ตอนที่ ๒

เรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อเสวยราชย์แล้ว




เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระชันษาได้ ๔๗ ปี การที่ทรงสร้างสมบารมีมาในเสลาก่อนเสวยราชย์ ถ้าเอาระยะพระชันษาตั้งเป็นวินิจฉัยประกอบรายการที่ปรากฎตอนพระชันษาก่อน ๒๐ ปี คงได้ทรงรับความอบรมพระจริยาและศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ เช่น อักษรศาสตร์ ราชประเพณี และประวัติศาตร์ เป็นต้น สำหรับพระราชกุมารชั้นสูงศักดิ์ตามแบบโบราณครบทุกอย่าง แต่พระปรีชาญาณอันปรากฎในหนังสือต่างๆ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเสวยราชย์แล้ว ลึกซึ้งเกินกว่าหลักสูตรการศึกษาของพระราชกุมารมาก จึงเข้าใจว่าคงทรงศึกษาต่อมาในสมัยเมื่อทรงผนวชจนทรงสามารถรอบรู้ถึงปานนั้น ถึงตอนพระชันษาระวาง ๒๐ จนถึง ๓๐ ปี ทรงศึกษาภาษามคธจนเชี่ยวชาญ เป็นเหตุให้ทรงรอบรู้พระไตรปิฎกหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อนี้หาตัวอย่างในพงศาวดารมาเปรียบเทียบ เคยมีพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์พระร่วงพระองค์หนึ่ง ๑ พระนามเดิมว่า พญาลิไทย เมื่อเสวยราชย์ ณ กรุงสุโขทัย ใช้พระนามว่า พระมหาธรรมราชา (ที่ ๑) ในพงศาวดารเหนือเรียกว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เพราะปรากฎพระเกียรติว่าทรงเชี่ยวชาญพระไตรปิฎกหาผู้เสมอมิได้ในสมัยนั้น ได้ทรงแต่งหนังสือ ไตรภูมิ ไว้เรื่อง ๑ ยังมีฉบับที่จะพิสูจน์ได้ ในประเทศอื่นที่ใกล้เคียงมีพระเจ้าแผ่นดินมอญอีกพระองค์ ๑ เมื่อครองกรุงหงสาวดี ใช้พระนามว่า พระเจ้ารามาธิบดี แต่ในหนังสือพงศาวดารเรียกว่า พระเจ้าธรรมเจดีย์ เพราะปรากฎพระเกียรติ ว่าเชี่ยวชาญพระไตรปิฎกไม่มีผู้อื่นเสมอเหมือน และมีหนังสือซึ่งพระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงแต่งเรื่องประวัติพระพุทธศาสนาในเมืองมอญจารึกไว้ เรียกกันว่า จารึกกัลยาณี ยังปรากฎอยู่พอพิสูจน์ได้เหมือนกัน พิเคราะห์ความในหนังสือ ไตรภูมิ (พระร่วง) และในจารึกกัลยาณี ส่อให้เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์นั้น แม้ทรงทราบพระไตรปิฎกมากก็จริง แต่ไม่ถึงสามารถจะชี้วินิจฉัยผิดชอบในคัมภีร์อัตถกถาฎีกาได้เหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สุดแต่โบราณาจารย์ว่าไว้อย่างไร ก็ทรงถือแต่อย่างนั้น จึงผิดกัน ถึงตอนพระชันษาระวาง ๓๐ จน ๔๐ ปี ทรงจัดการฟื้นพระพุทธศาสนา และบางทีจะเป็นในตอนนี้ที่ทรงศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ ของไทยเพิ่มเติมจนรอบรู้ลึกซึ้งถึงขั้นสูงสุด โบราณคดีก็เห็นจะทรงศึกษาในตอนนี้ เพราะเสด็จไปเที่ยวธุดงค์ตามหัวเมือง ได้พบศิลาจารึกและทอดพระเนตรโบราณวัตถุสถานต่างๆ อยู่เนืองๆ ถึงตอนพระชันษาระหว่าง ๔๐ กับ ๔๗ ปี เริ่มทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับทั้งวิชาความรู้ต่างๆ ของฝรั่ง เลยเป็นปัจจัยให้เอาพระหฤทัยใส่สอดส่องการบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศในตอนนี้ ถ้าว่าโดยย่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างสมพระบามีสมบูรณ์มาแล้ว ตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์ ขาดอย่างเดียวแต่ที่มิได้เคยทรงบัญชาการทัพศึก เหมือนอย่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน ๓ รัชกาลแต่ก่อนมา เพราะไม่มีโอกาส ถึงกระนั้นเมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชย์ ก็ได้รับความนิยมนับถือของคนทั้งหลาย ว่าเป็นนักปราชญ์ ทรงพระปรีชาญาณผิดกับพระเจ้าแผ่นดินที่ปรากฎมาในพงศาวดารโดยมาก ข้อนี้ถึงบุคคลชั้นหลังที่ไม่ทันได้เห็นพระองค์ ใครได้อ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น พระบรมราชาธิบายและพระบรมราชวินิจฉัยที่รวบรวมพิมพ์ไว้ ก็จะเห็นได้ว่าในบรรดากิจการและเรื่องต่างๆ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์นั้น ทรงรอบรู้ลึกซึ้ง เชื่อได้ว่าในสมัยนั้นไม่มีผู้อื่นเสมอเหมือน นอกจากนั้น ถ้าสังเกตในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้ต่อไปถึงพระราชอัธยาศัยว่าไม่มีความประมาท เช่นจะทรงพระราชดำริกิจการอันใด ย่อมอาศัยหลักฐานและคิดถึงใจผู้อื่นเสมอ ข้อนี้พึงเห็นได้ในพระราชบัญญัติและประกาศสั่งการต่างๆ ทรงชี้แจงให้คนทั้งหลายเข้าใจพระราชดำริ และพระราชวินิจฉัยแจ่มแจ้งเป็นนิจ จึงเป็นเหตุให้คนทั้งหลายไว้วางใจในพระคุณธรรมมาตั้งแต่แรกเสวยราชย์จนตลอดรัชกาล

เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านพิภพนั้น ภายในประเทศสยามบ้านเมืองเป็นปกติเรียบร้อยกว่าเมื่อเปลี่ยนรัชกาลก่อนๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เพราะคนทั้งหลายนิยมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหมด แต่ทางภายนอกมีเหตุเป็นข้อวิตกอยู่ ด้วยเมื่อใกล้จะสิ้นรัชกาลที่ ๓ รัฐบาลอังกฤษให้มาขอทำหนังสือสัญญาใหม่ แต่ข้างฝ่ายไทยไม่ยอมทำ เพราะเห็นว่าถ้าทำหนังสือสัญญาตามข้อความที่อังกฤษปรารถนา จะเกิดความเสียหายในบ้านเมือง ทูตอังกฤษขัดใจกลับไป จึงระแวงกันอยู่ว่าอังกฤษจะกลับมาอีก และคราวนี้จะมาดีหรือร้ายก็ได้ทั้ง ๒ สถาน ก็ในเวลานั้นผู้ใหญ่ในราชการ มีสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทั้ง ๒ พระองค์เป็นต้น ยังนิยมในทางรัฎฐาภิปาลโนบายอย่างครั้งรัชกาลทื่ ๓ อยู่โดยมาก ผู้ที่มีความเห็นเป็นขั้นสมัยใหม่เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีน้อยตัว ที่ชื่อเสียงปรากฎมีแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ ๑ แต่เมื่อบวรราชาภิเษกแล้วก็เอาพระองค์ออกห่าง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยเกรงจะเป็นแข่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงมีแต่กรมหลวงวงศาธิราชสนิทพระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อเป็นเจ้าพระยาว่าที่สมุหพระกลาโหมองค์ ๑ กับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เป็นผู้ช่วยในการต่างประเทศ คน ๑ ความเห็นในเรื่องทำสัญญาจึงต่างกันเป็น ๒ อย่าง ข้างพวกสมัยเก่าเห็นว่าถ้าอังกฤษลดหย่อนผ่อนผันข้อความที่ปรารถนาลง อย่าให้ขัดกับประเพณีบ้านเมืองก็ควรทำ มิฉะนั้นก็ไม่ควรยอมทำหนังสือสัญญา เพราะยังเชื่อคำพวกจีนอยู่ว่าอังกฤษมีฤทธิ์เดชแต่ในท้องทะเล ฝ่ายพวกชั้นสมัยใหม่เห็นว่าโลกยวิสัยทางตะวันออกนี้ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงด้วยฝรั่งมามีอำนาจขึ้น จีนเป็นประเทศใหญ่ อังกฤษยังบังคับได้ ไทยเป็นประเทศน้อยที่ไหนจะยอมตามใจไทย อย่างไรๆ ไทยก็คงต้องทำหนังสือสัญญาใหม่กับอังกฤษ ผิดกันแต่เวลาช้าหรือเร็ว ถ้าไม่ยอมทำก็คงเกิดภัยอันตรายแก่บ้านเมือง ในพวกสมัยใหม่คิดเห็นกันอย่างนี้ทั้งนั้น แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการไกลกว่าผู้อื่น ทรงพระราชดำริว่า ทางที่จะให้ปลอดภัยมีทางเดียว แต่ต้องรับทำหนังสือสัญญาโดยดีให้เกิดมีไมตรีจิตต่อกัน แล้วจึงชี้แจงกันฉันมิตรให้ลดหย่อนผ่อนผันในข้อสัญญา อย่าให้เกิดยุคเข็ญแก่บ้านเมือง ใช่แต่เท่านั้น ทรงพระราชดำริต่อไปว่าประเทศทั้งหลายทางตะวันออกนี้ ต่อไปภายหน้าคงจะมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งมากขึ้นทุกที ถ้าไม่เปลี่ยนรัฎฐาภิปาลโนบายของประเทศสยาม ให้ฝรั่งนิยมว่าไทยพยายามบำรุงบ้านเมือง ให้เจริญตามอริยธรรม ก็อาจจะไม่ปลอดไปได้มั่นคง คงทรงพระราชดำริเช่นว่ามาแต่ยังทรงผนวชอยู่ เพราะฉะนั้นพอเสด็จผ่านพิภพ ตั้งแต่ก่อนทำพิธีราชาภิเษก ก็ทรงแก้ไขขนบธรรมเนียมเก่า เริ่มด้วยดำรัสให้เลิกประเพณีเข้าเฝ้าตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ ให้เจ้านายและข้าราชการใส่เสื้อเข้าเฝ้าต่อไปเป็นนิจ การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสให้ใส่เสื้อดังว่ามา คนสมัยนี้ได้ฟังเล่าอาจจะเห็นขัน ด้วยเข้าใจว่าเป็นการเล็กๆ น้อยๆ ขี้ประติ๋ว ไม่น่าจะยกขึ้นกล่าว ต่อไปได้อ่านหนังสือจดหมายเหตุเก่าจึงเห็นว่าแม้เป็นการเพียงเท่านั้น ก็ไม่สำเร็จได้โดยง่าย ข้อนี้ปรากฎอยู่ในหนังสือ เซอร จอน เบาริง ราชทูตอังกฤษแต่งเล่าเรื่องที่เข้ามากรุงเทพฯ ภายหลังมาอีก ๓ ปี ว่าเมื่อไปหาสมเด็จเจ้าพระยาฯ องค์ใหญ่ ครั้งแรกจัดรับอย่างเต็มยศ เห็นสมเด็จเจ้าพระยาฯ องค์ใหญ่แต่งตัวนุ่งจีบคาดเข็มขัดเพ็ชร แต่ตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ ความที่กล่าวส่อให้เห็นต่อไปว่าขุนนางผู้น้อยซึ่งเป็นบริวารอยู่ในที่นั้น ก็คงไม่ใส่เสื้อเหมือนกันทั้งนั้น เพราะถือกันว่าต้องใส่เสื้อในเวลาเข้าเฝ้า เวลาอื่นยังมีเสรีภาพที่จะรับแขกหรือไปไหนตัวเปล่าได้เหมือนอย่างเดิม เพราะทางประเทศตะวันออกนี้ไม่ใช่แต่ในประเทศสยามประเทศเดียว ถือกันมาแต่โบราณว่าต้องรักษาประเพณีที่มีมาแต่ก่อนมิให้เสื่อมทราม บ้านเมืองจึงอยู่เย็นเป็นสุข ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือเก่า คำสรรเสริญของพระเจ้าแผ่นดินมักกล่าวว่ารักษาโบราณราชประเพณีมั่นคง หรือ ทรงประพฤติตามโบราณราชประเพณี แม้จนในคำกลอนเทียบเรื่อง พระชัยสุริยา ของสุนทรภู่ ก็ยกเหตุว่าเพราะพวกข้าราชเฝ้าเจ้าเมืองสาวัตถี ดัดจริตผิดโบราณ บ้านเมืองจึงเป็นอันตราย เมื่อคนทั้งหลายเชื่อถือกันเช่นนั้นโดยมาก การเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมที่เคยนิยมกันมาช้านานจึงเป็นการยาก เพราะฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงค่อยทรงแก้ไขขนบธรรมเนียมเก่า แต่เพียงที่จะทำให้สำเร็จได้เป็นอย่างๆ โดยลำดับ แม้เรื่องที่โปรดฯ ให้ใส่เสื้อก็ยังใส่กันแต่ในเวลาเข้าเฝ้ามาจนคนสมัยเก่าหมดตัวไป พวกชั้นสมัยใหม่ชอบใส่เสื้อก็มีมากขึ้น จึงได้ใส่เสื้อกันแพร่หลาย

เมื่อถึงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ประเพณีเก่าอีกอย่างหนึ่ง ในวันเสด็จออกมหาสมาคมในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ด้วยพระราชทานบรมราชานุญาตให้พวกฝรั่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าด้วย เรื่องนี้ในเวลานั้นก็ไม่มีใครเห็นเป็นการแปลกประหลาดนัก เพราะเป็นแค่มีฝรั่งสัก ๑๐ คน เข้าไปยืนเฝ้าอยู่ข้างหลังแถวที่ขุนนางหมอบ แต่การนั้นมีผลมาก (ถึงมาเป็นประโยชน์ในการเมืองภายหลัง ดังจะเล่าในที่อื่นต่อไป) เพราะฝรั่งเหล่านั้นพากันเขียนบอกข่าวออกไปถึงนานาประเทศ ว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่ทรงเปลี่ยนขนบธรรมเนียมหันเข้าหาอริยธรรมอย่างฝรั่ง ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ ทางตะวันออก ฝรั่งตามต่างประเทศพากันพิศวงเริ่มเกิดไมตรีจิตต่อประเทศสยามผิดกว่าแต่ก่อน แม้ด้วยทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมตั้งแต่แรกเสวยราชย์อีกเรื่องหนึ่ง ด้วยทรงทราบแต่ยังทรงผนวชว่าในสมัยนั้นราษฎรถูกผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงชุกชุม เรื่องนี้ที่จริงราชประเพณีก็มีมาแต่โบราณ อนุญาตให้บรรดาผู้มีความทุกข์ร้อนถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดินได้ทั่วหน้าเสมอกันหมด แต่วิธีที่ถวายฎีกาตามแต่เก่าต้องไปตีกลองที่ทิมดาบกรมวัง ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงได้ยินเสียงกลอง ก็โปรดฯ ให้มารับฎีกา จึงเรียนกันว่า ตีกลองร้องฎีกา ครั้นนานมาผู้มีอำนาจกีดกันมิให้ราษฎรเข้าถึงกลอง ก็ถวายฎีกายากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรงปรารภในพระราชนิพนธ์แห่งหนึ่งว่า พระเจ้าแผ่นดินเหมือนเป็นพระประธานอยู่ในโบสถ์ ลืมพระเนตรอยู่ก็ไม่เห็นอะไร พอเสด็จเสวยราชย์ บรมราชาภิเษกแล้ว ก็ตรงตั้งประเพณีเสด็จออกรับฎีการาษฎรด้วยพระองค์เองทุกวันโกนเดือนละ ๔ ครั้ง เวลาเสด็จออก ให้เจ้าพนักงานตีกลองวินิจฉัยเภรี เป็นสัญญาให้ราษฎรเข้ามาถวายฎีกาได้เป็นนิจ ก็มีผลเห็นประจักษ์ทันที ด้วยผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงราษฎรเช่นฉุดลูกสาวหรือจับผู้คนจองจำตามอำเภอใจ ไม่มีใครกล้าทำดังแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นเป็นประโยชน์ จึงโปรดฯ ให้ประกาศขยายพระบรมราชานุญาตต่อออกไปถึงผุ้ไม่สามารถจะมาถวายฎีกาได้เอง เช่นถูกกักขังเป็นต้น ให้ฝากฎีกาให้ญาติพี่น้องหรือมูลนายถวายต่างตัวได้ แต่ในการที่รับฎีกาของราษฎรนั้น ถ้าปรากฎว่าใครเอาความเท็จมากราบทูลเพื่อจะให้ผู้อื่นเสียหายโดยไม่มีมูล ก็ให้ลงพระราชอาญาแก่ผู้ถวายฎีกาตามประเพณีเดิม ป้องกันผู้ไม่มีผิดมิให้เดือดร้อน นอกจากเสด็จออกรับฎีกา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงติดต่อกับราษฎรอีกอย่างหนึ่ง ด้วยดำรัสสั่งให้เลิกประเพณีโบราณ (อย่างเมืองจีน) ที่ห้ามมิให้ราษฎรเข้าใกล้ชิดหนทางเมื่อเวลาเสด็จประพาส และบังคับให้ปิดประตูหน้าต่างบ้านเรือนที่อยู่ทั้ง ๒ ข้างทาง โปรดฯ พระราชทานอนุญาตให้ราษฎรเข้ามาเฝ้าได้ใกล้หนทาง และให้เปิดประตูหน้าต่างได้ตามชอบใจ หากเจ้าของบ้านเรือนมีประสงค์จะแสดงความเคารพ ก็ให้แต่งเครื่องบูชาที่หน้าบ้าน แล้วคอยเฝ้าอยู่ที่เครื่องบูชานั้น จึงเกิดประเพณีตั้งเครื่องบูชารับเสด็จแต่นั้นมาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนประเพณีเดิมในเรื่องรับฎีการราษฎร และโปรดฯอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าแทนได้สะดวกกว่าแต่ก่อนดังกล่าวมา ก็เป็นเหตุให้ราษฎรพากันนิยมให้พระคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแพร่หลายอีกอย่างหนึ่ง

นอกจากเรื่องที่เล่ามาเป็นอุทาหรณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมเดิม และทรงสถาปนาการต่างๆ ขึ้นเป็นแบบแผนในรัชกาลที่ ๔ อีกหลายอย่าง ถ้าพรรณนาเป็นรายเรื่องหนังสือนี้จะยืดยาวนัก จึงจะรวมความกล่าวตามประเภทของการที่ทรงจัด โดยประสงค์จะให้เห็นเหตุและผลของการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดนั้นเป็นสำคัญ ถ้าตั้งเป็นปัญหาอย่างที่เรียนในสำนวนแปลในหนังสือจีนว่าเป็น คำกลาง ถามว่าเพราะเหตุใด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเปลี่ยนขนบธรรมเนียมต่างๆ อธิบายข้อนี้เมื่อพิจารณาดูเห็นว่าเป็นด้วยเหตุ ๒ อย่าง อย่าง ๑ ดังได้กล่าวมาแล้วว่าเพราะทรงตระหนักพระราชหฤทัยว่า รัชกาลของพระองค์ประจวบเวลาโลกยวิสัยทางตะวันออกนี้เปลี่ยแปลง ด้วยฝรั่งมามีอำนาจขึ้น จะต้องเปลี่ยนรัฎฐาภิปาลโนบายหันเข้าหาอริยธรรมอย่างฝรั่ง บ้านเมืองจึงจะพ้นภยันตราย แต่การต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดนั้น ที่ไม่เกี่ยวกับอริยกรรมของฝรั่ง แต่เป็นการสำคัญในขนบธรรมเนียมไทยก็มีมาก เห็นได้ว่ามีเหตุอื่นและเหตุนั้นเกิดแต่พระอุปนิสัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ทำการให้ถูกต้องเป็นแก่นสาร ไม่ทรงนิยมทำตามคติที่ถือกันว่าเคยทำมาแต่โบราณอย่างไรต้องทำอย่างนั้น จึงจะเป็นการ รักษาราชประเพณี เพราะเมื่อพระองค์ทรงผนวชได้มีโอกาสพิจารณาตำรับตำราต่างๆ มาก ทั้งทางฝ่ายพุทธศาสตร์และราชศาสตร์ เห็นประเพณีต่างๆ ที่ทำกันมาผิดหลักเดิมหรือยังบกพร่องมีอยู่มาก จึงทรงพยายามแก้ไขให้เป็นแก่นสาร ใช่จะโปรดเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ให้เป็นอย่างใหม่ไปทั้งนั้นหามิได้ พระอุปนิสัยเช่นว่านี้ พึงเห็นได้แต่ในพระราชประวัติตอนทรงผนวช พอทรงสอบสวนพระไตรปิฎกทราบว่าพระสงฆ์ไทยปฏิบัติพระวินัยเคลื่อนคลาดจากพระพุทธบัญญัติมากนัก ก็ทรงพยายามแก้ไขให้เป็นแก่นสาร ดังเล่าเรื่องมาแล้วในตอนก่อน ครั้นเสด็จเสวยราชย์ ทรงพิจารณาเห็นขนบธรรมเนียมอันใดเคลื่อนคลาดเค้ามูลหรือว่ายังบกพร่อง ก็ทรงพระราชดำริแก้ให้ดีขึ้น เป็นลำดับมาจนตลอดรัชกาล สมัยเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมของประเทศสยามจึงกำหนดในพงศาวดารว่าเกิดแต่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา

แต่นี้จะกล่าวอธิบาย ทีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ขนบธรรมเนียมตามประเภทต่างๆ ต่อไป


การศาสนา


ในตอนที่ ๒ ของหนังสือนี้ ได้เล่ามาแล้วถึงเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟื้นพระพุทธศาสนา และทรงตั้งนิกายพระสงฆ์ธรรมยุติกา และที่สุดเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรทรงทักท้วงเนื่องต่อการเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสสั่งให้พระสงฆ์ธรรมยุติกา กลับห่มคลุมอย่างพระมหานิกาย มาจนสิ้นรัชกาลที่ ๓ ได้ยินว่าในครั้นนั้นพระเถระธรรมยุติกาบางรูป มีสมเด็จพระวันรัต (ทับ) เมื่อยังเป็นที่พระอริยมุนีเป็นต้น ไม่ทำตามรับสั่งก็มี ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระเถระธรรมยุติกาทั้งปวง เข้าชื่อกันยื่นฎีกาต่อเสนาบดี ขอให้นำความกราบทูลว่าที่ต้องถูกบัลคับขืนใจให้ครองผ้าตามแบบอย่างซึ่งไม่เลื่อมใส มีความเดือดร้อน ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระสงฆ์ธรรมยุติกากลับครองแหวกเหมือนอย่างเดิม ก็เกิดความลำบากพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะจะดำรัสให้ห่มผ้าอย่างพระมหานิกายต่อไป ก็ผิดกับคติซึ่งพระองค์เองได้ทรงตั้ง ทั้งจะทำให้พระสงฆ์ธรรมยุติกายิ่งรู้สึกเดือดร้อนหนักขึ้น ถ้าหากกลับครองแหวกตามอำเภอใจจะทรงทำอย่างไรก็ยากอยู่ แต่จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตเล่า ก็ผิดกับที่ได้ทูลรับไว้ต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉพาะมีทางที่จะระงับความลำบากนั้นได้ด้วยฐานะของพระองค์เมื่อก่อนเสวยราชย์เป็นแต่สมณคณาจารย์ เมื่อทรงรับฎีกาของพระมหาเถระ ฐานะของพระองค์เป็นพระราชามหากษัตริย์ จึงพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยว่า การปฏิบัติพระธรรมวินัยเป็นกิจของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติ มิใช่ราชกิจของพระเจ้าแผ่นดินที่จะทรงสั่งให้ทำประการใด เมื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นนั้น พระสงฆ์ธรรมยุติกาก็พากันกลับห่มแหวกตามเดิม แต่เรื่องที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ธรรมยุติกายังมีข้ออื่นต่อมาอีก ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ คนที่เลื่อมใสต่อคติธรรมยุติกาอย่างเปิดเผยก็มี ที่เลื่อมใสแต่ไม่กล้าแสดงโดยเปิดเผย เพราะเกรงจะไม่พอพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มี ที่ไม่เลื่อมใสก็มี ตั้งแต่เปลี่ยนรัชกาลใหม่ ทรงสังเกตเห็นมีคนแสดงความเลื่อมใสในคติธรรมยุติกามากขึ้นรวดเร็ว เป็นเหตุให้ทรงพระราชวิจารณ์กว้างขวางออกไป ทรงพระราชดำริว่า ถ้าทรงขวนขายเผยแผ่นิกายสงฆ์ธรรมยุติกา ให้แพร่หลายด้วยพระราชานุภาพ จะเกิดโทษแก่บ้านเมืองมากกว่าเป็นคุณ เพราะจะทำให้พุทธบริษัททั้งพระและคฤหัสถ์ที่นับถือคติเกิดรังเกียจกัน และพระมหานิกายก็จะพากันหวาดหวั่นว่าจะถูกบังคับให้แปลงเป็นธรรมยุติ เหมือนเช่นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตก และที่สุดพระธรรมยุติกาเองถ้ามีจำนวนมากนัก การปฏิบัติพระธรรมวินัยก็อาจจะเสื่อมทรามลง เพราะเหตุที่กล่าวมา จึงโปรดฯ ให้พระสงฆ์ธรรมยุติกาคงขึ้นอยู่ในคณะกลางตามเดิม มิได้แยกย้ายเป็นคณะหนึ่งต่างหาก และดำรัสสั่งในราชการให้ถือว่าพระสงฆ์ ๒ นิกายนั้นเป็นอย่างเดียวกัน เป็นต้นว่าในการพิธีพระสงฆ์ ก็ให้นิมนต์รวมกันทั้ง ๒ นิกาย การที่ทรงตั้งพระราชาคณะก็เลือกแต่ด้วยพรรษาอายุและคุณธรรม ไม่ถือว่าจะเป็นนิกายไหนเป็นประมาณ ใช่แต่เท่านั้น ทางฝ่ายฆราวาสสกุลไหน แม้ไม่ใช่พระราชวงศ์เคยบวชเรียนในนิกายไหน ก็ตรัสขอให้คงอย่างเดิม แต่การฟื้นพระศาสนาก็ไม่ทรงทอดทิ้ง เป็นแต่เปลี่ยนพระบรมราโชบายมาเป็นทางสมาคมกับพระราชาคณะมหานิกาย เป็นต้นว่าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทูตถามอธิบายพระธรรมวินัยที่ใคร่จะทราบหรือที่ยังสงสัย ได้ตามประสงค์ และทรงชี้แจงพระบรมวินิจฉัยพระราชทานโดยมิได้รังเกียจพระบรมราโชบายเช่นว่า มีผลทำให้พระสงฆ์มหานิกายแก้ไขวัตรปฏิบัติดีขึ้นเป็นลำดับมา และการสงฆ์มณฑลก็มิได้แตกร้าวตลอดรัชกาลที่ ๔ ด้วยพระสงฆ์พากันเลื่อมใสในพระปรีชาญาณทั่วไปทั้ง ๒ นิกาย

พระราชปฏิบัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องด้วยศาสนายังมีต่อไปถึงศาสนาอื่นๆ อีก แต่ก่อนนอกจากพระสงฆ์กับพราหมณ์นักบวชในศาสนาอื่นเช่นศาสนาคริสตังก็ดี หรือศาสนาอิสลามก็ดี แม้จนพระญวณที่ถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ดี หาได้รับความยกย่องอย่างใดไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ได้ทรงสมาคมกับพวกบาทหลวงและพวกมิชชันนารีอเมริกันเนื่องในการทรงศึกษาภาษาฝรั่ง และทรงสมาคมกับพระญวนด้วยใคร่จะทรงทราบคติมหายาน คุ้นเคยอยู่แล้ว เมื่อเสวยราชย์แล้วก็ทรงรักษามิตรภาพสืบต่อมา ด้วยทรงยกย่องและพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ต่างๆ ยกเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นเมื่อสังฆราชปาลกัวต์ถึงมรณภาพ โปรดฯ พระราชทานเครื่องแห่ศพเหมือนอย่างขุนนาง และพระราชทานที่ดินให้สร้างวัดโปรเตสตันต์ กับทั้งทรงสร้างวัดญวนด้วย การที่ทรงอุปการดังกล่าวมานี้เป็นเหตุให้พวกบางหลวงและมิชชันนารีอเมริกัน เข้ารับช่วยราชการต่างๆ ตามราชประสงค์ และยังยกย่องพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนอยู่ทุกวันนี้ พระญวนก็เริ่มได้ทำพิธีกงเต๊กในงานหลวงเมื่อรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ส่วนพวกถือศาสนาอิสลามนั้น พวกถือลัทธิ เซียะ (พวกเจ้าเซน) ได้รับพระบรมราชานุเคราะห์เป็นประเพณีมาแต่รัชกาลก่อนๆ แล้วก็โปรดฯ พระราชทานตามเคย แต่พวกลัทธิสุหนี่เป็นคนหลายชาติหลายภาษา แยกย้ายกันอยู่ตามตำบลต่างๆ มีสุเหร่าและนักบวชชาติของตนเอง เข้ากับพลเมืองเป็นปกติอยู่แล้ว จึงไม่มีกิจที่จะต้องพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ผิดกับแต่ก่อนประการใด


การพิธีสำหรับบ้านเมือง


การพิธีต่างๆ ที่ทำเป็นประเพณีของประเทศสยามนี้ แต่เดิมมาถ้าเป็นพิธีในทางธรรมปฏิบัติ ทำตามคติพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นพิธีในทางโลก ทำตามคติไสยศาสตร์ของพราหมณ์ จึงเกิดคำพูดว่า พุทธกับไสยอาศัยกัน มาแต่โบราณ ถ้าทำพิธีตามพระพุทธศาสนา เช่นบวชนาคเป็นต้น เรียกว่าพิธีสงฆ์ พราหมณ์ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าทำพิธีไสยศาสตร์เช่นยกทัพจับศึกเป็นต้น เรียกว่าพิธีพราหมณ์ พระสงฆ์ก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง จำเนียรกาลนานมาเมื่อความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเจริญขึ้น ผู้ทำพิธีปรารถนาสวัสดิมงคลตามคติพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ก็มักคิดอ่านให้มีพิธีสงฆ์ด้วยกันกับพิธีพราหมณ์ จะยกตัวอย่าง เช่นพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดิน เดิมเป็นแต่พิธีพราหมณ์ ภายหลังมาให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มเข้าในส่วนการ เฉลิม (คือเสด็จขึ้นอยู่) พระราชมณเฑียร จึงเกิดการพิธีซึ่งทำทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ด้วยกันหลายพิธี แต่ที่ทำแยกกันอย่างเดิมยังมีมาก ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้หมดตัวพราหมณ์ที่ทรงพระเวทเสียแล้ว ยังเหลือแต่เชื้อสายที่สืบสกุลมาโดยกำเนิด แม้จะหาผู้ใดเข้าใจความในคัมภีร์พระเวทก็ไม่ได้ ด้วยไม่ใคร่ได้เรียนภาษาสันสกฤต การทำพิธีพราหมณ์เป็นแต่ทำตามเคย ไม่เป็นแก่นสารเหมือนเช่นเดิม แต่ละเลิกเสียก็ไม่ควร เพราะเป็นพิธีสำหรับบ้านเมืองและราชประเพณีมาช้านาน จึงแก้ไขระเบียบพิธีพราหมณ์ซึ่งเคยทำมาแต่โดยลำพัง เช่นพิธีแรกนา เป็นต้น ให้มีพิธีสงฆ์ด้วยทุกพิธี ที่สำคัญนั้นคือทรงแก้ระเบียบพิธีถือน้ำพิพัฒนสัตยา ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์กับพราหมณ์ทำด้วยกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พิธีสงฆ์มีสวดมนต์เลี้ยงพระให้เป็นสวัสดีมงคลก่อน แล้วทำพิธีพราหมณ์ อ่านโองการแช่งน้ำสาบานและชุบพระแสงต่อไป ข้าราชการกระทำสัตย์ถือน้ำต่อหน้าพระสงฆ์ที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัวที่ในท้องพระโรง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ประเพณีเดิม เสด็จออกไปประทับเป็นประธานให้ข้าราชการถือน้ำกระทำสัตย์และถวายบังคมที่พระอุโปสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระองค์เองก็เสวยน้ำพระพิพัฒนสัตยา ทรงปฏิญาณความซื่อตรงของข้าราชการทั้งปวงด้วย ระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ทรงแก้ไขให้เป็นพิธีสงฆ์เป็นพื้น คงทำตามพิธีพราหมณ์แต่สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระราชอาณาจักรและรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นสำคัญ การพิธีสำหรับบ้านเมืองจึงเป็นการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแก้ไข ให้เป็นแก่นสารขึ้นอีกประเภทหนึ่ง ดังพรรณนามา


ระเบียบยศศักดิ์


พอทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มทรงแก้ไขระเบียบยศศักดิ์ ด้วยมีเหตุที่จะต้องทรงพระราชดำริในการนั้น เบื้องต้นแต่ทรงตั้งแบบเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อน อธิบายข้อนี้ ตามประเพณีโบราณพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่จารึกสุพรรณบัฏถวายเมื่อราชาภิเษก มักใช้พระนามเดียวกันต่อๆ มา ด้วยถือว่าเป็นสวัสดิมงคล คนทั้งหลายจึงไม่เรียกพระนามตามที่จารึกนั้น เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์อยู่แต่ว่า ขุนหลวง หรือ พระพุทธเจ้าอยู่หัว หรือ พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ แต่เมื่อมีจำนวนพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงไปแล้วมากขึ้น ก็เรียกพระนามตามพอใจสมมุติกันต่างๆ เอาพระนามเมื่อก่อนเสวยราชย์มาเรียกเช่น สมเด็จพระเพทราชา บ้างเรียกตามพระอัธยาศัย เช่น พระเจ้าเสือ หมายความว่าดุร้ายบ้าง เรียกตามที่ประทับเช่นว่าพระเจ้าท้ายสระ เพราะประทับอยู่พระราชมณเฑียรที่ท้ายสระบ้าง เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ จารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี เหมือนกันทุกพระองค์ เมื่อรัชกาลที่ ๒ คนทั้งหลายเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า แผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๓ มีพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงแล้วเป็น ๒ พระองค์ คนทั้งหลายจึงมักเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า แผ่นดินต้น เรียกรัชกาลที่ ๒ ว่า แผ่นดินกลาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจว่าเป็นอัปมงคล เพราะมีต้นมีกลางก็ต้องมีปลาย รัชกาลของพระองค์จะเหมือนเป็นสุดท้าย จึงทรงบัญญัติให้เรียก ๒ รัชกาลก่อนตามพระนามพระพุทธรูปซึ่งทรงสร้างอุทิศถายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์นั้น ให้เรียกรัชการที่ ๑ ว่า แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเรียกรัชกาลที่ ๒ ว่าแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัยครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ มีปัญหาเกิดขึ้นอีกว่าจะเรียกรัชกาลที่ ๓ อย่างไร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าคารจะวางระเบียบการเรียกนามพระเจ้าแผ่นดินเสียให้เป็นยุติ อย่าให้เกิดปัญหาต่อไป เมื่อทำพิธีบรมราชาภิเษกจึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนแบบคำจารึกพระสุพรรณบัฏ เอาพระนามเดิมขึ้นตั้งแต่ต้นว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ แทนที่เคยขึ้นต้นว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี และให้เพิ่มคำสำหรับเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงข้างท้ายสร้อยพระนาม แล้วทรงบัญญัติให้เรียกพระนามรัชกาลที่ ๓ ว่า แผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (คำว่าพระนั่งเกล้าและพระจอมเกล้า ทรงอนุโลมตามพระนามเดิมว่า ทับ และว่า มงกุฎ) แล้วทรงบัญญัติให้เรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์ตามนามแผ่นดินว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อป้องกันมิให้คนภายหลังเรียกกันตามสมมุติเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา

ระเบียบยศเจ้านายและข้าราชการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงตั้งแบบแผนขึ้นใหม่ เนื่องในงานบรมราชาภิเษกนั้นหลายอย่างคือ ทรงสถาปนายศ กรมสมเด็จ ขึ้นใหม่ให้เป็นชั้นสูงสุดเจ้านายต่างกรมอย่าง ๑ ทรงสถาปนายศ สมเด็จเจ้าพระยา เข้าในทำเนียบ ให้เป็นชั้นสูงสุดในขุนนางอย่าง ๑ ทรงสถาปนายศเจ้าประเทศราชอย่าง ๑ และทรงสถาปนายศสตรีมีบรรดาศักดิ์ขั้น เจ้าคุณ เข้าในทำเนียบอีกอย่าง ๑ การที่ทรงสถาปนายศต่างๆ ที่กล่าวมานี้ จะอธิบายยศสมเด็จเจ้าพระยาก่อน แต่โบราณยศขุนนางชั้นสูงสุดเป็นเพียงเจ้าพระยา ตามทำเนียบศักดินาข้าราชการในกรุงมีเจ้าพระยาแต่ ๓ คน คือ เจ้าพระยามหาอุปราชเป็นชั้นพิเศษคน ๑ รองลงมาถึงอัครมหาเสนาบดี ๒ คน คือเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายกเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือนคน ๑ กับเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหมเป็นหัวห้าฝ่ายทหารคน ๑ ยศสมเด็จเจ้าพระยาหามีในกฎหมายไม่ มีแต่เรียกในหนังสือพงศาวดาร เช่น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และในพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ มีว่า พระอุปราชตรัสเอาพระยาพลเทพเดิมให้เป็น สมเด็จเจ้าพระยา (วังหน้า) ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงตั้งเจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) ที่สมุหพระกลาโหม เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา ไปรับราชการวังหน้า ดูก็เป็นทำนองเดียวกับที่ว่ ตั้งพระยาพลเทพเป็นเจ้าพระยา ในรัชกาลที่ ๑ และมีปรากฎในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงแก่อสัญญกรรม พระเจ้าบรมโกศโปรดฯ ให้เรียกศพว่าพระศพ อย่างเจ้า (ตามคำพวกผู้ใหญ่ในสกุลสิงหเสนีก็เล่าว่า ศพเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ได้พระราชทานเกียรติยศอย่างเจ้า) พิจารณาความที่กล่าวมาเห็นว่าสมเด็จเจ้าพระยานั้น เดิมจะเป็นแต่คำที่เรียกกันคือเจ้าพระยาคนใดมีความชอบพิเศษ ได้เลื่อนยศสูงขึ้นกว่าเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีเทียบเท่าเจ้าพระยามหาอุปราชในกฎหมาย อันมียศบางอย่างเหมือนกับเจ้า ก็เรียกกันว่าสมเด็จเจ้าพระยาๆ หาใช่ยศในกฎหมายไม่ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพูนบำเหน็จเจ้าพระยาพระคลังซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีอยู่แล้ว จึงโปรดฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยา และทรงบัญญัติยศสมเด็จเจ้าพระยาเข้าในกฎหมายเป็นชั้นสูงสุดในยศขุนนางแต่นั้นมา บางทีจะเนื่องมาจากที่ทรงตั้งสมเด็จเจ้าพระยานั้นเอง ทรงพระราชดำริต่อไปถึงยศเจ้านายต่างกรม ซึ่งตามแบบโบราณมียศ กรมพระ เป็นชั้นสูงสุด จึงทรงเพิ่ม กรมสมเด็จ ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง สำหรับทรงตั้งพระบรมวงศ์ซึ่งมีความชอบเป็นอย่างพิเศษ นับเป็นชั้นสูงสุดในยศเจ้านายต่างกรมแต่นั้นมา ที่ทรงแก้ไขระเบียบยศเจ้าประเทศราชนั้น แต่เดิมมารัฐบาลในกรุงะทพฯ ยกยศประเทศราชเป็นเจ้าแต่เมืองเวียงจันทน์กับเมืองหลวงพระบาง เพราะสืบสายมาแต่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแต่โบราณ ส่วนประเทศราชในมณฑลพายัพยังให้มียศแต่เป็น พระยา เพราะเพิ่งตั้งเป็นประเทศราชขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ต่อเจ้าเมืองคนใดมีความชอบมากจึงทรงตั้งให้เป็น พระเจ้า เฉพาะตัว เช่นพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละในรัชกาลที่ ๑ พระเจ้านครลำปางดวงทิพและพระเจ้านครลำพูนบุญมาในรัชกาลที่ ๒ แต่ชาวเมืองประเทศราชเหล่านั้นเองตลอดไปจนประเทศราชที่ขึ้นกับพม่า เช่นเมืองเชียงตุงเป็นต้น นับถือว่าเป็นเจ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าสกุลเจ้าเจ็ดตนที่ได้ครองเมืองเชียงใหม่ หรือนครลำปาง เมืองนครลำพูนกับทั้งสกุลเจ้าเมืองน่าน ได้มีความสามิภักดิ์ยั่งยืนมา ที่ให้มียศเป็นแต่เพียงพระยา ต่ำกว่าพวกที่ครองเมืองหลวงพระบางและประเทศราชที่ขึ้นพม่าหาสมควรไม่ จึงทรงสถาปนาให้มียศโดยปกติเป็นเจ้า ถ้ามีความชอบพิเศษเลื่อนขึ้นเป็น พระเจ้า เป็นระเบียบสืบมา

การตั้งกรมเจ้านายและตั้งขุนนางที่ทรงแก้ไขตั้งระเบียบใหม่นั้นประเพณีเดิมการตั้งกรมหรือเลื่อนกรมเจ้านาย นอกจากอุปราชาภิเษกมหาอุปราช พระเจ้าแผ่นดินเป็นแต่มีพระราชดำรัสสั่งแล้วก็ฉล้วกัน ไม่ได้ทรงเกี่ยวข้องกับการพิธี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปในการพิธีถึงวังเจ้านายที่รับกรม ทรงรดน้ำจากมหาสังข์พระราชทานอย่างอภิเษก และทรงเจิมจุณณ์ให้เป็นสิริมงคล แล้วพระราชทานพระสุพรรณบัฎเอง และเมื่อก่อนพระราชทานพระสุพรรณบัฎให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระเกียรติคุณของเจ้านายพระองค์นั้นอันเป็นเหตุให้ได้รับกรมให้ปรากฎด้วย

การตั้งขุนนางผู้ใหญ่ถ้าเป็นขั้นสูงถึงสมเด็จเจ้าพระยา ก็เสด็จไปพระราชทานสุพรรณบัฏทำนองเดียวกับตั้งกรมเจ้านาย ถ้าขั้นรองลงมาเพียงชั้นเจ้าพระยา ก็พระราชทานในท้องพระโรง และมีการอ่านประกาศเกียรติคุณเพิ่มขึ้นด้วย การตั้งขุนนางขั้นสามัญ แต่ก่อนมาเป็นแต่กรมวังผู้รับคำสั่งมีหมายบอกตัวเองและบอกไปตามกระทรวงทะบวงกรมการต่างๆ ว่าทรงตั้งคนนั้นเป็นคนที่นั้นแล้วก็แล้วกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้มีสัญญาบัตรลงพระราชหัตถเลขาปรมาภิไธย และประทับพระราชลัญจกรเป็นสำคัญ และให้รับสัญญาบัตรต่อพระหัตถ์เป็นประเพณีสืบมา

อนึ่งยศของสตรีมีบรรดาศักดิ์ชั้น เจ้าคุณ แต่ก่อนก็เป็นคำเรียกกันมักเรียกท่านผู้ใหญ่ในราชินิกุลหรือท้าวนางที่เป็นตัวหัวหน้า และเรียกเจ้าจอมมารดาของเจ้านายตางกรมผู้ใหญ่ แล้วแต่ใครจะเรียกๆ กันฟั่นเฝือไม่เป็นแบบแผน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงบัญญัติให้ยศ เจ้าคุณ เป็นยศในกฎหมาย สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเป็นแบบแผนสืบมา


แก้พระราชานุกิจ


การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขขนบธรรมเนียมในประเภทซึ่งเรียกในกฎหมายว่า พระราชานุกิจ คือระเบียบเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ ก็เป็นการสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองมาก ตามราชประเพณีมีแต่โบราณมา พระเจ้าแผ่นดินย่อมทรงประพฤติพระราชกิจต่างๆ เป็นระเบียบและตามกำหนดเวลาแน่นอนเสมอ เช่นเสด็จออกขุนนางวันละ ๓ ครั้ง คือเวลาเช้า ๑๐ นาฬิกาเสด็จออกพิพากษาคดี เวลาบ่าย ๑๔ นาฬิกาเสด็จออกที่เฝ้ารโหฐาน เวลาค่ำ ๒๐ นาฬิกาเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน เป็นต้น พระราชกิจอย่างอื่นก็จัดเข้าระเบียบทรงประพฤติโดยกำหนดเวลา เป็นทำนองเดียวกัน ข้าราชการผู้มีหน้าที่ในราชกิจอย่างใด ก็เฝ้าแหนตามกำหนดเวลาทรงปฏิบัติราชกิจอย่างนั้นเสมอไม่ต้องนัดหมายเห็นสะดวกแก่การงาน จึงใช้เป็นตำราราชประเพณีสืบมาช้านาน แต่ระเบียบพระราชานุกิจนั้นสำหรับแต่เวลาเสด็จประทับในพระนครราชธานี การที่จะเสด็จไปยังหัวเมืองไม่มีในตำรา แต่ก่อนมาการเสด็จไปหัวเมืองจึงแล้วแต่พระราชอัธยาศัยส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ตั้งแต่ล่วงรัชกาลที่ ๑ ไม่มีกิจที่ต้องเสด็จไปทำศึกสงคราม พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ รัชกาลต่อมา ก็ประทับอยู่แต่ในพระราชวังเป็นพื้น เป็นเหตุให้ทรงห่างเหินกับราษฎร และมิได้ทอดพระเนตรเห็นการที่เป็นไปตามหัวเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่า พระราชานุกิจอย่างรัชกาลก่อนยังบกพร่องเป็นข้อสำคัญ พอเสวยราชย์ก็ทรงแก้ไข คงไว้แต่ที่เป็นแก่นสาร เช่นเสด็จออกวันละ ๓ ครั้งเป็นต้น พระราชกิจที่ไม่เป็นการสำคัญเช่นเสด็จลงทรงบาตร และทรงประเคนเลี้ยงพระทุกวันดังเคยมีมาในรัชกาลก่อน โปรดฯ ให้เจ้านายทำแทนพระองค์ เอาเวลาไปใช้ในพระราชกิจที่เพิ่มขึ้น เช่นเสด็จออกรับฎีการาษฎรและเสด็จประพาสพระนครให้ราษฎรได้เฝ้าเป็นต้น ดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นทรงฟื้นประเพณีเสด็จประพาสหัวเมืองขึ้นเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาบางพระองค์ประพฤติมาแต่ก่อน มีโอกาสเมื่อใดก็ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปยังหัวเมืองต่างๆ ทางฝ่ายเหนือได้เสด็จไปถึงเมืองพิษณุโลก ทางตะวันออกเสด็จไปถึงเมืองปราจิณ กับทั้งหัวเมืองชายทะเลตลอดจนเมืองจันทบุรีและเมืองตราด ทางฝ่ายใต้เสด็จไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลา ทางฝ่ายตะวันตกเสด็จไปถึงเมืองนครชัยศรี เมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี และเมืองเพชรบุรี ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิลำเนาพระราชอาณาเขตและทรงทราบการหัวเมืองยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ปางก่อนโดยมาก ตามหัวเมืองที่เสด็จประพาสนั้น โปรดฯให้สร้างที่ประทับขึ้นใหม่ในวังพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาเคยประทับก็หลายแห่ง เช่นวังปางปะอินของพระเจ้าปราสาททอง วังจันทรเกษมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วังเชิงเขาพระนารายณ์มหาราช ที่เมืองเพชรบุรีและเมืองนครปฐมก็มีที่พระราชวังโบราณทั้ง ๒ แห่ง แต่โปรดฯ ให้สร้างวังใหม่ในที่อื่น การที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสตรวจการหัวเมือง จึงเกิดเป็นประเพณีอันมีประโยชน์แก่บ้านเมืองเป็นอันมากแต่ในรัชกาลที่ ๔ สืบมา

แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแก้ไขพระราชานุกิจดังกล่าวมา เมื่อภายหลังก็เกิดความลำบากแก่พระองค์ในการที่ต้องทรงประพฤติพระราชานุกิจ เพราะในรัชกาลที่ ๔ มีกิจการต่างๆ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนๆ ไม่ต้องทรงทำ เกิดเพิ่มขึ้นใหม่หลายอย่าง เป็นต้นแต่เหตุที่เคยทรงสมาคมและมีหนังสือไปมากับฝรั่งเมื่อยังทรงผนวช ครั้นเสด็จเสวยราชย์พวกฝรั่งต่างประเทศได้ทราบพระเกียรติคุณ พากันเขียนหนังสือมาถวายมากขึ้น เกิดพระราชกิจที่ต้องมีพระราชหัตถเลขาเป็นภาษาอังกฤษถึงชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้น อันต้องทรงแต่งเองเขียนเอง เพราะยังไม่มีใครอื่นที่รอบรู้พอจะช่วยพระราชกิจนั้นได้ ต่อมาถึงสมัยเมื่อทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับฝรั่งต่างประเทศแล้ว เกิดกิจซึ่งโต้ตอบกับพวกกงสุลในการต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก บางทีก็เป็นการสำคัญอันจะกราบทูลหรือปรึกษาโดยเปิดเผยในเวลาเสด็จออกขุนนางเหมือนอย่างแบบเก่าไม่ได้ ก็ต้องส่งหนังสือที่มีมากับทั้งร่างตอบเข้าไปถวายทรงพระราชวินิจฉัย นอกจากนั้นการที่ทรงรับฎีกาของราษฎร ก็เพิ่มพระราชกิจที่ต้องทรงพิจารณาฎีกาด้วยอีกอย่างหนึ่งหรือถ้ารวมว่าโดยย่อ คือเกิดการที่ต้องทรงพระอักษรเป็นส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงปฏิบัติการนั้น แทรกเข้ามาในระเบียบพระราชานุกิจประจำวัน วันไหนมีหนังสือที่เร่งร้อนต้องทรงมาก เวลาเสด็จออกว่าราชการบ้านเมืองเวลาค่ำมักเคลื่อนคลาดช้าไปเนืองๆ เป็นเหตุให้ข้าราชการผู้ใหญ่ติเตียนว่าเวลาพระราชานุกิจไม่แน่นอนเหมือนในรัชกาลที่ ๓ บางคนก็เลยขาดการเฝ้า ด้วยอ้างว่าสูงอายะแล้วอยู่ดึกทนไม่ไหว แม้ผู้ที่ยังไม่สูงอายุก็พลอยเอาอย่าง ประเพณีที่เสนาบดีต้องเข้าเฝ้าทุกวันก็เสื่อมมา ถ้ามีราชการสลักสำคัญมักเข้าเฝ้าเวลาเสด็จออกรโหฐาน ราชการสามัญที่เคยกราบทูลในเวลาเสด็จออก ขุนนางมักให้แต่ปลัดทูลฉลองกราบทูลแทน (เมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ ปรึกษากันให้กลับใช้แบบพระราชานุกิจอย่างรัชกาลที่ ๓ ดังจะปรากฎอธิบายในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า)


ตีเมืองเชียงตุง


ในรัชกาลที่ ๔ ต้องทำสงครามครั้งเดียว และไม่เหมือนกับสงครามใน ๓ รัชกาลที่ล่วงแล้ว ด้วยแต่ก่อนพอเปลี่ยนรัชกาลใหม่ทั้งรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ พม่าข้าศึกก็เข้ามารบรุก เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถก็ยกกองทัพลงมารบรุก ไทยเป็นฝ่ายข้างต่อสู้รักษาอาณาเขตทั้ง ๓ คราว แต่คราวนี้ไทยไปตีเมืองเชียงตุงเป็นการรบรุกอาณาเขตของพม่า จึงผิดกัน ที่จริงเรื่องตีเมืองเชียงตุงเริ่มมาในรัชกาลที่ ๓ ด้วยเหตุเกิดจลาจลในอาณาเขตลื้อ สิบสองปันนา อันเป็นประเทศราชของพม่า แต่ภูมิลำเนาอยู่ต่อแดนทั้งประเทศจีนและประเทศสยาม และเคยยอมขึ้นต่อจีนหรือไทยในเวลาได้ความลำบากมาแต่ก่อน เมื่อก่อนเกิดจลาจลครั้งนี้ มีพวกเจ้านายราชวงศ์เมืองเชียงรุ้ง ซึ่งครอบครองสิบสองปันนา พากันอพยพครอบครัวหนีภัยมาอาศัยอยู่ในแดนเมืองน่านและเมืองหลวงพระบาง (เมื่อยังเป็นอาณาเขตสยาม) หลายพวก พวกเมืองหลวงพระบางและเมืองน่านส่งตัวนายที่เป็นหัวหน้าลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อขอพระบารมีเป็นที่พึ่งและจะทิ้งพม่ามาขึ้นไทย ก็ในเวลานั้นทางประเทศพม่าเสื่อมกำลังตั้งแต่รบแพ้อังกฤษ (ครั้งแรก) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าเป็นโอกาสที่จะแผ่พระราชอาณาเขตไปถึงสิบสองปันนา แต่จะต้องตีเมืองเชียงตุงซึ่งพม่าให้ควบคุมข่มเมืองลื้อให้หมดกำลังเสีย ไทยจึงจะเอาเมืองสิบสองปันนาไว้ได้ ครั้งนั้นพอพวกเจ้าประเทศราชในมณฑลพายัพทราบกระแสพระราชดำริ ก็พากันยินดีรับอาสาเมืองเชียงตุง ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้เชลยกับทรัพย์สินเมื่อรบชนะตามประเพณีการสงครามในสมัยนั้น จึงโปรดฯ ให้พวกประเทศราชเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง และเมืองนครลำพูด ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง (ครั้งแรก) เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ แต่กองทัพที่ยกไปไปทำการไม่พรักพร้อมกัน ลงที่สุดขัดสนสะเบียงอาหารก็ต้องเลิกกลับมา พอประจวบเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรเรื่องตีเมืองเชียงตุงก็ค้างอยู่เพียงนั้นจนสิ้นรัชกาลที่ ๓

ถึงรัชกาลที่ ๔ มีความจำเป็นจะต้องตกลงเป็นยุติว่าจะทำอย่างไรต่อไปทั้งในเรื่องตีเมืองเชียงตุงและเมืองสิบสองปันนา เพราะพวกเจ้านายเมืองเชียงรุ้งต้องคอยฟังอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง ๓ ปี พรรคพวกครอบครัวที่คอยอยู่ในแขวงเมืองน่านและเมืองหลวงพระบางก็มาก พอประจวบกับได้รับศุภอักษรของเจ้าฟ้าแสนหวีเจ้าเมืองเชียงรุ้งก็มีมาให้กราบบังคมทูลว่าการที่จลาจลนั้นระงับเรียบร้อยแล้ว ขอพระราชทานอนุญาตให้เจ้านายที่มาพึ่งพระบารมีกับพวกบริวารกลับคืนไปบ้านเมือง และเจ้าเมืองเชียงรุ้งจะถวายเครื่องราชบรรณาการ ๓ ปีครั้ง ๑ เหมือนอย่างประเทศราชอื่นต่อไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า พวกราชวงศ์เมืองเชียงรุ้งกับพวกบริวารหนีภัยมาพึ่งพระบารมี ในเวลาบ้านเมืองเป็นจลาจล บ้านเมืองเรียบร้อยแล้วใครประสงค์จะกลับไปบ้านเมือง ก็พระราชทานอนุญาตให้กลับไปตามใจสมัคร แต่ส่วนเรื่องการตีเมืองเชียงตุงและเรื่องที่ผูกพันกับเมืองเชียงรุ้งต่อไปอย่างไรนั้น โปรดฯ ให้เสนาบดีปรึกษากันทำความเห็นขึ้นกราบบังคมทูล ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงบัญชาหรือตรัสปรึกษาเสนาบดี จะเป็นเพราะเหตุใด ข้อนี้พิจารณาดูเห็นว่า คงเป็นเพราะวินิจฉัยเรื่องเมืองเชียงตุงเกี่ยวกับการทำศึกสงครามอันเป็นวิชาที่พระองค์มิได้มีโอกาสทรงศึกษา ส่วนเรื่องเมืองเชียงรุ้งนั้น คงทรงเห็นการเหมือนพระบาทสมเด็๗พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเคยทรงพระราชดำริมาแต่ก่อน ว่าเมืองลื้อสิบองปันนนาเคยขึ้นแก่พม่าและจีน แม้ไทยรับเป็นที่พึ่ง ถ้าพม่าหรือจีนมาเบียดเบียนเมืองเชียงรุ้ง ก็ยากที่ไทยจะไปช่วยป้องกัน เพราะหนทางไกลและกันดารนัก จะไม่เป็นที่พึ่งแก่พวกลื้อสิบสองปันนาได้จริง แต่จะตรัสปฏิเสธโดยลำพังพระราชดำริก็ยาก จึงทรงอาศัยเหตุที่เป็นการเก่าซึ่งเสนาบดีเหล่านั้นได้เคยพิจารณาบัญชาการมาแล้วเมื่อรัชกาลที่ ๓ ให้ปรึกษากันอีกครั้งหนึ่งว่าจะควรทำอย่างไรต่อไปในรัชกาลใหม่ ก็ในปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ นั้น เผอิญประจวบกับอังกฤษมาตีเมืองพม่าอีก (เป็นครั้งที่ ๒) พม่ากำลังติดรบพุ่งกับอังกฤษจะไปช่วยเมืองเชียงรุ้งไม่ได้ เป็นโอกาสเกิดเพิ่มขึ้น เสนาบดีจึงพร้อมกันทำความเห็นกราบบังคมทูล เห็นว่าควรจะดำเนินการต่อไปตามพระราชดำริในรัชกาลที่ ๓ คือให้ไปตีเมืองเชียงรุ้งอีก เมื่อได้เมืองเชียงตุงแล้วก็คงได้เมืองลื้อสิบสองปันนาเป็นของไทยโดยไม่ลำบาก แต่การที่จะตีเมืองเชียงตุงคราวนี้ควรให้มีกองทัพกรุงเทพฯ ยกขึ้นไปควบคุมกองทัพพวกมณฑลพายัพด้วย จึงจะเป็นการสะดวกและจะเป็นประโยชน์ฝึกฝนข้าราชการในกรุงให้ชำนิชำนาญการศึกสงครามขึ้นด้วย เมื่อเสนาบดีลงมติอย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงบัญชาตาม โปรดฯ ให้เกณฑ์คนในมณฑลพายัพและหัวเมืองเหนือนอกจากมณฑลนั้นรวมจำนวน ๑๐,๐๐๐ จัดเป็น ๒ กองทัพ ให้เจ้าพระยายมราช (นุช บุณยรัตพันธุ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก) คุมกองทัพหน้ายกไปทางเมืองเชียงใหม่ทาง ๑ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเป็นจอมพลคุมกองทัพหลวงยกไปทางเมืองน่านอีกทาง ๑ ไปสมทบกันตีเมืองเชียงตุง กองทัพที่ยกไปครั้งนั้น ตีได้เมืองขึ้นและทางด่านที่พวกเชียงตุงมาตั้งต่อสู้เข้าไปจนถึงตั้งล้อมเมืองเชียงตุง ยังแต่จะหักเข้าเมือง เผอิญสะเบียงอาหารขาดลงก็ต้องถอยทัพกลับมาตั้งอยู่เมืองเชียงแสน ในเวลานั้นประจวบกับจัดทหารอย่างยุโรปขึ้นในกรุงเทพฯ เสนาบดีจึงปรึกษาเห็นกันว่า เมืองเชียงตุงก็อ่อนกำลังมากอยู่แล้ว ควรจะเพิ่มเติมกำลังกองทัพทั้งสะเบียงอาหารและเครื่องศัสตราวุธให้มากขึ้น อย่าให้มีความขัดข้องเหมือนเมื่อคราวก่อน แล้วให้ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงในฤดูแล้งปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ อีกครั้งหนึ่ง แต่ในเวลาเตรียมทัพอยู่นั้น ทางเมืองพม่าเสร็จการสงครามกับอังกฤษ พม่าส่งกำลังมาช่วยรักษาเมืองเชียงตุง ทางฝ่ายไทยไม่รู้ ยกขึ้นไปคราวหลังก็เกิดลำบากตั้งแต่เข้าแดนเชียงตุง กองทัพเจ้าพระยายมราชต้องติดขัดไปไม่ทันสมทบกองทัพหลวง กรมหลวงวงศาฯ เสด็จขึ้นไปพบกองทัพพม่ามีกำลังมากกว่าก็ต้องถอยทัพกลับมา การตีเมืองเชียงตุงจึงเป็นอันไม่สำเร็จ ถ้าคิดดูว่าเพราะเหตุใด เห็นว่าเพราะไปทำสงครามในดินแดนของข้าศึกซึ่งไทยไม่รู้เบาะแสภูมิลำเนา เสียเปรียบศัตรูอยู่โดยธรรมดาอย่าง ๑ เพราะฝ่ายไทยประมาทไม่ขวนขวายในการสืบสวนให้สมกับพระบวนพิชัยสงครามอย่าง ๑ เป็นข้อสำคัญ แต่ถึงตีเมืองเชียงตุงได้ก็คงรักษาไว้ไม่ได้ ด้วยอยู่ใกล้แดนพม่ากว่าแดนไทย


จัดทหารบกทหารเรือ


ทหารบกทหารเรือที่ฝึกหัดจัดระเบียบการบังคับบัญชาตามแบบฝรั่งก็เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ แต่นั้นมา เมื่อไทยรบกับญวณและระแวงว่าอังกฤษจะย่ำยีเหมือนอย่างเมืองจีน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่โปรดฯ ให้สร้างสมเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ และสร้างป้อมรักษาปากน้ำที่สำคัญทุกแห่ง ครั้งนั้นให้เกณฑ์พวกอาสาญวณ (เข้ารีต) หัดเป็นทหารปืนใหญ๋ขึ้นอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรับสรรค์พวก ๑ เกณฑ์พวกอาสามอญหัดเป็นพวกทหารปืนเล็กขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้บังคับบัญชาพวก ๑ สำหรับรักษาป้อมที่เมืองสมุทรปราการ ทหารทั้ง ๒ พวกนี้แต่งตัวตามแบบทหารฝรั่งและปรากฎว่าได้ให้มาตั้งแถวเป็นกองเกียรติยศ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในวันพระบรมราชาภิเษก แต่ยังไม่ได้จัดระเบียบการบังคับบัญชา ในปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์นั้น มีนายร้อยเอกทหารอังกฤษคน ๑ ชื่อ อิมเป (Impey) ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชย์และโปรดขนบธรรมเนียมฝรั่ง จึงเข้ามารับอาสาเป็นครูฝึกหัดจัดระเบียบทหารบก ก็โปรดฯ ให้จ้างไว้ แล้วเกณฑ์คนกรมอาสาลาวและเขมรให้เป็นทหารให้นายร้อยเอก อิมปี ฝึกหัด เรียกว่า ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป จัดเป็นกองร้อยและหมวดหมู่ มีนายร้อย นายสิบ ควบคุมตามแบบฝรั่ง และโปรดฯ ให้สร้างโรงทหารขึ้นสำหรับพวกทหารผลัดเวรกันอยู่ประจำการ การฝึกหัดและจัดระเบียบทหารครั้งนั้นเพราะทำตามแบบฝรั่ง และครูก็ไม่รู้ภาษาไทย จึงใช้คำบอกทหารและชื่อตำแหน่งยศทหารเป็นภาษาอังกฤษมาตลอดรัชกาลที่ ๔ พอข่าวระบือไปว่านายร้อยเอกอิมเปได้เป็นครูทหารไทย ในไม่ช้าก็มีนายร้อยเอกทหารอังกฤษชื่อ น๊อกส์ (Knox) เข้ามาอาสาอีกคน ๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ทหารวังหลวงมีนายร้อยเอกอิมเปเป็นครูอยู่แล้ว จึงโปรดฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวรับนายร้อยเอกน๊อกส์ไปเป็นครูฝึกทหารวังหน้า และให้โอนทหารญวณ (เข้ารีต) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบังคับบัญชาอยู่แต่ก่อนไปเป็นทหารวังหน้า ส่วนทหารมอญทีเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมนั้นก็โปรดฯ ให้คงอยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้จัดการทหารเรือทหารพวกนั้นจึงเปลี่ยนไปเป็นทหารมรีนสำหรับเรือรบ ต่อมาโปรดฯ ให้จัดกรมรักษาพระองค์เป็นทหารอย่างยุโรปขึ้นอีกกรม และจักพวกกรมอาสาญวณ (ถือพระพุทธศาสนา ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองผะดุงกรุงเกษม) เป็นทหารปืนใหญ๋แทนพวกญวณเข้ารีตที่โอนไปวังหน้าอีกกรม ๑ กรมทหารบกต่างๆ ที่กล่าวมานี้เป็นต้นเดิมของทหารบกที่มีต่อมาจนทุกวันนี้

ทหารบกที่เริ่มจัดขึ้นในปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ นั้น ทันได้ส่งขึ้นไปเข้ากองทัพกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เมื่อยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงครั้งหลังในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ จะเป็นจำนวนคนเท่าใดหาทราบไม่ ทราบแต่ว่านายร้อยเอกน๊อกส์คุมไป และได้ช่วยรบครั้งหลังเมื่อกองทัพกรมหลวงวงศาฯ ถอยลงมา

ส่วนทหารเรือนั้น เมื่อรัชกาลที่ ๓ มีเรือรบเป็นกำปั่นใบหลายลำ เกณฑ์พวกแขก (เขมร) กรมอาสาจามลงประจำ ขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม สำหรับลาดตระเวนในอ่าวสยาม บางทีก็มีราชการก็ให้ไปถึงเมืองต่างประเทศที่ใกล้เคียง ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นอัครมหาเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ท่านชำนาญการต่อเรือกำปั่นมาตั้งแต่ยังเป็นหลวงนายสิทธิในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้จัดทหารเรือและต่อเรือกลไฟเป็นเรือรบและเรือใช้เป็นพาหนะ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดการทหารเรือ ทรงต่อเรือรบและจัดทหารเรือวังหน้าขึ้นด้วย จึงเริ่มมีเรือไฟใช้เป็นเรือรบและเรือพาหนะตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ เป็นต้นมา คงใช้พวกอาสาจามเป็นพนักงานเดินเรืออยู่อย่างเดิม เพิ่มพวกมอญเป็นทหารมรีนสำหรับเรือรบ แต่พวกต้นกลนั้นฝึกหัดไทยใช้มาแต่แรก ส่วนการบังคับบัญชาในเรือรบ ในสมัยนั้นยังไม่มีไทยใครชำนาญ จึงต้องจ้างฝรั่งเป็นกัปตันและต้นหนเรือรบมาช้านาน