คำสั่งยึดทรัพย์สินจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และภริยา/คำสั่ง 2 มีนาคม 2508
โดยที่ปรากฏว่า จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจหน้าที่ราชการนำเงินของรัฐไปลงทุนหาผลประโยชน์ส่วนตัวและครอบครัว ได้ใช้กลวิธีอันสลับซับซ้อนตั้งโรงงานผลิตกระสอบขึ้นในรูปของบริษัทจำกัดโดยมิได้ลงเงินของตนเอง กล่าวคือ ได้นำเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน ๑๐ ล้านบาท ไปฝากไว้กับบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้มีอำนาจควบคุมโดยเด็ดขาด แล้วให้บริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด กู้เงินจำนวนนี้ไปจากบริษัทแห่งนั้นโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและไม่มีหลักประกัน แล้วบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด ได้ลงบัญชีเท็จว่า เป็นการชำระค่าหุ้นครั้งแรก ต่อมา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำเงินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไปฝากกับธนาคารพาณิชย์สองธนาคาร แล้วให้ธนาคารทั้งสองนั้นให้บริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด กู้เงินไปดำเนินการจนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๗ เป็นเงิน ๒๐,๗๙๓,๐๓๕.๙๑ บาท โดยเสียดอกเบี้ยเพียงร้อยละ ๓ ต่อปี กับทั้งได้ใช้วิธีการจนเป็นผลให้ได้รับเงินกู้ไปจากกระทรวงการคลังเป็นจำนวน ๑๔,๕๖๙,๓๘๐ บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๖ ต่อปี นอกจากนั้น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ใช้อิทธิพลของตนให้ธนาคารสี่ธนาคารค้ำประกันการซื้อเครื่องจักรมาใช้ในกิจการของบริษัทเป็นจำนวนกว่าหกสิบล้านบาท ในการกระทำทั้งปวงนี้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และผู้ร่วมงาน มิได้นำเงินของตนมาลงทุนเลย เว้นแต่บุคคลอีกสองคนซึ่งลงเงินทั้งสิ้นเพียง ๔๗๕,๐๐๐ บาท
การก่อตั้งบริษัทดังกล่าว นอกจากได้ทำให้รัฐเสียหาย ขาดประโยชน์จากเงินของรัฐที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำไปใช้เพื่อการนี้โดยมิชอบแล้ว ยังมิได้กระทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในการก่อตั้งบริษัท กับเมื่อบริษัทได้ดำเนินการมาแล้ว ปรากฏว่า ได้มีพฤติการณ์ที่นำความเสื่อมโทรมให้แก่บริษัท และยังความเสียหายให้แก่วงการธนาคารและการเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง จึงนับว่า เป็นการทำลายรากฐานความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ อันมีผลเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร
เพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐโดยด่วน นายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จึงมีคำสั่งให้บริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด พ้นจากสภาพการเป็นบริษัท และให้กิจการ ทรัพย์สิน และหนี้สิน ของบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด ตกเป็นของรัฐทันทีในวันออกคำสั่งนี้ ให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของกิจการและดำเนินการตามควรทุกประการ
- สั่ง ณ วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๘
- จอมพล ถ. กิตติขจร
- (ถนอม กิตติขจร)
- นายกรัฐมนตรี