คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564/วรวิทย์ กังศศิเทียม

ความเห็นส่วนตน
ของนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ ๒๐/๒๕๖๔
เรื่องพิจารณาที่ ๓๐/๒๕๖๓
 
วันที่ ๑๗ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้ร้อง
ระหว่าง
ผู้ถูกร้อง

ประเด็นวินิจฉัย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่

ความเห็น

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ และมาตรา ๕ เป็นบทบัญญัติในหมวด ๑ บททั่วไป โดยมาตรา ๔ เป็นบทบัญญัติที่วางหลักการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล และมาตรา ๕ เป็นบทบัญญัติที่วางหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ หากบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ซึ่งบทบัญญัติทั้งสองหาได้มีข้อความใดที่วางหลักการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพไว้เป็นการเฉพาะ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในส่วนนี้

ประเด็นพิจารณาต่อไปมีว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสามหรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น” วรรคสอง บัญญัติว่า “สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” วรรคสาม บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญสามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้” และวรรคสี่ บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ” มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย” และวรรคสอง บัญญัติว่า “กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายเท่าเทียมกัน” วรรคสอง บัญญัติว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” วรรคสาม บัญญัติว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้” วรรคสี่ บัญญัติว่า “มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม” และวรรคห้า บัญญัติว่า “บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม”

การจัดทำและรวบรวมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีแนวคิดมาจากกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้อยู่ช่วงเวลานั้นกระจัดกระจายหลายแห่ง จึงเห็นสมควรจะนำมารวบรวมไว้แห่งเดียวกันและจัดเข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สมแก่กาลสมัยความเจริญ พาณิชยกรรมแห่งบ้านเมือง และทัดเทียมกับนานาประเทศ ในชั้นการยกร่าง คณะกรรมการร่างกฎหมายอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของต่างประเทศมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยนึกถึงความมั่นคง วัฒนธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการร่างบรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว แม้จะยกร่างโดยอาศัยต้นแบบแนวทางของต่างประเทศ แต่เนื่องจากครอบครัวชนชาวตะวันตกกับครอบครัวชนชาวไทยมีวิถีชีวิตที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน บทบัญญัติในส่วนนี้จึงยังคงลักษณะของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย

สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ บัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้ ๒ ประการ คือ การสมรสให้กระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการสมรสระหว่าง “ชายและหญิง” และต้องมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ โดยความหมายของการสมรสหมายถึง การที่ชายและหญิงตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความสมัครใจ มีความสัมพันธ์อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์จึงสงวนไว้เฉพาะชายและหญิงโดยกำเนิด มีความผูกพันช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ภายใต้ศีลธรรม จารีตประเพณี หลักศาสนาและกฎหมายของแต่ละสังคม และเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญ แต่ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิในการสมรสและก่อตั้งครอบครัวมิได้จำกัดเฉพาะเพียงชายกับหญิงตามเพศที่กำเนิดเท่านั้น บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือบุคคลที่เกิดมามีภาวะทางร่างกายหรือจิตใจไม่ตรงกับเพศที่มีมาตั้งแต่กำเนิด เช่น คนที่ชอบเพศตรงข้าม คนที่ชอบเพศเดียวกัน คนที่ชอบทั้งสองเพศ เป็นต้น การที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอ้างว่าตนมีเสรีภาพในการที่จะอยู่กินกับบุคคลใดก็ได้ต้องสามารถจดทะเบียนสมรสได้นั้น เป็นเพียงความรู้สึกและความพึงพอใจทางเพศ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความรักได้ แต่การแสดงออกซึ่งความรักจะต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ประเทศไทยที่ปัจจุบันกำหนดให้ผู้ที่จะขอจดทะเบียนสมรสกันได้ต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น และการเป็นชายหรือหญิงต้องถือเอาตามเพศที่มีมาแต่กำเนิด การที่ประเทศไทยยังมิได้มีการบัญญัติกฎหมายหรือแก้กฎหมายเพื่อรับรองสิทธิในการสมรสของบุคคลดังกล่าว สืบเนื่องจากวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีศีลธรรมอันดีของประชาชน ถึงแม้สิทธิในการสมรสถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอันมีรากฐานจากหลักสิทธิมนุษยชนหลักกฎหมายธรรมชาติ และหลักสิทธิธรรมชาติ และมีการบัญญัติรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights : UDHR) ข้อ ๒ และข้อ ๑๖ และหลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakarta Principles) ข้อ ๒๔ ว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการสร้างครอบครัวโดยไม่ขึ้นกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ครอบครัวมีหลายรูปแบบห้ามมิให้ครอบครัวใดตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติจากสาเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศของสมาชิกคนหนึ่งคนใดในครอบครัว เป็นผลให้ประเทศกลุ่มหนึ่งให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันโดยการจดทะเบียนสมรส ในช่วงแรกประเทศกลุ่มนี้จะตรากฎหมายเฉพาะรับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตก่อนและพัฒนาจนถึงการรับรองให้มีการจดทะเบียนสมรสบุคคลเพศเดียวกัน โดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมที่มีอยู่ ประเทศกลุ่มหนึ่งรับรองให้มีการจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนความสัมพันธ์ของบุคคลเพศเดียวกัน โดยการตราเป็นกฎหมายเฉพาะ รวมทั้งยังมีประเทศอีกกลุ่มหนึ่งที่มีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลเป็นบ่อเกิดในการรับรองให้มีการจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนความสัมพันธ์ของบุคคลเพศเดียวกัน เห็นได้ว่า รูปแบบการยอมรับหรือรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันในแต่ละประเทศมีวิวัฒนาการที่หลากหลาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของวัฒนธรรม ศาสนา กฎหมาย และบริบททางสังคมของแต่ละประเทศ

ในส่วนของประเทศไทย แม้บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ กำหนดเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้เฉพาะ “ซายและหญิง” แต่มิได้หมายความว่า กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหรือคู่รักเพศเดียวกันจะถูกละเลยจากการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย เห็นได้จากมีการตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อคุ้มครองและป้องกันสิทธิให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศขึ้นมาใช้บังคับ และขณะนี้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ที่แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเจตนารมณ์ของการเสนอร่างกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวและรับรองความสัมพันธ์การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการจดทะเบียนคู่ชีวิตการเลิก การเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรม และมรดกอันสอดคล้องบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง และหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและให้ความคุ้มครองไว้ ทั้งยังเป็นรูปแบบเช่นเดียวกับที่ประเทศส่วนหนึ่งนำมาใช้ในการรับรองและคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันด้วย

ข้อโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสองที่ว่า เงื่อนไขของการสมรสที่กำหนดให้กระทำได้ระหว่างชายและหญิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ จากกฎหมายในการอยู่ร่วมกันเหมือนกับคู่สมรสต่างเพศ และต้องประสบปัญหาจากการไม่มีกฎหมายรับรองสถานภาพคู่ชีวิต ทั้งยังต้องสูญเสียสิทธิตามกฎหมาย หรือไม่อาจเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายครอบครัวที่สำคัญบางประการ เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเงื่อนไขการสมรสโดยให้กระทำได้ เมื่อชายและหญิงมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ การบัญญัติเงื่อนไขในเรื่องการสมรสไว้เฉพาะ “ชายและหญิง” เช่นนั้นเพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ชอบด้วยกฎหมายโดยอยู่บนพื้นฐานของวิถีชีวิต จารีตประเพณีและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของสังคมไทยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ มีข้อจำกัดในทางกฎหมายให้คู่สมรสต้องเป็นเพศตรงข้าม เป็นบทบัญญัติที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ได้จำกัดเสรีภาพของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในการอยู่ร่วมกัน และไม่ได้มีข้อความไปจำกัดสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในการทำนิติกรรมใด ๆ ตามกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ ที่ให้ความคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลว่าต้องไม่กระทบกระเทือนความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ ได้บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยกำหนดให้บุคคลย่อมเสมอกันตามกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตภายใต้หลักความเสมอภาคของรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เคารพกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งจารีตประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมของรัฐ ซึ่งในเรื่องการสมรสตามจารีตประเพณี วิถีสังคมไทยตลอดจนแนวทางปฏิบัติและการตีความกฎหมายของประเทศไทยมีความเชื่อถือสืบต่อกันมาว่าการสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชายและหญิง การที่ผู้ร้องทั้งสองโต้แย้งว่าการสมรสของบุคคลเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๔๘ กำหนดให้การสมรสกระทำได้ระหว่างชายและหญิงเท่านั้น ย่อมเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการสมรสเป็นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลที่บุคคลพึงมีสิทธิเลือกที่จะกำหนดสถานะตนเองไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างสิทธิของบุคคลในการเลือกสมรส (the right to personal choice regarding marriage) เพื่อจะใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนสิทธิในการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันได้แล้วต่อไปในภายภาคหน้าก็จะมีบุคคลร้องอ้างสิทธิในการสมรสกับคู่ครองหลายคนได้ รวมทั้งอ้างสิทธิหรือเสรีภาพในการสมรสโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขในเรื่องอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์อีกด้วย นอกจากนี้ หากมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๘ ในเงื่อนไขแห่งการสมรส ย่อมส่งผลกระทบให้ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติของกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งมีถ้อยคำบ่งบอกถึงเพศตามกำเนิด เช่น “ชาย หญิง” และ “สามี ภริยา” ที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลรัษฎากร เป็นต้น เมื่อปรากฏว่า ปัจจุบันมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวและความสัมพันธ์การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกัน อันเป็นการคำนึงถึงบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงแล้ว การกำหนดถึงสถานภาพคู่ชีวิตสิทธิในทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต สิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิอื่น ที่ผู้ร้องประสงค์ให้รัฐคุ้มครองเป็นหน้าที่และอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาในรายละเอียด เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับระบบกฎหมาย มิให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

ดังนั้น บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ที่กำหนดเงื่อนไขการสมรสโดยให้กระทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจงตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ ทั้งยังคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของชายและหญิงตามกฎหมายเท่าเทียมกันไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม แต่อย่างใด

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสองบและวรรคสาม

วรวิทย์ กังศศิเทียม
(นายวรวิทย์ กังศศิเทียม)
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

บรรณานุกรม แก้ไข

  • สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. (2564, 2 ธันวาคม). ความเห็นส่วนตนของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 20/2564 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เรื่อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2564 จาก https://www.constitutionalcourt.or.th/download/pall20-2564.pdf