คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 14/2562/ส่วนที่ 4
- ความเห็นส่วนตน
- ของนายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นวินิจฉัย
สมาชิกภาพของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) หรือไม่ และนับแต่เมื่อใด
ความเห็น
เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๐ บัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง และมาตรา ๑๐๑ บัญญัติถึงเหตุที่ทำให้สมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงไว้รวม ๑๓ ประการ ซึ่งตามมาตรา ๑๐๑ (๖) บัญญัติเหตุไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘ โดยนำลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดซึ่งสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ซึ่งหมายความว่า หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งมีการกระทำเข้าลักษณะเช่นเดียวกับบุคคลซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นย่อมสิ้นสุดลงนั่นเอง ส่วนกรณีบุคคลใดมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งก่อนที่จะมีสมาชิกภาพ ให้ถือว่า บุคคลนั้นไม่เคยดำรงตำแหน่งเพราะเหตุที่ตนเองมีลักษณะต้องห้ามมาตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้ง สำหรับมาตรา ๙๘ (๓) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งว่า เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ บทบัญญัติในข้อนี้มีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดได้เปรียบโดยอาศัยโอกาสจากการที่ตนเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดใช้หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนดังกล่าวเป็นสื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองหรือพรรคการเมืองของตน หรือในทางกลับกัน มีการนำสื่อไปใช้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นโทษแก่บุคคลอื่นใดซึ่งเป็นคู่แข่งการเมือง ในลักษณะของการใช้อำนาจครอบงำสื่อมวลชน การกระทำดังกล่าวจะทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างเป็นกลาง และโดยที่ลักษณะต้องห้ามดังกล่าวเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิเลือกตั้งอันเป็นสิทธิทางการเมือง จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งหมายความว่า กิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนจะต้องมีการประกอบกิจการสื่อมวลชนอย่างแท้จริง และเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นนั้นรู้อยู่แล้วในขณะที่ตนเองเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นว่า เป็นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนด้วย
ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เอกสารประกอบ การไต่สวน และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ได้ความว่า วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๒ ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๖๒ วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๒ ผู้ร้องมีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ และกำหนดให้พรรคการเมืองที่ประสงค์ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้องตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ โดยมีชื่อผู้ถูกร้องอยู่ลำดับที่ ๑ วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ผู้ร้องประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่
เดิมบริษัท โซลิด มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๑ ต่อมาวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๕ เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์ตามหนังสือบริคณห์สนธิที่เป็นประเด็นของคดีนี้ ข้อ ๒๓ ซึ่งระบุว่า ประกอบกิจการออกหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย และข้อ ๒๕ ซึ่งระบุว่า ประกอบกิจการโฆษณาด้วยสื่อการโฆษณาทุกอย่าง เช่น โฆษณาในหนังสือพิมพ์...และสื่ออื่นใด บริษัทยื่นจดแจ้งการพิมพ์ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ตามเอกสารหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์เลขทะเบียนที่ สสช ๓/๒๕๕๑ และเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ตามเอกสารเลขทะเบียนที่ สสช ๒๒๘/๒๕๕๓ ตามหนังสือของสำนักหอสมุดแห่งชาติที่ วธ ๐๔๒๕/๒๐๖๔ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด แสดงงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุด ๓ ปี คือ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ และวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ โดยแจ้งว่า บริษัทมีรายได้จากการประกอบกิจการโฆษณา โดยในรอบปี ๒๕๕๙ และปี ๒๕๖๐ มีรายได้จากการให้บริการโฆษณาร้อยละ ๑๐๐ และปี ๒๕๖๑ มีรายได้จากการให้บริการโฆษณาร้อยละ ๙๘.๒๕ ข้อเท็จจริงจากทางไต่สวนจึงรับฟังเป็นยุติได้ว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน
ผู้ถูกร้องถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ เป็นหุ้นระบุชื่อจำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้น หมายเลขของหุ้นตั้งแต่หมายเลข ๑๓๕๐๐๐๑ ถึงหมายเลข ๒๐๒๕๐๐๐ ใบหุ้นหมายเลข ๑๙ โดยทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ระบุว่า รับโอนหุ้นวันที่ ลงทะเบียนวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ ซึ่งสอดคล้องกับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ. ๕) ซึ่งบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ส่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครในปี ๒๕๕๙ และวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๑ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ. ๕) ให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ยังคงปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้น ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ. ๕) ให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ไม่ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นหมายเลขหุ้นดังกล่าว แต่ปรากฏชื่อนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ถือหุ้น
พิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) ที่บัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดที่ถือหุ้นในบริษัทซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ มีลักษณะเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเฉพาะที่เป็นประเด็นของคดีนี้แล้ว กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด หากประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจกระทำได้ด้วยการโอนหุ้นตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ หมวด ๔ ว่าด้วยบริษัทจำกัด ส่วนที่ ๒ ว่าด้วยหุ้นและผู้ถือหุ้น มาตรา ๑๑๒๙ ที่บัญญัติเกี่ยวกับการโอนหุ้นไว้ว่า อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น และการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่า เป็นโมฆะ และต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันด้วย แต่การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้กับบริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในใบทะเบียนผู้ถือหุ้น และต้องพิจารณาข้อบังคับของบริษัทเกี่ยวกับการโอนหุ้นที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหุ้นประกอบด้วย สำหรับบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่ผู้ถูกร้องถือหุ้น ข้อบังคับของบริษัท ข้อ ๔ ระบุว่า การโอนหุ้นจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนโดยมีพยานสองคนลงชื่อรับรอง และจะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อบริษัทจดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว จากบทบัญญัติของกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงหลักของการแสดงเจตนาในการโอนหุ้นระหว่างผู้โอนและผู้รับโอนเป็นสำคัญและเป็นไปโดยอิสระ
ข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนว่า ผู้ถูกร้องโอนหุ้นจำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้น หมายเลขของหุ้นตั้งแต่หมายเลข ๑๓๕๐๐๑ ถึงหมายเลข ๒๐๒๕๐๐๐ ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นมารดาของผู้ถูกร้อง เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ โดยจัดทำหนังสือตราสารโอนหุ้นไว้เป็นหลักฐาน และมีการจ่ายค่าตอบแทนการโอนหุ้นราคาหุ้นละ ๑๐ บาท สั่งจ่ายเป็นเช็คระบุชื่อผู้ถูกร้องเป็นจำนวนเงิน ๖,๗๕๐,๐๐๐ บาท ปรากฏตามสำเนาเช็คของธนาคารกรุงศรีอยุธยา เลขที่ H ๑๑๓๐๙๙๕๙ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ โดยเช็คดังกล่าวมีการนำไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาเมกาบางนา เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ประเด็นของคดีมีข้อให้พิจารณาว่า การทำหนังสือตราสารโอนหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของผู้ถูกร้องดังกล่าว จะถือว่า ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นให้บุคคลอื่นถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่และเมื่อใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ ประกอบข้อบังคับของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ข้อ ๔ บัญญัติเงื่อนไขความสมบูรณ์ของการโอนหุ้นไว้ว่า ให้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อกับผู้รับโอน มีพยานสองคนลงชื่อรับรองลายมือชื่อ และต้องระบุเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันด้วย โดยผลของการโอนหุ้นจะผูกพันระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน สำหรับผลผูกพันต่อบริษัทและบุคคลภายนอกจะเกิดขึ้นเมื่อได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในใบทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว คดีนี้ ผู้ถูกร้องเบิกความ โดยมีนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ นางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม นางสาวกานต์ฐิตา อ่วมงามขำ และนายณัฐนนท์ อภินันทน์ เป็นพยานเบิกความสนับสนุน และมีหลักฐานสำเนาหนังสือตราสารโอนหุ้นตามเอกสารท้ายคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามาแสดงว่า ผู้ถูกร้องทำหนังสือตราสารโอนหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ฉบับลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ โดยปรากฏลายมือชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้โอน ลายมือชื่อนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้รับโอน มีพยานจำนวนสองคน คือ นางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม และนางสาวกานต์ฐิตา อ่วมงามขำ ลงชื่อรับรองลายมือชื่อ และได้ระบุเลขหมายของหุ้นที่โอนและรับโอนหุ้นตามจำนวนของการโอน และมีการนำเรื่องการโอนหุ้นของผู้ถูกร้องดังกล่าวไปจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันเดียวกัน ในการจัดทำหนังสือตราสารการโอนหุ้นดังกล่าว มีนายณัฐนนท์ อภินันทน์ ทนายความ เป็นผู้ทำคำรับรองด้วย ศาลไม่ปรากฏข้อสงสัยว่า เอกสารที่จัดทำขึ้นไม่ถูกต้องตามเจตนาของผู้โอนและผู้รับโอน และไม่มีข้อเท็จจริงอื่นที่แสดงให้เห็นว่า การโอนหุ้นเป็นนิติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ส่วนการชำระราคาหุ้นไม่มีข้อให้สงสัย เนื่องจากการโอนหุ้น แม้จะทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทนระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอน ก็ถือว่า เป็นการโอนโดยชอบ จึงฟังได้ว่า การโอนหุ้นของผู้ถูกร้องในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายและข้อบังคับของบริษัทกำหนด และมีผลผูกพันผู้โอนและผู้รับโอน และในกรณีนี้ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มีฐานะเป็นกรรมการของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ลงชื่อเป็นผู้รับโอน การโอนดังกล่าวจึงมีผลผูกพันบริษัทด้วย ส่วนการดำเนินการจดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในใบทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือการแจ้งเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัทตามกฎหมายกำหนด เป็นการกระทำของบุคคลอื่นนอกเหนือจากการกระทำของผู้โอน เมื่อการโอนหุ้นของผู้ถูกร้องกระทำขึ้นเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ และกระทำขึ้นก่อนวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกร้องสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ผู้ถูกร้องจึงไม่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓)
อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เมื่อผู้ถูกร้องไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามคำร้อง จึงให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเสียด้วย
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า สมาชิกภาพของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) และให้เพิกถอนคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒
- ชัช ชลวร
- (นายชัช ชลวร)
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ