คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕/๒๕๕๕/จรัญ ภักดีธนากุล
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) เฉพาะส่วนที่บัญญัติว่า "มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ" ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง หรือไม่
คำวินิจฉัยที่ ๑๕/๒๕๕๕ | เรื่องพิจารณาที่ ๓๐/๒๕๕๓ |
- ประเด็นวินิจฉัย
- ความเห็น
เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๓๐ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นบทบัญญัติที่มีหลักการเดียวกับมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ แต่ได้เพิ่มคำว่า "ความพิการ" ไว้ในวรรคสามของมาตรา ๓๐ ด้วย อันแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ว่า ต้องการคุ้มครองสิทธิของผู้พิการไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การให้ความคุ้มครองผู้พิการนั้นนอกจากจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ แล้ว ยังเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities: CRPD) ของสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นภาคีมีพันธกรณีอยู่ด้วย
อนุสัญญาดังกล่าวได้ให้คำจำกัดความของคนพิการไว้ว่า หมายความรวมถึง บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา หรือทางประสาทสัมผัสในระยะยาว ซึ่งเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับอุปสรรคนานัปการ จะกีดขวางการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น
ความพิการเป็นความบกพร่องที่รวมทั้งทางร่างกาย จิตใจ หรือประสาทสัมผัสด้วย และโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ ดังกล่าว รัฐจะต้องให้ความคุ้มครองผู้พิการ จะนำเอาความพิการมาเป็นเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมมิได้
การคุ้มครองความพิการตามมาตรา ๓๐ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ มิได้มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้พิการเท่านั้น แต่ยังมุ่งที่จะให้โอกาสและส่งเสริมให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งนอกจากจะไม่ตกเป็นภาระแก่รัฐและสังคมแล้ว ยังเป็นการสร้างคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้พิการด้วย
ในส่วนของผู้พิการเอง หากสามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองตามสภาพแห่งความพิการได้แล้ว ย่อมมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป การให้โอกาสคนพิการในการประกอบอาชีพจึงเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องสนับสนุน ส่งเสริม และให้โอกาสคนพิการในการประกอบอาชีพตามความสามารถและความต้องการของตนเอง หากคนพิการถูกจำกัดสิทธิจนไม่อาจประกอบอาชีพได้ ย่อมเป็นภาระของรัฐและสังคมที่จะต้องคอยให้ความช่วยเหลือ อันจะเป็นการทำลายศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนพิการ
ความพิการของบุคคลตามความหมายของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ และตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ มิได้หมายความว่า ผู้พิการจะไม่สามารถประกอบการงานได้ เพียงแต่มีความบกพร่องบางอย่างทางร่างกายหรือจิตใจหรือประสาทสัมผัสเท่านั้น คนพิการจึงยังมีความสามารถที่จะทำงานหาเลี้ยงชีพได้ และในงานบางอย่างที่ผู้พิการสามารถทำได้ อาจทำได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าบุคคลปกติทั่วไป ทั้งนี้ เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว ไม่อาจกล่าวได้ว่า บุคคลใดมีความสามารถมากกว่าบุคคลอื่น เพราะบุคคลเรียนรู้ในวิชาการหรือสาขาอาชีพที่แตกต่างกัน ไม่มีใครที่จะรู้ในทุก ๆ เรื่อง ความสามารถจึงขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นมีความเชี่ยวชาญชำนาญในงานประเภทใด ฉะนั้น ในงานบางประเภท ผู้พิการจึงอาจทำได้ดีกว่าบุคคลปกติทั่วไป
การที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) บัญญัติคุณสมบัติของผู้สมัครสอบเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการไว้ว่า "...มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ หรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในระเบียบของ ก.ต." มีความประสงค์ที่จะได้บุคคลที่มีความเหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ จึงเห็นควรวินิจฉัยถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมในการเป็นข้าราชการตุลาการ
การดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาตุลาการเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ เป็นช่องทางหนึ่งในการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน คุณสมบัติของบุคคลอันเป็นสาระสำคัญของการทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาตุลาการ คือ การเป็นผู้รอบรู้ในวิชาการ ทั้งด้านกฎหมายและในสาขาอื่น ๆ รวมทั้งการมีจิตใจที่มั่นคง ปราศจากอคติ ๔ ได้แก่
(๑) ฉันทาคติ คือ ความลำเอียงเพราะรัก
(๒) โทสาคติ คือ ความลำเอียงเพราะชัง
(๓) โมหาคติ คือ ความลำเอียงเพราะเขลาหรือเพราะความไม่รู้ ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ว่า อย่างไรถูกอย่างไรผิด อย่างไรควรอย่างไรไม่ควร
(๔) ภยาคติ คือ ความลำเอียงเพราะกลัวหรือเพราะเกรงใจ
สิ่งที่ประชาชนพึงหวังจากผู้พิพากษาตุลาการ คือ การให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความ ทั้งในการดำเนินกระบวนพิจารณาและการวินิจฉัยชี้ขาดคดี อคติทั้งสี่มิได้เกี่ยวกับสภาพร่างกาย แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจ
สภาพร่างกายจึงมิใช่คุณสมบัติอันเป็นสาระสำคัญในการเป็นข้าราชการตุลาการ ความพิการทางร่างกายจึงมิได้เป็นอุปสรรคในการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ผู้พิพากษาตุลาการมากไปกว่าความบกพร่องทางจิตใจ ซึ่งมีผลกระทบถึงการให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความหรือผู้เกี่ยวข้อง และแม้การทำงานของผู้พิพากษาตุลาการอาจต้องเดินทางออกนอกสถานที่ ก็มิได้หมายความว่า ความพิการจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางออกนอกสถานที่ เนื่องจากความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการทางร่างกายสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนธรรมดาทั่วไป การเดินทางออกนอกสถานที่เพื่อเดินเผชิญสืบหรือการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุจึงมิใช่อุปสรรคในการทำงานของผู้พิการทางร่างกายบางอย่าง
การกำหนดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นการให้ดุลพินิจในการพิจารณาความเหมาะสมของผู้สมัครเข้าสอบ เพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ตุลาการเป็นกรณี ๆ ไป และแม้การใช้ดุลพินิจจะเป็นการให้ความเป็นธรรมได้เหมาะสมกับข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องมากกว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัวก็ตาม แต่การให้ดุลพินิจที่กว้างเกินไปจนไม่มีขอบเขตอันเหมาะสม ก็เป็นช่องทางให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมได้
การใช้ดุลพินิจโดยปราศจากอคติเป็นไปได้ยากยิ่ง ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน และแม้การควบคุมตรวจสอบการใช้ดุลพินิจก็ยากที่จะปราศจากอคติเช่นกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดขอบเขตการให้ดุลพินิจในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับการตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อการทำงานของผู้พิการ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว บุคคลย่อมมีความโน้มเอียงไปในทางที่ไม่เป็นคุณต่อผู้พิการ และแม้จะกำหนดให้ผ่านการตรวจของคณะกรรมการแพทย์ก็ตาม แต่ก็เป็นการให้ความเห็นโดยไม่มีขอบเขตที่เหมาะสม การให้ใช้ดุลพินิจได้โดยไม่มีขอบเขตเช่นนี้ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ วรรคสาม
แม้การคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญจะมีข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ที่ให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ก็มิได้ให้อำนาจรัฐที่จะออกกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้โดยไม่มีขอบเขต การจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติในมาตรา ๒๙ จะกระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้มิได้
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ มิได้มีบทบัญญัติให้ออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิที่รับรองไว้ การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๓๐ ย่อมเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลประเภทหนึ่ง เมื่อรัฐธรรมนูญห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และไม่มีบทบัญญัติให้ออกกฎหมายจำกัดสิทธิได้สิทธิของบุคคลตามมาตรา ๓๐ ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จึงไม่อาจออกกฎหมายจำกัดสิทธิได้
สิทธิของผู้พิการในการประกอบอาชีพที่สามารถกระทำได้ ย่อมเป็นสาระสำคัญแห่งสิทธิเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ในมาตรา ๔๓ และมาตรา ๓๐ วรรคสาม แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๓ จะบัญญัติให้ออกกฎหมายจำกัดสิทธิได้ แต่ต้องเป็นการจำกัดสิทธิเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันเท่านั้น
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) เป็นกฎหมายจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ แต่การจำกัดสิทธิดังกล่าว ไม่ปรากฏว่า เป็นไปเพื่อการอันรัฐธรรมนูญบัญญัติให้กระทำได้ ตามที่กำหนดไว้ ในมาตรา ๔๓ วรรคสอง การจำกัดสิทธิของผู้พิการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) จึงไม่อาจกระทำได้
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) เฉพาะในส่วนบัญญัติว่า "มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ" เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่ไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานของผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจที่ไม่ถึงกับทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพหรือปฏิบัติหน้าที่การงานในตำแหน่งข้าราชการตุลาการได้ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการโดยไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๑๐๐ ก/หน้า ๑๐๕/๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๕
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"