คำนำ

ตามประเพณีแต่ก่อนมา ถ้ารัฐบาลประเทศใดได้ชาวต่างประเทศที่รู้การงานบ้านเมืองมาก็ดี หรือแม้ชนชาวประเทศของตนเองได้ไปรู้เห็นการงานบ้านเมืองต่างประเทศมาก็ดี ถ้าแลว่าการงานบ้านเมืองต่างประเทศนั้นเปนประโยชน์ที่รัฐบาลต้องการจะรู้ ก็มักเอาตัวชาวต่างประเทศหรือชาวเมืองของตนที่ได้ไปรู้เห็นการงานมาให้เจ้าพนักงานซักไซ้ไต่ถามข้อความที่อยากจะรู้ แลจดเปนคำให้การขึ้นเสนอต่อรัฐบาล.

ประเพณีอันนี้เห็นจะมีเหมือนกันทุกประเทศ แม้ที่สุดทางตะวันออกนี้ก็มีมาแต่โบราณทีเดียว ด้วยมีหนังสือทำนองคำให้การอย่างว่านี้ในจำพวกหนังสือไทยเก่า ๆ หลายเรื่อง เช่น เรื่องขุนสิงหฬได้หนังราชสีห์ แลเรื่องขุนการเวกไปบูชาพระเมาฬีเจดีย์ณเมืองหงษาอันติดอยู่ในหนังสือพงษาวดารเหนือนั้น เปนต้น ต่อมาในสมัยเมื่อไทยกับพม่าเปนข้าศึกทำสงครามขับเคี่ยวกัน วิธีที่ถามคำให้การเช่นกล่าวมานี้ยิ่งเปนการสำคัญขึ้น เพราะเปนทางที่จะได้ความรู้ภูมิประเทศแลรู้กำลังตลอดจนพงษาวดารแลขนบธรรมเนียมของเมืองข้าศึก ดังปรากฎในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าซึ่งได้พิมพ์ตัวฉบับหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ นี้ ส่วนข้างไทยเรา เมื่อจับพม่าข้าศึกมาได้ หรือได้คนซึ่งไปรู้เห็นการงานเมืองพม่ามา ก็เอาตัวถามคำให้การเรื่องเมืองพม่าเหมือนกัน คำให้การเหล่านี้มีต้นฉบับอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณหลายเรื่อง แต่ไม่ติดต่อกัน เปนคำให้การคนนั้นบ้าง คำให้การคนนี้บ้าง ว่าด้วยการอย่างนั้นบ้าง ว่าด้วยการอย่างนี้บ้าง จะพิมพ์รวมเปนเรื่องเดียวกันไม่เหมาะดี จึงเปนหนังสือต่างเรื่องแยกกันอยู่ แลยังหาได้พิมพ์ให้แพร่หลายไม่.

บัดนี้ หม่อมเจ้าธานีนิวัตในพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา กับหม่อมเจ้าน้อง ๆ แลหม่อมเจ้าที่เปนนัดดาหม่อมเอม จะทำศพหม่อมเอม ประสงค์จะพิมพ์หนังสือแจกสักเรื่อง ๑ มาหารือกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ กรรมการเห็นว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ช้านัก พระยาเจริญราชธน (มิ้น เลาหเสรษฐี) ได้รับหนังสือเรื่อง คำให้การชาวกรุงเก่า ฉบับหลวง ไปพิมพ์แจกเมื่อทำศพอิ่ม ผู้มารดา เรื่อง ๑ ได้ทราบว่า ผู้ที่ได้รับแจกไปอยู่ข้างจะพอใจ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคำนำหนังสือนั้นแล้วว่า คำให้การพม่าที่ไทยเราจับได้ก็มีอยู่ จึงเห็นสมควรจะเอาออกพิมพ์ในคราวนี้ให้ติดต่อกันไปให้ปรากฏว่า ไม่ใช่แต่พม่าได้ไทยเราไปถามฝ่ายเดียว หม่อมเจ้าธานีนิวัตเห็นชอบด้วย กรรมการจึงได้เลือกคำให้การของนายพลชาวอังวะคน ๑ ซึ่งไทยจับได้เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ให้พิมพ์เปนของแจกในงานศพหม่อมเอม.

นายพลพม่าผู้ที่ให้การนี้ชื่อ อาปะระกามะนี หรือธาปะระคามะนี มีชื่อปรากฏในหนังสือพระราชพงษาวดารของเราหลายแห่ง แต่มีบางแห่งเรียกว่า "มะยุหวุ่น" บ้าง "โปมะยุง่วน" บ้าง คำว่า มะยุหวุ่น ภาษาพม่าเปนยศเจ้าเมือง โปมะยุง่วน คือ โปมะยะหวุ่น หมายความว่า เจ้าเมืองผู้เปนนายพล คำข้างหลังทั้ง ๒ นี้เห็นจะเปนคำคนพื้นเมืองเรียก อย่างไทยเราเรียกว่า "เจ้าคุณ" หรือ "เจ้าคุณแม่ทัพ"

ประวัติของอาปะระกามะนีที่ปรากฏในพระราชพงษาวดารนั้น เดิมอาปะระกามะนีคนนี้เปนขุนนางอยู่เมืองอังวะ ครั้นเมื่อปีมเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๒๔ พ.ศ. ๒๓๐๕ สมัยเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าสุริยามรินทรครองกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ามังลอกผู้เปนราชโอรสแลได้ครองราชสมบัติสืบสันตติวงษ์พระเจ้าอลองพญาให้ติงจาแมงข่อง แลมังมหานระทา กับอาปะระกามะนี คุมกองทัพพม่าเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ซึ่งในเวลานั้นดูเหมือนจะเปนอิศรอยู่ เมื่อได้เมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้าอังวะจึงตั้งให้อาปะระกามะนีเปนมะยุหวุ่นผู้สำเร็จราชการเมืองเชียงใหม่ต่อมา ตั้งแต่นั้น เมื่อพม่ายกกองทัพเข้ามาตีเมืองไทยคราวใด อาปะระกามะนีก็ได้เปนนายพลคุมพวกเมืองเชียงใหม่มาช่วยรบไทยด้วยทุกคราวตลอดมาจนถึงครั้งกรุงธนบุรี เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ เมื่อปีมเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ พ.ศ. ๒๓๑๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังเสด็จดำรงพระยศเปนเจ้าพระยาจักรี เปนแม่ทัพหน้า ครั้งนั้น พม่าแต่งให้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละซึ่งเปนหัวหน้าพวกชาวเชียงใหม่คุมพลลงมาต่อสู่กองทัพกรุงธนบุรี พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละกลับมาสามิภักดิต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเข้าสมทบกองทัพไทยด้วยกันยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ กองทัพไทยตีได้เมืองเชียงใหม่ อาปะระกามะนีแลพวกพม่าเสียเมืองแล้วก็พากันถอยหนีขึ้นไปตั้งมั่นอยู่ณเมืองเชียงแสน แลยังได้มารบกวนหัวเมืองข้างฝ่ายเหนือต่อมาอิกหลายคราว จนรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตโกสินทร เมื่อปีมแม นพศก จุลศักราช ๑๑๔๙ พ.ศ. ๒๓๓๐ พระเจ้าอังวะปะดุงจัดกองทัพพม่ามาเพิ่มเติมเข้ามาสมทบกองทัพอาปะระกามะนีให้ยกลงมาตีเมืองฝางในมณฑลพายัพ ในเวลานั้น พวกชาวมณฑลพายัพเอาใจมาเข้าข้างไทยเสียหมดแล้ว อาปะระกามะนีเกณฑ์กองทัพ ผู้คนพลเมืองก็พากันหลบเลื่อมระส่ำระสาย ครั้นกองทัพพม่าที่มาจากเมืองอังวะไปตั้งอยู่เมืองฝาง ทางเมืองเชียงแสน พวกชาวเมืองมีพระยาแพร่ (มังไชย) พระยายอง แลพระยาเชียงราย เปนหัวน่า เห็นได้ที จึงระดมตีพวกพม่าที่ยังเหลืออยู่ จับได้ตัวอาปะระกามะนีส่งลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกณกรุงเทพมหานครฯ จึงได้โปรดให้ถามคำให้การที่พิมพ์นี้

คำให้การของอาปะระกามะนี เมื่อถาม จะเปนกี่ตอนกี่เรื่องยังทราบไม่ได้ เพราะหอพระสมุดได้ต้นฉะบับไว้แต่ตอนที่เล่าถึงพงษาวดารพม่าตอนเดียว สำนวนภาษาไทยที่เรียบเรียงคำให้การอาปะระกามะนี ผู้ใดจะเรียบเรียงไม่ทราบ แต่เรียงดี ถึงมีลายพระราชหัดถ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชมไว้ในสมุดต้นฉบับดังนี้ว่า:—

"สมุดนี้เปนสมุดเก่า สำนวนเก่า เรียงแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใครเรียงไม่รู้เลย แต่เห็นว่า ถูกต้องที่ใช้ แก่ กับ ถึงจะมีคำที่ไม่ควรใช้ บุตรสาว พระวสา ลูกเจ้า อยู่บ้างก็ดี คำว่า กับ กับ กับ กับ ถี่ไป อย่างหนังสือทุกวันนี้ไม่เห็นมีเลย ใช้ กับ แล แก่ ถูกทุกแห่ง ให้อาลักษณคัดไว้เปนตัวอย่างแล้วส่งสมุดคืนมา สมุดนี้ก็มิใช่สมุดเดิม เปนฉบับเขาลอกเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ดอก"

การที่มีผู้รับพิมพ์หนังสือเก่าอันลี้ลับอยู่ให้แพร่หลาย ดังเช่นหม่อมเจ้าซึ่งเปนบุตร ธิดา แลนัดดาของหม่อมเองในพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา รับพิมพ์หนังสือเรื่อง คำให้การชาวอังวะ เล่มนี้ ย่อมเปนการกุศลประกอบด้วยสารประโยชน์หลายประการ ซึ่งกรรมการได้แสดงไว้ให้ปรากฎในคำนำหนังสือเรื่องอื่น ๆ แล้วหลายครั้ง แต่การพิมพ์หนังสือเล่มนี้ กรรมการเชื่อว่า บรรดาผู้ที่ได้รู้ประวัติในการศพของหม่อมเอมคงจะพากันอนุโมทนาต่อการกุศลเปนส่วนพิเศษอิกสถาน ๑

หม่อมเอมในพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เปนธิดาหลวงวรศักดาพิศาล (ตาล) ซึ่งเปนเจ้ากรมในพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๒ กรมหลวงวรศักดาพิศาล สุพัฒนาการสวัสดิ เกิดเมื่อณวัน ๑๐ ค่ำ ปีชวด ฉศก พ.ศ. ๒๔๐๗ ได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังแต่ยังเยาว์ จนมาได้เปนหม่อมห้ามในกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดาแต่เมื่อก่อนได้ทรงรับกรม ในเวลาเมื่อจะเสด็จออกไปรับราชการในสถานทูตที่กรุงลอนดอน หม่อมเอมจึงได้โดยเสด็จออกไปด้วย ได้ไปอยู่ในยุโรปประมาณ ๒ ปี จึงตามเสด็จกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดากลับเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ชั้นตติยจุลจอมเกล้าแก่หม่อมเอม ภายหลังต่อมา พระราชทานเลื่อนขึ้นเปนชั้นทุติยจุลจอมเกล้า หม่อมเอมมีหม่อมเจ้าซึ่งเปนโอรสธิดารวม ๑๓ องค์ คือ:—

 หม่อมเจ้าหญิงประวาศสวัสดี ประสูตรที่ลอนดอน ภายหลังได้เปนชายาพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช แลสิ้นชีพิตักษัยเมื่อปีขาล จัตวาศก พ.ศ. ๒๔๔๕ ก่อนกรมขุนพิทยลภาพฤฒิธาดาแลหม่อมเอม มีโอรสธิดา คือ

  หม่อมเจ้าหญิงวิมลปัทมราช

  หม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัสดี

  หม่อมเจ้าชายประสบศรีจิรประวัติ

 หม่อมเจ้าชายธานีนิวัต ได้ไปเล่าเรียนในยุโรปกลับเข้ามา บัดนี้ได้เปนเสวกเอกรับราชการในตำแหน่งราชเลขานุการในสมเด็จพระบรมราชินี พระพันปีหลวง

 หม่อมเจ้าชายฉัตรมงคล ได้ไปเล่าเรียนในยุโรป บัดนี้เปนนายพันตรี ผู้บังคับการกรมทหารบกช่างที่ ๑

 หม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ เปนชายาพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช มีโอรส คือ

  หม่อมเจ้าชายนิทัศนาธร

  หม่อมเจ้าชาย ยังไม่มีนาม

 หม่อมเจ้าชายวารเฉลิมฉัตร สิ้นชีพิตักษัย
 หม่อมเจ้าชายนักขัตดารา

 หม่อมเจ้าชายรัชฎาภิเศก เวลานี้กำลังเรียนการช่างอยู่ในประเทศอังกฤษ

 หม่อมเจ้าหญิงสิบพันพารเสนอ

 หม่อมเจ้าหญิงเสมอภาค

๑๐ หม่อมเจ้าชาย สิ้นชีพิตักษัย

๑๑ หม่อมเจ้าทวีธาภิเศก

๑๒ หม่อมเจ้ามุรธาภิเศก

๑๓ หม่อมเจ้าอภิสิตสมาคม

หม่อมเอมมีอาการป่วยเรื้อรังมาช้านาน ที่สุดถึงอนิจกรรมเมื่อปีมแม นพศก พ.ศ. ๒๔๕๐ คำนวณอายุได้ ๔๓ ปี ๕ เดือน ในเวลากรมขุนพิทยลภาพฤฒิธาดายังมีพระชนม์อยู่ กำลังทรงปรารภที่จะทำการศพหม่อมเอม กรมขุนพิทยลภาพฤฒิธาดาเองก็ตั้งต้นจับมีอาการประชวรตลอดมา ไม่สามารถที่จะทรงจัดการศพให้สำเร็จได้ จนสิ้นพระชนม์เมื่อณปีฉลู เบญจศก พ.ศ. ๒๔๕๖ แลได้พระราชทานเพลิงพระศพไปก่อน ส่วนศพหม่อมเอมจึงยังค้างอยู่กับเรือน หม่อมเจ้าซึ่งเปนบุตร ธิดา แลนัดดา ประกอบด้วยความกตัญญูกัตเวที แลมีความสามัคคีช่วยกันทำการปลงศพหม่อมเอมให้สำเร็จตลอดไปตามประเพณี นับว่า ได้ทำน่าที่อันสำคัญสนองคุณผู้เปนบุพการีให้สำเร็จตลอดได้ ถึงว่าหม่อมเจ้าที่เปนบุตร ธิดา แลนัดดาของหม่อมเอมจะมีชนมายุเปนผู้ใหญ่แล้วบ้าง ยังเด็กบ้าง แลที่สุดที่ไปติดการเล่าเรียนในต่างประเทศมีอยู่ในเวลานี้บ้างก็จริง แต่ทุกองค์คงจะได้รับอนุโมทนาสาธุการของคนทั้งหลายบรรดาได้ทราบความดีที่ได้ช่วยกันทำศพให้หม่อมเอมในครั้งนี้ทั่วไปมิได้มีที่ยกเว้น

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๑ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๘