งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/บทที่ 2
ตาม อรรถกถาฯ ของอิโต[1] องคมนตรีสภาเป็น "คณะที่ปรึกษาสูงสุดตามรัฐธรรมนูญสำหรับจักรพรรดิ"[2] ทั้งเป็น "เครื่องพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญและกฎหมาย" และด้วยอำนาจหน้าที่ของตนแล้ว สภานี้มีหน้าที่ต้อง "จงรักภักดีและตรงไปตรงมาอย่างที่สุดในการถวายคำแนะนำต่อจักรพรรดิ" สภานี้ย่อมสูงกว่าคณะรัฐมนตรี เพราะอาจมีการขอคำแนะนำของสภานี้ในเรื่องการจัดองค์กรของคณะรัฐมนตรีได้ อนึ่ง จักรพรรดิอาจทรงส่งมาตรการทุกอย่างของคณะรัฐมนตรีไปให้สภานี้พิจารณา ไม่ว่าก่อนหรือหลังคณะรัฐมนตรีเสนอมาตรการเหล่านี้ต่อสภานิติบัญญัติก็ดี หรือหลังจากมาตรการเหล่านี้ผ่านสภานิติบัญญัติแล้วก็ดี ดังนั้น องคมนตรีสภาจึงเป็นคณะบุคคลที่มีอิทธิพลจนการเป็นสมาชิกสภานี้ได้รับพรรณนาไว้ว่า เป็นเกียรติยศใหญ่หลวงนัก กระนั้น ต้องขอกล่าวด้วยความเสียใจว่า บางทีก็มีผู้จัดหาที่เหมาะที่ควรไว้ให้องคมนตรีสภา อันเป็นที่ที่บุคคลสำคัญซึ่งควรต้องได้รับการเอาใจใส่นั้นจะถูกส่งไปเข้ากรุ และรัฐมนตรีที่รวมกันเป็นคณะรัฐมนตรีนั้นก็มีที่นั่งโดยตำแหน่งอยู่ในองคมนตรีสภา และโดยลำพังรัฐมนตรีเหล่านี้ก็พอจะเป็นองค์ประชุม 10 คนแล้ว
องคมนตรีสภามีสิทธิ์มีเสียงในการถวายคำแนะนำต่อสภาราชวงศ์ในเรื่องสำคัญทั้งหลาย เช่น การเปลี่ยนแปลงลำดับการสืบราชบัลลังก์ และการเลือกผู้สำเร็จราชการในกรณีที่จักรพรรดิทรงพระเยาว์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จักรพรรดิจะทรงปรึกษากับองคมนตรีสภาในยามที่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองก็ได้ คณะรัฐมนตรีนั้นเป็น "คณะเจ้าพนักงานชั้นผู้ใหญ่ในฝ่ายบริหาร" ส่วนองคมนตรีสภานั้นเป็น "คณะที่ปรึกษาหารืออันประกอบด้วยที่ปรึกษาชั้นผู้ใหญ่ในทางกฎหมายสำหรับองค์อธิปัตย์" อิโตเสนอว่า "สภานี้จะเป็นที่ประจักษ์อย่างแน่นอนว่า เป็นชิ้นส่วนสำคัญในกลไกทางรัฐธรรมนูญ"[3] การที่อำนาจองคมนตรีสภามีวิวัฒนาการขึ้นทีละน้อยนั้นเป็นลักษณะเด่นที่ควรสังเกตที่สุดของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นทีเดียว แต่กลับกัน ผู้เชื่อถือในสถาบันประชาชนย่อมเห็นว่า องคมนตรีสภา "ช่วงชิง" อำนาจไปเสีย และควรปฏิรูปการจัดองค์กรราชการขององคมนตรีสภาเพื่อจำกัดอำนาจหน้าที่สภานี้[4]
การให้รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดองค์กรขององคมนตรีสภานั้นคงไม่จำเป็นเท่าไร แต่คงจะดีถ้าจะนำมาตราต่อไปนี้ของพระราชกำหนด ปี 1888 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 1890 มาลงซ้ำไว้ คือ
"มาตรา2ให้องคมนตรีสภาประกอบด้วยประธาน 1 คน รองประธาน 1 คน สมาชิก 25 คน เลขาธิการ 1 คน และเลขานุการ 5 คน
"มาตรา5ให้องคมนตรีสภาประชุมกันเพื่อประโยชน์ในการถวายคำแนะนำต่อสมเด็จพระจักรพรรดิ และให้แถลงความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้
"1.เรื่องซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของตนตามโคชิตสึเท็มปัง (กฎหมายสภา)
"2.ร่าง และประเด็นที่น่าสงสัยเกี่ยวกับมาตราในรัฐธรรมนูญ และเกี่ยวกับกฎหมายหรือข้อกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญ
"3.การประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยภาวะปิดล้อม[5] ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 14 และพระราชกำหนดดังระบุถึงในมาตรา 8 และ 62 ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงพระราชกำหนดอื่น ๆ อันมีสภาพเคร่งครัด
"4.สนธิสัญญาและคำมั่นสัญญาระหว่างประเทศ
"5.เรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมการจัดองค์กรขององคมนตรีสภา และระเบียบการดำเนินกิจการในองคมนตรีสภา
"6.เรื่องซึ่งได้รับการแสวงหาคำปรึกษาเป็นพิเศษ นอกจากที่ระบุถึงในวรรคทั้งหลายก่อนนี้
"มาตรา10วรรค2ให้ประธานจัดให้เลขาธิการทำคำอธิบาย แล้วจึงให้สมาชิกอภิปรายเรื่องต่าง ๆ อย่างเสรี แต่ห้ามสมาชิกผู้ใดกล่าวโดยมิได้รับอนุญาตจากประธานผู้ซึ่งอาจเข้าร่วมถกเถียงได้ทุกกรณี แล้วให้ระบุปัญหาที่จะพึงวินิจฉัย และกำหนดให้สมาชิกออกเสียงลงคะแนนในปัญหานั้น"
เราขอนำถ้อยคำต่อไปนี้จากพระราชกำหนดเดิมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 1888 มาลงไว้ด้วย
"มาตรา8แม้องคมนตรีสภาจะเป็นคณะบุคคลชั้นสูงสุดของจักรพรรดิ แต่มิให้องคมนตรีสภาแทรกแซงฝ่ายบริหาร"
- ↑ Ito, H. (1889). Commentaries on the Constitution of the Empire of Japan. Tokyo: Igirisu-Hōritsu Gakko. OCLC 1412618. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ Op. cit., p. 98.
- ↑ Ibid.
- ↑ ผู้เคยเป็นประธานองคมนตรีสภา ได้แก่ ฮากูชากุอิโต [ฮิโรบูมิ], ฮากูชากุคุโรดะ [คิโยตากะ], โคชากุไซอนจิ [คิมโมจิ], โคชากุอิโต [ฮิโรบูมิ], และโคชากุยามางาตะ [อาริโตโมะ]
- ↑ กฎอัยการศึก ดูตัวอย่างจากกฎหมาย ลงวันที่ 3 เมษายน 1878 เกี่ยวกับภาวะปิดล้อม ของฝรั่งเศส (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)