งานแปล:เรื่องเล่าแบบเต็มและเที่ยงตรงถึงการปฏิวัติฯ ในราชอาณาจักรสยามในอินเดียตะวันออก/คำนำ

คำนำถึงผู้อ่าน
พื่อให้เข้าใจเรื่องเล่าต่อไปนี้ได้ดีขึ้น ข้าคิดว่า คงไม่ผิดที่จะแจ้งผู้อ่านว่า คณะทูตทางพิธีการชุดแรกซึ่งพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสทรงส่งมายังพระเจ้าแผ่นดินในพระโกศของสยามนั้นมีขึ้นในปี 1685 นำโดยเมอซีเยอเดอ โชมง[1] ผู้มาในฐานะเอกอัครราชทูตวิสามัญ ซึ่งในการนี้มีเรื่องเล่า 2 ฉบับได้รับการเผยแพร่แล้ว ฉบับหนึ่งว่าด้วยคณะทูต เอกอัครราชทูตเขียนเอง[2] อีกฉบับหนึ่งว่าด้วยการเดินทางของหลวงพ่อตาชาร์[3] หนึ่งในเยสุอิต 6 รูปที่ติดตามเมอซีเยอเดอ โชมง มาในการเดินทางครั้งนั้นตามรับสั่งของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสโดยเฉพาะ[4] ทั้ง 2 ฉบับได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ มีภาพพิมพ์[5] ประกอบ และตีพิมพ์ขึ้นแล้วเมื่อราว 2 ปีก่อน

คณะทูตชุดที่ 2 นั้นดำเนินการในปี 1687 คราวที่เอกอัครราชทูตสยามซึ่งมายังฝรั่งเศสพร้อมเมอซีเยอเดอ โชมง เมื่อปีก่อนหน้านั้น กลับคืนสู่สยามอีกครั้ง ผู้ดำเนินการ คือ เมอซีเยอเดอ ลา ลูแบร์[6] และเซเบอแร[7] ซึ่งนำพาเยสุอิต 12 รูป ทุกรูปเป็นนักคณิตศาสตร์สำหรับสอนศาสนาคริสต์และคณิตศาสตร์ ณ นครหลวง 2 แห่ง คือ สยาม และละโว้[8] กับทั้งคณะเจ้าหน้าที่[9] และทหารจำนวนมากที่พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสทรงส่งให้แก่พระเจ้าแผ่นดินสยาม มาพร้อมกับพวกตน เรื่องเล่าเกี่ยวกับการเดินทางครั้งที่ 2 นี้มีเผยแพร่แต่ในภาษาฝรั่งเศสเมื่อสัก 6 เดือนก่อน ผู้เผยแพร่ คือ หลวงพ่อตาชาร์ ผู้กลับคืนสู่สยามพร้อมกับเอกอัครราชทูตสยาม แล้วจึงกลับจากที่นั่นไปยังฝรั่งเศสพร้อมลายลักษณ์อักษรของคณะทูตวิสามัญในพระเจ้าแผ่นดินสยามถึงพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสและถึงพระสันตะปาปา หลวงพ่อลุถึงปารีสในเดือนพฤศจิกายน 1688 และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส แล้วในเดือนมกราคม 1689 จึงมายังโรมและได้เข้าเฝ้าพระสันตะปาปา ครั้นต่อมาในเดือนมีนาคม หลวงพ่อจะต้องได้ลงเรือมาสยามเป็นหนที่ 3 แล้ว แต่ต่อนั้นไปท่านจะเป็นอย่างไรบ้างก็ยังไม่ทราบ

ในเรื่องเล่าทั้ง 3 ฉบับนี้ มีกล่าวถึงเจ้าหญิงพระองค์น้อย พระธิดาของพระเจ้าแผ่นดินในพระโกศของสยาม ซึ่งยามนั้นยังมีพระชนม์อยู่ แต่ในคำพรรณนาต่อไปนี้ซึ่งว่าด้วยการปฏิวัติครั้งล่าสุดนั้นไม่มีระบุถึงพระนางเลย ทว่า ในจดหมายอื่น ๆ ซึ่งได้มาถึงฝรั่งเศสจากแหล่งอื่นนั้น เราพบคำพรรณนาเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระนางซึ่งเป็นไปอย่างชวนสลดไม่น้อยกว่าการสิ้นพระชนม์ของพระปิตุลาและพระอนุชาบุญธรรม[10] ของพระนางเลย อาการที่สิ้นพระชนม์นั้นเขาว่าไว้ดังนี้ ออกพระเพทราชา เมื่อกำจัดพระอนุชาทั้งสองและพระโอรสบุญธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นเจ้าชายกลุ่มเดียวที่ขวางทางตนในการขึ้นสู่ราชสมบัติแล้ว ก็ให้นำเจ้าหญิงพระองค์น้อย ผู้เป็นพระธิดาพระองค์เดียวของพระเจ้าแผ่นดิน ไปยัดใส่ถุงกำมะหยี่ใบโต และตี[11] พระมัตถลุงค์[12] ของพระนางด้วยกระบองขนาดใหญ่ทำจากไม้อันหอมหวนและเป็นที่ยกย่องยิ่งนักในแดนอินเดียทั้งปวง เรียกว่า ไม้กฤษณา และไม้จันทน์ แล้วจึงโยนลงในแม่น้ำ มีการพรรณนาไว้ว่า หากประหารด้วยอาการธรรมดาดุจผู้อื่น จะเป็นการดูหมิ่นและฝ่าฝืนความเคารพสักการะอันสมควรแก่เจ้าหญิงเชื้อพระโลหิตแห่งสยาม และฉะนั้น เขาจึงกระทำการนั้นด้วยความนอบน้อมยิ่งและด้วยพิธีอันมีลักษณะเฉพาะซึ่งเหมาะสมต่อสถานะของพระนาง โดยไม่รบกวนให้พระวรกายของพระนางต้องแปดเปื้อนด้วยการสัมผัสจากมือไพร่หรือเครื่องมือประหัตประหารใด ๆ

พระเจ้าแผ่นดินสยามที่เพิ่งสวรรคตนั้นมีพระชนม์สัก 59 พรรษาได้ ลายลักษณ์อักษรซึ่งให้ไว้เกี่ยวกับพระองค์ในเรื่องเล่าของชาวฝรั่งเศสทุกฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วนั้นเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง เขากล่าวไว้ต้องตรงกันว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าชายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยเสวยราชย์มาในสยาม ส่วนสูงของพระองค์นั้นน้อยกว่าขนาดกลางอยู่บ้าง แต่ลำพระกายตรง[13] และรูปทรงดี พระองค์ทรงมีอากัปกิริยาน่าต้องตาต้องใจ ทรงมีท่าทีอ่อนหวานและพร้อมเอื้อเฟื้อ โดยเฉพาะต่อชาวต่างชาติ[14] พระองค์ทรงกระฉับกระเฉงและปราดเปรียว จึงทรงอยู่คนละขั้วกับความเหลวไหลและเกียจคร้านที่ดูจะเป็นลักษณะตามธรรมชาติแท้ ๆ ของเจ้าชายชาวตะวันออกทั้งหลาย และเขาพรรณนาไว้ว่า ทรงเป็นผู้สูงส่งสุดประเสริฐในวงศ์กษัตริย์ของเขาเหล่านั้น ในอีกแง่หนึ่ง เจ้าชายพระองค์นี้หากไม่ทรงอยู่ในป่าล่าช้างก็จะทรงอยู่ในวังจดจ่อกับการแผ่นดินของพระองค์เป็นนิตย์ พระองค์มิทรงใฝ่สงคราม เพราะจะยังความพินาศให้แก่ราษฎรของพระองค์ซึ่งพระองค์ทรงถนอมรัก แต่เมื่อพสกนิกรของพระองค์เป็นกบฏไซร้ หรือเจ้าชายจากแคว้นใกล้แดนเคียงปรามาสพระองค์แม้แต่น้อยนิด หรือฝ่าฝืนความเคารพที่พระองค์พึงได้รับ ก็ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดในฝ่ายตะวันออกทั้งมวลที่จะแก้แค้นได้โจ่งแจ้ง[15] หรือสำแดงความลุ่มหลงในความรุ่งโรจน์มากไปกว่านี้แล้ว พระองค์ทรงใคร่รู้ทุกสิ่ง และมีพระปัญญาญาณชาญฉลาดและเฉียบแหลม ทรงเป็นครูในสิ่งที่มีพระทัยใคร่เรียนรู้ได้โดยง่าย พระองค์ช่างวิเศษ พระทัยกว้าง และทรงเป็นมิตรที่ซื่อตรงเท่าที่จะพึงปรารถนาให้เป็นได้ นี่เป็นคุณสมบัติอันชัชวาลที่ดลดาลให้พระองค์ทรงเป็นที่เคารพของแคว้นใกล้แดนเคียง เป็นที่หวั่นเกรงของศัตรู เป็นที่ยกย่องและรักใคร่ของพสกนิกร จนถึงขั้นที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเทิดทูนบูชา พระองค์มิทรงเคยติดอยู่ในสิ่งชั่วร้ายที่ครอบงำเจ้าชายชาวตะวันออกเป็นอาจิณยิ่งนัก กลับทรงมักลงโทษมหันต์แก่ขุนนางคนสำคัญที่สุดและเจ้าหน้าที่ชั้นสูงในราชสำนักเพราะเหตุว่า ปล่อยกายปล่อยใจไปกับความรื่นรมย์มากไป ฉะนั้น สิ่งที่เอาชนะได้ยากที่สุดซึ่งเป็นตัวขัดขวางการเปลี่ยนใจเจ้าชายชาวอินเดียผู้กราบไหว้รูปปั้น ซึ่งก็คือ ความลุ่มหลงอิสตรีจนเกินอัตรานั้น จึงไม่อาจพบได้ในพระองค์

ด้วยความเฉียบแหลมในพระปัญญาญาณ พระองค์จึงทรงพานพบความผิดพลาดในศาสนาของบรรพชน และไม่ทรงเชื่อในพระเป็นเจ้าที่ดับสูญได้[16] ตามความเห็นอันเป็นที่นิยมกัน หรือดังที่อาจารย์ฝ่ายเทวนิยม[17] บางคนกล่าวว่า พระเป็นเจ้าผู้เหนื่อยหน่ายกับการอภิบาลสรวงสวรรค์ได้ดื่มด่ำไปกับการพักผ่อน และจมอยู่ตลอดไปในความหลงลืมว่า สิ่งใดเกิดขึ้นในโลกบ้าง ทั้งพระองค์ยังไม่ทรงเชื่อถือโชคลางอีกนับพันตามคำเทศนาของเหล่าสมณะซึ่งเป็นนักเทศน์และนักบวชประจำราชอาณาจักร กลับกัน ทรงเชื่อว่า พระเป็นเจ้านั้นไม่มีวันดับสูญ พระลิขิตของพระเป็นเจ้าจะอภิบาลโลกอย่างไม่หยุดนิ่งแล้วจึงบริหารจัดการสรรพสิ่งไปตามพระอัธยาศัย[18] พระองค์มักทรงภาวนาถึงพระเป็นเจ้าผู้เป็นอมตะพระองค์เดียวกันนี้ และวิงวอนขอพระเทวานุเคราะห์ด้วยความยำเกรงอย่างสุดซึ้งอย่างน้อยวันละสองครั้ง ครั้งละสองชั่วโมง คือ ในยามเช้าหลังทรงตื่นพระบรรทม และในยามค่ำก่อนทรงเข้าพระบรรทม ในพระราชดำรัสซึ่งจะชื่นชมอย่างไรก็ไม่เต็มอิ่ม ที่พระองค์มีต่อเมอซีเยอกงสต็องส์เพื่อตอบคำกราบทูลของเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสคราวที่เขากดดันอย่างหนักให้พระองค์ทรงประกาศตนเป็นคริสเตียนนั้น มีสิ่งอนุสรณ์ถึงความสัตย์จริงในเรื่องนี้อยู่อย่างโดดเด่นเป็นที่สุด ซึ่งข้าเห็นว่า คงไม่ผิดที่จะนำมาแทรกไว้ตรงนี้ เพราะมีคุณค่าคู่ควรเป็นเอก ดังที่หลวงพ่อตาชาร์ได้ถ่ายทอดไว้ให้เราทราบอยู่ในบันทึกการเดินทางมาสยามครั้งแรก เล่ม 5 หน้า 309 ฉบับพิมพ์ที่ปารีสเป็นหนังสือ 8 หน้ายก ซึ่งมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษดังต่อไปนี้

"เ พื่อเป็นการตอบกลับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส เจ้าจงนำคำข้าไปบอกเขาว่า โดยที่ได้พบนิมิตหมายแห่งพระราชไมตรีจากสมเด็จพระองค์ผู้ทรงเป็นคริสเตียนสูงสุดในคำกราบทูลของเขา ข้าจึงเห็นว่า ตัวข้าเป็นหนี้พระคุณอย่างยิ่งต่อพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าเป็นนายเขา และเพราะเกียรติคุณที่เจ้าชายผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ประทานแก่ข้านั้นได้ปรากฏต่อสาธารณชนทั่วทั้งฝ่ายตะวันออกแล้ว ข้าย่อมไม่อาจขอบน้ำใจไมตรีของพระองค์ท่านให้เพียงพอได้เลย ทว่า ข้าเป็นทุกข์ร้อนเหลือประมาณที่พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส กัลยาณมิตรของข้า ได้เสนอสิ่งอันยากลำบากหนักหนาให้แก่ข้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าไม่คุ้นเคยเลยแม้แต่น้อย ข้าจึงขอละ[19] ตัวข้าไว้ใต้พระปัญญาของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นคริสเตียนสูงสุดพระองค์นี้ เพื่อที่พระองค์จะทรงตัดสินเองว่า เรื่องอันแสนละเอียดอ่อนเช่นการเปลี่ยนศาสนาอันเป็นที่ยอมรับและนับถือกันทั่วทั้งราชอาณาจักรของข้าอย่างไม่ขาดสายในห้วง 2,229 ปีนี้มีความสำคัญและยุ่งยากเพียงใด

"อนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ชวนให้ข้าฉงนสนเท่ห์อยู่ว่า ไฉนพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส กัลยาณมิตรของข้า จึงมาใฝ่พระทัยนักหนาในกิจอันเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า ที่แม้แต่พระเป็นเจ้าเองก็ดูจะไม่สนพระทัยโดยสิ้นเชิง แต่ปล่อยให้ทั้งหมดเป็นดุลยพินิจของพวกเรา เพราะหาไม่แล้ว พระเป็นเจ้าที่แท้จริง ผู้ทรงสถาปนาฟ้าและดิน กับทั้งสิ่งทั้งสิ้นทั้งปวงที่อยู่ในนั้น และประทานให้เขาเหล่านั้นมีสภาพและความนิยมแตกต่างกันไปอย่างยิ่งแต่ครั้งที่มอบสิ่งต่าง ๆ อย่างร่างกายและวิญญาณให้แก่มนุษย์นั้น ก็คงจะทรงบันดาลให้พวกเขามีใจเดียวกันในเรื่องศาสนาใดที่จะพึงนับถือ และในเรื่องการบูชาใดที่สมกับพระองค์ที่สุด และคงจะทรงกระทำให้ชาติทั้งหลายตั้งอยู่และดับไปภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันไปแล้ว หากจะพอพระทัยเช่นนั้น

"ความเป็นระเบียบในหมู่มนุษย์ และความเป็นหนึ่งเดียวกันในศาสนานั้น โดยทุกประการแล้วย่อมขึ้นอยู่กับพระลิขิตของพระเป็นเจ้า ผู้ทรงสามารถนำพาสิ่งเหล่านั้นมาสู่โลกได้โดยง่ายพอ ๆ กับที่ให้มีความหลากหลายทางนิกายอันได้สถาปนาขึ้นมาในโลกทุกยุคทุกสมัย จึงไม่ควรหรือที่เราจะคิดว่า พระเป็นเจ้าที่แท้จริงย่อมทรงมองว่า การเฉลิมพระเกียรติพระองค์ด้วยการบูชาและพิธีกรรมที่ต่างกันไปนั้น เป็นความพอพระทัยใหญ่หลวง ดุจเดียวกับที่ทรงได้รับการเชิดชูจากสิ่งมีชีวิตมากมายที่ต่างฝ่ายต่างเฝ้าสรรเสริญพระองค์ตามแนวทางของตน ความงามและความหลากหลายที่เราชื่นชมอยู่ตามระเบียบของธรรมชาตินั้น เมื่ออยู่นอกเหนือระเบียบของธรรมชาติแล้ว จะน่าดูชมลดลง หรือคู่ควรกับพระปัญญาของพระเป็นเจ้าน้อยลง กระนั้นหรือ

"จะอย่างไรก็ตาม" พระองค์ตรัสต่อ "เพราะเรารู้อยู่ว่า พระเป็นเจ้านั้นทรงเป็นเจ้าสูงสุดของโลก และเราได้รับคำชี้นำว่า ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยขัดต่อพระประสงค์ของพระองค์ได้ ข้าจึงขอยกกายถวายกรุงของข้าทั้งสิ้นไว้ในอ้อมพระพาหาแห่งพระเทวกรุณาและพระลิขิต และวิงวอนหมดหัวจิตหัวใจต่อพระปัญญาอันไม่รู้ดับสูญของพระองค์ว่า จงจัดการกายและกรุงของข้าให้เป็นไปตามพระกุศลเจตนาและอัธยาศัยเทอญ"

แต่แม้จะมีลายลักษณ์อักษรและคำพรรณนาถึงตัวตนและกมลนิสัยของพระองค์ทั้งหมดนี้ ข้าก็ยังมิอาจล่วงรู้ว่า พระองค์ทรงพระนามว่ากระไร จนมารู้ด้วยข้อความจดจารในสาส์นที่ทรงส่งถึงพระสันตะปาปาและถึงพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสเมื่อปี 1688 ซึ่งมีเอ่ยถึงในบันทึกการเดินทางครั้งที่สองของหลวงพ่อตาชาร์ ในราชสาส์นถึงพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสนั้น ทรงเขียนถึงพระองค์เองไว้ดังนี้

"สมเด็จพระเจ้ากรุงเทพ
พระมหานครผู้ใหญ่"
ที่ส่งถึงพระสันตะปาปานั้นว่า
"สมเด็จพระเจ้าศรีอโยธยา[20] ผู้ใหญ่"

พระองค์ไม่ทรงเคยลงพระนามในสาส์นใด ๆ ที่ทรงเขียน โลหะซึ่งใช้เขียนราชสาส์น และซึ่งไม่มีผู้อื่นใดในราชอาณาจักรของพระองค์ นอกจากตัวพระองค์เอง จะได้รับอนุญาตให้ใช้นั้น ได้รับการพรรณนาไว้ว่า เป็นเครื่องยืนยันอันแม่นยำและโต้แย้งมิได้ว่า สาส์นนี้เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อจะทรงส่งสาส์นถึงท้าวพระยามหากษัตริย์ จะทรงพระอักษรลงบนแผ่นทองคำ[21] เท่านั้น และเมื่อจะทรงพระอักษรถึงบุคคลด้อยศักดิ์กว่าและเอกชน[22] ก็มักเป็นกระดาษซึ่งประทับราชลัญจกรของพระองค์อันมีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไปตามสถานะของบุคคลที่ทรงพระอักษรถึง

และสำหรับเมอซีเยอกงสต็องส์นั้น นอกจากที่มีกล่าวถึงอยู่ในวจนิพนธ์ต่อจากนี้ไปแล้ว ข้าจะขอเพิ่มเติมบางอย่างสักสองสามเรื่องตามที่ได้มาจากนักเขียนคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องบันเทิงเริงใจพอและควรค่าแก่การสอดแทรกไว้ตรงนี้

เขาเป็นโปรเตสแตนต์ที่ดีขณะอยู่ในอังกฤษและหลังปักหลักในสยามได้พักใหญ่ แต่ครั้นเขาตกอยู่ในเงื้อมมือเยสุอิต เขาก็ถูกคนเหล่านั้นพาออกนอกรีต[23] และกระทำให้โอบรับศาสนาโรมันคาทอลิกและยอมรับสนับสนุนผลประโยชน์ของฝรั่งเศสจนถึงขั้นโงหัวไม่ขึ้นปานนั้น[24] ซึ่งปรากฏว่า นำชีวิตันตรายร้ายแรงมาสู่เขาในที่สุด เขาใช้ชีวิตบางช่วงอยู่ในตระกูลของและทำการงานกับมิสเตอร์ไวต์คนหนึ่ง[25] ซึ่งเป็นพ่อค้าคนสำคัญของอินเดียตะวันออก[26] ในสยาม ผู้ซึ่งบัดนี้อยู่ที่ลอนดอน และเมื่อไวต์ออกจากสยามไปแล้ว กงสต็องส์ได้ดำเนินการเป็นตัวแทนค้าต่าง[27] ของไวต์ต่อไป ซึ่งวิธีนี้ทำให้เขาสะสมเงินทองได้จำนวนหนึ่ง แล้วจึงก่อร่างสร้างตัว ขั้นแรกที่เขากระทำ คือ ซื้อเรือลำหนึ่งแล้วออกท่องท้องทะเล ทว่า เป็นคราวเคราะห์ที่ถูกสภาพอากาศเลวร้ายบีบให้ต้องหวนกลับ และต้องอับปาง[28] ณ ปากน้ำสยามถึง 2 หน

เมื่อออกท่องท้องทะเลอีก เรือเขาล่มเป็นหนที่ 3 และยิ่งผีซ้ำด้ำพลอยหนัก ด้วยไปล่มอยู่ตรงชายฝั่งมะละบาร์[29] ณ ที่นั้น เขาต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจะถึงกาลแตกดับ และในสรรพสิ่งที่เขามี เขาก็รักษาไว้ได้ไม่ถึง 2,000 คราวน์ ในสภาพอันน่าเศร้านี้ ซึ่งมีความทุกข์ตรม เหนื่อยอ่อน และง่วงงุนถาโถม เรื่องประหลาดก็อุบัติขึ้นแก่เขา เขาทอดกายลงบนชายหาด จะหลับหรือตื่นอยู่เขาก็บอกตนเองไม่ถูกตอนที่เขาเพ้อไปว่า เห็นบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเปี่ยมสง่ามองมาที่เขาพร้อมสีหน้าแย้มยิ้มพลางกล่าวแก่เขาอย่างเอื้อเฟื้อเหลือล้นว่า "กลับไป กลับไปยังที่ที่เจ้าจากมา" ถ้อยคำนี้มีผลต่อเขามาก (เพราะนับแต่นั้นมาเขาก็มักไปแย้งเรื่องนี้กับคนรู้จักหลายคน) จนเขาถึงกับหลับไม่ลงตลอดราตรีที่ยังเหลือ ด้วยในห้วงความคิดมีแต่เรื่องจะหาหนทางกลับสยามได้อย่างไร

วันรุ่งขึ้น ขณะเดินอยู่ริมทะเล พลางใคร่ครวญถึงเรื่องที่ตนเห็นมาในยามราตรี และไม่แน่ใจว่า ควรคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ดี เขาก็เห็นชายคนหนึ่งมุ่งตรงมายังเขาด้วยกายชุ่มโชกพร้อมสีหน้าเศร้าโศกและขวัญเสีย นั่นคือเอกอัครราชทูตของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งเรืออับปางเมื่อกลับจากเปอร์เซีย โดยรักษาอะไรไว้ไม่ได้เลยนอกจากชีวิตของตน คนทั้งคู่พูดภาษาสยามได้ ในไม่ช้าจึงได้รับรู้เรื่องราวการผจญภัยของกันและกัน เอกอัครราชทูตได้ประสบเองและแถลงว่า ตนต้องตกระกำลำบากแสนเข็ญเพียงไร เมอซีเยอกงสต็องส์ปลอบเขาในเรื่องความอับโชค และเสนอจะพาเขากลับสยาม และกงสต็องส์ได้ซื้อสำเภาขนาดย่อม เสื้อผ้า และเสบียงสำหรับการเดินทาง โดยใช้เงิน 2,000 คราวน์ที่รักษาไว้ได้นั้น อุปนิสัยอันเอื้อเฟื้ออย่างเหลือหลายนี้ต้องใจเอกอัครราชทูตสยามผู้ซึ่งนับแต่นั้นมาก็ได้พากเพียรทุกทางในการแสดง[30] ความซาบซึ้งน้ำใจที่ตนมีต่อเขา ครั้นพวกเขามาถึงสยาม และเอกอัครราชทูตได้พรรณนาการเจรจาและเหตุเรือล่มต่อหัวหน้าเสนาบดีแล้ว ก็บอกหัวหน้าเสนาบดีถึงความช่วยเหลือทั้งหลายที่ตนได้รับจากเมอซีเยอกงสต็องส์ พร้อมคำเยินยอข้อดีของเขาเสียยกใหญ่ จนหัวหน้าเสนาบดีมีใจใคร่รู้จักเขาบ้าง หัวหน้าเสนาบดีได้แสดงอัธยาศัยไมตรีต่อเขาในการสนทนากับเขา[31] และชื่นชอบเขามากยิ่ง ถึงขั้นที่ตกลงใจจะเอาเขาไว้ข้างกายในตำแหน่งไม่นานก็ทำให้เขาได้รับความยกย่องและไว้ใจจากนายของตน หัวหน้าเสนาบดีผู้นี้เป็นบุรุษทรงปัญญา และเชี่ยวชาญปรีชาในการงาน แต่เขาจะเลี่ยงความยุ่งยากมากเท่าที่จะเลี่ยงได้ และพอใจในความรื่นรมย์ การได้พบบุคคลที่มีความสามารถ สัตย์ซื่อ และขันแข็ง ซึ่งอาจมอบหมายให้ดูแลการต่าง ๆ แทนตนได้ นับเป็นเรื่องปีติล้นพ้นสำหรับเขา ไม่นานหลังจากนั้นพระคลังก็ถึงแก่กรรม พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงตั้งมงซีเยอกงสต็องส์ขึ้นแทนที่เขา แต่กงสต็องส์บอกปัด และทูลพระองค์ว่า ตำแหน่งนั้นจะยังให้เขาเป็นที่ริษยาของบรรดาผู้ใหญ่ และฉะนั้น ขอพระองค์อย่าทรงยกเขาขึ้นสูงกว่าที่เขาเป็น เพราะความมักใหญ่ของเขามีขีดสุดอยู่ตรงนั้น พลางพรรณนาว่า ได้ตั้งอยู่ในที่โปรดปรานของพระองค์เป็นอย่างดี ก็มีความสุขมากพอแล้ว

ความถ่อมตนของเขา ทักษะและความอุตสาหะของเขาในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ความซื่อตรงของเขาในการจัดการรายได้[32] สาธารณะ และความไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน[33] เมื่อบอกปัดการแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งและของขวัญทั้งหลายจากราษฎรเอกชน ยิ่งเพิ่มพูนความไว้วางพระทัยในตัวเขาขึ้นเรื่อย ๆ

เขาสุภาพกับชาวอังกฤษยิ่งนักในทุกโอกาส และให้ความช่วยเหลือทุกอย่างอย่างเป็นมิตรตามที่อยู่ในอำนาจเขา เขายังใคร่ก่อตั้งค้าระหว่างชาตินั้นกับชนชาวเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง แต่ถูกขัดขวาง

สัก 2 ปีก่อน เขาส่งของขวัญอันสำคัญนักไปถวายพระเจ้าเจมส์ที่ 2[34] ประกอบด้วยของหายากและสิ่งมากค่าบรรดามีที่ผลิตได้ในอินเดียตะวันออก ประเมินได้เป็นเงินราว 6,000 ปอนด์

ก็เมื่อกล่าวถึงของขวัญแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่วิเศษเลิศเลอไปกว่าบรรดาที่พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงส่งไปถวายพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสในปี 1685 ตีราคาได้กว่า 6,000 ปอนด์ และเพื่อเป็นการตอบแทน พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสจึงทรงส่งคันฉ่อง นาฬิกาพก[35] เสื้อคลุม[36] และสิ่งล้ำค่าอื่น ๆ อันเป็นประดิษฐกรรมของฝรั่งเศสมาในผ้ายกหรูหรา[37] เพื่อถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม เป็นราคากว่า 300,000 คราวน์ กระนั้น ไม่มีชิ้นไหนที่ได้รับการพิจารณาว่า เป็นเครื่องสดุดีอันยิ่งค่าสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสยาม เท่ากับผ้าคลุมสัตว์[38] อันประณีตบรรจงยิ่งนัก ทำจากกำมะหยี่ซึ่งล้วนแล้วแต่ปักร้อยด้วยเงิน ทอง และไข่มุกอย่างอุดม บรรดาห่วง[39] และวงคล้องของผ้านั้นก็เป็นทองคำโอฬาร โดยส่งมาให้คชสารสีเผือก สัตว์มงคลหรือเทพารักษ์ของประเทศนั้นเอง

หมายเหตุ

แก้ไข
  1. อาแล็กซ็องดร์ อัศวินแห่งโชมง (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. ดู de Chaumont, Alexandre (1687). Relation de l'ambassade de Mr. le chevalier de Chaumont a la Cour du Roy de Siam. Paris: Arnould Seneuze & Daniel Horthemels.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. กี ตาชาร์ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. ดู Tachard, Guy (1686). Voyage de Siam. Paris: Arnould Seneuze & Daniel Horthemels.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. ในภาษาปัจจุบัน "sculpture" หมายถึง ประติกรรม (เช่น รูปปั้น) แต่ในภาษาเก่า "sculpture" หมายถึง ภาพพิมพ์ โดยเฉพาะภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ที่แกะสลักขึ้น ซึ่งเรียกว่า "engraving" ดังที่ Kersey (1708, น. 580) ให้นิยามว่า "printed picture" และ Bailey (1730, น. 659) ระบุว่า "Sculpture includes both engraving and working in Relievo" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  6. ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  7. โกลด เซเบอแร ดูว์ บูแล (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  8. การที่กล่าวว่า มีนคร 2 แห่ง คือ สยาม และละโว้ แสดงว่า ในเอกสารนี้ "สยาม" หมายถึง อยุธยา (ในฐานะที่เป็นเมืองศูนย์กลางของราชอาณาจักรอยุธยา) มากกว่าจะหมายถึงราชอาณาจักรอยุธยาโดยรวม (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  9. คำว่า "officer" สามารถหมายถึง เจ้าหน้าที่ทั่ว ๆ ไป หรือเจ้าหน้าที่ทางทหารชั้นผู้บังคับบัญชาก็ได้ ดังที่ Kersey (1708, น. 454) นิยามว่า "one that is in any Office; In Military Affairs, a Perſon that has ſome Command in the Company, or Troop, he ſerves in" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  10. อันที่จริง คำว่า "brother" จะแปลว่า พี่ชายหรือน้องชายก็ได้ และไม่มีข้อมูลว่า บุคคลผู้นี้ (ซึ่งคงจะได้แก่ พระปีย์) เป็นพี่ชายหรือน้องชาย แต่ในที่นี้แปลเป็นพระอนุชา (น้องชาย) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  11. ในภาษาเก่า คำว่า "knock" แปลว่า ตี ฟาด ฟัน ฯลฯ ดังที่ Bailey (1730, น. 434) นิยามว่า "to beat, to hit, to ſtrike upon" ในภาษาปัจจุบัน "knock" แปลว่า เคาะ หรือตอก และกริยาวลี "knock out" แปลว่า ทำให้หมดสติ ทำให้เหนื่อย หรือทำลาย ดังระบุใน Dictionary.com (2022c) ส่วนกฎมนเทียรบาลของอยุธยา (กำธร เลี้ยงสัจธรรม 2548, น. 114) ใช้คำว่า "ตี" โดยกล่าวว่า "ตีด้วยท่อนจันท์ แล้วเอาลงขุม" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  12. คำว่า "มัตถลุงค์" ที่แปลว่า สมอง นี้ เป็นการแปลตรงตัวตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ แต่ที่จริงอาจเป็นการเปรียบเปรยถึงศีรษะหรือกระโหลกศีรษะก็ได้ ส่วนกฎมนเทียรบาลของอยุธยา (กำธร เลี้ยงสัจธรรม 2548, น. 114) ไม่ระบุว่า ให้ตีที่ใด เพียงกล่าวว่า "ตีด้วยท่อนจันท์ แล้วเอาลงขุม" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  13. คำว่า "strait" ในภาษาปัจจุบันแปลว่า แคบ หรือเข้มงวด ตามความใน Dictionary.com (2022d) ส่วนในภาษาเก่าแปลว่า ตรง ไม่คด ไม่โค้ง ดังที่ Bailey (1730, น. 701) นิยามว่า "direct, without Bendings or Turnings" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  14. คำว่า "stranger" ในภาษาปัจจุบันแปลว่า คนแปลกหน้า บุคคลภายนอก ผู้ที่มิใช่สมาชิก ฯลฯ ตามความใน Dictionary.com (2022e) ส่วนในภาษาเก่านั้น นอกจากแปลว่า คนแปลกหน้า ยังแปลว่า คนต่างชาติ ดังที่ Kersey (1708, น. 614–615) นิยามว่า "a Man born out of the Realm, a Perſon with whom we have no Acquaintance" และ Bailey (1730, น. 701) นิยามว่า "an unknown Perſon, one with whom a Perſon has no Acquaintance, or one of another Nation, Country, &c." (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  15. ในภาษาเก่า "conspicuous" สามารถหมายถึง (1) ชัดแจ้ง ชัดเจน (2) โดดเด่น (3) โด่งดัง เลื่องชื่อ ดังที่ Kersey (1708, น. 157) นิยามว่า "eaſie to be ſeen, clear, manifeſ; eminent, famous" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  16. คำว่า "annihilate" ในสมัยนั้นมีความหมายเหมือนในปัจจุบัน คือ ทำลายล้าง หรือล้างผลาญ ดังที่ Kersey (1708, น. 37) นิยามว่า "to Bring, or turn any created Being to nothing, to Deſtroy it uttrerly" ฉะนั้น "annihilated God" จึงมีความหมายตรงตัวว่า "พระเป็นเจ้าที่ถูกทำลายล้างแล้ว" ในที่นี้แปลเป็น "พระเป็นเจ้าที่ดับสูญได้" เพราะจะสอดคล้องกับข้อความแวดล้อมที่ระบุว่า พระองค์ไม่ทรงเชื่อใน "annihilated god" แต่ทรงเชื่อใน "eternal God" (พระเป็นเจ้าที่เป็นนิรันดร์) หรือ "immortal God" (พระเป็นเจ้าที่เป็นอมตะ) แต่บางที "annihilated God" ในที่นี้อาจมีความหมายอย่างอื่นอีก เช่น อาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อแบบ annihilationism ในศาสนาคริสต์ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  17. ปรกติแล้วคำว่า "theis" เป็นรูปเขียนแบบเก่าของคำว่า "these" แต่ในกรณีนี้ไม่น่าใช่ เพราะจุดอื่นก็ยังเขียน "these" จึงเห็นว่า อาจเป็นการพิมพ์ "theist" ผิด เพราะข้อความแวดล้อมกล่าวถึงการดำรงอยู่ของเทพ คำว่า "theist" เป็นวิเศษณ์ของคำว่า "theism" ที่แปลว่า เทวนิยม และตาม Dictionary.com (2022f) คำว่า "theism" ได้รับการบันทึกครั้งแรกสุดในช่วง ค.ศ. 1670–80 ราว 10–20 ปีก่อนเอกสารนี้ สอดคล้องกับที่ Lexico.com (2022) ว่า คำ "theist" เกิดขึ้นในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ค.ศ. 1601–1700) ฉะนั้น ก็เป็นไปได้ที่เอกสารนี้จะใช้คำนี้ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  18. กริยาวลี "dispose of" ในภาษาปัจจุบันแปลว่า กำจัดทิ้ง จำหน่ายไป ทำให้หมดสิ้นไป ทำลาย ฯลฯ ตามความใน Dictionary.com (2022b) ส่วนในภาษาเก่าแปลว่า ทำ (กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) ไปตามที่ตนพอใจ ดังที่ Kersey (1708, น. 211) นิยามว่า "to do what one pleaſes with" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  19. ในภาษาเก่า "refer" แปลว่า ละ (บางเรื่อง) ให้ (บางคน) พิจารณาหรือตัดสิน ดังที่ Kersey (1708, น. 547) นิยามว่า "to leave to one's Judgment, or Determination" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  20. นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เช่น ประเสริฐ ณ นคร (อ้างถึงใน ศานติ ภักดีคำ 2558, น. 9) และวินัย พงศ์ศรีเพียร (2555, น. 51) เห็นว่า "อโยธยา" เปลี่ยนชื่อเป็น "อยุธยา" หลังเสียกรุงแก่พม่าใน พ.ศ. 2112 แต่ในที่นี้ยังคงถอดเป็น "อโยธยา" เพราะอักษรโรมันต้นฉบับว่า "Jov" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  21. คือ ที่เรียกว่า สุพรรณบัฏ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  22. "บุคคลเอกชน" (private person) คือ บุคคลที่มิได้ดำรงตำแหน่งหน้าที่สาธารณะ เช่น "arrest by private person" ภาษาไทยเรียกว่า "การจับกุมโดยราษฎร" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  23. ในภาษาเก่า คำว่า "pervert" แปลว่า พลิกคว่ำพลิกหงาย ทำให้ออกนอกลู่นอกทาง ทำให้เสื่อมเสีย ทำให้แปดเปื้อน หรือทำให้เสียความรู้สึกผิดชอบ ดังที่ Kersey (1708, น. 486) นิยามว่า "to turn upſide down; to debauch, corrupt, or ſpoil" และ Bailey (1730, น. 558) นิยามว่า "to turn upſide down; to miſlead; to debauch, to corrupt or ſpoil; to turn to a wrong Senſe" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  24. ในภาษาเก่า Kersey (1708, น. 697) นิยาม "zeal" ว่า ความหลงใหลอย่างแรงกล้าในเรื่องใด ๆ โดยเฉพาะในเรื่องศาสนาของตนเอง ("an earneſt Paſſion for any thing, more eſpecially for one's Religion") และ "zeal" ยังสามารถสื่อถึง "zeal of the convert" ซึ่งหมายถึง การอุทิศตนอย่างแรงกล้าให้แก่ความเชื่อใหม่ที่ต่างจากความเชื่อเดิมของตนโดยสิ้นเชิง (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  25. จอร์จ ไวต์ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  26. บริษัทอินเดียตะวันออก (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  27. ในภาษาเก่า "factor" หมายถึง ผู้ทำการแทนพ่อค้าคนหนึ่งอยู่ในดินแดนโพ้นทะเล หรือผู้ซื้อและขายสินค้าในฐานะที่เป็นทรัสตี (ผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการหรือทรัพย์สิน) ของผู้อื่น ดังที่ Kersey (1708, น. 260) นิยามว่า "an Agent for a Merchant beyond Sea" และ Bailey (1730, น. 305) นิยามว่า "one who is an agent for a merchant beyond ſea, one that buys and ſells goods as a truſtee for other perſons" คำว่า "ตัวแทนค้าต่าง" เป็นคำในกฎหมายไทย (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  28. Dictionary.com (2022a) ว่า "cast away" เป็นสำนวนแปลว่า ประสบเหตุเรือล่ม (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  29. อาจหมายถึง ชายฝั่งมะละบาร์ ประเทศอินเดียปัจจุบัน (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  30. ในภาษาเก่า "testify" แปลว่า (1) เป็นพยาย ยืนยัน (2) ทำให้ปรากฏ ทำให้เป็นที่รับรู้ ดังที่ Kersey (1708, น. 237) นิยามว่า "to witneſs, or certify; to make appear, or make known" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  31. ในภาษาเก่า "entertain" แปลว่า (1) ดำรงไว้ รักษาไว้ มีไว้ (2) ได้รับ ยอมรับ (3) ต้อนรับ แสดงไมตรีจิต (4) ให้ที่อยู่ที่กิน ดังที่ Kersey (1708, น. 237) นิยามว่า "to maintain, keep, or lodge; to receive, or accept of, to treat" แต่ "entertain in discourse" (อาจแปลตรง ๆ ว่า "มีไว้ในการสนทนา", "แสดงไมตรีจิตในการสนทนา", ฯลฯ) ดูจะเป็นสำนวนโบราณที่อาจมีความหมายอย่างอื่น (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  32. ดูเหมือนว่า ในสมัยนั้น "revenue" จะมีความหมายเจาะจงถึง ผลกำไรที่ได้จากที่ดินหรือจากทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นรายปี ดังที่ Kersey (1708, น. 559) นิยามว่า "the Yearly Profits of Land, Money, &c" และ Bailey (1730, น. 635) นิยามว่า "the yearly Rents or Profits ariſing to a Man from his Lands, Poſſeſſions, &c" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  33. Kersey (1708, น. 210) นิยาม "disintereſted" ว่า ปราศจากประโยชน์ส่วนตน เป็นกลาง หรือไม่มีอคติ ("void of ſelf-intereſt, impartial, unbiaſſed) และ Bailey (1730, น. 251) นิยามไว้ทำนองเดียวกัน (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  34. พระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  35. Kersey (1708, น. 686) ว่า "watch" หมายถึง นาฬิกาพกไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกง ("a Pocket-clock for the meaſuring of Time") ดูตัวอย่างใน รูปที่ 1 และ รูปที่ 2 เป็นนาฬิกาพกของขุนนางฝรั่งเศส ผลิตในราว ค.ศ. 1645 ประมาณ 40 ปีก่อนเหตุการณ์ในเอกสารนี้ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  36. คำว่า "cloak" แปลว่า เสื้อคลุม แต่บางทีอาจพิมพ์ผิดจาก "clock" ที่แปลว่า นาฬิกา (ขนาดใหญ่) จะเข้ากับที่ก่อนหน้าบอกว่า มีนาฬิกาแบบพก แต่ยังหาหลักฐานอื่นมาตรวจสอบมิได้ จึงแปลไปตามตัวอักษรก่อนว่า เสื้อคลุม (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  37. ที่ว่า ส่งมาในผ้ายก อาจหมายถึง ห่อผ้ายกมา ผ้ายก (brocade) คือ ผ้าทอชนิดหนึ่ง (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  38. Kersey (1708, น. 106) ว่า "caparaſon" เป็นเครื่องปกคลุมหรือตกแต่งชนิดหนึ่งสำหรับม้า ("a ſort of Trappings, or Furniture for a Horſe") แต่ในทางปฏิบัติมีการใช้กับสัตว์อื่นนอกจากม้า และบริบทก็ระบุว่า ส่งมาให้ช้างเผือก ในที่นี้จึงแปลเป็น ผ้าคลุมสัตว์ ดูตัวอย่างใน รูปที่ 3 เป็นผ้าคลุมม้า จัดแสดงอยู่ในประเทศเยอรมนี (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  39. Kersey (1708, น. 95) ว่า "buckle" เป็นห่วงทรงสี่เหลี่ยมมีลิ้น ผูกรัดด้วยสายหนัง ("a four-ſquare Hoop with a Tongue, faſten'd with narrow Thongs") (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)

บรรณานุกรม

แก้ไข
  • กำธร เลี้ยงสัจธรรม, บรรณาธิการ (2548). กฎหมายตรา 3 ดวง เล่ม 1 ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ. ISBN 9744096527.  Check date values in: |date= (help)
  • วินัย พงศ์ศรีเพียร (2555). "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ (ฉบับปลีก หมายเลขทะเบียน 222 2ก/104)". 100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 11 (จารึกและบันทึกเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออก และพระราชพงศาวดาร ฉบับปลีก). กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์. น. 49–168. ISBN 9786167070926.  Check date values in: |date= (help)
  • ศานติ ภักดีคำ, บรรณาธิการ (2558). พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. ISBN 9786169235101.  Check date values in: |date= (help)
  • Bailey, Nathan (1730). Dictionarium Britannicum. London: T. Cox. OCLC 64522408. 
  • Kersey, John (1708). Dictionarium Anglo-Britannicum. Menston: Scolar Press. OCLC 474187729. 
  • Dictionary.com (2022a). "Cast". Dictionary.com Unabridged. สืบค้นเมื่อ 2022-08-18. 
  • Dictionary.com (2022b). "Dispose". Dictionary.com Unabridged. สืบค้นเมื่อ 2022-08-18. 
  • Dictionary.com (2022c). "Knock". Dictionary.com Unabridged. สืบค้นเมื่อ 2022-08-18. 
  • Dictionary.com (2022d). "Strait". Dictionary.com Unabridged. สืบค้นเมื่อ 2022-08-18. 
  • Dictionary.com (2022e). "Stranger". Dictionary.com Unabridged. สืบค้นเมื่อ 2022-08-18. 
  • Dictionary.com (2022f). "Theism". Dictionary.com Unabridged. สืบค้นเมื่อ 2022-08-18. 
  • Lexico.com (2022). "Theist". Lexico. เก็บจากต้นฉบับ เมื่อ 2022-08-21. สืบค้นเมื่อ 2022-08-18.