งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/บทที่ 9
ขั้นตอนหนึ่งที่มีนัยสำคัญที่สุดในความก้าวหน้าทางการเมืองอันดำเนินไปในญี่ปุ่นใหม่ในช่วงรัฐธรรมนูญนิยม 25 ปีที่ผ่านมานั้น คือ พัฒนาการในการออกความคิดเห็นสาธารณะแบบโจ่งแจ้ง จากมุมมองหนึ่ง ในช่วงที่ใช้ระบบเจ้าขุนมูลนายนั้น ไม่เคยมีความคิดเห็นแบบสาธารณะเลย หรือมากที่สุดก็เป็นแต่ในขอบเขตของเรื่องนั้น ๆ ซึ่งค่อนข้างคับแคบและอยู่ในระดับท้องถิ่น ทว่า เมื่อมีการให้สิทธิและเอกสิทธิ์แก่ประชาชน กับทั้งการเผยแผ่การศึกษา และการที่สื่อสิ่งพิมพ์ทวีความสำคัญและอำนาจมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ก็คือ ความคิดเห็นสาธารณะมีวิวัฒนาการเป็นที่น่าพอใจยิ่งนัก จริงอยู่ว่า "และน่าเศร้าจังที่มันจริงอยู่" ว่า การแสดงความเห็นเช่นนั้นอย่างเด่นชัดที่สุดมักปรากฏผ่านความรุนแรงของฝูงผู้ชุมนุม แต่แม้เรื่องอย่างนั้นจะเป็นของคู่กันซึ่งน่าเศร้าแต่ก็คงเลี่ยงไม่ได้ก็ตามที ความคิดเห็นสาธารณะดังที่แสดงออกในสื่อสิ่งพิมพ์และตามแท่นปราศรัยนั้นจะเมินเฉยอีกต่อไปมิได้ หากแต่ต้องนำมาพิจารณาทุกครั้งไป และแม้จะมี "สื่อสีเหลือง"[1] แต่สื่อสิ่งพิมพ์ญี่ปุ่นก็คงเป็นผู้สรรค์สร้างและป่าวประกาศความคิดเห็นสาธารณะที่ใช้การได้
ที่คณะรัฐมนตรีคัตสึระ[2] มีชีวิตราชการอยู่ได้ 2 เดือนก็ล่มจมไปในเดือนกุมภาพันธ์ 1913 นั้น ก็มิใช่เพราะอื่นใดนอกจากความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งเรื่องนี้หากจะมีใครสงสัยสงกาก็คงมีแต่เพียงประปราย และข้อที่ว่า คณะรัฐมนตรียามาโมโตะ[3] ต้องรับผิดชอบเรื่องอื้อฉาวของกองทัพเรือ[4] จนต้องออกจากอำนาจไปทั้งคณะในเดือนมีนาคม 1914 แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีเสียงสนับสนุนจากเซยูไก[5] พร้อมเสียงข้างมากอย่างใหญ่โตอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรก็ตามนั้น ก็เพราะความคิดเห็นสาธารณะดุจเดียวกัน และเป็นความคิดเห็นสาธารณะนี้เองที่อุ้มชูให้คณะรัฐมนตรีโอกูมะ[6] อยู่รอดมาได้หลายเดือนผ่านเสียงข้างมากที่ไม่เป็นใจของเซยูไกเหล่านั้น จนสุดท้ายในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 1915 ก็เป็นอันล้มกระดานได้ทั้งแถบ และเป็นผลให้โอกูมะได้เสียงข้างมากอย่างล้นหลาม ก็เป็นธรรมดาอยู่ที่ความคิดเห็นสาธารณะนั้นคงจะเอาแน่เอานอนไม่ได้เสียทีเดียว และบางทีก็ไม่ยุติธรรมเสียอีก ในปี 1913 สมาชิกฝ่ายเซยูไกในสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เทิดทูนบูชาของประชาชนเนื่องจากได้แสดงการต่อต้านอย่างแข็งขันต่อคัตสึระ แต่พอปี 1914 หลังจากสนับสนุนคณะรัฐมนตรียามาโมโตะ พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องเสี่ยงถูกประณามหยามเหยียดในทางส่วนตัวจนยับเยินคามือผู้ชุมนุม และต้องได้รับการคุ้มกันเป็นพิเศษมิให้ถูกประทุษร้าย ฉะนั้น จึงจริงแท้ทีเดียวที่ผู้คนเป็นได้ทั้งผู้ทุบทำลายรูปเคารพและผู้เชิดชูบูชาวีรชน
ไม่จำต้องเจียระไนให้มากความว่า ความคิดเห็นสาธารณะในญี่ปุ่นคงจะรุนแรงน้อยลง และเป็นปรกติมากขึ้น และมีอิทธิพลสูงยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าประชาชนที่ได้สิทธิเลือกตั้งนั้นมีจำนวนมากขึ้น เป็นความจริงที่ว่า ในรอบ 25 ปีนี้ จำนวนผู้เลือกตั้งเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งยวด ดังที่อาจเห็นได้จากสถิติดังต่อไปนี้[7]
ปี 1890 | . . . . . . . . . . | 453,474 คน |
ปี 1892 | . . . . . . . . . . | 460,914 คน |
ปี 1894 | . . . . . . . . . . | 464,278 คน |
ปี 1896 | . . . . . . . . . . | 467,607 คน |
ปี 1898 | . . . . . . . . . . | 501,459 คน |
ปี 1902 | . . . . . . . . . . | 983,193 คน |
ปี 1904 | . . . . . . . . . . | 757,788 คน |
ปี 1908 | . . . . . . . . . . | 1,582,676 คน |
ปี 1912 | . . . . . . . . . . | 1,503,968 คน |
[ปี 1915 | . . . . . . . . . . | 1,546,241 คน] |
การเพิ่มขึ้นในปี 1902 นั้น เป็นเพราะลดคุณสมบัติด้านทรัพย์สินลง[8] การลดลงในปี 1904 นั้น เป็นเพราะลดภาษีที่ดินลง การเพิ่มขึ้นในปี 1908 นั้น เป็นเพราะขยายสิทธิเลือกตั้งออกไปถึงฮกไกโดและเขตชุมชนเมืองใหม่ ๆ หลายแห่ง ส่วนการเพิ่มขึ้นในปี 1915 นั้น เป็นเพราะขยายสิทธิออกไปถึงจังหวัดโอกินาวะ
ลักษณะเด่นประการหนึ่งซึ่งน่าหดหู่ใจ คือ ผู้เลือกตั้งหลายต่อหลายคนไม่ออกไปใช้เอกสิทธิ์ของตน การแก้ไขในเรื่องนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ย่อมจะเกิดขึ้นจากการก่อตั้งรัฐบาลแบบมีพรรคและการขยายสิทธิออกไปในวงกว้างขึ้น การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 1915 แสดงให้เห็นทีเดียวว่า เกิดการแก้ไขปรับปรุงอย่างชัดเจน ขณะที่อัตราเฉลี่ยของผู้ไม่ไปออกเสียงลงคะแนนในปี 1898 นั้น คิดได้เป็นเกือบร้อยละ 12 ของผู้เลือกตั้งทั้งหมด ในปี 1903 และ 1904 คิดได้เป็นเกือบร้อยละ 14 ในปี 1908 เกินร้อยละ 14 และในปี 1912 เป็นเกือบร้อยละ 10.1 แต่ในปี 1915 เป็นเพียงร้อยละ 8 ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกอะไรได้มากพอดู
ต่อไปนี้ คือ สถิติการเลือกตั้งในปี 1915 แบบเต็ม[9]
จำนวนผู้เลือกตั้ง | . . . . . . . . . . | 1,546,241 |
จำนวนผู้ไม่ไปออกเสียงลงคะแนน | . . . . . . . . . . | 121,548 |
จำนวนผู้ไปออกเสียงลงคะแนน | . . . . . . . . . . | 1,424,693 |
จำนวนคะแนนเสียงที่เสีย | . . . . . . . . . . | 7,557 |
จำนวนคะแนนเสียงที่ดี | . . . . . . . . . . | 1,417,136 |
ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า มีผู้เลือกตั้งที่เห็นคุณค่าของ "คะแนนเสียงหนึ่งเสียงอันล้ำค่า" เป็นจำนวนมากขึ้นกว่าที่เป็นมาแต่ก่อน
น่าเสียดายที่ในญี่ปุ่นยังไม่มีการให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรี แต่ก็มีการอภิปรายกันถึงสิทธิเลือกตั้งถ้วนหน้าสำหรับบุรุษแล้ว ร่างกฎหมายที่จะให้เกิดผลในเรื่องนั้นได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาหนหนึ่งแล้ว แต่ไปคาอยู่ในหิ้งที่สภาขุนนาง แน่ล่ะ คงจะไม่ฉลาดถ้าจะอนุมัติอย่างฉับพลันจนสุดโต่งถึงขั้นให้มีสิทธิเลือกตั้งถ้วนหน้า คงจะดีกว่าถ้าจะค่อย ๆ ขยายสิทธิเลือกตั้งออกไปโดยวิธีลดจำนวนคุณสมบัติด้านภาษีที่จำเป็นสำหรับการมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนลง คาดหมายกันว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีโอกูมะยังอยู่รอดปลอดภัยจนถึงสมัยประชุมสามัญครั้งต่อไปของสภานิติบัญญัติช่วงฤดูหนาวปีหน้า (1916) คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปการเลือกตั้งเพื่อยังให้ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมในญี่ปุ่นที่มีมา 25 ปีแล้วสมบูรณ์พูนพร้อมยิ่งขึ้น
- ↑ สื่อที่ขายข่าวแบบโลดโผนและเกินจริง ดู yellow journalism (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ คณะรัฐมนตรีชุดที่ 3 ที่มีคัตสึระ ทาโร เป็นนายกรัฐมนตรี ดู Third Katsura Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ คณะรัฐมนตรีชุดแรกที่มียามาโมโตะ กนโนเฮียวเอะ เป็นนายกรัฐมนตรี ดู First Yamamoto Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการสมยอม (ฮั้ว) กันจัดซื้อจัดจ้าง ดู Siemens scandal (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ กลุ่มการเมืองที่เรียกว่า ริกเก็งเซยูไก ดู Rikken Seiyūkai (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ที่มีโอกูมะ ชิเงโนบุ เป็นนายกรัฐมนตรี ดู Second Ōkuma Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ หนังสือรายปีญี่ปุ่น ประจำปี 1912 และ 1914
- ↑ หมายถึง การกำหนดคุณสมบัติโดยอิงทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ ดู property qualification (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ได้มาจาก ฯพณฯ โช เนโมโตะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ