ว[12]

การศึกษาของพระเจ้าลูกเธอดูเหมือนจะมีระเบียบมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ (บางทีจะตามอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา) ใช้มาจนในสมัยเมื่อฉันเริ่มศึกษา ถ้าเรียกตามคำที่ใช้ในการศึกษาทุกวันนี้ ชั้นประถมศึกษาเรียนต่อครูผู้หญิงในพระราชวังเหมือนกันทั้งพระองค์ชายและพระองค์หญิง พอพระชันษาได้สามขวบก็ตั้งต้นเรียนหนังสือไทยไปจนพระชันษาราวเจ็ดขวบ จึงเริ่มเรียนมัธยมศึกษาภาคต้น ถึงชั้นมัธยม การเล่าเรียนของพระองค์ชายกับพระองค์หญิงเริ่มแยกกัน พระองค์ชายเรียนต่อครูผู้ชาย พระองค์หญิงคงเรียนต่อครูผู้หญิง เพราะวิชาที่เรียนตอนนี้ผิดกัน พระองค์ชายเริ่มเรียนภาษามคธ พระองค์หญิงก็เริ่มฝึกหัดการเรียน แต่คงเรียนภาษาไทยด้วยอ่านหนังสือเรื่องต่าง ๆ เหมือนกันทั้งพระองค์ชายและพระองค์หญิง การฝึกหัดกิริยามรรยาทก็กวดขันตั้งแต่ชั้นนี้ เขตของการเรียนชั้นมัธยมภาคต้นไปจนถึงโสกันต์ (พระองค์ชายพระชันษาสิบสามปี พระองค์หญิงพระชันษาสิบเอ็ดปี) แต่นั้นเรียนวิชามัธยมภาคปลาย คือ พระองค์ชายทรงผนวชเป็นสามเณร เรียนพระธรรม กับทั้งฝึกหัดปฏิบัติพระวินัย (discipline) และเริ่มเรียนศิลปวิทยาเฉพาะอย่างที่ชอบพระอัธยาศัย ทรงผนวชอยู่พรรษาหนึ่งบ้าง กว่านั้นบ้าง จึงลาผนวช (ที่ทรงผนวชอยู่จนอุปสมบทเป็นพระภิกษุมีน้อย) เมื่อลาผนวชแล้วต้องออกมาอยู่นอกพระราชวัง แล้วเรียนวิชาเฉพาะอย่างแต่นั้นมา การเรียนเฉพาะวิชาในสมัยนั้นอาศัยไปฝึกหัดอยู่ในสำนักผู้เชี่ยวชาญด้วยยังไม่มีโรงเรียน แต่วิชารัฐประศาสน์และราชประเพณีนั้นเจ้านายได้เปรียบคนจำพวกอื่น เพราะมีตำแหน่งเข้าเฝ้าในท้องพระโรงอันเป็นที่ว่าราชการบ้านเมือง ได้เรียนด้วย ได้ฟังคดีที่เจ้าหน้าที่กราบบังคมทูลและที่พระเจ้าอยู่หัวทรงบัญชาการมาแต่ยังเยาว์วัย ตลอดจนได้คุ้นเคยกับท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการบ้านเมืองด้วยเข้าเฝ้าทุก ๆ วันดังกล่าวมา การศึกษาชั้นนี้ตลอดเวลาราวหกปี จนพระชันษาได้ยี่สิบเอ็ดปีถึงเขตอุดมศึกษา ทรงผนวชอีกครั้งหนึ่งเป็นพระภิกษุ ศึกษาพระธรรมวินัยกับทั้งวิชาอาคมชั้นสูง ซักซ้อมให้เชี่ยวชาญ เปรียบเหมือนอย่างเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อลาผนวชก็เป็นสำเร็จการศึกษา สามารถรับราชการได้แต่นั้นไป ส่วนเจ้านายพระองค์หญิงนั้นตั้งแต่โสกันต์แล้วก็ทรงศึกษาวิชาความรู้ชั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ นับแต่การศึกษาศีลธรรมและฝึกหัดวิชาการเรือน และเริ่มเรียนวิชาเฉพาะประเภทอันชอบพระอัธยาศัยสืบเนื่องไป จนอำนวยการต่าง ๆ ในหน้าที่ของขัตติยนารีได้โดยลำพังพระองค์ ข้อที่พระองค์ชายมีโอกาสเรียนราชการเพราะเข้าเฝ้าในเวลาเสด็จออกท้องพระโรง เจ้านายพระองค์หญิงก็มีโอกาสศึกษาทางฝ่ายใน ได้ความรู้ทั้งราชประเพณีและระเบียบวินัยในสมาคมของกุลนารีจนสามารถรับหน้าที่ราชการฝ่ายในและฝึกสอนผู้อื่นสืบกันมา ที่ในพระราชวังจึงเป็นแหล่งสำหรับเรียนวิชามรรยาทสำหรับกุลนารีจนสามารถรับหน้าที่ราชการฝ่ายในและฝึกสอนผู้อื่นสืบกันมา ที่ในพระราชวังจึงเป็นแหล่งสำหรับเรียนวิชามรรยาทสำหรับกุลสตรี เปรียบเหมือนวิทยาลัยอันเป็นที่ผู้มีบรรดาศักดิ์ชอบส่งธิดาเข้าไปฝากให้ศึกษาในสำนักเจ้านายและผู้อื่นที่สามารถฝึกสอน คนทั้งหลายจึงชอบชมผู้หญิงชาววังมาแต่โบราณเพราะการที่ได้ศึกษานั้น

ว่าเฉพาะการศึกษาของตัวฉันเอง ได้ทันเรียนชั้นประถมศึกษาตามแบบเก่าเมื่อในรัชกาลที่ ๔ แรกเรียนต่อคุณแสง เสมียน[13] ในเวลานั้น หนังสือเรียนยังไม่มีฉบับพิมพ์ แม่ต้องให้จ้างอาลักษณ์เขียนหนังสือเรียนด้วนเส้นหรดาลลงในสมุดดำ เมื่อได้หนังสือมาแล้ว ถึงวันพฤหัสบดีอันถือกันทั่วไปจนทุกวันนี้ว่าเป็น "วันครู" ควรเริ่มเรียนหนังสือ เวลาเช้าให้บ่าวถือพานรองหนังสือเรียนนั้นนำหน้า พี่เลี้ยงอุ้มตัวฉันเดิมตาม มีบ่าวกลั้นพระกลดคนหนึ่ง บ่าวตามอีกสองสามคน คนหนึ่งถือพานเครื่องบูชามีดอกไม้ธูปเทียน กับดอกเข็ม และดอกมะเขือ กับทั้งหญ้าแพรก (ของเหล่านี้เป็นของอธิษฐานจอให้ปัญญาแหลมเหลือเข็ม มีความรู้มากเหมือนเมล็ดมะเขือ และรู้รวดเร็วเหมือนหญ้าแพรกขึ้น) เมื่อถึงสำนักครู ยกพานหนังสือเข้าไปตั้งตรงหน้า จุดธูปเทียนกราบไหว้บูชาหนังสือ แล้วจึงเริ่มเรียน ครูมห้ไม้เหลาเท่าแกนธูปอันหนึ่งสำหรับชี้ตัวหนังสือที่อ่าน สอนให้อ่านคำนมัสการ "นโม พุทฺธาย สิทฺธํ" ก่อน จำได้แล้วจึงอ่านสระและพยัญชนะต่อไป นอกจากวันพฤหัสบดีไม่ต้องมีเครื่องบูชาไปเรียนเวลาตอนเช้าทุกวัน เพราะกลางวันต้องขึ้นเฝ้า ฉันเรียนอยู่กับคุณแสงไม่ช้านัก จะเป็นเพราะเหตุใดลืมเสียแล้ว ต่อมาย้ายไปเรียนต่อคุณปาน ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ถึงตอนนี้เริ่มใช้หนังสือพิมพ์ คือ ปฐม ก กา ซึ่งหมอบรัดเลพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ยังใช้วิธีสอนอยู่อย่างเดิม หัดอ่านสระ พยัญชนะ และอ่านตัวอักษรประสมกันไปจนจบแม่เกย แล้วหัดอ่านหนังสือเรื่องต่าง ๆ เช่น บทละครเรื่องอิเหนาและรามเกียรติ์ เป็นต้น เรียนถึงชั้นนี้เรียกว่า "ขึ้นสมุด" เพราะใช้สมุดหนังสือเรื่องต่าง ๆ เป็นหนังสือเรียน อ่านเรื่องต่าง ๆ ไปจนสามารถอ่านหนังสือไทยได้แตกฉาน แต่ส่วนหัดเขียนหนังสือไม่สู้กวดขันนัก เลขไม่ได้สอนทีเดียว เพราะในสมัยนั้นยังถือกันว่า เป็นวิชาอันหนึ่งซึ่งต้องมีครูสอนต่างหาก ในเวลาเมื่อฉันกำลังเรียนหนังสือนั้น ประจวบกับที่หมอบรัดเลพิมพ์หนังสือสามก๊กสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อมาพระราชทานพระเจ้าลูกเธอพระองค์ละฉบับสี่เล่มสมุดฝรั่ง ตั้งแต่นั้นฉันก็อ่านหนังสือสามก๊กเป็นหนังสือเรียน เลยชอบอ่านหนังสือเป็นนิสัยติดตัวมาจนบัดนี้

เรื่องขึ้นเฝ้านั้น ตั้งแต่ออกจากผ้าอ้อมแม่ก็พาขึ้นเฝ้าดังกล่าวมาแล้ว แต่ขึ้นไปเฝ้าเป็นบางวัน และเฝ้าอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ประเดี๋ยวก็พากลับ ต่อมาเมื่ออายุย่างเข้าสี่ขวบจึงขึ้นเฝ้าทุกวันเป็นนิจ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (นอกจากกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส กับกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร) ล้วน "เกิดในเศวตฉัตร" คือ ประสูติเมื่อเสด็จเสวยราชย์แล้ว ยังอยู่ในปฐมวัยด้วยกันทั้งนั้น แต่เป็นชั้นต่างกันตามพระชนมายุ ที่ประสูติแต่ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ ลงมาจนปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ เป็นชั้นใหญ่ ที่ประสูติแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ ลงมาจนปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ เป็นชั้นกลาง ที่ประสูติแต่ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ มาจนปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นชั้นเล็ก เวลาที่พระเจ้าลูกเธอขึ้นเฝ้านั้นต่างกันตามชั้น คือ ขึ้นเฝ้าพร้อมกันทุกชั้นเมื่อเวลาเสวยกลางวัน แต่เวลาเสด็จลงทรงบาตรตอนเช้าหรือเวลาเสด็จออกข้างหน้าตอนบ่าย ตามเสด็จแต่พระเจ้าลูกเธอชั้นใหญ่กับชั้นกลาง เวลาเสด็จออกทรงธรรมและออกขุนนางกลางคืน ตามเสด็จแต่พระเจ้าลูกเธอชั้นใหญ่ และยังมีพระเจ้าลูกเธอบางพระองค์ซึ่งทรงเลือกสรรสำหรับทรงใช้สอยเป็นอุปัฏฐากประจำพระองค์ มีแต่ในชั้นใหญ่ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหลวงสมรรัตนฯ เป็นต้น พระเจ้าลูกเธอชั้นใหญ่กับชั้นกลางอาจไปตามเสด็จได้โดยลำพังพระองค์ แต่ชั้นเล็กยังต้องมีผู้ใหญ่ควบคุมจึงมิใคร่ได้ตามเสด็จ ตัวฉันอยู่ในชั้นเล็ก เมื่อตอนแรกขึ้นเฝ้า แม่เป็นผู้ดูแล แต่ต่อมา เจ้าพี่โสมาวดี (คือ กรมหลวงสมรรัตนฯ) กับเจ้าพี่สีนากสวาสดิ์ (ทั้งสองพระองค์เป็นพระธิดาเจ้าจอมมารดาเที่ยงซึ่งเป็นพี่ของแม่) ท่านเป็นชั้นใหญ่ ทรงรับดูแลพาตามเสด็จออกไปข้างหน้าในตอนบ่าย ฉันจึงได้ออกไปกับเหล่าเจ้าพี่ที่เป็นชั้นกลางมาแต่ยังเล็ก เห็นจะเป็นด้วยทูลกระหม่อมทรงสังเกตเห็นว่า ฉันไม่ตระหนี่ตัว กล้าออกไปข้างหน้าแต่เล็กนั้นเอง จึงลองทรงใช้สอยและโปรดให้ตามเสด็จตั้งแต่อายุยังไม่ถึงห้าขวบ

การที่ทูลกระหม่อมทรงลองใช้สอยเมื่อยังเล็กนั้นจำใส่ใจไว้บางเรื่อง มาคิดดูในเวลานี้เป็นเรื่องที่ตัวฉันควรจะอวดก็มี ที่ควรจะละอายก็มี จะเล่าทั้งสองอย่าง เรื่องหนึ่งดูเหมือนเมื่ออายุฉันได้สักห้าขวบ วันหนึ่งเวลาเสวยกลางวัน ณ พระที่นั่งนงคราญสโมสร ทูลกระหม่อมตรัสสั่งให้ฉันไปหยิบตลับหยกในพานเครื่องพระสำอางมาถวายเจ้าพี่ มีกรมหลวงสมรรัตนฯ เป็นต้น ท่านตรัสบอกเมื่อภายหลังว่า ท่านพากันทรงพระวิตก เพราะพานเครื่องพระสำอางนั้นตั้งอยู่บนพระแท่นลดข้างพระแท่นที่บรรทมบนพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญซึ่งฉันยังไม่เคยไปถึง เกรงจะไปเซอะ แต่ส่วนตัวฉันเองในเวลานั้นไม่รู้สึกวิตกว่าจะหยิบผิด ไปมัวแต่กลัวผีเป็นกำลัง ด้วยต้องขึ้นบันไดเข้าไปในพระที่นั่งภาณุมาศฯ เวลาไม่มีใครอยู่ในนั้น แข็งใจเดินดูไปจนเห็นเครื่องหยกในพานพระสำอาง ก็ปีนขึ้นบนพระแท่นไปหยิบเอาตลับหยกลงมาถวายได้ถูกดังพระราชประสงค์ ทูลกระหม่อมตรัสชมว่าฉลาด วันนั้นเฝ้าอยู่พร้อมกันมาก ดูเหมือนฉันจะได้ "ยี่ห้อ" ดีแต่นั้นมา เรื่องตลับหยกที่กล่าวนี้ยังประหลาด ด้วยเมื่อเวลาล่วงมากว่าหกสิบปีเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉันเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา มีหน้าที่จัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ฉันตรวจดูของพิพิธภัณฑ์เดิม พบเครื่องหยกอยู่ในกำปั่น ฉันนึกขึ้นว่า เหมือนเครื่องพระสำอางของทูลกระหม่อม ให้สอบบัญชีได้ความว่า เดิมมีพานทองรอง เป็นของส่งออกมาจากข้างในแต่เมื่อแรกตั้งพิพิธภัณฑสถาน (ณ ศาลาสหทัยสมาคม) ที่ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นเมื่อพิพิธภัณฑสถานย้ายไปอยู่ในพระราชวังบวรฯ มีผู้ร้ายลักพานทองที่รองไปเสีย เหลืออยู่แต่เครื่องหยก จึงเอาเก็บรักษาไว้ในกำปั่น ฉันยืมตลับหยกใบที่นึกว่าเคยหยิบลงมาถวายทูลกระหม่อมเอาไปถวายกรมหลวงสมรรัตนฯ ทอดพระเนตร ท่านทรงจำได้ว่า เป็นใบนั้นเอง ฉันจึงให้ส่งเครื่องพระสำอางหยกคืนไปยังกระทรวงวังทั้งสำรับเพื่อจะได้เอาไปรักษาไว้กับเครื่องราชูปโภคของเก่า อีกเรื่องหนึ่ง ต่อมาวันหนึ่ง เวลาเสวยกลางวันเหมือนอย่างเรื่องก่อน ทูลกระหม่อมตรัสใช้ให้ฉันออกไปดูที่ห้องอาลักษณ์ว่า "ตาฟัก" คือ พระศรีสุนทรโวหาร ราชเลขานุการ อยู่หรือไม่ ด้วยวันนั้นมีกิจจะทรงพระอักษรนอกเวลาที่เคยทรง พระศรีสุนทรโวหารเป็นผู้สำหรับเขียนพระราชนิพนธ์ตามรับสั่ง ฉันกลับเข้ามากราบทูลว่า "ตาฟังอยู่ที่ห้องอาลักษณ์" ครั้นเสวยแล้วดำรัสสั่งให้ผู้อื่นไปเรียกพระศรีสุนทรโวหาร เขากลับเข้ามากราบทูลว่า กลับบ้านไปเสียแล้ว ทูลกระหม่อมตรัสฟ้องคุณป้าเที่ยงว่า ฉันเหลวไหล ใช้สอยไม่ได้เรื่อง คุณป้าเที่ยงเตรียมจะลงโทษ เรียกคุณเถ้าแก่ที่ได้ไปกับฉันมาถามว่า ฉันไปเที่ยวแวะเวียนเสียทีไหน คุณเถ้าแก่เบิกความยืนยันว่า ได้ไปกับฉันจนถึงห้องอาลักษณ์ และได้ยินฉันบอกกับพระศรีสุนทรโวหารว่า ทูลกระหม่อมมีรับสั่งใช้ให้ฉันไปดูว่าแกอยู่หรือไม่ ความจริงก็ปรากฏว่า เป็นด้วยพระศรีสุนทรโวหารแกไม่เชื่อคำของฉัน พอเห็นพ้นเวลาเคยทรงพระอักษรแล้วกลับไปบ้านเสีย เมื่อได้ความดังนี้ก็รอดตัว ถ้าหากไม่มีคุณเถ้าแก่เป็นพยานวันนั้น เห็นจะถูกตีไม่น้อย อีกเรื่องหนึ่ง จะเล่ารู้สึกละอายอยู่บ้าง คือ มีใครส่งขวดหมึกอันเป็นของคิดขึ้นใหม่มาถวายทูลกระหม่อมจากต่างประเทศใบหนึ่ง ขวดหมึกนั้นทำเป็นรูปหอยโข่งพลิกตัวได้บนที่ตั้ง เวลาไม่ใช้ก็พลิกปากหอยเข้าไปเสียข้างหลัง เป็นอันปิดรักษาหมึกไว้เองไม่ต้องมีฝาขวด ถ้าจะใช้หมึก พลิกหอยให้ปากออกมาข้างหน้า หมึกก็มาอยู่ที่ปากหอยนั้น ไม่ต้องจุ้มปากกาลงไปลึก ทูลกระหม่อมโปรดขวดหมึกนี้ตั้งไว้บนโต๊ะทรงพระอักษร วันหนึ่ง เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม เวลาบ่าย จะโปรดให้ผู้ใดผู้หนึ่งดูขวดหมึกนั้น มีรับสั่งให้ฉันกลับเข้ามายกออกไปถวาย ฝ่ายตัวฉันไม่รู้กลไกของขวดหมึก พอยกขึ้น ตัวหอยก็พลิกกลับออกมา หมึกหกราดถาดที่รองนองไปทั้งนั้น ฉันตกใจราวกับจะสิ้นชีวิต ด้วยรู้ว่า คงถูกทูลกระหม่อมกริ้ว แต่มิรู้ที่จะทำประการใด ก็ยกขวดหมึกเดินต่อไป ยังไม่ทันออกข้างหน้า พบเจ้าที่ทองแถมถวัลยวงศ์ (คือ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ) วิ่งกระหืดกระหอบมา ดูเหมือนจะกำลังตกพระทัย ด้วยเสด็จขึ้นไปช้า ไม่ทันตามเสด็จออก ตรัสถามฉันว่า ทูลกระหม่อมเสด็จอยู่ที่ไหน ฉันบอกว่า ประทับอยู่พระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วเลยส่งขวดหมึกวานให้ท่านเอาไปถวาย เจ้าพี่ทองแถมก็รับเอาไปด้วยความยินดี ไปถูกกริ้วงอมทีเดียว ส่วนตัวฉันเองพอขวดหมึกพ้นมือไปก็รับกลับมาเรือนเลยรอดตัว เรื่องขวดหมึกนี้เลยเป็นเรื่องสำหรับเจ้านายพี่น้องล้อเจ้าพี่ทองแถมกับตัวฉันต่อมาอีกช้านาน

เรื่องตามเสด็จทูลกระหม่อมนั้น แต่พอฉันขึ้นเฝ้าได้เสมอ ในไม่ช้าก็ได้ตามเสด็จออกข้างหน้า เพราะเจ้าพี่โสมกับเจ้าพี่สีนากท่านคอยประคับประคองดังกล่าวมาแล้ว ถ้าเสด็จทรงพระราชดำเนินไปใกล้ ๆ เจ้าพี่ท่านจูงไป ถ้าทรงพระราชดำเนินไปทางห่างไกล เช่น เสด็จไปวัดราชประดิษฐฯ เป็นต้น มหาดเล็กเขาก็อุ้มไป พวกมหาดเล็กที่เคยอุ้มฉันมาได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ ๕ มีหลายคน ควรกล่าวถึงโดยเฉพาะ คือ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เพราะได้มาอยู่ในกระทรวงมหาดไทยด้วยกันเมื่อฉันเป็นเสนาบดี และตัวท่านเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ท่านยังลำเลิกว่า เคยอุ้มฉันมาแต่เล็ก ถ้าเสด็จไปด้วย มีกระบวนแห่ มักทรงพระราชยาน[14] แต่แรกฉันขึ้นวอพระที่นั่งรองตามเสด็จ ครั้นต่อมา เมื่อพระเจ้าลูกเธอที่เคยขึ้นพระราชยานรุ่นก่อนทรงพระเจริญพระองค์หนักเกินขนาด โปรดให้เปลี่ยนชุดใหม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันขึ้นพระราชยานตั้งแต่อายุได้ห้าขวบมาจนสิ้นรัชกาล พระเจ้าลูกเธอที่ได้ขึ้นพระราชยานเป็นชุดเดียวกันรวมสี่พระองค์ คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ กับสมเด็จพระพันวัสสาฯ สองพระองค์นี้ประทับบนพระเพลา หรือถ้าไปทางไกลก็ประทับข้างซอกพระขนอง กรมพระสมมตอมรพันธุ์กับตัวฉันนั่งเคียงกันข้างหน้าที่ประทับ เรื่องขึ้นพระราชยานฉันจำได้ไม่ลืม เพราะเคยตกพระราชยานครั้งหนึ่งเมื่อไปตามเสด็จงานฉลองวัดหงส์ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ขากลับเสด็จขึ้นพระราชยานที่ท่าราชวรดิฐ เห็นจะเป็นด้วยฉันง่วง นั่งหลับมาในพระราชยาน เมื่อผ่านประตูกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางด้านตะวันออก พอคนหามพระราชยานลงบันได ข้างหน้าพระราชยานต่ำลง ฉันก็พลัดตกลงมา จมื่นจง [(โต) ซึ่งภายหลังได้เป็นที่พระยาบำเรอภักดิ์ แล้วเลื่อนเป็นพระยาวิเศษสัจธาดาในรัชกาลที่ ๕] อุ้มส่งขึ้นไปนั่งอย่างเดิม ไม่ได้เจ็บปวดชอกช้ำอันใด แต่เมื่อทูลกระหม่อมมาตรัสเล่าที่ข้างใน แม่ตกใจกลัวจะเกิดอัปมงคลถึงให้ทำขวัญกันเอะอะ เรื่องตกพระราชยานนี้ชอบกล เจ้าพี่ท่านได้ขึ้นพระราชยานมาก่อนบางพระองค์ก็เคยตก ใครตกก็เป็นจำได้ไม่ลืม เพราะนาน ๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง แต่ประหลาดที่มามีเหตุเช่นนั้นแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ) ในรัชกาลที่ ๕ ครั้งตามเสด็จไปวัดกลาง เมืองสมุทรปราการ เวลานั้น ฉันยังเป็นราชองครักษ์เดินแซงไปข้างพระราชยาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นพระราชยานแต่พระองค์เดียว ประทับพระยี่ภู่ข้างหน้าที่ประทับ เมื่อกระบวนแห่เสด็จถึงวัดจะไปที่หน้าพระอุโบสถ แต่พอผ่านศาลาโรงธรรมที่พวกพ่อค้าตั้งแถวคอยเฝ้า มีผู้ชูฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย ดำรัสสั่งให้หยุดพระราชยานเพื่อจะทรงรับฎีกา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเห็นจะกำลังเผลอพระองค์ พอพระราชยานหยุดชะงักก็พลัดตกลงไปข้างหน้า เป็นครั้งหลังที่สุดที่เจ้านายตกพระราชยาน การเสด็จประพาสของทูลกระหม่อมนั้นบางวันทรงรถในเวลาบ่าย รถพระที่ที่ทรงในสมัยนั้นเป็นรถสองล้อมีประทุนอย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า buggy เทียมม้าเดี่ยว บางวันโปรดให้ฉันตามเสด็จขึ้นรถพระที่นั่ง เจ้าพี่ชั้นใหญ่ท่านนั่งสองข้างพระองค์ ฉันนั่งตรงที่ห้อยพระบาท ต้อมก้มหัวหลีกสายบังเหียนซึ่งทรงขับม้าอยู่เสมอ ในสมัยนั้น เริ่มมีเรือไฟชื่อ "เจ้าพระยา" เดินเมล์และรับส่งสินค้าในกรุงเทพฯ กับเมืองสิงคโปร์ สิบห้าวันมาถึงกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง วันใดเรือเมล์มาถึง ทูลกระหม่อมก็ติดพระราชธุระทรงหนังสือซึ่งใคร ๆ มีมาถวายจากต่างประเทศ และทรงเขียนลายพระราชหัตถเลขาตอบหรือที่จะมีไปถึงต่างประเทศ ราวสามวันจึงเสร็จพระราชธุระ ในระหว่างสามวันนั้นมักไม่เสด็จประพาสและไม่โปรดให้ใครรบกวน จนพวกข้าเฝ้าทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในเข้าใจกัน พอได้ยินว่า เรือเจ้าพระยามาถึงก็ระวังไม่ให้มีอันใดกวนพระราชหฤทัย ในพวกเด็ก ๆ เช่นตัวฉันแม้ถูกห้ามมิให้เข้าไปใกล้ที่ทรงพระอักษร แต่เมื่อรู้ว่า เรือเจ้าพระยาเข้ามาถึง ก็พากันยินดี ด้วยมักมีผู้ส่งของเข้ามาถวายทูลกระหม่อม บางทีมีของเล่นแปลก ๆ ได้พระราชทานเนือง ๆ ของประหลาดอย่างหนึ่งนั้น คือ น้ำแข็ง ดูเหมือนจะเพิ่งทำได้ที่เมืองสิงคโปร์ไม่ช้านัก มีผู้ส่งแท่งน้ำแข็งใส่หีบกลบขี้เลื่อยมาถวายเนือง ๆ ได้น้ำแข็งมาเมื่อใดก็มักโปรดให้แจกเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ พวกที่เพิ่งได้เห็นน้ำแข็งชั้นเด็ก ๆ เช่นตัวฉันชอบต่อยออกเป็นก้อนเล็ก ๆ อมเล่นเย็นเฉียบสนุกดี พวกที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ดูมิใคร่มีใครชอบ มักบ่นกันว่า กินน้ำแข็งปวดฟัน และยังมีพวกคนแก่ที่เป็นแต่ได้ยินว่าแจกน้ำแข็งไม่เชื่อว่าน้ำ กระซิบกันว่า "จะปั้นน้ำเป็นตัวอย่างไรได้" ด้วยมีในคำสุภาษิตพระร่วงว่า "อย่าปั้นน้ำเป็นตัว" หมายความว่า ห้ามมิให้ทำอะไรฝืนธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวแต่ว่า "ปั้นน้ำเป็นตัว" หมายความติเตียนว่า แกล้งปลูกเท็จให้เป็นจริง เคยได้ยินกันชินหูมาแต่โบราณ โรงทำน้ำแข็งเพิ่งมามีขึ้นในประเทศนี้ต่อเมื่อรัชกาลที่ ๕ นอกจากของที่ส่งมาจาก "เมืองนอก" บางทีทูลกระหม่อมเสด็จประพาสเวลาบ่ายไปแวะห้างฝรั่งซึ่งตั้งอยู่ที่ตึกหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หรือเสด็จแวะตามร้านทรงซื้อของเล่นหรือของกินมาแจกพระเจ้าลูกเธอ เพราะฉะนั้น ในพวกชั้นเล็กถึงจะได้ตามเสด็จหรือไม่ได้ตามก็อยากให้เสด็จประพานด้วยกันทุกพระองค์

ฉันเคยตามเสด็จทูลกระหม่อมไปหัวเมืองหลายครั้ง ครั้งแรก ไปถึงพระนครศรีอยุธยาเมื่อคราวอดนมที่เล่ามาแล้ว ครั้งที่สอง แม่เล่าว่า ได้ตามเสด็จไปในเรือกำปั่นไฟพระที่นั่งจนถึงเขาธรรมามูล เมืองชัยนาท[15] ต่อมาอีกครั้งหนึ่ง ได้ตามเสด็จไปลองเรือไฟ (ดูเหมือนจะเป็นเรืออัคเรศรัตนาสน์ที่เอมปเรอนะโปเลียนที่ ๓ ถวาย) ออกไปถึงปากอ่าว ฉันได้เห็นทะเลเป็นครั้งแรก จำได้เพราะเห็นปลากระเบนผิดประหลาดติดตา ต่อมา ได้ตามเสด็จไปพระปฐมเจดีย์ เสด็จไปครั้งนั้นทรงเรือกำปั่นไฟจักรข้างขนาดย่อมไปทางคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งเพิ่งขุดใหม่ยังเป็นคลองใหญ่ ในคราวนั้น ฉันไปถูกเรียกเป็นพยานให้เบิกความเรื่องเจ้าพี่พระองค์หนึ่งในชั้นเล็กด้วยกันไปหกล้มประชวรฟกช้ำ มีการไต่สวนว่า หกล้มเพราะเหตุใด จึงจำได้ถนัด

ฉันมาได้ความยกย่องเนื่องในการตามเสด็จครั้งหนึ่งเมื่ออายุได้หกขวบในปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ปีนั้น มีการเสด็จออกรับแขกเมืองอย่างเต็มยศ[16] ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เวลาเสด็จออกรับแขกเมืองนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับพระราชบัลลังก์ตรงกลาง ขุนนางเฝ้าทางด้านหน้า เจ้านายต่างกรมรัชกาลอื่นเฝ้าทางด้านเหนือ พระเจ้าลูกยาเธอชั้นผู้ใหญ่มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหัวหน้าเฝ้าทางด้านใต้ ที่โสกันต์แล้วแต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุยอย่างเจ้านายผู้ใหญ่ ที่ยังไม่ได้โสกันต์แต่งพระองค์ทรงเกี้ยวและอาภรณ์ตามแบบพระราชกุมารที่ยังเยาว์วัย ประทับบนเบาะและมีเครื่องยศตั้ง[17] วันนั้น ฉันตามไปส่งเสด็จทูลกระหม่อมถึงหลังพระทวารทางเสด็จออก แล้วเกิดอยากเห็นการออกแขกเมือง จึงลอบออกพระทวารทางด้านใต้ไปแอบเสามองดูอยู่ข้างหลังที่เหล่าเจ้าพี่ท่านประทับ เผอิญทูลกระหม่อมชำเลืองพระเนตรมาเห็น พอเสด็จขึ้นตรัสถามฉันว่า "ลูกดิศอยากออกแขกเมืองกับเขาบ้างหรือ" ฉันกราบทูลว่า "อยาก" ทูลกระหม่อมมาตรัสเล่าให้คุณป้าเที่ยงฟังแล้วดำรัสสั่งว่า ถ้าเสด็จออกแขกเมืองคราวหน้า ให้ฉันไปนั่งข้างท้ายแถวเจ้าพี่ แต่พานทองเครื่องยศที่ใช้กันนั้นโตเกินตัวฉันนัก ให้คุณป้าเที่ยงหยิบพานทองขนาดย่อมของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ซึ่งอยู่ในที่มาเป็นพานเครื่องยศไปตั้งสำหรับตัวฉัน แต่เผอิญในเวลานั้นจวนสิ้นรัชกาลอยู่แล้ว ไม่มีแขกเมืองต่างประเทศเฝ้าอีกในกรุงเทพฯ ฉันก็เลยไม่ได้ออกแขกเมือง ถึงกระนั้น ก็ได้พระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่มขึ้นถึงชั้นสูงในปีนั้น

ตั้งแต่อายุย่างเข้าหกขวบ ฉันเข้าออกนอกในได้โดยลำพังไม่ต้องมีใครควบคุม แม่ก็ไม่ห้าม เห็นจะเป็นด้วยท่านใคร่จะให้กล้า แต่เมื่อกลับไปเรือนต้องไปเล่าให้ท่านฟังทุกวันว่า ที่ไหนบ้างฉันชอบออกไปคอยตามเสด็จประพาสในตอนบ่าย เป็นเหตุให้คุ้นเคยกับข้าราชการนอกจากมหาดเล็กออกไปอีกหลายคน บางวัน พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์[18] (เมื่อยังเป็นหม่อมเจ้า) ผู้เป็นอธิบดีกรมม้าและรถพระที่นั่ง ท่านอุ้มเอาขึ้นหัดนั่งหลังม้า บางวันก็เลยไปเที่ยวที่ห้องอาลักษณ์ วันหนึ่ง ไปเห็นอาลักษณ์เขาเขียนหนังสือด้วยปากกาฝรั่ง (คือ ปากกาเหล็กเช่นเราใช้กันเป็นสามัญทุกวันนี้) นึกชอบบอกเขาว่า อยากหัดเขียนบ้าง อาลักษณ์คนนั้นใจอารี ให้ปากกาฝรั่งมีด้ามไม้อันหนึ่ง (ราคาว่าอย่างทุกวันนี้เห็นจะราวสิบสตางค์) ฉันถือเชิดชูกลับมาเรือนด้วยความยินดี พอแม่เห็นก็ขนาบขนานใหญ่ ด้วยท่านสั่งกำชับอยู่เสมอให้รักษาความประพฤติสามข้อ คือ ไม่ให้มักได้ ไม่ให้ตะกลาม และไม่ให้พูดปด ท่านว่า ฉันไม่ควรจะไปขอปากกามาจากอาลักษณ์ แล้วบังคับให้คนคุมตัวฉันเอาปากกาไปคืน ก็เลยไม่ได้หัดเขียนอย่างอาลักษณ์ ถึงหัดก็เห็นจะเหลว มาถึงตอนปีเถาะมีที่ชอบไปขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง ด้วยตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลาผนวชจากสามเณรเสด็จมาประทับที่พระตำหนักสวนกุหลาบอยู่ทางด้านใต้ใกล้กับบริเวณพระอภิเนาว์นิเวศน์ เจ้านายมักเสด็จไปประชุมที่นั่นในเวลาก่อนเข้าเฝ้าหรือเมื่อเฝ้าแล้วมิใคร่ขาด พวกเจ้านายชั้นเล็กเช่นตัวฉันก็มักไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนกลางวันเมื่อเฝ้าทูลกระหม่อมแล้ว ยังจำได้ถนัดว่า เมื่อแรกฉันไปเฝ้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตัดเสื้อสักหลาดสีเขียวเป็นรูปเสื้อแยกเกตอย่างฝรั่งพระราชทานตัวหนึ่ง รู้สึกว่า ได้ของสมัยใหม่ ชอบใจนี่กระไร แต่นั้นก็ไปสวนกุหลาบเสมอ เวลานั้น เจ้าพระยานรรัตนราชมานิตยังเป็นนายเวร (โต) เกิดมีมิตรจิตเอาเป็นธุระประคับประคอง ยังเล่าจนเมื่อเป็นเจ้าพระยาว่า มูลเหตุที่ท่านจะชอบฉันนั้น เพราะฉันจำท่ากุลาตีไม้ได้ (เห็นจะได้เห็นเมื่องานพระเมรุกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส) แล้วไปเต้น "ถัดทา" อวดท่านที่สวนกุหลาบ เรื่องนี้ยังลำเลิกจนในรัชกาลที่ ๖ เมื่อท่านป่วนหนักวันฉันไปเยี่ยมท่านเป็นครั้งที่สุด

ฉันได้ตามเสด็จทูลกระหม่อมเป็นครั้งที่สุดเมื่อเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่ตำบลหว้ากอ แขวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลานั้น อายุพอย่างเข้าเจ็ดขวบ การที่เสด็จไปครั้งนี้นับเป็นเรื่องสำคัญในพงศาวดาร ด้วยเป็นเหตุให้ทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคต แต่ข้อนี้ก็มิได้มีใครคาดในเวลานั้น แต่มักพอใจกล่าวกันเมื่อภายหลังด้วยความอาลัยว่า ถ้าไม่เสด็จไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่หว้ากอ ทูลกระหม่อมก็จะยังเสด็จอยู่ต่อมา ชวนให้ผู้ที่ไม่รู้เรื่องจริงเข้าใจว่า ไม่พอที่จะเสด็จไป เหตุใดทูลกระหม่อมจึงเสด็จไปหว้ากอครั้งนั้น แม้เจ้านายที่เป็นลูกเธอก็มาทราบชัดเจนต่อภายหลังด้วยได้ฟังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ท่านประทานอธิบายให้เข้าพระทัยว่า ตามตำราโหราศาสตร์ของไทยนั้นว่า สุริยอุปราคาไม่เป็นวิสัยที่จะมืดหมดดวงได้เหมือนจันทรอุปราคา พวกโหรเชื่อกันมาอย่างนั้นแต่โบราณ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาวิชาโหราศาสตร์เชี่ยวชาญทั้งอย่างไทยและฝรั่งจนถึงวัดแดดวัดดาวได้มาแต่ยังทรงผนวช ถึงกระนั้น ก็ยังไม่เกิดปัญหาเรื่องสุริยอุปราคาหมดดวง มาจนปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ทรงคำนวณว่า จะเห็นสุริยอุปราคาหมดดวงในประเทศสยามเป็นครั้งแรกในปีนั้น ตรัสบอกพวกโหรไม่มีใครเชื่อด้วยผิดตำรา สมเด็จกรมพระยาบำราบฯ ตรัสเล่าในส่วนพระองค์ว่า "ฉันเองก็ไม่เชื่อท่าน แต่หากเกรงพระราชหฤทัย ก็เอออวยไปด้วยเช่นนั้น" แต่สุริยอุปราคาครั้งนั้นดูในกรุงเทพฯ จะไม่เห็นมืดหมดดวง จะเห็นได้แต่ในท้องที่ใกล้เมืองประจวบคีรีขันธ์ อันตำบลหว้ากออยู่ตรงเส้นกลางทางโคจรของสุริยอุปราคา จึงต้องเสด็จไปทอดพระเนตรถึงที่นั้น ทรงชักชวนบรรดาผู้เชี่ยวชาญโหราศาสตร์ทั้งพระและคฤหัสถ์ให้โดยเสด็จด้วย เล่ากันว่า ทูลกระหม่อมทรงทรมานพระองค์ด้วยการคำนวณสุริยอุปราคาครั้งนั้นมากตั้งแต่ก่อนเสด็จไป ด้วยทรงเกรงว่า จะพลาดพลั้งไม่เห็นมืดหมดดวงหรือไม่ตรงเวลานาทีทรงพยากรณ์ ก็จะละอายพวกโหร เพราะทรงทราบอยู่ว่า ไม่มีผู้ใดเชื่อ การเสด็จไปหว้ากอครั้งนั้นยังมีการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ด้วยมีพวกนักปราชญ์ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษขอมาดู เซอร์แฮรีออด[ข] เจ้าเมืองสิงคโปร์ ก็จะมาเฝ้าด้วยกันกับภรรยาเพื่อดูสุริยอุปราคา ณ ตำบลหว้ากอด้วย จึงต้องเตรียมการเสด็จไปครั้งนั้นผิดกับครั้งอื่นแต่หนหลัง ถ้าว่าเฉพาะแต่ที่ตัวฉันจำได้ ตั้งแต่รู้ว่า ทูลกระหม่อมได้ทรงเลือกตัวฉันให้ไปตามเสด็จด้วย ก็ยินดีเหลือล้น เพราะนิสัยชอบเที่ยวดูเหมือนจะมีขึ้นบ้างแล้ว ทั้งครั้งนั้นได้พระราชทานเครื่องแต่งตัวและการ์ดชื่อพิมพ์ใส่ซองเงินสำหรับรับแขกเมืองแปลกกับตามเสด็จคราวก่อน ๆ เมื่อตามเสด็จไปในเรือพระที่นั่งอัครราชวรเดช[19] เห็นจะเป็นเพราะข้างในห้องแน่นกันนัก ตัวฉันกับเจ้าน้องหญิงแขไขดวง (ซึ่งเป็นธิดาคุณป้าเที่ยง) ถูกส่งตัวออกไปนอนกับคุณตาข้างท้ายเรือ ด้วยในเวลานั้น คุณตาเป็นผู้บัญชาการทหารบก จึงมีหน้าที่คุมทหารรักษาพระองค์ไปในเรือพระที่นั่ง เมื่อเรือแล่นออกทะเลไป ทูลกระหม่อมเสด็จไปที่ดาดฟ้าตอนท้ายเรือเยี่ยมพระองค์มา ตรัสถามฉันกับองค์แขว่า เมาคลื่นหรือไม่เมา ต่างกราบทูลว่าไม่เมาทั้งสองคน (พวกผู้ใหญ่เขาว่า ที่แท้นั้นตัวฉันมีอาการเมาคลื่นอยู่บ้าง แต่หากแข็งใจทูลไปว่า ไม่เมา) อย่างไรก็ดี ทราบว่า ในลายพระหัตถเลขาที่พระราชทานมากรุงเทพฯ ทรงติเตียนคนตามเสด็จที่ไปเมาคลื่น ตรัสอ้างว่า แต่เด็ก ๆ เช่นฉันกับองค์แขยังไม่เมา แต่ที่จริงคลื่นก็เห็นจะไม่มีเท่าใดนัก ด้วยเป็นฤดูลมตะวันตกเฉียงใต้พัดออกมาจากฝั่ง ถึงกระนั้น ผู้ที่แพ้คลื่นทะเลในสมัยนั้นยังมีมาก เป็นต้นว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ได้เคยตามเสด็จไปถูกคลื่นครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่เสด็จไปทะเลอีก ตามเสด็จคราวนี้ก็สู้ทรงช้างตั้งแต่เมืองเพชรบุรี เดินบกลงไปจนถึงตำบลหว้ากอ ทูลกระหม่อมเสด็จไปแวะประพาสที่บางแห่งในระยะทาง มีที่แหลมเขาตะเกียบเป็นต้น ฉันจำได้ว่า ตามเสด็จขึ้นบก พวกเด็กชาอุ้มไป ไปพบวัวฝูงของชาวบ้านเขาต้อนมา กลัววัวมันจะชนนี่กระไร ไปถึงภูเขาแห่งหนึ่งมีอ่างหินขังน้ำฝนไว้ในนั้น ทูลกระหม่อมไปประทับที่ริมอ่าง แล้วทรงตักน้ำมาทำน้ำมนต์ประพระเจ้าลูกเธอ ภูเขาที่ว่านี้มิใช่อื่นคือ "เขาลาด" นั้นเอง ทุกวันนี้ก็ยังงามดีเป็นที่เที่ยวแห่งหนึ่งของผู้ที่มาหัวหิน อ่างหินนั้นก็ยังปรากฏอยู่ที่เชิงเขา เสด็จขึ้นบกอีกแห่งหนึ่งที่คุ้งมะนาว (อันเป็นที่ตั้งสาขากรมอากาศยานบัดนี้) อยู่ข้างใต้อ่าวเกาะหลักอันเป็นที่ตั้งเมืองประจวบคีรีขันธ์ ทูลกระหม่อมทรงม้าพระที่นั่ง ตัวฉันขี่คอเด็กชาตามเสด็จไปจนถึงพลับพลาที่หว้ากอ ระยะทางสักสองร้อยเส้น พลับพลาตั้งต่อชายหาดที่ริมทะเล เขาว่า ที่ตรงนั้นเป็นดงตะเคียน[20] จึงเป็นเหตุให้เกิดเจ็บไข้ เมื่อมาคิดดูในชั้นหลังก็ชอบกล ทางโคจรของดวงอาทิตย์ที่จะเห็นสุริยอุปราคามืดหมดดวงได้ในครั้งนั้นคงมีเขตออกไปทั้งข้างเหนือข้างใต้ของเส้นศูนย์กลางที่อยู่ตรงตำบลหว้ากอ[21] ถ้าหากตั้งพลับพลาที่อ่าวมะนาวซึ่งอยู่เหนือหว้ากอขึ้นมาเพียงสองร้อยเส้น ก็จะพ้นที่มีความไข้ และคงเห็นสุริยอุปราคามืดหมดดวงได้เหมือนกัน ก็แต่ในสมัยนั้น ทางชายทะเลปักษ์ใต้ยังมิใคร่มีใครได้ไปเที่ยวเตร่รู้เห็นภูมิลำเนา เพราะทางคมนาคมยังลำบาก จึงเอาแต่คติทางโหราศาสตร์เลือกที่ตั้งพลับพลาที่ตำบลหว้ากอ ความทรงจำในเวลาเมื่ออยู่ที่หว้ากอครั้งนั้นนึกหาเรื่องอะไรที่เป็นแก่นสารไม่ได้ ด้วยเป็นเด็ก จำได้แต่ว่า ชอบวิ่งเล่นกับเจ้านายพี่น้องที่ลานหน้าพลับพลา และจำได้ว่า ได้ไปยืนเข้าแถวรับเซอร์แฮรีออดกับภรรยาเมื่อเข้าไปเฝ้าข้างใน ได้จับมือกับฝรั่งเป็นครั้งแรก และเซอร์แฮรีออดให้รูปฉายาลักษณ์ของตนแผ่นหนึ่ง ยังรักษามาอีกช้านาน ส่วนเรื่องสุริยอุปราคานั้นเกือบไม่ได้เอาใจใส่ทีเดียว จำได้แต่ว่า มีโรงตั้งกล้องส่องที่หน้าพลับพลา กล้องส่องจะเป็นอย่างไรก็จำไม่ได้[22] พวกฉันได้แจกแต่กระจกสีคล้ำแผ่นเล็ก ๆ สำหรับให้ส่องดูดวงอาทิตย์ และจำได้ว่า เมื่อหมดดวงนั้นมืดถึงแลเห็นดาวในท้องฟ้า แต่ฟังตามที่เล่ากันว่า ทูลกระหม่อมทรงปีติยินดีมากด้วยได้จริงดังทรงคำนวณหมดทุกอย่าง และพวกโหรบรรดาที่ตามเสด็จไป (ซึ่งเชื่อตำราว่า จะหมดดวงไม่ได้นั้น) ก็พากันพิศวงงงงวย นัยว่า ถึงพระยาโหราธิบดี (เถื่อน) เมื่อเป็นหลวงโลกทีป พอเห็นหมดดวงก็ร้อง "พลุบ" ออกไปดัง ๆ โดยลืมว่า อยู่ใกล้ที่ประทัป

เมื่อเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้สักเจ็ดวัน มีงานสมโภชพระแก้วมรกต ฉันจำได้ว่า ตามเสด็จทูลกระหม่อมไปทอดพระเนตรโขน ณ พระที่นั่งไชยชุมพล ได้เห็นทูลกระหม่อมเป็นครั้งที่สุดในวันนั้น พอกลับมาก็ล้มเจ็บเป็นไข้ป่าด้วยกันทั้งแม่และตัวฉัน แต่เห็นจะไม่เป็นอย่างแรง ถึงกระนั้น ก็ต้องนอนแซ่วอยู่กับเรือนเกือบเดือน ได้รู้แว่ว ๆ ว่า ทูลกระหม่อมประชวร พออาการฟื้นขึ้น ทูลกระหม่อมก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อรู้ข่าวก็พากันตกใจสิ้นสติอารมณ์ แม้แต่จะร้องให้ก็ไม่ออก จนเขาพาขึ้นไปสรงน้ำพระบรมศพจึงได้ร้องไห้ ได้ยินเขาเล่าให้ฟังเมื่อภายหลังว่า ในเวลาเมื่อทูลกระหม่อมประชวรอยู่นั้นตรัสห้ามไม่ให้พระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์เข้าไปให้ทอดพระเนตรเห็น เพื่อจะทรงระงับความอาดูรด้วยห่วงใย ถึงกระนั้น ก็ปรากฏในจดหมายเหตุเรื่องประชวรว่า ทรงเป็นห่วงพระเจ้าลูกเธอมาก ถึงมีพระราชดำรัสฝากฝัง ปรากฏในจดหมายเหตุดังคัดมาลงต่อไปนี้

"ถึงวันพฤหัสบดี เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบห้าค่ำ เวลาโมงเช้า ดำรัสสั่งให้พระยาบุรุษฯ ออกไปเชิญเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาภูธราชัยที่สมุหนายก เข้าไปเฝ้าถึงข้างที่พระบรรทม มีพระราชดำรัสว่า เห็นจะเสด็จสวรรคตในวันนั้น ท่านทั้งสามกับพระองค์ได้ทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้ กาลจะถึงพระองค์แล้ว ขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอฝากพระราชโอรสธิดาอย่าให้มีภัยอันตรายหรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งไรเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอให้ท่านทั้งสามจงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด ท่านทั้งสามเมื่อได้ฟังก็พากันร้องไห้สะอื้นอาลัย จึงดำรัสห้ามว่า อย่าร้องไห้ ความตายไม่เป็นอัศจรรย์อันใด ย่อมมีย่อมเป็นเหมือนกันทุกรูปทุกนาม ผิดกันแต่ที่ตายก่อนและตายทีหลัง แต่ก็อยู่ในต้องตายเหมือนกันทั้งสิ้น บัดนี้ เมื่อกาลมาถึงพระองค์เข้าแล้ว จึงได้ลาท่านทั้งหลาย"

ข้างฝ่ายพระราชโอรสธิดาทั้งปวงก็รู้สึกกันมาแต่ยังทรงพระเยาว์จนเติบใหญ่ทุกพระองค์ว่า ในความรักลูกแล้ว จะหาผู้ใดที่รักยิ่งกว่าทูลกระหม่อมเห็นจะไม่มี เพราะฉะนั้น ความรักทูลกระหม่อมจึงตรึงอยู่ในพระหฤทัยด้วยกันทั้งนั้น จะยกตัวอย่างดังเช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับกรมหลวงสมรรัตนฯ ทั้งสองพระองค์นี้ทูลกระหม่อมทรงใช้ชิดติดพระองค์อยู่เป็นนิจ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ณ ที่ใด ๆ ในห้องที่บรรทมคงมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย เคยมีพระราชดำรัสแก่ฉันว่า "ถ้าขาดไปไม่สบายใจ" ฉันจึงทราบว่า พระองค์ทรงติดทูลกระหม่อมถึงปานนั้น กรมหลวงสมรรัตนฯ ก็เป็นทำนองเดียวกัน เมื่อเสด็จออกไปอยู่ที่วังวรดิศก็มีพระบรมรูปทูลกระหม่อมไว้กับพระองค์เสมอ ทูลถามเรื่องแต่ก่อนมา ถ้าเป็นเรื่องเนื่องด้วยทูลกระหม่อมแล้ว ทรงจำได้แม่นยำกว่าเรื่องเดิม เคยมีผู้ถามฉันว่า จำทูลกระหม่อมได้หรือไม่ ข้อนี้ตอบยากอยู่สักหน่อย เพราะพระบรมรูปทูลกระหม่อมมีมาก ได้เห็นจนชินตา แต่ฉันนึกว่าจำได้ ด้วยเมื่อเสด็จสวรรคต อายุของฉันเข้าเจ็ดขวบแล้ว ทั้งได้ตามเสด็จและรับใช้ใกล้พระองค์อยู่ถึงสามปี เป็นแต่ไม่ได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณทูลกระหม่อมเมื่อยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่มากเหมือนอย่างเจ้าพี่ที่ท่านเป็นชั้นใหญ่

เมื่อเขียนถึงตรงนี้ นึกถึงคำราชทูตฝรั่งคนหนึ่งซึ่งเอาใจใส่ศึกษาพงศาวดารประเทศทางตะวันออกนี้เคยแสดงความเห็นแก่ฉันว่า สังเกตตามเรื่องที่ฝรั่งมาทำหนังสือสัญญาเมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้น เมืองไทยใกล้จะเป็นอันตรายมากทีเดียว ถ้าหากไม่ได้อาศัยพระสติปัญญาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไข ประเทศสยามก็อาจจะไม่เป็นอิสระสืบมาได้ คำที่เขาว่านี้พิเคราะห์ในพงศาวดารก็สมจริง ในชั้นนั้นมีประเทศที่เป็นอิสระอยู่ทางตะวันออกนี้ห้าประเทศด้วยกัน คือ พม่า ไทย ญวน จีน และญี่ปุ่น นอกจากเมืองไทยแล้วต้องยอมทำหนังสือสัญญาด้วยถูกฝรั่งเอากำลังบังคับทั้งนั้น ที่เป็นประเทศเล็กเช่นพม่าและญวนก็เลยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเมื่อปลายมือ แม้ที่เป็นประเทศใหญ่หลวงเช่นเมืองจีนก็จลาจลและลำบากยากเข็ญสืบมาจนทุกวันนี้ กลับเอาตัวรอดได้แต่ประเทศญี่ปุ่นเพราะเขามีคนดีมากและมีทุนมากด้วย ถึงกระนั้น ก็ต้องรบราฆ่าฟันกันเองแล้วจึงตั้งตัวได้ มีประเทศสยามประเทศเดียวที่ได้ทำหนังสือสัญญากับฝรั่งโดยฐานเป็นมิตรและบ้านเมืองมิได้เกิดจลาจลเพราะทำหนังสือสัญญา แต่น่าอนาถใจอยู่ที่ทุกวันนี้ผู้รู้พระคุณของทูลกระหม่อมมีตัวน้อยลงทุกที ถึงมีเสียงคนชั้นสมัยใหม่ (แต่มีน้อยคน) กล่าวว่า หนังสือสัญญาที่ทำเมื่อรัชกาลที่ ๔ เสียเปรียบฝรั่ง เพราะไทยในสมัยนั้นไม่รู้เท่าถึงการ เมื่อคิดต่อไปในข้อนี้ดูเป็นโอกาสที่ฉันจะสนองพระเดชพระคุณทูลกระหม่อมได้อีกบ้างเมื่อแก่ชรา ด้วยแถลงความจริงให้ปรากฏ เพราะเมื่อฉันเป็นนายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครและเป็นนายกราชบัณฑิตยสภาต่อมา ได้อ่านหนังสือเก่าทั้งที่รวบรวมฉบับได้ในประเทศนี้และที่ได้มาจากต่างประเทศ พบอธิบายเรื่องเนื่องในพระราชประวัติของทูลกระหม่อมซึ่งยังมิใคร่มีใครทราบหรือทราบแต่เรื่องไม่รู้ถึงต้นเหตุมีมาก ฉันจึงพยายามแต่งเรื่องพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยอาศัยหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กับเทศนาพระราชประวัติซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระนิพนธ์ เป็นโครงเรื่องแถลงพลความตามอธิบายที่ฉันได้มาทราบเมื่อภายหลัง ไว้ในตอนที่ ๒ และที่ ๓ ของหนังสือนี้




หน้า ๓๕–๑๑๗ ขึ้นลงสารบัญ



ตอนที่ ๒

เรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อเสวยราชย์แล้ว




เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระชันษาได้ ๔๗ ปี การที่ทรงสร้างสมบารมีมาในเสลาก่อนเสวยราชย์ ถ้าเอาระยะพระชันษาตั้งเป็นวินิจฉัยประกอบรายการที่ปรากฎตอนพระชันษาก่อน ๒๐ ปี คงได้ทรงรับความอบรมพระจริยาและศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ เช่น อักษรศาสตร์ ราชประเพณี และประวัติศาตร์ เป็นต้น สำหรับพระราชกุมารชั้นสูงศักดิ์ตามแบบโบราณครบทุกอย่าง แต่พระปรีชาญาณอันปรากฎในหนังสือต่างๆ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเสวยราชย์แล้ว ลึกซึ้งเกินกว่าหลักสูตรการศึกษาของพระราชกุมารมาก จึงเข้าใจว่าคงทรงศึกษาต่อมาในสมัยเมื่อทรงผนวชจนทรงสามารถรอบรู้ถึงปานนั้น ถึงตอนพระชันษาระวาง ๒๐ จนถึง ๓๐ ปี ทรงศึกษาภาษามคธจนเชี่ยวชาญ เป็นเหตุให้ทรงรอบรู้พระไตรปิฎกหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อนี้หาตัวอย่างในพงศาวดารมาเปรียบเทียบ เคยมีพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์พระร่วงพระองค์หนึ่ง ๑ พระนามเดิมว่า พญาลิไทย เมื่อเสวยราชย์ ณ กรุงสุโขทัย ใช้พระนามว่า พระมหาธรรมราชา (ที่ ๑) ในพงศาวดารเหนือเรียกว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เพราะปรากฎพระเกียรติว่าทรงเชี่ยวชาญพระไตรปิฎกหาผู้เสมอมิได้ในสมัยนั้น ได้ทรงแต่งหนังสือ ไตรภูมิ ไว้เรื่อง ๑ ยังมีฉบับที่จะพิสูจน์ได้ ในประเทศอื่นที่ใกล้เคียงมีพระเจ้าแผ่นดินมอญอีกพระองค์ ๑ เมื่อครองกรุงหงสาวดี ใช้พระนามว่า พระเจ้ารามาธิบดี แต่ในหนังสือพงศาวดารเรียกว่า พระเจ้าธรรมเจดีย์ เพราะปรากฎพระเกียรติ ว่าเชี่ยวชาญพระไตรปิฎกไม่มีผู้อื่นเสมอเหมือน และมีหนังสือซึ่งพระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงแต่งเรื่องประวัติพระพุทธศาสนาในเมืองมอญจารึกไว้ เรียกกันว่า จารึกกัลยาณี ยังปรากฎอยู่พอพิสูจน์ได้เหมือนกัน พิเคราะห์ความในหนังสือ ไตรภูมิ (พระร่วง) และในจารึกกัลยาณี ส่อให้เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์นั้น แม้ทรงทราบพระไตรปิฎกมากก็จริง แต่ไม่ถึงสามารถจะชี้วินิจฉัยผิดชอบในคัมภีร์อัตถกถาฎีกาได้เหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สุดแต่โบราณาจารย์ว่าไว้อย่างไร ก็ทรงถือแต่อย่างนั้น จึงผิดกัน ถึงตอนพระชันษาระวาง ๓๐ จน ๔๐ ปี ทรงจัดการฟื้นพระพุทธศาสนา และบางทีจะเป็นในตอนนี้ที่ทรงศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ ของไทยเพิ่มเติมจนรอบรู้ลึกซึ้งถึงขั้นสูงสุด โบราณคดีก็เห็นจะทรงศึกษาในตอนนี้ เพราะเสด็จไปเที่ยวธุดงค์ตามหัวเมือง ได้พบศิลาจารึกและทอดพระเนตรโบราณวัตถุสถานต่างๆ อยู่เนืองๆ ถึงตอนพระชันษาระหว่าง ๔๐ กับ ๔๗ ปี เริ่มทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับทั้งวิชาความรู้ต่างๆ ของฝรั่ง เลยเป็นปัจจัยให้เอาพระหฤทัยใส่สอดส่องการบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศในตอนนี้ ถ้าว่าโดยย่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างสมพระบามีสมบูรณ์มาแล้ว ตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์ ขาดอย่างเดียวแต่ที่มิได้เคยทรงบัญชาการทัพศึก เหมือนอย่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน ๓ รัชกาลแต่ก่อนมา เพราะไม่มีโอกาส ถึงกระนั้นเมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชย์ ก็ได้รับความนิยมนับถือของคนทั้งหลาย ว่าเป็นนักปราชญ์ ทรงพระปรีชาญาณผิดกับพระเจ้าแผ่นดินที่ปรากฎมาในพงศาวดารโดยมาก ข้อนี้ถึงบุคคลชั้นหลังที่ไม่ทันได้เห็นพระองค์ ใครได้อ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น พระบรมราชาธิบายและพระบรมราชวินิจฉัยที่รวบรวมพิมพ์ไว้ ก็จะเห็นได้ว่าในบรรดากิจการและเรื่องต่างๆ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์นั้น ทรงรอบรู้ลึกซึ้ง เชื่อได้ว่าในสมัยนั้นไม่มีผู้อื่นเสมอเหมือน นอกจากนั้น ถ้าสังเกตในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้ต่อไปถึงพระราชอัธยาศัยว่าไม่มีความประมาท เช่นจะทรงพระราชดำริกิจการอันใด ย่อมอาศัยหลักฐานและคิดถึงใจผู้อื่นเสมอ ข้อนี้พึงเห็นได้ในพระราชบัญญัติและประกาศสั่งการต่างๆ ทรงชี้แจงให้คนทั้งหลายเข้าใจพระราชดำริ และพระราชวินิจฉัยแจ่มแจ้งเป็นนิจ จึงเป็นเหตุให้คนทั้งหลายไว้วางใจในพระคุณธรรมมาตั้งแต่แรกเสวยราชย์จนตลอดรัชกาล

เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านพิภพนั้น ภายในประเทศสยามบ้านเมืองเป็นปกติเรียบร้อยกว่าเมื่อเปลี่ยนรัชกาลก่อนๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เพราะคนทั้งหลายนิยมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหมด แต่ทางภายนอกมีเหตุเป็นข้อวิตกอยู่ ด้วยเมื่อใกล้จะสิ้นรัชกาลที่ ๓ รัฐบาลอังกฤษให้มาขอทำหนังสือสัญญาใหม่ แต่ข้างฝ่ายไทยไม่ยอมทำ เพราะเห็นว่าถ้าทำหนังสือสัญญาตามข้อความที่อังกฤษปรารถนา จะเกิดความเสียหายในบ้านเมือง ทูตอังกฤษขัดใจกลับไป จึงระแวงกันอยู่ว่าอังกฤษจะกลับมาอีก และคราวนี้จะมาดีหรือร้ายก็ได้ทั้ง ๒ สถาน ก็ในเวลานั้นผู้ใหญ่ในราชการ มีสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทั้ง ๒ พระองค์เป็นต้น ยังนิยมในทางรัฎฐาภิปาลโนบายอย่างครั้งรัชกาลทื่ ๓ อยู่โดยมาก ผู้ที่มีความเห็นเป็นขั้นสมัยใหม่เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีน้อยตัว ที่ชื่อเสียงปรากฎมีแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ ๑ แต่เมื่อบวรราชาภิเษกแล้วก็เอาพระองค์ออกห่าง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยเกรงจะเป็นแข่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงมีแต่กรมหลวงวงศาธิราชสนิทพระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อเป็นเจ้าพระยาว่าที่สมุหพระกลาโหมองค์ ๑ กับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เป็นผู้ช่วยในการต่างประเทศ คน ๑ ความเห็นในเรื่องทำสัญญาจึงต่างกันเป็น ๒ อย่าง ข้างพวกสมัยเก่าเห็นว่าถ้าอังกฤษลดหย่อนผ่อนผันข้อความที่ปรารถนาลง อย่าให้ขัดกับประเพณีบ้านเมืองก็ควรทำ มิฉะนั้นก็ไม่ควรยอมทำหนังสือสัญญา เพราะยังเชื่อคำพวกจีนอยู่ว่าอังกฤษมีฤทธิ์เดชแต่ในท้องทะเล ฝ่ายพวกชั้นสมัยใหม่เห็นว่าโลกยวิสัยทางตะวันออกนี้ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงด้วยฝรั่งมามีอำนาจขึ้น จีนเป็นประเทศใหญ่ อังกฤษยังบังคับได้ ไทยเป็นประเทศน้อยที่ไหนจะยอมตามใจไทย อย่างไรๆ ไทยก็คงต้องทำหนังสือสัญญาใหม่กับอังกฤษ ผิดกันแต่เวลาช้าหรือเร็ว ถ้าไม่ยอมทำก็คงเกิดภัยอันตรายแก่บ้านเมือง ในพวกสมัยใหม่คิดเห็นกันอย่างนี้ทั้งนั้น แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการไกลกว่าผู้อื่น ทรงพระราชดำริว่า ทางที่จะให้ปลอดภัยมีทางเดียว แต่ต้องรับทำหนังสือสัญญาโดยดีให้เกิดมีไมตรีจิตต่อกัน แล้วจึงชี้แจงกันฉันมิตรให้ลดหย่อนผ่อนผันในข้อสัญญา อย่าให้เกิดยุคเข็ญแก่บ้านเมือง ใช่แต่เท่านั้น ทรงพระราชดำริต่อไปว่าประเทศทั้งหลายทางตะวันออกนี้ ต่อไปภายหน้าคงจะมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งมากขึ้นทุกที ถ้าไม่เปลี่ยนรัฎฐาภิปาลโนบายของประเทศสยาม ให้ฝรั่งนิยมว่าไทยพยายามบำรุงบ้านเมือง ให้เจริญตามอริยธรรม ก็อาจจะไม่ปลอดไปได้มั่นคง คงทรงพระราชดำริเช่นว่ามาแต่ยังทรงผนวชอยู่ เพราะฉะนั้นพอเสด็จผ่านพิภพ ตั้งแต่ก่อนทำพิธีราชาภิเษก ก็ทรงแก้ไขขนบธรรมเนียมเก่า เริ่มด้วยดำรัสให้เลิกประเพณีเข้าเฝ้าตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ ให้เจ้านายและข้าราชการใส่เสื้อเข้าเฝ้าต่อไปเป็นนิจ การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสให้ใส่เสื้อดังว่ามา คนสมัยนี้ได้ฟังเล่าอาจจะเห็นขัน ด้วยเข้าใจว่าเป็นการเล็กๆ น้อยๆ ขี้ประติ๋ว ไม่น่าจะยกขึ้นกล่าว ต่อไปได้อ่านหนังสือจดหมายเหตุเก่าจึงเห็นว่าแม้เป็นการเพียงเท่านั้น ก็ไม่สำเร็จได้โดยง่าย ข้อนี้ปรากฎอยู่ในหนังสือ เซอร จอน เบาริง ราชทูตอังกฤษแต่งเล่าเรื่องที่เข้ามากรุงเทพฯ ภายหลังมาอีก ๓ ปี ว่าเมื่อไปหาสมเด็จเจ้าพระยาฯ องค์ใหญ่ ครั้งแรกจัดรับอย่างเต็มยศ เห็นสมเด็จเจ้าพระยาฯ องค์ใหญ่แต่งตัวนุ่งจีบคาดเข็มขัดเพ็ชร แต่ตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ ความที่กล่าวส่อให้เห็นต่อไปว่าขุนนางผู้น้อยซึ่งเป็นบริวารอยู่ในที่นั้น ก็คงไม่ใส่เสื้อเหมือนกันทั้งนั้น เพราะถือกันว่าต้องใส่เสื้อในเวลาเข้าเฝ้า เวลาอื่นยังมีเสรีภาพที่จะรับแขกหรือไปไหนตัวเปล่าได้เหมือนอย่างเดิม เพราะทางประเทศตะวันออกนี้ไม่ใช่แต่ในประเทศสยามประเทศเดียว ถือกันมาแต่โบราณว่าต้องรักษาประเพณีที่มีมาแต่ก่อนมิให้เสื่อมทราม บ้านเมืองจึงอยู่เย็นเป็นสุข ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือเก่า คำสรรเสริญของพระเจ้าแผ่นดินมักกล่าวว่ารักษาโบราณราชประเพณีมั่นคง หรือ ทรงประพฤติตามโบราณราชประเพณี แม้จนในคำกลอนเทียบเรื่อง พระชัยสุริยา ของสุนทรภู่ ก็ยกเหตุว่าเพราะพวกข้าราชเฝ้าเจ้าเมืองสาวัตถี ดัดจริตผิดโบราณ บ้านเมืองจึงเป็นอันตราย เมื่อคนทั้งหลายเชื่อถือกันเช่นนั้นโดยมาก การเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมที่เคยนิยมกันมาช้านานจึงเป็นการยาก เพราะฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงค่อยทรงแก้ไขขนบธรรมเนียมเก่า แต่เพียงที่จะทำให้สำเร็จได้เป็นอย่างๆ โดยลำดับ แม้เรื่องที่โปรดฯ ให้ใส่เสื้อก็ยังใส่กันแต่ในเวลาเข้าเฝ้ามาจนคนสมัยเก่าหมดตัวไป พวกชั้นสมัยใหม่ชอบใส่เสื้อก็มีมากขึ้น จึงได้ใส่เสื้อกันแพร่หลาย

เมื่อถึงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ประเพณีเก่าอีกอย่างหนึ่ง ในวันเสด็จออกมหาสมาคมในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ด้วยพระราชทานบรมราชานุญาตให้พวกฝรั่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าด้วย เรื่องนี้ในเวลานั้นก็ไม่มีใครเห็นเป็นการแปลกประหลาดนัก เพราะเป็นแค่มีฝรั่งสัก ๑๐ คน เข้าไปยืนเฝ้าอยู่ข้างหลังแถวที่ขุนนางหมอบ แต่การนั้นมีผลมาก (ถึงมาเป็นประโยชน์ในการเมืองภายหลัง ดังจะเล่าในที่อื่นต่อไป) เพราะฝรั่งเหล่านั้นพากันเขียนบอกข่าวออกไปถึงนานาประเทศ ว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่ทรงเปลี่ยนขนบธรรมเนียมหันเข้าหาอริยธรรมอย่างฝรั่ง ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ ทางตะวันออก ฝรั่งตามต่างประเทศพากันพิศวงเริ่มเกิดไมตรีจิตต่อประเทศสยามผิดกว่าแต่ก่อน แม้ด้วยทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมตั้งแต่แรกเสวยราชย์อีกเรื่องหนึ่ง ด้วยทรงทราบแต่ยังทรงผนวชว่าในสมัยนั้นราษฎรถูกผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงชุกชุม เรื่องนี้ที่จริงราชประเพณีก็มีมาแต่โบราณ อนุญาตให้บรรดาผู้มีความทุกข์ร้อนถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดินได้ทั่วหน้าเสมอกันหมด แต่วิธีที่ถวายฎีกาตามแต่เก่าต้องไปตีกลองที่ทิมดาบกรมวัง ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงได้ยินเสียงกลอง ก็โปรดฯ ให้มารับฎีกา จึงเรียนกันว่า ตีกลองร้องฎีกา ครั้นนานมาผู้มีอำนาจกีดกันมิให้ราษฎรเข้าถึงกลอง ก็ถวายฎีกายากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรงปรารภในพระราชนิพนธ์แห่งหนึ่งว่า พระเจ้าแผ่นดินเหมือนเป็นพระประธานอยู่ในโบสถ์ ลืมพระเนตรอยู่ก็ไม่เห็นอะไร พอเสด็จเสวยราชย์ บรมราชาภิเษกแล้ว ก็ตรงตั้งประเพณีเสด็จออกรับฎีการาษฎรด้วยพระองค์เองทุกวันโกนเดือนละ ๔ ครั้ง เวลาเสด็จออก ให้เจ้าพนักงานตีกลองวินิจฉัยเภรี เป็นสัญญาให้ราษฎรเข้ามาถวายฎีกาได้เป็นนิจ ก็มีผลเห็นประจักษ์ทันที ด้วยผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงราษฎรเช่นฉุดลูกสาวหรือจับผู้คนจองจำตามอำเภอใจ ไม่มีใครกล้าทำดังแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นเป็นประโยชน์ จึงโปรดฯ ให้ประกาศขยายพระบรมราชานุญาตต่อออกไปถึงผุ้ไม่สามารถจะมาถวายฎีกาได้เอง เช่นถูกกักขังเป็นต้น ให้ฝากฎีกาให้ญาติพี่น้องหรือมูลนายถวายต่างตัวได้ แต่ในการที่รับฎีกาของราษฎรนั้น ถ้าปรากฎว่าใครเอาความเท็จมากราบทูลเพื่อจะให้ผู้อื่นเสียหายโดยไม่มีมูล ก็ให้ลงพระราชอาญาแก่ผู้ถวายฎีกาตามประเพณีเดิม ป้องกันผู้ไม่มีผิดมิให้เดือดร้อน นอกจากเสด็จออกรับฎีกา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงติดต่อกับราษฎรอีกอย่างหนึ่ง ด้วยดำรัสสั่งให้เลิกประเพณีโบราณ (อย่างเมืองจีน) ที่ห้ามมิให้ราษฎรเข้าใกล้ชิดหนทางเมื่อเวลาเสด็จประพาส และบังคับให้ปิดประตูหน้าต่างบ้านเรือนที่อยู่ทั้ง ๒ ข้างทาง โปรดฯ พระราชทานอนุญาตให้ราษฎรเข้ามาเฝ้าได้ใกล้หนทาง และให้เปิดประตูหน้าต่างได้ตามชอบใจ หากเจ้าของบ้านเรือนมีประสงค์จะแสดงความเคารพ ก็ให้แต่งเครื่องบูชาที่หน้าบ้าน แล้วคอยเฝ้าอยู่ที่เครื่องบูชานั้น จึงเกิดประเพณีตั้งเครื่องบูชารับเสด็จแต่นั้นมาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนประเพณีเดิมในเรื่องรับฎีการราษฎร และโปรดฯอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าแทนได้สะดวกกว่าแต่ก่อนดังกล่าวมา ก็เป็นเหตุให้ราษฎรพากันนิยมให้พระคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแพร่หลายอีกอย่างหนึ่ง

นอกจากเรื่องที่เล่ามาเป็นอุทาหรณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมเดิม และทรงสถาปนาการต่างๆ ขึ้นเป็นแบบแผนในรัชกาลที่ ๔ อีกหลายอย่าง ถ้าพรรณนาเป็นรายเรื่องหนังสือนี้จะยืดยาวนัก จึงจะรวมความกล่าวตามประเภทของการที่ทรงจัด โดยประสงค์จะให้เห็นเหตุและผลของการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดนั้นเป็นสำคัญ ถ้าตั้งเป็นปัญหาอย่างที่เรียนในสำนวนแปลในหนังสือจีนว่าเป็น คำกลาง ถามว่าเพราะเหตุใด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเปลี่ยนขนบธรรมเนียมต่างๆ อธิบายข้อนี้เมื่อพิจารณาดูเห็นว่าเป็นด้วยเหตุ ๒ อย่าง อย่าง ๑ ดังได้กล่าวมาแล้วว่าเพราะทรงตระหนักพระราชหฤทัยว่า รัชกาลของพระองค์ประจวบเวลาโลกยวิสัยทางตะวันออกนี้เปลี่ยแปลง ด้วยฝรั่งมามีอำนาจขึ้น จะต้องเปลี่ยนรัฎฐาภิปาลโนบายหันเข้าหาอริยธรรมอย่างฝรั่ง บ้านเมืองจึงจะพ้นภยันตราย แต่การต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดนั้น ที่ไม่เกี่ยวกับอริยกรรมของฝรั่ง แต่เป็นการสำคัญในขนบธรรมเนียมไทยก็มีมาก เห็นได้ว่ามีเหตุอื่นและเหตุนั้นเกิดแต่พระอุปนิสัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ทำการให้ถูกต้องเป็นแก่นสาร ไม่ทรงนิยมทำตามคติที่ถือกันว่าเคยทำมาแต่โบราณอย่างไรต้องทำอย่างนั้น จึงจะเป็นการ รักษาราชประเพณี เพราะเมื่อพระองค์ทรงผนวชได้มีโอกาสพิจารณาตำรับตำราต่างๆ มาก ทั้งทางฝ่ายพุทธศาสตร์และราชศาสตร์ เห็นประเพณีต่างๆ ที่ทำกันมาผิดหลักเดิมหรือยังบกพร่องมีอยู่มาก จึงทรงพยายามแก้ไขให้เป็นแก่นสาร ใช่จะโปรดเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ให้เป็นอย่างใหม่ไปทั้งนั้นหามิได้ พระอุปนิสัยเช่นว่านี้ พึงเห็นได้แต่ในพระราชประวัติตอนทรงผนวช พอทรงสอบสวนพระไตรปิฎกทราบว่าพระสงฆ์ไทยปฏิบัติพระวินัยเคลื่อนคลาดจากพระพุทธบัญญัติมากนัก ก็ทรงพยายามแก้ไขให้เป็นแก่นสาร ดังเล่าเรื่องมาแล้วในตอนก่อน ครั้นเสด็จเสวยราชย์ ทรงพิจารณาเห็นขนบธรรมเนียมอันใดเคลื่อนคลาดเค้ามูลหรือว่ายังบกพร่อง ก็ทรงพระราชดำริแก้ให้ดีขึ้น เป็นลำดับมาจนตลอดรัชกาล สมัยเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมของประเทศสยามจึงกำหนดในพงศาวดารว่าเกิดแต่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา

แต่นี้จะกล่าวอธิบาย ทีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ขนบธรรมเนียมตามประเภทต่างๆ ต่อไป


การศาสนา


ในตอนที่ ๒ ของหนังสือนี้ ได้เล่ามาแล้วถึงเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟื้นพระพุทธศาสนา และทรงตั้งนิกายพระสงฆ์ธรรมยุติกา และที่สุดเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรทรงทักท้วงเนื่องต่อการเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสสั่งให้พระสงฆ์ธรรมยุติกา กลับห่มคลุมอย่างพระมหานิกาย มาจนสิ้นรัชกาลที่ ๓ ได้ยินว่าในครั้นนั้นพระเถระธรรมยุติกาบางรูป มีสมเด็จพระวันรัต (ทับ) เมื่อยังเป็นที่พระอริยมุนีเป็นต้น ไม่ทำตามรับสั่งก็มี ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระเถระธรรมยุติกาทั้งปวง เข้าชื่อกันยื่นฎีกาต่อเสนาบดี ขอให้นำความกราบทูลว่าที่ต้องถูกบัลคับขืนใจให้ครองผ้าตามแบบอย่างซึ่งไม่เลื่อมใส มีความเดือดร้อน ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระสงฆ์ธรรมยุติกากลับครองแหวกเหมือนอย่างเดิม ก็เกิดความลำบากพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะจะดำรัสให้ห่มผ้าอย่างพระมหานิกายต่อไป ก็ผิดกับคติซึ่งพระองค์เองได้ทรงตั้ง ทั้งจะทำให้พระสงฆ์ธรรมยุติกายิ่งรู้สึกเดือดร้อนหนักขึ้น ถ้าหากกลับครองแหวกตามอำเภอใจจะทรงทำอย่างไรก็ยากอยู่ แต่จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตเล่า ก็ผิดกับที่ได้ทูลรับไว้ต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉพาะมีทางที่จะระงับความลำบากนั้นได้ด้วยฐานะของพระองค์เมื่อก่อนเสวยราชย์เป็นแต่สมณคณาจารย์ เมื่อทรงรับฎีกาของพระมหาเถระ ฐานะของพระองค์เป็นพระราชามหากษัตริย์ จึงพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยว่า การปฏิบัติพระธรรมวินัยเป็นกิจของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติ มิใช่ราชกิจของพระเจ้าแผ่นดินที่จะทรงสั่งให้ทำประการใด เมื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นนั้น พระสงฆ์ธรรมยุติกาก็พากันกลับห่มแหวกตามเดิม แต่เรื่องที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ธรรมยุติกายังมีข้ออื่นต่อมาอีก ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ คนที่เลื่อมใสต่อคติธรรมยุติกาอย่างเปิดเผยก็มี ที่เลื่อมใสแต่ไม่กล้าแสดงโดยเปิดเผย เพราะเกรงจะไม่พอพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มี ที่ไม่เลื่อมใสก็มี ตั้งแต่เปลี่ยนรัชกาลใหม่ ทรงสังเกตเห็นมีคนแสดงความเลื่อมใสในคติธรรมยุติกามากขึ้นรวดเร็ว เป็นเหตุให้ทรงพระราชวิจารณ์กว้างขวางออกไป ทรงพระราชดำริว่า ถ้าทรงขวนขายเผยแผ่นิกายสงฆ์ธรรมยุติกา ให้แพร่หลายด้วยพระราชานุภาพ จะเกิดโทษแก่บ้านเมืองมากกว่าเป็นคุณ เพราะจะทำให้พุทธบริษัททั้งพระและคฤหัสถ์ที่นับถือคติเกิดรังเกียจกัน และพระมหานิกายก็จะพากันหวาดหวั่นว่าจะถูกบังคับให้แปลงเป็นธรรมยุติ เหมือนเช่นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตก และที่สุดพระธรรมยุติกาเองถ้ามีจำนวนมากนัก การปฏิบัติพระธรรมวินัยก็อาจจะเสื่อมทรามลง เพราะเหตุที่กล่าวมา จึงโปรดฯ ให้พระสงฆ์ธรรมยุติกาคงขึ้นอยู่ในคณะกลางตามเดิม มิได้แยกย้ายเป็นคณะหนึ่งต่างหาก และดำรัสสั่งในราชการให้ถือว่าพระสงฆ์ ๒ นิกายนั้นเป็นอย่างเดียวกัน เป็นต้นว่าในการพิธีพระสงฆ์ ก็ให้นิมนต์รวมกันทั้ง ๒ นิกาย การที่ทรงตั้งพระราชาคณะก็เลือกแต่ด้วยพรรษาอายุและคุณธรรม ไม่ถือว่าจะเป็นนิกายไหนเป็นประมาณ ใช่แต่เท่านั้น ทางฝ่ายฆราวาสสกุลไหน แม้ไม่ใช่พระราชวงศ์เคยบวชเรียนในนิกายไหน ก็ตรัสขอให้คงอย่างเดิม แต่การฟื้นพระศาสนาก็ไม่ทรงทอดทิ้ง เป็นแต่เปลี่ยนพระบรมราโชบายมาเป็นทางสมาคมกับพระราชาคณะมหานิกาย เป็นต้นว่าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทูตถามอธิบายพระธรรมวินัยที่ใคร่จะทราบหรือที่ยังสงสัย ได้ตามประสงค์ และทรงชี้แจงพระบรมวินิจฉัยพระราชทานโดยมิได้รังเกียจพระบรมราโชบายเช่นว่า มีผลทำให้พระสงฆ์มหานิกายแก้ไขวัตรปฏิบัติดีขึ้นเป็นลำดับมา และการสงฆ์มณฑลก็มิได้แตกร้าวตลอดรัชกาลที่ ๔ ด้วยพระสงฆ์พากันเลื่อมใสในพระปรีชาญาณทั่วไปทั้ง ๒ นิกาย

พระราชปฏิบัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องด้วยศาสนายังมีต่อไปถึงศาสนาอื่นๆ อีก แต่ก่อนนอกจากพระสงฆ์กับพราหมณ์นักบวชในศาสนาอื่นเช่นศาสนาคริสตังก็ดี หรือศาสนาอิสลามก็ดี แม้จนพระญวณที่ถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ดี หาได้รับความยกย่องอย่างใดไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ได้ทรงสมาคมกับพวกบาทหลวงและพวกมิชชันนารีอเมริกันเนื่องในการทรงศึกษาภาษาฝรั่ง และทรงสมาคมกับพระญวนด้วยใคร่จะทรงทราบคติมหายาน คุ้นเคยอยู่แล้ว เมื่อเสวยราชย์แล้วก็ทรงรักษามิตรภาพสืบต่อมา ด้วยทรงยกย่องและพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ต่างๆ ยกเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นเมื่อสังฆราชปาลกัวต์ถึงมรณภาพ โปรดฯ พระราชทานเครื่องแห่ศพเหมือนอย่างขุนนาง และพระราชทานที่ดินให้สร้างวัดโปรเตสตันต์ กับทั้งทรงสร้างวัดญวนด้วย การที่ทรงอุปการดังกล่าวมานี้เป็นเหตุให้พวกบางหลวงและมิชชันนารีอเมริกัน เข้ารับช่วยราชการต่างๆ ตามราชประสงค์ และยังยกย่องพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนอยู่ทุกวันนี้ พระญวนก็เริ่มได้ทำพิธีกงเต๊กในงานหลวงเมื่อรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ส่วนพวกถือศาสนาอิสลามนั้น พวกถือลัทธิ เซียะ (พวกเจ้าเซน) ได้รับพระบรมราชานุเคราะห์เป็นประเพณีมาแต่รัชกาลก่อนๆ แล้วก็โปรดฯ พระราชทานตามเคย แต่พวกลัทธิสุหนี่เป็นคนหลายชาติหลายภาษา แยกย้ายกันอยู่ตามตำบลต่างๆ มีสุเหร่าและนักบวชชาติของตนเอง เข้ากับพลเมืองเป็นปกติอยู่แล้ว จึงไม่มีกิจที่จะต้องพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ผิดกับแต่ก่อนประการใด


การพิธีสำหรับบ้านเมือง


การพิธีต่างๆ ที่ทำเป็นประเพณีของประเทศสยามนี้ แต่เดิมมาถ้าเป็นพิธีในทางธรรมปฏิบัติ ทำตามคติพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นพิธีในทางโลก ทำตามคติไสยศาสตร์ของพราหมณ์ จึงเกิดคำพูดว่า พุทธกับไสยอาศัยกัน มาแต่โบราณ ถ้าทำพิธีตามพระพุทธศาสนา เช่นบวชนาคเป็นต้น เรียกว่าพิธีสงฆ์ พราหมณ์ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าทำพิธีไสยศาสตร์เช่นยกทัพจับศึกเป็นต้น เรียกว่าพิธีพราหมณ์ พระสงฆ์ก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง จำเนียรกาลนานมาเมื่อความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเจริญขึ้น ผู้ทำพิธีปรารถนาสวัสดิมงคลตามคติพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ก็มักคิดอ่านให้มีพิธีสงฆ์ด้วยกันกับพิธีพราหมณ์ จะยกตัวอย่าง เช่นพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดิน เดิมเป็นแต่พิธีพราหมณ์ ภายหลังมาให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มเข้าในส่วนการ เฉลิม (คือเสด็จขึ้นอยู่) พระราชมณเฑียร จึงเกิดการพิธีซึ่งทำทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ด้วยกันหลายพิธี แต่ที่ทำแยกกันอย่างเดิมยังมีมาก ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้หมดตัวพราหมณ์ที่ทรงพระเวทเสียแล้ว ยังเหลือแต่เชื้อสายที่สืบสกุลมาโดยกำเนิด แม้จะหาผู้ใดเข้าใจความในคัมภีร์พระเวทก็ไม่ได้ ด้วยไม่ใคร่ได้เรียนภาษาสันสกฤต การทำพิธีพราหมณ์เป็นแต่ทำตามเคย ไม่เป็นแก่นสารเหมือนเช่นเดิม แต่ละเลิกเสียก็ไม่ควร เพราะเป็นพิธีสำหรับบ้านเมืองและราชประเพณีมาช้านาน จึงแก้ไขระเบียบพิธีพราหมณ์ซึ่งเคยทำมาแต่โดยลำพัง เช่นพิธีแรกนา เป็นต้น ให้มีพิธีสงฆ์ด้วยทุกพิธี ที่สำคัญนั้นคือทรงแก้ระเบียบพิธีถือน้ำพิพัฒนสัตยา ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์กับพราหมณ์ทำด้วยกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พิธีสงฆ์มีสวดมนต์เลี้ยงพระให้เป็นสวัสดีมงคลก่อน แล้วทำพิธีพราหมณ์ อ่านโองการแช่งน้ำสาบานและชุบพระแสงต่อไป ข้าราชการกระทำสัตย์ถือน้ำต่อหน้าพระสงฆ์ที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัวที่ในท้องพระโรง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ประเพณีเดิม เสด็จออกไปประทับเป็นประธานให้ข้าราชการถือน้ำกระทำสัตย์และถวายบังคมที่พระอุโปสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระองค์เองก็เสวยน้ำพระพิพัฒนสัตยา ทรงปฏิญาณความซื่อตรงของข้าราชการทั้งปวงด้วย ระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ทรงแก้ไขให้เป็นพิธีสงฆ์เป็นพื้น คงทำตามพิธีพราหมณ์แต่สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระราชอาณาจักรและรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นสำคัญ การพิธีสำหรับบ้านเมืองจึงเป็นการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแก้ไข ให้เป็นแก่นสารขึ้นอีกประเภทหนึ่ง ดังพรรณนามา


ระเบียบยศศักดิ์


พอทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มทรงแก้ไขระเบียบยศศักดิ์ ด้วยมีเหตุที่จะต้องทรงพระราชดำริในการนั้น เบื้องต้นแต่ทรงตั้งแบบเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อน อธิบายข้อนี้ ตามประเพณีโบราณพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่จารึกสุพรรณบัฏถวายเมื่อราชาภิเษก มักใช้พระนามเดียวกันต่อๆ มา ด้วยถือว่าเป็นสวัสดิมงคล คนทั้งหลายจึงไม่เรียกพระนามตามที่จารึกนั้น เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์อยู่แต่ว่า ขุนหลวง หรือ พระพุทธเจ้าอยู่หัว หรือ พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ แต่เมื่อมีจำนวนพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงไปแล้วมากขึ้น ก็เรียกพระนามตามพอใจสมมุติกันต่างๆ เอาพระนามเมื่อก่อนเสวยราชย์มาเรียกเช่น สมเด็จพระเพทราชา บ้างเรียกตามพระอัธยาศัย เช่น พระเจ้าเสือ หมายความว่าดุร้ายบ้าง เรียกตามที่ประทับเช่นว่าพระเจ้าท้ายสระ เพราะประทับอยู่พระราชมณเฑียรที่ท้ายสระบ้าง เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ จารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี เหมือนกันทุกพระองค์ เมื่อรัชกาลที่ ๒ คนทั้งหลายเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า แผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๓ มีพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงแล้วเป็น ๒ พระองค์ คนทั้งหลายจึงมักเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า แผ่นดินต้น เรียกรัชกาลที่ ๒ ว่า แผ่นดินกลาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจว่าเป็นอัปมงคล เพราะมีต้นมีกลางก็ต้องมีปลาย รัชกาลของพระองค์จะเหมือนเป็นสุดท้าย จึงทรงบัญญัติให้เรียก ๒ รัชกาลก่อนตามพระนามพระพุทธรูปซึ่งทรงสร้างอุทิศถายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์นั้น ให้เรียกรัชการที่ ๑ ว่า แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเรียกรัชกาลที่ ๒ ว่าแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัยครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ มีปัญหาเกิดขึ้นอีกว่าจะเรียกรัชกาลที่ ๓ อย่างไร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าคารจะวางระเบียบการเรียกนามพระเจ้าแผ่นดินเสียให้เป็นยุติ อย่าให้เกิดปัญหาต่อไป เมื่อทำพิธีบรมราชาภิเษกจึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนแบบคำจารึกพระสุพรรณบัฏ เอาพระนามเดิมขึ้นตั้งแต่ต้นว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ แทนที่เคยขึ้นต้นว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี และให้เพิ่มคำสำหรับเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงข้างท้ายสร้อยพระนาม แล้วทรงบัญญัติให้เรียกพระนามรัชกาลที่ ๓ ว่า แผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (คำว่าพระนั่งเกล้าและพระจอมเกล้า ทรงอนุโลมตามพระนามเดิมว่า ทับ และว่า มงกุฎ) แล้วทรงบัญญัติให้เรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์ตามนามแผ่นดินว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อป้องกันมิให้คนภายหลังเรียกกันตามสมมุติเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา

ระเบียบยศเจ้านายและข้าราชการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงตั้งแบบแผนขึ้นใหม่ เนื่องในงานบรมราชาภิเษกนั้นหลายอย่างคือ ทรงสถาปนายศ กรมสมเด็จ ขึ้นใหม่ให้เป็นชั้นสูงสุดเจ้านายต่างกรมอย่าง ๑ ทรงสถาปนายศ สมเด็จเจ้าพระยา เข้าในทำเนียบ ให้เป็นชั้นสูงสุดในขุนนางอย่าง ๑ ทรงสถาปนายศเจ้าประเทศราชอย่าง ๑ และทรงสถาปนายศสตรีมีบรรดาศักดิ์ขั้น เจ้าคุณ เข้าในทำเนียบอีกอย่าง ๑ การที่ทรงสถาปนายศต่างๆ ที่กล่าวมานี้ จะอธิบายยศสมเด็จเจ้าพระยาก่อน แต่โบราณยศขุนนางชั้นสูงสุดเป็นเพียงเจ้าพระยา ตามทำเนียบศักดินาข้าราชการในกรุงมีเจ้าพระยาแต่ ๓ คน คือ เจ้าพระยามหาอุปราชเป็นชั้นพิเศษคน ๑ รองลงมาถึงอัครมหาเสนาบดี ๒ คน คือเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายกเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือนคน ๑ กับเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหมเป็นหัวห้าฝ่ายทหารคน ๑ ยศสมเด็จเจ้าพระยาหามีในกฎหมายไม่ มีแต่เรียกในหนังสือพงศาวดาร เช่น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และในพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ มีว่า พระอุปราชตรัสเอาพระยาพลเทพเดิมให้เป็น สมเด็จเจ้าพระยา (วังหน้า) ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงตั้งเจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) ที่สมุหพระกลาโหม เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา ไปรับราชการวังหน้า ดูก็เป็นทำนองเดียวกับที่ว่ ตั้งพระยาพลเทพเป็นเจ้าพระยา ในรัชกาลที่ ๑ และมีปรากฎในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงแก่อสัญญกรรม พระเจ้าบรมโกศโปรดฯ ให้เรียกศพว่าพระศพ อย่างเจ้า (ตามคำพวกผู้ใหญ่ในสกุลสิงหเสนีก็เล่าว่า ศพเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ได้พระราชทานเกียรติยศอย่างเจ้า) พิจารณาความที่กล่าวมาเห็นว่าสมเด็จเจ้าพระยานั้น เดิมจะเป็นแต่คำที่เรียกกันคือเจ้าพระยาคนใดมีความชอบพิเศษ ได้เลื่อนยศสูงขึ้นกว่าเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีเทียบเท่าเจ้าพระยามหาอุปราชในกฎหมาย อันมียศบางอย่างเหมือนกับเจ้า ก็เรียกกันว่าสมเด็จเจ้าพระยาๆ หาใช่ยศในกฎหมายไม่ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพูนบำเหน็จเจ้าพระยาพระคลังซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีอยู่แล้ว จึงโปรดฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยา และทรงบัญญัติยศสมเด็จเจ้าพระยาเข้าในกฎหมายเป็นชั้นสูงสุดในยศขุนนางแต่นั้นมา บางทีจะเนื่องมาจากที่ทรงตั้งสมเด็จเจ้าพระยานั้นเอง ทรงพระราชดำริต่อไปถึงยศเจ้านายต่างกรม ซึ่งตามแบบโบราณมียศ กรมพระ เป็นชั้นสูงสุด จึงทรงเพิ่ม กรมสมเด็จ ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง สำหรับทรงตั้งพระบรมวงศ์ซึ่งมีความชอบเป็นอย่างพิเศษ นับเป็นชั้นสูงสุดในยศเจ้านายต่างกรมแต่นั้นมา ที่ทรงแก้ไขระเบียบยศเจ้าประเทศราชนั้น แต่เดิมมารัฐบาลในกรุงะทพฯ ยกยศประเทศราชเป็นเจ้าแต่เมืองเวียงจันทน์กับเมืองหลวงพระบาง เพราะสืบสายมาแต่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแต่โบราณ ส่วนประเทศราชในมณฑลพายัพยังให้มียศแต่เป็น พระยา เพราะเพิ่งตั้งเป็นประเทศราชขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ต่อเจ้าเมืองคนใดมีความชอบมากจึงทรงตั้งให้เป็น พระเจ้า เฉพาะตัว เช่นพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละในรัชกาลที่ ๑ พระเจ้านครลำปางดวงทิพและพระเจ้านครลำพูนบุญมาในรัชกาลที่ ๒ แต่ชาวเมืองประเทศราชเหล่านั้นเองตลอดไปจนประเทศราชที่ขึ้นกับพม่า เช่นเมืองเชียงตุงเป็นต้น นับถือว่าเป็นเจ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าสกุลเจ้าเจ็ดตนที่ได้ครองเมืองเชียงใหม่ หรือนครลำปาง เมืองนครลำพูนกับทั้งสกุลเจ้าเมืองน่าน ได้มีความสามิภักดิ์ยั่งยืนมา ที่ให้มียศเป็นแต่เพียงพระยา ต่ำกว่าพวกที่ครองเมืองหลวงพระบางและประเทศราชที่ขึ้นพม่าหาสมควรไม่ จึงทรงสถาปนาให้มียศโดยปกติเป็นเจ้า ถ้ามีความชอบพิเศษเลื่อนขึ้นเป็น พระเจ้า เป็นระเบียบสืบมา

การตั้งกรมเจ้านายและตั้งขุนนางที่ทรงแก้ไขตั้งระเบียบใหม่นั้นประเพณีเดิมการตั้งกรมหรือเลื่อนกรมเจ้านาย นอกจากอุปราชาภิเษกมหาอุปราช พระเจ้าแผ่นดินเป็นแต่มีพระราชดำรัสสั่งแล้วก็ฉล้วกัน ไม่ได้ทรงเกี่ยวข้องกับการพิธี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปในการพิธีถึงวังเจ้านายที่รับกรม ทรงรดน้ำจากมหาสังข์พระราชทานอย่างอภิเษก และทรงเจิมจุณณ์ให้เป็นสิริมงคล แล้วพระราชทานพระสุพรรณบัฎเอง และเมื่อก่อนพระราชทานพระสุพรรณบัฎให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระเกียรติคุณของเจ้านายพระองค์นั้นอันเป็นเหตุให้ได้รับกรมให้ปรากฎด้วย

การตั้งขุนนางผู้ใหญ่ถ้าเป็นขั้นสูงถึงสมเด็จเจ้าพระยา ก็เสด็จไปพระราชทานสุพรรณบัฏทำนองเดียวกับตั้งกรมเจ้านาย ถ้าขั้นรองลงมาเพียงชั้นเจ้าพระยา ก็พระราชทานในท้องพระโรง และมีการอ่านประกาศเกียรติคุณเพิ่มขึ้นด้วย การตั้งขุนนางขั้นสามัญ แต่ก่อนมาเป็นแต่กรมวังผู้รับคำสั่งมีหมายบอกตัวเองและบอกไปตามกระทรวงทะบวงกรมการต่างๆ ว่าทรงตั้งคนนั้นเป็นคนที่นั้นแล้วก็แล้วกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้มีสัญญาบัตรลงพระราชหัตถเลขาปรมาภิไธย และประทับพระราชลัญจกรเป็นสำคัญ และให้รับสัญญาบัตรต่อพระหัตถ์เป็นประเพณีสืบมา

อนึ่งยศของสตรีมีบรรดาศักดิ์ชั้น เจ้าคุณ แต่ก่อนก็เป็นคำเรียกกันมักเรียกท่านผู้ใหญ่ในราชินิกุลหรือท้าวนางที่เป็นตัวหัวหน้า และเรียกเจ้าจอมมารดาของเจ้านายตางกรมผู้ใหญ่ แล้วแต่ใครจะเรียกๆ กันฟั่นเฝือไม่เป็นแบบแผน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงบัญญัติให้ยศ เจ้าคุณ เป็นยศในกฎหมาย สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเป็นแบบแผนสืบมา


แก้พระราชานุกิจ


การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขขนบธรรมเนียมในประเภทซึ่งเรียกในกฎหมายว่า พระราชานุกิจ คือระเบียบเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ ก็เป็นการสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองมาก ตามราชประเพณีมีแต่โบราณมา พระเจ้าแผ่นดินย่อมทรงประพฤติพระราชกิจต่างๆ เป็นระเบียบและตามกำหนดเวลาแน่นอนเสมอ เช่นเสด็จออกขุนนางวันละ ๓ ครั้ง คือเวลาเช้า ๑๐ นาฬิกาเสด็จออกพิพากษาคดี เวลาบ่าย ๑๔ นาฬิกาเสด็จออกที่เฝ้ารโหฐาน เวลาค่ำ ๒๐ นาฬิกาเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน เป็นต้น พระราชกิจอย่างอื่นก็จัดเข้าระเบียบทรงประพฤติโดยกำหนดเวลา เป็นทำนองเดียวกัน ข้าราชการผู้มีหน้าที่ในราชกิจอย่างใด ก็เฝ้าแหนตามกำหนดเวลาทรงปฏิบัติราชกิจอย่างนั้นเสมอไม่ต้องนัดหมายเห็นสะดวกแก่การงาน จึงใช้เป็นตำราราชประเพณีสืบมาช้านาน แต่ระเบียบพระราชานุกิจนั้นสำหรับแต่เวลาเสด็จประทับในพระนครราชธานี การที่จะเสด็จไปยังหัวเมืองไม่มีในตำรา แต่ก่อนมาการเสด็จไปหัวเมืองจึงแล้วแต่พระราชอัธยาศัยส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ตั้งแต่ล่วงรัชกาลที่ ๑ ไม่มีกิจที่ต้องเสด็จไปทำศึกสงคราม พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ รัชกาลต่อมา ก็ประทับอยู่แต่ในพระราชวังเป็นพื้น เป็นเหตุให้ทรงห่างเหินกับราษฎร และมิได้ทอดพระเนตรเห็นการที่เป็นไปตามหัวเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่า พระราชานุกิจอย่างรัชกาลก่อนยังบกพร่องเป็นข้อสำคัญ พอเสวยราชย์ก็ทรงแก้ไข คงไว้แต่ที่เป็นแก่นสาร เช่นเสด็จออกวันละ ๓ ครั้งเป็นต้น พระราชกิจที่ไม่เป็นการสำคัญเช่นเสด็จลงทรงบาตร และทรงประเคนเลี้ยงพระทุกวันดังเคยมีมาในรัชกาลก่อน โปรดฯ ให้เจ้านายทำแทนพระองค์ เอาเวลาไปใช้ในพระราชกิจที่เพิ่มขึ้น เช่นเสด็จออกรับฎีการาษฎรและเสด็จประพาสพระนครให้ราษฎรได้เฝ้าเป็นต้น ดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นทรงฟื้นประเพณีเสด็จประพาสหัวเมืองขึ้นเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาบางพระองค์ประพฤติมาแต่ก่อน มีโอกาสเมื่อใดก็ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปยังหัวเมืองต่างๆ ทางฝ่ายเหนือได้เสด็จไปถึงเมืองพิษณุโลก ทางตะวันออกเสด็จไปถึงเมืองปราจิณ กับทั้งหัวเมืองชายทะเลตลอดจนเมืองจันทบุรีและเมืองตราด ทางฝ่ายใต้เสด็จไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลา ทางฝ่ายตะวันตกเสด็จไปถึงเมืองนครชัยศรี เมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี และเมืองเพชรบุรี ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิลำเนาพระราชอาณาเขตและทรงทราบการหัวเมืองยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ปางก่อนโดยมาก ตามหัวเมืองที่เสด็จประพาสนั้น โปรดฯให้สร้างที่ประทับขึ้นใหม่ในวังพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาเคยประทับก็หลายแห่ง เช่นวังปางปะอินของพระเจ้าปราสาททอง วังจันทรเกษมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วังเชิงเขาพระนารายณ์มหาราช ที่เมืองเพชรบุรีและเมืองนครปฐมก็มีที่พระราชวังโบราณทั้ง ๒ แห่ง แต่โปรดฯ ให้สร้างวังใหม่ในที่อื่น การที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสตรวจการหัวเมือง จึงเกิดเป็นประเพณีอันมีประโยชน์แก่บ้านเมืองเป็นอันมากแต่ในรัชกาลที่ ๔ สืบมา

แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแก้ไขพระราชานุกิจดังกล่าวมา เมื่อภายหลังก็เกิดความลำบากแก่พระองค์ในการที่ต้องทรงประพฤติพระราชานุกิจ เพราะในรัชกาลที่ ๔ มีกิจการต่างๆ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนๆ ไม่ต้องทรงทำ เกิดเพิ่มขึ้นใหม่หลายอย่าง เป็นต้นแต่เหตุที่เคยทรงสมาคมและมีหนังสือไปมากับฝรั่งเมื่อยังทรงผนวช ครั้นเสด็จเสวยราชย์พวกฝรั่งต่างประเทศได้ทราบพระเกียรติคุณ พากันเขียนหนังสือมาถวายมากขึ้น เกิดพระราชกิจที่ต้องมีพระราชหัตถเลขาเป็นภาษาอังกฤษถึงชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้น อันต้องทรงแต่งเองเขียนเอง เพราะยังไม่มีใครอื่นที่รอบรู้พอจะช่วยพระราชกิจนั้นได้ ต่อมาถึงสมัยเมื่อทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับฝรั่งต่างประเทศแล้ว เกิดกิจซึ่งโต้ตอบกับพวกกงสุลในการต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก บางทีก็เป็นการสำคัญอันจะกราบทูลหรือปรึกษาโดยเปิดเผยในเวลาเสด็จออกขุนนางเหมือนอย่างแบบเก่าไม่ได้ ก็ต้องส่งหนังสือที่มีมากับทั้งร่างตอบเข้าไปถวายทรงพระราชวินิจฉัย นอกจากนั้นการที่ทรงรับฎีกาของราษฎร ก็เพิ่มพระราชกิจที่ต้องทรงพิจารณาฎีกาด้วยอีกอย่างหนึ่งหรือถ้ารวมว่าโดยย่อ คือเกิดการที่ต้องทรงพระอักษรเป็นส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงปฏิบัติการนั้น แทรกเข้ามาในระเบียบพระราชานุกิจประจำวัน วันไหนมีหนังสือที่เร่งร้อนต้องทรงมาก เวลาเสด็จออกว่าราชการบ้านเมืองเวลาค่ำมักเคลื่อนคลาดช้าไปเนืองๆ เป็นเหตุให้ข้าราชการผู้ใหญ่ติเตียนว่าเวลาพระราชานุกิจไม่แน่นอนเหมือนในรัชกาลที่ ๓ บางคนก็เลยขาดการเฝ้า ด้วยอ้างว่าสูงอายะแล้วอยู่ดึกทนไม่ไหว แม้ผู้ที่ยังไม่สูงอายุก็พลอยเอาอย่าง ประเพณีที่เสนาบดีต้องเข้าเฝ้าทุกวันก็เสื่อมมา ถ้ามีราชการสลักสำคัญมักเข้าเฝ้าเวลาเสด็จออกรโหฐาน ราชการสามัญที่เคยกราบทูลในเวลาเสด็จออก ขุนนางมักให้แต่ปลัดทูลฉลองกราบทูลแทน (เมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ ปรึกษากันให้กลับใช้แบบพระราชานุกิจอย่างรัชกาลที่ ๓ ดังจะปรากฎอธิบายในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า)


ตีเมืองเชียงตุง


ในรัชกาลที่ ๔ ต้องทำสงครามครั้งเดียว และไม่เหมือนกับสงครามใน ๓ รัชกาลที่ล่วงแล้ว ด้วยแต่ก่อนพอเปลี่ยนรัชกาลใหม่ทั้งรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ พม่าข้าศึกก็เข้ามารบรุก เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถก็ยกกองทัพลงมารบรุก ไทยเป็นฝ่ายข้างต่อสู้รักษาอาณาเขตทั้ง ๓ คราว แต่คราวนี้ไทยไปตีเมืองเชียงตุงเป็นการรบรุกอาณาเขตของพม่า จึงผิดกัน ที่จริงเรื่องตีเมืองเชียงตุงเริ่มมาในรัชกาลที่ ๓ ด้วยเหตุเกิดจลาจลในอาณาเขตลื้อ สิบสองปันนา อันเป็นประเทศราชของพม่า แต่ภูมิลำเนาอยู่ต่อแดนทั้งประเทศจีนและประเทศสยาม และเคยยอมขึ้นต่อจีนหรือไทยในเวลาได้ความลำบากมาแต่ก่อน เมื่อก่อนเกิดจลาจลครั้งนี้ มีพวกเจ้านายราชวงศ์เมืองเชียงรุ้ง ซึ่งครอบครองสิบสองปันนา พากันอพยพครอบครัวหนีภัยมาอาศัยอยู่ในแดนเมืองน่านและเมืองหลวงพระบาง (เมื่อยังเป็นอาณาเขตสยาม) หลายพวก พวกเมืองหลวงพระบางและเมืองน่านส่งตัวนายที่เป็นหัวหน้าลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อขอพระบารมีเป็นที่พึ่งและจะทิ้งพม่ามาขึ้นไทย ก็ในเวลานั้นทางประเทศพม่าเสื่อมกำลังตั้งแต่รบแพ้อังกฤษ (ครั้งแรก) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าเป็นโอกาสที่จะแผ่พระราชอาณาเขตไปถึงสิบสองปันนา แต่จะต้องตีเมืองเชียงตุงซึ่งพม่าให้ควบคุมข่มเมืองลื้อให้หมดกำลังเสีย ไทยจึงจะเอาเมืองสิบสองปันนาไว้ได้ ครั้งนั้นพอพวกเจ้าประเทศราชในมณฑลพายัพทราบกระแสพระราชดำริ ก็พากันยินดีรับอาสาเมืองเชียงตุง ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้เชลยกับทรัพย์สินเมื่อรบชนะตามประเพณีการสงครามในสมัยนั้น จึงโปรดฯ ให้พวกประเทศราชเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง และเมืองนครลำพูด ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง (ครั้งแรก) เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ แต่กองทัพที่ยกไปไปทำการไม่พรักพร้อมกัน ลงที่สุดขัดสนสะเบียงอาหารก็ต้องเลิกกลับมา พอประจวบเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรเรื่องตีเมืองเชียงตุงก็ค้างอยู่เพียงนั้นจนสิ้นรัชกาลที่ ๓

ถึงรัชกาลที่ ๔ มีความจำเป็นจะต้องตกลงเป็นยุติว่าจะทำอย่างไรต่อไปทั้งในเรื่องตีเมืองเชียงตุงและเมืองสิบสองปันนา เพราะพวกเจ้านายเมืองเชียงรุ้งต้องคอยฟังอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง ๓ ปี พรรคพวกครอบครัวที่คอยอยู่ในแขวงเมืองน่านและเมืองหลวงพระบางก็มาก พอประจวบกับได้รับศุภอักษรของเจ้าฟ้าแสนหวีเจ้าเมืองเชียงรุ้งก็มีมาให้กราบบังคมทูลว่าการที่จลาจลนั้นระงับเรียบร้อยแล้ว ขอพระราชทานอนุญาตให้เจ้านายที่มาพึ่งพระบารมีกับพวกบริวารกลับคืนไปบ้านเมือง และเจ้าเมืองเชียงรุ้งจะถวายเครื่องราชบรรณาการ ๓ ปีครั้ง ๑ เหมือนอย่างประเทศราชอื่นต่อไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า พวกราชวงศ์เมืองเชียงรุ้งกับพวกบริวารหนีภัยมาพึ่งพระบารมี ในเวลาบ้านเมืองเป็นจลาจล บ้านเมืองเรียบร้อยแล้วใครประสงค์จะกลับไปบ้านเมือง ก็พระราชทานอนุญาตให้กลับไปตามใจสมัคร แต่ส่วนเรื่องการตีเมืองเชียงตุงและเรื่องที่ผูกพันกับเมืองเชียงรุ้งต่อไปอย่างไรนั้น โปรดฯ ให้เสนาบดีปรึกษากันทำความเห็นขึ้นกราบบังคมทูล ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงบัญชาหรือตรัสปรึกษาเสนาบดี จะเป็นเพราะเหตุใด ข้อนี้พิจารณาดูเห็นว่า คงเป็นเพราะวินิจฉัยเรื่องเมืองเชียงตุงเกี่ยวกับการทำศึกสงครามอันเป็นวิชาที่พระองค์มิได้มีโอกาสทรงศึกษา ส่วนเรื่องเมืองเชียงรุ้งนั้น คงทรงเห็นการเหมือนพระบาทสมเด็๗พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเคยทรงพระราชดำริมาแต่ก่อน ว่าเมืองลื้อสิบองปันนนาเคยขึ้นแก่พม่าและจีน แม้ไทยรับเป็นที่พึ่ง ถ้าพม่าหรือจีนมาเบียดเบียนเมืองเชียงรุ้ง ก็ยากที่ไทยจะไปช่วยป้องกัน เพราะหนทางไกลและกันดารนัก จะไม่เป็นที่พึ่งแก่พวกลื้อสิบสองปันนาได้จริง แต่จะตรัสปฏิเสธโดยลำพังพระราชดำริก็ยาก จึงทรงอาศัยเหตุที่เป็นการเก่าซึ่งเสนาบดีเหล่านั้นได้เคยพิจารณาบัญชาการมาแล้วเมื่อรัชกาลที่ ๓ ให้ปรึกษากันอีกครั้งหนึ่งว่าจะควรทำอย่างไรต่อไปในรัชกาลใหม่ ก็ในปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ นั้น เผอิญประจวบกับอังกฤษมาตีเมืองพม่าอีก (เป็นครั้งที่ ๒) พม่ากำลังติดรบพุ่งกับอังกฤษจะไปช่วยเมืองเชียงรุ้งไม่ได้ เป็นโอกาสเกิดเพิ่มขึ้น เสนาบดีจึงพร้อมกันทำความเห็นกราบบังคมทูล เห็นว่าควรจะดำเนินการต่อไปตามพระราชดำริในรัชกาลที่ ๓ คือให้ไปตีเมืองเชียงรุ้งอีก เมื่อได้เมืองเชียงตุงแล้วก็คงได้เมืองลื้อสิบสองปันนาเป็นของไทยโดยไม่ลำบาก แต่การที่จะตีเมืองเชียงตุงคราวนี้ควรให้มีกองทัพกรุงเทพฯ ยกขึ้นไปควบคุมกองทัพพวกมณฑลพายัพด้วย จึงจะเป็นการสะดวกและจะเป็นประโยชน์ฝึกฝนข้าราชการในกรุงให้ชำนิชำนาญการศึกสงครามขึ้นด้วย เมื่อเสนาบดีลงมติอย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงบัญชาตาม โปรดฯ ให้เกณฑ์คนในมณฑลพายัพและหัวเมืองเหนือนอกจากมณฑลนั้นรวมจำนวน ๑๐,๐๐๐ จัดเป็น ๒ กองทัพ ให้เจ้าพระยายมราช (นุช บุณยรัตพันธุ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก) คุมกองทัพหน้ายกไปทางเมืองเชียงใหม่ทาง ๑ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเป็นจอมพลคุมกองทัพหลวงยกไปทางเมืองน่านอีกทาง ๑ ไปสมทบกันตีเมืองเชียงตุง กองทัพที่ยกไปครั้งนั้น ตีได้เมืองขึ้นและทางด่านที่พวกเชียงตุงมาตั้งต่อสู้เข้าไปจนถึงตั้งล้อมเมืองเชียงตุง ยังแต่จะหักเข้าเมือง เผอิญสะเบียงอาหารขาดลงก็ต้องถอยทัพกลับมาตั้งอยู่เมืองเชียงแสน ในเวลานั้นประจวบกับจัดทหารอย่างยุโรปขึ้นในกรุงเทพฯ เสนาบดีจึงปรึกษาเห็นกันว่า เมืองเชียงตุงก็อ่อนกำลังมากอยู่แล้ว ควรจะเพิ่มเติมกำลังกองทัพทั้งสะเบียงอาหารและเครื่องศัสตราวุธให้มากขึ้น อย่าให้มีความขัดข้องเหมือนเมื่อคราวก่อน แล้วให้ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงในฤดูแล้งปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ อีกครั้งหนึ่ง แต่ในเวลาเตรียมทัพอยู่นั้น ทางเมืองพม่าเสร็จการสงครามกับอังกฤษ พม่าส่งกำลังมาช่วยรักษาเมืองเชียงตุง ทางฝ่ายไทยไม่รู้ ยกขึ้นไปคราวหลังก็เกิดลำบากตั้งแต่เข้าแดนเชียงตุง กองทัพเจ้าพระยายมราชต้องติดขัดไปไม่ทันสมทบกองทัพหลวง กรมหลวงวงศาฯ เสด็จขึ้นไปพบกองทัพพม่ามีกำลังมากกว่าก็ต้องถอยทัพกลับมา การตีเมืองเชียงตุงจึงเป็นอันไม่สำเร็จ ถ้าคิดดูว่าเพราะเหตุใด เห็นว่าเพราะไปทำสงครามในดินแดนของข้าศึกซึ่งไทยไม่รู้เบาะแสภูมิลำเนา เสียเปรียบศัตรูอยู่โดยธรรมดาอย่าง ๑ เพราะฝ่ายไทยประมาทไม่ขวนขวายในการสืบสวนให้สมกับพระบวนพิชัยสงครามอย่าง ๑ เป็นข้อสำคัญ แต่ถึงตีเมืองเชียงตุงได้ก็คงรักษาไว้ไม่ได้ ด้วยอยู่ใกล้แดนพม่ากว่าแดนไทย


จัดทหารบกทหารเรือ


ทหารบกทหารเรือที่ฝึกหัดจัดระเบียบการบังคับบัญชาตามแบบฝรั่งก็เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ แต่นั้นมา เมื่อไทยรบกับญวณและระแวงว่าอังกฤษจะย่ำยีเหมือนอย่างเมืองจีน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่โปรดฯ ให้สร้างสมเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ และสร้างป้อมรักษาปากน้ำที่สำคัญทุกแห่ง ครั้งนั้นให้เกณฑ์พวกอาสาญวณ (เข้ารีต) หัดเป็นทหารปืนใหญ๋ขึ้นอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรับสรรค์พวก ๑ เกณฑ์พวกอาสามอญหัดเป็นพวกทหารปืนเล็กขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้บังคับบัญชาพวก ๑ สำหรับรักษาป้อมที่เมืองสมุทรปราการ ทหารทั้ง ๒ พวกนี้แต่งตัวตามแบบทหารฝรั่งและปรากฎว่าได้ให้มาตั้งแถวเป็นกองเกียรติยศ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในวันพระบรมราชาภิเษก แต่ยังไม่ได้จัดระเบียบการบังคับบัญชา ในปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์นั้น มีนายร้อยเอกทหารอังกฤษคน ๑ ชื่อ อิมเป (Impey) ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชย์และโปรดขนบธรรมเนียมฝรั่ง จึงเข้ามารับอาสาเป็นครูฝึกหัดจัดระเบียบทหารบก ก็โปรดฯ ให้จ้างไว้ แล้วเกณฑ์คนกรมอาสาลาวและเขมรให้เป็นทหารให้นายร้อยเอก อิมปี ฝึกหัด เรียกว่า ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป จัดเป็นกองร้อยและหมวดหมู่ มีนายร้อย นายสิบ ควบคุมตามแบบฝรั่ง และโปรดฯ ให้สร้างโรงทหารขึ้นสำหรับพวกทหารผลัดเวรกันอยู่ประจำการ การฝึกหัดและจัดระเบียบทหารครั้งนั้นเพราะทำตามแบบฝรั่ง และครูก็ไม่รู้ภาษาไทย จึงใช้คำบอกทหารและชื่อตำแหน่งยศทหารเป็นภาษาอังกฤษมาตลอดรัชกาลที่ ๔ พอข่าวระบือไปว่านายร้อยเอกอิมเปได้เป็นครูทหารไทย ในไม่ช้าก็มีนายร้อยเอกทหารอังกฤษชื่อ น๊อกส์ (Knox) เข้ามาอาสาอีกคน ๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ทหารวังหลวงมีนายร้อยเอกอิมเปเป็นครูอยู่แล้ว จึงโปรดฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวรับนายร้อยเอกน๊อกส์ไปเป็นครูฝึกทหารวังหน้า และให้โอนทหารญวณ (เข้ารีต) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบังคับบัญชาอยู่แต่ก่อนไปเป็นทหารวังหน้า ส่วนทหารมอญทีเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมนั้นก็โปรดฯ ให้คงอยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้จัดการทหารเรือทหารพวกนั้นจึงเปลี่ยนไปเป็นทหารมรีนสำหรับเรือรบ ต่อมาโปรดฯ ให้จัดกรมรักษาพระองค์เป็นทหารอย่างยุโรปขึ้นอีกกรม และจักพวกกรมอาสาญวณ (ถือพระพุทธศาสนา ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองผะดุงกรุงเกษม) เป็นทหารปืนใหญ๋แทนพวกญวณเข้ารีตที่โอนไปวังหน้าอีกกรม ๑ กรมทหารบกต่างๆ ที่กล่าวมานี้เป็นต้นเดิมของทหารบกที่มีต่อมาจนทุกวันนี้

ทหารบกที่เริ่มจัดขึ้นในปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ นั้น ทันได้ส่งขึ้นไปเข้ากองทัพกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เมื่อยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงครั้งหลังในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ จะเป็นจำนวนคนเท่าใดหาทราบไม่ ทราบแต่ว่านายร้อยเอกน๊อกส์คุมไป และได้ช่วยรบครั้งหลังเมื่อกองทัพกรมหลวงวงศาฯ ถอยลงมา

ส่วนทหารเรือนั้น เมื่อรัชกาลที่ ๓ มีเรือรบเป็นกำปั่นใบหลายลำ เกณฑ์พวกแขก (เขมร) กรมอาสาจามลงประจำ ขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม สำหรับลาดตระเวนในอ่าวสยาม บางทีก็มีราชการก็ให้ไปถึงเมืองต่างประเทศที่ใกล้เคียง ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นอัครมหาเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ท่านชำนาญการต่อเรือกำปั่นมาตั้งแต่ยังเป็นหลวงนายสิทธิในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้จัดทหารเรือและต่อเรือกลไฟเป็นเรือรบและเรือใช้เป็นพาหนะ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดการทหารเรือ ทรงต่อเรือรบและจัดทหารเรือวังหน้าขึ้นด้วย จึงเริ่มมีเรือไฟใช้เป็นเรือรบและเรือพาหนะตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ เป็นต้นมา คงใช้พวกอาสาจามเป็นพนักงานเดินเรืออยู่อย่างเดิม เพิ่มพวกมอญเป็นทหารมรีนสำหรับเรือรบ แต่พวกต้นกลนั้นฝึกหัดไทยใช้มาแต่แรก ส่วนการบังคับบัญชาในเรือรบ ในสมัยนั้นยังไม่มีไทยใครชำนาญ จึงต้องจ้างฝรั่งเป็นกัปตันและต้นหนเรือรบมาช้านาน




หน้า ๑๑๘–๑๔๙ ขึ้นลงสารบัญ



ความทรงจำ/๑๑๘



หน้า ๑๕๐–๑๘๑ ขึ้นลงสารบัญ



ความทรงจำ/๑๕๐



หน้า ๑๘๒–๒๒๙ ขึ้นสารบัญ



ตอนที่ ๕
เรื่องเสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก




การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศถึงเมืองสิงคโปร์ของอังกฤษ และเมืองบะเตเวีย เมืองสมารังของฮอลันดา ที่เรียกกันภายหลังแต่โดยย่อว่า เสด็จไปสิงคโปร์ เมื่อปลาย ปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๑๓ นั้น มูลเหตุมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จำเดิมแต่ทำหนังสือสัญญาเปิดบ้านเมืองให้ฝรั่งมาค้าขาย มีกงสุลและพวกฝรั่งต่างชาติเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้นทุกที พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะทะนุบำรุงพระนครมิให้พวกฝรั่งดูหมิ่น จึงให้เริ่มจัดการต่าง ๆ คือ ให้สร้างถนน (เจริญกรุง) สำหรับให้ใช้รถเป็นต้นได้โปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ กับพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ไปดูลักษณะการที่อังกฤษ บำรุงเมืองสิงคโปร์เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ ด้วยเมืองสิงคโปร์อยู่ใกล้ไปมาได้สะดวกกว่าที่อื่น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภจะเสด็จไปเองให้ถึงเมืองสิงคโปร์ ชะรอยจะใคร่ทรงสืบสวนถึงวิธีฝรั่งปกครองบ้านเมืองด้วย แต่รอหาโอกาสไปจนถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อเสด็จลงไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่หว้ากอครั้งนั้น เซอร์แฮรีออด เจ้าเมืองสิงคโปร์กับภรรยาขึ้นมาเฝ้า เพื่อจะมาดูสุริยอุปราคาหมดดวงด้วย เซอร์แฮรีออดทูลเชิยเสด็จไปประพาสเมืองสิงคโปร์ จึงตรัสรับว่าจะเสด็จไปเยี่ยมตอบ แล้วทรงปรึกษาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ๆ ก็เห็นชอบด้วย แต่กราบบังคมทูลขอให้มีเวลาตระเตรียมก่อน (สันนิษฐานว่าคงกำหนดว่าจะเสด็จไปเมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนมีนาคมปีมะโรงนั้น) แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับมาจากหว้ากอ ก็มาประชวรเสด็จสู่สวรรคตเสีย การที่จะเสด็จไปสิงคโปร์จึงเป็นอันค้างอยู่ (ความที่จะกล่าวต่อไปนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าให้ฉันฟัง) ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แรกได้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พวกกงสุลต่างประเทศมี มิสเตอร์น๊อกส์ กงสุลเยเนอราลอังกฤษ เป็นต้น ถามท่านว่าจะคิดอ่านให้พระเจ้าแผ่นดินทรงศึกษาวิธีปกครองบ้านเมืองด้วยประการใด ท่าน (ระลึกถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ยังค้างอยู่) ตอบว่าคิดจะให้เสด็จไปทอดพระเนตรวิธีปกครองบ้านเมืองของต่างประเทศที่เมืองสิงคโปร์และเมืองบะเตเวีย พวกกงสุลก็พากันซ้องสาธุการและรับจะบอกไปถึงรัฐบาลของตน ให้รับเสด็จให้สมพระเกียรติยศ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบว่าจะได้เสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศก็ทรงยินดีเต็มพระราชหฤทัย ครั้นได้รับเชิญของรัฐบาลอังกฤษกับรัฐบาลฮอลันดาก็ลงมือเตรียมการตั้งแต่ต้นปีมะเมียมา

ครั้งนั้นมีการที่ต้องแก้ไขขนบธรรมเนียมเดิมให้สะดวกแก่ที่เสด็จไปต่างประเทศหลายอย่าง เป็นต้นว่า

(๑) เรือพระที่นั่งที่จะเสด็จไป จะใช้เรือพระที่นั่งอัครราชวรเดชซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรง ก็ไม่ไว้ใจ ด้วยทางที่จะเสด็จไปต้องผ่านทะเลใหญ่ เผอิญในเวลานั้นซื้อเรือรบอย่างคอเวตต่อด้วยเหล็กมาจากสก๊อตแลนด์เพิ่งมาถึงใหม่ลำ ๑ ขนานนามว่าเรือพิทยัมรณยุทธ จึงจัดเรือลำนั้นให้เป็นเรือพระที่นั่งทรง ให้มีเรือรบซึ่งต่อในกรุงเทพฯ เป็นเรือตามเสด็จลำ ๑ เป็นเรือล่วงหน้าลำ ๑ รวมเป็นเรือกระบวนเสด็จ ๓ ลำด้วยกัน

(๒) ราชบริพารที่ตามเสด็จ ซึ่งประเพณีเดิมเวลาเสด็จไปไหนในพระราชอาณาเขต ต้องมีพนักงานต่างๆ ตามเสด็จด้วยมากมาย ก็ให้ลดจำนวนลงคงแต่ ๒๗ คนทั้งเจ้านายที่โปรดฯ ให้ไปตามเสด็จด้วย คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างสงศ์ (สมเด็จพระราชปิตุลาฯ) พระองค์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์ (กรมหลวงอดิศรอุดมเดช) เป็นนายร้อยทหารมหาดเล็กอยู่แล้ว โปรดฯ ให้เป็นราชองครักษ์พระองค์ ๑ ขุนนางผู้ใหญ่ที่ไปตามเสด็จครั้งนั้นมีเจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ๑ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกศาธิบดี เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ๑ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) จางวางมหาดเล็ก ได้บังคับทหารมหาดเล็กอยู่แล้วโปรดฯ ให้เป็นราชองครักษ์ ๑ สมัยนั้นเครื่องแต่งตัวที่ใช้ในราชสำนักยังไม่ใช้ถุงเท้ารองเท้า และยังเสื้อแพรหรือเสื้อกระบอกผ้าขาวเข้าเฝ้าจึงต้องคิดแบบเครื่องแต่งตัว สำหรับบรรดาผู้ที่จะตามเสด็จเข้าสมาคมและพิธีต่าง ๆ ให้ใส่ถุงเท้ารองเท้า และแต่งเครื่องแบบทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ฝ่ายทหารมีเครื่อบแบบทั้งเต็มยศและเวลาปกติ ฝ่ายพลเรือนมีเครื่องแบบแต่เต็มยศ เป็นเสื้อแพรสีหรมท่าปักทองที่คอและข้อมือ เวลาปกติใช้เสื้อคอเปิดผูกผ้าผูกคออย่างฝรั่ง แต่เครื่องแบบครั้งนั้นใช้นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่า ไม่นุ่งกางเกงทั้งทหารและพลเรือน ผ้าม่วงสีกรมท่าจึงใช้เป็นเครื่องแบบและนุ่งในเวลามีการงานแต่ครั้งนั้นสืบมา

เนื่องแต่จัดระเบียบการแต่งตัว เมื่อครั้งเสด็จไปสิงคโปร์คราวปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงประเพณีทั่วทั้งประเทศสยามอย่าง ๑ ซึ่งควรจะกล่าวไว้ด้วย ในสมัยนั้นไทยยังไว้ผมตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา เด็กไว้ผมจุกเหมือนกันทั้งชายหญิง ผู้ใหญ่ชายไว้ผมมหาดไทย คือโกนผมรอบศีรษะไว้ผมยาวสัก ๔ เซ็นต์ บนกลางกบาลหัวแล้วหวีแต่งเรือนผมนั้นตามเห็นงาม ส่วนผู้หญิงไว้ ผมปีก มีเรือนผมแต่บนกบาลหัวทำนองเดียวกับผู้ชาย รอบหัวเดิมไว้ผมยาวลงมาจนประบ่า ชั้นหลังเปลี่ยนเป็นตัดเกรียนรอบศีรษะ และไว้ผมเป็นพู่ที่ริมหูสำหรับเกี่ยวดอกไม้เครื่องประดับเรียกว่า ผมทัด ทั้งสองข้าง ประเพณีที่ไว้ผมเช่นว่ามาไทยเราไว้อย่างเดียวกันทั้งบ้านทั้งเมือง จนเคยตามาหลายร้อยปี ก็เห็นงามตามวิสัยมนุษย์ อันสุดแต่ทำอะไรให้เหมือนกันมากๆ ก็ (เกิดเป็นแฟชั่น) เห็นว่างามตามกันไป เป็นเช่นเดียวกันทุกชาติทุกภาษา ยกตัวอย่างเช่นพวกจีนเดิมไว้ผมมวย ครั้นพวกเม่งจูมาครอบครองบังคับให้ไว้ผมเปีย นานเข้าก็นิยมว่าผมเปียสวยงาม หรือจะว่าข้างฝรั่ง ยกตัวอย่างดังเครื่องแต่งตัวผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลกไม่รู้จักหยุด ก็เป็นเพราะเหตุเช่นเดียวกัน แต่การไว้ผมของไทยอย่างว่ามาเมื่อไปยังต่างประเทศ พวกชาวเมืองเห็นเป็นวิปริตแปลกตามักพากันยิ้มเยาะ เมื่อครั้งทูตไทยไปยุโรปในรัชกาลที่ ๔ จึงให้ไว้ผมทั้งศีรษะและตัดยาวอย่างฝรั่ง แต่เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็กลับตัดผมมหาดไทยไปอย่างเดิม เมื่อจะเสด็จไปสิงคโปร์คราวนี้ก็โปรดฯ ให้ผู้ที่จะตามเสด็จไว้ผมยาวตั้งแต่เวลาตระเตรียม เว้นแต่สมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีฯ ให้ตามเสด็จไปทั้งไว้พระเกศาจุก ครั้นเมื่อเสด็จกลับคืนพระนคร ทางปรารภกับท่านผู้ใหญ่ในราชการว่าการไปมาและคบหาสมาคมในระหว่างไทยกับฝรั่งจะมีมากขึ้นทุกที ประเพณีไว้ผมมหาดไทยชวนให้ชาวต่างประเทศดูหมิ่น ควรจะเปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวทั้งศีรษะ ท่านผู้ใหญ่ในราชการก็เห็นชอบตามพระราชดำริ จึงดำรัสสั่งให้เลิกตัดผมมหาดไทยในราชสำนัก ตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นต้นมา แต่มิให้บังคับถึงราษฎร ใครจะไว้อย่างใดก็ไว้ได้ตามชอบใจ แต่เมื่อคนทั้งหลายเห็นบุคคลชั้นสูงไว้ผมตัดยาว ก็พากันตามอย่างมากขึ้นโดยลำดับ หลายปีประเพณีไว้ผมมหาดไทยจึงหมดไป ถึงกระนั้นเมื่อแรกเลิกตัดผมมหาดไทยนั้น คนชั้นผู้ใหญ่สูงอายุก็ยังไม่สิ้นนิยมผมมหาดไทย แม้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ มักให้ช่างตัดผมรอบศีรษะให้สั้น และไว้ผมข้างบนยาวคล้ายกับเรือนผมมหาดไทย เรียกกันว่า ผมรองทรง ทางฝ่ายผู้หญิงนั้นก็โปรดฯ ให้เลิกผมปีก เปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวแต่ในราชสำนักก่อน แล้วผู้หญิงพวกอื่นก็เอาอย่างต่อๆ กันไปจนทั่วทั้งเมือง

นอกจากเรื่องตัดผมยังมีการอื่นๆ ที่จัดเป็นอย่างใหม่ในกระบวนเสด็จอีกหลายอย่าง เช่น ให้ยืนเฝ้าและถวายคำนับเป็นต้น แต่การรักษาพระนครในเวลาเสด็จไม่อยู่ ซึ่งเคยถือกันมาว่าเป็นการสำคัญแม้เพียงเสด็จไปหัวเมืองในพระราชอาณาเขตเมื่อรัชกาลก่อนๆ แต่ครั้งนี้ไม่ลำบาก ด้วยพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงว่าราชการแผ่นดิน มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ประจำอยู่แล้ว

เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันพฤหัสบดีเดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเมีย ไปหยุดพักที่เมืองสงขลาทอดพระเนตรบ้านเมืองวัน ๑ แล้วแล่นเรือต่อไปถึงเมืองสิงคโปร์ จัดการรับเสด็จอย่างใหญ่ยิ่งกว่าเคยรับแขกเมืองมาแต่ก่อน ด้วยเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปถึงเมืองสิงคโปร์ รับเสด็จขึ้นเมืองเป็นการเต็มยศ ผู้รั้งราชการเมืองสิงคโปร์กับข้าราชการทั้งปวงพร้อมกันมารับเสด็จที่ท่าเรือ เชิญเสด็จตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ แล้วทรงรถแห่ไปยังศาลานคราทรซึ่งพวกพ่อค้าพาณิชย์ทั้งปวงคอยเฝ้าอยู่พร้อมกัน เชิญเสด็จประทับราชอาสน์ แล้วผู้เป็นนายกสภาพาณิชย์เมืองสิงคโปร์อ่านคำถวายชัยมงคล กล่าวความท้าวถึง สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงปกครองราชอาณาจักรด้วยพระปรีชาญาณ ทรงทะนุบำรุงให้ประเทศสยามมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่นับถือของนานาประเทศ และที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติตามแบบอย่างต่อมาจนถึงทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปทอดพระเนตรเมืองต่างประเทศ ก็สมควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่พระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ แล้วเสด็จกลับขึ้นทรงรถแห่ไปยังจวนเจ้าเมือง ซึ่งจัดถวายเป็นที่ประทับแรมตลอดเวลาเสด็จอยู่เมืองสิงคโปร์ ในเวลาเสด็จประทับอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ๗ วันนั้น มีการสโมสรต่างๆ ที่จัดขึ้นรับเสด็จและเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการและสถานที่ต่าง ๆ สำหรับบ้านเมืองมากมายหลายอย่างทุกๆวัน ตามรายการในจดหมายเหตุดูเกือบไม่มีเวลาที่จะได้เสด็จพัก การสโมสรนั้น นายทหารบกมีประชุมเต้นรำ (Ball) ที่โรงทหารคืน ๑ พวกฝรั่งชาวเมืองสิงคโปร์มีการประชุมแต่งตัวต่างๆ เต้นรำ (Fancy Dress Ball) ที่ศาลานคราทรคืน ๑ ต่อมามีละครสมัครเล่นถวายทอดพระเนตรที่ศาลานคราทรอีกคืน ๑ ผู้รั้งราชการเมืองมีการเลี้ยงอย่างเต็มยศ (Banquet) คืน ๑ พวกชาวสิงคโปร์มีการประกวดต้นไม้ดอกไม้ถวายทอดพระเนตรที่สวนสำหรับเมืองวัน ๑ ส่วนกิจการและสถานที่ ที่เชิญเสด็จทอดพระเนตรนั้น คือโรงทหารบก เรือรบ อู่เรือ ศาลชำระความ เรือนจำ โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารไปรษณีย์ สถานีโทรเลข สถานีเครื่องดับไฟ โรงกลั่นไอประทีบ (Gas-works) ห้างและตลาดขายของ ทั้งทรงรถเที่ยวทอดพระเนตรถนนหนทางที่บำรุงบ้านเมืองด้วย เสด็จประทับอยู่ในเมืองสิงคโปร์จนเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะแม เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง มีการส่งเสด็จอย่างเต็มยศเหมือนเมื่อเสด็จไปถึงออกเรือในค่ำวันนั้น ไปถึงท่าเมืองบะเตเวียที่เกาะชะวา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ รัฐบาลฮอลันดาก็จัดการต่างๆ รับเสด็จเป็นอย่างใหญ๋ทำนองเดียวกับอังกฤษรับเสด็จที่เมืองสิงคโปร์ มีรายการเปลี่ยนออกไปแต่มีการสวนสนามทหารบกอย่าง ๑ พวกมลายูกับพวกจีนมีการแห่ประทีปอย่าง ๑ และพวกฝรั่งมีการจุดดอกไม้ไฟถวายทอดพระเนตรคืน ๑ สถานที่ซึ่งเจริญเสด็จไปทอดพระเนตร มีแปลกที่ทอดพระเนตรโรงทำปืนอย่าง ๑ กับทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานอีกอย่าง ๑ ซึ่งในเมืองสิงคโปร์ยังไม่มีในสมัยนั้น เสด็จประทับอยู่ที่เมืองบะเตเวีน ๗ วัน ถึงวันเสาร์เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งแล้วออกเรือในเช้าวันนั้น วันรุ่งขึ้นก็ถึงเมืองสมารัง แต่เสด็จไปถึงต่อในเวลาบ่าย จึงประทับแรมอยู่ในเรือพระที่นั่งคืน ๑ ถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำเวลาเช้า เรสิเดนต์ (สมุหเทศาภิบาล) หัวหน้าในรัฐบาลเมืองสมารังลงมารับเสด็จขึ้นเมืองเป็นการเต็มยศ และมีพิธีรับเสด็จคล้ายกับที่เมืองบะเตเวีย มีสิ่งซึ่งได้ทอดพระเนตร ณ เมืองสมารังครั้งนั้นแปลกจากที่อื่น คือทรงรถไฟซึ่งกำลังสร้างไปจนสุดปลายรางอย่าง ๑ ทอดพระเนตรโรงทำดินปืนอย่าง ๑ กับเจ้ามังกุนคโรเมืองโสโลพาละครชะวามาเล่นถวายทอดพระเนตรอย่าง ๑ เสด็จประทับอยู่เมืองสมารัง ๓ วัน ถึงวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๕ ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งออกเรือในวันนั้นกลับมาถึงเมืองสิงคโปร์เมื่อแรม ๕ ค่ำ มีพระราชดำรัสขออย่าให้มีการรับรองอย่างยศศักดิ์ให้ซ้ำซากลำบากแก่เขาอีก ผู้รั้งราชการลงมารับเสด็จเป็นการไปรเวต เชิญเสด็จประทับร้อนที่จวนเข้าเมือง เชิญเสด็จเสวยกลางวันแล้วเสด็จประพาสตามพระราชอัธยาศัย ครั้นเวลาค่ำเชิญเสด็จเสวยอีกเวลา ๑ และเสด็จทอดพระเนตรละครม้าแล้วจึงเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง รุ่งขึ้นวันอังคารเดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ ออกเรือพระที่นั่งจากเมืองสิงคโปร์ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์เดือน ๕ แรม ๑๑ ค่ำ รวมเวลาที่เสด็จไปครั้นนั้น ๓๗ วัน เมื่อเสด็จกลับมาถึงแล้วมีงานรื่นเริงเฉลิมพระเกียรติและแต่งประทีปทั่วทั้งพระนคร ๕ วัน

พิเคราะห์รายการที่เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ เมืองบะเตเวีย และเมืองสมารัง เห็นได้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรขนบธรรมเนียมฝรั่งมาก ทั้งในส่วนการสมาคมและกิจการต่างๆ ซึ่งเนื่องในการปกครองทะนุบำรุงบ้านเมือง การที่เสด็จไปต่างประเทศครั้งนั้น ความเข้าใจของคนทั้งหลายทั้งไทยและฝรั่งเป็นอย่างเดียวกันว่า เสด็จไปทรงศึกษาหาแบบอย่างมาจัดการทะนุบำรุงประเทศสยาม หากว่าเมื่อเสด็จกลับมาไม่ทำอะไรเลย ก็คงถูกติเตียนว่าเสด็จไปเที่ยวเล่นให้สิ้นเปลืองเวลาเปล่าๆ หรือถึงหมิ่นประมาทพระปัญญาว่าไร้ความสามารถ ก็แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้ว่าราชการบ้านเมือง จึงเริ่มทรงจัดการแก้ไขขนบธรรมเนียมแต่ในราชสำนัก ด้วยความเห็นชอบของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในเวลานั้นฉันอายุได้ ๑๐ ขวบและอยู่ในราชสำนัก ได้เห็นการที่เปลี่ยนแปลงที่จัดเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ยังจำได้อยู่หลายอย่าง เป็นต้นว่าโปรดฯ ให้กั้นฉากในพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็น ๓ ห้อง ห้องทางตะวันตกตั้งโต๊ะเก้าอี้เป็นห้องรับแขก ห้องตอนกลางคงเป็นทางเสด็จออกท้องพระโรง หน้าห้องทางตะวันออกจัดเป็นห้องเสวย ตั้งโต๊ะเก้าอี้เลี้ยงแขกได้ราว ๒๐ คน เวลาเช้าเสด็จออกท้องพระโรง เจ้านายขุนนางยังหมอบเฝ้าและคงแต่งตัวเหมือนอย่างเดิม แต่ตอนกลางวันเมื่อเสด็จขึ้นจากท้องพระโรง หรือตอนบ่ายและตอนค่ำก่อนเสวยเย็น เสด็จประทับที่ห้องรับแขก ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ให้ผู้ที่เข้าเฝ้าแต่งตัวสวมถุงเท้ารองเท้า ใส่เสื้อเปิดคอแบบฝรั่ง นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่า ยืนเฝ้าตามแบบฝรั่ง ถึงเวลาเสวยเย็นโปรดฯ ให้เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนักนั่งโต๊ะเสวยด้วย ต้องแต่งตัวใส่เสื้อแย๊กเก๊ตขาวเปิดคอ เวลาบ่ายๆ ถ้าเสด็จทรงเที่ยวประพาส ก็แต่งตัวใส่ถุงเท้ารองเท้าเสื้อเปิดคอและยืนเฝ้าเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมา ถ้าว่าตามความเห็นในสมัยนี้ดูก็เป็นการเล็กน้อย แต่คนในสมัยนั้เห็นแปลกประหลาด ถึงจมื่นเก่งศิลปคน ๑ เขียนลงเป็นจดหมายเหตุใน ปูม เมื่อวันเสาร์เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ (ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔) ว่า ในข้างขึ้นเดือนนี้ข้าราชการแต่งคอเสื้อผ้าผูกคอ ด้วยเป็นธรรมเนียมฝรั่งธรรมเนียมนอกดังนี้ พอเป็นเค้าให้เห็นได้ว่าคนในสมัยนั้นเห็นเป็นการสำคัญเพียงใด

มีการอีกอย่างหนึ่งซึ่งทรงพระราชดำริเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์คือ จะจัดการศึกษาของลูกผู้ดีซึ่งได้โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนภาษาไทยขึ้นแต่ก่อนเสด็จไปสิงคโปร์แล้ว เมื่อเสด็จกลับมีพระราชประสงค์จะให้มีโรงเรียนภาษาอังกฤษด้วย แต่ขัดข้องด้วยหาครูไม่ได้ เพราะมิชชันนารีที่สอนภาษาอังกฤษแก่ไทยในเวลานั้น สอนแต่สำหรับชักชวนคนให้เข้ารีตเป็นข้อรังเกียจอยู่ จึงโปรดฯ ให้เลือกหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ที่ยังเยาว์วัยส่งไปเรียนที่โรงเรียนแรฟเฟล ณ เมืองสิงคโปร์ในปีมะแมนั้น ประมาณ ๒๐ คน นักเรียนที่ส่งไปครั้งนั้นยังมีตัวตนอยู่ในเวลาเมื่อแต่งหนังสือนี้แต่ ๓ คือ สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์พระองค์ ๑ หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ องค์ ๑ เดี๋ยวนี้ทรงพระชราแล้วทุกพระองค์ แต่นักเรียนชุดนี้ไปเรียนอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เพียงปีเศษ ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับจากอินเดียหาครูอังกฤษได้โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษขึ้นแล้ว ก็โปรดฯ ให้กลับมาเรียนในกรุงเทพฯ เว้นแต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร (ม.ร.ว. เทวหนึ่ง สิริวงศ์) ทั้ง ๓ นี้เรียนรู้มากถึงชั้นสูงกว่าเพื่อน จึงโปรดฯ ให้ส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษต่อไป เป็นแรกที่ส่งนักเรียนหลวงไปเรียนถึงยุโรป

กรมที่ทรงจัดมากเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์นั้น คือทหารมหาดเล็กถึงตอนนี้ทรงจัดแก้ไขเพิ่มเติมขยายการออกไปหลายอย่าง คือให้ชักชวนพวกเชื้อสายราชสกุลและลูกมหาดเล็กเข้าเป็นทหาร เพิ่มจำนวนคนขึ้น จัดเป็น ๖ กองร้อย ให้สร้างตึกแถว ๒ ชั้น ขึ้น ๒ ข้างประตูพิมานชัยศรี เป็นที่อยู่ของมหาดเล็ก และสร้างตึก ๒ ชั้นขึ้นอีกหลัง ๑ ที่ริมกำแพงด้านหน้าพระราชวัง สำหรับเป็นที่อยู่ของนายทหารมหาดเล็ก(ตามแบบ ตังลินบาแร๊ก ณ เมืองสิงคโปร์) แต่ตึกหลังนี้เมื่อกำลังสร้างอยู่ประจวบเวลาเริ่มแก้ไขการพระคลังมหาสมบัติ (ซึ่งจะเล่าเรื่องต่อไปข้างหน้า) ไม่มีสถานที่จะทำการพระคลังฯ จึงโปรดฯ ให้โอนไปเป็นสถานที่ทำการพระคลังฯ ขนานนามว่า หอรัษฎากรพิพัฒน (แต่ตัวตึกเดี๋ยวนี้แก้ไขต่อเติมผิดกับของเดิมเสียมากแล้ว) และในครั้งนั้นให้สร้างตึกใหญ่สำหรับเป็นที่สโมสรของทหารมหาดเล็ก ตามแบบสโมสรคองคอเดียที่เมืองบะเตเวียอีกหลัง ๑ (ซึ่งแก้ไขเป็นศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้) เรียกชื่อตามภาษาฝรั่งว่า หอคองคอเดีย

ภายนอกพระราชวัง ก็มีการก่อสร้างซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ครั้งนั้นอีกหลายอย่าง ว่าแต่ตามที่ฉันจำได้ คือทำถนนริมกำแพงรอบพระนครอย่าง ๑ สร้างสวนสราญรมย์อย่าง ๑ แต่งคลองตลาดตอนระหว่างสะพานข้างโรงสีกับสะพานมอญ ทำเขื่อนอิฐถนนรถ (ซึ่งภายหลังขนานนามว่า ถนนราชินี และ ถนนอัษฎางค์) ทั้ง ๒ ฟาก และมีสะพานหกสำหรับรถข้ามคลองเหมือนอย่างที่เมืองบะเตเวียด้วย นอกจากที่พรรณนามามีการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแต่สมัยนั้นก็หลายอย่าง เป็นต้นว่าหารถมาใช้ในกรุงเทพฯ แพร่หลายมาแต่นั้น ซื้อมาจากเมืองสิงคโปร์บ้าง เมืองบะเตเวียบ้าง แต่ในไม่ช้าก็มีช่างตั้งโรงรับสร้างและซ่อมแซมรถขึ้นในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับการที่แต่งตัวใส่เสื้ออย่างฝรั่งและใช้เกือกถุงตีน ในไม่ช้าก็มีโรงรับจ้างตัดเสื้อและขายสิ่งของที่ต้องการใช้ หาได้ในกรุงเทพฯ นี้เองไม่ลำบาก หรือถ้าว่าโดยย่อ การที่เสด็จไปสิงคโปร์ครั้งนั้น นอกจากการเจริญการสมาคมในระหว่างไทยกับชาวต่างประเทศเป็นปัจจัยให้ชาวต่างประเทศนิยมเข้ามาค้าขายในประเทศนี้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก

พอเสด็จกลับจากสิงคโปร์แล้วไม่ช้า ในปีมะเมียนั้นเองก็เริ่มเตรียมการที่จะเสด็จไปอินเดีย เหตุที่จะเสด็จไปอินเดียนั้น เจ้าพระยาภานุวงศ์เคยเล่าให้ฉันฟัง ว่าทรงพระปรารภแก่ตัวท่านตั้งแต่แรกเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ว่าที่เสด็จไปเมืองสิงคโปร์และเมืองบะเตเวีย เมืองสมารัง ได้ทอดพระเนตรเห็นแต่เพียงเมืองขึ้น ที่ฝรั่งปกครองคนต่างชาติต่างภาษา ได้ประโยชน์ยังน้อย ใคร่จะเสด็จไปถึงยุโรป ให้ได้เห็นขนบธรรมเนียมราชสำนักประเพณีบ้านเมืองของฝรั่ง (ตรงนี้จะแทรกวินิจฉัยของฉันลงสักหน่อย ที่มีพระราชประสงค์เช่นนั้นก็เป็นธรรมดา แต่เหตุใดจึงจะรีบเสด็จไปโดยด่วนไม่รั้งรอ ข้อนี้ฉันสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะทรงพระราชดำริเห็นว่าเวลาที่ยังไม่ต้องทรงว่าราชการแผ่นดินมีอยู่เพียงอีก ๒ ปี ถ้ารอไปจนถึงเวลาทรงว่ราชการเองแล้วคงยากที่จะหาโอกาสได้ เพราะฉะนั้นจึงจะรีบเสด็จไปยุโรปเมื่อโอกาสยังมีอยู่) เจ้าพระยาภานุวงศ์ เห็นชอบด้วยตามพระราชดำริ รับจะไปพูดจากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่เห็นชอบด้วย อ้างว่าไปยุโรปทางก็ไกลเรือที่จะทรงก็ไม่มี เป็นการเสี่ยงภัยมากนัก ไม่สะดวกเหมือนไปกับสิงคโปร์และเมืองชะวา เจ้าพระยาภานุวงศ์ฯ ไม่อยากให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัส จึงคิดขึ้นว่าอินเดียก็รุ่งเรืองคล้ายกับยุโรป ผู้ปกครองมียศเป็นไวสรอยต่างพระองค์คล้ายกับราชสำนัก และหนทางที่จะไปก็ไม่ไกลนัก ส่วนเรือพระที่นั่งที่จะทรงไปนั้น ในเวลานั้นห้างนะกุดาอินสไมส์ที่วัดเกาะสั่งเรือสำหรับรับส่งคนโดยสารในระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองสิงคโปร์เข้ามาใหม่ลำ ๑ ใหญ่โตมีห้องพอจะรับกระบวนเสด็จไปอินเดียได้คิดจะขอซื้อ (คือเช่า) มาเป็นเรือหลวงชั่วคราวแล้วขายกลับคืนให้เจ้าของก็จะไม่สิ้นเปลืองเท่าใดนัก ท่านได้ลองพูดกับเจ้าของก็ยอมตามความคิดไม่ขัดข้อง ยังติดแต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านนำความขึ้นกราบทูลตามความคิด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าถ้าจะไปถึงยุโรปยังไม่ได้ ไปเพียงอินเดียก็ยังดี เจ้าพระยาภานุวงศ์ฯ จึงไปกระซิบปรึกษากับนายน๊อกส์กงสุลเยเนอราลอังกฤษ นายน๊อกส์เห็นชอบด้วย รับจะช่วยว่ากล่าวกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และที่สุดตัวเองรับจะไปตามเสด็จด้วย การที่จะเสด็จไปอินเดียก็เป็นอันพ้นความขัดข้อง ส่วนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เมื่อปลงใจให้เสด็จไปอินเดียแล้ว ก็เลยช่วยกะการต่อไปให้เสด็จทอดพระเนตรหัวเมืองสำคัญในพระราชอาณาเขตทางฝ่ายตะวันตก คือเมืองภูเก็ต เมืองพังงา และเมืองไทรบุรีด้วย การตระเตรียมกระบวนเสด็จไปอินเดียไม่ยากเหมือนเมื่อครั้งเสด็จไปสิงคโปร์ เพราะได้เคยเห็นขนบธรรมเนียมฝรั่งอยู่มากแล้ว เครื่องแต่งตัวก็แก้ไขเป็นแบบฝรั่งทีเดียว เว้นแต่ยังนุ่งผ้า ไม่ใช้กางเกงเท่านั้น ส่วนราชบริพารที่ตามเสด็จครั้งนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ที่เคยไปครั้งก่อนได้ไปอีกแทบทั้งนั้น ที่เพิ่มขึ้นใหม่ พระเจ้าน้องยาเธอคือสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี (กรมพระจักรพรรดิพงศ์) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร (กรมพระนเรศวรฤทธิ์) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัยเป็นนายทหารมหาดเล็กพระองค์ ๑ พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์ (สมเด็จกรมพระยาเทววงศวโรปการ เพิ่งลาผนวชสามเณร) พระองค์ ๑ ขุนนางก็ล้วนชั้นหนุ่ม เลือกคัดแต่ที่มีแววฉลาด ดูเหมือนวิธีเลือกสรรคนตามเสด็จครั้งก่อนจะเอาแต่ที่ต้องการใช้สอย ครั้งหลังเลือกด้วยหมายจะให้ไปได้ความรู้เห็นมา สำหรับราชการภายหน้าเป็นสำคัญ

เสด็จทรงเรือ บางกอก ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๔ ไปแวะที่เมืองสิงคโปร์ เมืองปีนัง เมืองร่างกุ้งแล้วไปยังเมืองกาลกัตตาอันเป็นเมืองหลวงของอินเดียในสมัยนั้น ลอร์ดเมโยผู้เป็นไวสรอยที่อุปราชกับรัฐบาลอินเดียรับเสด็จในทางราชการ เชิญเสด็จประทับที่จวนไวสรอยและมีพิธีรับเสด็จ เฉลิมพระเกียรติด้วยประการต่างๆ (เสียดายนักที่หาจดหมายเหตุมีรายการพิสดารอย่างครั้งเสด็จไปสิงคโปร์ไม่พบ) ทราบแต่พอเป็นเค้าว่าได้เสด็จไปถึงเมืองพาราณสี เมืองอาครา เมืองลักเนา เมืองเดลี และเมืองบอมเบ แต่เมื่อเสด็จกำลังประพาสอยู่นั้น ลอร์ดเมโยไวสรอยไปตรวจที่ขังคนโทษ ณ เกาะอันดมัน ถูกผู้ร้ายฆ่าตาย ขาเสด็จกลับจึงดำรัสขอให้งดการรับเสด็จทางราชการด้วยเป็นเวลารัฐบาลอินเดียไว้ทุกข์ เสด็จอย่างไปรเวตมาลงเรือพระที่นั่งกลับจากอินเดีย มาแวะทอดพระเนตรเมืองภูเก็ตและเมืองพังงาแล้วเสด็จมาขึ้นบกเมืองไทรบุรี ครั้นนั้นเจ้าพระยาไทร (อหะมัต) สร้างวังขึ้นรับเสด็จที่เขาน้อย เรียกว่าอนักบุเกต (เดี๋ยวนี้รื้อสร้างใหม่ แต่ยังใช้เป็นที่รับแขกเมืองบรรดาศักดิ์สูงอยู่) และให้ทำทางใช้รถจากเมืองไทรมาจนต่อแดนจังหวัดสงขลา ข้างสงขลา เจ้าพระยาวิเชียรคิรีผู้สำเร็จราชการจังหวัด ก็ให้ทำถนนรถแต่ปลายแดน มาจนถึงท่าลงเรือที่ตำบลหาดใหญ่ (เป็นแรกที่จะมีถนนข้ามแหลมมลายู) จึงเสด็จทรงรถจากเมืองไทรมาประทับแรมที่ตำบลจังโลนแขวงเมืองไทรบุรีคืน ๑ ที่ตำบลสะเดาแขวงสงขลาคืน ๑ นับเป็นเวลาเดินทาง ๓ วัน วันที่ ๓ ถึงหาดใหญ่ เสด็จลงเรือพายออกทะเลสาบ มาถึงเมืองสงขลา เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้เรือจักรข้างชื่อ ไรลิงสัน ที่ท่านต่อ ไปรับเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคมเข้าปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ รวมเวลาที่เสด็จไปอินเดียครั้งนั้น ๔ เดือน

ผลของการเสด็จอินเดีย เกิดความคิดอันเป็นส่วนปกครองบ้านเมืองมาหลายอย่าง (ซึ่งจะเล่าในตอนหน้าต่อไป) แต่ยังไม่ประจักษ์แก่ตาคนทั้งหลายในวันนั้น เพาะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้ทรงว่าราชการ จึงไม่ปรากฎว่าเมื่อเสด็จกลับจากอินเดียทรงจัดการเปลี่ยนแปลงประหลาดเหมือนเมื่อเสด็จไปสิงคโปร์ เป็นแต่แก้ไขขนบธรรมเนียมที่ได้เริ่มจัดให้ดียิ่งขึ้นเป็นพื้น แต่ทางต่างประเทศ เมื่อความปรากฎแพร่หลายว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามพอพระราชหฤทัยเสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศ เพื่อจะแสวงหาขนบธรรมเนียมที่ดีของฝรั่งมาใช้ในพระราชอาณาเขต ก็เป็นเหตุให้มีชาวต่างประเทศเกิดความนิยมและประสงค์จะไปมาค้าขายกับประเทศสยามมากขึ้น จะยกพอเป็นตัวอย่าง ดังเช่นห้างแรมเซเว๊กฟิลด์ ซึ่งเป็นห้างทำเครื่องแต่งตัวอยู่ ณ เมืองกาลกัตตา พอเสด็จกลับก็ตามเข้ามาตั้งที่ถนนบำรุงเมืองซึ่งสร้างใหม่ตรงวงเวียนสี่แยก รับทำเครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่ง (คือเดิมของห้างแบดแมนในบัดนี้) และมีชาวต่างประเทศที่เข้ามาตั้งทำการอย่างอื่นอีกหลายอย่าง แม้เรือไฟไปมารับส่งสินค้าและคนโดยสารในระหว่งกรุงเทพฯ กับเมืองฮ่องกงก็เกิดขึ้นในสมัยนั้น

มีการที่เกิดขึ้นในปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับจากอินเดียอย่าง ๑ ซึ่งภายหลังมาเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและเป็นคุณแก่ตัวฉันเองมาก คือเรื่องตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแก่ลูกผู้ดี เรื่องนี้ได้ทรงพระราชดำริมานานแล้ว แต่ยังหาครูไม่ได้จึงต้องรอมา เมื่อเสด็จกลับจากอินเดีย เผอิญมีครูอังกฤษคน ๑ ชื่อ ฟรานซิล จอร์ช แปตเตอร์สัน เข้ามาเยี่ยมหลวงรัถยาภิบาลบัญชา (กัปตันเอม) ผู้บังคับการพลตระเวนในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นน้าชาย ได้ทรงทราบก็โปรดฯ ให้ว่าจ้างไว้เป็นครูและโปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กอีกโรง ๑ เป็นคู่กับโรงเรียนภาษาไทยที่ได้ตั้งมาแต่ก่อน ที่ตั้งโรงเรียนนั้นโปรดฯ ให้โอนตึก ๒ ชั้นที่สร้างสำหรับทหารมหาดเล็ก หลังข้างตะวันออกประตูพิมานชัยศรี (ซึ่งเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่อยู่บัดนี้) ใช้เป็นโรงเรียน ห้องตอนต่อประตูพิมานชัยศรีให้เป็นที่อยู่ของครู ห้องตอนเลี้ยวไปข้างเหนือ (ข้างหลังศาลาหทัยสมาคมบัดนี้) จัดเป็นห้องเรียน ส่วนนักเรียนนั้น มีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกับพระเจ้าน้องยาเธอเข้าเป็นนักเรียน เว้นแต่บางพระองค์ที่มีตำแหน่งรับราชการแล้ว หรือที่เป็นนักเรียนอยู่แล้วในโรงเรียนภาษาไทย พวกนายร้อยมหาดเล็กก็โปรดฯ ให้มาเรียนภาษาอังกฤษด้วย เจ้านายเรียนตอนเช้า พวกนายทหารมหาดเล็กเรียนตอนบ่าย เมื่อแรกตั้งโรงเรียน ดูเหมือนจะมีจำนวนนักเรียนสัก ๕๐ คน แต่ต่อมาจำนวนลดลง เพราะเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ออกไปรับราชการ ที่เป็นชั้นกลางก็ถึงเวลาไปทรงผนวชสามเณร พวกหม่อมเจ้าก็พากันไปทำการงาน พวกนายทหารมหาดเล็กต้องเรียนวิชาอื่นอีกมากก็มาเรียนภาษาอังกฤษน้อยลงทุกที ถึงปีระกาเหลือนักเรียนอยู่ไม่ถึงครึ่งจำนวนเดิม และยังลดจำนวนลงเรื่อยมา นักเรียนที่เข้ามาใหม่ก็หามีไม่ ถึงปีจอเหล่อแต่เจ้านายที่รักเรียนจริงๆ ยังทรงพยายามเรียนอยู่สัก ๕ พระองค์ จึงย้ายไปเรียน ณ หอนิเพธพิทยา อันเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ อยู่ริมประตูศรีสุนทร (แต่เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว) ครูไปสอนในเวลาเช้าทุกวัน จนถึงกลางปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ครบ ๓ ปี พอสิ้นสัญญาครูก็ลากลับไปเมืองนอก โรงเรียนนั้นก็เป็นอันเลิก แต่นั้นเจ้านายที่รักเรียนก็พยายามเรียนต่อมาโดยลำพังพระองค์ด้วยอาศัยอ่านหนังสือบ้าง ให้ผู้อื่นสอนบ้าง จนมีความรู้สามารถใช้ภาษาอังกฤษรับราชการได้โดยมิต้องไปเมืองนอกหลายพระองค์ ในเจ้านายนักเรียนชั้นนั้น ควรยกย่องสมเด็จกรมพระยาเทววงศวโรปการ ว่าเป็นยอดเยี่ยมยิ่งกว่าพระองค์อื่นๆ

ในปีระกานี้ เกิดอหิวาตกโรคเป็นระบาดขึ้นเมื่อเดือน ๗ คนตื่นตกใจกันมาก เพราะแต่ก่อนเคยมีอหิวาตกโรคเป็นระบาดขึ้น ผู้คนล้มตายมากเมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๓๖๓ ในรัชกาลที่ ๒ และมาเกิดอีกครั้ง ๑ ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีระกา พ.ศ.๒๓๙๒ คนชั้นผู้ใหญ่ที่เคยเห็นยังมีมาก จึงพากันตกใจ ผู้ที่ไม่เคยเห็นได้ฟังเล่าก็ตกใจไปตามกันด้วย แต่วิธีที่จัดระงับโรคอหิวาต์ในคราวนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จัดเป็นการรักษาพยาบาล แทนทำพิธีในทางศาสนาเช่นเคยทำมาแต่ก่อน พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ อธิบดีกรมหมอ คิดปรุงยารักษาโรคเป็นอย่างฝรั่งขึ้นใหม่ ๒ ขนาน คือเอายาวิสัมพญาใหม่ตามตำรายาไทยกับด้วยกอฮอล์ทำเป็นยาหยดในน้ำขนาน ๑ เอาการบูรทำเป็นยาหยดเช่นนั้นเรียกว่าน้ำการบูรอีกขนาน ๑ สำหรับรักษาอหิวาตกโรค และแนะนำให้ใช้การบูรโรยเสื้อผ้าเป็นเครื่องป้องกันเชื้อโรคอีกอย่าง ๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสขอแรงเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่รับยาหลวงไปตั้งเป็นทำนองโอสถศาลาขึ้นตามวังและบ้านหรือตามทีป่ระชุมชน รักษาราษฎรทั่วทั้งพระนคร แต่โรคอหิวาต์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้นมีอยู่สักเดือนหนึ่งก็สงบ เมื่อสงบแล้วโปรดฯ ให้สร้างเหรียญทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ด้าน ๑ มีรูปเทวดาถือพวงมาลัย อีกด้าน ๑ เป็นตัวอักษรทรงขอบใจ พรนะราชทานบำเหน็จแก่บรรดาผู้ที่ได้รับตั้งโอสถศาลาทั้งนั้นทั่วกัน ของฉันยังอยู่จนทุกวันนี้

แต่นี้ไปจนตอนปลายที่ ๕ จะเล่าเรื่องประวัติของตัวฉันในระหว่างปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๓ ไปจนถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ให้สิ้นเรื่องเมื่อเป็นเด็กเสียชั้นหนึ่ง เพราะในตอนที่ ๖ และที่ ๗ จะเล่าเรื่องในราชการบ้านเมืองเป็นสำคัญ

สมัยเมื่อแก้ไขประเพณีในราชสำนักเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์นั้น เจ้านายเด็กๆ พวกฉันยังตามเสด็จอยู่เสมอ เวลาเสด็จประทับห้องรับแขกถ้าไม่ถูกไล่ในเวลามีเข้าเฝ้าแหนก้ได้นังเก้าอี้เล่นสนุกดี เวลาเสด็จทรงรถเที่ยวประพาสในตอนบ่าย ก็ดอกขึ้นรถที่นั่งรองไปตามเสด็จ ถึงเวลาค่ำเมื่อเสวย ถ้าวันไหนคนนั่งโต๊ะขาดจำนวนก็โปรดฯ ให้มาเรียกเจ้านายเด็กๆ ไปนั่งเก้าอี้ที่ว่างได้ กินโต๊ะ และได้กินไอสกริมก็ชอบ ไอสกริมเป็นของวิเศษในเวลานั้น เพราะเพิ่งได้เครื่องทำน้ำแข็งอย่างเล็กๆ ที่สำหรับเขาทำกันตามบ้านนอกเข้ามาถึงเมืองไทย ทำบางวันน้ำก็แข็งบางวันก็ไม่แข็ง มีไอสกริมตั้งเครื่องแต่บางวันจึงเห็นเป็นของวิเศษ เจ้านายเด็กๆ พวกฉันยังไม่ถูกบังคับให้ใช้เครื่องแต่งตัวอย่างใหม่ ถึงกระนั้นเห็นผู้ใหญ่เขาแต่งก็อยากใส่ถุงน่องรองเท้าเป็นกำลัง ฉันไปอ้อนวอนแม่ๆ เห็นว่าตามเสด็จอยู่เสมอก็ซื้อเกือกถุงตีนให้ ดีใจนี่กะไร แต่เมื่อใส่ในวันแรกเกิดเสียใจด้วยเกือบนั้นเงียบไปไม่มีเสียง เพราะเคยได้ยินเขาว่าต้องดัง "อ๊อด อ๊อด" จึงเป็นเกือกอย่างดี ไปถามพวกนายทหารมหาดเล็กว่า ทำอย่างไรเกือกจึงจะดัง เขาแนะให้เอาน้ำมันมะพร้าวหยอดที่พื้น ก็จำมาพยายามทำ มีเสียงดัง "อี๊ด อี๊ด" ก็ชอบใจ

ถึงสมัยเมื่อตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษ ตัวฉันอยู่ในพวกเจ้านายที่ถูกส่งเข้าโรงเรียนภาษาอังกฤษแต่แรกตั้ง แต่ว่าน้ำใจรักจะเรียนภาษาอังกฤษผิดกับเมื่อเรียนภาษามคธ ถึงกระนั้นก็ไม่พ้นคึวามลำบาก ด้วยไม่รู้ว่าครูจะใช้วินัยสำหรับโรงเรียนอย่างกวดขัน เมื่อไปเรียนได้สักสองสามวัน ฉันไปซุกซนรังแกเพื่อนนักเรียนเมื่อกำลังเรียนอยู่ด้วยกัน ครูจับได้แล้วลงโทษอย่างฝรั่ง เอาตัวขึ้นยืนบนเก้าอี้ตั้งประจานไว้ที่มุมห้องเรียนสัก ๑๕ นาที (บางทีจะเป็นครั้งแรกที่เด็กไทยถูกลงโทษเช่นนั้น) พวกเพื่อนนักเรียนเห็นแปลกก็พากันจ้องดูเป็นตาเดียวกัน บางคนก็ยิ้มเยาะ ฉันรู้สึกละอายจนเหงื่อตกโทรมตัว ตั้งแต่นั้นก็เข็ดหลาบไม่ซุกซนในห้องเรียน แต่ยังรู้สึกอัปยศอยู่หลายวัน มาจนวันหนึ่งเห็นเพื่อนนักเรียนถูกครูเอาไม้บรรทัดตีฝ่ามือลงโทษ เจ็บจนหน้านิ่ว ๒ คน ดูร้ายยิ่งกว่าที่ฉันถูกยืนบนเก้าอี้ก็เลยหายละอาย เมื่อตอนแรกตั้งโรงเรียนนั้น ลำบากที่ครูยังพูดภาษาไทยไม่ได้ ลูกศิษย์ก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น มีแต่พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร (กรมพระนเรศวรฤทธิ) พระองค์เดียวที่ทรงทราบบ้างเล็กน้อย และท่านเป็นเจ้าพี่ชั้นใหญ่ได้เคยเรียนภาษาอังกฤษต่อแหล่มลิโอโนเวนส์ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ พอเป็นล่ามแปลคำง่ายๆ ได้บ้าง ถ้าเป็นคำยากเกินความรู้ของกรมพระนเรศวร์ฯ ครูต้องเปิดหนังสืออภิธานภาษาอังกฤษ ให้นักเรียนดูคำภาษาไทยในนั้น หนังสืออภิธานที่ใช้มี ๒ เล่ม เล่มหนึ่งสำหรับลูกศิษย์ใช้เรียนกว่า สัพพะพะจะนะภาษาไทย ซึ่งสังฆราชปาลกัวแต่ง เอาศัพท์ภาษาไทยตั้ง แปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศลและภาษาละติน ๓ ภาษา เล่มใหญ่โตมาก อีกเล่มหนึ่งสำหรับครูใช้ จะเรียกหนังสือว่ากะไรฉันลืมเสียแล้ว แต่หมอแม๊กฟาแลนด์ (บิดาพระอาจวิทยาคม) เป็นผู้แต่ง แปลแต่ศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย คือใช้อภิธานเล่มนี้ชี้ศัพท์อังกฤษแปลเป็นภาษาไทยให้พวกศิษย์ แต่ลำบากไม่ช้าอยู่เท่าใด ครูค่อยรู้ภาษาไทยศิษย์ก็ค่อยเข้าใจคำครูสั่งสอนเป็นภาษาอังกฤษด้วย ไม่จำต้องใช้ถ้อยคำมากหรือยากเท่าใดนัก นานๆ จึงต้องเปิดอภิธาน ในการที่พวกฉันใช้หนังสืออภิธานครั้งนั้น มีผลสืบมาจนบัดนี้ประหลาดอยู่เรื่อง ๑ ในบทเรียนบท ๑ มีคำว่า ไบ (By) ดูเหมือนจะเป็นเช่นประโยคว่า He went by boat หรืออะไรทำนองนี้ ครูจะให้แปลเป็นภาษาไทย นักเรียนพวกฉันไม่เข้าใจคำ By ครูจึงเปิดอภิธานให้ดู ในหนังสือนั้นแปลคำ By ว่า โดย พวกนักเรียนก็แปลว่า เขาไปโดยเรือ แต่นั้นมาเมื่อแปลคำ By ก็แปลว่าโดยเสมอมา เช่น Written by แปลว่าแต่งโดย แล้วพวกฉันเลยใช้คำนี้ต่อมาในเวลาเมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว มีในหนังสือ ค๊อค เป็นต้น จึงเลยเป็นมรดกตกมาถึงคนชั้นหลัง ที่จริงไม่ถูก ตามภาษาไทย เพราะคำ โดย เป็นศัพท์ภาษาเขมรแปลว่า ตาม แต่งโดย ก. ความแสดงว่า ข. แต่งความคำบอกของ ก. แต่มารู้ว่าผิดเมื่อใช้กันแพร่หลายเสียแล้ว

ในบรรดาศิษย์ที่เรียนกันครั้งนั้น เมื่อเรียนมาได้สัก ๖ เดือน มีที่เป็นศิษย์ครูชอบมาก Favourite Pupils ๔ พระองค์ เรียงลำดับพระชันษา คือ พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์ (สมเด็จกรมพระยาเทววงศวโรปการ) พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ (สมเด็จพระราชปิตุลาฯ) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ (สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส) พระองค์ ๑ กับตัวฉันอีกคน ๑ เห็นจะเป็นด้วยเห็นว่าเขม้นขะมักรักเรียนครูก็สอนให้มากกว่าคนอื่น แต่เมื่อได้สักปี ๑ สมเด็จกรมพระยาเทววงศฯ กับสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ต้องไปทำราชการมีเวลามาเรียนน้อยลง คงแต่สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯ กับตัวฉัน (สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯ ได้ทรงแสดงความข้อนี้ไว้ในหนังสือ พระประวัติตรัสเล่าที่ท่านทรงแต่งเมื่อเป็นสมเด็จพระมหาสมณะ) ถึงปีระกา สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯ ไปทรงผนวชเป็นสามเณร แต่นั้นฉันจึงได้เป็นศิษย์ติดตัวครูอยู่แต่คนเดียว เวลานักเรียนอื่นกลับแล้วครูให้ฉันอยู่กินกลางวันด้วย แล้วสอนให้ในตอนบ่ายอีก เมื่อเรียนแล้ววันไหนครูขึ้นรถไปเที่ยวก็มักชวนฉันไปด้วย เพราะเหตุที่อยู่กับครูมาก และได้ไปพบปะพูดจากับพวกฝรั่งเพื่อนฝูงของครูบ่อยๆ เมื่อยังเป็นเด็กฉันจึงพูดภาษาอังกฤษได้คล่องเกินความรู้ที่เรียนหนังสือ ทั้งได้เริ่มคุ้นเคยกับฝรั่งแต่นั้นมา การที่ได้เป็นศิษย์ติดตัวครูมาเป็นคุณแก่ตัวฉันในภายหลังอีก อย่าง ๑ ด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งใหม่ ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ มีพระราชประสงค์ จะทรงศึกษาภาษาอังกฤษต่อไปถึงวิธีแต่งหนังสือ โปรดฯ ให้ครูเปตเตอร์สันเข้าไปสอนถวายในเวลาค่ำเมื่อทรงว่างราชการ ดูเหมือนจะเป็นสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ทรงทราบ่วาฉันเป็นศิษย์ติดตัวครู จึงมีรับสั่งให้ฉันเป็นพนักงานนำครูเข้าไป เวลาทรงพระอักษรฉันได้อยู่ด้วยทุกคืน ตรัสถามครูถึงการเล่าเรียนของฉันบ้าง ตรัสถามอะไรๆ เป็นภาษาอังกฤษให้ฉันเพ็ดทูลบ้างเนืองๆ เห็นได้ว่าทรงพระกรุณายิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่การที่ทรงศึกษาภาษาอังกฤษครั้งนั้น ทรงอยู่ได้ไม่นานก็ต้องเลิก ด้วยพระราชธุระอื่นมีมากขึ้นทุกที ไม่มีเวลาางมากเหมือนแต่ก่อน

ตรงนี้จะเล่าเรื่องประวัติของ ครู แปตเตอร์สัน ต่อไปอีกสักหน่อยเพราะยังมามีการเกี่ยวข้องกับตัวฉันอีกเมื่อภายหลัง และเป็นเรื่องน่าจะเล่าด้วย เมื่อครูแปตเตอร์สันไปจากประเทศนี้แล้ว ไปได้ตำแหน่งรับราชการอังกฤษเป็นครูประจำโรงเรียนของรัฐบาลที่เกาะมอรีเซียส ในตอนนี้ดูเหมือนจะไม่มีศิษย์คนใดได้รับจดหมายจากครูเลย เพราะเกาะมอรีเซียสอยู่ห่างไกลในมหาสมุทรอินเดีย การส่งจดหมายไปมาในระหว่างประเทศสยามกับต่างประเทศในสมัยนั้นลำบาก ด้วยยังไม่มีกรมไปรษรีย์ ใครๆ จะมีจดหมายกับประเทศอื่นก็ต้องอาศัยกงสุลอังกฤษ เพราะมีเรือไฟในบังคับอังกฤษเดินในระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองสิงคโปร์และเมืองฮ่องกง กงสุลอังกฤษที่ศาลาท่าน้ำของสถานกงสุล เป็นออฟฟิศไปรษณีย์ห้อง ๑ และเอาตั๋วตราไปรษณีย์เมืองสิงคโปร์พิมพ์อักษร B (เป็นเครื่องหมายว่าบางกอก) เพิ่มลงเป็นเครื่องหมาย ใครจะส่งหนังสือไปต่างประเทศก็ไปซื้อตั๋วตรานั้นปิดตามอัตราไปรษณีย์อังกฤษ แล้วมอบไว้ที่สถานกงสุล เมื่อเรือจะออก กงสุลอังกฤษให้รวบรวมหนังสือนั้นใส่ถุง ฝากไปส่งกรมไปรษณีย์ที่เมืองสิงคโปร์หรือเมืองฮ่องกงไปส่งอีกชั้น ๑ แต่หนังสือของรัฐบาลนั้น กรมท่ามอบกับนายเรือให้ไปส่งกงสุลสยามทิ้งไปรษณีย์ที่เมืองสิงคโปร์ หาได้ส่งทางไปรษณีย์ที่สถานกงสุลไม่ เมื่อเรือเข้ามาถึง ผู้ใดคาดว่าจะได้รับหนังสือจากต่างประเทศ ก็ไปสืบที่สถานกงสุลอังกฤษ ถ้ามีก็รับเอามา หรือถ้าพบหนังสือถึงผู้อื่นก็ไปบอกกันให้ไปรับ เป็นเช่นกล่าวนี้มาจนตั้งกรมไปรษณีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ การส่งหนังสือจึงสะดวกแต่นั้นมา

ครูแปตเตอร์สันรับราชการอยู่ที่เกาะมอรีเซียส จนชราจึงออกรับเบี้ยบำนาญกลับไปอยู่ประเทศอังกฤษ แต่ก็ไม่ปรากฎว่าเขียนหนังสือมาถึงใครในประเทศนี้ จนถึงในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อฉันเป็น กรมพระ และย้ายมาอยู่วังวรดิศแล้ว วันหนึ่งได้รับจดหมายของครูแปตเตอร์สันส่งมาจากประเทศอังกฤษ สลักหลังซองถึง "พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร" เผอิญมีใครในพนักงานไปรษณีย์เขารู้ว่าเป็นชื่อเดิมของฉันจึงส่งมาให้ ได้ทราบเรื่องประวัติของครูแปตเตอร์สันในฉบับนั้นว่า ตั้งแต่ออกจากราชการที่เมืองเมอรีเซียสแล้วกลับไปอยู่ประเทศอังกฤษ ต้องทิ้งบ้านเดิมที่เกาะเจอสีเพราะต้องขายแบ่งมรดกกันเมื่อบิดาตาย ครูไปแต่งงานอยู่กับเมียในอิงค์แลนด็์เป็นสุขสบายหลายปี ครั้นเมียตายเหลือแต่ตัวคนเดียวมีความลำบากด้วยแก่ชรา หลานคน ๑ ซึ่งบวชพรต เขาสงสารรับเอาไปไว้ด้วยที่เมืองคลอยสเตอร์ แกรำลึกขึ้นมาถึงศิษย์เดิมที่ในประเทศสยาม คือ เจ้าฟ้าภานุรังษี พระองค์เทวัญ พระองค์มนุษย และตัวฉัน อยากทราบว่าอยู่ดีด้วยกันหรืออย่างไร จึงมีจดหมายมาถามขอให้บอกไปให้ทราบ เวลานั้น สมเด็จกรมพระยาเทววงศฯ กับสมเด็จพระมหาสมณฯ สิ้นพระชนม์เสียแล้ว เหลือแต่สมเด็จพระราชปิตุลาฯ ฉันนำจดหมายครูไปถวายทอดพระเนตรก็ทรงยินดี มีลายพระหัตถ์และส่งพระรูปกับเงินไปประทาน ส่วนฉันก็ทำเช่นเดียวกัน ได้บอกไปให้ครูทราบพระประวัติของเจ้านายที่แกถามถึงส่วนตัวฉันเอง บอกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ เลื่อนยศสูงขึ้น เป็นเหตุให้ใช้นามใหม่ว่า ดำรง ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันในเวลานี้ ครูมีจดหมายตอบมาว่าเสียดายจริงๆ ที่เพิ่งรู้ ด้วยเมื่อฉันไปยุโรป (ครั้งแรก) ในพ.ศ. ๒๔๓๔ นั้น ประจวบเวลาครูกลับไปเยี่ยมบ้านอยู่ในประเทศอังกฤษ ได้ยินเขาโจษกันว่ามีเจ้าไทยองค์ ๑ เรียกว่า ปริ๊นซ์ดำรง ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่สก๊อตแลนด์ และมีคนถามแกว่ารู้จักปรินซ์ดำรงหรือไม่ แกตอบเขาว่าไม่รู้จัก เมื่อเวลาอยู่ในเมืองไทยก็ไม่เคยได้ยินชื่อปรินซ์ดำรง ไม่รู้เลยว่าคือศิษย์รัก (Favourite Pupil) ของแกนั่นเอง ถ้ารู้จะรีบมาหา ถึงกระนั้นเมื่อรู้ก็ยินดีอย่างยิ่งที่ฉันได้มีชื่อเสียงเกียรติยศถึงเพียงนั้น แต่นั้นครูกับฉันก็มีจดหมายถึงกันมาเนืองๆ ครั้นเมื่อฉันไปยุโรป (คราวหลัง) ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ตั้งใจว่าจะไปพบครูแปตเตอร์สันให้จงได้ ทราบว่าเวลานั้นอายุได้ถึง ๘๕ ปี และยังอยู่ที่เมืองคลอยสเตอร์เหมือนบอกมาแต่ก่อน หมายว่าไปพบครูเมื่อไร จะชวนถ่ายรูปฉายาลักษณ์ด้วยกันเหมือนเช่นเคยถ่ายเมื่อยังเป็นเด็ก เอามาให้ลูกหลานดู พอฉันไปถึงลอนดอนมีพวกนักหนังสือพิมพ์มาขอสนทนาด้วยหลายคน ทุกคนถามฉันว่าเรียนภาษาอังกฤษที่ไหน ฉันตอบไปว่าเรียนในบ้านเมืองของฉันเอง เขาพากันประหลาดใจถามว่าใครสอนให้ ฉันบอกว่าครูของฉันเป็นอังกฤษชื่อ มิสเตอร์ ฟานซิส ยอช แปตเตอร์สัน ตัวยังอยู่อายุได้ ๘๕ ปีแล้ว ฉันจะพยายาม Making a Pilgrimage ไปหาให้ถึงเมืองคลอยสเตอร์ที่ครูอยู่ หนังสือพิมพ์ก็พากันขึ้นสรรเสริญครูแปตเตอร์สันแพร่หลาย ครั้นเมื่อฉันสิ้นกิจอื่นในลอนดอนถึงเวลาที่จะไปหาครู ฉันขอให้อุปทูตบอกไปถึงนักพรตผู้เป็นหลาน ว่าฉันประสงค์จะไปเยี่ยมครูในวันใดจะสะดวกแก่เขา ก็ได้รับคำตอบมาว่าครูกำลังป่วยเป็นโรคชราอาการเพียบอยู่ ตั้งแต่เขาได้ยินข่าวทางวิทยุกระจายเสียงว่าฉันไปถึงลอนดอน เขาก็อยากจะบอกให้ครูรู้ ด้วยเขาทราบอยู่ว่าครูรักฉันมาก แต่เห็นว่าอาการป่วยเพียบจึงปรึกษาหมอๆ ห้ามมิให้บอกครู เพราะเกรงว่าความยินดีที่จู่โจมขึ้นแก่ครู Sudden Excitement อาจจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายก็ไม่กล้าบอก เมื่อฉันทราบความดังนั้นก็ตกใจ ได้แต่ส่งเงินไปช่วยในการรักษาพยาบาล เมื่อฉันออกจากลอนดอนในไม่ช้า ก็ได้รับจดหมายของนักพรตบอกว่าครูถึงแก่กรรม รู้สึกเสียใจและเสียดายยิ่งนักที่มิได้พบครูแปตเตอร์สันดังประสงค์

เมื่อฉันกำลังเรียนภาษาอังกฤษอยู่ในปีระกา พ.ศ.๒๔๑๖ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เสด็จไปประทับอยู่ ณ พระที่นั่งทรงผนวชที่พระพุทธรัตนสถาน ๑๕ วัน เจ้านายพวกฉันเรียนหนังสือแล้วก็พากันไปอยู่ ณ ที่เสด็จประทับทุกวัน คล้ายกับเป็นลูกศิษย์วัด ส่วนตัวฉันเองนึกอยากรู้จักพระ จึงมักไปเฝ้าสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (เวลานั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์) กับสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา เมื่อยังเป็นที่พระสาสนโสภณ) เนืองๆ สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ โปรดทรงสั่งสอนและตรัสเล่าอะไรให้ฟัง ส่วนสมเด็จพระสังฆราชก็ประทานหนังสือพิมพ์ซึ่งพิมพ์สอนพระพุทธศาสนาให้อ่าน วันถ่ายรูปหมู่พวกตามเสด็จไปเป็นลูกศิษย์วัด เผอิญฉันถือสมุดนั้นติดมือไปด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ฉันยืนเปิดสมุดเหมือนอย่างอ่านหนังสือ เป็นเหตุให้ช่างถ่ายรูปเขาจัดให้ยืนกลางเพื่อน รูปนั้นยังปรากฎอยู่ เมื่อเสด็จลาผนวชมีงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง ๑ (ซึ่งจะพรรณนาในที่อื่นต่อไปข้างหน้า) แล้วเสด็จไปประทับอยู่พระที่นั่งใหม่ ตอนนี้เวลาบ่ายๆ มักเสด็จออกทรงรถเที่ยวประพาส และทรงโครเกต์ Croquet ที่สนามหญ้าพระที่นั่งใหม่ (ยังมีรูปฉายาลักษณ์ปรากฎอยู่) แต่ตัวฉันยังเป็นเด็กไม่ได้เข้าเล่นด้วย แต่ในปีระกานั้นเองโปรดฯ ให้ฉันเป็นผู้พาครูเข้าไปสอนภาษาอังกฤษดังกล่าวมาแล้ว เป็นมูลเหตุที่เริ่มทรงพระเมตตาเฉพาะตัวมาแต่นั้น ครั้งถีงปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ เมื่อเลิกโรงเรียนภาษาอังกฤษ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ฉันเข้าไปรับใช้ประจำพระองค์ มีหน้าที่ตามเสด็จและอยู่คอยรับใช้ในเวลาค่ำเมื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถเวลาเสร็จราชกิจประจำวันแล้ว ได้อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอ เป็นเหตุให้ฉันได้รับพระบรมราโชวาทและได้ฟังพระราชดำริ ได้รู้เรื่องต่างๆ ที่ตรัสเล่า ทั้งมีโอกาสทูลสนองหรือทูลถามได้ด้วยทรงพระกรุณา แต่ข้อสำคัญที่มาประจักษ์แก่ใจฉันต่อภายหลังนั้น คือได้รู้พระราชอัธยาศัยและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบนิสัยของฉันแต่นั้นมา ข้อนั้นมาปรากฎเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลแล้วให้มีการประชุมสมุหเทศาภิบาลในกรุงเทพฯ ปีละครั้ง เวลาเสด็จคราวประชุมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้มีการเลี้ยงพระราชทานเป็นเกียรติยศแก่เทศาภิบาลทุกปี และในการเลี้ยงมักมีพระราชดำรัสพระราฃทานพระบรมราโชวาทและสรรเสริญความอุตสาหะของสมุหเทศาภิบาลด้วย ในปีหนึ่งตรัสเกี่ยวมาถึงตัวฉันว่า ได้ทรงสังเกตเห็นตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ว่าเติบใหญ่ขึ้นคงจะได้เป็นคนสำคัญในราชการบ้านเมืองคน ๑ ดังนี้ แต่การที่มีพระราชดำรัสทรงยกย่อง บางทีก็เกิดรำคาญแก่ตัวฉัน เช่นต่อมา อีกปีหนึ่งมีพระราชดำรัสว่า พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพ็ชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด ข้าราชการที่อุตส่าห์พยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข ก็เปรียบเหมือนเพ็ชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น พระราชดำรัสนี้ทรงอุปมาด้วยข้าราชการทั่วไปไม่เฉพาะผู้หนึ่งผู้ใด แต่เผอิญตรัสเมื่อเลี้ยงเทศาภิบาล พอรุ่งขึ้นก็มีคน (ที่ไม่ชอบ) แกล้งเรียกให้ฉันได้ยินว่า นั้นแหละ เพ็ชรประดับพระมหามงกุฎ ดูก็ขันดี

ในปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ นั้น อายุฉันถึงปีโกนจุก ในสมัยนั้นพระเจ้าลูกยาเธอยังเยาว์วัยทั้งนั้น เจ้านายโสกันต์มีแต่ชั้นพระเจ้าน้องเธอปีใดพระเจ้าน้องเธอที่ทรงพระกรุณามากโสกันต์ก็โปรดฯ ให้มีการแห่ทางในพระราชวัง ถ้าเป็นสามัญก็โสกันต์ในพิธีตรุษตามแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ ในปีจอนั้นมีเจ้านายที่ทรงพระมหากรุณามากหลายพระองค์ ตัวฉันแก่กว่าเพื่อน ตรัสถามฉันว่าอยากให้แห่หรือไม่ ฉันกราบทูลว่าอยาก จึงดำรัสสั่งให้มีการแห่โสกันต์ในปีนั้น แต่เกือบไม่ได้แห่ เพราะเกิดเรื่องกรมพระราชวังบวรฯ หนีไปอยู่กับกงสุลอังกฤษ (ซึ่งจะเล่าเรื่องในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า) แทรกเข้ามา เป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเดือดร้อนรำคาญพระราชหฤทัยอยู่นาน ตรัสว่าถ้าเรื่องวังหน้ายังไม่เรียบร้อยก็จะแห่ให้ไม่ได้ รอมาจนพ้นฤกษ์เมื่อเดือนยี่ พวกฉันก็ยิ่งพากันโกรธวังหน้า จนถึงเดือน ๔ เรื่องวังหน้าเป็นอันเรียบร้อย จึงได้มีการแห่โสกันต์เมื่อก่อนพิธีตรุษไม่กี่วัน เจ้านายโสกันต์ด้วยในปีนั้น ๕ พระองค์ มีตัวฉันคน ๑ พระองค์ชายศรีเสาวภางค์ (ซึ่งภายหลังได้เป็นราชเลขาธิการและเป็นผู้จัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช แต่สิ้นพระชนม์เสียก่อนรับกรม) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา (คือสมเด็จพระพันวัสสามา ตุจฉาเจ้าฯ) พระองค์ ๑ ทั้ง ๓ นี้พระชันษา ๑๓ ปี พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา (กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี) พระองค์ ๑ และพระองค์เจ้าหญิงประสานศรีใสพระองค์ ๑ ทั้ง ๒ นี้พระชันษา ๑๑ ปี เมื่อโกนจุกแล้วฉันยังรับราชการประจำพระองค์ต่อมา ในตอนที่รับราชการประจำพระองค์นี้ต้องอยู่ในวังไม่มีโอกาสไปเที่ยวค้างคืนที่อื่นเหมือนแต่ก่อน ถึงพระนั้นตอนเช้าว่างมักไปเฝ้าสมเด็จพระราชปิตุตาฯ ณ หอนิเพธพิทยาบ้าง ไปเล่นหัวกับพวกนายทหารมหาดเล็กที่โรงทหารบ้าง ด้วยเคยคุ้นกันมาแต่ยังเป็นนักเรียน เพราะโรงเรียนภาษาอังกฤษอยู่ติดต่อกับโรงทหาร จึงเริ่มอยากเป็นทหารมาแต่ตอนนี้

ถึงเดือน ๘ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ อายุครบกำหนดบวชเป็นสามเณรแล้วจะต้องออกไปอยู่นอกพระราชวังตามประเพณี ก็ออกจากราชการประจำพระองค์ ในปีนั้นมีเจ้านายทรงผนวชด้วยด้วยกันหลายพระองค์ เป็นพระภิกษุบ้าง เป็นสามเณรบ้าง ส่วนตัวฉันเมื่อบวชที่วัดพระศรีรัตศาสดารามแล้ว ไปอยู่วัดบวรนิเวศนฯ กับเจ้านายพี่น้องก็ไม่เดือดร้อนอันใดในการที่บวช ถ้าจะว่าประสาใจเด็กอายุเพียงเท่านั้นกลับจะออกสนุกดีด้วย เพราะในสมัยนั้นประเพณีที่กวดขันในการศึกษาของพระเณรบวชใหม่ยังไม่ได้เกิดขึ้น หนังสือฉบับพิมพ์สำหรับศึกษาพระธรรมวินัยก็ยังไม่มี ได้อาศัยศึกษาแต่ด้วยฟังเทศนาและคำสั่งสอนของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ข้อบังคับสำหรับเจ้านายที่ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศนฯ ตอนแรกทรงผนวช ตอนรุ่งเช้าต้องจัดน้ำบ้วนพระโอษฐ์กับไม้สีพระทนต์ไปถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (สมัยนั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมพระ) เรียกกันว่ เสด็จพระอุปัชฌาย์ หรือเรียกกันในวัดตามสะดวกแต่โดยย่อว่า เสด็จ ทุกวันตามเสขิยวัตร และจนถึงตอนค่ำเวลา ๑๘ นาฬิกา ต้องขึ้นไปเฝ้าฟังทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยอีกครั้งหนึ่ง ถ้าจะออกบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้นก็ต้องทูลลาในเวลาค่ำนั้น แต่การทั้ง ๓ อย่างนี้เมื่อทำได้สัก ๗ วันก็โปรดประทานอนุญาตมิให้ต้องทำต่อไป เว้นแต่จะไปธุระอื่นจึงต้องขึ้นไปทูลลาทุกครั้ง เสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านทรงประพฤติวัตรปฏิบัติตรงตามเวลาแน่นอนผิดกับผู้อื่นโดยมาก บรรทมตื่นแต่ก่อน ๘ นาฬิกา พอเสวยเช้าแล้วใครจะทูลลาไปไหนก็ขึ้นเฝ้าต่อนั้น ถึง ๙ นาฬิกา เสด็จลงทรงเป็นประธานพระสงฆ์ทำวัตรในพระอุโบสถ เสด็จกลับขึ้นตำหนักราว ๑๐ นาฬิกา ประทับรับแขกที่ไปเฝ้าจนเพล เสวยเพลพอเที่ยงวันเสด็จขึ้นตกหนักชั้นบน ทรงสำราญพระอิริยาบถและบรรทมจนบ่าย ๑๕ นาฬิกา เสด็จลงที่ห้องรับแขก ใครจะเฝ้าในตอนนี้อีกก็ได้ พอแดดอ่อนมักเสด็จลงทรงพระดำเนินประพาสในลานวัดจนเวลาพลบค่ำ ถึงตอนนี้ราว ๑๙ นาฬิกา เจ้านายที่ทรงผนวชใหม่ขึ้นเฝ้าฟังคำสอนที่ประทานตามอุปัชฌายวัตรไปจนถึง ๒๐ นาฬิกา เสด็จลงเป็นประธานพระสงฆ์ทำวัตรค่ำอีกเวลาหนึ่ง เมื่อทำวัตรแล้วถ้าในพรรษาโปรดให้ฐานานุกรมผู้ใหญ่ขึ้นนั่งธรรมาสน์ อ่านบุรพสิกขาสอนข้อปฏิบัติแก่พระบวชใหม่วันละตอนแล้วซ้อมสวดมนต์ต่อไปจนจวน ๒๓ นาฬิกา จึงเสร็จการประชุมสงฆ์เสด็จขึ้นเข้าที่บรรทม ว่าเฉพาะการศึกษาสำหรับสามเณรที่บวชใหม่เช่นตัวฉัน มีข้อสำคัญก็ต้องท่องสวดทำวัตรเช้าและเย็น กับคำสวดสิกขาบทของสามเณรเรียกว่า อนุญญาสิโข ซึ่งสามเณรต้องจำได้และเข้าใจความ ทั้งต้องสวดในโบสถ์เมื่อทำวัตรเช้าเสร็จแล้วทุกวัน ฉันเคยได้รับสรรเสริญของเสด็จพระอุปัชฌาย์วันหนึ่ง ด้วยในวันนั้นไม่มีสามเณรอื่นลงโบสถ์ ฉันหล้าสวดอนุญญาสิโขแต่คนเดียว ตรัสชมว่าจำได้แม่นยำดี

เขาเล่าว่าเสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านเคยตรัส่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ถ้าใครเข้มแข็งในการทัพศึกก็เป็นคนโปรด ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใครแต่งกาพย์กลอนก็เป็นคนโปรด ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าใครสร้างวัดวาก็เป็้นคนโปรด ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทนสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าใครรู้ภาษาฝรั่งก็เป็นคนโปรด เห็นจะมีใครไปทูลว่าฉันรู้ภาษาฝรั่ง วันหนึ่งประทานหนังสือตำราดาราศาสตร์ฝรั่ง ซึ่งหมอบรัดเลแปลพิมพ์เป็นภาษาไทยให้ฉันดู ในนั้นมีดาวฤกษ์ ๒ ดวงซึ่งผู้แปลหาชื่อในภาษาไทยไม่ได้ จึงใช้อักษรโรมันพิมพ์ชื่อว่า Neptune กับ Uranus ตรัสถามฉันว่าเรียกอย่างไร ฉันก็อ่านถวายตามสำเนียงอักษร ดูเหมือนท่านจะเข้าพระหฤทัยว่าฉันได้เรียนดาราศาสตร์ฝรั่งด้วย ตรัสถามต่อไปว่ามันตรงกับดาวดวงไหนของเรา ฉันก็สิ้นความรู้ทูลว่าไม่ทราบ แต่ก็ทรงเมตตาไต่ถามถึงเรื่องที่ฉันเรียนภาษาฝรั่งบ่อยๆ ข้างฉันก็พอใจขึ้นไปเฝ้า เพราะได้ฟังท่านตรัสเล่าเรื่องโบราณต่างๆ ให้ทราบเนืองๆ ในเวลานั้นเสด็จพระอุปัชฌาย์ยังไม่ทรงชรานัก แต่วิธีท่านตรัสเล่าผิดกับผู้อื่น เมื่อทรงบรรยายไปจนตลอดเรื่องแล้ว มักกลับเล่าแต่เนื้อความซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คนทีฟังตรัสเล่าย่อมเข้าใจและจำความได้ไม่ผิด ฉันชอบเอาวิธีนั้นมาใช้เมื่อเป็นผู้ใหญ่ เคยถูกนินทาว่าเล่าอย่างคนแก่แต่ก็ยังเห็นดีอยู่นั่นเอง ด้วยเห็นว่าการที่เล่าอะไรเพื่อให้ความรู้หรือสอนวิชาให้แก่ผู้อื่น ผิดกับพูดเล่นเจรจากัน เพราะประโยชน์ข้อสำคัญอยู่ที่ต้องให้ผู้ฟังรู้และเข้าใจจริงๆ เสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านก็ทรงพระดำริเช่นนั้น เมื่อตรัสเล่าอะไรประทานแก่สานุศิษย์มักเล่าซ้ำดังว่ามา

เมื่อฉันบวชเป็นสามเณร ทำเวลาให้ล่วงไปด้วยประการอย่างใดยังจำได้อยู่ ดูน่าจะเล่าด้วยมีคติอยู่บ้าง ตื่นเช้ามักออกบิณฑบาตไปด้วยกันกับพระเณรที่คุ้นเคยกันบ้าง ไปตามลำพังตัวเองบ้าง การที่ออกบิณฑบาตที่จริงเป็นโอกาสที่จะไปเที่ยวเตร่ เพราะถ้าจะไปเวลาอื่นต้องทูลลาเสด็จพระอุปัชฌาย์ ถ้าไปบิณฑบาตประทานอนุญาตไว้ไม่ต้องทูลลา ออกบิณฑบาตเสียแห่งหนึ่งสองแห่ง แล้วก็เลยขึ้นรถหรือลงเรือไปไหนๆ บางทีไปกินเพลกลางทางกลับวัดจนบ่ายก็มี เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยและเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงยกกองทัพไปปราบฮ่อ ฉันก็ได้ไปดูวิธียกกองทัพอย่างโบราณด้วย เริ่มไปบิณฑบาตดังว่ามานี้ใครพบก็ไม่รู้ว่าเลี่ยงไป แต่นานๆ จึงเลี่ยงไปเที่ยวครั้ง ๑ โดยปกติมักกลับวัดทันสวดอนุญญาสิโขเวลาลงโบสถ์เช้า เพราะเสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านเสด็จลงเสมอ เกรงจะทรงติโทษว่าเกียจคร้าน พ้นเวลาลงโบสถ์แล้วก็ว่างตลอดวัน จะศึกษาหรือทำอะไรก็ได้ ในการศึกษาสำหรับสามเณรที่บวชใหม่นั้น เมื่อท่องทำวัตรกับอนุญญาสิโขจำได้และศึกษาธรรมบางอย่าง มือภิณหปัจจเวกขณ์เป็นต้นเข้าใจแล้ว จะศึกษาอะไรก็เลือกได้ตามชอบใจเจ้านายที่ท่านทรงผนวชอยู่หลายพรรษาย่อมทรงศึกษาคันถธุระคือเรียนภาษามคธ แต่ที่จะทรงผนวชอยู่เพียงพรรษาเดียว มักทรงศึกษาวิชาอย่างอื่นที่ง่ายกว่า ส่วนตัวฉันเองจะเป็นครแนะนำก็จำไม่ได้เสียนแล้ว เกิดอยากเรียนวิชาอาคมคือวิชาที่ทำให้อยู่คงกะพันชาตรีด้วยเวทมนต์และเครื่องรางต่างๆ มีผู้พาอาจารย์มาให้รู้จักหลายคน ที่เป็นตัวสำคัญนั้นคือนักองค์วัตถาน้องสมเด็จพระนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา เพราะเธออยู่ที่วังเจ้าเขมรริมคลอง ตรงข้ามกับบ้านคุณตาและเคยคุ้นกับคุณตามาแต่ก่อน เป็นมูลเหตุให้ฉันได้คุ้นเคยกับเจ้าเขมรและมีผลได้อุปการทั้งนักองค์ดิศวงศ์ ลูกนักองค์วัตถาและนักสราคำลูกนักองค์ดิศวงศ์ ต่อมาในเวลาเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย การศึกษาวิทยาคมในเวลาน้นเชื่อถือเป็นการจับใจมาก โดยเฉพาะสำหรับเด็กกำลังรุ่นหนุ่มเช่นตัวฉัน ด้วยได้ฟังเขาเล่าเรื่องและบางทีทดลองให้เห็นอิทธิฤทธิ์ กับทั้งได้สะสมมีเครื่องรางแปลกประหลาดที่ไม่เคยเห็นเป็นต้นแต่พระธาตุ (ฉันได้รู้จักลักษณะพระธาตุตามที่นิยมกันมาแต่ครั้งนั้น) และพระพุทธรูปกับรูปพระควัมที่ทำเป็นเครื่องราง ทั้งของประหลาดแปลกธรรมดาต่างๆ เช่น พด และเขี้ยวงาที่งอกได้ ตลอดจนผ้าประเจียดและลูกแร่ปรอทหลอม เล่นของเหล่านี้เพลิน จนเลยละหนังสือไปคราวหนึ่ง

เครื่องรางที่ฉันมีในเวลานั้นเป็นของสำคัญในทางโบราณคดีสิ่ง ๑ และมีเรื่องต่อมาอีกภายหลัง จะเล่าไว้ในหนังสือนี้ด้วยคือ พระกริ่ง ๒ องค์ คุณตาให้แต่เมื่อฉันยังไว้ผมจุก เป็นพระพุทธรูปนั่งถือหม้อน้ำมนต์ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดเล็ก หน้าตักไม่ถึง ๒ เซ็นต์ ถ้ายกขึ้นเขย่าเกิดเสียงดังกริ่งอยู่ในองค์พระ จึงเรียกกันว่าพระกริ่ง เป็นของหายาก ด้วยมีแต่ในเมืองเขมร เชื่อกันว่าพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์สร้างด้วยอิทธิฤทธิ์ จึงนับถือเป็นเครื่องรางสำหรับป้องกันอันตราย พระกิ่งของคุณตามี ๒ องค์ ได้ยินว่าพระอมรโมลี (นพ อมาตยกุล) วัดบุบผาราม ไปได้มาจากเมืองอุดงมีชัยในรัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งไปส่งพระมหาปานที่ไปเป็นสมเด็จพระสุคนธฯ สังฆราชฝ่ายธรรมยุติกาในกรุงกัมพูชา แล้วเอามาให้คุณตาเป็นของฝากด้วยชอบกันมาก ครั้งหนึ่งคุณตารับฉันไปค้างที่บ้านแล้วท่านให้พระกริ่งนั้นแก่ฉันองค์ ๑ บอกว่าให้เอาไว้สำหรับตัวเมื่อเติบใหญ่ แต่แรกฉันก็ไม่รู้ว่าเป็นของวิเศษอย่างไร จนเมื่อบวชเป็นสามเณรเมื่อสะสมเครื่องราง เห็นจะเป็นนักองค์วัตถาบอกว่าพระกริ่งเขมรเป็นเครื่องรางอย่างสำคัญนัก ฉันจึงเชิญไปไว้ที่กุฎิ ในไม่ช้าความทราบถึงพระกรรณเสด็จอุปัชฌาย์ว่าฉันมีพระกริ่ง ก็ตรัสสั่งให้ฉันเชิญไปถวายทอดพระเนตร ท่านเชิญพระกริ่งของท่านมาเทียบก็เหมือนกัน จึงตรัสบอกให้เข้าใจว่าพระกริ่งที่เป็นของแท้นั้นมี ๒ อย่าง สีทองคร้ามเรียกกันว่า พระกริ่งดำ อย่าง ๑ กับสีทองอ่อนเรียกกันว่า พระกริ่งเหลือง อย่าง ๑ รูปทรงอย่างเดียวกัน ถ้าแปลกไปอย่างอื่นเป็นของปลอมทั้งนั้น พระกริ่งของฉันเป็นของแท้อย่างที่เรียกว่า พระกริ่งดำ ให้รักษาไว้ให้ดี ตรัสเพียงเท่านั้นหาได้ประทานอธิบายอย่างอื่นไม่

ต่อมาเมื่อเสด็จอุปัชฌาย์สิ้นพระชนม์แล้วช้านาน เวลาฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระครูเจ้าคณะสงฆ์เมืองสุรินทร์ซึ่งอยู่ต่อแดนกัมพูชาเข้ามากรุงเทพฯ ได้พระกริ่งมาให้ฉันอีกองค์ ๑ เทียบกับองค์ที่คุณตาให้ เห็นเหมือนกันทุกอย่างก็รู้ว่าเป็นของแท้ แต่ถึงขั้นนี้ฉันไม่เชื่อเรื่องคงกะพันชาตรีเสียแล้ว ถึงกระนั้นก็เห็นว่าพระกริ่งเป็นของสำคัญอย่างหนึ่งในทางโบราณคดี ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ ฉันมีโอกาสได้ออกไปเที่ยวเมืองเขมรเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อไปพักอยู่ที่กรุงพนมเพ็ญนึกขึ้นถึงเรื่องพระกริ่ง อยากรู้ว่าพวกเขมรนับถือกันอย่างไร จึงถามพระราชาคณะกับทั้งเจ้านาย และขุนนางกรุงกัมพูชา บรรดาที่ได้พบหลายคน มีคนเดียวที่เป็นชั้นสูงอายุบอกว่าได้เคยเห็นพระกริ่งครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นไม่มีใครได้เคยเห็น และโดยมากที่เป็นคนชั้นหนุ่มไม่มีใครรู้ว่ามีพระกริ่งทีเดียว ออกประหลาดใจ ครั้นเมื่อไปถึงนครวัดไปถามมองสิเออร์มาสาลผู้เป็นหัวหน้าอำนวยการรักษาโบราณสถานอีกคน ๑ ว่าได้เคยเห็นพระกริ่งบ้างหรือไม่ เขาบอกว่าเมื่อก่อนฉันไปถึงไม่ช้านัก เขาพบกรุที่บนยอดเขาพนมปาเกงซึ่งอยู่ริมเมืองนครธม ได้พระพุทธรูปองค์เล็กๆ ลักษณะเป็นเช่นพรรณนาหลายองค์ แล้วส่งตัวอย่างมาให้ดูมี ๒ ขนาด ขนาดใหญ่เท่ากันและเหมือนกันกับพระกริ่งของคุณตา ขนาดเล็กรูปสัณฐานก็อย่างเดียวกัน เป็นแต่ย่อมลงไปหน่อยหนึ่ง สันนิษฐานว่าจะเป็นอย่างที่เสด็จพระอุปัชฌาย์ตรัสเรียก่าพระกริ่งเหลืองนั่นเอง แต่ประหลาดอยู่พระพุทธรูปที่พบบนเขาพนมปาเกงไม่ปิดฐานทำเป็นพระกริ่ง จะเป็นด้วยเหตุใดรู้ไม่ได้ เห็นได้เป็นแน่แท้ว่าคงมีพิมพ์สำหรับทำหุ่นขี้ผึ้งแล้วหล่อพระพุทธรูปชนิดนั้นคราวละมากๆ รูปสัณฐานจึงเหมือนกันทั้งหมด สังเกตเห็นเค้าเงื่อนขึ้นใหม่อีกอย่าง ๑ ที่พระเศียรและดวงพระพักตร์พระกริ่งเป็นแบบจีนผิดกับพระพุทธรูปแบบขอม ทั้งฐานทำบัวหงายบัวคว่ำเป็นอย่างบัวหลังเบี้ยตามแบบพระพุทธรูปจีน จึงสันนิษฐานว่าพระกริ่งเห็นจะเป็นของหล่อในเมืองจีน แล้วส่งมายังกรุงกัมพูชาในสมัยเมื่อกำลังรุ่งเรือง คือที่เขมรเรียกกันว่า ครั้งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ความที่ว่านี้ต่อมาได้พบหลักฐานประกอบที่สถานทูตเดนมาร์คในกรุงเทพฯ ด้วยท่านเครเมอราชทูตเคยอยู่ที่เมืองปักกิ่งเมื่อก่อนมากรุงเทพฯ รวบรวมพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์ของจีนแต่โบราณไว้หลายองค์ เอาออกตั้งเรียงไว้ในห้องรับแขก วันหนึ่งฉันได้รับเชิญไปกินเลี้ยงแล้วพาไปดูของเหล่านั้น ฉันเห็นพระพุทธรูปองค์ ๑ เหมือนพระกริ่ง แต่กาไหล่ทองและต่างพิมพ์กับพระกริ่งที่มาจากเขมร บอกราชทูตว่าพระพุทธรูปชนิดนั้นถ้าเอาขึ้นสั่นมักจะมีเสียงดังกริ่มอยู่ข้างใน แกลองเอาขึ้นสั่นก็มีเสียงจริงจังว่า เลยประหลาดใจบอกว่าได้พระองค์นั้นไว้หลายปีแล้วเพิ่งมารู้ว่าเป็นพระกริ่งเพราะฉันบอก ต่อมาเมื่อจะกลับไปบ้านเมืองเลยให้ฉันไว้เป็นที่ระลึก มองสิออร์มาสาลที่นครวัดก็มีแก่ใจแบ่งพระที่พบในกรุงบนยอดเขาพนมปาเกงให้เพื่อมาเป็นที่ระลึกเช่นเดียวกัน เดี๋ยวนี้ยังอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานในกรุงเทพฯ ฉันเพิ่งมารู้เรื่องตำนานของพระกริ่งตามทางวิชาโบราณคดีเมื่อเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา ค้นหามูลเหตุที่สร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ในอินเดีย ได้ความว่าเดิมมีแต่ ๘ ปาง คือแบบอย่างอนุโลมตามเรื่องพุทธบริโภคเจดีย์ทั้ง ๘ แห่ง ครั้นต่อมาเมื่อเกิดลัทธิมหายานขึ้นในพระพุทธศาสนา พวกถือลัทธิมหายานคิดทำพระพุทธรูปขึ้นอีกปาง ๑ เป็นพระนั่ง พระหัตถ์มือหม้อน้ำมนต์ หรือ วชิร หรือผลไม้ที่เป็นโอสถเช่นลูกสมอเป็นต้น เรียกว่า ไภสัชชคุรุ สำหรับโสรจสรงน้ำมนต์รักษาโรคและบำบัดภัย เมื่อได้ความตามตำราดังนี้ก็เข้าใจตลอดไปถึงเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐาน พระกริ่งตรึงไว้ใน ขันครอบซึ่งโปรดฯ ให้พระมหาเถระดับเทียน ทำน้ำมนต์ถวายในมงคลราชพิธีเช่นงานเฉลิมพระชันษาเป็นต้น อันยังเป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้ พระกริ่งที่ได้มาถึงเมืองไทย ก็คงเป็นด้วยพบกรุอย่างเช่นมองสิเออร์มาสาลว่าในกาลก่อน แต่พวกเขมรไม่นิยมพระกริ่งเหมือนกับไทย นานเข้าพระกริ่งจึงมามีแต่ในประเทศสยาม

ครั้งฉันเลื่อมใสเครื่องรางในสมัยเมื่อบวชเป็นสามเณรนั้น ได้เคยเห็นฤทธิ์เครื่องรางประจักษ์แก่ตัวเองครั้งหนึ่ง เมื่อจะต้องไปเทศน์มหาชาติในวังหน้า พระมหาราชครูมหิธร (ชู) ผู้เป็นอาจารย์ วิตกเกรงฉันจะไปประหม่าเทศน์ไม่เพราะ มีใครบอกว่าอาจารย์วิทยาคมคนหนึ่งทำเครื่องรางกันประหม่าได้ให้ไปขอ ได้มาเป็นก้อนขี้ผึ้งแข็งปั้นกลมๆ ขนาดสักเท่าเมล็ดมะกล่ำตาช้าง บอกว่าเมื่อจะขึ้นธรรมาสน์ให้อมไว้ใต้ลิ้นจะไม่ประหม่าเลย ฉันกระทำตามก็ได้จริงดังสัญญา มิได้รู้สึกครั่นคร้ามตกประหม่าเลยแต่สักนิดเดียว จนพระหมาราชครูผู้อาจารย์ประหลาดใจ ก็เลยลงเนื้อเชื่อถือว่า เพราะเครื่องรางนั้นป้องกัน ต่อมาหวนคิดเมื่อเป็นผู้ใหญ่จึงเข้าใจว่าความเชื่อมั่นของเราในเครื่องรางนั่นเองป้องกันมิให้ตกประหม่า ทำนองเดียวกับรดน้ำมนต์แก้โรคต่างๆ

เรื่องเล่นวิทยาคมที่เล่ามา เป็นการเล่นของฉันในตอนเช้าก่อน เพลเมื่อเพลแล้วประเพณีพระเณรย่อมนอนกลางวัน ถึงตอนบ่ายมักไปเที่ยวกับพวก (มหาดเล็ก) เด็กหนุ่มที่ไปอยู่ด้วย ไปเล่นที่ลานรอบวิหารพระศาสดาเป็นพื้น บางวันก็ช่วยกันทำดอกไม้ไฟจุดเล่น บางวันก็เล่านิทานสู่กันฟัง ไม่มีอะไรเป็นสาระนอกจากไม่ทำความชั่วเท่านั้น ครั้นเวลาเย็นพระเณรที่ชอบอัธยาศัยอยู่ในคณะเดียวกัน มักไปประชุมกันที่กุฏิองค์ใดองค์หนึ่ง ตรงนี้ควรชมประเพณีการบวชในพระพุทธศาสนาที่ถือว่าเสมอกันหมด ไม่ต้องยำเกรงด้วยยศศักดิ์ นั่งสนทนาปราศรัยกันตามชอบ ในเวลาประชุมกันตอนเย็นนี้ โดยเฉพาะผู้บวชใหม่เริ่มจะเกิดหิว จึงมักช่วยกันเคี่ยวน้ำตาลน้ำผึ้งสำหรับบริโภคกับน้ำชาในเวลาค่ำ การเคี่ยวน้ำตาลกับน้ำผึ้งที่ว่านี้ ค่าที่พระตามวัดเคยทำสืบต่อกันมาช้านาน อาจจะผสมส่วนทำได้แปลกๆ น่ากินหลายอย่า สนทนากันและกินน้ำชากับน้ำตาลน้ำผึ้งเป็นที่บันเทิงใจ จนเวลาค่ำกลับขึ้นกุฏิ การท่องสวดมนต์มักท่องเวลานี้กับเวลาแรกรุ่งเช้าก่อนออกบิณฑบาตอีกเวลาหนึ่ง ครั้นถึงเวลา ๒๐ นาฬิกาได้ยินเสียงระฆังสัญญาณก็พากันลงโบสถ์เวลาค่ำ เสด็จแล้วก็เป็นสิ้นกิจประจำวัน ตามความที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าการที่บวชเป็นสามเณรนั้น โดยเฉพาะเจ้านาย ถ้าบวชแต่พรรษาเดียวดูไม่สู้จะเป็นประโยชน์เท่าใดนัก เพราะยังเป็นเด็กเห็นแต่แก่จะสนุกสนาน ฟังสั่งสอนศีลธรรมก็ยังมิใคร่เข้าใจ ได้ประโยชน์เป็นข้อสำคัญแต่ความคุ้นเคยอยู่ในบังคับบัญชา และสมาคมกับเพื่อนพรหมจรรย์โดยฐานเป็นคนเสมอกันเป็นนิสัยปัจจัยต่อไปข้างหน้า แต่จะว่าการที่บวชเณรไม่เป็นประเพณีดีก็ว่าไม่ได้ ถ้าคิดถึงขั้นบุคคลพลเมืองสามัญในสมัยเมื่อรัฐบาลยังมิได้ตั้งโรงเรียน ที่เรียนหนังสือและเรียนศีลธรรมมีแต่ในวัด พ่อแม่ส่งลูกไปอยู่วัดก็คือว่าให้ไปเข้าโรงเรียนนั่นเอง ขั้นแรกเป็นแต่ลูกศิษย์วัดตรงกับเรียนวิชาชั้นปฐมศึกษา เมื่อได้ความรู้เบื้องต้นและคุ้นกับวัดจนเกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงให้บวชเป็นสามเณรเสมือนเลื่อนขึ้นเป็นชั้นมัธยม มีเวลาเล่าเรียนมากขึ้น และได้รับความเคารพอุดหนุนของชาวบ้านยิ่งกว่าเป็นลูกศิษย์วัด แต่ต้องบวชเป็นสามเณรอยู่นานจนถึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ หรือมิฉะนั้นก็ต้องบวชหลายพรรษา จึงจะได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ติดตัวในเวลาเมื่อสึกไปเป็นคราวาส เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นประธานสงฆ์ ทรงพระดำริความตามที่กล่าวมานี้ จึงจัดตั้งวิธีสอนและสอบความรู้พระเณรที่เป็น นวก บวชพรรษาเดียวซึ่งใช้เป็นแบบอยู่ทั่วไป ณ บัดนี้ โดยพระประสงค์จะปลูกน้ำใจผู้บวชใหม่ให้นิยมพยายามศึกษาประกวดกันและกัน ตั้งแต่แรกบวชไปจนสมหมายเมื่อสิ้นพรรษา และความรู้ศีลธรรมติดตัวไปเป็นประโยชน์เมื่อเวลาเป็นฆราวาส การที่บวชพรรษาเดียวเดี๋ยวนี้จึงนับว่าดีกว่าสมัยเมื่อฉันบวชเณรมาก แต่ถ้าบวชอยู่ตั้ง ๒ พรรษาขึ้นไป ถึงในสมัยก่อนก็เป็นประโยชน์เพราะสมัครเป็นบรรพชิต ด้วยเห็นทางที่จะแสวงหาคุณวิเศษอย่างไรต่อไปแล้วจึงบวชอยู่ พอล่วงพรรษาแรกก็ตั้งหน้าพยายามตามจำนง เป็นต้นว่าเรียนภาษามคธ หรือฝึกหัดศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ในวัดนั้นต่อไปจนสำเร็จ พระเถระที่รอบรู้พระธรรมวินัยและช่างที่มีชื่อเสียงมาแต่ก่อน ล้วนเริ่มเรียนวิชาแต่เวลายังบวชเป็นสามเณรแทบทั้งนั้น ว่าถึงตัวฉันเองเมื่อออกพรรษาปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ได้พระราชทานกฐินหลวงให้ไปทอดที่วัดคงคาราม ได้ไปเมืองเพชรบุรีเป็นครั้งแรก ทอดกฐินแล้วกลับมาก็สึกในเดือน ๑๒ นั้น ก่อนจะสึกต้องถวายดอกไม้ธูปเทียนทูลาเสด็จพระอุปัชฌาย์แล้วต้องเข้าเฝ้าทูลลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย แต่ไม่มีความลำบากอันใด ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบมาแต่แรกแล้วว่าฉันจะบวชแต่พรรษาเดียว แล้วจะสึกออกมารับราชการ ก็พระราชทานบรมราชานุญาตโดยง่าย

เมื่อสึกแล้วฉันไปอยู่บ้านคุณตาที่ฉันได้รับมรดก แม่ก็ออกไปอยู่ด้วย เหตุที่ฉันจะได้บ้านคุณตาเป็นมรดกนั้น แม่เล่าให้ฟังว่าเมื่อฉันยังเด็ก คุณตาซื้อบ้านจงผึ้งที่ริมคลองวัดสุทัศน์ฯ ไว้ แล้วบอกแก่แม่ว่าเมื่อฉันโตขึ้นจะให้เป็นที่ทำวังของฉัน จะได้อยู่ใกล้ๆ กับกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๔ คุณป้าเที่ยงสิ้นวาสนาจะออกไปอยู่นอกวังกับกรมหมื่นราชศักดิ์ฯ แต่ท่านอยากมีบ้านของท่านเองต่างหาก คุณตาสงสารจึงโอนที่บ้านจงผึ้งไปให้แก่คุณป้าเที่ยง เพราะบ้านนั้นอยู่ใกล้กับกรมหมื่นราชศักดิ์ฯ ดังกล่าวมาแล้ว ท่านจึงบอกแก่แม่ว่าจะให้บ้านของท่านเองแทนบ้านจงผึ้ง แล้วแสดงให้ปรากฎในวงญาติว่าจะให้บ้านของท่านเป็นมรดกแห่ฉัน เพราะตัวท่านก็แก่ชราแล้ว กว่าฉันจะเติบใหญ่ถึงต้องมีรั้ววังก็เห็นจะพอสิ้นอายุของท่าน หรือมิฉะนั้นถ้าท่านยังอยู่ก็จะได้ไปอยู่กับท่านไปพลาง น่าจะเป็นเพราะท่านเจตนาเช่นนั้น คุณตาจึงมักรับฉันไปนอนค้างที่บ้านบ่อยๆ ดังเล่ามาแล้ว ผิดกับเจ้านายพระองค์อื่นๆ ที่เป็นหลานด้วยกัน เผอิญการก็เป็นอย่างคุณตาว่า พอถึงปีฉันโกนจุก คุณตาก็ถึงอนิจกรรม บ้านของคุณตาจีงตกเป็นของฉันแต่นั้นมา เรือนชานในบ้านของคุณตาสร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งนั้น มีตึกหลังเดียวเรียกว่าหอสูง ที่ท่านอยู่ และฉันอยู่ต่อมาในตอนก่อนสร้างเป็นวัง มีของแปลกประหลาดอย่างหนึ่ง คือเสาสำหรับชักธงเหมือนอย่างที่มีตามสถานกงสุลปักไว้ข้างหน้าบ้าน ฉันมาทราบในภายหลังว่าการสำเสาธงนั้นเกี่ยวกับการเมืองเป็นข้อสำคัญ ควรจะเล่าไว้ให้ปรากฎ คือในเมืองไทยแต่ก่อนมา การตั้งเสาชักธงมีแต่ในเรือกำปั่น บนบกหามีประเพณ๊เช่นนั้นไม่ มีคำเล่ากันมาว่าแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดขนบธรรมเนียมฝรั่ง ให้ทำเสาธงขึ้น ณ พระราชวังเดิม (ที่เป็นโรงเรียนนายเรือบัดนี้) อันเป็นที่เสด็จประทับ และชักธงบริวารเป็นเครื่องบูชาในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทอดพระกฐิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร ตรัสถามผู้ที่อยู่ใกล้พระองค์ว่า "นั่นท่านฟ้าน้อยเอาผ้าขี้ริ้วขึ้นตาทำไม" พิเคราะห์เห็นว่ามิใช่เพราะไม่ทรงทราบว่าทำโดยเคารพตามธรรมเนียมฝรั่ง ที่มีพระราชดำรัสเช่นนั้นเพราะไม่โปรดที่เอาอย่างฝรั่งมาตั้งเสาชักธงเท่านั้นเอง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้ทำเสาธงขึ้นทั้งในวังหลวงและวังหน้า เสาธงวังหลวงให้ชักธงตราพระมหามงกุฎ และเสาธงวังหน้าให้ชักธงจุฑามณี (ปิ่น) คนทั้งหลายก็เข้าใจกันว่าเสาชักธงนั้นเป็นเครื่องหมายพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นเมื่อทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับรัฐบาลฝรั่งต่างประเทศแล้ว มีกงสุลนานาประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มาตั้งเสาชักธงชาติของตนขึ้นตามสถานกงสุล เหมือนอย่างสถานกงสุลที่เมืองจีน คนทั้งหลายที่ไม่รู้ประเพณีฝรั่ง ก็พากันตกใจ โจษกันว่าพวกกงสุลจะเข้ามาตั้งแข่งพระราชานุภาพ ความทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรำคาญพระราชหฤทัย จึงทรงพระราชดำริหาอุบายแก้ไขด้วยดำรัสสั่งเจ้านายต่างกรมกับทั้งขุนนางผู้ใหญ่ให้ทำเสาธงข้างขึ้นตามวัง และที่บ้านเมื่อมีเสาธงชักธงขึ้นมากคนทั้งหลายก็หายตกใจ เรื่องนี้ฉันเคยเล่าให้พวกราชทูตต่างประเทศฟังหลายคน พากันชอบใจชมพระสติปัญญาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าช่างทรงพระราชดำริแก้ไขดีนัก แต่เมื่อฉันได้บ้านคุณตา ปัญหาเรื่องเสาธงระงับมาช้านานแล้ว เสาธงของคุณตาก็ผุยังแต่จะหักโค่น จึงสั่งให้เอาลงเสีย

เรื่องที่จะเล่าในตอนต่อนี้ไป จะว่าด้วยราชการบ้านเมืองที่ฉันได้ทันเห็นเมื่อเป็นเด็กอยู่ในปีระกา พ.ศง ๒๔๑๗ และปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่มารู้ความตระหนักเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เป็นการสำคัญมีหลายเรื่อง

ทรงพระนิพนธ์ค้างไว้เพียงเท่านี้



เชิงอรรถ

แก้ไข
เชิงอรรถต้นฉบับ
  1. จันทรคติกาล เดือนเจ็ด แรมเก้าค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๔ ตรงกับคริสต์ศักราช ๑๘๖๒
  2. พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๓ เรียกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ทูลกระหม่อมแก้ว" มาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระเจ้าลูกเธอเรียกแต่ว่า "ทูลกระหม่อม" แต่เรียกกันโดยคล่องพระโอษฐ์ว่า "ทูลหม่อม" ทุกพระองค์ ประหลาดอยู่ที่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เรียกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ทูลกระหม่อม" เห็นจะเรียกตามรับสั่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเรียกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "พ่อป่า" (อันมาจากคำ papa ภาษาฝรั่ง) อย่างเคยเรียกแต่เมื่อยังเป็นกรม
  3. ประเพณีสมโภช ถ้ามิใช่พระราชกุมาร เรียกว่า "ทำขวัญ" การทำขวัญสามวันทำแต่เป็นสังเขป คงเป็นเพราะยังไม่มั่นใจว่า ทารกนั้นจะเป็น "ลูกผีหรือลูกคน" คือ จะรอดอยู่ได้หรือไม่รอด เมื่ออยู่ได้ถึงเดือนก็เป็นอันมั่นใจว่ารอด จึงทำขวัญด้วยการพิธีเป็นหลักฐานเหมือนอย่างว่า รับเข้าทะเบียนเป็นสมาชิกในวงศ์สกุล
  4. มีชื่อปรากฏอยู่ในคำปรึกษาปูนบำเหน็จในรัชกาลที่ ๑ และในหนังสือพระราชวิจารณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  5. พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๓ เรียกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ทูลกระหม่อมแก้ว" มาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระเจ้าลูกเธอเรียกแต่ว่า "ทูลกระหม่อม" แต่เรียกกันโดยคล่องพระโอษฐ์ว่า "ทูลหม่อม" ทุกพระองค์ ประหลาดอยู่ที่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เรียกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ทูลกระหม่อม" เห็นจะเรียกตามรับสั่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเรียกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "พ่อป่า" (อันมาจากคำ papa ภาษาฝรั่ง) อย่างเคยเรียกแต่เมื่อยังเป็นกรม
  6. ในรัชกาลที่ ๕ ก็พระราชทานนามพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ตามนาม "เพ็ญ" ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงผู้เป็นคุณตา
  7. อักษรอริยกะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริประดิษฐ์ขึ้นแต่เมื่อยังทรงผนวชสำหรับให้เขียนภาษามครธสะดวก มีทั้งอักษรเหลี่ยม (อย่างตัวโรมัน) สำหรับพิมพ์ และอักษรกลม (อย่างอิตะลิค) สำหรับเขียน
  8. ประทานฉบับไว้ที่หอพระสมุดสำหรับพระนคร ราชบัณฑิตยสภาได้พิมพ์แล้ว
  9. มีจดหมายเหตุในหนังสือประดิทิน "บางกอกคาเลนดาร์" ของหมอบรัดเลว่า เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ ฝรั่งเข้ามาซื้อข้าวไปขายเมืองจีนมาก ราคาข้าวสารแพงถึงเกวียนละหนึ่งร้อยยี่สิบและหนึ่งร้อยยี่สิบห้าบาท ราษฎรเดือดร้อน จนถึงรัฐบาลต้องประกาศห้ามไม่ให้เอาข้าวออกจากเมืองอยู่เจ็ดเดือน
  10. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ มีเงินสดอยู่เพียงสองพันสี่ร้อยห้าสิบบาทเท่านั้น
  11. ในสมัยนั้นยังไม่ใช้วิธีเลี้ยงเด็กด้วยนมโค เจ้านายมีนางนมเลี้ยง ตัวฉันเคยมีแม่นมเลี้ยงต่อกันมาถึงสามคน
  12. พระอภิเนาว์นิเวศน์รวมพระที่นั่งหลายองค์สร้างขึ้นในบริเวณสวนขวาที่เรียกว่าสวนศิวาลัยบัดนี้ แต่มาชำรุดทรุดโทรมต้องรื้อเสียใหม่เมื่อในรัชกาลที่ ๕
  13. ในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้เด็กผู้หญิงลูกผู้ดีที่ไปอยู่ในวังเรียนอ่านและหัดเขียนหนังสือไทยและหนังสือขอม ให้อาลักษณ์สอนที่ตำหนักแพ ผู้ที่เรียนสำเร็จได้รับราชการเป็นเสมียน อยู่มาได้เป็นครูสอนหนังสือเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์หลายคน
  14. ประเพณีเสด็จทรงพระราชยานมาเลิกเมื่อเปลี่ยนเป็นใช้รถในรัชกาลที่ ๕ ตัวอย่างพระราชยานมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
  15. ในจดหมายเหตุบางกอกคาเลนดาร์ของหมอบรัดเลว่า เสด็จไปเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙
  16. ในจดหมายเหตุบางกอกคาเลนดาร์ของหมอบรัดเลว่า เป็นแขกเมืองโปรตุเกส เป็นเจ้าเมืองมาเกา ชื่อ ดองโยเส ฮอร์ตา[ก]
  17. การเสด็จออกรับแขกเมืองเต็มยศในพระที่นั่งอนันตสมาคมมีรูปเขียนเสด็จออกรับแขกเมืองฝรั่งเศสติดอยู่ในท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
  18. บิดาเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร)
  19. เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม รวมเวลาที่เสด็จไปครั้งนั้นสิบหกวัน
  20. เมื่อฉันว่าการมหาดไทย ได้ให้ไปตรวจว่า จะมีสิ่งสำคัญอันใดเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ได้รับรายงานว่า มีฐานก่ออิฐถือปูน (เห็นจะเป็นที่ตั้งกล้องส่องเหลืออยู่แห่งหนึ่ง ฉันได้สั่งให้รักษาไว้)
  21. เช่น สุริยอุปราคาคราว พ.ศ. ๒๔๗๖ เส้นศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลหัวหิน แต่อาจจะเห็นหมดดวงได้ตั้งแต่เขาทโมน แขวงจังหวัดเพชรบุรี ลงไปจนถึงเมืองประจวบคีรีขันธ์
  22. เพิ่งมาเห็นกล่องส่องนั้นตระหนักที่วังไกลกังวลเมื่อเอาไปตั้งถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรสุริยอุปราคาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ด้วยตรัสบอกว่า "กล้องของทูลกระหม่อมปู่"
เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ

"ดองโยเส ฮอร์ตา" คือ โคเซ มาเรีย เด โซว์ซา ฮอร์ตา เอ โกสตา (José Maria de Sousa Horta e Costa; ๒๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๕๘ – ๒๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๗) ส่วน "ดอง" (don) เป็นคำภาษาสเปน ใช้นำหน้าชื่อบุรุษ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า mister (นาย)

"เซอร์แฮรีออด" คือ พลตรี เซอร์แฮรี เซนต์ จอร์จ ออร์ด (Major-General Sir Harry St. George Ord; ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๑๙ – ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๘๕)


 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก