งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/ภาคผนวก 1
เรา ผู้สืบทอดบัลลังก์อันรุ่งเรืองจากผู้มาก่อนเรา ขอสาบานด้วยความนอบน้อมและด้วยพิธีการต่อพระผู้ก่อตั้งราชวงศ์เรา และต่อเหล่าราชบรรพชนองค์อื่นของเรา ว่า เราจักรักษารูปแบบการปกครองแต่โบราณ และประกันรูปแบบนั้นให้พ้นจากความเสื่อมถอย ตามรอยนโยบายอันยิ่งใหญ่ที่ได้ก่อกำเนิดมาร่วมกับฟ้าและกับดิน
โดยที่ได้คำนึงถึงครรลองกิจการมนุษย์อันมีแนวโน้มจะรุดหน้า และโดยสอดคล้องพ้องกันกับความล้ำหน้าแห่งอารยธรรม เราเห็นเป็นการสมควรที่จะสถาปนากฎหมายรากฐานอันจัดรูปแบบเข้าเป็นบทบัญญัติที่ชัดแจ้งแห่งกฎหมาย จะได้เกิดความกระจ่างและชัดเจนแก่พระประศาสน์ที่พระผู้ก่อตั้งราชวงศ์เรา และเหล่าราชบรรพชนองค์อื่นของเรา ได้ประทานไว้ ซึ่งในแง่หนึ่ง ราชอนุชนเราจะได้มีแนวทางชัดแจ้งสำหรับครรลองที่ตนจะก้าวตามไป และในอีกแง่หนึ่ง จะเป็นการเปิดให้พสกนิกรเราได้มีสิทธิกระทำการต่าง ๆ ในขอบเขตที่กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อสนับสนุนเรา และกฎหมายเราจะได้รับการปฏิบัติตามสืบไปชั่วจิรัฐิติกาล ด้วยการนั้น เราจะยังให้เสถียรภาพประเทศเราทวีความมั่นคง และจะส่งเสริมสวัสดิภาพประชาชนทุกหมู่เหล่าในแว่นแคว้นเรา และบัดนี้ เราจึงสถาปนากฎหมายราชวงศ์และรัฐธรรมนูญขึ้น กฎหมายเหล่านี้ย่อมอยู่ภายใต้คำอธิบายกฎเกณฑ์อันยิ่งใหญ่ในการดำเนินการปกครองซึ่งพระผู้ก่อตั้งราชวงศ์เรา และเหล่าราชบรรพชนองค์อื่นของเรา ได้ประทานไว้เท่านั้น ที่เราโชคดีที่ได้บรรลุผลงานชิ้นนี้ในรัชกาลของเราโดยสอดรับกับแนวโน้มแห่งกาลเวลานั้น เราเป็นหนี้พระคุณดวงพระวิญญาณอันรุ่งโรจน์ของพระผู้ก่อตั้งราชวงศ์เรา และเหล่าราชบรรพชนองค์อื่นของเรา
ครั้งนี้ เราน้อมกระทำคำอธิษฐานต่อพระองค์เหล่านั้น และต่อพระปิตุราชผู้เลื่องลือของเรา และวอนขอความอนุเคราะห์จากดวงพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ และกระทำคำสาบานด้วยพิธีการต่อพระองค์ว่า ไม่ว่าเวลานี้หรือเวลาใดในวันข้างหน้า จะไม่ละเลยในการเป็นตัวอย่างต่อพสกนิกรเราในอันที่จะปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งได้สถาปนาขึ้นไว้ในการนี้
ขอพระเทววิญญาณจงเป็นองค์พยานในคำสาบานของเรานี้ด้วยเทอญ
โดยที่การได้เห็นความรุ่งเรืองแห่งบ้านเมืองเรา กับทั้งสวัสดิภาพของพสกนิกรเรานั้น เรานับเป็นความปีติและรุ่งโรจน์ในหัวใจแห่งเรา ด้วยการนี้ เราขออาศัยอำนาจสูงสุดที่เรารับสืบทอดมาจากราชบรรพชนเราประกาศใช้กฎหมายรากฐานถาวรฉบับนี้ เพื่อประโยชน์แห่งพสกนิกรเราในกาลปัจจุบันและผู้สืบเชื้อสายของเขาเหล่านั้น
พระผู้ก่อตั้งราชวงศ์เรา และราชบรรพชนองค์อื่น ๆ ของเรา ได้ก่อตั้งจักรวรรดิเราไว้บนพื้นฐานอันจะดำรงคงอยู่สืบไปชั่วกาลนานผ่านความอนุเคราะห์และสนับสนุนจากบรรพบิดาแห่งพสกนิกรเรา การที่ความสำเร็จอันโชติช่วงนี้เป็นความวิจิตรอยู่ในหน้าพงศาวดารบ้านเมืองเรา ก็ด้วยคุณความดีอันรุ่งโรจน์ของราชบรรพชนผู้ศักดิ์สิทธิ์ของเรา และความภักดีและมีน้ำใจกล้าหาญของพสกนิกรเรา ความรักที่เขาเหล่านั้นมีต่อบ้านต่อเมืองของตน และจิตวิญญาณสาธารณะของเขาเหล่านั้น เมื่อเห็นว่า พสกนิกรเราสืบเชื้อสายมาจากพสกนิกรผู้ภักดีและมีความเป็นเลิศของราชบรรพชนเรา เราจึงไม่สงสัยเลยว่า พสกนิกรเราจะมีวิสัยทัศน์ของเราเป็นเครื่องชี้ทาง และจะเห็นซึ้งในความมานะบากบั่นของเรา และเมื่อร่วมมือกันด้วยความปรองดอง เขาเหล่านั้นจะร่วมรู้สึกไปกับเราถึงความหวังของเราที่จะให้ความรุ่งโรจน์ของบ้านเมืองเราเป็นที่ประจักษ์แจ้ง ทั้งในแหล่งปิตุภูมิและในต่างชาติต่างเมือง และที่จะมีเครื่องประกันความมั่นคงของผลงานอันราชบรรพชนเราประทานให้เรานั้นสืบไปชั่วนิจนิรันดร์
โดยที่ได้ขึ้นสู่บัลลังก์แห่งการสืบสันตติวงศ์ไม่ขาดสายไปชั่วนิรันดรกาลผ่านบารมีแห่งบรรพชนเรา โดยที่ปรารถนาจะส่งเสริมสวัสดิภาพ กับทั้งให้การพัฒนาและความสามารถด้านศีลธรรมและสติปัญญาแก่พสกนิกรอันเป็นที่รักของเรา ดุจเดียวกับที่บรรพชนเราได้สนับสนุนมาด้วยความห่วงใยเปี่ยมเมตตาและความเอาใจใส่อย่างรักใคร่ และโดยที่หวังจะรักษาความรุ่งเรืองแห่งแผ่นดินไปพร้อมกับประชาชนเราและความสนับสนุนของเขาเหล่านั้น ในการนี้ เราจึงประกาศใช้กฎหมายอันเป็นรากฐานแห่งแผ่นดิน ตามราชหัตถเลขาของเรา ลงวันที่ 14 เดือน 10 ปีเมจิที่ 14 [12 ตุลาคม 1881] เพื่อแสดงหลักการอันจะเป็นเครื่องชี้นำการกระทำของเรา และบ่งชี้ถึงสิ่งที่ทายาทเรา และพสกนิกรเรา รวมถึงผู้สืบเชื้อสายของเขาเหล่านั้น จะต้องดำเนินตามตลอดไป
เราได้รับสืบทอดสิทธิแห่งรัฏฐาธิปัตย์ในแผ่นดินมาจากบรรพชนเรา และเราจะประทานสิทธินั้นแก่ทายาทเรา ในกาลข้างหน้าไม่ว่าเราหรือทายาทเราก็จะไม่มีผู้ใดมิได้ถือครองสิทธินั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มอบให้ไว้ในการนี้
บัดนี้ เราขอประกาศว่า จะเคารพและคุ้มครองความมั่นคงในสิทธิและทรัพย์สินของประชาชนแห่งเรา และรับประกันแก่ประชาชนว่า จะได้อุปโภคสิทธิเหล่านั้นอย่างบริบูรณ์ ภายในขอบเขตของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย
ให้เรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิเป็นครั้งแรกของปีเมจิที่ 23 [1890] ส่วนเวลาเปิดประชุมนั้น ให้ได้แก่วันที่รัฐธรรมนูญนี้เริ่มใช้บังคับ
ในกาลอนาคตเมื่อปรากฏความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติใด ๆ ในรัฐธรรมนูญนี้ ให้เรา หรือผู้สืบทอดเรา มีสิทธิริเริ่มเรื่องนั้น และเสนอร่างเพื่อการนั้นไปยังสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ ให้สภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิออกเสียงลงคะแนนในร่างนั้นตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญนี้วางไว้ และมิให้ทายาทเรา หรือพสกนิกรเรา พยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในทางอื่นใดเลย
ให้ถือว่า รัฐมนตรีของเรารับผิดชอบในการบังคับตามรัฐธรรมนูญนี้แทนเรา และให้พสกนิกรเรา ทั้งในปัจจุบันก็ดี และในอนาคตก็ดี มีหน้าที่ภักดีต่อรัฐธรรมนูญนี้ตลอดไป
- [พระนามาภิไธย]
- [พระราชลัญจกร]
วันที่ 11 เดือนยี่ ปีเมจิที่ 22 [11 กุมภาพันธ์ 1889]
[รัฐมนตรีลงนามรับสนองพระราชโองการ]
มาตรา1ให้จักรวรรดิญี่ปุ่นอยู่ภายใต้รัชกาลและการปกครองของจักรพรรดิเป็นลำดับไม่ขาดสายไปชั่วกาลนิรันดร์
มาตรา2ราชบัลลังก์นั้นให้มีผู้สืบทอดเป็นรัชทายาทชายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายราชวงศ์
มาตรา3จักรพรรดิทรงมีความศักดิ์สิทธิ์และจะทรงถูกละเมิดมิได้
มาตรา4จักรพรรดิทรงเป็นประมุขของจักรวรรดิ ทรงนำสิทธิทั้งหลายในความเป็นรัฏฐาธิปัตย์มารวมไว้ในพระองค์เอง และทรงใช้สิทธิเหล่านั้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา5จักรพรรดิทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติด้วยความยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ
มาตรา6จักรพรรดิทรงอนุมัติกฎหมาย และทรงบัญชาให้นำกฎหมายไปประกาศใช้และบังคับใช้
มาตรา7จักรพรรดิทรงเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ ทรงเปิด ปิด และเลื่อนการประชุมนั้น และทรงยุบสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา8เนื่องจากมีความจำเป็นรีบด่วนในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จักรพรรดิย่อมจะทรงออกพระราชกำหนดแทนกฎหมาย ในเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิไม่อยู่ในสมัยประชุม
พระราชกำหนดเช่นว่านั้น จะได้ยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิในสมัยประชุมถัดไป และเมื่อสภานิติบัญญัติไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว ให้รัฐบาลประกาศว่า พระราชกำหนดนั้นจะเป็นอันสิ้นผลสืบไปในอนาคต
มาตรา9จักรพรรดิทรงออกหรือจัดให้มีการออกพระราชกำหนดที่จำเป็นต่อการบังคับตามกฎหมาย หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยสาธารณะ หรือการส่งเสริมสวัสดิภาพของพสกนิกร แต่ห้ามมิให้ใช้พระราชกำหนดแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายใด ๆ ที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าในทางใด
มาตรา10จักรพรรดิทรงกำหนดการจัดองค์กรสำหรับฝ่ายต่าง ๆ ในการปกครอง และเงินตอบแทนสำหรับเจ้าพนักงานพลเรือนและทหารทั้งปวง และทรงแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลเหล่านั้น ข้อยกเว้นอันบัญญัติไว้เป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญนี้หรือในกฎหมายอื่น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติ (ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ) ตามลำดับ
มาตรา11จักรพรรดิทรงมีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดต่อกองทัพบกและกองทัพเรือ
มาตรา12จักรพรรดิทรงกำหนดการจัดองค์กรและท่าทีในทางสันติของกองทัพบกและกองทัพเรือ
มาตรา13จักรพรรดิทรงประกาศสงคราม ทรงระงับศึก และทรงกระทำสนธิสัญญา
มาตรา14จักรพรรดิทรงประกาศกฎหมายภาวะปิดล้อม[3]
เงื่อนไขและผลแห่งกฎหมายภาวะปิดล้อมนั้น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา15จักรพรรดิพระราชทานบรรดาศักดิ์ ยศ อิสริยาภรณ์ และเครื่องหมายเกียรติยศอย่างอื่น
มาตรา16จักรพรรดิทรงบัญชาให้มีการนิรโทษกรรม อภัยโทษ ลดโทษ และล้างมลทิน
มาตรา17การสำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ให้มีขึ้นโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายราชวงศ์
ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใช้อำนาจอันเป็นของจักรพรรดิในพระนามาภิไธยจักรพรรดิ
มาตรา18เงื่อนไขอันจำเป็นแก่การเป็นพสกนิกรญี่ปุ่นนั้น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา19พสกนิกรญี่ปุ่นอาจได้รับแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่พลเรือนหรือทหารโดยเสมอภาคกัน และอาจเข้ารับตำแหน่งหน้าที่สาธารณะอื่นใด ตามคุณสมบัติที่กำหนดในพระราชกำหนดกฎหมาย
มาตรา20พสกนิกรญี่ปุ่นย่อมรับผิดชอบต่อการเข้ารับราชการในกองทัพบกหรือกองทัพเรือตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา21พสกนิกรญี่ปุ่นย่อมรับผิดชอบต่อหน้าที่เสียภาษีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา22พสกนิกรญี่ปุ่นมีเสรีภาพในเคหสถานและในการเปลี่ยนเคหสถานภายในขอบเขตของกฎหมาย
มาตรา23มิให้จับกุม คุมขัง พิจารณา หรือลงโทษพสกนิกรญี่ปุ่นคนใด เว้นแต่เป็นไปตามกฎหมาย
มาตรา24มิให้พรากพสกนิกรญี่ปุ่นไปเสียจากสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยตุลาการที่กฎหมายกำหนด
มาตรา25มิให้เข้าไปและค้นในบ้านพสกนิกรญี่ปุ่นคนใดโดยปราศจากยินยอมของผู้นั้น เว้นแต่ในกรณีที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
มาตรา26ความลับในจดหมายของพสกนิกรญี่ปุ่นทุกคน ให้เป็นอันละเมิดมิได้ เว้นแต่ในกรณีที่ระบุไว้ในกฎหมาย
มาตรา27สิทธิในทรัพย์สินของพสกนิกรญี่ปุ่นทุกคน ให้เป็นอันละเมิดมิได้
มาตรการอันจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
มาตรา28ให้พสกนิกรญี่ปุ่นได้อุปโภคเสรีภาพในความเชื่อทางศาสนา ภายในขอบเขตอันไม่เป็นที่เสื่อมเสียต่อความสงบเรียบร้อยและไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของตนในฐานะพสกนิกร
มาตรา29ให้พสกนิกรญี่ปุ่นได้อุปโภคเสรีภาพในการพูด การเขียน การประชุมสาธารณะ และการสมาคม ภายในขอบเขตของกฎหมาย
มาตรา30พสกนิกรญี่ปุ่นอาจถวายฎีกา โดยปฏิบัติตามรูปแบบการถวายความเคารพอย่างเหมาะสม และโดยดำเนินตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษสำหรับเรื่องนั้น
มาตรา31บทบัญญัติซึ่งมีในหมวดนี้ มิให้กระทบต่อการใช้อำนาจอันเป็นของจักรพรรดิ ในยามสงครามหรือในกรณีที่มีความฉุกเฉินระดับชาติ
มาตรา32บรรดาบทบัญญัติแต่ละบทที่มีในมาตราก่อน ๆ หน้านี้แห่งหมวดนี้ ซึ่งไม่ขัดกับกฎหมายหรือระเบียบและวินัยแห่งกองทัพบกหรือกองทัพเรือ ให้ใช้บังคับแก่เจ้าพนักงานและผู้คนในกองทัพบกและกองทัพเรือด้วย
มาตรา33สภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิให้ประกอบด้วยสภาสองสภา คือ สภาขุนนาง และสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา34ให้สภาขุนนางประกอบด้วยพระราชวงศานุวงศ์ ชนชั้นขุนนาง และบุคคลทั้งหลายที่จักรพรรดิทรงเสนอชื่อเข้าสู่สภานี้ ตามพระราชกำหนดว่าด้วยสภาขุนนาง
มาตรา35ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกที่ประชาชนเลือกตั้งมา ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายการเลือกตั้ง
มาตรา36มิให้ผู้ใดเป็นสมาชิกทั้งสองสภาในเวลาเดียวกัน
มาตรา37กฎหมายทุกฉบับต้องได้รับความยินยอมจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ
มาตรา38ให้สภาทั้งสองออกเสียงลงคะแนนในร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมา และแต่ละสภาจะริเริ่มร่างกฎหมายเองก็ได้
มาตรา39ร่างพระราชบัญญัติซึ่งสภาหนึ่งสภาใดในสภาทั้งสองไม่เห็นชอบด้วยนั้น มิให้ยกขึ้นพิจารณาอีกในระหว่างสมัยประชุมเดียวกัน
มาตรา40สภาทั้งสองชอบจะแถลงข้อความจริงเกี่ยวกับกฎหมายหรือเรื่องอื่นใดต่อรัฐบาล อย่างไรก็ดี เมื่อคำแถลงข้อความจริงเช่นว่านั้นถูกบอกปัด จะกระทำขึ้นอีกเป็นครั้งสองในระหว่างสมัยประชุมเดียวกันมิได้
มาตรา41ให้เรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิทุกปี
มาตรา42ให้สมัยประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิดำเนินไปเป็นเวลาสามเดือน ในกรณีจำเป็น จะขยายเวลาแห่งสมัยประชุมนั้นด้วยพระราชบัญชาก็ได้
[4]เวลาแห่งสมัยประชุมวิสามัญนั้น ให้กำหนดด้วยพระราชบัญชา
มาตรา44การเปิด ปิด และขยายสมัยประชุม และการเลื่อนประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดินั้น ให้มีผลพร้อมกันทั้งสองสภา
ในกรณีที่มีพระราชบัญชาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้เลื่อนประชุมสภาขุนนางไปพร้อมกัน
มาตรา45เมื่อมีพระราชบัญชาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชบัญชาเป็นอันยังผลให้เกิดการเลือกตั้งสมาชิกใหม่ และให้เรียกประชุมสภาชุดใหม่ภายในห้าเดือนตั้งแต่วันที่ถูกยุบ
มาตรา46มิให้เปิดอภิปรายและมิให้ออกเสียงลงคะแนนในสภาหนึ่งสภาใดของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ เว้นแต่มีสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแห่งสภานั้น ๆ มาประชุม
มาตรา47การออกเสียงลงคะแนนในสภาทั้งสองให้ถือตามเสียงข้างมากเด็ดขาด ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานออกเสียงชี้ขาด
มาตรา48การพิจารณาปรึกษาของสภาทั้งสองนั้น ให้ดำเนินการโดยเปิดเผย ทว่า การพิจารณาปรึกษาจะดำเนินการในที่ประชุมลับก็ได้ เมื่อมีคำเรียกร้องของรัฐบาลหรือมีมติของสภา
มาตรา49แต่ละสภาในสภาทั้งสองของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิจะมีคำกราบบังคมทูลต่อจักรพรรดิก็ได้
มาตรา50สภาทั้งสองจะรับฎีกาที่พสกนิกรเสนอมาก็ได้
มาตรา51สภาทั้งสองจะตราระเบียบที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการกิจการภายในของตน นอกเหนือไปจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมรูญและในกฎหมายสภาก็ได้
มาตรา52สำหรับความคิดเห็นใด ๆ ที่ได้กล่าวหรือการออกเสียงลงคะแนนใด ๆ ที่ได้กระทำในสภา มิให้สมาชิกสภาใดถูกจัดให้รับผิดชอบในเรื่องนั้นภายนอกสภาของตน กระนั้น เมื่อสมาชิกผู้นั้นเองเผยแพร่ความคิดเห็นของตนด้วยคำกล่าวสาธารณะ ด้วยเอกสารที่พิมพ์หรือเขียน หรือด้วยวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ให้สมาชิกผู้นั้นมีความรับผิดชอบต่อเรื่องนั้นตามกฎหมายทั่วไป
มาตรา53ในระหว่างสมัยประชุม ให้สมาชิกสภาทั้งสองพ้นจากการถูกจับกุมโดยปราศจากความยินยอมของสภา เว้นแต่ในกรณีความผิดซึ่งหน้า หรือความผิดอันเกี่ยวโยงกับสภาพความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือความเดือดร้อนในต่างประเทศ
มาตรา54รัฐมนตรีก็ดี และผู้แทนรัฐบาลก็ดี จะเข้านั่งประชุมและกล่าวในสภาใด ณ เวลาใดก็ได้
มาตรา55ให้รัฐมนตรีแต่ละคนถวายคำแนะนำต่อจักรพรรดิ และรับผิดชอบในคำแนะนำนั้น
บรรดากฎหมาย พระราชกำหนด และพระราชหัตถเลขา ไม่ว่าประเภทใด ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระราชโองการ
มาตรา56ให้องคมนตรีสภาพิจารณาปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องสำคัญของแผ่นดินเมื่อจักรพรรดิทรงหารือด้วย ตามบทบัญญัติว่าด้วยการจัดองค์กรขององคมนตรีสภา
มาตรา57ให้ศาลยุติธรรมใช้อำนาจตุลาการตามกฎหมาย[และ]ในพระนามาภิไธยจักรพรรดิ
การจัดองค์กรของศาลยุติธรรม ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา58ให้แต่งตั้งตุลาการจากบรรดาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามกฎหมาย
มิให้พรากตุลาการผู้ใดไปเสียจากตำแหน่งของผู้นั้น เว้นแต่โดยวิธีมีคำพิพากษาทางอาญาหรือลงโทษทางวินัย
มาตรา59การพิจารณาและพิพากษาของศาลนั้น ให้ดำเนินการโดยเปิดเผย อย่างไรก็ดี เมื่อมีความหวาดเกรงว่า การเปิดเผยเช่นนั้นอาจเสื่อมเสียต่อความสงบเรียบร้อย หรือต่อการรักษาศีลธรรมสาธารณะ จะงดการพิจารณาโดยเปิดเผยนั้นโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายหรือคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมก็ได้
มาตรา60เรื่องทั้งปวงที่ตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลพิเศษนั้น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ
มาตรา61มิให้ศาลยุติธรรมรับพิจารณาอรรถคดีใดซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิที่อ้างว่า ถูกละเมิดโดยมาตรการอันมิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร และซึ่งให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลคดีปกครองอันมีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษ
มาตรา62การกำหนดภาษีใหม่ หรือแก้ไขปรับปรุงอัตรา (ภาษีที่มีอยู่แล้ว) ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ดี บรรดาค่าธรรมเนียมทางปกครองหรือรายได้อย่างอื่นอันมีสภาพเป็นค่าชดเชยนั้น มิให้จัดเข้าเป็นประเภทตามข้อบทข้างต้น
เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้ในงบประมาณ การเพิ่มเงินกู้ของชาติ และการทำสัญญาว่าด้วยความรับผิดอย่างอื่นอันอยู่ในขอบอำนาจของท้องพระคลังแห่งชาตินั้น ต้องได้รับความยินยอมจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ
มาตรา63ภาษีที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันนั้น ให้เก็บไปตามระบบเดิม ตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมายใหม่มาปรับรูปแบบ
มาตรา64รายจ่ายและรายได้แผ่นดินนั้น ต้องได้รับความยินยอมจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิด้วยวิธีงบประมาณประจำปี
รายได้ทั้งใด ๆ ทั้งปวงที่เกินการจัดสรรอันระบุไว้ในลักษณะและวรรคต่าง ๆ ของงบประมาณก็ดี หรือที่มิได้บัญญัติไว้ในงบประมาณก็ดี ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิในภายหลัง
มาตรา65ในเบื้องแรก ให้ยื่นงบประมาณต่อสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา66รายจ่ายของราชวงศ์นั้น ให้ท้องพระคลังแห่งชาติออกให้ทุกปี ตามจำนวนที่กำหนดไว้ให้ในปัจจุบัน และไม่ต้องได้รับความยินยอมในเรื่องนั้นจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ เว้นแต่ในกรณีที่เห็นว่า จำเป็นต้องเพิ่มรายจ่าย
มาตรา67รายจ่ายทั้งหลายที่กำหนดไว้แล้วโดยรัฐธรรมนูญให้ตั้งอยู่บนอำนาจอันเป็นของจักรพรรดิก็ดี และรายจ่ายที่อาจได้เกิดขึ้นจากผลของกฎหมาย หรือที่ตกเป็นข้อผูกพันรัฐบาลตามกฎหมายก็ดี มิให้สภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิบอกปัดหรือลดจำนวนลงโดยปราศจากความเห็นพ้องจากรัฐบาล
มาตรา68เพื่อสอดรับกับความต้องการอันเป็นพิเศษ รัฐบาลจะขอความยินยอมจากสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิให้เงินจำนวนหนึ่งเป็นกองทุนรายจ่ายต่อเนื่องสำหรับช่วงปีที่กำหนดไว้แล้วก็ได้
มาตรา70เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดพร่องไปอันไม่อาจเลี่ยงได้ในงบประมาณ และเพื่อสอดรับกับความต้องการอันมิได้บัญญัติไว้ในงบประมาณ ให้มีการบัญญัติถึงกองทุนสำรองไว้ในงบประมาณ
มาตรา70ในกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนต้องรักษาความปลอดภัยสาธารณะ หากไม่อาจเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิได้เพราะเงื่อนไขภายนอกหรือภายในประเทศ รัฐบาลอาจใช้มาตราทางการคลังทั้งปวงที่จำเป็นโดยวิธีออกพระราชกำหนดก็ได้
ในกรณีที่เอ่ยไว้ในข้อบทก่อนหน้า ให้เสนอเรื่องต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ ณ สมัยประชุมถัดไป และให้เรื่องนั้นได้รับความเห็นชอบจากสภา
มาตรา71เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิมิได้ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องงบประมาณก็ดี หรือเมื่องบประมาณมิได้เกิดขึ้นจริงก็ดี ให้รัฐบาลบังคับตามงบประมาณสำหรับปีที่ผ่านมา
มาตรา72บัญชีสุดท้ายสำหรับรายจ่ายและรายได้แผ่นดินนั้น ให้คณะกรรมการตรวจเงินตรวจสอบและรับรอง และให้รัฐบาลเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิพร้อมรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการดังกล่าว
การจัดองค์กรและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงิน ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดต่างหาก
มาตรา73ในกาลอนาคตเมื่อปรากฏความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ การเสนอร่างเพื่อการนั้นต่อสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิให้กระทำโดยพระราชบัญชา
ในกรณีข้างต้น มิให้สภาใดเปิดอภิปราย เว้นแต่มีสมาชิกอย่างน้อยสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดมาประชุม และมิให้ผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างใด เว้นแต่ได้รับเสียงข้างมากเป็นอย่างน้อยสองในสามของสมาชิกที่มาประชุม
มาตรา74การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายราชวงศ์ ต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาปรึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ
มิให้แก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติใด ๆ ของรัฐธรรมนูญนี้ด้วยกฎหมายราชวงศ์
มาตรา75ในช่วงที่มีการสำเร็จราชการแทนพระองค์ ห้ามจัดให้มีการแก้ไขปรับปรุงอย่างใดในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายราชวงศ์
มาตรา76บทกฎหมายที่มีอยู่ เช่น กฎหมาย กฎ พระราชกำหนด หรือจะเรียกชื่ออย่างใดก็ตาม ให้คงมีผลบังคับต่อไป ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญนี้
บรรดาสัญญาหรือคำสั่งที่มีอยู่ ซึ่งก่อข้อผูกพันแก่รัฐบาล หรือซึ่งเกี่ยวโยงกับรายจ่าย ให้อยู่ในขอบเขตของมาตรา 67
- ↑ คำแปลอย่างเป็นทางการจาก เจแปน วีกลี เมล 15 กุมภาพันธ์ 1889
- ↑ ภาษาญี่ปุ่น คือ "春興殿" (ชุงโกเด็ง) แปลว่า "หอคันฉ่องศักดิ์สิทธิ์" ภาษาอังกฤษเรียกเพียง "sanctuary" (หอศักดิ์สิทธิ์) เป็นอาคารในพระราชวังที่เคียวโตะ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ คือ กฎอัยการศึก ดูตัวอย่างในกฎหมาย ลงวันที่ 9 สิงหาคม 1849 ว่าด้วยภาวะปิดล้อม ของฝรั่งเศส (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ต้นฉบับตกวรรคแรกของมาตรา 43 ซึ่งฉบับภาษาญี่ปุ่นว่า "第四十三條 臨時緊急ノ必要アル場合ニ於テ常會ノ外臨時會ヲ召集スヘシ" (มาตรา 43 ในกรณีฉุกเฉินอันเป็นวิสามัญ จะเรียกประชุมวิสามัญนอกเหนือไปจากการประชุมสามัญก็ได้) ส่วนฉบับภาษาอังกฤษว่า "Article XLIII.—When urgent necessity arises, an extraordinary session may be convoked, in addition to the ordinary one." (มาตรา 43 เมื่อเกิดความจำเป็นรีบด่วน จะเรียกประชุมสมัยวิสามัญเพิ่มเติมจากสมัยสามัญก็ได้)
รายการอ้างอิง: (1) Dai-Nippon Teikoku Kenpō [Constitution of the Empire of Japan]. n.p.: Ōkurashō Insatsu-kyoku. 1889. น. 4. (2) The Constitution of Japan: With the Laws Appertaining Thereto, and the Imperial Oath and Speech. Yokohama: "Japan Gazette" Office. 1889. น. 6. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)