คำพิพากษาศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขแดงที่ ๑๖๑๒/๒๕๕๓


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


คำพิพากษา
 


เรื่อง ละเมิด

ตราครุฑ
ตราครุฑ
คดีหมายเลขดำที่ ๑๔๕๕/๒๕๕๓
คดีหมายเลขแดงที่ ๑๖๑๒/๒๕๕๓
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลแพ่ง
 
มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของผู้ชุมนุม โดย นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์
ระหว่าง
นายกรัฐมนตรี ที่ ๑ จำเลย
ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ ๒
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ ๓
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ ๔
กระทรวงการคลัง ที่ ๕



โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเว็บไซต์ข่าว ประชาไท มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการจัดทำเว็บไซต์วารสารข่าวสารและสาระบันเทิงสำหรับประชาชนทั่ว ๆ ไป เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง และได้ประกาศจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (จำเลยที่ ๒) ต่อมา จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ ๓) สั่งปิดกั้นเว็บไซต์ของโจทก์ จำเลยที่ ๓ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ ๔) จึงดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ของโจทก์ ภายใต้การควบคุมกำกับของจำเลยที่ ๑ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของโจทก์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔๕ ขอให้ศาลมีคำสั่ง

๑. เพิกถอนคำสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซต์ ของผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามหนังสือที่ กห. ๐๔๐๗.๔๕/๑

๒. ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ เปิดการเข้าถึงเว็บไซต์ข่าว ประชาไท และหยุดการกระทำใด ๆ อันเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าว

๓. ให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ร่วมกัน หรือแทนกัน ชดใช้ค่าเสียหายแก่สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ให้โจทก์ เป็นเงินสามแสนห้าหมื่นบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดจุดห้าต่อปีนับตั้งแต่วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นต้นไป และให้ชดใช้ค่าเสียหายรายวัน วันละสองหมื่นบาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าหยุดการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มีเจตนารมณ์ที่จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขตท้องที่ได้ ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ ซึ่งตามมาตรา ๔ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ความหมายของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบ หรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อย หรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแก่นายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ ๑) ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ ย่อมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ ๑/๒๕๕๓ ให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ ๒) เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๗ วรรคสาม, วรรคห้า และวรรคหก, มาตรา ๘, มาตรา ๙, มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว กับมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ ๒/๒๕๕๓ ให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จำเลยที่ ๒ ย่อมมีอำนาจตามความในมาตรา ๙ (๒), (๓) แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ที่จะใช้มาตรการอันจำเป็น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๔๕ วรรคสี่ ที่ว่า การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ฯลฯ แต่ก็ได้ให้อำนาจแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตามพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ตามมาตรา ๔๕ วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่อยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ส่วนจำเลยที่ ๓ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก่จำเลยที่ ๑ ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งหรือหลายกระทรวง เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน ย่อมโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ ๑) เป็นการชั่วคราว ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว จำเลยที่ ๓ จึงเป็นเพียงผู้ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ในการปิดกั้นเว็บไซต์ของโจทก์ โดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ ๒ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ให้อำนาจไว้ตามประกาศมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๗ ลงวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ การกระทำของจำเลยที่ ๓ จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้

พิพากษา ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ



ณัชชา น้อยเชื้อเวียง


ชัยวัฒน์ ธนวัฒนตระกูล



ดูเพิ่ม

แก้ไข



ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"