งานแปล:แรงงานรับจ้างและทุน/บทที่ 1

แรงงานรับจ้างและทุน โดย คาร์ล มาคส์, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 1: เบื้องต้น

แรงงานรับจ้างและทุน
 

 
บท I
 
เบื้องต้น

เราได้รับคำตำหนิจากสารทิศว่าละเลยไม่กล่าวถึงเงื่อนไขทางเศรษฐกิจอันเป็นฐานทางวัตถุของการต่อสู้ระหว่างชนชั้นและชาติในปัจจุบัน จนถึงบัดนี้ เราจงใจไม่แตะเงื่อนไขเหล่านี้จนกว่าจะแทรกซึมปรากฏตัวขึ้นเองบนระนาบความขัดแย้งทางการเมือง

จำเป็นเหนือสิ่งอื่นใด คือการติดตามพัฒนาการของการต่อสู้ทางชนชั้นในประวัติศาสตร์ยุคเรา และการพิสูจน์เชิงประจักษ์ ด้วยวัตถุดิบทางประวัติศาสตร์อันเป็นประจุบันและสรรค์สร้างใหม่ทุกวัน ว่าครั้นชนชั้นแรงงานปราชัยในห้วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ศัตรูของชนชั้น——พวกนิยมสาธารณรัฐกระฎุมพีในฝรั่งเศส และชนชั้นชาวนากับกระฎุมพีผู้ฟาดฟันสมบูรณาญาสิทธิ์ศักดินาทั่วทั้งทวีปยุโรป——ต่างพ่ายแพ้ไปตาม ๆ กัน ว่าชัยชนะของ “สาธารณรัฐสายกลาง” ในฝรั่งเศสได้ลั่นสัญญาณความล่มสลายของทวยประชาชาติที่ตอบรับปฏิวัติเดือนกุมภาด้วยสงครามประกาศอิสรภาพอันวีระ และสุดท้าย ว่าด้วยอัปราชัยเหนือกรรมกรปฏิวัติ ยุโรปกลับไปเป็นทาสสองทบ ทาสอังกฤษ-รัสเซีย การลุกฮือเดือนมิถุนายนที่ปารีส การเสียกรุงเวียนนา เรื่องตลกปนเศร้าเดือนพฤศจิกายน 1848 ที่เบอร์ลิน ความพยายามสิ้นหวังที่โปแลนด์ อิตาลี กับฮังการี การจำนนต่อความอดอยากที่ไอร์แลนด์——จากการต่อสู้ระหว่างชนชั้นกระฎุมพีกับแรงงานยุโรป ซึ่งรวบรัดได้ในเหตุการณ์สำคัญ ๆ เหล่านี้ เราพิสูจน์แล้วว่าการลุกฮือปฏิวัติใดนั้น วัตถุประสงค์ดูห่างไกลจากการต่อสู้ทางชนชั้นเพียงใดก็ตาม จำต้องพ่ายแพ้ตราบจนชนชั้นแรงงานปฏิวัติเข้ายึดครอง——ว่าการปฏิรูปสังคมใดล้วนเป็นอุดมคติจนกว่าปฏิวัติกรรมาชีพจะได้ประจันหน้ากับปฏิปักษ์ปฏิวัติศักดินาในสงครามทุกมุมโลก ในการนำเสนอของเรา เช่นเดียวกับในความเป็นจริง เบลเยียมกับสวิตเซอร์แลนด์เป็นภาพล้อเลียนตลกปนเศร้าบนฉากจำลองประวัติศาสตร์อันมหึมา อย่างแรกเป็นรัฐต้นแบบราชาธิปไตยกระฎุมพี อย่างหลังเป็นรัฐต้นแบบสาธารณรัฐกระฎุมพี ทั้งสองโอ้อวดตนว่าอยู่เหนือการต่อสู้ทางชนชั้นไม่แพ้จากการปฏิวัติยุโรป[1]

แต่บัดนี้ ผู้อ่านได้เห็นการต่อสู้ทางชนชั้นในปี 1848 ขยายตัวเป็นเรื่องใหญ่โตทางการเมือง ถึงเวลาแล้วที่จะพินิจพิเคราะห์เงื่อนไขทางเศรษฐกิจโดยละเอียด ซึ่งเป็นรากฐานของการมีอยู่และการปกครองของชนชั้นนายทุน และความเป็นทาสของกรรมกร

เราจะนำเสนอแบ่งเป็นสามส่วนสำคัญ:

I. ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานรับจ้างกับทุน ความเป็นทาสของคนงาน การครอบงำของนายทุน

II. การล่มสลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของชนชั้นกลางและสิ่งที่เรียกกันว่าสามัญชน[2]ภายใต้ระบอบปัจจุบัน

III. การกดขี่และการฉวยประโยชน์เชิงพาณิชย์จากชนชั้นกระฎุมพีชาติยุโรปต่าง ๆ ของเผด็จการตลาดโลก——ประเทศอังกฤษ[3]

เราจะพยายามแสดงสิ่งเหล่านี้ให้ง่ายและเข้าถึงมากที่สุดเท่าที่ทำได้ และจะไม่คาดไว้ก่อนว่ารู้แม้แต่แนวคิดขั้นพื้นฐานที่สุดของเศรษฐศาสตร์การเมือง เราหวังให้คนงานอ่านแล้วเข้าใจ มากไปกว่านั้น ในเยอรมนี มีความสับสนและความไม่รู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแม้เรียบง่ายที่สุดอยู่มากอย่างน่าประหลาดใจที่สุด ตั้งแต่ผู้ปกปักรักษาสถานภาพปัจจุบันตามแบบฉบับ จนถึงยอดคนงานสังคมนิยมและอัจฉริยะทางการเมืองผู้ไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งแม้แต่ในเยอรมนีที่แตกระแหงยังมีเยอะยิ่งกว่าเจ้าผู้ครองราชรัฐจิ๋วทั้งหลาย ฉะนั้น เราจะเดินหน้าพิจารณาปัญหาข้อแรก

  1. อย่าลืมว่านี่เขียนไว้กว่าห้าสิบปีมาแล้ว วันนี้ การต่อสู้ทางชนชั้นในสวิตเซอร์แลนด์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเบลเยียม ได้พัฒนามาถึงขีดที่แม้แต่ผู้สังเกตการณ์การเมืองและอุตสาหกรรมที่ตื้นเขินที่สุดยังต้องยอมรับ——ผู้แปล
  2. เฉพาะในยุโรป และบังเกิดจากชนชั้นเสรีชนหรือชาวเมืองในสมัยศักดินา; citoyen common และ Bürger เป็นคำเดียวกัน——ผู้แปล
  3. ตามที่เอ็งเงิลส์กล่าวไว้ในบทนำ ชุดบทความว่าด้วยแรงงานรับจ้างและทุนยังคงไม่เสร็จสมบูรณ์ จุลสารเล่มนี้พิจารณาจำกัดเฉพาะ “ส่วนสำคัญ” ส่วนแรกเท่านั้น: ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานรับจ้างกับทุน——ผู้แปล

  งานนี้เป็นงานแปล ซึ่งมีสถานะทางลิขสิทธิ์แยกต่างหากจากงานต้นฉบับ
งานต้นฉบับ:

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติทั่วโลก เนื่องจากเผยแพร่ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายมาแล้วอย่างน้อย 100 ปี

 
งานแปล:

งานนี้เป็นงานที่เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่หรือดัดแปลงแก้ไขงานนี้ได้อย่างเสรี ตราบเท่าที่ยังมีการระบุถึงชื่อผู้สร้างสรรค์งาน หรือผู้ให้สัญญาอนุญาตของงานนี้ และผลงานดัดแปลงแก้ไขจากงานนี้ จะต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเดียวกับงานนี้ด้วยเช่นกัน