งานแปล:ย่อรายวันสำหรับประธานาธิบดี 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974

ย่อรายวันสำหรับประธานาธิบดี 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517)
โดย สำนักข่าวกรองกลาง, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
ย่อรายวันสำหรับประธานาธิบดี


26 กุมภาพันธ์ 1974

ย่อรายวันสำหรับประธานาธิบดี
26 กุมภาพันธ์ 1974

ความคืบหน้าหลัก ๆ

อินเดียกับอิหร่านได้ทำความตกลงทางการค้าที่สำคัญ (หน้า 1)

กองทัพไทยเตรียมใช้มาตรการเฉียบขาด ถ้าคุมความปั่นป่วนจากนักศึกษาไม่อยู่ (หน้า 2)

มีเค้าลางว่าจะเกิดความแตกแยกทางการเมืองซ้ำอีกในพนมเปญ (หน้า 3)

หมายเหตุ เรื่อง อิรักกับสหภาพโซเวียต, สหภาพโซเวียต, ลิเบียกับยุโรปตะวันออก, และโรมาเนีย มีอยู่ หน้า 4

อินเดีย–อิหร่าน

อินเดียกับอิหร่านได้ทำความตกลงทางการค้าครั้งสำคัญ ว่า   จะมีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจว่า [ทุกอย่าง] จะเป็นไปตามข้อกำหนดเรื่องน้ำมันของอินเดีย แล้วอินเดียจะจัดหาซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก รถราง เครื่องจักร และเรือประมง ให้เป็นการตอบแทน

อินเดียยังจะได้รับสินเชื่อสองรายการ รวม 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับขยายปฏิบัติการทำเหมืองแร่เหล็กและการผลิตอะลูมินา เมื่อโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จ อินเดียจะจัดหาก้อนแร่ 2.4 ล้านตัน กับอะลูมินา 100,000 ตัน ให้แก่อิหร่านรายปี เป็นเวลา 20 ปี

ทั้งปริมาณน้ำมันดิบที่เกี่ยวข้อง และข้อกำหนดสินเชื่อสำหรับเงินกู้นั้น ไม่เป็นที่เปิดเผย ถึงแม้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอิหร่านจะอ้างว่า ความตกลงนี้ไม่เกี่ยวกับราคา "สัมปทาน" น้ำมันใด ๆ แต่ค่าใช้จ่ายคงจะต่ำกว่าราคาที่ลงไว้ทีเดียว อิหร่านจัดหาการนำน้ำมันดิบอินเดียเข้าประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้วถึงร้อยละ 60–65

อิหร่านยังตกลงจะช่วยหนุนเงินในการขยายโรงกลั่นของอินเดียที่มัทราส เพื่อให้จุได้จาก 2.8 ล้านตัน เป็น 3.5 ล้านตัน ต่อปี โรงกลั่นนี้มีรัฐบาลอินเดีย, การน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน, และการน้ำมันสากลอเมริกัน เป็นเจ้าของร่วมกัน

อีกประการ ปัญหาดุลการชำระเงินของอินเดียจะทุเลาลงอย่างยิ่ง เพราะการส่งออกไปอิหร่านในอนาคตจะทำให้อินเดียสามารถชำระหนี้บางส่วนของตนในการนำน้ำมันเข้า กระนั้น การจัดหาเหล็ก 65,000 ตัน และซีเมนต์ 300,000 ตัน ให้แก่อิหร่าน อาจทำให้อินเดียซ้ำเติมความขาดแคลนสินค้าทั้งสองอย่างในประเทศซึ่งวิกฤติอยู่แล้วได้

จากจุดยืนของชาห์ การค้าขายกับอินเดียมีจุดเด่นที่น่าสนใจอยู่ประมาณหนึ่ง ในอนาคตอันใกล้นี้ การค้าขายจะทำให้อิหร่านมีสินค้าอุตสาหกรรมบางอย่างซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวด ทั้งจะเพิ่มพูนความสนใจของเตหะรานในปฏิบัติการโรงกลั่นในต่างแดน ส่วนในระยะยาว การค้าขายนี้จะทำให้อิหร่านมีแหล่งวัสดุสำคัญสำหรับแผนการอันทะเยอทะยานของอิหร่านที่จะผลิตเหล็กและอะลูมินัม แผนการเหล่านี้ทำให้อิหร่านจำต้องเป็นผู้ส่งผลิตภัณฑ์เหล็กและอะลูมินัมออกเป็นรายสำคัญ อันเป็นเป้าหมายที่อาจทำให้เตหะรานกับนิวเดลีต้องมาค้าขายแข่งกันในวันข้างหน้า

ไทย

เร็ว ๆ นี้ กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก บอกหัวหน้าทหารคนสำคัญในเขตกรุงเทพฯ ให้เตรียมเคลื่อนไหวโดยด่วนและเด็ดขาดถ้าเกิดวุ่นวายขึ้นอีก แม้เขาไม่ได้ขยายความคำสั่งของตน แต่เป็นไปได้มากที่กฤษณ์กำลังคิดเรื่องจับตัวนักกิจกรรมนักศึกษาบางคน ในช่วงการเดินขบวนของนักศึกษาซึ่งเกิดความรุนแรงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น รัฐบาลอาศัยกำลังตำรวจมารับสถานการณ์ และไม่ได้เรียกใช้กองทัพ

ชัดเจนแล้วว่า พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลได้แอบอนุมัติให้ทหารเข้าปราบปรามความวุ่นวายขนานใหญ่ครั้งใดก็ตามที่เกิดจากแรงกระตุ้นของนักศึกษา   พระเจ้าอยู่หัวกำลังทบทวนเรื่องที่ทรงสนับสนุนขบวนการนักศึกษา สืบเนื่องจากแนวคิดแบบ "ถอนรากถอนโคน" บางแนวคิดที่เดี๋ยวนี้ผู้นำนักศึกษาหลายคนได้แสดงออกมา

แม้ในกรุงเทพฯ จะกังวลกันบ้างว่า กองทัพอาจฉวยประโยชน์จากสถานการณ์ แต่ก็ไร้หลักฐานว่า กองทัพจะใช้การดำเนินการต่อนักศึกษามาเป็นข้ออ้างขับไล่รัฐบาลพลเรือน ถึงอย่างนั้น การใช้ยาแรงจำกัดกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างกองทัพกับนักศึกษา ความอ่อนไหวในกองทัพก็กำลังพุ่งสูงเป็นพิเศษ เพราะข้อกล่าวหาของนักศึกษาที่ว่า หน่วยทหารเพิ่งเผาล้างหมู่บ้านในภาคอีสานของไทยซึ่งต้องสงสัยว่า ให้ที่ซุกซ่อนแก่ผู้เห็นอกเห็นใจคอมมิวนิสต์  

กัมพูชา

ไม่นานมานี้ สิริมตะ[1] หัวหน้าพรรคสาธารณรัฐ[2] พูดในที่ลับว่า ตนและพวกทำงานกับประธานาธิบดีลอน นอล[3] และสมาชิกพรรคสังคมสาธารณรัฐ[4] ของเขา ต่อไปไม่ไหวแล้ว ตามที่สิริมตะว่า ลอน นอล นั้นได้ "บ่อนทำลาย" ความพยายามทุกอย่างของสมาชิกพรรคสาธารณรัฐที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศ รัฐมนตรีหลายคนจากพรรคสาธารณรัฐก็ได้สะท้อนข้อวิจารณ์ของมตะ แต่ลอง โบเรต[5] นายกรัฐมนตรี ได้เกลี้ยกล่อมให้พวกเขาอยู่ในคณะรัฐมนตรีต่อ

มตะยังต้องการให้ยุบกรมปรึกษานโยบายชั้นสูง[6] ที่ตนรับหน้าที่อยู่ มตะเชื่อว่า กรมซึ่งมีสมาชิกสามคน และอนุมานได้ว่าเป็นคณะผู้ปกครองของประเทศนี้ ใช้การไม่ได้แล้ว เขาพร่ำบ่นว่า กรมนี้นานทีปีหนจะประชุมกันสักครั้ง และมีงานที่จะทำเป็นจริงเป็นจังน้อย เพราะการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดนั้นก็ทำกันมาแล้วก่อนจะเสนอเรื่องใด ๆ ให้กรมนี้เสียอีก มีรายงานว่า ลอง โบเรต ซึ่งเป็นสมาชิกกรมนี้อยู่ด้วย ก็มีมุมมองอย่างเดียวกับมตะ ลอน นอล ตระหนักทราบเรื่องนี้แล้วเชิญพวกเขาให้มาถกกันเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรม และเสนอ "คำแนะนำให้ดำเนินการ" มาให้เขา

หมายเหตุ

อิรัก–สหภาพโซเวียต:   สหภาพโซเวียต ได้จัดหาจรวดฟร็อก ซึ่งเป็นขีปนาวุธยุทธวิธีไร้การควบคุม ให้แก่อิรัก มีการยืนยันอัตลักษณ์ของจรวดดังกล่าวหนึ่งลำ พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนและพาหนะส่งกำลังเพิ่มเติม ที่อาคารทหารห่างจากแบกแดดไปทางใต้ราว 45 ไมล์  

สหภาพโซเวียต:  

     

ลิเบีย–ยุโรปตะวันออก: ลิเบียได้ทำความตกลงกับยุโรปตะวันออกซึ่งอาจเพิ่มปริมาณน้ำมันที่ตนจะได้ส่งออกไปยังพื้นที่นั้นโดยตรงเป็น 140,000 บาร์เรลต่อวันสำหรับปีนี้ ซึ่งเป็นสองเท่าของปริมาณที่จัดส่งในปี 1973 เดือนนี้โปแลนด์กับโรมาเนียลงนามในความตกลงระยะยาวกับลิเบีย ส่วนเชโกสโลวาเกียบรรลุความตกลงห้าปีที่จะทำให้ได้น้ำมันมาด้วยเกณฑ์การแลกเปลี่ยน เดือนที่แล้วฮังการีกับบัลแกเรียจัดให้มีการส่งมอบน้ำมันสำหรับปีนี้ แต่ปริมาณค่อยข้างน้อย การจัดส่งเหล่านี้อาจตีเป็นปริมาณได้น้อยกว่าร้อยละ 10 ของน้ำมันที่เป็นไปได้ว่าลิเบียส่งออกสำหรับปี 1974

โรมาเนีย: โรมาเนียได้ตัดสินใจจะลดทอนความเจริญเติบโตด้านอุตสาหกรรมที่เดี๋ยวนี้อยู่ในระดับสูงสุดในยุโรปตะวันออก เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการผลิตสินค้าสำหรับผู้บริโภคและการเกษตรในแผนการที่ตนวางไว้ห้าปีตั้งแต่ปี 1976 ถึง 1980 ซึ่งตอนนี้ปรากฏว่ากำลังร่างกันอยู่ ประธานาธิบดีเชาเชสกู ซึ่งประกาศการเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากถึงโคนจากนโยบายอันนี้ในการให้สัมภาษณ์ที่เพิ่งผ่านมา มองเห็นอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นทางการเมืองที่จะต้องปรับปรุงล็อต [สินค้าสำหรับ] ผู้บริโภค ด้วยเหตุผลในทางเศรษฐกิจแล้ว ก็คาดหมายได้ว่า การส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ออกจำนวนมากจะก่อให้เกิดปัญหาดุลการชำระเงิน

ความลับสุดยอด

เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. สีสุวัตถิ์ สิริมตะ (เขมร: ស៊ីសុវត្ថិ សិរិមតះ สีสุวตฺถิ์ สิริมตะ) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. พรรคเขมรสาธารณรัฐ (เขมร: គណបក្សខ្មែរសាធារណរដ្ឋ คณบกฺส ขฺแมร สาธารณรฎฺฐ) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. เขมร: លន់ នល់ ลน̍ นล̍ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. เขมร: គណបក្សសង្គមសាធារណរដ្ คณบกฺส สงฺคม สาธารณรฎฺ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. เขมร: ឡុង បូរ៉េត ฬุง บูเรต (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  6. เขมร: ក្រុមប្រឹក្សានយោបាយជាន់ខ្ពស់ กฺรุม บฺรึกฺสา นโยบาย ชาน̍ ขฺพล่ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)

บรรณานุกรม

แก้ไข
    งานนี้เป็นงานแปล ซึ่งมีสถานะทางลิขสิทธิ์แยกต่างหากจากงานต้นฉบับ
งานต้นฉบับ:
 

งานนี้เป็นเป็นสาธารณสมบัติในสหรัฐ เนื่องจากเป็นงานของรัฐบาลกลางสหรัฐ (ดู ประมวลกฎหมายสหรัฐ ลักษณะ 17 มาตรา 105)

 
งานแปล:
 

ข้าพเจ้า ผู้ถือลิขสิทธิ์ในงานนี้ ให้งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ คำประกาศนี้ให้มีผลทั่วโลก
ถ้าคำประกาศดังกล่าวไม่อาจเป็นไปได้ในทางกฎหมาย ข้าพเจ้าก็ให้ทุกคนมีสิทธิใช้งานนี้ได้ในทุกกรณี โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เว้นแต่ที่กฎหมายกำหนด