งานแปล:รัฐบัญญัติรัฐธรรมนูญ/ส่วนที่ 2
- รัฐบัญญัติรัฐธรรมนูญ
- ว่าด้วยสาธารณรัฐ (มาตรา 1)
- ว่าด้วยการแบ่งส่วนประชาชน (มาตรา 2–3)
- ว่าด้วยสถานะพลเมือง (มาตรา 4–6)
- ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของประชาชน (มาตรา 7–10)
- ว่าด้วยสมัชชาชั้นต้น (มาตรา 11–20)
- ว่าด้วยการมีผู้แทนระดับชาติ (มาตรา 21–36)
- ว่าด้วยสมัชชาการเลือกตั้ง (มาตรา 37–38)
- ว่าด้วยองค์กรนิติบัญญัติ (มาตรา 39–44)
- การดำเนินการประชุมขององค์กรนิติบัญญัติ (มาตรา 45–52)
- ว่าด้วยกิจหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติ (มาตรา 53–55)
- ว่าด้วยการจัดทำกฎหมาย (มาตรา 56–60)
- ว่าด้วยการขึ้นต้นกฎหมายและกฤษฎีกา (มาตรา 61)
- ว่าด้วยคณะมนตรีบริหาร (มาตรา 62–74)
- ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคณะมนตรีบริหารกับองค์กรนิติบัญญัติ (มาตรา 75–77)
- ว่าด้วยองค์กรบริหารและเทศบาล (มาตรา 78–84)
- ว่าด้วยการยุติธรรมทางแพ่ง (มาตรา 85–95)
- ว่าด้วยการยุติธรรมทางอาญา (มาตรา 96–97)
- ว่าด้วยคณะตุลาการเพื่อการกลับคำพิพากษา (มาตรา 98–100)
- ว่าด้วยภาษีสาธารณะ (มาตรา 101)
- ว่าด้วยคลังของชาติ (มาตรา 102–104)
- ว่าด้วยการบัญชี (มาตรา 105–106)
- ว่าด้วยกองกำลังของสาธารณรัฐ (มาตรา 107–114)
- ว่าด้วยการประชุมแห่งชาติ (มาตรา 115–117)
- ว่าด้วยความสัมพันธ์ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสกับต่างชาติ (มาตรา 118–121)
- ว่าด้วยการรับประกันสิทธิ (มาตรา 122–124)
สาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นอันหนึ่งอันเดียวและแบ่งแยกมิได้
2.ประชาชนชาวฝรั่งเศสย่อมแบ่งส่วนออกเป็นสมัชชาชั้นต้นประจำตำบล เพื่อการใช้อำนาจอธิปไตยของตน
3.ประชาชนย่อมแบ่งส่วนออกเป็นจังหวัด อำเภอ และเทศบาล เพื่อการบริหารและเพื่อการยุติธรรม
4.ทุกคน[1] ที่เกิดและมีภูมิลำเนาในฝรั่งเศส มีอายุถึง 21 ปีแล้วก็ดี
ชาวต่างชาติทุกคนที่มีอายุถึง 21 ปีแล้ว มีภูมิลำเนาในฝรั่งเศสมาแล้ว 1 ปี ซึ่ง
ดำรงชีพ ณ ที่นั้นด้วยแรงงานของตน
หรือได้มาซึ่งทรัพย์สิน
หรือสมรสกับหญิงฝรั่งเศส
หรือรับบุตรบุญธรรม
หรือเลี้ยงดูผู้ชราก็ดี
ประการสุดท้าย ชาวต่างชาติทุกคนซึ่งองค์กรนิติบัญญัติจะได้วินิจฉัยว่าควรค่าแก่มนุษยธรรมก็ดี[2]
ย่อมได้รับการเปิดให้ใช้สิทธิพลเมืองฝรั่งเศส
5.การใช้สิทธิแห่งพลเมืองเป็นอันสิ้นไป
ด้วยการแปลงสัญชาติในต่างประเทศ
ด้วยการยอมรับกิจหน้าที่หรือความอนุเคราะห์อันมาจากรัฐบาลที่มิใช่ของประชาชน
ด้วยการถูกพิพากษาลงโทษอันน่าอับอาย[3] หรือน่าเจ็บปวด[4] จนกว่าจะมีการล้างมลทิน
6.การใช้สิทธิพลเมืองเป็นอันถูกระงับ
ด้วยสถานะผู้ต้องหา
ด้วยคำพิพากษาว่าจงใจไม่ไปศาล[5] ตราบที่คำพิพากษานั้นยังไม่ถูกยกเลิก
7.ประชาชนผู้มีอำนาจอธิปไตย คือ พลเมืองฝรั่งเศสทั้งมวล
8.ประชาชนย่อมแต่งตั้งผู้แทนของตนโดยตรง
9.ประชาชนย่อมมอบหมายให้ผู้เลือกตั้งมีสิทธิเลือกผู้บริหาร อนุญาโตตุลาการสาธารณะ ตุลาการทางอาญา และ [ตุลาการ] เพื่อการกลับคำพิพากษา[6]
10.ประชาชนย่อมประชุมปรึกษา[7] กันด้วยเรื่องกฎหมาย
11.สมัชชาชั้นต้นประกอบด้วยพลเมืองที่มีภูมิลำเนาในตำบลแต่ละแห่งมาแล้ว 6 เดือน
12.สมัชชาประกอบด้วยพลเมืองอย่างน้อย 200 คน อย่างมาก 600 คน ซึ่งได้รับการเรียกให้มาลงคะแนนเสียง
13.สมัชชาเป็นอันก่อตั้งขึ้นด้วยการแต่งตั้งประธาน เลขานุการ และผู้นับคะแนนเสียง
14.อำนาจรักษาความเรียบร้อยในสมัชชาย่อมเป็นของสมัชชา
15.มิให้ผู้ใดปรากฏตัวในสมัชชาโดยมีอาวุธ
16.การเลือกตั้งจะกระทำโดยใช้บัตรหรือโดยเสียงอันดังก็ได้ แล้วแต่ผู้ลงคะแนนเสียงแต่ละคนจะเลือก
17.มิให้สมัชชาชั้นต้นกำหนดวิธีการรูปแบบเดียวกันสำหรับการลงคะแนนเสียง ไม่ว่าในกรณีใด
18.ให้ผู้นับคะแนนเสียงรับรองคะแนนเสียงของพลเมืองที่เขียนหนังสือไม่เป็นและเลือกลงคะแนนเสียงโดยใช้บัตร
19.คะแนนเสียงว่าด้วยกฎหมาย ย่อมแสดงโดย "รับ" หรือ "ไม่รับ"
20.ให้ประกาศมติของสมัชชาชั้นต้นดังนี้ "พลเมืองที่ประชุมกันในสมัชชาชั้นต้นแห่ง ... มีผู้ลงคะแนนเสียงจำนวน ... คน ได้ลงคะแนนรับหรือไม่รับ ด้วยเสียงข้างมาก ... เสียง"
21.การมีผู้แทนระดับชาติย่อมอิงประชากรเท่านั้น
22.ให้มีผู้แทน 1 คนต่อปัจเจกบุคคล 40,000 คน
23.สมัชชาชั้นต้นแต่ละแห่งที่เป็นผลมาจากประชากร 39,000 ถึง 40,000 ราย ย่อมแต่งตั้งผู้แทนโดยตรงได้ 1 คน
24.การแต่งตั้ง ให้กระทำโดยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด
25.ให้สมัชชาแต่ละแห่งนับคะแนนเสียง และส่งข้าหลวงไปยังสถานที่ที่กำหนดไว้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางที่สุด เพื่อการรวมคะแนนเสียงโดยทั่วกัน
26.ถ้าการรวมคะแนนเสียงครั้งแรกไม่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ให้มีการเรียก [มาลงคะแนนเสียง] เป็นคราวที่สอง และให้ลงคะแนนเสียงเลือกระหว่างพลเมืองทั้งสองรายที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด
27.ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ผู้มีอายุมากที่สุดย่อมมีสิทธิดีกว่า ไม่ว่าในฐานะที่พึงออกเสียงให้[8] หรือที่พึงได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่อายุเท่ากัน ให้จับฉลากตัดสิน
28.ชาวฝรั่งเศสทุกคนที่ใช้สิทธิพลเมืองย่อมมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้ในอาณาเขตของสาธารณรัฐ
29.ผู้แทนแต่ละคนย่อมเป็น [ผู้แทน] ของชาติโดยรวม
30.ในกรณีที่ผู้แทนมิได้รับการยอมรับ ลาออก ถูกถอดถอน หรือตาย ให้สมัชชาชั้นต้นที่แต่งตั้งผู้นั้นจัดหาผู้มาแทน
31.ผู้แทนที่ได้ยื่นขอลาออก จะยังออกจากตำแหน่งมิได้ จนถึงภายหลังจากที่มีผู้เข้ามาสืบตำแหน่ง
32.เพื่อการเลือกตั้ง ให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสชุมนุมกันทุกปีในวันที่ 1 พฤษภาคม
33.ประชาชนย่อมดำเนินการเช่นนั้น ไม่ว่าพลเมืองผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจะมีจำนวนเท่าใด
34.สมัชชาชั้นต้นย่อมจัดตั้งขึ้นเป็นการวิสามัญ เมื่อมีคำเรียกร้องจาก 1 ใน 5 ของพลเมืองผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในสมัชชานั้น
35.ในกรณีนี้ ให้เทศบาลแห่งสถานที่ประชุมตามปรกติเป็นผู้เรียกประชุม
36.สมัชชาวิสามัญนี้จะประชุมปรึกษากันก็ต่อเมื่อมี 1.5[9] ของพลเมืองผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในสมัชชานั้นมาประชุม
37.พลเมืองที่ประชุมกันในสมัชชาชั้นต้นย่อมแต่งตั้งผู้เลือกตั้ง 1 คนต่ออัตราส่วนพลเมือง 200 คน ไม่ว่าจะมาประชุมหรือไม่ หรือ 2 คนต่อ 301–400 คน หรือ 3 คนต่อ 501–600 คน
38.การดำเนินสมัชชาการเลือกตั้ง และวิธีการเลือกตั้ง ให้เป็นอย่างเดียวกับในสมัชชาชั้นต้น
39.องค์กรนิติบัญญัติย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ และเป็นถาวร
40.สมัยประชุมขององค์กร คือ 1 ปี
41.องค์กรย่อมมาประชุมกันในวันที่ 1 กรกฎาคม
42.สมัชชาแห่งชาติจะก่อตั้งมิได้ ถ้ามิได้ประกอบด้วย 1.5 ของผู้แทน [ทั้งหมด] เป็นอย่างน้อย
43.การฟ้องร้อง[10] ตั้งข้อกล่าวหา หรือมีคำพิพากษาต่อผู้แทน เพราะความคิดเห็นที่เขาเหล่านั้นได้แสดงไว้ในท่ามกลางองค์กรนิติบัญญัติ จะกระทำมิได้ ไม่ว่าในเวลาใด
44.เขาเหล่านั้นอาจถูกควบคุมตัวเพราะการกระทำทางอาญาได้ ถ้าได้กระทำซึ่งหน้า แต่มิให้ออกหมายจับหรือหมายเบิกตัว[11] เขาเหล่านั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากองค์กรนิติบัญญัติ
45.การประชุมของสมัชชาแห่งชาติ ย่อมเป็นไปโดยเปิดเผย
46.รายงานการประชุมของสมัชชา ย่อมได้รับการพิมพ์เผยแพร่
47.สมัชชาจะประชุมปรึกษามิได้ เว้นแต่ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 200 คน
48.การห้ามสมาชิกตนมิให้ขึ้นกล่าวตามลำดับที่เขาเหล่านั้นได้ร้องขอไว้แล้ว สมัชชาจะกระทำมิได้
49.สมัชชาย่อมทำคำวินิจฉัย[7] ด้วยเสียงข้างมากของผู้มาประชุม
50.สมาชิก 50 คนมีสิทธิเรียกให้มีการขานชื่อ[12]
51.ในท่ามกลาง [ที่ประชุมของ] ตน สมัชชามีสิทธิตรวจสอบยับยั้งความประพฤติของสมาชิกตน
52.ในสถานที่ประชุม และในพื้นที่รอบนอกซึ่งสมัชชาได้กำหนดไว้แล้ว อำนาจรักษาความเรียบร้อยย่อมเป็นของสมัชชา
53.องค์กรนิติบัญญัติเสนอกฎหมายและออกกฤษฎีกา
54.ที่เรียกโดยทั่วไปว่า "กฎหมาย" นั้น ประกอบด้วย รัฐบัญญัติขององค์กรนิติบัญญัติอันว่าด้วย
กฎหมายแพ่งและอาญา
การบริหารโดยทั่วไปซึ่งรายได้และรายจ่ายสามัญของสาธารณรัฐ
อาณาเขตของชาติ
ชื่อเรียก น้ำหนัก แบบพิมพ์ และหน่วยของเงิน
ลักษณะ ปริมาณ และการเก็บภาษี
การประกาศสงคราม
การแบ่งส่วนดินแดนฝรั่งเศสออกเป็นแบบใหม่เป็นการทั่วไปทุกครั้ง
การศึกษาสาธารณะ
การเชิดชูเกียรติยศเป็นการสาธารณะเพื่อรำลึกถึงบุคคลสำคัญ
55.ที่กำหนดให้เรียกโดยเจาะจงว่า "กฤษฎีกา" นั้น ได้แก่ รัฐบัญญัติขององค์กรนิติบัญญัติอันว่าด้วย
การจัดตั้ง[13] กองกำลังทางบกและทางทะเลประจำปี
การอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้กองทหารต่างชาติผ่านดินแดนฝรั่งเศส
การส่งกองกำลังนาวาต่างชาติเข้าไปในท่าเรือของสาธารณรัฐ
มาตรการเพื่อความมั่นคงและความสงบสุขโดยทั่วกัน
การแบ่งส่วนสิ่งบรรเทาทุกข์และการงานสาธารณะเป็นรายปีและเป็นครั้งคราว
คำสั่งจัดทำเหรียญกระษาปณ์[14] ทุกชนิด
ค่าใช้จ่ายอันคาดหมายมิได้และเป็นการวิสามัญ
มาตรการระดับท้องถิ่นและระดับพิเศษในเรื่องการบริหาร เรื่องแขวง หรือเรื่องการงานสาธารณะประเภทหนึ่ง ๆ
การป้องกันดินแดน
การให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญา
การแต่งตั้งและปลดแม่ทัพ
การดำเนินคดีเพื่อความรับผิดชอบของสมาชิกคณะมนตรี[15] และผู้ปฏิบัติกิจหน้าที่สาธารณะ
การตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกแจ้งว่า สมรู้ร่วมคิดกันต่อต้านความมั่นคงโดยทั่วกันของสาธารณรัฐ
การเปลี่ยนแปลงการแบ่งส่วนบางส่วนของดินแดนฝรั่งเศสทุกครั้ง
เครื่องอิสริยยศของชาติ
56.ร่างกฎหมายนั้นให้มีรายงาน[16] นำมา
57.มิให้เปิดอภิปราย และมิให้ตกลงรับกฎหมายเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะครบ 15 วันหลังมีรายงาน
58.ร่างกฎหมายนั้นให้พิมพ์เผยแพร่และจัดส่งไปยังแขวงทั้งหมดในสาธารณรัฐด้วยชื่อนี้ "กฎหมายที่เสนอ"
59.หลังจัดส่งกฎหมายที่เสนอนั้นไปแล้ว 40 วัน ถ้าไม่มีคำคัดค้านจาก 1 ใน 10 ของสมัชชาชั้นต้นที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบประจำจังหวัดแต่ละแห่งในจำนวน 1.5 ของจังหวัดทั้งหลาย ร่างกฎหมายก็เป็นอันได้รับการยอมรับและกลายเป็น "กฎหมาย" ได้
60.ถ้ามีคำร้องขอ ก็ให้องค์กรนิติบัญญัติเรียกประชุมสมัชชาชั้นต้นทั้งหลาย
61.กฎหมาย กฤษฎีกา คำพิพากษา และตราสารสาธารณะทั้งปวง ให้ขึ้นต้นว่า "ในนามของประชาชนชาวฝรั่งเศส ในปี ... ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส"
62.ให้มีคณะมนตรีบริหารคณะหนึ่ง ประกอบด้วยสมาชิก 24 คน
63.ให้สมัชชาเลือกตั้งประจำจังหวัดแต่ละแห่งแต่งตั้งผู้สมัครมา 1 คน ให้องค์กรนิติบัญญัติเลือกสมาชิกคณะมนตรีจากรายชื่อรวม
64.เมื่อมีสภานิติบัญญัติแต่ละชุด ในเดือนสุดท้ายของสมัยประชุมสภานั้น ให้ครึ่งหนึ่งของคณะมนตรีเป็นอันเปลี่ยนใหม่
65.ให้คณะมนตรีมีกิจเป็นการบังคับบัญชาและกำกับดูแลการปกครองโดยทั่วไป คณะมนตรีจะกระทำการได้ก็แต่โดยดำเนินตามกฎหมายและกฤษฎีกาขององค์กรนิติบัญญัติ
66.ให้คณะมนตรีแต่งตั้งหัวหน้าพนักงานในการบริหารสาธารณรัฐโดยทั่วไปจาก [บุคคล] ภายนอกคณะมนตรี
67.ให้องค์กรนิติบัญญัติกำหนดจำนวนและกิจหน้าที่ของพนักงานเหล่านี้
68.พนักงานเหล่านี้มิได้ประกอบกันเป็นคณะมนตรีใด พนักงานเหล่านี้ย่อมแยกจากกัน โดยไม่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดในระหว่างพวกตน พนักงานเหล่านี้มิได้ใช้อำนาจหน้าที่ส่วนตัวแต่อย่างใด
69.ให้คณะมนตรีแต่งตั้งพนักงาน [ด้านกิจการ] ภายนอกของสาธารณรัฐจาก [บุคคล] ภายนอกคณะมนตรี
70.ให้คณะมนตรีเจรจาสนธิสัญญา
71.ในกรณีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่[17] สมาชิกคณะมนตรีย่อมถูกองค์กรนิติบัญญัติตั้งข้อกล่าวหา
72.คณะมนตรีต้องรับผิดชอบในการไม่ดำเนินตามกฎหมายและกฤษฎีกา และในการกระทำมิชอบที่ตนไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษ
73.ให้คณะมนตรีเพิกถอนและเปลี่ยนตัวพนักงานที่ตนแต่งตั้ง
74.ถ้ามีช่อง คณะมนตรีต้องร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลเหล่านั้นต่อเจ้าหน้าที่ตุลาการ
75.คณะมนตรีบริหารย่อมดำรงคงอยู่เคียงคู่องค์กรนิติบัญญัติ คณะมนตรีมีทางเข้าและพื้นที่ต่างหากในที่ประชุมขององค์กร
76.ให้รับฟังคณะมนตรีทุกคราวที่คณะมนตรีมีถ้อยคำจะกล่าว
77.เมื่อเห็นสมควร องค์กรนิติบัญญัติจะเรียกคณะมนตรีทั้งหมดหรือบางส่วนมายังท่ามกลางองค์กรก็ได้
78.ในแต่ละแขวงของสาธารณรัฐ ให้มีการบริหารแบบเทศบาล
ในแต่ละอำเภอ มีการบริหารในชั้นกลาง
ในแต่ละจังหวัด มีการบริหารส่วนกลาง
79.ให้สมัชชาแขวงเลือกตั้งเจ้าพนักงานเทศบาล
80.ให้สมัชชาการเลือกตั้งประจำจังหวัดและประจำอำเภอแต่งตั้งผู้บริหาร
81.ให้ครึ่งหนึ่งของเทศบาลและคณะบริหารเป็นอันเปลี่ยนใหม่ทุกปี
82.ผู้บริหารและเจ้าพนักงานเทศบาลไม่มีลักษณะเป็นผู้แทน
บุคคลเหล่านี้มิอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐบัญญัติขององค์กรนิติบัญญัติหรือระงับการดำเนินตามรัฐบัญญัตินั้นได้ ไม่ว่าในกรณีใด
83.ให้องค์กรนิติบัญญัติกำหนดกิจหน้าที่ของเจ้าพนักงานเทศบาลและของผู้บริหาร ระเบียบว่าด้วยลำดับบังคับบัญชาของบุคคลเหล่านี้ และโทษที่เขาเหล่านี้อาจได้รับ
84.การประชุมของเทศบาลและของคณะบริหาร ย่อมเป็นไปโดยเปิดเผย
85.ประมวลกฎหมายแพ่งและอาญาย่อมมีรูปแบบเดียวกันสำหรับทั่วทั้งสาธารณรัฐ
86.การประทุษร้ายต่อสิทธิของพลเมืองในอันที่จะให้ข้อพิพาทของตนได้รับการตัดสินจากอนุญาโตตุลาการที่ตนเลือกเองนั้น จะเกิดขึ้นมิได้
87.คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเหล่านี้ย่อมเป็นเด็ดขาด ถ้าพลเมืองมิได้สงวนสิทธิในการคัดค้านเอาไว้
88.ให้มีตุลาการแห่งสันติ[18] ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของพลเมืองในเขตต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
89.ให้ตุลาการเหล่านี้ไกล่เกลี่ยและพิพากษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
90.ให้องค์กรนิติบัญญัติวางระเบียบในเรื่องจำนวนและอำนาจหน้าที่ของตุลาการเหล่านี้
91.ให้มีอนุญาโตตุลาการสาธารณะซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมัชชาการเลือกตั้ง
92.ให้องค์กรนิติบัญญัติระบุจำนวนและเขตของตุลาการเหล่านี้
93.ให้ตุลาการเหล่านี้ไต่สวนข้อขัดแย้งที่มิได้ยุติเป็นเด็ดขาดด้วยอนุญาโตตุลาการเอกชนหรือด้วยตุลาการแห่งสันติ
94.ให้ตุลาการเหล่านี้ประชุมปรึกษาเป็นการเปิดเผย
ให้ตุลาการเหล่านี้แถลงความคิดเห็นด้วยเสียงอันดัง
ให้ตุลาการเหล่านี้ชี้ขาดตัดสินเป็นชั้นสุดท้ายในเรื่องข้อต่อสู้ที่กระทำด้วยวาจา หรือในเรื่องที่เป็นแต่บันทึก[19] โดยไม่ต้องมีวิธีพิจารณา และไม่คิดค่าใช้จ่าย
ให้ตุลาการเหล่านี้แสดงเหตุผลในคำตัดสินของตน
95.ให้เลือกตั้งตุลาการแห่งสันติและอนุญาโตตุลาการสาธารณะทุกปี
96.ในเรื่องทางอาญา จะมีพลเมืองถูกพิพากษามิได้ เว้นแต่ด้วยข้อกล่าวหาที่ลูกขุนได้รับหรือที่องค์กรนิติบัญญัติมีกฤษฎีกาไว้
ผู้ถูกกล่าวหาย่อมมีที่ปรึกษาที่ตนเลือกเอง หรือที่ได้รับการแต่งตั้งมาโดยตำแหน่ง[20]
การนั่งพิจารณาย่อมเป็นไปโดยเปิดเผย
ให้ลูกขุนที่พิพากษาประกาศข้อเท็จจริงและเจตนา
ให้คณะตุลาการทางอาญาเป็นผู้กำหนดโทษ
97.ให้สมัชชาการเลือกตั้งเลือกตั้งตุลาการทางอาญาทุกปี
98.ให้มีคณะตุลาการเพื่อการกลับคำพิพากษาสำหรับทั่วทั้งสาธารณรัฐ
99.คณะตุลาการนี้มิได้ไต่สวนรูปคดี
ให้คณะตุลาการนี้วินิจฉัยในเรื่องการไม่ปฏิบัติตามรูปแบบและเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
100.ให้สมัชชาการเลือกตั้งเลือกตั้งสมาชิกคณะตุลาการนี้ทุกปี
101.ไม่มีพลเมืองผู้ใดได้รับยกเว้นจากพันธะหน้าที่อันทรงเกียรติในการมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายสาธารณะ
102.คลังของชาติเป็นจุดศูนย์รวมแห่งรายรับและรายจ่ายของสาธารณรัฐ
103.ให้พนักงานบัญชีที่คณะมนตรีบริหารแต่งตั้งเป็นผู้บริหารคลังของชาติ
104.ให้พนักงานเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของข้าหลวงที่องค์กรนิติบัญญัติแต่งตั้งขึ้นโดยนำมาจากภายนอกองค์กร และต้องรับผิดชอบในการกระทำมิชอบที่ตนไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษ
105.บัญชีของพนักงานคลังแห่งชาติ และของผู้บริหารเงินทุนสาธารณะ ให้ยื่นเป็นรายปีต่อข้าหลวงผู้รับผิดชอบซึ่งคณะมนตรีบริหารแต่งตั้ง
106.ให้ผู้ตรวจสอบเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของข้าหลวงซึ่งองค์กรนิติบัญญัติแต่งตั้งโดยนำมาจากภายนอกองค์กร และต้องรับผิดชอบในการกระทำมิชอบและข้อผิดพลาดทั้งหลายที่ตนไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษ
ให้องค์กรนิติบัญญัติเป็นผู้ชำระบัญชี
107.กองกำลังโดยทั่วไปของสาธารณรัฐย่อมประกอบด้วยประชาชนทั้งปวง
108.สาธารณรัฐย่อมธำรงกองกำลังติดอาวุธทางบกและทางทะเลไว้ในการใช้งานโดยให้ค่าจ้าง แม้ในยามสันติ
109.ชาวฝรั่งเศสทุกคนย่อมเป็นทหาร เขาเหล่านั้นทุกคนย่อมได้รับการฝึกฝนให้ใช้อาวุธ
110.ไม่มีจอมทัพแต่ประการใด
111.ความแตกต่างของขั้น เครื่องหมายเฉพาะของขั้น และลำดับบังคับบัญชา จะมีอยู่ก็แต่ในเรื่องที่เนื่องด้วยการปฏิบัติหน้าที่และชั่วเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น
112.กองกำลังสาธารณะที่ใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ย่อมไม่ปฏิบัติการเว้นแต่มีคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้น
113.กองกำลังสาธารณะที่ใช้ต่อต้านศัตรูจากภายนอกนั้น ย่อมปฏิบัติการตามคำสั่งของคณะมนตรีบริหาร
114.มิให้องค์กรติดอาวุธใด ๆ มีการประชุมปรึกษา[7]
115.ถ้า 1 ใน 10 ของสมัชชาชั้นต้นที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบประจำจังหวัดแต่ละแห่งในจำนวน 1.5 ของจังหวัดทั้งหลาย ร้องขอให้ตรวจชำระรัฐบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือให้เปลี่ยนแปลงบางมาตราของรัฐบัญญัตินั้น องค์กรนิติบัญญัติจะต้องเรียกประชุมสมัชชาชั้นต้นทุกแห่งของสาธารณรัฐ เพื่อหยั่งทราบว่า จะมีช่องให้เกิดการประชุมแห่งชาติได้หรือไม่
116.ที่ประชุมแห่งชาติย่อมจัดตั้งขึ้นในลักษณะเดียวกับสภานิติบัญญัติ และย่อมประมวลไว้ซึ่งอำนาจของสภาเหล่านั้น
117.ในเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น ให้ที่ประชุมจดจ่ออยู่แต่กับวัตถุประสงค์ที่ก่อให้เกิดการเรียกประชุม
118.ประชาชนชาวฝรั่งเศสย่อมเป็นเพื่อนและเป็นพันธมิตรตามธรรมชาติกับเสรีชนทั้งหลาย
119.ชาวฝรั่งเศสไม่ก้าวก่ายการการปกครองของชาติอื่น ชาวฝรั่งเศสไม่ยอมให้ชาติอื่นก้าวก่าย [การปกครอง] ของตน
120.ชาวฝรั่งเศสให้ที่ลี้ภัยแก่ชาวต่างชาติที่ถูกขับออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนเพราะเหตุผลเรื่องเสรีภาพ
ชาวฝรั่งเศสไม่ให้ที่ลี้ภัยแก่ทรราช
121.ชาวฝรั่งเศสไม่ก่อสันติกับศัตรูผู้ยึดครองดินแดนของตน
122.รัฐธรรมนูญย่อมรับประกันต่อชาวฝรั่งเศสทุกคนถึงความเสมอภาค เสรีภาพ ความมั่นคง ทรัพย์สิน หนี้สินสาธารณะ การปฏิบัติตามลัทธิต่าง ๆ ได้โดยเสรี การศึกษาร่วมกัน การสาธารณสงเคราะห์ เสรีภาพอันไร้ขีดจำกัดของสื่อ สิทธิในการร้องทุกข์ สิทธิในการชุมนุมเป็นสมาคมของประชาชน และการได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนทั้งปวง
123.สาธารณรัฐฝรั่งเศสเชิดชูความภักดี ความกล้าหาญ ความอาวุโส ความกตัญญูต่อครอบครัว และความอับโชค[21] สาธารณรัฐขอฝากรัฐธรรมนูญของตนไว้ในความคุ้มครองของคุณธรรมทั้งมวล
124.ให้จารึกประกาศสิทธิและรัฐบัญญัติรัฐธรรมนูญไว้บนโต๊ะในองค์กรนิติบัญญัติและในที่สาธารณะ
ลงนาม กอโล-แดร์บัว[22] ประธาน; ดูว์ร็อง-มายาน,[23] ดูว์โก,[24] เมโอล,[25] เซอัช. เดอลาครัว,[26] โกซูแอ็ง,[27] เป. อา. ลาลัว[28] เลขานุการ
หมายเหตุ
แก้ไข- ↑ CNRTL (2012g) ว่า "homme" จะหมายถึงคนโดยไม่จำกัดเพศ หรือคนเพศชายก็ได้
- ↑ CNRTL (2012h) ว่า "humanité" สามารถหมายถึง (1) ลักษณะที่แสดงว่าเป็นมนุษย์ (เช่น ลักษณะทางกายภาพ หรืออุปนิสัย) (2) ความเมตตาหรือกรุณาที่มนุษย์มีต่อเพื่อนมนุษย์ (3) มนุษยชาติ (4) มนุษยศาสตร์
- ↑ CNRTL (2012i) ว่า "peine infamante" (โทษอันน่าอับอาย) เป็นคำเรียกโทษประเภทหนึ่งซึ่งส่งผลให้เสียคุณสมบัติบางประการ เช่น การลดขั้นพลเมือง (dégradation civique)
- ↑ CNRTL (2012a) ว่า "peine afflictive" (โทษอันน่าเจ็บปวด) เป็นคำเรียกโทษที่มุ่งสร้างความเจ็บปวดทางกายภาพ เช่น การโบย (fouet) หรือการสักประจาน (flétrissure)
- ↑ CNRTL (2012d) ว่า "contumace" หมายถึง (1) การตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา แล้วไม่ไปศาล หรือหลบหนีไปเสียก่อนมีคำพิพากษา หรือ (2) ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลับหลัง ในที่นี้นำศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสภาว่า "การจงใจไม่ไปศาล" สำหรับคำว่า "contumacy" มาใช้
- ↑ CNRTL (2012c) ว่า "cassation" หมายถึง คำตัดสินของศาลสูงที่ให้เพิกถอนคำตัดสินของศาลล่าง โดยเป็นการตัดสินในข้อกฎหมาย มิใช่ในรูปคดี ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์สำหรับคำนี้ว่า "การกลับคำพิพากษา" จึงนำศัพท์บัญญัตินี้มาใช้
- ↑ 7.0 7.1 7.2 CNRTL (2012e) ว่า "délibérer" สามารถหมายถึง (1) ประชุมปรึกษา (เป็นสภา) (2) พิเคราะห์ หรือพิจารณา (3) มีคำวินิจฉัย (หลังจากได้ประชุมปรึกษา)
- ↑ CNRTL (2012b) ว่า "ballotter" มีความหมายเจาะจงถึงการออกเสียงโดยใช้บัตร
- ↑ "La moitié, plus an" แปลตรงตัวว่า "กึ่งบวกหนึ่ง" หมายถึง 0.5 กับ 1 หรือก็คือ 1.5
- ↑ CNRTL (2012p) ว่า "rechercher" สามารถหมายถึง (1) ตรวจค้น (2) ค้นหา (3) สอบสวน (4) ฟ้องร้อง ฯลฯ
- ↑ คำว่า "amener" ปรกติแปลว่า "นำ" หรือ "พา" แต่เมื่อประกอบกับคำ "mandat" ("หมาย") เป็น "mandat d'amener" แล้ว Collins (2022) ว่า แปลว่า "หมายเรียก" ส่วน Ooreka (2022) อธิบายว่า เป็นหมายศาลที่สั่งให้ตำรวจำพาบุคคลมาศาลเพื่อการไต่สวน
- ↑ หมายถึง การเรียกสมาชิกให้มาออกเสียงทีละคน ดู appel nominal
- ↑ CNRTL (2012f) ว่า "établissement" ในความหมายทั่วไป หมายถึง การจัดตั้ง การสถาปนา ฯลฯ และในทางทหาร ยังหมายถึง การกระจายกำลังไปยังสถานที่ที่ต้องยึดครอง
- ↑ CNRTL (2012m) ว่า "monnaie" สามารถหมายถึง (1) เหรียญทำจากโลหะเจือหรือโลหะอย่างดี ใช้เป็นเงินตามกฎหมาย (2) เหรียญทำจากสัมฤทธิ์ ทองแดง หรือเงิน (3) เงินปลอม (4) เงินตรา (ไม่จำกัดประเภท เช่น จะเป็นเหรียญหรือเป็นบัตรก็ได้) ฯลฯ
- ↑ คงหมายถึง คณะมนตรีบริหาร ดูมาตรา 71–72 เพิ่ม
- ↑ คงหมายถึง เอกสารที่เรียกว่า "รายงานของรัฐสภา" ดู rapport parlementaire
- ↑ CNRTL (2012o) ว่า "prévarication" หมายถึง (1) การฝ่าฝืนกฎของพระเจ้า หน้าที่ทางศาสนา หรือพันธะทางศีลธรรม (2) ความผิดที่เจ้าพนักงานกระทำในตำแหน่งหน้าที่ (3) การฝ่าฝืนพันธะในหน้าที่หรือฝ่าฝืนคำสั่งอย่างร้ายแรง
- ↑ CNRTL (2012j) ว่า "juge de paix" (แปลตรงตัวว่า "ตุลาการแห่งสันติ") เป็นตุลาการที่มีเขตอำนาจในท้องที่ระดับตำบล และมีหน้าที่หลายอย่าง ที่สำคัญคือหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ส่วนราชบัณฑิตยสภาบัญญัติคำ "justice of the peace" ว่า "ผู้พิพากษาศาลแขวง"
- ↑ CNRTL (2012l) ว่า ในทางกฎหมาย "mémoire" คือ เอกสารที่บันทึกเหตุผลของคู่ความ ตรงกับที่ภาษาอังกฤษเรียก "brief" ดูเพิ่มที่ mémoire judiciaire และ brief
- ↑ CNRTL (2012n) ว่า ในกฎหมายอาญา "d'office" หมายความว่า ตามความจำเป็นแห่งตำแหน่งหน้าที่ เช่น "Il avait été chargé de défendre d'office une femme accusée d'avoir volé une paire de bas" ("โดยตำแหน่งแล้ว เขามีหน้าที่ต้องแก้ต่างให้หญิงผู้หนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาว่าขโมยถุงเท้าคู่หนึ่ง")
- ↑ CNRTL (2012k) ว่า "malheur" สามารถหมายถึง (1) สาเหตุที่ก่อให้เกิดผลเชิงลบต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เช่น ความวินาศ ความวิบัติ ความเสื่อมถอย ความล่มจม ความไม่สำเร็จ หรือความพ่ายแพ้ (2) ความไม่สมปรารถนาในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ความผิดหวังในความรัก (3) อาชญากรรม เรื่องอื้อฉาว (5) โชคร้าย ลางร้าย (6) ความตาย ฯลฯ
- ↑ ฌ็อง-มารี กอโล แดร์บัว (Jean-Marie Collot d'Herbois)
- ↑ ปีแยร์-ตูแซ็ง ดูว์ร็อง เดอ มายาน (Pierre-Toussaint Durand de Maillane)
- ↑ รอเฌ ดูว์โก (Roger Ducos)
- ↑ ฌ็อง นีกอลา เมโอล (Jean Nicolas Méaulle)
- ↑ ชาร์ล-ฟร็องซัว เดอลาครัว (Charles-François Delacroix)
- ↑ เออแฌน-เซซาร์ โกซูแอ็ง (Eugène-César Gossuin)
- ↑ ปีแยร์-อ็องตวน ลาลัว (Pierre Antoine Laloy)
บรรณานุกรม
แก้ไข- CNRTL (2012a). "Afflictive". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012b). "Ballotter". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012c). "Cassation". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012d). "Contumace". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012e). "Délibérer". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012f). "Établissement". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012g). "Homme". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012h). "Humanité". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012i). "Infamante". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012j). "Juge". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012k). "Malheur". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012l). "Mémoire". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012m). "Monnaie". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012n). "Office". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012o). "Prévarication". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012p). "Rechercher". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- Collins (2022). "Mandat d'amener". Collins French-English Dictionary.
- Ooreka (2022). "Mandat d'amener". Ooreka Droit.