ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส (ค.ศ. 1791), แปลจากภาษาฝรั่งเศส โดย วิกิซอร์ซ
1. ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองโดย สมัชชาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
ป ร ะ ก า ศ
สิทธิมนุษยชน
และพลเมือง
ผู้แทนประชาชนชาวฝรั่งเศส ซึ่งประกอบกันเป็นสมัชชาแห่งชาติ เห็นว่า การเมินเฉย หลงลืม หรือดูแคลนสิทธิมนุษยชน เป็นสาเหตุหนึ่งเดียวของความทุกข์โศกในสาธารณชนและการฉ้อฉลในรัฐบาล จึงตกลงใจจะแสดงสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิตามธรรมชาติ มิอาจถ่ายโอนกันได้ และมีความศักดิ์สิทธิ์ ไว้ในประกาศอันขึงขังจริงจัง เพื่อว่าประกาศนี้ เมื่อปรากฏเนือง ๆ ต่อสมาชิกทุกผู้ทุกนามในองค์กรทางสังคมแล้ว จะย้ำเตือนให้เขาเหล่านั้นระลึกถึงสิทธิและหน้าที่ของตนโดยไม่เสื่อมคลาย เพื่อว่าการกระทำทั้งหลายของอำนาจนิติบัญญัติก็ดี ของอำนาจบริหารก็ดี ที่อาจเทียบเคียงได้กับเป้าหมายของสถาบันการเมืองทุกแห่งทุกยาม จะได้รับความเคารพมากขึ้น และเพื่อว่าข้อเรียกร้องของพลเมือง ซึ่งแต่นี้ต่อไปจะตั้งอยู่บนหลักการอันเรียบง่ายและโต้แย้งมิได้นั้น จะผันแปรไปสู่การธำรงรักษารัฐธรรมนูญและความผาสุกของทุกคนเรื่อยไป

เพราะฉะนั้น สมัชชาแห่งชาติ ขอรับรองและประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองไว้ดังต่อไปนี้ ต่อพระพักตร์และโดยพระอนุเคราะห์ของพระเป็นเจ้า

ข้ อ แ ร ก

มนุษย์เกิดมาและดำรงอยู่[1] อย่างเสรี และมีความเสมอภาคกันในสิทธิ ความแตกต่างทางสังคมนั้นตั้งอยู่บนประโยชน์ส่วนรวมได้เพียงประการเดียว

2.เป้าหมายของสมาคมการเมืองทั้งปวง คือ การพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชน อันเป็นสิทธิตามธรรมชาติและไม่มีกำหนดอายุความ สิทธิเหล่านี้ ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์[2] ความมั่นคง และการต่อต้านการกดขี่

3.โดยแก่นแท้แล้ว บ่อเกิด[3] ของอำนาจอธิปไตยทั้งปวงย่อมสิงสถิตอยู่ในชาติ ไม่ว่าองค์กรหรือปัจเจกบุคคลใดก็ไม่อาจนำอำนาจที่มิได้มาจากแหล่งดังกล่าวอย่างแจ้งชัดไปใช้ได้

4.เสรีภาพ ย่อมมีอยู่ใน อำนาจที่จะกระทำสิ่งทั้งหลายโดยไม่เป็นผลร้ายต่อผู้อื่น ดังนั้น มนุษย์แต่ละคนย่อมใช้สิทธิตามธรรมชาติได้อย่างไร้ข้อจำกัด เว้นแต่ที่มีขึ้นเพื่อให้สมาชิกคนอื่น ๆ ของสังคมแน่ใจว่า ตนก็สามารถอุปโภคสิทธิอย่างเดียวกันได้ ข้อจำกัดเหล่านี้กำหนดได้ด้วยกฎหมายเท่านั้น

5.กฎหมายมีสิทธิห้ามเฉพาะการกระทำที่ส่งผลร้ายต่อสังคม สิ่งใดที่กฎหมายมิได้ห้าม จะห้ามสิ่งนั้นมิได้ สิ่งใดที่กฎหมายมิได้สั่ง จะบังคับให้ผู้ใดกระทำสิ่งนั้นมิได้

6.กฎหมายคือการแสดงออกซึ่งเจตจำนงทั่วไป พลเมืองทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมก่อตั้งกฎหมายด้วยตนเองหรือผ่านผู้แทนของตน กฎหมายต้องเป็นอย่างเดียวสำหรับทุกคนไม่ว่าเป็นคนที่กฎหมายคุ้มครองหรือเป็นคนที่กฎหมายลงโทษ พลเมืองทุกคน ซึ่งเสมอภาคกันในสายตาของกฎหมาย ชอบจะได้รับการยอมรับเข้าสู่เกียรติยศ ตำแหน่ง และการงานสาธารณะ อย่างเสมอภาคกัน ตามความสามารถของตน และโดยไม่มีความแตกต่างอื่นใดนอกจากด้านคุณธรรมและพรสวรรค์

7.ไม่ว่ามนุษย์ผู้ใดก็ไม่อาจถูกกล่าวหา จับกุม หรือคุมขังได้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายกำหนดและเป็นไปตามรูปแบบที่ระบุไว้ในกฎหมายนั้น บรรดาผู้ที่เสาะหา ส่งให้ กระทำตาม หรือจัดให้กระทำตามซึ่งคำสั่งที่ออกโดยพลการ จะต้องถูกลงโทษ แต่พลเมืองทุกคนที่ถูกเรียกหรือควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจของกฎหมาย จะต้องปฏิบัติตามนั้นทันที หากต่อต้าน ผู้นั้นย่อมมีความผิด

8.กฎหมายต้องบัญญัติโทษแต่ที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดและชัดเจน และไม่ว่าผู้ใดก็ไม่อาจถูกลงโทษได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่บัญญัติและประกาศใช้ก่อนการกระทำความผิด และเป็นโทษที่ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

9.มนุษย์ทุกคนย่อมได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะถูกประกาศว่ามีความผิด ถ้าเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจับกุมผู้นั้น ความรุนแรงทั้งหลายที่ไม่จำเป็นต่อการให้ได้ตัวผู้นั้นมา กฎหมายจะต้องห้ามปรามไว้ให้เคร่งครัด

10.ไม่ว่าผู้ใดก็ไม่จำต้องร้อนใจเพราะความเห็นของตน แม้เป็นความเห็นทางศาสนา ถ้าการแสดงความเห็นเช่นนั้นไม่ขัดต่อความเรียบร้อยสาธารณะตามที่กฎหมายบัญญัติ

11.การสื่อความคิดและความเห็นได้อย่างเสรีนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งซึ่งทรงคุณค่าสูงสุด พลเมืองทุกคนจึงสามารถพูด เขียน และพิมพ์ได้อย่างเสรี แต่ต้องรับผิดเมื่อใช้เสรีภาพนี้ไปในทางมิชอบในกรณีที่กฎหมายกำหนด

12.การรับประกันสิทธิมนุษยชนและพลเมืองนั้นต้องอาศัยกองกำลังสาธารณะ กองกำลังนี้จึงจัดตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของคนทั้งปวง และมิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนของบรรดาคนที่ได้รับมอบกองกำลัง

13.ภาษีส่วนรวมจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบำรุงรักษากองกำลังสาธารณะและต่อค่าใช้จ่ายในการบริหาร ภาษีต้องแบ่งเก็บ[4] ในหมู่พลเมืองอย่างเสมอภาคกันโดยคำนึงถึง[5] กำลังทรัพย์ของเขาเหล่านั้น

14.พลเมืองทุกคนมีสิทธิที่จะหยั่งทราบความจำเป็นของภาษีสาธารณะด้วยตนเองหรือผ่านผู้แทนของตน ที่จะเห็นชอบในภาษีนั้นโดยเสรี รวมทั้งที่จะติดตามการใช้จ่ายภาษี และที่จะกำหนดสัดส่วน การประเมิน การเก็บ[6] และช่วงเวลา

15.สังคมมีสิทธิเรียกให้พนักงานสาธารณะทุกคนชี้แจงการบริหารของตน

16.สังคมใดไร้ความแน่นอนในการรับประกันสิทธิ หรือไม่มีการกำหนดให้แบ่งแยกอำนาจ สังคมนั้นย่อมปราศจากรัฐธรรมนูญ

17.กรรมสิทธิ์[2] เป็นสิทธิอันละเมิดมิได้และมีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าผู้ใดก็จึงไม่อาจถูกพรากจากกรรมสิทธิ์ เว้นแต่ชัดเจนว่า ต้องกระทำเพราะความจำเป็นสาธารณะตามที่กฎหมายรับรอง และอยู่ในเงื่อนไขว่า ได้ให้ค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมก่อนแล้ว

เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. CNRTL (2012a) ว่า คำกริยา "demeurer" แปลว่า มีชีวิตอยู่ต่อไป หรือดำรงอยู่ต่อไป (continuer d'exister; durer)
  2. 2.0 2.1 CNRTL (2012c) ว่า คำนาม "propriété" หมายถึง ทรัพย์สิน (ensemble des biens) หรือสิทธิเกี่ยวกับทรัพยสิน (ทรัพยสิทธิ) เช่น กรรมสิทธิ์ (droit légal qu'a une personne à disposer d'un bien qui lui revient en propre) ก็ได้ ดังในข้อความว่า "division de la propriété" (การแบ่งทรัพย์สิน) หรือ "la propriété n'est autre chose que la liberté" (กรรมสิทธิ์มิใช่สิ่งอื่นใดนอกจากเสรีภาพ)
  3. CNRTL (2012b) ว่า คำนาม "principe" แปลว่า แหล่งที่มาแหล่งแรกสุดของสิ่งสิ่งหนึ่ง หรือจุดเริ่มต้นแรกสุด (origine première d'une chose; début absolu)
  4. CNRTL (2012f) ว่า คำกริยา "répartir" โดยทั่วไปหมายถึง แบ่งปันหรือแบ่งส่วนในระหว่างคนต่าง ๆ (artager, diviser quelque chose entre diverses personnes) และในทางเศรษฐกิจหรือการเมือง หมายถึง แบ่งปริมาณหรือยอดรวมเพื่อกำหนดสัดส่วน (diviser une quantité, une somme globale pour déterminer une quotité) ส่วน Boïelle & V. Payen-Payne (1903, p. 482) ว่า คำกริยา "répartir" โดยทั่วไปแปลว่า แบ่งส่วน, กระจาย, หรือแบ่งสรร (to divide, to distribute, to portion out) และจะแปลว่า ประเมิน (to assess) ก็ได้ เช่น "répartir les contributions" แปลว่า ประเมินภาษี (to assess taxes)
  5. CNRTL (2012d) ว่า สำนวน "en raison de" (แปลตรงตัวว่า ในเหตุผลของ) หมายความว่า โดยคำนึงถึง หรือโดยสัมพันธ์กับ (à proportion de, par rapport à)
  6. CNRTL (2012e) ว่า คำนาม "recouvrement" โดยทั่วไปหมายถึง การนำ(ของหรือคนที่หาย)กลับคืน [action de recouvrer (une chose ou une personne perdue)] แต่ในทางเศรษฐกิจ หมายถึง การเก็บ(เงิน) เป็นต้นว่า การเก็บหนี้ หรือเก็บเงินที่ลูกหนี้ค้างอยู่ (action de recouvrer des créances, de récupérer des sommes dues par des débiteurs) และในทางการเงิน หมายถึง การดำเนินงานเก็บ(เงิน) ซึ่งเป็นวิธีการที่ท้องพระคลังจัดเก็บภาษีทางตรง (opération de perception par laquelle le Trésor Public recouvre les impôts directs)

อ้างอิง

แก้ไข
  • Boïelle, J., & V. Payen-Payne, de (1903). French and English Dictionary: Compiled From the Best Authorities in Both Languages. London: Cassell & Company. OCLC 8564736. 
  • cnrtl. (2012a). "Demeurer". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • cnrtl. (2012b). "Principe". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • cnrtl. (2012c). "Propriété". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • cnrtl. (2012d). "Raison". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • cnrtl. (2012e). "Recouvrement". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • cnrtl. (2012f). "Répartir". Centre national de ressources textuelles et lexicales.