งานแปล:แรงงานรับจ้างและทุน/บทที่ 2

แรงงานรับจ้างและทุน โดย คาร์ล มาคส์, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 2: ค่าจ้างคืออะไร?

บท II
 
ค่าจ้างคืออะไร?

หากเราถามคนงานว่า: “คุณได้ค่าจ้างเท่าไหร่?” คนหนึ่งจะตอบ “นายจ้างให้วันละเหรียญ” อีกคน “ได้วันละสองเหรียญ” ฯลฯ ขึ้นอยู่กับสาขาของอุตสาหกรรมที่ทำงานอยู่ คำตอบที่ได้จะเป็นเงินก้อนไม่เท่ากัน จากนายจ้างแต่ละราย จากการทำงานบางอย่างสำเร็จลุล่วง ตัวอย่างเช่น จากการทอผ้าลินินหนึ่งหลา หรือจากการเรียงพิมพ์หนึ่งหน้า ไม่ว่าคำตอบจะหลากหลายเพียงใด พวกเขาล้วนเห็นพ้องในหนึ่งประเด็น: ว่าค่าจ้างคือจำนวนเงินที่นายทุนจ่ายแลกกับงานระยะเวลาหนึ่งหรืองานปริมาณหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ ดูเหมือนว่านายทุนซื้อแรงงานด้วยเงิน แล้วพวกเขาก็ขายแรงงานแลกกับเงินนั้น แต่นี่เป็นเพียงภาพลวงตา สิ่งที่ขายแลกกับเงินนายทุนจริง ๆ แล้วคือพลังแรงงานของพวกเขา นายทุนซื้อพลังแรงงานมาหนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน ฯลฯ และเมื่อซื้อแล้วก็เอามาใช้ด้วยการให้คนงานทำงานในเวลาที่ตกลงไว้ จำนวนเงินเดียวกันที่นายทุนเอามาซื้อพลังแรงงาน สองเหรียญเป็นต้น เขาจะเอาไปซื้อน้ำตาลปริมาณหนึ่งหรือสินค้าอะไรก็ได้ สองเหรียญที่ซื้อพลังแรงงานมาใช้สิบสองชั่วโมงนั้น คือราคาของแรงงานสิบสองชั่วโมง พลังแรงงานจึงเป็นสินค้าไม่แพ้น้ำตาล อันแรกใช้นาฬิกาวัด อีกอันใช้ตราชั่งวัด

คนงานแลกเปลี่ยนสินค้าของเขา คือพลังแรงงาน กับสินค้าของนายทุน คือเงิน และแลกเปลี่ยนกันเป็นอัตราส่วน เงินเท่านี้แลกกับการใช้พลังแรงงานนานเท่านี้ การถักทอสิบสองชั่วโมงแลกกับเงินสองเหรียญ แล้วสองเหรียญนี้ก็แสดงถึงสินค้าอื่นทั้งปวงที่ใช้ซื้อได้ใช่หรือไม่? ดังนั้น คนงานจริง ๆ แล้วแลกเปลี่ยนสินค้าของเขา คือพลังแรงงาน กับสินค้านานาชนิด และแลกเปลี่ยนกันเป็นอัตราส่วน เมื่อให้เขาสองเหรียญ นายทุนกำลังให้เนื้อสัตว์เท่านี้ เสื้อผ้าเท่านี้ ไม้เท่านี้ ไฟ ฯลฯ แลกกับงานเขาทั้งวัน สองเหรียญจึงแสดงออกความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนระหว่างพลังแรงงานกับสินค้าอื่น ๆ หรือมูลค่าแลกเปลี่ยนของพลังแรงงาน มูลค่าแลกเปลี่ยนของสินค้าประมาณเป็นเงินตราเรียกว่าราคา ค่าจ้างจึงเป็นแค่ชื่อพิเศษสำหรับเรียกราคาของพลังแรงงาน และมักถูกเรียกว่าราคาของงาน เป็นชื่อพิเศษสำหรับเรียกราคาของสินค้าแปลก ๆ อันนี้ ซึ่งไม่มีเก็บไว้ที่ใดนอกจากเนื้อหนังโลหิตมนุษย์

สมมุติคนงานคนหนึ่ง ช่างทอผ้าเป็นต้น นายทุนสรรหากี่และด้ายมาให้ ช่างเริ่มทำงานแล้วด้ายก็กลายเป็นผ้า นายทุนเอาผ้ามาเป็นของตนแล้วสมมุติว่าขายที่ยี่สิบเหรียญ คราวนี้ค่าจ้างของช่างทอผ้าเป็นส่วนแบ่งจากของผ้า จากยี่สิบเหรียญ จากผลงานของเขาหรือเปล่า? ไม่เลย นานแสนนานก่อนผ้าขายออกเสียอีก อาจนานก่อนทอเสร็จด้วยซ้ำ ช่างทอผ้าได้ค่าจ้างไปแล้ว อย่างนั้นนายทุนไม่ได้เอาเงินที่จะได้จากผ้ามาจ่ายค่าจ้าง แต่เอามาจากเงินในมือ อย่างที่กี่หรือด้ายไม่ได้เป็นผลผลิตของช่างทอผ้า ซึ่งนายจ้างหามาให้ สินค้าที่เขาได้มาแลกกับสินค้าของเขาเช่นกัน——พลังแรงงาน——ก็ไม่ได้เป็นผลผลิตของเขา เป็นไปได้ว่าไม่มีใครซื้อผ้าของนายจ้างเลย เป็นไปได้ว่าขายไปแล้วอาจไม่พอค่าจ้างเลย เป็นไปได้ว่าขายไปแล้วกำไรงามมากเทียบกับค่าจ้างของช่าง แต่ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับช่างทอผ้า นายทุนซื้อพลังแรงงานของช่างทอผ้าด้วยส่วนแบ่งจากความมั่งคั่งที่เขามีอยู่แล้ว ทุนของเขา ในแบบเดียวกันที่เอาอีกส่วนจากความมั่งคั่งมาซื้อวัตถุดิบ——ด้าย——และเครื่องมือทำงาน——กี่ พอซื้อแล้ว หนึ่งในนั้นมีพลังแรงงานอันจำเป็นเพื่อผลิตผ้า เขาเพียงผลิตด้วยวัตถุดิบกับเครื่องมือทำงานที่เป็นของเขา ส่วนช่างทอผ้าคนดีของเรา เขาเองก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือทำงาน และในแง่นี้เขาอยู่ระดับเดียวกับกี่ เขามีส่วนแบ่งในผลผลิต (ผ้า) หรือในราคาของผลผลิต ไม่มากไปกว่าที่กี่มันเองมี

ค่าจ้างฉะนั้นไม่ใช่ส่วนแบ่งที่คนงานมีในสินค้าที่เขาเองผลิต ค่าจ้างเป็นหนึ่งส่วนของสินค้าที่มีอยู่แล้ว ที่นายทุนใช้ซื้อพลังแรงงานการผลิตมาปริมาณหนึ่ง

เหตุฉะนี้ พลังแรงงานเป็นสินค้าซึ่งผู้เป็นเจ้าของ คนงานรับจ้าง ขายให้นายทุน แล้วเขาขายทำไม? ก็เพื่อให้อยู่รอด

ทว่าการดำเนินการของพลังแรงงาน กล่าวคืองานนั้นเอง เป็นการแสดงออกเชิงปฏิบัติของชีวิตของผู้ใช้แรงงานเอง และเขาขายกิจกรรมชีวิตของเขาให้กับคนอื่นเพื่อหาเลี้ยงปัจจัยอันจำเป็นต่อชีวิต กิจกรรมชีวิตของเขาจึงใช่สิ่งใดนอกเสียจากปัจจัยเพื่อหาเลี้ยงการดำรงอยู่ของตัวเขา เขาทำงานเพื่อจะได้ยังคงมีชีวิต เขาไม่ถือว่าแรงงานเองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา แต่เป็นการสังเวยชีวิต เป็นสินค้าที่เขาประมูลขายให้คนอื่น ผลิตผลของกิจกรรมของเขาจึงไม่ใช่เป้าหมายของกิจกรรมนั้น ผ้าไหมที่เขาทอ ทองคำที่เขาขุด ราชวังที่เขาสร้าง ไม่ใช่สิ่งที่เขาผลิตให้ตน สิ่งที่เขาผลิตให้ตนคือค่าจ้าง แล้วผ้าไหม ทองคำ ราชวัง ก็คืนสภาพมาให้เขาเป็นเสื้อคลุมผ้าฝ้าย เหรียญทองแดง และห้องเช่าชั้นใต้ดิน กรรมกรผู้ทอผ้า ปั่นด้าย ขุดเหมือง กลึงโลหะ ก่อสร้าง ขุดดิน ขุดหิน แบกอิฐ ฯลฯ——เขามองว่าการทอผ้า ปั่นด้าย ขุดเหมือง กลึงโลหะ ก่อสร้าง ขุดดิน ขุดหิน เป็นการสำแดงของชีวิตไหม ใช่ชีวิตไหม? ตรงกันข้ามเลย ชีวิตของเขาเริ่มเมื่อกิจกรรมเหล่านี้สิ้นสุด บนโต๊ะอาหาร ที่โรงเหล้า บนเตียง กลับกัน งานสิบสองชั่วโมงนี้ สำหรับเขาไม่ได้มีความหมายเป็นการทอผ้า ปั่นด้าย ขุดเหมือง ฯลฯ แต่เป็นแค่รายได้ที่ทำให้เขานั่งลงที่โต๊ะ นั่งลงที่โรงเหล้า และเอนกายลงบนเตียงได้

ถ้าวัตถุประสงค์ของหนอนไหมในการปั่นด้ายคือการยืดอายุระยะหนอน ก็คงเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของคนงานรับจ้าง พลังแรงงานไม่ได้เป็นสินค้า (ผลิตภัณฑ์) มาตลอด แรงงานก็ไม่ได้เป็นแรงงานรับจ้าง หรือแรงงานอิสระ มาตลอด ทาสไม่ได้ขายพลังแรงงานให้นายทาส ไม่ต่างจากวัวควายที่ไม่ได้ขายแรงทำงานให้ชาวนา ทาสและพลังแรงงานของเขาถูกขายให้นายทาสอย่างเบ็ดเสร็จ เขาเป็นสินค้าที่สามารถขายไปขายมาระหว่างนายทาสแต่ละคน ตัวเขาเองเป็นสินค้า แต่พลังแรงงานไม่ใช่สินค้าของเขา ข้าที่ดินขาย[1]เพียงพลังแรงงานส่วนหนึ่ง เขาไม่ได้ค่าจ้างจากเจ้าที่ดิน แต่เจ้าที่ดินต่างหากที่ได้รับส่วยจากเขา ข้าที่ดินเป็นของที่ดิน และนำดอกผลจากที่ดินมาให้เจ้าที่ดิน ในส่วนของกรรมกรอิสระ เขาขายตัวตนของเขา และขายเป็นเศษส่วน เขาประมูลขายแปด สิบ สิบสอง สิบห้าชั่วโมงในชีวิตหนึ่งวัน วันนี้และวันหน้า ให้ผู้ประมูลราคาสูงสุด ให้เจ้าของวัตถุดิบ อุปกรณ์ และปัจจัยชีวิต หรือก็คือนายทุน แต่กรรมกรไม่ได้มีนายและไม่ติดที่ดิน เพียงแต่ชีวิตนานแปด สิบ สิบสอง สิบห้าชั่วโมงเป็นของคนที่ซื้อไป คนงานลาจากนายทุนผู้ซื้อตัวเขาเมื่อใดก็ได้ตามประสงค์ และนายทุนปล่อยตัวเขาเมื่อใดก็ได้ตามเหมาะสม เมื่อหมดประโยชน์หรือหมดจำเป็นจากเขา แต่คนงานผู้มีแหล่งรายได้จากการขายพลังแรงงานเท่านั้น ไม่สามารถทอดทิ้งชนชั้นผู้ซื้อทั้งปวง หรือชนชั้นนายทุน เว้นแต่ว่าเขาพร้อมทอดทิ้งชีวิตตัวเอง เขาไม่เป็นของนายทุนคนนี้หรือคนนั้น แต่เป็นของชนชั้นนายทุน และเขาต้องหาคนของเขาเอง กล่าวคือ การหาผู้ซื้อท่ามกลางชนชั้นนายทุนนี้

ก่อนเริ่มพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานรับจ้างโดยละเอียด เราควรนำเสนอเกี่ยวกับเงื่อนไขทั่วไปที่สุดที่ถูกนำมาพิจารณาในการกำหนดค่าจ้างอย่างสั้น ๆ

ค่าจ้าง ดังที่เราเห็น เป็นราคาของสินค้าอย่างหนึ่ง คือพลังแรงงาน ค่าจ้างจึงถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์เดียวกันที่กำหนดราคาของสินค้าอื่น ๆ ทั้งหลาย จึงมีคำถามว่าราคาของสินค้าถูกกำหนดอย่างไร?

  1. “ขาย” ไม่ได้ตรงตัวเท่าไหร่ เพราะความเป็นข้าที่ดินโดยบริสุทธิ์ไม่มีความสัมพันธ์ซื้อขายระหว่างข้าที่ดินกับเจ้าที่ดิน แต่คนแรกจะส่งส่วยคนหลังในรูปของแรงงานและสิ่งของ ชัดเจนว่าตรงนี้มาคส์ใช้คำว่า “ขาย” ในความหมายทั่วไป คือการแปลกแยก——ผู้แปล

  งานนี้เป็นงานแปล ซึ่งมีสถานะทางลิขสิทธิ์แยกต่างหากจากงานต้นฉบับ
งานต้นฉบับ:

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติทั่วโลก เนื่องจากเผยแพร่ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายมาแล้วอย่างน้อย 100 ปี

 
งานแปล:

งานนี้เป็นงานที่เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่หรือดัดแปลงแก้ไขงานนี้ได้อย่างเสรี ตราบเท่าที่ยังมีการระบุถึงชื่อผู้สร้างสรรค์งาน หรือผู้ให้สัญญาอนุญาตของงานนี้ และผลงานดัดแปลงแก้ไขจากงานนี้ จะต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเดียวกับงานนี้ด้วยเช่นกัน