งานแปล:ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น/ภาคผนวก 2

ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น (ค.ศ. 1916) โดย เออร์เนสต์ วิลสัน เคลเมนต์, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
ภาคผนวก 2 พระราชกำหนดว่าด้วยสภาขุนนาง
2. พระราชกำหนดว่าด้วยสภาขุนนาง[1]

ตามบทบัญญัติอันชัดแจ้งของรัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น เราขอประกาศใช้พระราชกำหนดว่าด้วยสภาขุนนางฉบับนี้ตามคำแนะนำจากองคมนตรีสภาของเรา เรื่องวันเริ่มใช้บังคับนั้น เราจะออกคำสั่งพิเศษ[ต่อไป]

  • [พระนามาภิไธย]
  • [พระราชลัญจกร]

วันที่ 11 เดือนยี่ ปีเมจิที่ 22 [11 กุมภาพันธ์ 1889]

[รัฐมนตรีลงนามรับสนองพระราชโองการ]

มาตรา1ให้สภาขุนนางประกอบด้วยสมาชิกดังต่อไปนี้

1.พระราชวงศานุวงศ์

2.พรินซ์[2] และมาร์ควิส[3]

3.เคานต์[4] ไวเคานต์[5] และแบรอน[6] ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากผู้อยู่ในชั้นเดียวกับตนตามลำดับ

4.บุคคลซึ่งมาจากและได้รับการเลือกตั้งจากผู้เสียภาษีระดับชาติทางตรงในที่ดิน อุตสาหกรรม หรือการค้าในนครและจังหวัดต่าง ๆ เป็นจำนวนสูงสุด และซึ่งจักรพรรดิทรงเสนอชื่อเข้าสู่สภาในเวลาต่อมา โดยหนึ่งคนต่อนครและจังหวัดแต่ละแห่ง

มาตรา2พระราชวงศานุวงศ์ที่ทรงเป็นชายนั้น ให้ทรงเข้าประจำตำแหน่งในสภาเมื่อบรรลุนิติภาวะ

มาตรา3ผู้อยู่ในชั้นพรินซ์และมาร์ควิสนั้น ให้เป็นสมาชิกเมื่ออายุถึงยี่สิบห้าปีบริบูรณ์

มาตรา4ผู้อยู่ในชั้นเคานต์ ไวเคานต์ และแบรอน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากผู้อยู่ในชั้นเดียวกับตนตามลำดับเมื่ออายุถึงยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้วนั้น ให้เป็นสมาชิกมีวาระเจ็ดปี หลักเกณฑ์การเลือกตั้งบุคคลเหล่านี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกำหนด

จำนวนสมาชิกที่ระบุในวรรคก่อน มิให้เกินหนึ่งในห้าของจำนวน[ผู้อยู่ใน]ชั้นเคานต์ ไวเคานต์ และแบรอนทั้งหมดตามลำดับ

มาตรา5ชายผู้ใดที่อายุกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งจักรพรรดิทรงเสนอชื่อเป็นสมาชิกเพราะคุณงามความดีต่อแผ่นดินหรือเพราะความรู้ความสามารถนั้น ให้เป็นสมาชิกไปชั่วชีวิต

มาตรา6สมาชิกหนึ่งคนจากนครและจังหวัดแต่ละแห่งนั้น ให้มาจากและได้รับการเลือกตั้งจากชายสิบห้าคนผู้อยู่อาศัยในนครหรือจังหวัดนั้น ซึ่งมีอายุกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ และเสียภาษีระดับชาติทางตรงในที่ดิน อุตสาหกรรม หรือการค้าในนครหรือจังหวัดนั้นเป็นจำนวนสูงสุด เมื่อบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งมาเช่นนั้นได้รับการเสนอชื่อจากจักรพรรดิ ให้บุคคลผู้นั้นเป็นสมาชิกมีวาระเจ็ดปี หลักเกณฑ์การเลือกตั้งเช่นว่านี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้เป็นพิเศษในพระราชกำหนด

มาตรา7จำนวนสมาชิกที่จักรพรรดิทรงเสนอชื่อมาเพราะคุณงามความดีต่อแผ่นดินหรือเพราะความรู้ความสามารถ หรือจากบรรดาชายที่เสียภาษีระดับชาติทางตรงในที่ดิน อุตสาหกรรม หรือการค้าในนครหรือจังหวัดแต่ละแห่งเป็นจำนวนสูงสุดนั้น มิให้เกินจำนวนสมาชิกผู้มีบรรดาศักดิ์

มาตรา8ให้สภาขุนนางลงมติในเรื่องหลักเกณฑ์ว่าด้วยเอกสิทธิ์ของชนชั้นบรรดาศักดิ์ เมื่อจักรพรรดิทรงหารือด้วย

มาตรา9สภาขุนนางย่อมวินิจฉัยในเรื่องคุณสมบัติของสมาชิกตน และเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งของตน หลักเกณฑ์การวินิจฉัยเหล่านี้ ให้เป็นไปตามที่สภาขุนนางลงมติ และให้ทูลเสนอต่อจักรพรรดิเพื่อมีพระราชานุมัติ

มาตรา10เมื่อสมาชิกผู้หนึ่งถูกพิพากษาให้กักขังหรือให้ลงโทษใด ๆ ที่สูงกว่านั้น หรือถูกประกาศให้ล้มละลาย ให้ขับสมาชิกผู้นั้นด้วยพระบัญชา

ในเรื่องการขับสมาชิกอันเป็นการลงโทษทางวินัยในสภาขุนนางนั้น ให้ประธานทูลรายงานข้อเท็จจริงต่อจักรพรรดิเพื่อมีพระราชวินิจฉัย

สมาชิกผู้ใดที่ถูกขับออกไปแล้ว มิให้เป็นสมาชิกได้อีก เว้นแต่จักรพรรดิจะมีพระราชานุญาตให้เป็นเช่นนั้นได้

มาตรา11ประธานและรองประธานนั้น ให้จักรพรรดิทรงเสนอชื่อจากบรรดาสมาชิกทั้งหลาย โดยมีวาระเจ็ดปี

ถ้าสมาชิกผู้มาจากการเลือกตั้งได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานหรือรองประธาน ให้ผู้นั้นทำหน้าที่ในฐานะเช่นนั้นโดยมีวาระตามสมาชิกภาพของตน

มาตรา12เรื่องทุกประการ นอกเหนือจากที่ได้บัญญัติไว้แล้วในพระราชกำหนดนี้ ให้ดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายสภา

มาตรา13ในอนาคตเมื่อจะแก้ไขเพิ่มเติมหรือเสริมแทรกสิ่งใด ๆ ในบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดนี้ ให้เสนอเรื่องนั้นมายังสภาขุนนางเพื่อออกเสียงลงคะแนน


  1. ชื่อญี่ปุ่น คือ "貴族院令" (คิโซกูอิงเร) แปลตรงตัวว่า "คำสั่ง[เรื่อง]สภาขุนนาง" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. ภาษาญี่ปุ่นว่า "公爵" (โคชากุ) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. ภาษาญี่ปุ่นว่า "侯爵" (โคชากุ) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. ภาษาญี่ปุ่นว่า "伯爵" (ฮากูชากุ) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. ภาษาญี่ปุ่นว่า "子爵" (ชิชากุ) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  6. ภาษาญี่ปุ่นว่า "男爵" (ดันชากุ) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)