งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/บทที่ 3

3. รัฐบุรุษอาวุโส

การอภิปรายเรื่อง "ระบอบจักรพรรดิตามรัฐธรรมนูญ" นี้ ต้องไม่ลืมกล่าวถึงคณะบุคคลอันเรียกกันว่า เก็นโร ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษกันตามชอบใจด้วยคำว่า "รัฐบุรุษอาวุโส"[1] อันที่จริง บุคคลคณะนี้ไม่มีเอ่ยถึงในรัฐธรรมนูญ เขาเหล่านี้เป็นองค์กรนอกรัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือกว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร เว้นเสียแต่องค์จักรพรรดิกับองคมนตรีสภา บุคคลเหล่านี้เหลือรอดมาจากระบอบเจ้าขุนมูลนาย เป็นเถ้าอัฐิของประวัติศาสตร์ พูดให้ตรงกับความจริงยิ่งขึ้น บุคคลเหล่านี้เป็นผู้หลงเหลือมาจากคณะบุคคลอันยิ่งใหญ่ซึ่งประสบผลสำเร็จในการฟื้นฟูเมื่อปี 1868[2] และการปฏิสังขรณ์ญี่ปุ่นในช่วงเวลาอัศจรรย์แห่งยุคเมจิ พวกเขาสมควรได้รับกิตติศัพท์ยิ่งกว่าใครในการที่ได้สร้างสิ่งที่เป็นอยู่ในยามนี้ให้แก่ญี่ปุ่นใหม่ เขาเป็นรัฐบุรุษผู้ทรงความสามารถสูงสุด แต่มองกันว่า พวกเขาดำรงอยู่มาเกินเวลาที่ตนจะเป็นประโยชน์เสียแล้ว พวกเขาจึงอยู่ผิดยุคผิดสมัย ตั้งแต่โคชากุอิโต[3] ผู้แข็งขันและโดดเด่นที่สุด และโคชากุอิโนอูเอะ[4] ถึงแก่กรรมไป บุคคลคณะนี้ก็เหลือเพียง 3 คน ผู้เหลือรอด คือ โคชากุยามางาตะ[5] และโคชากุโอยามะ[6] (ซึ่งนานทีปีหนจะปฏิบัติกิจสักครา) และโคชากุมัตสึกาตะ[7]

รัฐบุรุษอาวุโสเหล่านี้เป็น "วอริกแห่งญี่ปุ่น" มิใช่ในแง่ที่เป็นผู้ยกกษัตริย์ขึ้นสู่ตำแหน่ง[8] แต่ในแง่ที่เป็นผู้ยกคณะรัฐมนตรีเข้าสู่ตำแหน่ง ความจริงแล้ว เขาเหล่านี้มิใช่เพียงยกคณะรัฐมนตรีเข้าสู่ตำแหน่ง แต่ยังยกคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งด้วย พวกเขาเป็นอำนาจทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้าราชบัลลังก์ ในเรื่องวิกฤตการณ์สำคัญทางการเมืองทุกเรื่องนั้น จักรพรรดิทรงปรึกษากับบุคคลเหล่านี้เป็นประจำ และแน่นอนว่าอย่างไม่เป็นทางการ กระนั้น องค์คณะอัน "รุ่งเรืองแต่ล้าหลัง" นี้ ดูประหนึ่งจะนับวันเวลาที่เหลืออยู่ได้ทีเดียว เป็นความลับที่รู้กันทั่วแล้วว่า ในคราที่พวกเขาทูลเสนอต่อจักรพรรดิให้โอชากุโอกูมะเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 1914 นั้น พวกเขาทูลเช่นนั้นเพียงเพราะต้านเสียงเรียกร้องของปวงประชาไม่ไหวแล้ว หลังจากที่ได้พยายามก่อตั้งคณะรัฐมนตรีฝ่ายปฏิกิริยา[9] โดยมีชิชากุคิโยอูระ[10] เป็นหัวหน้าแล้วแต่ล้มเหลว ฉะนั้น 25 ปีแรกแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมในญี่ปุ่นจึงเกิดผลลัพธ์ประการหนึ่ง คือ การที่ปัจจัยนอกรัฐธรรมนูญซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นปัจจัยรุนแรงนี้ถูกกำจัดไปเสียเกือบหมด และในอีกไม่ช้าย่อมจะลาโรงไปทั้งคณะด้วยมรณกรรม


  1. ดู 元老 (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. การฟื้นฟูเมจิ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. คือ อิโต ฮิโรบูมิ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ส่วน "โคชากุ" (公爵) นั้นเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางชั้นเอก ภาษาอังกฤษเรียกเป็น "prince" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. คือ อิโนอูเอะ โควาชิ ส่วน "โคชากุ" (侯爵) นั้นเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางชั้นโท (ออกเสียงเหมือนบรรดาศักดิ์ชั้นเอก) ภาษาอังกฤษเรียกเป็น "marquis" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. ยามางาตะ อาริโตโมะ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  6. โอยามะ อิวาโอะ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  7. มัตสึกาตะ มาซาโยชิ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  8. สำนวนอังกฤษว่า "วอริก" (Warwick) นั้น มาจากตำแหน่งเอิร์ลแห่งวอริกของริชาร์ด เนวิลล์ ซึ่งมีฉายาว่า "ผู้สถาปนาราชา" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  9. ฝ่ายที่ต้องการหวนกลับไปสู่ระบอบเดิม ดู พวกปฏิกิริยา (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  10. คิโยอูระ เคโงะ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)