งานแปล:สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม/บทที่ 17
สยามได้รับการเรียกขานว่า "ดินแดนช้างเผือก" และการเล่าถึงประเทศดังกล่าวโดยไม่มุ่งความสนใจไปที่เจ้าสัตว์พิลึกเหล่านี้ คงจะเป็นเรื่องเล่าที่ไม่สมบูรณ์ ช้างเผือกมีอยู่บนพื้นสีชาดในธงชาติ[1] ธงทางการค้าก็มีช้างเผือกอยู่บนพื้นสีฟ้า[2] และตามวัดวากับอาคารราชการทุกแห่งก็มีสัตว์อันชวนอัศจรรย์ใจนี้ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างอยู่ในศิลา ไม้ และปูน
ในกาลก่อน พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงรู้สึกว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินอย่างเต็มที่ จนกว่าจะทรงมีช้างเผือกอยู่ในครอบครอง และพระองค์ไม่ทรงรีรอที่จะก่อสงครามเพื่อให้ได้สัตว์หายากเหล่านี้มาสักตัว มีเรื่องหนึ่งเล่าว่า โคตมะ[3] ทรงเคยเป็นช้างเผือก และพระมารดา[4] ของโคตมะทรงฝันว่า ได้พบโคตมะในร่างนั้นในสรวงสวรรค์[5] อีกตำนานหนึ่งว่า ในประวัติศาสตร์โลกจะบังเกิดราชาผู้พิชิตและครอบครองชาติทั้งหลายภายใต้ดวงตะวันอยู่เป็นระยะ ๆ ราชาเช่นนี้จะบ่งชี้ได้ด้วยสัญลักษณ์บางประการและด้วยการครอบครองวัตถุบางประการ ในบรรดาสิ่งจำเพาะเจ็ดสิ่งที่ราชาเป็นเจ้าของนั้น มีช้างเผือกเป็นรายการหนึ่ง และหากไร้ซึ่งช้างเผือกแล้ว ราชาจะไม่อาจครองโลกได้เลย อนึ่ง ชาวสยามหลายคนเชื่อว่า เจ้าสัตว์นี้เป็นที่สิงสถิตแห่งวิญญาณของมหาบุรุษในอดีตบางคน หรือของบางคนซึ่งยังไม่ถือกำเนิด แต่จะได้มาบังเกิดเป็นผู้ยิ่งบารมีในเวลาที่เหมาะสม
ในสมัยก่อน มีการห้ามพสกนิกรเก็บรักษาช้างเผือกเอาไว้ หากเผอิญพบเข้าตัวหนึ่ง ก็ต้องเร่งนำมาถวายพระเจ้าแผ่นดิน ถ้ากล้าลองเก็บไว้กับตน พระเจ้าแผ่นดินจะทรงเปิดศึกกับมันผู้นั้น แล้วใช้กำลังช่วงชิงเอาช้างไป
พูดกันให้ชัดแล้ว สัตว์อย่างช้างสีเผือกนั้นไม่มีอยู่จริง เจ้าสัตว์นี้หาได้มีสีเผือกผ่องแท้ ๆ ไม่ เพียงแต่มีสีอ่อนกว่าช้างทั่วไปสักหน่อย บางทีก็มีสีบาทบริก[6] ขุ่น ๆ และบ้างก็มีขนสีขาวที่หางและหัวเล็กน้อย
ข่าวการพบช้างเผือกก่อให้เกิดความยินดีอย่างใหญ่หลวงแก่ปวงชนและพระเจ้าแผ่นดินเสมอ พระเจ้าแผ่นดินทรงส่งคณะขุนนางและเจ้าชายไปยังสถานที่ซึ่งพบสัตว์นั้น และ ณ ที่นั้น ช้างจะถูกล่ามไว้ด้วยเชือกเส้นไหม คณะผู้แทนพระองค์จะระวังรักษาสัตว์สี่เท้าตัวนี้ไว้ระหว่างที่หมอช้างมืออาชีพสอนให้มันรู้จักประพฤติตนเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้คนและในท้องถนนของเมือง ฝูงชนทั่วทุกสารทิศในแว่นแคว้นจะพากันมาชมช้างและนำของรับขวัญมาให้
ขณะเดียวกัน ในราชธานี จะมีการสร้างราชวังขึ้นอย่างฉับไวให้แก่เจ้าสัตว์สูงส่งนั้น ครั้นราชวังแล้วสิ้น และการฝึกช้างให้เชื่องแล้วเสร็จ กระบวนเสด็จจะออกไปพบช้างและนำมันกลับนิวาสสถาน พระเจ้าแผ่นดินจะทรงเป็นประธานในกระบวน และเมื่อทรงพบช้างแล้ว จะทรงคุกเข่าต่อหน้าช้าง และประทานของรับขวัญแก่มัน จากนั้น จะทรงหันกลับและนำขบวนหวนคืนสู่ราชธานี ณ ที่พำนักใหม่ของช้าง จะมีตู้บรรจุเครื่องแต่งกาย พร้อมผ้าคลุมทำจากกำมะหยี่และผืนไหม ถักทอไปด้วยสุวรรณและอัญมณี ที่ศีรษะช้างจะมีแผ่นทองจารึกนามและยศติดอยู่ ช้างยังมีข้าทาสกลุ่มหนึ่ง กับนักบวชคณะหนึ่ง นักดนตรีวงหนึ่ง รวมถึงนางรำจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดแยกไว้เป็นพิเศษเพื่อสนองคำบัญชาและความบันเทิงของช้าง ยามใดที่ช้างใคร่นอน นักบวชจะร้องเพลงกล่อมนอน[7] ยามใดที่ช้างดูตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่า เหล่านางรำจะร้องรำให้ช้างชม ยามใดที่ช้างหิว จะมีการนำพืชผักผลไม้ชั้นยอดมาป้อนให้ ก็เป็นธรรมดาที่ชีวิตแบบเกียจคร้านและฟุ่มเฟือยเช่นนี้จะนำพามฤตยูมาสู่ช้างในไม่ช้า
เพิ่งจะสัก 30 ปีที่แล้วนี้เองที่นักล่ากลุ่มหนึ่งได้เห็นช้างซึ่งเลิศทั้งรูปร่างและขนาดอยู่ลิบ ๆ ในระหว่างออกหาช้างเผือก แต่ช้างนั้นไร้สีใดอย่างเจาะจง พอเพ่งพิศใกล้ขึ้นอีกนิด คนเหล่านั้นก็หลงคิดไปว่า ช้างนี้อาจเป็นพันธุ์หายากที่พวกตนกำลังเสาะหาอยู่ จึงจับช้างนั้นไป และชำระโคลนไคลออก และแล้ว ก็ต้องดีใจกันยกใหญ่ ด้วยพบว่า ใช่แต่ช้างจะมีสีอ่อน แต่ที่หลังมันยังมีขนหน่อยหนึ่งซึ่งมีสีขาวชัดเจน ทั้งประเทศจึงแตกตื่นด้วยความยินดี ในบางกอกมีการประดับธงและติดประทีปยามค่ำ ทุกที่ทุกสถานล้วนเบิกบานด้วยทิวธง แสงไฟ และเสียงเพลง พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปพบสัตว์นั้น และนักบวชโอมอ่านถ้อยคำเยินยอยืดยาวให้มันฟัง
ครั้นแล้ว นักบวชก็สมโภช[8] สัตว์นั้น แล้วมอบชื่อและยศใหม่ให้แก่มัน โดยมีถ้อยคำมากมายเหลือเกิน และเขียนไว้บนอ้อยชิ้นหนึ่ง[9] ซึ่งเจ้าช้างกลืนกินเข้าไปในทันที นี่น่าจะเป็นส่วนเดียวในพิธีที่ยังความพอใจให้แก่ช้างได้บ้าง แล้วช้างก็ได้รับการนำไปสู่เคหาสน์แห่งใหม่ และได้รับการเลี้ยงดูอยู่ที่นั่นจากบ่าวไพร่ที่คลานเข่า ผู้เฝ้าปรนเปรอมันด้วยอาหารจากจานทำด้วยเงิน
บัดนี้ สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปมาก คราวที่พบช้างเผือกเชือกล่าสุดนั้น มีการส่งช้างมาบางกอกโดยทางรถไฟ ไม่มีกองทหารเกียรติยศ ไม่มีกระบวนแหนแห่ และพระเจ้าแผ่นดินเพียงแต่เสด็จไปเยี่ยมเยียนยามที่ช้างได้รับการจัดให้อยู่ในคอก ระหว่างทางมาพระราชวัง เจ้าสัตว์มาใหม่นี้มีพฤติกรรมย่ำแย่อย่างยิ่ง ด้วยมันเหยียบแผงขายผลไม้เจ้าแรกที่มันได้พบเจอ แล้วกินทุกอย่างที่อยู่บนนั้นเกลี้ยงเดี๋ยวเดียวก่อนที่คณะผู้ติดตามจะทันสังเกตว่า มันกำลังทำอันใด ทุกวันนี้ มีแต่คนเลี้ยงช้างน่าสมเพชคอยให้การเลี้ยงดูอย่างย่ำแย่แก่ช้างเผือก ไม่มีทั้งนักบวชและนางรำอีกแล้ว ผนังคอกช้างก็พังไปครึ่ง ส่วนหลังคาเล่าก็ล้วนฝุ่นจับมาช้านานและหนาเตอะ อาหารช้างก็เป็นแต่ฟาง ใบไม้ และไผ่อ่อน มีกรงหนึ่งหลังอยู่ข้างช้างแต่ละเชือก กรงนี้ตั้งใจไว้ใส่ลิงเผือกให้อยู่เป็นเพื่อนอันสมฐานะและศักดิ์ศรีของช้างเผือก แต่เพราะลิงเผือกหายากยิ่งกว่าช้างเผือก กรงเหล่านี้จึงว่างเปล่าไปหมด
ปีละครั้งที่ช้างแต่ละเชือกจะได้รับการพรมน้ำมนต์จากนักบวชและจัดให้ฟังคำสวดยืดยาวชุดหนึ่ง พิธีนี้มีขึ้นเพื่อปัดเป่าวิญญาณร้าย และการดำเนินพิธีก็ได้ผลดีเหลือเกินถึงขั้นที่จำเป็นต้องทำซ้ำเพียงครั้งเดียวในรอบ 12 เดือน เมื่อช้างเชือกหนึ่งถึงแก่กรรม จะมีการนำลิงเผือกหนึ่งตัว แพทย์ไม่กี่คน กับนักบวชไม่กี่รูป มาเยือนช้างที่ตาย ที่พื้นข้างเคียงช้างเขาจะขุดหลุมสำหรับจุดธูปไว้ในนั้น ซากช้างนั้นจะเอาผ้าขาวห่อแล้วจึงขนออกไปนอกเมืองและปล่อยให้เน่าเปื่อยอยู่กลางแปลง ต่อมาภายหลัง จะมีการรวบรวมกระดูกและงาไปเก็บรักษาไว้ นักบวชจำนวนหนึ่งจะสวดภาวนาอยู่ในคอกต่อไปเป็นเวลาสามวันหลังจากเจ้าสัตว์สี่เท้าสิ้นลมแล้ว เพื่อวอนขอให้วิญญาณของสัตว์นั้นอย่าหวนคืนกลับมาสร้างความเสียหายใด ๆ เลย
หมายเหตุ
แก้ไข- ↑ ดู รูปที่ 1
- ↑ ดู รูปที่ 2
- ↑ คือ เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งผนวชแล้วเป็นที่รู้จักว่า พระโคตมพุทธเจ้า
- ↑ คือ พระนางมายา (สิริมหามายา)
- ↑ วรรณกรรมศาสนาพุทธมักระบุว่า พระนางมายาทรงฝันถึงช้างเผือก แล้วจึงทรงครรภ์เจ้าชายสิทธัตถะ เช่น ปฐมสมโพธิกถา (ปรมานุชิตชิโนรส, 2478, น. 47–48) ว่า "ในเพลาราตรีปัจจุสสมัย ทรงพระสุบินนิมิตต์ว่า...มีเศวตหัตถีช้างหนึ่ง...ลงมาจากกาญจนบรรพ...ชูซึ่งงวงอันจับบุณฑริกปทุมชาติสีขาวพึ่งบานใหม่มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตระหลบ แล้วร้องโกญจนาทเข้ามาภายในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบันทมถ้วน 3 รอบ แล้วเหมือนดุจเข้าไปในอุทรประเทศฝ่ายทักษิณปรัศว์แห่งพระราชเทวี พอบันทมตื่นขึ้น...พระมหาสัตว์เสด็จลงสู่ปฏิสนธิ"
- ↑ Merriam-Webster (n.d.) ว่า บาทบริก คือ อิฐที่ไม่เผา ทำจากวัสดุเนื้อซิลิกา ใช้ทำความสะอาดหรือขัดเงาโลหะ ดู รูปที่ 3
- ↑ มักแต่งเป็นฉันท์ และปรากฏชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ฉันท์กล่อมช้าง ฉันท์ดุษฎีสังเวย ฯลฯ
- ↑ คำว่า "baptize" ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ทำพิธีทางศาสนาคริสต์ที่เรียกว่า ศีลล้างบาป (baptism) ให้ ซึ่งจะมีการมอบชื่อใหม่ให้ด้วย (Dictionary.com, 2022) ดังนั้น ในที่นี้จึงหมายถึง พิธีสมโภชและตั้งนาม ดังมีตัวอย่างใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 (ทิพากรวงศฯ, 2548, น. 189) ซึ่งกล่าวถึงการรับช้างเผือกเมื่อ พ.ศ. 2406 ว่า "ครั้นเวลาบ่าย พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ มีการมหรสพทำขวัญ 3 วัน 3 คืน...จารึกชื่อในท่อนอ้อยว่า พระเสวตรสุวรรณาภาพรรณ...ประทานให้ช้างรับต่อพระหัตถ์ เสร็จ การสมโภช ตั้งชื่อแล้ว ก็แห่เข้ามาผูกยืนโรงไว้ที่ทำใหม่ สวดมนต์ทำขวัญ 3 วัน"
- ↑ หอพระสมุดวชิรญาณ (2470, น. 30–31) บรรยายพิธีมอบชื่อแก่ช้างเผือกว่า "พระโหราธิบดีถวายพระฤกษ์จะได้ขนานชื่อพระยาช้างเผือก...อาลักษณลงอักษรเปน พระยาเศวตกุญชร บวรพาหนาถ...ลงในท่อนอ้อย แล้วพระหมอเถ้าจารึกเทวมนต์ลงในท่อนอ้อย ครั้นได้ฤกษ์...พระวิเชียรปรีชา ราชบัณฑิต รับเอาพานทองรองท่อนอ้อยต่อพระหมอเถ้าเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงรับเอาท่อนอ้อยไปพระราชทานพระยาช้างเผือกผู้ต่อพระหัตถ์"
บรรณานุกรม
แก้ไข- ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. (2548). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. ISBN 9789149528118.
- ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระ. (2478). ปฐมสมโพธิกถา. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร [พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะสิริ) กับนายฮกเส่ง จึงแย้มปิ่น พิมพ์ในงานปลงศพสนองคุณนางจันทร์ ฉิมไพบูลย์ ผู้เป็นน้าและป้า ณวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2478].
- หอพระสมุดวชิรญาณ. (2470). จดหมายเหตุ เรื่อง รับพระยาเศวตกุญชรช้างเผือกแรกได้ในรัชกาลที่ 2 เมื่อปีวอก พ.ศ. 2355. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร (พิมพ์เนื่องในงานสมโภชพระเศวตคชเดชน์ดิลก ช้างเผือกแรกได้ในรัชกาลที่ 7 เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2470). Check date values
- Dictionary.com. (2022). "Christian name". Dictionary.com Unabridged. https://www.dictionary.com/browse/christian-name
- Merriam-Webster. (n.d.). "Bath brick". Merriam-Webster.com dictionary. https://www.merriam-webster.com/dictionary/Bath-brick