งานแปล:สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม/บทที่ 18
กระบวนแห่ทางศาสนาในแม่น้ำ[1] |
นานแล้วที่ไม่มีผู้ใดในอังกฤษต้องเผชิญกับ "การพิจารณาคดีด้วยวิธีทรมาน" แต่ในหมู่ชาวอังกฤษยุคแรก ๆ ไม่เป็นเรื่องผิดประหลาดอันใดที่จะมีคนถูกฟ้องด้วยความผิดอาญา แล้วจะต้องถูกพิจารณาและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนด้วยการจุ่มมือลงในน้ำเดือดหรือกำท่อนเหล็กร้อนฉ่า วิธีเช่นนี้ดำเนินการในโบสถ์ต่อหน้านักบวช โดยจะมีการตรวจบาดแผลหลังวันเวลาผ่านพ้นไปแล้วสักระยะหนึ่ง ถ้าแผลหาย จำเลยก็นับว่าบริสุทธิ์ หากไม่หาย จำเลยก็มีความผิด
การพิจารณาคดีด้วยวิธีทรมานในศาลยุติธรรมของสยามนั้นดำเนินเรื่อยมาจนถึงเวลาที่ค่อนข้างจะไม่นานมานี้ และแม้ทุกวันนี้ก็ยังมีการทรมานอย่างลับ ๆ เพื่อความมุ่งประสงค์หลายอย่าง
ในการทรมานด้วยไฟอย่างหนึ่ง โจทก์และจำเลยต้องเดินเท้าเปล่าบนชั้นถ่านร้อนระอุหนา 10 นิ้ว ไฟนี้จะก่อขึ้นในท้องร่องยาว 10 ฟุต กว้าง 20 นิ้ว และลึก 20 นิ้ว[2] เมื่อคู่พิพาทเดินไปบนถ่านอันแดงร้อน เจ้าพนักงานจะถ่วงน้ำหนักบนไหล่ของเขาเพื่อให้ก้าวไปอย่างช้า ๆ ครั้นสิ้นการพิจารณา จะมีการตรวจสอบเท้าของเขาเหล่านั้น และคนใดที่ไร้บาดแผล ไม่ว่า ณ เวลานั้นเอง หรือในช่วง 15 วันถัดมา คนผู้นั้นเป็นอันชนะคดี ถ้าไม่บาดเจ็บทั้งคู่ ก็จะต้องเข้าสู่การทรมานอีกขั้น คือ ด้วยน้ำ หากถูกไฟไหม้ทั้งคู่ ก็จะถูกปรับเงินทั้งคู่ เมื่อสัก 40 ปีที่แล้วยังมีการพิจารณาอย่างนี้ในศาลยุติธรรมประจำหัวเมืองชั้นในขนาดเล็กแห่งหนึ่ง
ในการทรมานด้วยการดำน้ำ จะใช้งานสระน้ำหรือตัวแม่น้ำเอง โดยจะปักเสาสองเสาลงห่างกันสัก 10 ฟุต คู่ความจะเริ่มด้วยการกล่าวคำอธิษฐาน และจากนั้นจะเข้าสู่ท้องน้ำโดยมีเชือกกันภัยมัดไว้รอบเอว คู่ความจะเดินลงไปในน้ำจนกระทั่งสูงเท่าคอ แต่ละคนจะเกาะไม้ค้ำของตนไว้ ก่อนจะมีการวางเสาขนาดยาวลงไปไว้ให้คู่ต่อสู้ทั้งสองใช้พาดบ่า แล้วจะตีฆ้องเป็นสัญญาณ และเจ้าพนักงานจะเอนเสานั้นลงด้วยน้ำหนักอันมาก และกดศีรษะคู่ความลงไปใต้น้ำ ฝ่ายใดอยู่ใต้น้ำได้นานกว่าอีกฝ่าย ย่อมเป็นผู้ชนะ ถ้าทั้งสองฝ่ายอยู่ใต้น้ำได้นานกว่าเวลาที่กำหนดไว้ จะมีการฉุดชักพวกเขาขึ้นด้วยเชือกกันภัย และจะยกฟ้องคดีเสีย[3] ถ้าผู้วิวาทกันนั้นมีทรัพย์มาก จะจ้างผู้อื่นไปดำน้ำให้ตน แทนที่จะไปทนเปียกปอนและเหนื่อยหอบด้วยตนเองก็ได้ มีเรื่องเล่ากันถึงชายผู้ซึ่งครั้งหนึ่งวานนักงมไข่มุกมาทำหน้าที่แทนตน ก็เลยชนะคดีได้โดยง่าย การพิจารณาเช่นนี้เพิ่งจะมีล่าสุดที่เชียงใหม่เมืองเหนือเมื่อเดือนมกราคม 1882 นี้เอง
พญาตาก บุรุษซึ่งเราได้กล่าวถึงมาแล้วในบทแรกแห่งหนังสือนี้ ครั้งหนึ่งเคยปราบทัพกบฏที่เป็นนักบวช[4] เมื่อกบฏถูกจับได้ เหล่าภราดรผ้าเหลืองของเขาก็ถูกกุมตัวมาพร้อมกับเขาเป็นอันมาก พญาเบิกตัวคนเหล่านั้นมาพร้อมกัน และเนื่องจากพญาแยกคนบริสุทธิ์กับคนผิดไม่ออก จึงตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่า "คนใดในหมู่พวกเจ้าที่ยอมสารภาพผิด จะต้องสละสมณเพศ แต่เราจะประทานเครื่องนุ่งห่มอย่างอื่นให้ และปล่อยตัวเป็นไทโดยไม่เอาผิด คนใดที่ว่า ตนไม่ผิด จะต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนด้วยการทดสอบดำน้ำ หากไม่ผ่านการทดสอบนี้ จะถูกประหารเสีย"[5]
นักบวชหลายรูปสารภาพทันทีว่า ตนได้ช่วยเหลือเกื้อกูลหัวหน้ากบฏ นักบวชกลุ่มนี้ได้รับการปล่อยตัวตามคำมั่นของพญา แต่รูปอื่นอีกหลายรูปสาบานว่า ตนไม่ผิด พญาจึงเสด็จไปประทับเหนืออาสน์ริมฝั่งน้ำและทอดพระเนตรนักบวชเหล่านี้ดำลงไปในน้ำทีละรูป บางรูปยั้งอยู่ใต้น้ำเป็นระยะเวลายาวนานตามสมควร จึงเป็นอันพิสูจน์ตนเองว่า ไม่ผิด แต่รูปอื่น ๆ ที่ไม่ผ่าน ก็ถูกปลดจีวรและประหาร ณ ที่นั้น ศพของผู้ถูกประหารถูกเผาทิ้ง แล้วนำเถ้าไปผสมปูนใช้ทาเป็นสีขาวให้แก่อาคารวัดบางส่วน[6]
ในการพิจารณาคดีด้วยวิธีทรมานนั้น บางคราวก็ใช้ตะกั่วหลอมละลาย[7] คู่พิพาทต้องล้วงมือของตนเข้าไปในตะกั่วหลอมเหลว และผู้ใดที่ไม่ถูกไหม้ ก็ชนะคดี บางโอกาสใช้ดีบุกหลอมเหลวหรือน้ำมันเดือดแทนตะกั่วหลอมเหลวก็มี
วิธีที่ใช้เป็นประจำในการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินซึ่งกู้ยืมกันนั้น คือ การพิจารณาคดีด้วยการว่ายน้ำ คู่ความจะต้องว่ายข้ามลำน้ำ หรือไม่ก็ทวนกระแสน้ำ เป็นทางสักระยะหนึ่ง ผู้แพ้จะต้องชำระเงินเป็นสองเท่าของยอดเงินพิพาท จำนวนที่ชำระนั้น กึ่งหนึ่งจะมอบให้แก่ผู้ชนะ ส่วนอีกกึ่งหนึ่งจะส่งให้แก่รัฐบาลเป็นค่าปรับ[8]
การพิจารณาคดีโดยใช้เทียนนั้นไม่ลำบากเท่าการพิจารณาคดีด้วยไฟและน้ำ จะมีการจุดเทียนสองเล่มซึ่งทำด้วยขี้ผึ้งชนิดเดียวกัน น้ำหนักเท่ากัน และไส้มีเส้นเท่ากันไม่ขาดไม่เกิน แล้วตั้งไว้ ณ เชิงเทียนอันสมควร คนผู้เป็นเจ้าของเทียนซึ่งมอดไปก่อนตกเป็นผู้แพ้[9] เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากขุนนางผู้หนึ่งซึ่งครั้งหนึ่งได้รับคำขอให้ยึดราชบัลลังก์แล้วกำจัดผู้ชิงราชสมบัติซึ่งกำลังครองราชย์อยู่ในเวลานั้นเสีย ขุนนางผู้นั้นนำเทียนสองเล่มมา เล่มหนึ่งแทนตนเอง และอีกเล่มแทนผู้ชิงราชสมบัติ แล้วเฝ้ามองเทียนมอด เทียนของตนมีชัย อาศัยเหตุนี้ว่าส่อถึงความสำเร็จของตน ขุนนางจึงยกพลขึ้นประทุษร้ายเจ้าแผ่นดิน ปราบเจ้าแผ่นดินลงได้ จึงได้ครองราชสมบัติแทน[10]
อนึ่ง ยังมีการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการกินและดื่ม หนึ่งในนี้เป็นการดื่มน้ำสรงรูปเคารพ ถ้าผู้ดื่มบังเกิดเหตุร้ายภายในสองสัปดาห์หลังจากวันที่ตนดื่มน้ำนั้น เขาจะถูกพิพากษาว่ามีความผิด อีกวิธีการหนึ่งเป็นการกินข้าวซึ่งนักบวชมอบให้โดยผสมกับยาและของเลวร้ายอย่างอื่น หากการบริโภคนั้นยังผลให้ผู้ต้องหาเกิดเจ็บป่วย ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เขาผู้นั้นมีความผิด การพิจารณาคดีรูปแบบนี้ใช้ตรวจจับความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายประเภทสืบ ๆ กันมาจนถึงเวลาที่ค่อนข้างไม่ช้าไม่นานมานี้เอง วิธีทรมานในรูปแบบคล้ายคลึงกันเคยมีอยู่ในอังกฤษจนถึงกลางศตวรรษที่ 13 เป็นอย่างช้า โดยกำหนดให้กินขนมปังและชีสคำเล็กคำหนึ่ง ถ้าอาหารเหลานี้ไม่ก่ออันตรายใด ๆ ผู้กินก็เป็นอันบริสุทธิ์ แต่หากกินแล้วชักดิ้นชักงอ คนผู้นั้นก็มีความผิด
การปีนต้นไม้ก็ได้รับการนำมาใช้สืบหาตัวผู้กระทำความผิด เพื่อการนี้ จะมีการลอกเปลือกของต้นไม้อันเจาะจงชนิด เหลือแต่ส่วนลำต้นลื่น ๆ ไว้ข้างใต้ คนผู้ประสงค์จะพิสูจน์ว่าตนบริสุทธื์ในข้อหาที่ตนถูกฟ้องนั้นสามารถกระทำได้โดย "ปีนเสาตกน้ำมัน" ให้ตลอดรอดฝั่ง
ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีด้วยวิธีดำน้ำครั้งใด ๆ นายทะเบียน[11] จะร่ายคำนมัสการยืดยาวต่อ "เทพเจ้าแห่งภูเขา ลำน้ำ ทะเลสาป และคลองบึงทั้งปวง"[12] จะมีการจ่ายเงินราว 5 ชิลลิง[13] ให้แก่นายทะเบียนเพื่อการทำหน้าที่นี้ ก่อนการพิจารณาคดีด้วยไฟครั้งใด ๆ ก็จะมีคำนมัสการคล้ายคลึงกันและมีค่าธรรมเนียมทำนองเดียวกัน[14] คำนมัสการอย่างหลังนี้จะวิงวอนเทพยดาให้กระทำร้ายแก่คนผู้มีความผิด นอกเหนือไปจากข้อความรื่นรมย์อื่น ๆ ที่นายทะเบียนร่ายนั้น มีการร่ายถ้อยคำดังต่อไปนี้
"ขอเทพไท้บันดาลให้สัตว์นรกดุร้ายซึ่งคอยรังควานผู้คนบนพื้นพิภพนี้ผุดขึ้นมาและเผยโฉมต่อสายตาของมันผู้กล่าวถ้อยเท็จ ให้มันกลัวจนตัวสั่นขวัญแขวน ขอให้ผิวหนังมันพุพอง ให้มันสยองจนขนหัวลุก ให้ความเกรงจะเกิดภัยอันฉุกละหุกปลุกเร้าสีหน้ามัน ให้แขนขาสั่นระรัวเมื่อมันเห็นแสงเพลิงปะทุ[15]
"โอ เทพอัคคีผู้มีความรุ่งโรจน์และอานุภาพรุ่งเรืองยิ่ง จงวิ่งเข้าแผดและเผามันยามมันก้าวเข้าสู่เพลิง[16]
"โอ เทพอัคคีผู้ทรงรัศมีและอานุภาพในกองกูณฑ์เหล่านี้ จงคลอก จงเผา จงผลาญมัน เพื่อให้ความผิดของมันสำแดงแจ้งชัดแก่ทุกสายตา"[17]
หมายเหตุ
แก้ไข- ↑ คือ กระบวนพยุหยาตราชลมารค
- ↑ พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 3 (แลงกาต์, 2481, น. 361) ว่า "ถ้าจะพิสูทลูยเพลิงแก่กัน ท่านให้ขุดรางเพลิงยาว 6 สอก กว้างสอก 1 ฦกสอก 1 ถ่านเพลิงหนาคืบ 1"
- ↑ พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 7 (แลงกาต์, 2481, น. 365) ว่า "เมื่อจะลงดำน้ำกันนั้น ให้ปักหลักห่างกัน 6 สอก แล้วให้ตระลาการเอาเชือกผูกบั้นเอวทัง โจทจำเลย ยึดหลัก เอาไม้พาดบ่าไว้ ตีฆ้อง 3 ที ข่มฅอหย่อนเชือกลงไป ให้ดำลงไปให้พร้อมถึงต้นหลัก ตั้งนาลิกาให้พร้อมกัน ขณะเมื่อดำลงไปนั้น ถ้าผู้ใดผุดก่อน ให้เอากลังสวมฅอ แล้วจึ่งให้ชักเชือกลงไปเอาผู้มิได้ผุดขึ้นมา ถ้าได้ 6 บาดแล้ว โจทจำเลย มิได้ผุดขึ้นมา ให้ชักเชือกลงไปเอาตัวขึ้นมา"
- ↑ หมายถึง เจ้าพระฝาง ในสมัยกรุงธนบุรี
- ↑ พระราชพงศาวดาร (พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค 3, 2455, น. 50) ว่า "ให้พระสงฆ์ให้การไปแต่ตามสัตย์ตามจริง ถ้าได้ผิดในจตุปาราชิกแต่ประการใดประการหนึ่ง จะพระราชทานผ้าคฤหัสถ์ให้ผลัดสึกออกทำราชการ ที่ไม่รับนั้น จะให้ดำน้ำพิสูตรสู้นาฬิกาสามกลั้น แม้นชนะแก่นาฬิกา จะให้เปนอธิการแลพระครูราชาคณะฝ่ายเหนือโดยสมควรแก่คุณธรรมที่รู้ แม้นแพ้แก่นาฬิกา จะให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วสักข้อมือมิให้บวชได้อิก แม้นเสมอนาฬิกา จะถวายผ้าไตรให้บวชใหม่ ถ้าแต่เดิมไม่รับ ครั้นจะให้ลงดำน้ำพิสูตร กลับคืนคำว่า ได้ทำผิด จะให้ลงพระราชอาชญาประหารชีวิตรเสีย"
- ↑ พระราชพงศาวดาร (พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค 3, 2455, น. 50–51) ว่า "ครั้งนั้น พระสงฆ์ที่มีศีลบริสุทธิก็ชำนะแก่นาฬิกาบ้าง เสมอบ้าง ที่ภิกษุทุศีลก็แพ้แก่นาฬิกาเปนอันมาก เสนาบดีก็กระทำตามรับสั่งโดยสมควรแก่คุณแลโทษ แต่ผ้าไตรที่พระสงฆ์พวกแพ้ต้องสึกนั้น ให้เผาเปนสมุกไปทาพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี" ไม่ปรากฏว่า ให้เอาเถ้ากระดูกไปทาวัดแต่ประการใด
- ↑ พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 1 (แลงกาต์, 2481, น. 358) ว่า "มีพระราชกฤษฎีกาไว้ว่า ถ้า โจทจำเลย จะถึงพิสูทแก่กัน มี 7 ประการ ๆ หนึ่งให้ล้วงตะกั่ว 1 ษาบาล 1 ลูยเพลิงด้วยกัน 1 ดำน้ำด้วยกัน 1 ว่าย ขึ้นน้ำค่ามฟาก แข่งกัน 1 ตามเทียนคลเล่มเท่ากัน 1"
- ↑ พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 5 (แลงกาต์, 2481, น. 363–364) ว่า "โจทหาว่า กู้เบี้ยยืมเงินทองผ้าแพรพรรณสรรพทรัพยสิ่งใดก็ดี หาจำเลยออกมายังกระลาการต่อคดีด้วยโจท แลกระลาการถามจำเลย แลจำเลยปัดติเสทขันพิสูท ฝ่ายโจทหาสักขิพญาณมิได้ ต่อพิสูทกันด้วย. . .ว่าย ขึ้นน้ำค่ามฟาก แข่งกัน. . .แม้นโจทปราไชยแก่พิสูทก็ดี จำเลยปราไชยแก่พิสูทก็ดี ท่านว่า เทพยุดามิเข้าด้วยคนใจร้ายอันหาความสัจมิได้ ท่านให้ตั้งค่าทรัพยสิ่งของอันขันพนันต่อกันนั้นลง ให้ไหมผู้แพ้แก่พิสูททวีคูน ยกทุณทรัพยนั้นให้เจ้าของ เหลือนั้นเปน สินไหมพิไนย กึ่ง ถ้าแลพิสูทด้วยกันเสมอกันไซ้ ให้เอาพิไนยทัง 2 ข้าง"
- ↑ พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 6 (แลงกาต์, 2481, น. 364) ว่า "ถ้าจะพิสูทตามเทียน. . .ให้ฟั่นเทียนจงเท่ากัน ด้ายใส้นับเส้นให้เท่ากัน ให้ทำไม้ตั้งเทียน เมื่อตามเทียนนั้น ถ้าแมลงวันแลสิ่งใด ๆ จับเทียนข้างหนึ่งดับก็ดี ดับเองก็ดี ให้เอาผู้นั้นเปนแพ้ ให้ไหมทวีคูน"
- ↑ คงหมายถึงเหตุการณ์ที่พระเทียรราชาเสี่ยงเทียนก่อนชิงราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาจากขุนวรวงศาธิราช ซึ่งพระราชพงศาวดาร (พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค 1, 2455, น. 19–23) ว่า "ขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศ ก็พากันไปยังวัดราชประดิษฐาน เข้าไปเฝ้าพระเทียรราชา นมัสการแล้วจึงแจ้งความว่า ทุกวันนี้ แผ่นดินเปนทุรยศ ข้าพเจ้าทั้งสี่คนคิดกันจะจับขุนวรวงษาธิราชฆ่าเสีย แล้วจะเชิญพระองค์ลาผนวชขึ้นครองศิริราชสมบัติ จะเห็นประการใด พระเทียรราชาก็เห็นด้วย. . .ก็ชวนกันฟั่นเทียนสองเล่ม ขี้ผึ้งหนักเท่ากัน ด้ายไส้นั้นนับเส้นเท่ากัน เล่มเทียนสั้นยาวเสมอกัน. . .ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็จุดเทียนทั้งสองเล่มนั้นเข้า. . .เทียนขุนวรวงษาธิราชดับลง คนทั้งห้าก็บังเกิดโสมนัศยินดียิ่งนัก"
- ↑ พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 7 (แลงกาต์, 2481, น. 365) ว่า ผู้อ่านคำสัตยาธิษฐานในการดำน้ำ คือ อาลักษณ์
- ↑ พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 10 (แลงกาต์, 2481, น. 368) ว่า "เทวันบรรพตทังมวน ห้วยหนองคลองควร คำนึงรำพึงเลงญาณ"
- ↑ พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 7 (แลงกาต์, 2481, น. 365) ว่า ค่าอ่านคำสัตยาธิษฐานในการดำน้ำนั้น เรียกจากโจทก์และจำเลยฝ่ายละ 3 บาท
- ↑ พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 3 (แลงกาต์, 2481, น. 362) ว่า ค่าอ่านคำสัตยาธิษฐานในการลุยเพลิงนั้น เรียกจากโจทก์และจำเลยฝ่ายละ 1 บาท 2 สลึง ขณะที่มาตรา 7 (แลงกาต์, 2481, น. 365) ว่า ค่าอ่านคำสัตยาธิษฐานในการดำน้ำนั้น เรียกจากโจทก์และจำเลยฝ่ายละ 3 บาท
- ↑ พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 11 (แลงกาต์, 2481, น. 373) ว่า "สัตวร้ายเบียนคนบาบี ในพื้นปัตพี อันมีทุกทุ่มนานา ผู้ใดกล่าวเทจ์มารสา จงประจักแก่ตา สท้านพันเอินหวั่นไหว หนังพองสยองเกล้าตกใจ คะคร้ามกลัวไภย แลแสงพระเพลิงรัศมี"
- ↑ พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 11 (แลงกาต์, 2481, น. 373) ว่า "พระเพลิงเริงฤทธิแสงศรี เข้าในอักคี ฃอให้สำแดงพุพอง"
- ↑ พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 11 (แลงกาต์, 2481, น. 373) ว่า "พระเพลิงเรืองฤทธิอันกอง ให้ไหม้พุพอง ให้เหนประจักแก่ตา"
บรรณานุกรม
แก้ไข- พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค 1. (2455). กรุงเทพฯ: ม.ป.พ. [สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเปนส่วนพระกุศลทานมัยในงานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น 3) กรมหลวงวรเสฐสุดา พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัญญา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกย์ลักษณวดี].
- พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค 3. (2455). กรุงเทพฯ: ม.ป.พ. [สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเปนส่วนพระกุศลทานมัยในงานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น 3) กรมหลวงวรเสฐสุดา พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัญญา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกย์ลักษณวดี].
- แลงกาต์, ร. (บรรณาธิการ). (2481). ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวงตรา 3 ดวง เล่ม 1. พระนคร: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.