คำนำประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๗ และประวัติพระยาเพ็ชรพิไชย (เจิม อมาตยกุล)

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
คำนำ

ในงานศพมหาเสวกโท พระยาเพ็ชรพิไชย (เจิม อมาตยกุล) คุณหญิงถนอมพร้อมด้วยบุตรธิดาของพระยาเพ็ชรพิไชยร่วมฉันทช่วยกันรับน่าที่ทำการต่างๆ สนองคุณผู้มรณภาพ อำมาตย์เอก พระยาปฏิภาณพิเศษ (อาเลกซานเดอร อมาตยกุล) รับพิมพ์หนังสือแจกเปนที่รลึกเมื่อพระราชทานเพลิงศพ จึงให้มาแจ้งความยังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือในหอพระสมุดฯ ให้ข้าพเจ้าเปนผู้เลือก นึกได้ถึงหนังสือเรื่อง ๑ คือ พงศาวดารเรื่องฝรั่งเศสเปนไมตรีกับไทยครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (Rélations de la France et du Royaume de Siam de 1662 (1703) ซึ่งมองซิเออรลันเย (Lanier) แต่งขึ้น แล้วพิมพ์ที่เมืองเวอซายเมื่อคฤศตศก ๑๘๘๓ (พ.ศ. ๒๔๒๖) และนายอรุณ อมาตยกุล ได้มีแก่ใจรับแปลออกเปนภาษาไทยถวายไว้ในหอพระสมุด ฯ นั้น เห็นว่าถ้าพิมพ์แจกในงานศพพระยาเพ็ชรพิไชยก็จะสมควรหนักหนา ด้วยพระยาเพ็ชรพิไชยมีญาติมิตรผู้ชอบพอกว้างขวาง งานศพคงจะมีผู้ไปช่วยมาก และจะมีบุคคลทุกชั้นบันดาศักดิ ตั้งแต่เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ตลอดจนพ่อค้าคฤหบดี ผู้ซึ่งจะได้รับหนังสือแจกเห็นจะอยู่ในชั้นที่ชอบอ่านเรื่องพงศาวดารโดยมาก หนังสือพงศาวดารเรื่องที่กล่าวนี้ มองซิเออรลันเยผู้แต่งได้พยายามตรวจค้นจดหมายเหตุและหนังสือซึ่งแต่งว่าด้วยเรื่องที่ฝรั่งเศสเปนไมตรีกับไทยในครั้งพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เก็บเนื้อเรื่องมาเรียบเรียงแต่งเปนพงศาวดารขึ้น ให้ความรู้การครั้งนั้นเปนอย่างดีที่จะพึงได้จากฝรั่งเศส เรื่องราวที่ชาวเรายังไม่เคยทราบปรากฎอยู่ในหนังสือเรื่องนี้เปนอันมาก เชื่อได้แน่ว่าถ้าใครเอาใจใส่ในเรื่องโบราณคดี คงยินดีที่จะได้รับหนังสือเรื่องนี้ไปอ่านไม่เว้นตัว อิกประการ ๑ หนังสือเรื่องนี้ ผู้แปลเปนหลานและเปนบุตรเขยของพระยาเพ็ชรพิไชย นับว่าเปนหนังสือซึ่งมีขึ้นในภาษาไทยด้วยความอุสาหะของสมาชิกอมาตยกุล และที่สุดพระยาเพ็ชรพิไชยเองก็เปนผู้ชอบเรื่องโบราณคดี เมื่อยังมีชีพอยู่ข้าพเจ้าได้เคยถามเรื่องยาวเก่าก่อนที่ยังไม่ทราบเนือง ๆ ถ้าสามารถทราบได้ว่าพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ก็เห็นจะพอใจ ด้วยเหตุทั้งปวงดังกล่าวมา ข้าพเจ้าจึงชวนให้พระยาปฎิภาณพิเศษรับพิมพ์หนังสือพงศาวดารเรื่องฝรั่งเศสเปนไมตรีกับไทยครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ แจกในงานศพบิดา พระยาปฏิภาณฯ ก็เห็นชอบด้วย จึงได้พิมพ์สมุดเล่มนี้ขึ้น

ในส่วนการพิมพ์ข้าพเจ้าได้จัดหนังสือเรื่องนี้เข้าในประชุมพงศาวดารฉบับเปนภาคที่ ๒๗ เพื่อให้สดวกแก่ผู้ศึกษาโบราณคดีที่ประสงค์จะรวบรวมเรื่องพงศาวดารต่างๆ จะได้เอาเข้าลำดับกับหนังสือพงศาวดารเรื่องอื่นๆ ซึ่งหอพระสมุดฯ ได้พิมพ์มาแล้ว นึกเสียดายอยู่หน่อยที่ข้าพเจ้าไม่ได้เวลาตรวจต้นฉบับหนังสือเรื่องนี้เมื่อก่อนพิมพ์ มาอ่านตรวจต่อเมื่อพิมพ์แล้ว เห็นมีถ้อยคำที่ควรจะแก้ไขและขาดคำบอกอธิบายอยู่อิกบ้าง หวังใจว่าถ้ามีโอกาสพิมพ์หนังสือเรื่องนี้อิก จะตรวจแก้ไขให้เรียบร้อยยิ่งขึ้น ในฉบับพิมพ์ครั้งแรกนี้ ข้าพเจ้าเปนแต่แต่งคำอธิบายเรื่องพงศาวดารชี้แจงเหตุที่ไทยจะเปนไมตรีกับฝรั่งเศสเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พิมพ์ไว้ข้างน่าเรื่องพงศาวดารของมองซิเออรลันเยด้วยตอนหนึ่ง เพื่อจะให้ผู้อ่านทราบเหตุการณ์ข้างฝ่ายไทยเสียก่อน แต่ขอตักเตือนไว้ในที่นี้ว่าหนังสือซึ่งมองซิเออรลันเยแต่งนั้น ตรวจเก็บเรื่องมาจากจดหมายเหตุและหนังสือซึ่งคนฝรั่งเศสได้แต่งไว้แต่โบราณ ความคิดความเห็นที่กล่าวในหนังสือย่อมเปนความคิดเห็นของฝรั่งเศสทั้งนั้น มีความเห็นหลายอย่างที่ไทยเราจะเห็นด้วยไม่ได้ แต่ต้องเห็นอกเขาอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยหนังสือเก่าซึ่งมองซิเออรลันเยได้อาศรัยเก็บความมานั้นมักกล่าวความแตกต่างกัน มองซิเออรลันเยต้องเลือกเชื่อตามอัตโนมัติ เพราะเกิดไม่ทันรู้เหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยตนเอง แต่ข้อที่เขาสรุปลงเปนใจความว่าที่ฝรั่งเศสมาเสียการครั้งนั้น เพราะพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ไม่ทรงทราบความที่เปนจริงอยู่ในเมืองไทยอย่างไร ไม่รู้กำลังและความคิดของไทย หลงเชื่อพวกบาดหลวงว่าสมเด็จพระนารายณ์ ฯ จะเข้ารีดทรงถือศาสนาคฤศตัง และเสียการเพราะพวกฝรั่งเศสมาเกิดแตกร้าวกันขึ้นเองเปนที่สุดดังนี้เห็นว่าถูกต้อง แม้ส่วนความคิดเห็นจะเปนอย่างไรก็ตาม แต่รับรองได้ว่ารายการที่ปรากฎในหนังสือพงศาวดารที่มองซิเออรลันเยแต่งนี้จะเปนประโยชน์แก่การศึกษาโบราณคดีได้มากทีเดียว

เมื่อได้กล่าวถึงเรื่องหนังสือซึ่งพิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๗ เสร็จแล้ว ทีนี้จะกล่าวถึงเรื่องประวัติพระยาเพ็ชรพิไชยฯ ต่อไป

ประวัติพระยาเพ็ชรพิไชย

มหาเสวกโท พระยาเพ็ชรพิไชย อธิปไตยพาหิรเขตร ราชนิเวศน์สมันตารักษ์ วิบูลยศักดิอรรคมนตรี พิริยพาหะ (เจิม อมาตยกุล) ป ม, ท จ ว, ต ช, รัตน จ ป ร๓, ม ป ร๔, ร ร, รัฐมนตรี องคมนตรี เกิดในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันอังคาร เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ ปีมแมนพศก พ.ศ. ๒๓๙๐ เปนบุตรนายโหมด อมาตยกุล ฝ่ายมารดาเป็นสกุลไกรฤกษ์ ลำดับสกุลทั้ง ๒ ฝ่ายมีอยู่ในหนังสือ "ลำดับสกุลเก่าบางสกุล" ซึ่งพิมพ์เปนภาคที่ ๒ นั้นโดยพิสดาร

พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) ผู้ต้นนามสกุลอมาตยกุลนั้น มีความชอบเมื่อเปนที่พระสุริยภักดีในรัชกาลที่ ๓ คิดอุบายเดินฝ่ากองทัพหลวงของเจ้าอนุเวียงจันท์ที่เปนขบถลงมาแจ้งข้อราชการถึงกรุงเทพ ฯ ได้ แล้วได้เข้ากองทัพไปทำการสงครามครั้งนั้น ได้เลื่อนยศบันดาศักดิต่อมาโดยลำดับจนถึงเปนที่พระยามหาอำมาตย์ แล้วจึ่งถึงอนิจกรรม

นายโหมด อมาตยกุล บิดาของพระยาเพ็ชรพิไชยเปนบุตรพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ ประจวบสมัยเมื่อพวกมิชชันนารีอเมริกันเริ่มเข้ามาตั้งในประเทศนี้ รับสอนภาษาและวิชาของฝรั่งให้แก่ไทยเปนทีแรกในชั้นกรุงรัตนโกสินทร มีเรื่องราวปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุของพวกมิชชันนารีอเมริกันซึ่งหมอบรัดเลได้พิมพ์ไว้ในหนังสือบางกอกคาแลนดา ว่าในสมัยนั้นมีไทย ๕ คนที่เรียนวิชาความรู้ของฝรั่งจากพวกอเมริกันได้เปนอย่างเยี่ยมยอด คือ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชอยู่ ทรงศึกษาทางวิชาภาษาพระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาทางวิชาทหารพระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงศึกษาวิชาแพทย์พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ตั้งแต่ยังเปนหลวงนายสิทธิ์ ศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นองค์ ๑ นายโหมด อมาตยกุล ศึกษาวิชาช่างกล คน ๑ หมอบรัดเลกล่าวว่านายโหมด อมาตยกุล มีความสามารถถึงคิดทำเครื่องมือกลึงเกลียวได้เอง ซึ่งพวกอเมริกันเห็นว่าเปนอัศจรรย์ ความอันนี้ก็สมกับเรื่องที่ปรากฎต่อมาในรัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรด ฯ ให้สั่งเครื่องจักรเข้ามาตั้งโรงกระสาปน์ทำเงินเหรียญตราเปนทีแรกนั้น เผอิญช่างกลฝรั่งที่เข้ามาคุมเครื่องจักรมาตกน้ำตาย การคุมเครื่องจักรโรงกระสาปน์ก็เกิดขัดข้อง นายโหมด อมาตยกุล เข้ารับอาสาคุมเครื่องจักรสำเร็จได้โดยลำภัง ไทยก็มีเชื่อเสียงในครั้งนั้น โปรด ฯ ให้บัญชาการโรงกะสาปน์เปนเดินมา เพราะเรื่องประวัติในสกุลเกี่ยวเนื่องด้วยการช่างกลดังกล่าวมา นายโหมด อมาตยกุล จึงให้บุตรของตนศึกษาวิชาช่างกล และวิชาแยกธาตุอันเนื่องในการโรงกระสาปน์ รู้มากบ้างน้อยบ้างทุกคน เปนเรื่องเนื่องมาถึงประวัติของพระยาเพ็ชรพิไชย ฯ ซึ่งบุตรจดหัวข้อส่งมาให้ดังนี้.

"ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ เมื่อเดือน ๑๒ ปีระกาตรีศก พระพุทธศักราช ๒๔๐๔ โปรดเกล้าฯ ให้ไปช่วยบิดาทำงานที่โรงกระสาปน์

ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้เปนหลวงวิจารณ์จักรกิจ ปลัดกรมกระสาปน์สิทธิการ เมื่อณวันอาทิตย์เดือน ๘ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมเสง พ.ศ. ๒๔๑๒

ใน พ.ศ. ๒๔๑๓ ได้รับพระราชทานเหรียญบุษปมาลา

ครั้นณวันพฤหัศบดี เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีมเมียโทศก พ.ศ. ๒๔๑๓ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ เมืองปัตเวีย เมืองสมารัง ในเกาะชวา โดยเรือรบพระที่นั่งพิทยัมรณยุทธ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตามเสด็จในเรือพระที่นั่ง เปนสุปรินเต็นเด็นอินเยเนีย (ผู้กำกับตรวจเครื่องจักร) ไปในชุด (คือผู้ที่มีตำแหน่งประจำพระองค์ในกระบวนเสด็จ) ได้รับพระราชทานเครื่องยศเสื้อปักและกระบี่

ครั้นณวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมแมตรีศก พ.ศ. ๒๔๑๔ เสด็จพระราชดำเนินเมืองสิงคโปร์ เมืองปีนัง เมืองมลากา เมืองมรเมน เมืองร่างกุ้ง เมืองกาลกัตตา เมืองอาครา เมืองลักเนา เมืองเบนารีศ เมืองบอมเบ ในประเทศอินเดีย โดยเรือพระที่นั่งชื่อบางกอก ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตามเสด็จไปในเรือพระที่นั่ง มียศเปนเตรเชอเรอเยเนราล สำหรับจ่ายเงินในการเสด็จพระราชดำเนิน และได้พระราชทานเสื้อยศ กระบี่ หมวกยอดพระเกี้ยว ในตำแหน่งยศข้าราชการคลังเงิน

ครั้นณวันพฤหัศบดี เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ ปีระกาเบญจศก พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้รับพระราชทานตราภัทราภรณ์ (มงกุฎสยามชั้นที่ ๔)

ครั้นณวันอาทิตย์ เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอฉอศก พ.ศ. ๒๔๑๗ โปรดเกล้า ฯ ให้เปนปรีวีเคาซิลและเพิ่มศักดินาขึ้นอิก ๑๐๐๐ ในปีจอนี้เองได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินเปนบำเหน็จความชอบ ๔๐ ชั่ง

ณวันศุกร เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ ปีจอฉอศก พ.ศ. ๒๔๑๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเปนเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็กเวรเดช

ณปีกุนสัปตศก พ.ศ. ๒๔๑๘ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโรงกระสาปน์และตั้งเครื่องจักรขึ้นใหม่ที่ข้างประตูสุวรรณบริบาลในพระบรมมหาราชวัง

ณวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีกุนสัปตศก พ.ศ. ๒๔๑๘ ได้พระราชทานสวนหลวง เดิมเรียกว่าสวนกาแฟและสวนท้าวเทพากร ด้านใต้จดหลังโรงเรือคลองบางกอกน้อย ด้านเหนือบางยี่ขันขึ้นไปทางปลายสวนจดสวนอำแดงน้อยยาว ๒๔ เส้น ๙ วา ด้านตวันออกจดคลองขนมจีน ด้านตวันตกจดคลองคราม กว้าง ๕ เส้น ๕ วา ได้พระราชทานให้เปนสิทธิ์ขาด

ครั้นปีชวดอัฐศก พ.ศ. ๒๔๑๙ เปิดโรงกระสาปน์สิทธิการ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำเงินเหรียญบาท เหรียญสลึง เหรียญเฟื้อง ตราพระบรมรูปและตราแผ่นดิน

ณวันเดือน ๙ ปีฉลูนพศก พ.ศ. ๒๔๒๐ โปรดเกล้า ฯ ให้เปนข้าหลวงพิเศษออกไปว่ากล่าวกับเกาวนาเยเนราลเมืองปัตเวีย ด้วยเรื่องมิศเตอรวันเบอรเคน กงสุลฮอลันดาในกรุงเทพฯ ได้ริบทรัพย์สมบัติของจีนหัวในบังคับสยาม

ครั้นมาภายหลังใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้รับพระราชทานเหรียญรัชฎาภิเษก พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รับพระราชทานเหรียญประพาศมาลา

ณวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ โปรดเกล้า ฯ ให้เปนพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน เจ้ากรมพระราชอุทยานสราญรมย์

วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้รับพระราชทานตรามัณฑนาภรณ์ (มงกุฏสยามชั้นที่ ๓)

วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๓ โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนเปนพระยาบำเรอภักดิ์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงวัง

ครั้นวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๒ โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เปนรัฐมนตรี

วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ โปรดเกล้า ฯ ให้เปนองคมนตรี เพิ่มศักดินา ๑๐๐๐ ในปีนั้นเองได้รับพระราชทานเข็มอักษรพระนาม จ ป ร ประดับเพ็ชร

วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานพานหมาก คนโท กระโถน ทองคำ และตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และโปรดเกล้า ฯ พระราชทานตราตติยจุลจอมเกล้าฝ่ายในแก่ถนอมภรรยาด้วย

วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ในรัชกาลที่ ๕ ชั้น ๓

วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้รับพระราชทานตรานิภาภรณ์ (ช้างเผือกชั้นที่ ๓)

วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้รับพระราชทานเหรียญทวิธาภิเษกทอง

วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๔ และได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิทองด้วย

วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับพระราชทานตรามงกุฏสยามชั้นที่ ๒

วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้รับพระราชทานตรามงกุฏสยามชั้นที่ ๑

พ.ศ. ๒๔๔๙ โปรดเกล้า ฯ ให้เปนพระยายืนชิงช้า

พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้รับพระราชทานเหรียญรัชมังคลทอง

พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้รับพระราชทานเหรียญรัชมงคลาภิเษกทอง

พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้รับพระราชทานเข็มครุฑทอง

ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดเกล้า ฯ ให้เปนพระยาเพ็ชรพิไชย ฯ ออกรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ

พระยาเพ็ชพิไชยได้ทำการวิวาหมงคลกับ นางสาวถนอม อมาตยกุล ธิดาพระยาธรรมสารนิติ (ตาษ) ผู้เปนอาว์ เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๘ มีบุตรด้วยคุณหญิงถนอมเปนชาย ๔ หญิง ๓ ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเยาว์บ้างอยู่บ้าง ยังคงเหลืออยู่ ๓ คน คือพระยาภูบาลบรรเทิง (ประยูร) ๑ เยาวเรศ ๑ พระยาปฏิภาณพิเศษ (อาเลกซานเดอร) ๑ มีบุตรธิดาด้วยภรรยาอื่น คือ พระยาเจริญราชไมตรี (จำนง) ๑ พระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ) ๑ ขุนรักษระเบียบกิจ (อ้วน) ๑ หลวงจันทรามาตย์ (บุญรอด) ๑ นายร้อยโทอั้น ๑ นายสมจิตร ๑ และธิดาคือ สมบุญ ๑ เอม ๑ แจ่ม ๑ นพคุณ ๑ สงบ ๑"

พระยาเพ็ชพิไชยป่วยเปนโรคชรา ถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ เวลา ๑๑ นาฬิกาก่อนเที่ยง คำณวนอายุได้ ๗๕ ปีกับ ๒ เดือน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโกษฐประดับศพเปนเกียรติยศ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ปลงศพณเมรุในที่สุสานวัดเทพศิรินทร์ด้วย สิ้นเนื้อความในเรื่องประวัติของพระยาเพ็ชร์พิไชย (เจิม อมาตยกุล) เพียงนี้.

กรรมการหอพระสมุด ฯ ขออนุโมทนากุศลบุญราษีทักษิณานุปทาน ซึ่งคุณหญิงถนอมพร้อมด้วยบุตรธิดาได้บำเพญ สนองคุณพระยาเพ็ชรพิไชย ด้วยความกตัญญูกตเวที และได้พิมพ์หนังสือ เรื่องนี้ให้แพร่หลาย


ดำรงราชานุภาพ
สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๕