งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/บทนำ

บทนำ
รั ฐธรรมนูญญี่ปุ่นประกาศใช้ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1889 การเลือกตั้งสมาชิกสภาล่างของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิเป็นครั้งแรกในระดับชาติมีขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 1890 และสภานิติบัญญัติญี่ปุ่นเปิดประชุมสมัยแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 พฤศจิกายน 1890 แม้ตามคำปรารภของรัฐธรรมนูญ เวลาเปิดประชุมสมัยแรกนั้นจะได้แก่ "วันที่รัฐธรรมนูญนี้เริ่มใช้บังคับ" แต่แน่ล่ะ ในทางปฏิบัติ ตราสารฉบับนั้นย่อมมีผลทันทีที่ประกาศใช้ เพราะได้ลงมือเตรียมการต่าง ๆ เพื่อบังคับตามบทบัญญัติของตราสารนั้น รวมถึงบทบัญญัติของกฎหมายราชวงศ์ พระราชกำหนดว่าด้วยสภาขุนนาง กฎหมายสภา (ทั้งสอง) กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกฎหมายการคลัง โดยละเอียดไปแล้ว กฎหมายทั้งหลายเหล่านี้ก็ได้รับการประกาศใช้สืบเนื่องมาจากตัวรัฐธรรมนูญเอง[1]

ไม่ว่าในกรณีใด (ซึ่งไม่ต้องลองคำนวณให้แน่นอนเกินไปก็ได้) ก็ย่อมเหมาะย่อมควรในทุกสถานแล้ว ถ้าจะถือเอาว่า ในปี 1915 การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญในญี่ปุ่นสมัยใหม่ได้ล่วงมาแล้ว 25 ปี ฉะนั้น นี่จึงเป็นเวลาสมควรที่จะ "มองกลับไป" ยัง 25 ปีที่แล้ว เพื่อพยายามจำลองภาพความก้าวหน้าของลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมในญี่ปุ่น และบ่งบอกสถานะของลัทธินั้นในกาลปัจจุบัน เพื่อการนี้ จึงตั้งชื่อเรื่องว่า "ระบอบจักรพรรดิตามรัฐธรรมนูญ" และขอบอกเล่าให้ฟังว่า เดิมทีมีแนวโน้มอยู่หน่อยหนึ่งที่จะใช้ชื่อเรื่องว่า "ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมแบบจักรวรรดิ" แต่ตามลำดับเวลาแล้ว ระบอบจักรพรรดินั้นมาก่อน และตามทฤษฎีกับทั้งในทางปฏิบัติแล้ว ก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่ก่อนสิ่งใดอยู่ดี แล้วจึงมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังที่รัฐธรรมนูญนำพาเข้ามา ฉะนั้น จะมองจากมุมใดก็ดูสมควรยิ่งกว่าถ้าจะให้ "รัฐธรรมนูญ" กลายเป็นคุณศัพท์ขยาย "ระบอบจักรพรรดิ"

ผู้อ่านที่เป็นชาวอเมริกันต้องระลึกถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไว้ในใจด้วย โดยต้องไม่หวังว่า ในระบบการเมืองญี่ปุ่นนั้น จะได้พบได้เจอสิทธิและเอกสิทธิ์ของประชาชนอย่างที่พวกตนมี หรืออย่างที่ชาวอังกฤษในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมี ทั้งต้องระลึกไว้ด้วยว่า ในทางปฏิบัติแล้ว รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นนั้นร่างขึ้นโดยใช้ของเยอรมันเป็นแม่แบบ ซึ่งเหมาะสมที่สุดกับสภาพในญี่ปุ่น ณ เวลานั้น ส่วนรัฐธรรมนูญทางการเมืองของสาธารณรัฐอเมริกาและจักรวรรดิบริเตนนั้นก่อความเปลี่ยนแปลงถึงรากฐานจนเกินกว่าจะเป็นต้นแบบของชาติที่เพิ่งโผล่พ้นระบอบเจ้าขุนมูลนายและระบอบจักรพรรดิอำนาจสมบูรณ์อันมีมาหลายศตวรรษได้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบจักรพรรดินั้นไม่อาจกระทำอย่างสุดโต่งเกินควรหรือฉับพลันเกินไปได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างทีละเล็กและทีละน้อย ประชาชนทั้งปวงต้องได้รับการศึกษาจนถึงขั้นที่ตนสามารถเข้าใจและเห็นค่า ซึ่งมิใช่แต่ในเรื่องสิทธิและเอกสิทธิ์ทางการเมือง แต่รวมถึงเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบทางการเมืองด้วย ฟูกูซาวะ[2] สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่แห่งญี่ปุ่น เคยเขียนไว้ว่า

"เพราะธรรมเนียมอันพิลึกซึ่งดำรงอยู่มานานเหลือใจ เราจึงตายด้านไปทั้งหมดในเรื่องเอกสิทธิ์ของเราและสิทธิของเรา"

ชาวญี่ปุ่นจำต้องได้รับการศึกษาทีละขั้นจนกว่าจะเห็นค่าในสิทธิและหน้าที่ของปวงประชา ดังนั้น ในแง่หนึ่ง รัฐธรรมนูญจึงเป็นเหมือนครูใหญ่ที่จะนำพาพวกเขาไปสู่ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม

ทีนี้ เพื่อความสะดวก เรื่อง "ระบอบจักรพรรดิตามรัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น" นี้จึงอาจแบ่งออกเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้

1. พระราชอำนาจ
2. องคมนตรีสภา
3. "รัฐบุรุษอาวุโส"
4. คณะรัฐมนตรี
5. สภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ
ก.สภาขุนนาง
ข.สภาผู้แทนราษฎร
6. ฝ่ายตุลาการ
7. สิทธิและหน้าที่ของคนในบังคับ
8. พรรคการเมือง
9. ความคิดเห็นสาธารณะ
10. บทสรุป

  1. ตัวเต็มของเอกสารเหล่านี้พิมพ์ไว้ในภาคผนวกหนังสือนี้ เว้นแต่กฎหมายราชวงศ์ซึ่งลงไว้เพียงบางส่วน
  2. ฟูกูซาวะ ยูกิจิ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)