งานแปล:รัฐบัญญัติรัฐธรรมนูญ/ส่วนที่ 1

ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง
รัฐบัญญัติรัฐธรรมนูญ (ค.ศ. 1793) โดย ที่ประชุมแห่งชาติ, แปลจากภาษาฝรั่งเศส โดย วิกิซอร์ซ
1. ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง
ประกาศ
สิทธิมนุษยชน
และพลเมือง

โดยที่เชื่อมั่นว่า การหลงลืมหรือดูแคลนสิทธิมนุษยชนตามธรรมชาติ เป็นสาเหตุหนึ่งเดียวของความทุกข์โศกในโลกหล้า ประชาชนชาวฝรั่งเศสจึงตกลงใจจะแสดงสิทธิมนุษยชนอันศักดิ์สิทธิ์และมิอาจถ่ายโอนกันได้เหล่านี้ไว้ในประกาศอันขึงขังจริงจัง เพื่อที่พลเมืองทั้งมวลจะสามารถนำการกระทำทั้งหลายของรัฐบาลไปเทียบเคียงกับเป้าหมายของสถาบันทางสังคมใด ๆ ได้ทุกยาม โดยไม่ยอมให้ทรราชย์[1] มากดขี่หรือลดทอนศักดิ์ศรีของตน อันจะเป็นผลให้ประชาชนตระหนักถึงรากฐานแห่งเสรีภาพและความผาสุกของตน ให้เหล่าผู้พิพากษาตระหนักถึงกฎเกณฑ์ของหน้าที่ตน และให้เหล่าผู้บัญญัติกฎหมายตระหนักถึงความมุ่งหมายแห่งภารกิจตน ตลอดไป[2]

เพราะฉะนั้น ประชาชนชาวฝรั่งเศสจึงประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองไว้ดังต่อไปนี้ ต่อพระพักต์ของพระเป็นเจ้า

ข้ อ แ ร ก

เป้าหมายของสังคม คือ ความผาสุกร่วมกัน

รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อรับประกันต่อมนุษยชนถึงการได้อุปโภคสิทธิทั้งหลายของตน อันเป็นสิทธิตามธรรมชาติและไม่มีกำหนดอายุความ

2. สิทธิเหล่านี้ ได้แก่ ความเสมอภาค เสรีภาพ ความมั่นคง และกรรมสิทธิ์

3. ตามธรรมชาติ และต่อหน้ากฎหมาย มนุษย์ทุกคนย่อมเสมอภาคกัน

4. กฎหมายคือการแสดงออกอย่างเสรีและขึงขังจริงจังถึงเจตจำนงทั่วไป กฎหมายย่อมเป็นอย่างเดียวกันสำหรับทุกคนไม่ว่าเป็นคนที่กฎหมายคุ้มครองหรือเป็นที่คนกฎหมายลงโทษ กฎหมายจะสั่งการได้ก็แต่ในสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อสังคม กฎหมายจะห้ามได้ก็แต่ในสิ่งที่เป็นผลร้ายต่อสังคม

5. พลเมืองทั้งมวลย่อมได้รับการยอมรับเข้าสู่การงานสาธารณะอย่างเสมอภาคกัน เสรีชนไม่รับรู้ว่า มีเหตุผลอื่นใดที่ทำให้เกิดสิทธิพิเศษในการได้รับเลือกตั้ง นอกเสียจากคุณธรรมและพรสวรรค์

6. เสรีภาพคืออำนาจของมนุษย์ในอันที่จะกระทำสิ่งทั้งปวงซึ่งไม่เป็นผลร้ายต่อสิทธิของผู้อื่น เสรีภาพมีธรรมชาติเป็นหลักการ มีความยุติธรรมเป็นหลักเกณฑ์ และมีกฎหมายเป็นเกราะคุ้มกัน ขอบเขตทางศีลธรรมของเสรีภาพนั้นอยู่ในภาษิตนี้ "สิ่งใดที่ท่านไม่อยากให้ผู้อื่นทำต่อท่าน อย่าทำสิ่งนั้นต่อผู้อื่น"

7. สิทธิในการแสดงความคิดและความเห็นของตนไม่ว่าผ่านสื่อสิ่งพิมพ์หรือในทางอื่นก็ดี สิทธิในการชุมนุมโดยสงบก็ดี และสิทธิในการปฏิบัติตามลัทธิต่าง ๆ ก็ดี จะถูกหวงห้ามมิได้

ความจำเป็นที่ต้องระบุสิทธิเหล่านี้ไว้ให้ชัดแจ้ง ส่อสำแดงว่า มีระบอบเผด็จการปรากฏขึ้นและยังอยู่ในความทรงจำเมื่อไม่นานมานี้[3]

8. ความมั่นคงย่อมมีอยู่ในการที่สังคมให้ความคุ้มครองแก่สมาชิกแต่ละคนของตน เพื่อพิทักษ์รักษาร่างกายของเขาเหล่านั้น สิทธิของเขาเหล่านั้น และทรัพย์สินของเขาเหล่านั้น

9. กฎหมายต้องคุ้มครองเสรีภาพส่วนสาธารณะและส่วนบุคคลให้พ้นจากการกดขี่ของผู้ปกครอง

10. ต้องไม่มีผู้ใดถูกกล่าวหา จับกุม หรือคุมขัง เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายกำหนดและเป็นไปตามรูปแบบที่ระบุไว้ในกฎหมายนั้น พลเมืองทุกคนที่ถูกเรียกหรือควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องปฏิบัติตามนั้นทันที หากต่อต้าน ผู้นั้นย่อมมีความผิด

11. การทั้งหลายที่กระทำต่อมนุษย์คนหนึ่ง ๆ ซึ่งมิได้อยู่ในคดีความ และมิได้เป็นไปตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนดนั้น ย่อมเป็นเรื่องพลการและเป็นทรราชย์ ผู้ใดหมายจะใช้ความรุนแรงกระทำการเช่นว่านั้นต่อผู้อื่น ผู้อื่นย่อมมีสิทธิใช้กำลังป้องปัดขัดขวางการนั้นได้[4]

12. บรรดาผู้ปลุกเร้า เร่งเร้า เข้าชื่อใน กระทำ หรือก่อให้กระทำการอันเป็นเรื่องพลการนั้น ย่อมมีความผิด และต้องถูกลงโทษ

13. มนุษย์ทุกคนย่อมได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะถูกประกาศว่ามีความผิด ถ้าเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจับกุมผู้นั้น ความรุนแรงทั้งหลายที่ไม่จำเป็นต่อการให้ได้ตัวผู้นั้นมา กฎหมายจะต้องห้ามปรามไว้ให้เคร่งครัด

14. ต้องไม่มีผู้ใดถูกพิพากษาและลงโทษ เว้นแต่เมื่อได้รับฟังหรือเรียกตัวผู้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยอาศัยกฎหมายที่ประกาศใช้ก่อนความผิดเท่านั้น กฎหมายที่ลงโทษความผิดอันกระทำลงก่อนมีกฎหมายนั้น ย่อมเป็นทรราชย์ การให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง ย่อมเป็นอาชญากรรม

15. กฎหมายต้องลงโทษเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดและชัดเจน และโทษนั้นต้องได้สัดส่วนกับความผิดและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

16. สิทธิแห่งกรรมสิทธิ์ คือ สิทธิซึ่งเป็นของพลเมืองทุกคนในอันที่จะได้อุปโภคและจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์ของตน รายได้ของตน และผลลัพธ์จากงานและการประกอบอุตสาหกิจของตน

17. การหวงห้ามพลเมืองมิให้ใช้ความอุตสาหะไปในงาน การเพาะปลูก หรือการค้าประเภทใด ๆ จะกระทำมิได้

18. มนุษย์ทุกคนสามารถนำการบริการและเวลาของตนมารับจ้างได้ แต่ผู้นั้นจะขายตนหรือให้ผู้อื่นขายตนมิได้ ร่างกายของเขามิใช่ทรัพย์สินที่ถ่ายโอนกันได้ กฎหมายไม่รับรู้ถึงความเป็นข้าทาสบริวารแต่ประการใด สิ่งเดียวที่มีได้ คือ การจ้างดูแลและตอบแทนระหว่างมนุษย์ผู้ทำงานกับผู้จ้างเขาทำงาน

19. การพรากทรัพย์สินแม้เพียงน้อยนิดไปจากผู้ใด โดยไร้ความยินยอมของผู้นั้น จะกระทำมิได้ เว้นแต่เมื่อเป็นความจำเป็นสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด และอยู่ในเงื่อนไขว่า ได้ให้ค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมก่อนแล้ว

20. การกำหนดภาษี จะกระทำมิได้ เว้นแต่เพื่อประโยชน์ทั่วกัน พลเมืองทั้งมวลมีสิทธิเข้าร่วมในการกำหนดภาษี กำกับดูแลการใช้ภาษี และเรียกร้องให้อธิบายเรื่องภาษี

21. การสาธารณสงเคราะห์นั้นเป็นหนี้อันศักดิ์สิทธิ์ สังคมต้องอุปการะพลเมืองผู้ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าโดยจัดหางานให้เขาเหล่านั้น หรือโดยกระทำให้บรรดาผู้ไม่สามารถทำงานได้ได้รับความมั่นใจว่า จะมีหนทางอยู่รอด

22. การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน สังคมต้องใช้พละกำลังทั้งหมดของตนส่งเสริมพัฒนาการในการใช้เหตุผลของสาธารณชน และจัดวางการศึกษาให้พลเมืองทั้งมวลเข้าถึงได้[5]

23. การรับประกันทางสังคม ย่อมมีอยู่ในการดำเนินการทั้งปวงเพื่อกระทำให้แต่ละคนมั่นใจว่า จะได้อุปโภคและได้รับการพิทักษ์รักษาสิทธิของตน การรับประกันเช่นนั้นย่อมอ้างอิงกับอำนาจอธิปไตยของชาติ

24. การรับประกันเช่นนั้นจะมีมิได้เลย ถ้ากฎหมายไม่กำหนดขอบเขตหน้าที่สาธารณะไว้ให้ชัดเจน และถ้าไม่ได้รับการกระทำให้มั่นใจได้ว่า เจ้าหน้าที่ทั้งปวงจะต้องรับผิดชอบ

25. อำนาจอธิปไตยดำรงอยู่ในประชาชน อำนาจนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวและแบ่งแยกมิได้ ไม่มีกำหนดอายุความ และไม่อาจถ่ายโอนกันได้

26. ไม่ว่าประชาชนหมู่เหล่าใดก็ไม่อาจใช้อำนาจอันเป็นของประชาชนโดยรวมได้ ทว่า ผู้ทรงอำนาจอธิปไตยแต่ละภาคส่วนที่ชุมนุมกันเป็นสมัชชา ย่อมได้อุปโภคสิทธิที่จะแสดงเจตจำนงของตนโดยเสรีอย่างเต็มที่

27. ปัจเจกชนผู้ใดที่ยึดอำนาจอธิปไตย จงถูกเสรีชนสังหารผลาญชีพเสียในทันใด

28. ประชาชนย่อมมีสิทธิอยู่เสมอที่จะทบทวน ปฏิรูป หรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของตน คนรุ่นหนึ่ง ๆ ไม่อาจกระทำให้คนรุ่นหลังต้องยอมอยู่ภายใต้กฎหมายของรุ่นตน

29. พลเมืองแต่ละคนย่อมมีสิทธิเข้าร่วมในการจัดทำกฎหมาย และในการแต่งตั้งผู้รับมอบอาณัติจากตนหรือตัวแทนของตน

30. โดยแก่นแท้แล้ว กิจหน้าที่สาธารณะย่อมเป็นการชั่วคราว จะถือเอาเป็นเกียรติศักดิ์หรืออิสริยยศหาได้ไม่ แต่จะถือเป็นหน้าที่ก็ได้

31. ความผิดของผู้รับมอบอาณัติจากประชาชนและของตัวแทนประชาชน ต้องไม่ปล่อยให้ลอยนวล ไม่ว่าผู้ใดก็ไม่มีสิทธิอ้างว่า ตนถูกละเมิดยิ่งกว่าพลเมืองคนอื่น ๆ

32. สิทธิในการเสนอเรื่องร้องเรียนต่อผู้รับฝากอำนาจหน้าที่สาธารณะ จะถูกหวงห้าม ระงับ หรือจำกัด ไม่ได้ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ

33. การต่อต้านการกดขี่ เป็นผลที่ตามมาจากสิทธิมนุษยชนอย่างอื่น

34. ย่อมมีการกดขี่ต่อองค์กรทางสังคม เมื่อสมาชิกแม้แต่คนใดคนหนึ่งขององค์กรนั้นถูกกดขี่ ย่อมมีการกดขี่ต่อสมาชิกแต่ละคน เมื่อองค์กรทางสังคมนั้นถูกกดขี่

35. เมื่อรัฐบาลละเมิดสิทธิประชาชน การเป็นกบฏก็ย่อมเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์สูงสุดและเป็นหน้าที่อันจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับประชาชนและสำหรับทุกหมู่เหล่าของประชาชน

ลงนาม กอโล-แดร์บัว[6] ประธาน; ดูว์ร็อง-มายาน,[7] ดูว์โก,[8] เมโอล,[9] เซอัช. เดอลาครัว,[10] โกซูแอ็ง,[11] เป. อา. ลาลัว[12] เลขานุการ

หมายเหตุ แก้ไข

  1. ต้นฉบับว่า "tyrannie" ซึ่งหมายถึง "ทรราชย์" (ระบอบ) มากกว่าจะเป็น "ทรราช" (บุคคล)
  2. ต้นฉบับแปลตรงตัวว่า "เพื่อที่ประชาชนจะได้มีรากฐานแห่งเสรีภาพของตนและแห่งความผาสุกของตนอยู่ในสายตาตลอดไป [เพื่อที่] เหล่าผู้พิพากษา [จะได้มี] กฎเกณฑ์แห่งหน้าที่ของตน [อยู่ในสายตาตลอดไป และเพื่อที่] เหล่าผู้บัญญัติกฎหมาย [จะได้มี] ความมุ่งหมายแห่งภารกิจของตน [อยู่ในสายตาตลอดไป]"
  3. ต้นฉบับแปลตรงตัวว่า "ความจำเป็นที่ต้องระบุสิทธิเหล่านี้ไว้ให้ชัดแจ้ง ส่อถึงการปรากฏขึ้น [ของ] และความทรงจำเมื่อไม่นานมานี้ [เกี่ยวกับ] ระบอบเผด็จการ"
  4. ต้นฉบับแปลตรงตัวว่า "ผู้ซึ่งผู้หนึ่งจะกระทำการนั้นต่อโดยความรุนแรง มีสิทธิขับไล่การนั้นด้วยกำลัง"
  5. ต้นฉบับแปลตรงตัวว่า "วางการศึกษาไว้ในความเอื้อมถึงของพลเมืองทั้งมวล"
  6. ฌ็อง-มารี กอโล แดร์บัว (Jean-Marie Collot d'Herbois)
  7. ปีแยร์-ตูแซ็ง ดูว์ร็อง เดอ มายาน (Pierre-Toussaint Durand de Maillane)
  8. รอเฌ ดูว์โก (Roger Ducos)
  9. ฌ็อง นีกอลา เมโอล (Jean Nicolas Méaulle)
  10. ชาร์ล-ฟร็องซัว เดอลาครัว (Charles-François Delacroix)
  11. เออแฌน-เซซาร์ โกซูแอ็ง (Eugène-César Gossuin)
  12. ปีแยร์-อ็องตวน ลาลัว (Pierre Antoine Laloy)