ความเห็นส่วนตน
ของนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ ๒๐/๒๕๖๔
เรื่องพิจารณาที่ ๓๐/๒๕๖๓
 
วันที่ ๑๗ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้ร้อง
ระหว่าง
ผู้ถูกร้อง

ประเด็นวินิจฉัย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่

ความเห็น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัวมีพัฒนาการมาจากกฎหมายลักษณะผัวเมีย พุทธศักราช ๑๙๐๔ ในสมัยรัชกาลพระมหาธรรมราชา ที่ ๑ สมัยกรุงศรีอยุธยา กฎหมายลักษณะผัวเมียดังกล่าวมีสาระสำคัญประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๒ ประการ คือ การแสดงออกโดยเปิดเผยว่าเป็นผัวเมียกัน หมายถึง การที่ชายหญิงอยู่กินกันและความสามารถที่จะเป็นผัวเมียกัน หมายถึง บุคคลที่จะเป็นผัวเมียกันย่อมเป็นบุคคลธรรมดาและมีความสามารถเพียงพอรวมถึงการมีวุฒิภาวะ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พุทธศักราช ๒๔๗๗ บรรพ ๕ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๔, ๒๔๘๖, ๒๕๑๙ และ ๒๕๓๓ เมื่อวิเคราะห์เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ บรรพ ๕ พบว่ากฎหมายยอมรับสิทธิการจัดตั้งครอบครัวเฉพาะชายและหญิงเท่านั้นเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์และความสมบูรณ์ของสถาบันครอบครัวของความเป็นบิดา มารดาและบุตรที่เกิดจากการร่วมประเวณีของชายและหญิง โดยคู่รักเพศเดียวกันไม่มีสิทธิที่จะได้รับการรับรองและคุ้มครองการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแต่อย่างใด

สำหรับการรับรองและคุ้มครองการแต่งงานเพศเดียวกันในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันที่ชอบด้วยกฎหมายมี ๒ รูปแบบ กล่าวคือ รูปแบบแรก โดยคำพิพากษาของศาล เช่น คำพิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้น และรูปแบบที่สองแบ่งออกเป็น ๒ กรณีคือ กรณีแรก โดยบัญญัติกฎหมายเฉพาะขึ้นมาใหม่ เช่น ประเทศอังกฤษและประเทศแคนาดา เป็นต้นและกรณีที่สอง โดยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศเบลเยียม เป็นต้น

สาระสำคัญของร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

๑. ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ....

๑.๑ หลักการและเหตุผล

โดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส สมควรมีกฎหมายรองรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดังกล่าว โดยมีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับการจดทะเบียนคู่ชีวิตและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรม และมรดก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

๑.๒ บทนิยาม (ร่างมาตรา ๓)

“คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดและได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้

“ศาล” หมายความว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว

๑.๓ การจดทะเบียนคู่ชีวิต

๑.๓.๑ สัญญาจะจดทะเบียนคู่ชีวิต (ร่างมาตรา ๖)

สัญญาที่มีข้อตกลงกันว่าจะจดทะเบียนคู่ชีวิตไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้จดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ทั้งนี้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาดังกล่าว ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

๑.๓.๒ เงื่อนไขของการจดทะเบียนคู่ขีวิต (ร่างมาตรา ๗ ร่างมาตรา ๘ และ มาตรา ๑๑)

๑) อายุ การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทําได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์

๒) สัญชาติ การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทําได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

๓) ความยินยอม การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทําได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง ๒ ฝ่าย ยินยอมเป็นคู่ชีวิตกันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย

๑.๔ สถานะจดทะเบียนคู่ชีวิต (ร่างมาตรา ๑๔)

เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้องในการบันทึกสถานะการจดทะเบียนคู่ชีวิตและการสมรสของบุคคล ให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัวและข้อมูลทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ สถานะการจดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือเป็นข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

๒. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

๒.๑ หลักการและเหตุผล

โดยที่กฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิตได้กําหนดให้บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกําเนิดสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ โดยมีสิทธิและหน้าที่ในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวในลักษณะทํานองเดียวกันกับคู่สมรส สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิต จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

๒.๒ สาระสําคัญมีการแก้ไขเพิ่มเติม จํานวน ๓ มาตรา คือ

๒.๒.๑ กําหนดให้ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสหรือคู่ชีวิตอยู่ไม่ได้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๔๕๒)

๒.๒.๒ เพิ่มเหตุฟ้องหย่าในกรณีที่สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต หรือกระทํากับผู้อื่นหรือยอมรับการกระทําของผู้อื่นเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นเป็นอาจิณ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๕๑๖ (๑))

๒.๒.๓ เพิ่มเหตุที่ทําให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพหมดไปในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพจดทะเบียนคู่ชีวิต (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๕๒๘)

สําหรับประเทศไทยคณะรัฐมนตรีเห็นความสําคัญของสถาบันครอบครัวที่อยู่ร่วมกันของบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกําเนิค โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์อื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสเช่นเดียวกับบางประเทศในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ซึ่งประกอบด้วย ๔ หมวด จํานวน ๔๖ มาตรา กล่าวคือ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยการจดทะเบียนคู่ชีวิต หมวดที่ ๒ ว่าด้วยการเป็นคู่ชีวิต หมวดที่ ๓ ว่าด้วยบุตรบุญธรรม และหมวดที่ ๔ ว่าด้วยมรดก และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จํานวน ๓ มาตรา คือ มาตรา ๑๔๕๒ มาตรา ๑๕๑๖ (๑) และมาตรา ๑๕๒๘ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๓ และรับทราบสรุปผลของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๓ แล้วตามหนังสือสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร ๐๕๐๓/๔๐๙๕๕ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๓ แต่ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวยังไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่อย่างใด เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีเพียงแต่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยพรรคการเมืองเท่านั้นที่ได้เสนอมายังสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วแต่ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ ๑ ของสภาผู้แทนราษฎร

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว” มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ บัญญัติว่า “การสมรสจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทําการสมรสก่อนนั้นได้” มีเจตนารมณ์บัญญัติเงื่อนไขการสมรสประกอบด้วย เพศของคู่สมรสและอายุของคู่สมรส กรณีเพศของคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ยอมรับสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวเฉพาะเพศชายและหญิงเท่านั้น ส่วนอายุของคู่สมรสได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมจากเดิม มาตรา ๑๔๔๕ (๑) ที่บัญญัติว่า “ชายมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ และหญิงมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว” สิทธิในการจัดตั้งครอบครัวดังกล่าวนอกจากเป็นเงื่อนไขของคู่สมรสเฉพาะชายและหญิงเท่านั้นแล้ว ยังเป็นเงื่อนไขของการหมั้น ซึ่งเป็นสัญญาก่อนที่จะมีการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๕ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “การหมั้นจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว” ดังนั้น สถาบันครอบครัวจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นรากฐานสําคัญของการพัฒนาประเทศที่ต้องคํานึงถึงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เช่น เพศของบุคคล อายุของบุคคล ความสามารถและยินยอมของบุคคลและความสัมพันธ์ระหว่างบิดา มารดา และบุตร เป็นต้น

หลักความเสมอภาคตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอันเป็นสาระสําคัญของบุคคลกล่าวคือ บุคคลที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญเหมือนกัน ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน ขณะเดียวกันบุคคลที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญแตกต่างกัน ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน นอกจากนั้น หลักความเสมอภาคของสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวเกี่ยวกับเพศของคู่สมรสสามารถดําเนินการได้ โดยบัญญัติกฎหมายเฉพาะขึ้นมาใหม่เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนถึงกฎหมายหลักที่ได้ วางรากฐานความเป็นสถาบันครอบครัวมาตั้งแต่อดีตกาล การจดทะเบียนคู่ชีวิตถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการยอมรับบุคคลเพศเตียวกันที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ตามร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ที่อยู่ในระหว่างกระบวนการเสนอร่างกฎหมายของฝ่ายบริหารในขณะนี้และขณะเดียวกันจําเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘ บางมาตราเพื่อให้สอดคล้องกับ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ที่จะมีขึ้นในอนาคต ส่วนหลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่เกิดจากผลการประชุมของผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและนักนิติศาสตร์ระหว่างประเทศเมื่อวันที่ ๖ - ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ณ เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย นั้น ได้ให้ความสําคัญดังปรากฏในหลักการข้อ ๒๔ ว่าด้วยสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวแต่ยังคงมีสถานะเป็นเพียงบันทึกความเข้าใจร่วมกันของผู้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว

ดังนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ที่กําหนดให้การสมรสทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์จึงเป็นบทบัญญัติที่ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ นอกจากนี้ บทบัญญัติของมาตรา ๑๔๔๘ เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิในการสมรสทั้งเพศชายและเพศหญิง ไม่ได้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศแต่อย่างใด จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม แต่อย่างไรก็ดี ฝ่ายบริหารต้องเร่งรัดกระบวนการเสนอร่างกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งมีความล่าช้าในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและฝ่ายนิติบัญญัติต้องให้ความสําคัญกระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อรับรองและคุ้มครองการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันของบุคคลเพศเดียวกันในอนาคต

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม

ปัญญา อุดชาชน
(นายปัญญา อุดชาชน)
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ