คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 2/2563
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ นั้น
เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยของประชาชน และมิให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓ และข้อ ๔ ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ ประกอบมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และข้อ ๕ แห่งประกาศตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จึงออกคำสั่งไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ๑ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
(๑) | ถนนเพลินจิต | จากแยกราชประสงค์ ถึงแยกชิดลม | ||
(๒) | ถนนราชดำริ | จากแยกประตูน้ำ ถึงแยกราชดำริ | ||
(๓) | ถนนพระรามที่ ๑ | จากแยกราชประสงค์ ถึงแยกเฉลิมเผ่า |
ข้อ๒ห้ามใช้หรือเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ดังต่อไปนี้ ระหว่างเวลา ๑๕.๐๐ ถึง ๐๒.๐๐ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือใช้ในภารกิจของทางราชการ
(๑)สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชดำริ และสถานีนรถไฟฟ้าบีทีเอสชิดลม
(๒)ทางเชื่อมระหว่างตึก หรือทางเดินระหว่างอาคารสูง (Skywalk) ตั้งแต่บริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ถึงบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพลินจิต
(๓)ท่าเรือประตูน้ำ และท่าเรือชิดลม ทั้งสองฝั่ง
ข้อ๓มอบหมายให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้ควบคุม กำกับ ดูแล สั่งการ และมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป
- สั่ง ณ วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓
- พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข
- ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
บรรณานุกรม
แก้ไข- "คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 2/2563 เรื่อง ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม อาคาร หรือสถานที่ ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563". (2563, 16 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 137, ตอน พิเศษ 243 ง. หน้า 19.
งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เพราะเนื้อหาทั้งหมดเป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นสาธารณะ และหาผู้สร้างสรรค์แท้ ๆ ไม่ได้ ทำให้ขาดคุณสมบัติในการมีลิขสิทธิ์