งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/บทที่ 8

8. พรรคการเมือง

นี่เป็นอีกหัวข้อหนึ่งซึ่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมิได้เอ่ยถึง แต่เป็นผลที่งอกงามขึ้นตามสภาพและตามความจำเป็นของลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม พรรคการเมืองเป็นองค์กรสำคัญของสถาบันผู้แทนปวงชน เราไม่จำเป็นต้องก้าวย่างเข้าไปอภิปรายหัวข้อนี้ให้ยืดยาว เพราะผู้เขียนได้บรรยายไว้เต็มอัตรากว่านี้แล้วใน รัฐศาสตร์รายไตรมาส ฉบับเดือนธันวาคม 1912[1] และยิ่งล่าสุดกว่านั้น (มิถุนายน 1914) นายเฮนรี ซาโต ได้เผยแพร่หนังสือชื่อ วิวัฒนาการของพรรคการเมืองในญี่ปุ่น[2] ซึ่งเราได้อ้างถึงมาบ้างแล้ว อูเอฮาระ[3] ก็ได้อภิปรายหัวข้อนี้ไว้เหมือนกัน[4]

ประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองในญี่ปุ่นนั้นอาจแบ่งออกเป็นช่วงเวลาดังต่อไปนี้ (1) ช่วงเป็นตัวอ่อน ปี 1867–1882 (2) ช่วงจัดระเบียบ ปี 1882–1890 (3) ช่วงพัฒนา ปี 1890–1898 (4) ช่วงมีอิทธิพล ปี 1898–1911 (5) ช่วงมีอำนาจเหนือองค์กรอื่น ปี 1911 เรื่อยมา แต่ในเรื่องนี้ เราเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับช่วงเวลา 3 ช่วง คือ ตั้งแต่ปี 1890 จนถึงปัจจุบันเท่านั้น

การเลือกตั้งระดับชาติเป็นครั้งแรกในวันที่ 4 กรกฎาคม 1890 นั้น[5] นำมาสู่ผลการเลือกตั้งที่มีสมาชิกแตกแยกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย 10 กลุ่ม แต่กระนั้น บางกลุ่มก็หลอมรวมกันเป็นพรรคการเมือง 4 หรือ 5 พรรคเป็นผลสำเร็จ ซึ่งในจำนวนนี้ พรรคใหญ่ที่สุด คือ จิยูโต หรือพรรคเสรีนิยม[6] หลายปีทีเดียวที่กลุ่มเสรีนิยมและกลุ่มหัวก้าวหน้า (ไคชินโต[7] หรือชิมโปโต)[8] เป็นพรรคโดดเด่นที่สุด และรัฐบาลก็คอยหาช่องเป็นพันธมิตรกับแต่ละพรรคเหล่านี้ตามลำดับ ในปี 1898 พรรคทั้งสองดังกล่าวกลบฝังความบาดหมางเอาไว้ แล้วผนึกกำลังกันก่อตั้งเค็นเซโต หรือพรรครัฐธรรมนูญนิยม[9] พรรคใหม่นี้ได้รับเชิญให้เข้าจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในทันทีทันใด ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า คณะรัฐมนตรีโอกูมะ-อิตางากิ[10] เพราะมาจากหัวหน้าพรรคทั้งสองที่ผนึกกำลังกัน คณะรัฐมนตรีที่สองพรรคเชื่อมเข้าหากันนี้ไม่นานก็ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งภายใน และรัฐบาลผสม ซึ่งเป็นการหลอมรวมกันเพียงหนึ่งเดียว ก็สลายตัวลงสู่องค์ประกอบดั้งเดิม ครั้นปี 1900 เซยูไก[11] พรรคใหม่ของอิโต[12] ซึ่งมีกลุ่มเสรีนิยมกลุ่มเดิมเป็นแกนกลาง ก็ได้รับเชิญให้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วน ซึ่งดำรงอยู่ต่อมาเพียงสั้น ๆ ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลแบบมีพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นดูประหนึ่งจะชิงสุกก่อนห่าม แต่ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความนิยมในช่วงเหตุการณ์เหล่านั้นได้ อนึ่ง ในเรื่องความพยายามครั้งแรกนั้น ก็เหมือนที่อูเอฮาระนำเสนอ คือ "ความสำคัญจริง ๆ อยู่ในข้อที่ว่า ได้ทำให้อคติเรื่องบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพรรคเมืองจะเป็นรัฐมนตรีมิได้นั้นสูญสลายไปโดยสิ้นเชิง"[13] คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ของไซอนจิกับยามาโมโตะ[14] นั้นเป็น "คณะรัฐมนตรีแบบมีพรรคการเมือง" แท้ ๆ และคณะรัฐมนตรีของโอกูมะ[15] ก็เป็นเช่นนั้นยิ่งกว่า ถึงแม้ว่าจะเป็น "คณะรัฐมนตรีที่อิงตัวบุคคล" โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า มีตัวโอกูมะเองเป็น "นายก" อยู่ด้วยก็ตาม

และนี่ก็เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงลักษณะเด่นอย่างแปลกประหลาดของพรรคการเมืองญี่ปุ่น นี่เป็นองค์ประกอบส่วนบุคคลซึ่งทำให้ฝักฝ่ายและพรรคการเมืองต่าง ๆ ระดมตัวอยู่รายรอบคนมากกว่ารายรอบวิธีการ หรือก็คือ อิงตัวบุคคลมากกว่าจะอิงหลักการ แน่ล่ะ ลักษณะเด่นเช่นนี้เป็นสิ่งเหลือรอดมาจากระบบเจ้าขุนมูลนาย ดังที่โอซากิ (บัดนี้เป็นรัฐมนตรียุติธรรม)[16] เคยชี้เอาไว้ในบทความในนิตยสารชื่อ ชินเซกิ (ศตวรรษใหม่) เขาว่า "ข้อเท็จจริง ก็คือ นักการเมืองส่วนใหญ่ของพวกเรายังคงติดพันอยู่กับความคิดแบบเจ้าขุนมูลนาย ทัศนคติที่พวกเขามีต่อประธานพรรคนั้น เป็นอย่างเดียวกับที่บริวารของไดเมียวมีต่อเจ้านายตนทุกประการ"

ความแปลกประหลาดอีกอย่าง คือ สายใยของพรรคการเมืองนั้นไม่แน่นแฟ้น และหลักการของพรรคการเมืองก็ไม่แน่นอน ปัจเจกบุคคลทั้งหลายย่อมเห็นว่า การแปรพักตร์จากพรรคหรือฝักฝ่ายหนึ่ง ๆ ไปสู่อีกอันหนึ่งนั้นไม่ยากเลย ซึ่งมักเป็นไปโดยไม่ต้องละทิ้งหลักการของตนก็ได้ ถ้าจะมีอยู่สักหลัก! โดยมากแล้ว สาเหตุในเรื่องนี้ คือ ความที่แนวนโยบายของพรรคนั้นไม่แน่นอนและกวาดกว้าง หรือสภาพที่ไร้หลักการเด่นชัดอย่างแท้จริงอันจะช่วยจำแนกพรรคต่าง ๆ ออกจากกัน ตัวอย่างเช่น มีการพบว่า การเพิ่มภาษีที่ดินนั้นได้เสียงสนับสนุนและคัดค้านจากพรรคการเมืองพรรคเดียวกัน ตามแต่สถานการณ์ ส่วนโอกูมะ[17] และโอซากิ[16] ซึ่งตอนนี้ได้ "อยู่ในวงการ" แล้ว ก็นำเสนอแผนเพิ่มกำลังทหารบกซึ่งพวกคนเคยคัดค้านอย่างแข็งขันสมัยที่ "อยู่นอกวงการ" และบุคคลเหล่านี้ก็มิได้สนใจที่ใครกล่าวหาว่า ไร้ความคงเส้นคงวา พวกเขาดูจะเห็นพ้องกับเอเมอร์สัน[18] ว่า "ความคงเส้นคงว่าแบบโง่ ๆ ก็คือ เรื่องสยองขวัญสำหรับคนใจแคบ"

แม้จะมีข้อด้อยประการใด พรรคการเมืองญี่ปุ่นก็ได้สร้างความก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวงเป็นแน่แท้ เจแปนไทมส์ ฉบับ 12 ตุลาคม 1911 เขียนว่า รัฐบาลแบบมีพรรคการเมืองคงจะได้รับการตอบรับดี "ถึงจะมีส่วนเลวทั้งหลายในระบบพรรคก็ตาม เพราะว่ารัฐบาลเช่นนี้จะช่วยขจัดระบอบอำมาตย์แบบอัตตานิยมที่เข้าถือครองความเป็นใหญ่ในประเทศชาติ" ซาโต[19] กล่าวว่า

"การจัดตั้งรัฐบาลโอกูมะจึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เป็นชัยชนะของหลักการเรื่องรัฐบาลแบบมีพรรคการเมือง และบัดนี้ ฮากูชากุโอกูมะ[20] ผู้เป็นนายก ก็สมใจแล้วที่ได้ออกมามีชัยเหนือฝ่ายตรงข้าม หลังจากที่เขาต่อสู้มาหลายปีเพื่อความก้าวหน้าทางรัฐธรรมนูญของประเทศอันเป็นที่รักของเขา"[21]

เวลานี้ ดูค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า พรรคการเมืองญี่ปุ่น แม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ได้ประชาชนในจักรวรรดิมาคอยหนุนหลังแล้ว


  1. Clement, E. W. (1912). "Political Parties in Japan". The Political Science Quarterly 27 (4): 669–681.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. Satoh, H. (1914). Evolution of Political Parties in Japan: A Survey of Constitutional Progress. Tokyo: K.M. Kawakami. OCLC 259706032.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. Uyehara, G. E. (1910). The Political Development of Japan, 1867–1909. London: Constable. OCLC 466274954.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. คาวากามิ, แนวคิดทางการเมืองของญี่ปุ่นสมัยใหม่, โชกวาโบ, โตเกียว, 1903; และ เอกสารของเลย์ใน รายงานการประชุมของสมาคมเอเชียแห่งญี่ปุ่น, โตเกียว, เล่ม 30, หน้า 363–462 ก็ทรงคุณค่าเช่นกัน
  5. ดู 1890 Japanese general election (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  6. ดู Liberal Party (Japan, 1890) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  7. ชื่อพรรคการเมือง ดู Kaishintō (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  8. ชื่อพรรคการเมือง ดู Shimpotō (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  9. ดู Kenseitō (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  10. คณะรัฐมนตรีของโอกูมะ ชิเงโนบุ กับอิตางากิ ไทซูเกะ ดู First Ōkuma Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  11. ชื่อพรรคการเมือง ดู Rikken Seiyūkai (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  12. อิโต ฮิโรบูมิ ดู Itō Hirobumi (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  13. เรื่องเดิม, หน้า 241.
  14. คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ของไซอนจิ คิมโมจิ และยามาโมโตะ ทัตสึโอะ ดู Second Saionji Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  15. อาจหมายถึง คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ที่มีโอกูมะ ชิเงโนบุ เป็นนายกรัฐมนตรี ดู Second Ōkuma Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  16. 16.0 16.1 ยูกิโอะ โอซากิ ดู Yukio Ozaki (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  17. โอกูมะ ชิเงโนบุ ดู Ōkuma Shigenobu (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  18. Emerson, R. W. (1841). "Self-Reliance". Essays: First Series: 79–117.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  19. เฮนรี ซาโต (Henry Satoh) นามปากกาของไอมาโระ ซาโต (Aimaro Satō) ดู Aimaro Satō (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  20. "ฮากูชากุ" เป็นบรรดาศักดิ์ญี่ปุ่น ดู hakushaku ส่วน "โอกูมะ" คือ โอกูมะ ชิเงโนบุ ดู Ōkuma Shigenobu (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  21. เรื่องเดิม, หน้า 106.