คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๑๘/๒๕๕๗
หน้านี้ควรจัดทำเป็นแบบพิสูจน์อักษร เนื่องจากมีต้นฉบับสแกนอยู่ที่ https://ratchakitcha2.soc.go.th/pdfdownload/?id=2017961 |
เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของภาคการผลิตและบริการ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงได้กำหนดให้นโยบายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ และใช้เป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวทันนานาอารยประเทศ โดยให้มีการผนึก กำลังกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
๑. องค์ประกอบ
- ๑.๑ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ
- ๑.๒ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ/หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ รองประธานกรรมการ
- ๑.๓ ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
- ๑.๔ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการ
- ๑.๕ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการ
- ๑.๖ ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการ
- ๑.๗ หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- ๑.๘ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- ๑.๙ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- ๑.๑๐ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- ๑.๑๑ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- ๑.๑๒ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ และเลขานุการ
- ๑.๑๓ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ
- ๑.๑๔ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ
๒. อำนาจหน้าที่
- ๒.๑ กำหนดกรอบ ทิศทาง และยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑
- ๒.๒ ผลักดันให้มีการนำกรอบ ทิศทาง และยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและบูรณาการ
- ๒.๓ อนุมัติแผนงาน โครงการ และวงเงินเพื่อดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
- ๒.๔ กำกับ ดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
- ๒.๕ ติดตาม ศึกษา และวิเคราะห์ ดัชนีชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันที่จัดทำโดยองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดกรอบ ทิศทาง และยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ภาคการผลิตและบริการ การค้าการลงทุน การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น
- ๒.๖ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำ งานเพื่อสนับสนุนการดำ เนินงานหรือปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมอบหมาย
- ๒.๗ ออกระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามนี้
- ๒.๘ ประสานหรือมอบหมายให้คณะกรรมการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่เห็นสมควร เพื่อให้การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศบรรลุผลตามเป้าหมาย
- ๒.๙ ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ฯ
สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ฯ ให้เบิกจ่ายตามระเบียบทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม /ตอน /หน้า / .
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"