งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/บทที่ 7
รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมีอยู่ 15 มาตรา (มาตรา 18–33) ในหัวข้อเรื่องสิทธิและหน้าที่ของคนในบังคับ รัฐธรรมนูญกล่าวว่า เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเป็นคนในบังคับญี่ปุ่นนั้นให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รัฐธรรมนูญยอมให้คนในบังคับญี่ปุ่นดำรงตำแหน่งหน้าที่สาธารณะได้ตามคุณสมบัติบางประการ รัฐธรรมนูญให้คนในบังคับญี่ปุ่นต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในราชการทหารและในการเสียภาษีตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญระบุว่า ให้คนในบังคับญี่ปุ่นมีเสรีภาพในเคหสถานตามขอบเขตของกฎหมาย ห้ามละเมิดสิทธิของคนในบังคับญี่ปุ่นในเรื่องทรัพย์สิน ห้ามเข้าไปหรือค้นบ้านเรือนของคนในบังคับญี่ปุ่นโดยปราศจากความยินยอมของเขาเหล่านั้น เว้นแต่ในกรณีที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ห้ามละเมิดความลับในจดหมายของคนในบังคับญี่ปุ่น เว้นแต่ในกรณีที่เอ่ยไว้ในกฎหมาย รัฐธรรมนูญยังอนุญาตให้เขาเหล่านั้นถวายฎีกาได้ตามเงื่อนไขบางประการที่เหมาะสม
รัฐธรรมนูญประกาศว่า
"ห้ามจับกุม คุมขัง พิจารณา หรือลงโทษคนในบังคับญี่ปุ่นคนใด ๆ เว้นแต่เป็นไปตามกฎหมาย" (มาตรา 17)
"ห้ามพรากคนในบังคับญี่ปุ่นคนใด ๆ ไปเสียจากสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาจากตุลาการตามที่กฎหมายกำหนด" (มาตรา 24)
รัฐธรรมนูญยังบัญญัติว่า
"ให้คนในบังคับญี่ปุ่นได้อุปโภคเสรีภาพในการพูด การเขียน การเผยแพร่ การประชุมสาธารณะ และการสมาคม ภายในขอบเขตของกฎหมาย" (มาตรา 29)
และว่า
"ให้คนในบังคับญี่ปุ่นได้อุปโภคเสรีภาพในความเชื่อทางศาสนา ภายในขอบเขตที่ไม่เสียหายต่อความสงบเรียบร้อย และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของตนในฐานะคนในบังคับ" (มาตรา 28)
แน่นอนว่า คงจะเป็นที่สังเกตว่า บรรดาความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของคนในบังคับญี่ปุ่นนั้นถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขดังเช่น "เป็นไปตามกฎหมาย" "เว้นแต่ในกรณีที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย" "ภายในขอบเขตที่ไม่เสียหายต่อความสงบเรียบร้อย" ฯลฯ ดังนั้น คงไม่ผิดถ้าจะกล่าวเหมือนที่อูเอฮาระ[1] กล่าวว่า "รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมิได้ให้หลักประกันอย่างสมบูรณ์ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง"[2] เขายังกล่าวอย่างค่อนข้างแข็งขันว่า
"ว่ากันตามจริง รัฐธรรมนูญส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้น เป็นเพียงผักชีโรยหน้า ตราบที่รัฐบาลไม่จำต้องรับผิดชอบต่อประชาชน"[3]
อีกแง่หนึ่ง ก็ต้องยอมรับกันว่า ในช่วง 25 ปีแรกแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมในญี่ปุ่นนั้น ได้มีการตรากฎหมายเพื่อขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวง ถ้าท่านผู้อ่านจะกรุณาอุตส่าห์หันกลับไปมองบทวิจารณ์การประชุมทั้ง 36 สมัยของสภานิติบัญญัติแล้ว ท่านจะเห็นได้เองว่า ข้อความนี้จริงแท้แน่นอน ท่านพึงสังเกตเป็นพิเศษว่า ในการประชุมสมัยที่ 13 และ 14 นั้น ได้บรรลุสิ่งใดในทางที่ขยายสิทธิและเอกสิทธิ์ของประชาชนบ้าง และความล้ำหน้าในเรื่องนี้ก็เป็นหลักประกันอย่างหนึ่งซึ่งเป็นความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่กว่าเดิมนักภายใต้เงื่อนไขที่ก่อคุณประโยชน์ให้มากขึ้น ๆ ในตลอดเส้นทางแห่งการปกครองของประชาชน แม้สิ่งทั้งหลายที่ได้บรรลุมานี้จะยังห่างไกลจากความน่าพึงพอใจอยู่ตาม ทว่า ในการตีค่าสิ่งเหล่านั้น เราต้องระมัดระวังที่จะไม่ตัดสินไปตามมาตรฐานแนวคิดเรื่องสิทธิและเอกสิทธิ์ของปัจเจกบุคคลแบบแองโกล-แซกซัน ถ้าจะให้ยุติธรรม ก็ต้องเทียบญี่ปุ่นในปี 1915 เข้ากับญี่ปุ่นในปี 1890 เท่านั้น ผู้เขียนเคยใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น (ที่มิโตะ) ในตอนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ปี 1889) และในคราวประชุมสภานิติบัญญัติเป็นครั้งแรก (ปี 1890) และผู้เขียนรับรองได้จากข้อสังเกตการณ์และประสบการณ์ส่วนตัวว่า ในช่วง 25 ปีมานี้ ได้เกิดความก้าวหน้าในการขยายสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเป็นแน่