ชีวประวัติของข้าพเจ้า/ส่วนที่ 1

เรื่องคุณพระเจนดุริยางค์กับข้าพเจ้า
โดย
นายสุกิจ นิมมานเหมินท์

เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๑ เป็นวันที่ข้าพเจ้าและครอบครัวได้ออกเดินทางโดยรถยนต์มุ่งไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปในงานพระราชทานเพลิงศพคุณพ่อคุณแม่ของข้าพเจ้า ซึ่งตามกำหนดการที่วางไว้ว่า จะเป็นวันที่ ๒๘ ของเดือนนั้น ข้าพเจ้าไปถึงจังหวัดเชียงใหม่เวลาประมาณทุ่มหนึ่ง ก็ยังไม่ได้ทราบข่าวอะไรเป็นพิเศษจากกรุงเทพฯ ครั้นวันรุ่งขึ้น มีผู้เอาหนังสือพิมพ์ที่ออกทางกรุงเทพฯ และที่ส่งมาทางเครื่องบิน มาให้ดู ก็รู้สึกสลดใจมาก เพราะมีข่าวการถึงแก่กรรมของคุณพระเจนดุริยางค์ นักดนตรีและนักแต่งเพลงคนสำคัญที่สุดของประเทศไทยคนหนึ่ง ความจริง ข้าพเจ้ารู้จักคุณพระเจนดุริยางค์จากชื่อเสียงของท่านแล้วก็ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนประจำของโรงเรียนอัสสัมชัญ เพราะเหตุว่า ที่โรงเรียนนั้น วิชาดนตรีเป็นภาคผนวกนอกเวลาเรียน และมิหนำซ้ำ ทางโรงเรียนเองก็ยังมีวงดนตรี มีการซ้อมดีด-สี-ตี-เป่ากันเสมอ ๆ และชื่อของคุณพระเจนดุริยางค์ก็เป็นชื่อที่นักดนตรีและครูบาอาจารย์มักกว่าถึงบ่อย ๆ

การที่ได้มีโอกาสมารู้จักตัวของคุณพระเจนดุริยางค์เองนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง กล่าวคือ เมื่อประมาณ ๒๕ ปีมานี้เอง ราว ๆ พ.ศ. ๒๔๘๖ คุณจันทรคุปต์ อมาตยกุล ลูกศิษย์เก่าของข้าพเจ้าตั้งแต่สมัยข้าพเจ้ายังมีหน้าที่นอกจากทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว ยังต้องสอนวิชาคณิตศาสตร์ ทางคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และคณะบัญชีพาณิชย์ ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยอีกด้วย ศิษย์เก่าคนนี้ได้มาปรึกษาและขอความช่วยเหลือ เนื่องด้วยเหตุว่า เขามีความประสงค์จะทำการหมั้นกับสุภาพสตรีพยาบาลคนหนึ่งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ข้าพเจ้าก็รีบถามสวนทันทีว่า ผู้หญิงคนนั้นเป็นลูกเต้าเหล่ากอของใคร เพราะข้าพเจ้ายังเป็นคนหัวเก่าในข้อที่เชื่อว่า ชาติวุฑโฒก็เป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งสำหรับผู้ที่คิดจะครองเรือน คุณจันทรคุปต์ก็ตอบว่า พยาบาลคนนี้ชื่อ ประทุม เป็นบุตรสาวของคุณพระเจนดุริยางค์ พอเท่านั้น ข้าพเจ้าก็บอกกับเขาว่า ตระกูลเขาเป็นศิลปินมีชื่อมาหลายแผ่นดิน แล้วก็ไม่เคยได้ยินอะไรเป็นที่เสียหายเลย ฉะนั้น นอกจากจะไม่ขัดข้องแล้ว ก็มีความยินดีเต็มใจรับจัดการให้ตามที่เขาขอร้องให้ไปทำหน้าที่เป็นเฒ่าแก่สู่ขอคุณประทุม ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพราะตัวข้าพเจ้าเองนั้นก็เคยคิดอยากพบกับคุณพระเจนดุริยางค์ผู้นี้มาเป็นเวลานานแล้ว แต่ทว่า โดยเหตุที่ข้าพเจ้าไม่ใช่นักดนตรีและไม่รู้จักโน้ตเพลงแม้แต่โน้ตเดียว ทั้ง ๆ ที่ถูกเคี่ยวเข็ญจากครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนอัสสัมชัญให้หัดอ่านหัดร้องมาเป็นเวลาร่วม ๔ ปีเต็ม ๆ เหตุผลของข้าพเจ้าก็มีอยู่หลายข้อ และที่สำคัญที่สุด ก็คือ อยากรู้นักว่า ใครเป็นคนแต่งทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เราใช้บรรเลงกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะสำหรับเนื้อเพลงนั้น หาตัวผู้แต่งไม่ยาก เพราะเป็นที่ทราบดีทั่วไปว่า ใครเป็นผู้ตั้งต้น และใครเป็นผู้แก้ไขครั้งสุดท้าย ซึ่งข้าพเจ้าจะได้พูดถึงเรื่องนี้ในชั้นหลัง

เมื่อข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ในชั้น ๔ แผนกอังกฤษ ในโรงเรียนอัสสัมชัญนั้น (ความจริงเมื่อข้าพเจ้ามาเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญครั้งกระโน้น คือ พ.ศ. ๒๔๖๕ นั้น ข้าพเจ้าสอบไล่ได้ประโยคมัธยม คือ มัธยมปีที่ ๖ จากเชียงใหม่มาแล้ว แต่พอมาเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญ ทางโรงเรียนใหม่นี้เห็นว่า ความรู้ภาษาอังกฤษของข้าพเจ้าใช้ไม่ได้เลย จึงตัดสินลดชั้นให้ข้าพเจ้าไปเรียนห้อง ๒ A ซึ่งมีครูคาร์โลส เดอ เยซูส์ เป็นครูประจำชั้น) เวลานั้น พอดีกับเป็นเวลาที่นับว่าสำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการทูตไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ เมื่อศาสตราจารย์จอร์ช เซเดส์ G. Coedes แห่งราชบัณฑิตยสภาและพิพิธภัณฑสถานประจำพระนคร ได้ลากลับไปพักผ่อนชั่วคราวในประเทศฝรั่งเศสแล้ว และในระหว่างนั้น ได้ไปพบหนังสือสำคัญอยู่ชุดหนึ่งซึ่งเป็นบทประพันธ์ของท่านกองต์ ดอนโน เดอ วิเซ (Comte Donneau de Vizé) ซึ่งมีชื่อเสียงในขณะนั้นว่า เป็นผู้เริ่มตั้งหนังสือรายคาบฉบับหนึ่งชื่อ Mercure Galante และหนังสือรายคาบฉบับนี้ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น Mercure de France ซึ่งนักวรรณคดีภาษาฝรั่งเศสไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก ท่านขุนนางผู้นี้เป็นคนฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ได้ติดสอยห้อยตามและบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการมาถึงฝรั่งเศสของออกพระวิสูตรสุนทร ออกหลวงบวรกัลยาณไมตรี และออกขุนศรีวิศาลวาจา ซึ่งเป็นราชทูต อุปทูต และตรีทูต ตามลำดับ รวมกันเข้าเป็นคณะทูตพิเศษของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา จำทูลพระราชสาส์นของพระองค์มาถวายสมเด็จพระเจ้าหลุยส์มหาราชที่ ๑๔ ณ พระราชวังแวร์ซายเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๙ หนังสือชุดนี้ เมื่อนำมาเย็บรวมกันแล้ว ได้เป็นสี่เล่มสมุดฝรั่ง[1] และศาสตราจารย์เซเดส์ได้นำมาถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึงแม้ข้าพเจ้าจะไม่มีหลักฐานมาอ้างอิงให้แน่นอนและชัดเจนอย่างที่จะโต้เถียงไม่ได้ ข้าพเจ้าก็กล้าที่จะกล่าวได้เต็มปากว่า สมเด็จกรมพระยาผู้มีพระสมญาว่า เป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์สยาม ทรงพระปรีดาปราโมทย์และทรงนิยมชื่นชมเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เอกสารที่บันทึกเหตุการณ์อันสำคัญนี้จากผู้ที่เห็นเหตุการณ์นั้นจริง (eye-witness) เกี่ยวกับเรื่องการกระทำต่าง ๆ ของท่านโกษาปานในประเทศฝรั่งเศสเวลานั้น เพราะทุกคนก็ย่อมทราบแล้วว่า ข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าทั้งเล่มหนึ่งและเล่มสองซึ่งได้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์มีข้อความเป็นทำนองโลดโผนบวกไสยศาสตร์และสิ่งที่พระเรียกว่า สาเถยยํ คือ ความโอ่อวด ชนิดที่บุคคลผู้อยู่หลังเหตุการณ์สามารถเก็บเอาอะไรนิดหน่อยมาขยายเป็นเรื่องเป็นราวน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหลงเหลง จนกระทั่งไม่มีใครที่จะสามารถแยกความจริงออกจากเรื่องชนิดสัพเพเหระเหลวไหลไม่เป็นที่เชื่อถือได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า สมเด็จกรมพระยาฯ เวลานั้น แม้จะทรงปลาบปลื้มเป็นพิเศษก็จริง แต่เนื่องด้วยเหตุที่พระองค์ท่านมิได้มีความชำนาญทางภาษาฝรั่งเศสเหมือนดังทรงชำนาญภาษาอังกฤษ จนกระทั่งชาวต่างประเทศหลายคนได้แสดงความอัศจรรย์ใจว่า ทั้ง ๆ ที่พระองค์มิได้มีโอกาสเสด็จออกไปศึกษาเล่าเรียนภาษาอังกฤษนอกประเทศเลยก็ตาม เพียงแต่ได้ทรงศึกษาจากครูยอร์ช แพทเตอสัน (George Patterson) ภายในเวลาไม่นานเท่าใดนัก ก็สามารถทรงใช้ภาษาอังกฤษทั้งทางเขียนและทางสนทนาได้อย่างผู้รู้หลักนักปราชญ์เป็นที่น่าพิศวง เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาก็มีอยู่ว่า หากจะมีการถอดข้อความต่าง ๆ ของท่านเดอ วิเซ ออกมาจากภาษาฝรั่งเศสแล้ว จะถอดออกมาเป็นภาษาอะไรดี ถ้าจะให้ง่ายแล้ว ก็แปลออกจากฝรั่งเศสมาเป็นอังกฤษจะง่ายกว่า ดังที่นายเอดี มอร์ (Adey Moore) ได้เคยแปลประวัติศาสตร์ไทยสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งนายห้างพ่อค้าฮอลันดาคนสำคัญชื่อ เวนฟลีท หรือที่ชาวไทยรู้จักกันว่า วันวลิต ซึ่งแปลงมาจากอักษรโรมัน Van Vliet เรื่องนี้เจ้าตัวเขียนเป็นภาษาฮอลันดา แต่ทว่า หาต้นฉบับยากเหลือเกิน แต่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม มีผู้เอาบทความของนายแวนฟลีทผู้นี้มาแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสแล้วพิมพ์พ่วงท้ายบทความแปลจากภาษาอังกฤษของนักการทูตอังกฤษชื่อ Thomas Herbert ที่ได้เขียนบทความเกี่ยวกับประเทศอิหร่านไว้เป็นเล่มโต ๆ เมื่อ ค.ศ. ๑๖๔๗ มาแล้ว เรื่องนี้ ทางสยามสมาคมได้มอบให้นายเอดี มอร์ เป็นผู้แปลออกเป็นภาษาอังกฤษมาลงในวารสาร ทำให้เราได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีการของพระยากลาโหมสุรวงศ์ ของออกญาเสนาภิมุข และวีรกรรมของหลวงมงคลฯ ได้เป็นอย่างดี แต่ทว่า เมื่อไม่นานมานี้ เกิดมีผู้ไปพบต้นฉบับของแวนฟลีตที่เป็นภาษาฮอลันดาขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และเมื่อนำไปเทียบกับฉบับแปลแล้ว ปรากฏว่า ผู้แปลจากภาษาฮอลันดามาเป็นฝรั่งเศสสมัยโน้นทำอย่างชุ่ย ๆ ลวก ๆ ลอกจำนวนปีผิดก็มี แปลข้ามบรรทัดไปก็มี อะไรต่าง ๆ ทราบว่า ขณะนี้ คุณขจร ศุขพานิช นักประวัติศาสตร์สมัครเล่น กำลังทำการสำรวจค้นคว้า ซึ่งถ้าสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว ก็คงจะทำให้เราได้รับความรู้ใหม่ ๆ และถูกต้องกว่าฉบับชุ่ยที่ได้มาก่อน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั้น นอกจากจะเป็นนักประวัติศาสตร์และนักปกครองชั้นแนวหน้าของประเทศไทยแล้ว บางคนอาจจะคิดไม่ถึงว่า พระองค์ท่านเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการเป็นคนแรกมาแล้วทั้งที ฉะนั้น อะไรที่เกี่ยวกับการศึกษา สิ่งนั้นท่านก็ไม่เคยทอดทิ้งปล่อยปละละเลย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งแบบเรียน หรือการคบค้าสมาคมกับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว โดยเฉพาะพวกมิชชันนารี่ พระองค์ท่านก็ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ ไม่ผิดกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีพระสหายเป็นต้นว่า ท่านสังฆราชปัลเลกัวส์ (Bishop J. Baptiste Pallegoix) หัวหน้ามิสซังคาทอลิคฝรั่งเศส หมอคาสเวลล์และหมอเฮาส์แห่งคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่น เป็นอาทิ บุคคลหนึ่งซึ่งสมเด็จกรมพระยาฯ ทรงยกย่องเป็นพิเศษว่า เป็นชาวต่างประเทศที่มีความรู้ทางภาษาไทยเป็นเยี่ยม ถึงกับเคยประกวดได้รับรางวัลที่ ๑ ของสามัคยาจารย์สมาคม ทางโคลงฉันท์กาพย์กลอน ไร่เรี่ยกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธพงศ์ มาหลายครั้ง และอัจฉริยบุรุษต่างด้าวผู้นี้ก็หาใช่ใครที่ไหนไม่ นอกจากท่านภราเธอร์ฮีแลร์แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งนับได้ว่า เป็นเอตทัคคะทางภาษาไทยคนหนึ่ง ซึ่งอัสสัมชนิกและไม่ชนิกก็ยินยอมนับถือว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทยไม่น้อยไปกว่าภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาษามารดาของท่าน ฉะนั้น จึงไม่เป็นการแปลกประหลาดอะไรที่สมเด็จกรมพระยาจอมปราชญ์ของเราจะไม่ทรงขอแรงจากสหายของท่านผู้คงแก่เรียนให้ช่วยแปลเรื่องราวทั้งหมดที่กองต์ ดอนโน เดอ วิเซ ได้บันทึกไว้ ออกมาเป็นภาษาไทยโดยตรง ไม่ต้องผ่านจมูกภาษาอื่น ซึ่งนับว่า เป็นการลัดประหยัดเวลาและความยุ่งยากไปได้ไม่น้อย ท่านภราเธอร์ฮีแลร์ (ตอนนี้เล่าจากปากของท่านที่ได้เห็นกับตา) คือ แทนที่จะเอากระดาษและดินสอมานั่งขีด ๆ เขียน ๆ แปลจากฝรั่งเศสมาเป็นไทยเหมือนอย่างเราท่านทั้งหลายมักจะทำกัน ท่านภราเธอร์ฮีแลร์กางหนังสือของเดอ วิเซ บนขาตั้งรองรับต้นฉบับ แล้วท่านก็ลงมือจิ้มพิมพ์ดีดภาษาไทยสมิทพรีเมียร์ด้วยสองนิ้วของท่าน เป็นบทความไทยไปเลย โดยให้ชื่อเรื่องว่า “ทูตไทย” บทความอันนี้ ท่านได้ส่งต้นฉบับไปถวายกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นตอน ๆ ไป และได้นำเอาสำเนามาลงพิมพ์ในหนังสืออัสสัมชัญอุโฆษสมัย และตลอดบทความในหนังสือที่ท่านแปลนี้ เมื่อท่านจะอ้างถึงหนังสือรายคาบ Mercure Galante ท่านภราเธอร์ฮีแลร์ใช้คำว่า “หนังสือพระราชกิจจานุเบกษา “แมร์กีร์” ข้าพเจ้าเองได้เคยสนทนากับภราเธอร์ฮีแลร์ถึงเรื่องหนังสือที่ท่านได้ถวายสมเด็จกรมพระยาดำรงไปแล้ว และตอนหลัง ทางการราชบัณฑิตยสภาได้จัดพิมพ์ในชุดประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๗, ๕๘, ๕๙ และ ๖๐ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ท่านภราเธอร์ได้บอกกับข้าพเจ้าว่า “หนังสือนี้ อั๊วแปลถวายในกรมดำรงไป เพราะรักใคร่ชอบพอกัน แต่ว่ามาตอนหลัง ทางหอพระสมุดเก็บเอาไปพิมพ์ออกมาจำหน่าย คำเดียวเขาก็ไม่บอกให้อั๊ว จะปรึกษาหารือ จะขอลิขสิทธิ์หรืออะไร เขาก็ไม่ทำสักอย่าง จู่ ๆ เขาก็พิมพ์ออกมาขาย แต่อั๊วก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นการเผยแพร่ความรู้” ซึ่งถ้าจะพูดไปแล้ว เรื่องนี้ก็น่าเห็นใจ ถ้าเป็นคนอื่นก็คงโกรธมาก แต่ท่านภราเธอร์ฮีแลร์ท่านถือว่า ผลงานของท่านเป็นเรื่องเผยแพร่วิทยาการ ไม่เอาเรื่องกับใคร ทั้ง ๆ ที่เขาจะแสดงมารยาทอันดีงามต่อท่านสักนิดหน่อยก็ไม่มี แต่การกระทำอย่างไรไม่มีมรรยาทนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เพราะมาทำกันภายหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นสมัยซึ่งสมเด็จกรมพระยาฯ ได้ทรงพ้นจากตำแหน่งแห่งหนทางราชบัณฑิตยสภาไปแล้ว

ไหน ๆ ก็ได้พล่ามมาเสียนาน นอกเรื่องนอกราวของคุณพระเจนดุริยางค์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพราะเหตุว่า ในบทความที่ ๓๑ ของหนังสือ “โกษาปานไปฝรั่งเศส” ของหอสมุดแห่งชาติ มีข้อความว่า

“ก่อนที่จะกล่าวถึงการที่ราชทูตไปดูละคร ข้าพเจ้าจะขอโอกาสกล่าวถึงความเป็นไปตอนเช้าวันที่ได้ไปนั้นบ้างว่า นายลีลี เจ้ากรมมหรสพ ได้ออกมาเยี่ยมราชทูตไทยยังที่พัก เมื่อเจ้าคุณราชทูตได้ทราบว่า ท่านอาจารย์ลีลีคนนี้เป็นผู้มีคุณวุฒิชำนิชำนาญในทางวิชาดนตรี และเป็นกวีในทางนิพนธ์บทเพลงบทละครโอเปราเป็นต้น ทั้งทราบว่า เป็นคนโปรดของสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ด้วย เจ้าคุณราชทูตจึงได้ต้อนรับท่านอาจารย์อย่างแข็งแรง ทั้งได้เชิญให้อยู่รับประทานอาหารด้วยกัน (ผู้แปลหนังสือเรื่องราชทูตไทยนี้เคยได้ยินผู้ใหญ่ซึ่งเป็นคนน่าเชื่อกล่าวกันหลายปากว่า บทสรรเสริญพระบารมี คือ เพลงชาติไทยซึ่งร้องกันทุกวันนี้ เป็นเพลงที่ท่านอาจารย์ลีลีได้ผูกไว้เป็นเพลงตามแบบดนตรีฝรั่ง โดยเอาบทเพลงไทยเก่าเป็นเค้ามูล แต่เสียดาย จนป่านนี้ยังหาหลักฐานประกอบคำว่า สืบ ๆ กันมา นี้ยังไม่ได้)

วันที่ข้าพเจ้าได้ทำหน้าที่เป็นเฒ่าแก่ไปสู่ขอธิดาของคุณพระเจนดุริยางค์นั้น หลังจากที่ได้กล่าวคำทักทายปราศรัยอย่างธรรมดาแล้ว สิ่งแรกข้าพเจ้าก็ได้ถามขึ้นทันทีว่า ท่านพอจะให้ความสว่างกับข้าพเจ้าถึงชื่อผู้แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยเราได้หรือไม่ ข้าพเจ้าได้เล่าให้ท่านฟังว่า หลังจากที่ได้อ่านข้อสันนิษฐานของภราเธอร์ฮีแลร์แล้ว ก็ยังไม่เห็นมีหลักฐานอะไรเพียงพอที่จะคิดว่า ท่านลีลีจะเป็นผู้แต่งเพลงนี้ เพราะเมื่อข้าพเจ้ายังเรียนวิชาวิศวกรรมศาสตร์อยู่สำนัก Battersea Polytechnic ที่กรุงลอนดอน ก็มีเพื่อนชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เอาใจใส่เกี่ยวกับการแต่งเพลงต่าง ๆ แล้วเขาเองก็ได้อุตส่าห์ไปค้นเรื่องราวเกี่ยวกับท่านลีลีผู้นี้ ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ท่านได้แต่งเพลงอะไรสำหรับประเทศไทย หรือได้แนะนำอะไรให้กับท่านราชทูตโกษาปานเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงขอถาม เผื่อคุณพระเจนดุริยางค์จะมีความรู้ความเห็นอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ขึ้นไป ซึ่งท่านก็ได้เล่าให้ฟังทันที เหมือนดังที่ท่านได้บันทึกไว้ในเรื่องความทรงจำของท่าน ซึ่งข้าพเจ้าจะไม่ขอนำมาพูด ณ ที่นี้ เพราะท่านที่ได้รับแจกหนังสือและกำลังอ่านเรื่องนี้ก็จะได้พบคำอธิบายของท่านจากปลายปากกาของคุณพระเจนดุริยางค์เอง ซึ่งย่อมจะดีกว่าคำของคนที่ได้รับฟังจากปากของท่านมานานแล้ว เพราะคนอื่นไหนจะสามารถจำได้ทุกถ้อยคำเหมือนกับตัวท่านเองได้เขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยมือของท่านเองเล่า?

เมื่อครั้งข้าพเจ้าเป็นเด็กนักเรียนอยู่ ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นเวลากว่าห้าสิบปีมาแล้ว เมื่อกำลังเรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนอนุสารสุนทรที่เชียงใหม่ พวกนักเรียนก็ได้รับการฝึกหัดร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีตามเนื้อเพลงซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงนิพนธ์ไว้ ดังเนื้อต่อไปนี้.-

ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าดรุณกุมารา โอนศิระวันทา
วรบทบงส์ ซร้องศรัพท์ถวายชัย ในนฤปทรง
พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล ชนนิกายะศุขสานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสิทธิ์ดัง
หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ฉะนี้

การที่เราร้องตามทำนองข้างบนนั้น ก็เพราะเหตุว่า พวกเราเป็นเด็กผู้ชาย ส่วนพวกนักเรียนผู้หญิงเล่าของเขาก็ร้องเฉียงออกไปอีกแบบหนึ่งว่า

“ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าดรุณกุมารี โอนศิระชุลี วรบทบงส์” และพอถึงตอนนี้แล้ว ต่อไปก็ร้องเข้ากัน โดยใช้ถ้อยคำอย่างเดียวกัน มีแต่ว่า พอถึงตอนนั้นนั้น พอลงด้วยคำว่า “ฉะนี้” ทุกคนก็ทำเสียงว่า “ชะนี” เสร็จแล้ว เขาก็พากันหัวเราะชอบใจ คล้าย ๆ กับว่า มีอะไรเป็นของแปลกที่อยู่ดี ๆ ก็เอาชื่อสัตว์ชะนีมาเรียกเล่นเป็นคำลงเอยเพลงสรรเสริญพระเจ้าแผ่นดินฉะนั้น ต่อมาภายหลัง จึงได้ทราบว่า นอกจากฉบับที่มีคำว่า เหล่าดรุณกุมาร หรือเหล่าดรุณกุมารี แล้ว ก็ยังมีอีกสำนวนหนึ่งซึ่งขึ้นต้นด้วยว่า “ข้าวรพุทธเจ้า เหล่ายุพยุพดี ยอกรชุลี วรบทบงส์” แต่ทั้ง ๆ ที่มีคำสั่งของท่านเจ้าพระยาพระเสด็จฯ เมื่อครั้งเป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ สั่งให้ใช้สำนวนที่มีคำว่า เหล่ายุพยุพดี ให้เป็นบทร้องทั่วไปและเสมอไปก็ตาม (ร.ศ. ๑๒๑) คือ เมื่อข้าพเจ้ายังไม่เกิด แต่ว่าเมื่อข้าพเจ้ามาหัดร้องกันนั้น ก็เป็น ร.ศ. ๑๓๑ เสียแล้ว ถึงกระนั้น ก็ไม่เคยได้ยินใครร้องตามบทยุพยุพดีเลย ทั้งนี้ จะเป็นเพราะตามถ้อยคำมุ่งหมายจะให้เป็นเรื่องเฉพาะของเด็กผู้ชายเด็กผู้หญิงซึ่งอยู่ในวัยเรียนเท่านั้น ส่วนผู้ใหญ่ ไม่ว่าชายหรือหญิง ซึ่งไม่ใช่ยุพะหรือยุพดี หรือกุมารกุมารี อะไรแล้ว ก็คงไม่มีอะไรจะร้อง ได้แต่ยืนมองดูพวกลูก ๆ หลาน ๆ ร้องเพลงกัน โดยตนเองอ้าปากผงับเปล่า ๆ เท่านั้นเองกระมัง แต่ความจริงนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์นี้ทรงเป็นศิลปินเอกอย่างยากที่จะหาตัวจับมิได้ในประเทศไทย พอที่จะเทียบได้ว่า เป็นศิลปินชั้นเดียวกันกับสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชเจ้า รัชกาลที่ ๒ ก็ว่าได้ เท่าที่ทราบมา เคยทรงแปลเพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ ที่เรียกว่า เพลง God save the King มาเป็นเพลง “จอมราชจงเจริญ” และเพลงนี้เป็นเพลงหนึ่งที่คุณดอกไม้สด ภรรยาของข้าพเจ้า ชอบร้องให้ข้าพเจ้าฟังบ่อย ๆ และคุณดอกไม้สดเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า พระปรีชาสามารถในทางแต่งดนตรีนั้นมีมากล้นเหลือหลาย เพียงแต่พระสหายของท่านที่ทรงเรียกว่า มาร์ควิส กล่าวคือ ท่านเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ท่านบิดาของดอกไม้สด เมื่อได้โดยเสด็จประพาศยุโรปของรัชกาลที่ ๕ ก็ดี หรือโดยเสด็จไปราชการกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ดี ทุกคราวที่ได้ไปชมและฟังมหาอุปรากร จุลอุปรากร หรือละครดนตรีอะไรเป็นที่ถูกอกถูกใจมาแล้ว ก็นำมาเล่าถวายให้สมเด็จศิลปินผู้มีงานล้นเหลือทางด้านการออกแบบและการก่อสร้างต่าง ๆ อันเป็นสิ่งที่เป็นหน้าเป็นตาเป็นศรีบ้านศรีเมืองทุกวันนี้แล้ว สมเด็จศิลปินนริศพระองค์นี้ก็ยังสามารถจะนำเอาแนวคิดแบบฝรั่งด้านอุปรากรมาดัดแปลงเข้ารูปเป็นไทย เรียกว่า ละครดึกดำบรรพ์ บ้าง และในกรณีที่ทรงมีเวลาน้อยเกี่ยวกับการรับรองเจ้านายหรือราชอาคันตุกะต่างประเทศแล้ว ก็ยังต้องทรงอำนวยการจัดคอนเสิร์ต (Concert) บรรเลงเพลงไทย ทรงนิพนธ์ทำนองของเพลงตับต่าง ๆ มาเป็นการช่วยเหลือท่านเจ้าพระยาเทเวศรขณะที่ว่าการกรมมหรสพอยู่ เป็นต้นว่า เมื่อเคานต์ ออฟ ทูริน Count of Turin เจ้าอิตาลี เสด็จมาเยี่ยมประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ พระองค์ท่านก็ได้ทรงพระนิพนธ์เพลงตับเรื่องรามเกียรติ์ชุดนางลอยขึ้น โดยอำนวยการฝึกซ้อมนักร้องนักดนตรีของกรมมหรสพสมทบกับคณะละครของเจ้าพระยาเทเวศรเอง ร่วมกันบรรเลง ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อมองซิเออร์ปอล ดูแมร์ ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน ได้มาเยี่ยมประเทศไทยในฐานะแขกเมือง สมเด็จเจ้าฟ้าศิลปินพระองค์นี้ก็ได้ทรงนิพนธ์ตอนศึกพรหมมาสตร์ในงานต้อนรับครั้งนั้น และในปีเดียวกันนั้น ตอนปลายปี ๒๔๔๒ เจ้าชายเฮนรี่แห่งปรุสเซียเสด็จมา ก็ได้ทรงนิพนธ์ตอนอินทรชิตแผลงศรนาคบาศแสดงด้วย ได้ทราบว่า ในงานรับรองชาวต่างประเทศในรัชกาลที่ ๕ เคยมีการร้องเพลงประกอบการแสดงรูปภาพตาโบล วีวอง (Tableau Vivant) เหมือนกัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงปรับปรุงเพลงต้นสำหรับบรรเลงในงานประเภทนี้ไว้รวม ๘ ชุดด้วยกัน คือ ๑) เรื่องพระเป็นเจ้า ๒) ราชาธิราช ๓) สามก๊ก ๓) นิทราชาคริช ๕) พระลอ ๖) นางซินเดอเรลลา ๗) ขอมดำดิน ๘) อุณรุท ซึ่งเป็นที่นิยมและยังนำมาใช้ขับร้องกันอยู่จนทุกวันนี้

เกี่ยวกับพระอัธยาศัยของสมเด็จศิลปินพระองค์นี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ฯพณฯ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เคยเล่าให้ข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องนี้ในเมื่อมีการสนทนาพาดพิงไปถึงพระองค์ท่านว่า ทุกครั้งทุกคราวที่ทรงมีเรื่องอัดอั้นตันพระทัย หรือทรงมีพระประสงค์จะคลายพระอารมณ์อันตึงเครียดอันเนื่องมาแต่สาเหตุใดก็ตามแล้ว เป็นต้องเสด็จเข้าห้องพิเศษใต้ถุนกระทรวงกลาโหม แล้วทรงบรรเลงระนาดเป็นเพลงต่าง ๆ จนกว่าจะทรงสบายพระทัย แล้วถึงจะเสด็จออกปฏิบัติราชการที่ยังรอพระวินิจฉัยต่อไป

สรุปแล้ว เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมีรูปเหล่านี้ คงจะไม่สู้แพร่หลายนักตามท้องถิ่นหัวเมือง หรือแม้แต่ในกรุง และนอกจากจะเป็นเพลงแตรวง ทหารบก ทหารเรือ บรรเลงเฉพาะทำนองเมื่อเวลาเสด็จออกหรือเสด็จขึ้นเท่านั้น เพราะเหตุว่า แม้แต่พระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าศิลปินอันเกี่ยวกับเพลงนี้ก็ยังมีอีกสองแบบ กล่าวคือ แบบหนึ่ง มักนิยมใช้ในกิจการด้านพลเรือน และอีกแบบหนึ่ง ในหมู่ทหาร บทสำหรับทั่วไปและพลเรือนนั้น มักทรงใช้บรรเลงตอนจบละครเรื่องสังข์ทองตอนเลือกคู่และตีคลี ซึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้

อ้าพระนฤปจง ทรงสิริวัฒนา
จงพระพุทธศา- สนฐีติยง
ราชรัฐจงจิรัง ทั้งบรมวงศ์
ทีรฆดำรง ทรงกรุณาประชาบาล
ราชธรรม ธ รักษา เป็นหิตานุหิตสาร
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง วรหฤทัย
ดุจถวายชัย ฉะนี้ ฯ

สำหรับทหาร ท่านทรงนิพนธ์ไว้ดังนี้

ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าวิริยพล
พลาสบสมัย กาละปิติกมล
ร่วมนรจำเรียงพรรค์ สรรดุริยพล
สฤษดิมณฑล ทำสดุดีแด่นฤบาล
ผลพระคุณะรักษา พลนิกายะศุขสานต์
ขอบันดาล พระประสงค์ใด
จงสฤษดิดัง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ฉะนี้ฯ

เนื้อพระนิพนธ์ทั้งสองเนื้อนี้นับว่า เป็นเนื้อที่ศิลปินคงแก่เรียนเท่านั้นจะแต่งได้หรือจะเข้าใจได้ดี เพราะตามรูปไม่ใช่เป็นแบบที่เราเรียกกันว่า แบบป๊อบปูล่า กว่าจะร้องกันได้ จะต้องท่องกันเป็นบทอาขยานหรืออะไรทำนองนั้นไป แต่แล้วก็มีศิลปินพระองค์ใหม่ กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรับพระราชภาระจากสมเด็จพระบรมชนกนาถในอันที่จะสร้างความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาขึ้นในประชากรไทย โดยยึดเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสาม คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มารวมกันเข้าให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงพระราชนิพนธ์เพลงปลุกใจประชาชนไว้หลายเพลง และเพื่อจะให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าทุกแห่งหนทุกรูปทุกวัยสามารถจะร่วมกันเปล่งเสียงสามัคคีออกมาเป็นการสดุดีพระราชาผู้เป็นธงชัยของรัฐได้อย่างเต็มปากเต็มคอ จึงทรงแก้ไขถ้อยคำในเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับที่ใช้ร้องตามโรงเรียน โดยเปลี่ยนถ้อยคำในวรรคต้น ๆ เสีย ๕ วรรค และเปลี่ยนถ้อยคำสำหรับวรรคปลาย ๆ ๒–๓ คำ และเลิกใช้คำ “ฉะนี้” อันเป็นคำลงท้ายซึ่งทำให้เกิดการสรวลเสเฮฮา แล้วแทนด้วยคำว่า “ชโย” ซึ่งเป็นคำใหม่อีกคำหนึ่ง สรรเสริญพระบารมีบรรเลงจึงมีเนื้อใหม่ดังที่เราท่านรู้จักกันว่า

ข้าวรพุทธเจ้า เอามะโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บุญญะดิเรก
เอกบรมะจักริน พระสยามินทร์
พระยศะยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขสานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดัง
หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ชโย ฯ

นอกจากเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว ก็ยังมีปัญหาผู้แต่งทำนองเพลงนี้ ซึ่งในบันทึกของคุณพระเจนดุริยางค์มีไว้ว่า ชื่อ ฮุดสัน (Hoodson), หรือฮันสัน (Hudson) แต่เรื่องนี้ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงเล่าถึงเรื่องนี้ว่า “พอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นเสวยราชย์ได้สองปีแล้ว เสด็จประพาสเกาะชวา ได้ทรงว่าจ้างครูแตรชื่อ ฮอยท์เซน Heutsen ชาวโปรตุเกสมาจากเมืองปัตตาเวียอีกคนหนึ่ง และโปรดฯ ให้ร่วมกันคิดเพลงสรรเสริญไทยขึ้น ฉะนั้น ชื่อ Hoodson กับ Hudson หรือ Heutsen ทั้งสามชื่อที่อ้างมานี้ จะสะกดถูกต้องหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความจำของแต่ละบุคคล แต่ทว่า จะให้สันนิษฐานแล้ว ชื่อ Heutsen ซึ่งฟังก็เป็นภาษาคล้าย ๆ ฮอลันดา และหากว่ายิ่งมาจากปัตตาเวียแล้ว ก็น่าจะเป็นชื่อฮอลันดา ส่วนที่ท่านหญิงบอกว่า เป็นชาวโปรตุเกสนั้น ก็อาจเป็นลูกหลานชาวโปรตุเกสที่มาตั้งรกรากอยู่ที่ชะวา และได้เปลี่ยนแปลงชื่อของตนให้เข้ากับอักขรวิธีฮอลันดาก็เป็นได้

ฉะนั้น ตามที่ภราเธอร์ฮีแลร์พยายามที่จะสืบสาวความหลังไปถึงท่านลีลีสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ นั้น ก็คงจะเป็นเรื่องที่ไกลจากเหตุการณ์สักหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าผู้ที่ได้แต่ฟังเขาแล้วไม่รู้จักใช้ความคิดเห็นของตนเอง

หลังจากไปติดต่อสู่ขอคุณประทุมให้คุณจันทรคุปต์แล้ว ข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสพบกับคุณพระเจนดุริยางค์หลายครั้งหลายหน ก็มีความรู้สึกว่า คุณพระเจนดุริยางค์ผู้นี้ก็คงเหมือนกับศิลปินทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ จะมีความสุขจนถึงสุดขีดก็ต่อเมื่อตนกำลังทำหรือเพ่งพินิจคิดแต่ในสิ่งที่เป็นของรักของโปรด เช่น ช่างเขียนก็มีความสุขขณะที่ป้ายสีระบายสีออกมาเป็นรูปภาพชั้นอมตะ นักแต่งหนังสือก็เมื่อตนมองเห็นภาพทะลุปรุโปร่งถึงนวนิยายที่นึกจะขีดจะเขียนออกมา ส่วนคุณพระเจนฯ เล่า ความสุขก็มีเมื่อเป็นนายวงดนตรี แกว่งคธาให้จังหวะจะโคนในกลุ่มนักดนตรีที่สามารถจะบรรเลงให้ถูกกับความประสงค์ของวาทยากร แต่เมื่อได้รับคำสั่งให้มาทำหน้าที่ปกครองดูแล ตลอดจนเป็นผู้เก็บสะสมสัมภาระอะไรแล้ว ท่านก็คงรู้สึกอึดอัดคับอกคับใจ ขออะไรก็ไม่ได้ ทำอะไรก็มีระเบียบมาขัดขวางยึดรั้งคอยเหนี่ยวคอยหน่วงให้ชักช้า เสนอเงินเดือนให้ลูกน้องก็ไม่ได้ผลอะไรต่าง ๆ จำพวกนี้ จึงทำให้ชีวิตของคุณพระเจนฯ มีทั้งสุขมีทั้งทุกข์ บางครั้งก็ปลื้มแสนปลื้มในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างในการบรรเลงเป็นไปตามความปรารถนา แต่บางครั้งก็คงรู้สึกทุเรศสิ้นดีในเมื่อจะหาเงินมาซ่อมเครื่องดนตรีที่ชำรุดก็ไม่ได้ ครั้งหนึ่งหลังจากที่คุณพระได้นำวงดนตรีไปแสดงที่ราชกรีฑาสโมสรและได้รับความชมเชยจากผู้ฟังซึ่งโดยมากเป็นชาวต่างประเทศว่า นักดนตรีไทยก็มีความสามารถมากในการบรรเลงเพลงฝรั่งซึ่งมีความแตกต่างกับดนตรีไทยเป็นอย่างมาก ผู้ที่ได้รับความชมเชยก็คือตัวคุณพระเองที่สามารถเป็นพิเศษที่รวบรวมศิลปินเหล่านี้ให้ยังคงอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนมากพอที่จะเล่นซิมโฟนีคอนเสิร์ตได้ แต่พอชาวต่างประเทศเหล่านั้นถามคุณพระต่อไปว่า ศิลปินเหล่านี้มีรายได้หรือผลประโยชน์ประการใดบ้าง คุณพระท่านได้ตอบไปด้วยความเศร้าใจว่า นักดนตรีของท่านนั้นส่วนมากมีเงินเดือนตั้งแต่ ๒๕ บาทขึ้นไปจนถึง ๘๐ บาท พอพูดเท่านั้น ฝรั่งคนที่ถามถึงกับตบอกผาง ๆ ร้องว่า “อะไร้ท่าน เดือนละ ๒๐–๓๐ บาทจะอยู่ได้อย่างไรกัน แม้แต่ฉันเองเลี้ยงสุนัขอัลเซเชี่ยนที่บ้านยังต้องเสียเงินมากกว่านี้เป็นหลายเท่า” เมื่อเขาพูดอย่างนี้ คุณพระเจนฯ ท่านก็ไม่มีอะไรจะพูดนอกจากบอกฝรั่งคนนั้นว่า การที่เขาเหล่านี้ยังอุตส่าห์อดทนอยู่กับท่าน ไม่ละทิ้ง ก็จำเพาะเป็นคนรักศิลปจริง ๆ เท่านั้น มิฉะนั้น ก็คงหาช่องหลบหนีละทิ้งอาชีพด้านนี้ไปนานแล้ ส่วนบางคน ทั้ง ๆ ที่มีงานทำตลอดวันเกี่ยวกับการฝึกการซ้อม ยังต้องใช้เวลากลางคืนไปหาเศษหาเลยกับพวกลงดนตรีเต้นรำ เพื่อจะได้เงินเพิ่มพิเศษมาสำหรับใช้ในการยังชีพ มิให้ลูกเมียถึงกับอดอยาก

นี่แหละ ชีวิตของศิลปิน สุขก็มี ทุกข์ก็มาก แต่ถึงกระนั้น คุณพระเจนดุริยางค์ท่านก็ไม่ท้อถอย ไม่ปล่อยให้ความผิดหวังหรือความคับแค้นมาทำให้ท่านเกิดท้อถอยเลิกคิดเลิกเอาใจใส่กับการดนตรี บางครั้งบางคราว ข้าพเจ้าเชื่อว่า ท่านคงอดหวลเก็บเอาคำตักเตือนของบิดาของท่านผู้เป็นศิลปินเหมือนกันที่เคยห้ามลูกหลานอย่างเด็ดขาดมิให้ยึดเอาการดนตรีเป็นอาชีพเสียเลย แต่นั่นแหละ เรื่องของศิลปนั้นเป็นเรื่องที่เศร้ามากกว่าสนุกสนาน ถ้าเราคิดถึงนักแต่งเพลงมีชื่อ อย่างบิเซต์ก็ดี โชแปงก็ดี เบโทเวนก็ดี แต่ละคนนั้นยากที่จะพูดได้ว่า มีความสุข บางคนนั้น ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ จะหาคนมายกย่องงานของตนก็ไม่มี ชีวิตเต็มไปด้วยความอด ๆ อยาก ๆ ชอกช้ำระกำช้ำใจ เวลาเล่นมหาอุปรากรของตน ก็มีแต่คนแสดงความทุเรศไม่แยแส แต่พอผู้ประสาสน์ศิลปอันเป็นอมตะสิ้นบุญสิ้นชีวิตไปแล้ว มหาชนกลับมาแซร่ซร้องสรรเสริญประหนึ่งว่า จะเป็นการเยาะเย้ยของชะตากรรมก็ว่าได้

อย่างไรก็ดี เห็นจะเป็นด้วยผลของกุศลกรรมที่คุณพระได้บำเพ็ญไว้ด้วยความเมตตาต่อลูกน้องป้องปลาย ที่ท่านมีแต่พรหมวิหารทั้ง ๔ ต่อเขา และความโอบอ้อมอารีของท่านที่ไม่ขัดใครเมื่อใครขอร้องให้ท่านช่วยเหลือในกิจการดนตรีต่าง ๆ อันธรรมดา ความดีนั้น พระท่านก็ว่า เป็นของตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า บางครั้งบางคราว ชะตาของท่านทำท่าจะตกอับ ก็มักมีผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่เข้าช่วยเหลือ จะโดยวิถีญานใดก็ตาม เช่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงแก้ปัญหาร้ายให้กลายเป็นดีต่อคุณพระเจนดุริยางค์มาแล้วครั้งหนึ่ง ดังที่จะเห็นจากบันทึกของคุณพระเอง หลังจากนั้นมา ไม่ว่าในวงราชการแห่งใดที่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการดนตรี และขอความช่วยเหลือร่วมมือมาแล้ว คุณพระเจนฯ ก็ไม่เคยตอบปัด ๆ หรือปฏิเสธไปเลย ไม่ว่าจะเป็นกรมตำรวจหรือกองทัพอากาศสมัยที่เริ่มคิดมีวงดนตรีของตนเอง คุณพระเจนฯ ก็ไม่ได้เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย ทุ่มกำลังกายกำลังใจให้ความร่วมมืออย่างสุดกำลัง ฉะนั้น ไม่ว่าใครในวงนักดนตรีจะเว้นไม่เรียกท่านว่า คุณป๋า เป็นไม่มี งานพิเศษที่ท่านทำ เช่น ช่วยเหลือทางราชการจัดการบันทึกเพลงไทยโดยใช้โน้ตสากลตั้งแต่สมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ตลอดมาจนถึงงานพิเศษต่าง ๆ อันเกี่ยวกับการดนตรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระประมุขของชาติพระองค์ปัจจุบัน ได้ทรงใส่พระทัยที่จะฟื้นฟูศิลปทางดนตรีของไทย พระองค์ท่านก็ได้รับความร่วมมือรับใช้อย่างไม่มีการอิดเอื้อนใด ๆ ทั้งสิ้น บรรพบุรุษของคุณพระเจนฯ ซึ่งเป็นคนต่างด้าว ได้รับใช้เจ้านายในพระบรมราชจักรีวงศ์อย่างใด คุณพระเจนฯ ซึ่งเป็นคนไทยโดยกำเนิดและโดยทางจิตใจ ก็ยิ่งทุ่มโถมกำลังปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นศิลปิน ในฐานะที่เป็นผู้คงแก่เรียน และในฐานผู้จงรักภักดี ได้กระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์เกี่ยวกับการบำเพ็ญพระราชกุศลประทานต่อคุณพระเจนดุริยางค์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ยังให้เกิดความปิติโสมนัสซาบซึ้งในบรรดาครอบครัวและในวงศ์ญาติมิตรลูกศิษย์ลูกหาของคุณพระเจนฯ ต่างก็สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และรู้สึกซาบซึ้งในบรมโพธิสมภารอันแผ่ไพศาลไปยังพสกนิกรของพระองค์ สุดที่จะนำมาพรรณนาให้สมกับความรู้สึกของผู้ที่ใกล้ชิดคุณพระเจนฯ ในครั้งนี้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่า คุณงามความดีที่คุณพระเจนดุริยางค์ได้บำเพ็ญไว้ ซึ่งเป็นสัมมาอาชีวะ สัมมากัมมันต์ และสัมมาวายามะ เหล่านี้ ย่อมจะเป็นกุศลกรรมนำให้ท่านได้ไปสู้สุขคติภูมิอย่างไม่มีปัญหา เพราะเหตุว่า ตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาก็มีอยู่ไว้ชัดแล้วว่า ผู้อื่นจะทำให้ตนบริสุทธิ์มิได้ ตนเองนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตนเอง และการทำสิ่งใดไป ย่อมมีผลสนองเสมอไป ฉะนั้น จึงไม่เป็นการที่น่าวิตกอะไรสำหรับท่านที่ได้ล่วงลับไปแล้ว เพราะเราสรุปได้ว่า ท่านก็มาดี และถึงคราวไปก็ไปดี ส่วนพวกเราที่ยังเหลืออยู่ในโลกนี้ อุทาหรณ์อันดีที่คุณพระเจนดุริยางค์ได้บำเพ็ญกรณีของท่านมาอย่างเต็มเปี่ยมคงจะเป็นกำลังใจให้พลังอันเข้มแข็งแก่พวกเราทั้งหลายในการที่จะบำเพ็ญตนให้ถูกต้องตามธรรมะของพระพุทธองค์ และในการที่จะรับใช้ประเทศชาติจนสุดกำลังความสามารถของเรา ยิ่งขณะนี้ ซึ่งน่าจะถือได้ว่า เป็นยามหน้าสิ่วหน้าขวาน อริราชศัตรูนอกประเทศและศัตรูภายในประเทศกำลังจะหาทางทำลายความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาของประเทศไทยอยู่ตลอดเวลา พวกเราจึงควรจะบำเพ็ญตนในอันที่จะรักษาความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาของชาติด้วยกุศลกรรมอันเป็นผลมาจากคำสอนที่ว่า อย่างไรก็ดี เราจะต้องทำเลวให้น้อยที่สุด แล้วก็สร้างความดีให้มากที่สุด ประกอบกับชำระจิตใจของตนมิให้หม่นหมอง เพราะการกระทำทั้งสามอย่างนี้เป็นคำสั่งสอนพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ และของศาสดาอื่น ๆ ก็ไม่ผิดแผกนอกเหนือไปจากนี้

  • ๒๐ มกราคม ๒๕๑๒

  1. หนังสือชุดนี้ ในห้องสมุดส่วนตัวของข้าพเจ้าก็มี แต่กว่าจะหาพบและหามาได้ ก็ใช้เวลาร่วมสามสิบปีก็ว่าได้