คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๐๒/๒๕๕๔


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


คำสั่ง
 


เรื่อง   คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา)

ตราครุฑ
ตราครุฑ
คำร้องที่ ๕๔๗/๒๕๕๓
คำสั่งที่ ๑๐๒/๒๕๕๔
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลปกครองสูงสุด
 
กรมศุลกากร ผู้ฟ้องคดี
ระหว่าง

นายปริญญา บับภาวัน ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายกิตติโชค กฤษณามาระ ผู้ถูกฟ้องคดี



ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ ๘๙๘/๒๕๕๒ หมายเลขแดงที่ ๖๖๓/๒๕๕๓ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง)

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่นายกิตติโชค กฤษณามระ ขณะดำรงตำแหน่งศุลการักษ์ กองตรวจสินค้าขาออก สังกัดผู้ฟ้องคดี มีหน้าที่รับตัวอย่างสินค้าแล้วจัดส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่ประทับตราตะกั่วหรือร้อยแถบเหล็ก อาร์ทีซี ที่ตู้คอนเทนเนอร์หลังจากที่นายตรวจหรือสารวัตรศุลกากรทำการตรวจปล่อยและบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ตลอดจนทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของนายตรวจหรือสารวัตรศุลกากรตามคำสั่งกองตรวจสินค้าขาออก ที่ ๑๓/๒๕๓๐ ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๐ และประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ แต่นายกิตติโชคกลับละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของนายตรวจหรือสารวัตรศุลกากรในการตรวจและบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ตามหน้าที่ที่กำหนด จึงเป็นช่องทางให้บริษัท ไทยพัฒนา พี.วี. อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ส่งออกประเภทผลิตภัณฑ์ทำด้วยพลาสติกไปยังต่างประเทศ ทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร โดยการนำใบขนสินค้าขาออกฉบับมุมน้ำเงินไปขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และได้รับบัตรภาษีไปเป็นเงินจำนวน ๑,๗๕๒,๕๔๕.๒๐ บาท อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี การกระทำของนายกิตติโชคดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีคำสั่งที่ ๒๙๓/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ให้นายกิตติโชครับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร้อยละ ๓๐ ของค่าเสียหายตามใบขนสินค้าขาออกที่เกี่ยวข้อง คือ ใบขนสินค้าขาออกเลขที่ ๐๒๑๒ ๒๐๓๐ ๑๑๙๖ คิดเป็นค่าสินไหมทดแทนที่นายกิตติโชคต้องชดใช้เป็นเงินจำนวน ๙,๐๒๐.๙๓ บาท นายกิตติโชคได้อุทธรณ์คำสั่ง และได้ยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นตามคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๖๔/๒๕๕๐ เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น แต่เนื่องจากนายกิตติโชคได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายกิตติโชค จึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดี โดยนายเรวัตร เอี่ยมวสันต์ หัวหน้าฝ่ายคดีแพ่ง ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการส่วนคดี สำนักกฎหมาย ได้มีหนังสือ ที่ กค ๐๕๐๓(๔)/๒๐๘ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๒ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมผู้รับมรดกของนายกิตติโชคชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดีภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสือทวงถามแล้วแต่ไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระภายในกำหนด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ของจำนวนเงิน ๙,๐๒๐.๙๓ บาท นับแต่วันตรวจปล่อยสินค้าจนถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน ๘,๒๘๗.๙๘ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีอีกด้วย รวมเป็นค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิ้น ๑๗,๓๐๘.๙๑ บาท

ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้

๑.   ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินจำนวน ๑๗,๓๐๘.๙๑ บาท แก่ผู้ฟ้องคดี

๒.   ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๙,๐๒๐.๙๓ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี

๓.   ให้ศาลสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ฟ้องคดี

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๙ และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้นต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา ๗๒ ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ให้แก่ผู้เสียหายตามมาตรา ๘ หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๑๐ ประกอบกับมาตรา ๘ ให้หน่วยงานของรัฐที่เสียหายมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด ประกอบกับมาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติว่า คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ผู้ใดชำระเงิน ถ้าถึงกำหนดแล้วไม่มีการชำระโดยถูกต้องครบถ้วน ให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือเตือนให้ผู้นั้นชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า ๗ วัน ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือน เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้นและขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้มีคำสั่งที่ ๒๙๓/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ให้นายกิตติโชครับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร้อยละ ๓๐ ของค่าเสียหายเป็นเงิน ๙,๐๒๐.๙๓ บาท โดยอ้างว่า นายกิตติโชคเป็นผู้ได้รับการกำหนดชื่อให้ทำหน้าที่มัดลวดประทับดวงตราตะกั่ว กศก. และ/หรือร้อยแถบเหล็ก อาร์ทีซี ตามคำสั่งกองตรวจสินค้าขาออก ที่ ๑๓/๒๕๓๐ ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๐ การที่นายกิตติโชคไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวให้ครบถ้วน จึงเป็นช่องทางทำให้ผู้ส่งออกกระทำการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร ถือว่า เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่นายกิตติโชคไม่ได้ชดใช้ ต่อมา นายกิตติโชคถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมายื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะทายาทโดยธรรมของนายกิตติโชคให้ชดใช้ค่าเสียหายแทนแล้ว เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่โดยที่มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐที่เสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนภายในเวลาที่กำหนด เมื่อคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ถ้าถึงเวลาที่คำสั่งดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินค่าสินไหมทดแทนแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐให้ถูกต้องครบถ้วน หน่วยงานของรัฐที่เสียหายก็ย่อมมีอำนาจที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีหนังสือเตือนให้ผู้นั้นชำระเงินตามจำนวนที่ระบุในคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ถ้ายังไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือน หน่วยงานของรัฐที่เสียหายก็มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น และขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้ครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุในคำสั่งได้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ออกคำสั่งที่ ๒๙๓/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ให้นายกิตติโชคชดใช้เงินจำนวน ๙,๐๒๐.๙๓ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว คำสั่งทางปกครองดังกล่าวย่อมมีผลทางกฎหมาย ก่อให้เกิดหน้าที่แก่นายกิตติโชคในอันที่จะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเวลาที่ระบุไว้ในคำสั่งดังกล่าว หน้าที่ของนายกิตติโชคที่จะต้องนำเงินไปชำระแก่ผู้ฟ้องคดีมิใช่หน้าที่ซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของนายกิตติโชคโดยแท้แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนายกิตติโชคถึงแก่ความตายลงเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ หน้าที่ดังกล่าวของนายกิตติโชค รวมทั้งบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดอื่น ๆ ซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วไม่เป็นการเฉพาะตัวของนายกิตติโชคโดยแท้ จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของนายกิตติโชคทันทีที่นายกิตติโชคถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๕๙๙ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๖๐๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทายาทของนายกิตติโชคจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ฟ้องคดี ที่ ๒๙๓/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ที่สั่งให้นายกิตติโชคชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๙,๐๒๐.๙๓ บาท ภายในเวลาที่กำหนดแทนนายกิตติโชค และหากทายาทของนายกิตติโชคไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยถูกต้องครบถ้วน ผู้ฟ้องคดีก็ย่อมมีอำนาจตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของทายาทขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนให้ครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุในคำสั่งต่อไปได้ แต่โดยที่มาตรา ๑๖๐๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของทายาทนายกิตติโชคมาชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ระบุในคำสั่งได้เพียงไม่เกินมูลค่าหรือราคาทรัพย์มรดกของนายกิตติโชคที่ตกทอดแก่ทายาทเท่านั้น กรณีจึงเห็นได้ว่า การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกิตติโชคนั้น ไม่จำต้องมีคำบังคับของศาลตามที่กำหนดในมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๒ ที่สั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณา รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นที่ต่อเนื่องภายหลังจากนั้นทั้งหมด ตามข้อ ๗ วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ และมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่ผู้ฟ้องคดี

ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ความว่า การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่า การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกิตติโชคไม่จำเป็นต้องมีคำบังคับของศาลตามที่กำหนดในมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดี ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายกิตติโชค ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีนายกิตติโชคกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ฟ้องคดีได้ออกคำสั่งที่ ๒๔๔/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๙ (ที่ถูกคือ คำสั่งที่ ๒๙๓/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙) เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีมูลละเมิดเกิดภายหลังพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับ แจ้งให้นายกิตติโชคชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๑๖,๔๑๓.๕๕ บาท (ที่ถูกคือ จำนวน ๙,๐๒๐.๙๓ บาท) แต่นายกิตติโชคยังไม่ได้ชำระก็ได้ถึงแก่ความตายก่อนเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๒ (ที่ถูกคือ วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๒) แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายกิตติโชคชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ยอมชำระ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีในคดีนี้เป็นการดำเนินการตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่นายกิตติโชคไม่ชำระ แม้ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕๗ จะบัญญัติให้อำนาจผู้ฟ้องคดีใช้มาตรการบังคับทางปกครองออกหมายยึดหรืออายัดทรัพย์สินของนายกิตติโชค ขายทอดตลาดมาชำระหนี้ได้ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่นายกิตติโชคยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เพราะถ้านายกิตติโชคถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินของนายกิตติโชคย่อมตกทอดแก่ทายาทในทันทีที่ถึงแก่ความตาย ดังนั้น จึงไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่ยังเป็นของนายกิตติโชคเหลือให้ยึดหรืออายัดอีกต่อไป และจะใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ บังคับเอากับทายาทของนายกิตติโชคไม่ได้ เพราะทายาทไม่ใช่บุคคลที่ได้รับแจ้งคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีมีสิทธิเรียกร้องเอากับนายกิตติโชค ก็ต้องถือว่า มีสิทธิเรียกร้องเหนือทรัพย์สินในกองมรดกด้วย เมื่อผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๒ (ที่ถูกคือ วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๒) แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายกิตติโชคชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแทนนายกิตติโชค แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ยอมชำระ ผู้ฟ้องคดีในฐานะเจ้าหนี้ในมูลละเมิดจึงต้องใช้สิทธิทางศาล โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะทายาทของนายกิตติโชคใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันเป็นคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามนัยมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ตามนัยคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๖๒/๒๕๕๐ และคำสั่งที่ ๒๘๓/๒๕๕๒ ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๙ และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้นต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา ๗๒ ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา ๑๒ บัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ให้แก่ผู้เสียหายตามมาตรา ๘ หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๑๐ ประกอบกับมาตรา ๘ ให้หน่วยงานของรัฐที่เสียหายมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด ในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีนายกิตติโชค เจ้าหน้าที่ศุลการักษ์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้บริษัท ไทยพัฒนา พี.วี. อุตสาหกรรม จำกัด กระทำการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้มีคำสั่งที่ ๒๙๓/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ให้นายกิตติโชคชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นจำนวนเงิน ๙,๐๒๐.๙๓ บาท อันเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่นายกิตติโชคไม่ชำระและได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ที่ กค ๐๕๐๓(๔)/๒๐๘ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๒ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดี ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายกิตติโชค ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีในฐานะเจ้าหนี้มูลละเมิดจึงจำต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อนายกิตติโชค เจ้ามรดก โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายกิตติโชค ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันเป็นคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่โดยที่คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีในฐานะเจ้าหนี้มูลละเมิดขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อนายกิตติโชค เจ้ามรดก จึงอยู่ในบังคับต้องห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา ๑๗๕๔ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อธิบดีกรมศุลกากรได้แจ้งขอให้จ่ายเงินบำเหน็จตกทอดกรณีถึงแก่ความตายรายนายกิตติโชคไปยังอธิบดีกรมบัญชีกลางตามหนังสือฉบับลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ แสดงว่า ผู้ฟ้องคดีได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของนายกิตติโชคอย่างช้าในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ จึงเป็นการฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๗๕๔ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความและคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่ผู้ฟ้องคดีนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังขึ้น

จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา



สุเมธ รอยกุลเจริญ   ตุลาการเจ้าของสำนวน
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด


ไพบูลย์ เสียงก้อง
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด


สุชาติ มงคลเลิศลพ
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด


พรชัย มนัสศิริเพ็ญ
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด


มณีวรรณ พรหมน้อย
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"