คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕/๒๕๕๕/เฉลิมพล เอกอุรุ

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน


ของนายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ[1]



พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ หรือไม่

ตราครุฑ
ตราครุฑ
คำวินิจฉัยที่ ๑๕/๒๕๕๕ เรื่องพิจารณาที่ ๓๐/๒๕๕๓


ประเด็นวินิจฉัย
ความเห็น

กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ ๑๖/๒๕๔๕ ว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐ นั้น เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐

หลังจากนั้น ปรากฏว่า มีพัฒนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายประการ

ประการแรก ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นต้นมา โดยความในบทบัญญัติมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๕๐ มีหลักการเช่นเดียวกับมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๔๐ เพียงแต่ได้มีการบัญญัติ คำว่า "ความพิการ" เพิ่มเติมในมาตรา ๓๐ วรรคสาม เป็นการบัญญัติรับรองสิทธิให้แก่ผู้พิการไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความพิการจะกระทำมิได้ การพิจารณาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) จึงต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๕๐ ซึ่งแตกต่างไปจากที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๔๐

ประการที่สอง ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการของสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวมีผลผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี ตั้งแต่วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ เป็นต้นมา ประเทศไทยจึงมีสิทธิและหน้าที่หรือพันธกรณีตามบทบัญญัติของอนุสัญญาดังกล่าว ในการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐภาคีนั้น องค์กรต่าง ๆ ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่ระบุไว้ในอนุสัญญา หากองค์กรของรัฐไม่ปฏิบัติตามพันธกรณี ไม่ว่าองค์กรนั้นจะเป็นฝ่ายใดที่กล่าวข้างต้น ก็จะก่อให้เกิดความรับผิดชอบระหว่างประเทศ (international responsibility) ของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ พันธกรณีที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีต้องปฏิบัติตามมีอาทิ

ข้อ ๔ ของอนุสัญญาฯ ว่าด้วยพันธกรณีทั่วไป กำหนดให้รัฐภาคีต้องออกมาตรการทางกฎหมายและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย กฎระเบียบ จารีตประเพณี และแนวทางปฏิบัติ ที่มีอยู่ซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ส่วนข้อ ๕ ว่าด้วยความเท่าเทียมกันและการไม่เลือกปฏิบัติ ได้บัญญัติให้รัฐภาคีห้ามการเลือกปฏิบัติทั้งปวงเพราะเหตุแห่งความพิการ และประกันให้คนพิการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิผลจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทั้งปวง เพื่อเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติ อนุสัญญาได้กำหนดให้รัฐภาคีดำเนินขั้นตอน ที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อประกันว่า จะจัดให้มีการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ อนุสัญญาฯ ได้ให้คำนิยาม คำว่า "คนพิการ" ในข้อ ๑ ว่า คนพิการ (persons with disabilities) หมายความรวมถึง บุคคล ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา หรือทางประสาทสัมผัสในระยะยาว ซึ่งเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับอุปสรรคนานัปการ จะกีดขวางการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น ส่วนคำว่า "การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการ" อนุสัญญาฯ ข้อ ๒ ได้ให้คำนิยามว่า หมายถึง ความแตกต่าง การกีดกัน หรือการจำกัดบนพื้นฐานของความพิการซึ่งมีความมุ่งประสงค์หรือส่งผลให้เป็นการเสื่อมเสียหรือทำให้ไร้ผลซึ่งการยอมรับ การอุปโภค หรือการใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความเป็นพลเมือง หรือด้านอื่น รวมถึงการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ รวมทั้งการปฏิเสธการช่วยเหลือ ที่สมเหตุสมผล ส่วนคำว่า "การช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล" อนุสัญญาฯ ข้อ ๒ ให้คำนิยามว่า หมายถึง การเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงที่จำเป็นและเหมาะสมโดยไม่ก่อให้เกิดภาระอันเกินสมควรหรือเกินสัดส่วนเฉพาะในกรณีที่จำเป็น เพื่อประกันว่า คนพิการได้อุปโภคและใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวง ที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

อนุสัญญาฯ ข้อ ๒๗ (เอ) กำหนดว่า ห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการในทุกด้านที่เกี่ยวกับการจ้างงาน รวมถึงเงื่อนไขในการคัดเลือกบุคคล การว่าจ้าง และการจ้างงาน การจ้างงาน อย่างต่อเนื่อง ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และสภาพการทำงานที่ถูกสุขอนามัยและปลอดภัย ข้อ ๒๗ (จี) กำหนดว่า ต้องรับคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐ

พันธกรณีดังกล่าวเหล่านี้ ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีต้องปฏิบัติตาม

ประการที่สาม เมื่อพิจารณาถึงทางปฏิบัติของประเทศตะวันตกซึ่งถือกันว่า มีมาตรฐานสูง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในการบริหารงานยุติธรรมและการคัดเลือกผู้พิพากษา เช่น อังกฤษ ก็จะเห็นแนวโน้มของการไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้พิพากษา ในอังกฤษนั้น นับตั้งแต่ได้มีการตราพระราชบัญญัติการปฏิรูปทางรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๒๐๐๕ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ของอังกฤษ (Constitutional Reform Act 2005) ได้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระที่เรียกว่า คณะกรรมาธิการการแต่งตั้งผู้พิพากษา (Judicial Appointments Commission - JAC) ขึ้น มีหน้าที่ในการคัดเลือกบุคคลเป็นผู้พิพากษา คณะกรรมาธิการฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายในการ

- คัดเลือกผู้สมัครตามความรู้ความสามารถ (merit)

- คัดเลือกบุคคลที่มีความประพฤติดี

- คำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้มีการสมัครอย่างกว้างขวางจากผู้สมัครที่หลากหลาย

ในการปฏิบัติงาน คณะกรรมาธิการฯ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความเสมอภาค ค.ศ. ๒๐๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ของอังกฤษ (Equality Act 2010) จึงได้สนับสนุนให้คนพิการสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้พิพากษา โดยให้ประกันว่า คนพิการจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนของการสมัครและการคัดเลือก นอกจากนั้น ยังจะจัดให้มีการช่วยเหลือหรือการปรับปรุงที่สมเหตุสมผล (reasonable adjustments) ในทุกขั้นตอนของกระบวนการคัดเลือกเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม

จึงเห็นได้ว่า ในระบบตุลาการของอังกฤษในปัจจุบัน ได้มีการส่งเสริมให้มีผู้พิพากษาที่มีความหลากหลายมากขึ้น ระบบการคัดเลือกคำนึงถึงความรู้ความสามารถ (merit) และความประพฤติเป็นหลัก และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความพิการ

ในการพิจารณาประเด็นของคดีนี้ เห็นว่าน่า จะต้องคำนึงถึงพัฒนาการต่าง ๆ ดังกล่าวมาข้างต้นด้วย

ดังได้กล่าวมาในตอนต้น รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ ห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความพิการ ปัญหาก็คือว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "ผู้สมัครสอบคัดเลือก ผู้สมัครทดสอบความรู้ หรือผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (๑๐) ...มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ..." นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) ส่วนที่ว่า "...มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ..." นั้น เป็นบทบัญญัติที่ให้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางแก่คณะบุคคลที่จะตัดสินในขั้นตอนการรับสมัครสอบ แต่การใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางนั้น ในทางปฏิบัติเป็นไปในทางที่ตัดสิทธิคนพิการ กล่าวคือ เพียงตรวจหรือเห็นสภาพร่างกายของคนพิการก็ตัดสิทธิในการสมัครสอบเสียแล้ว ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนพิการได้เข้ามาสอบคัดเลือกอย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่น ๆ จึงมีผลเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความพิการ เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ วรรคสาม

จึงวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) ในส่วนที่บัญญัติว่า "...มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ..." ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ วรรคสาม เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖


เฉลิมพล เอกอุรุ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ



เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๑๐๐ ก/หน้า ๑๑๖/๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๕




ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"