ตำนานการเกณฑ์ทหาร
การเกณฑ์คนเปนทหารเห็นจะมีเปนประเพณีมาแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะธรรมดามนุษย์ไม่เลือกว่าชาติใดภาษาใด ถ้ารวมกันมีอาณาเขตรอยู่เปนอิศระแล้วก็จำต้องมีกำลังสำหรับต่อสู้สัตรู หาไม่ก็ไม่พ้นที่จะถูกมนุษย์จำพวกอื่นแย่งชิงอาณาเขตร ฤๅกดขี่บีบคั้นเอาไว้ในอำนาจมิได้เปนอิศระ ด้วยเหตุนั้นการเกณฑ์ทหารเปนพนักงานสำหรับต่อสู้สัตรูจึงเปนการจำเปนของมนุษยซึ่งอยากมีอิศระทุกชาติด้วยกัน ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ แลยังจะต้องมีต่อไปภายน่าไม่แลเห็นว่าจะมีที่สุด ถึงว่านา ๆ ประเทศได้คิดตั้งสันนิบาตชาติเพื่อป้องกันมิให้เกิดสงครามก็ดี ฤๅคิดปฤกษาหาทางเลิกรบพุ่งด้วยการจำกัดเครื่องรบก็ดี ก็จะได้แต่เพียงลดจำนวนทหารมิให้มากมายเหมือนแต่ก่อน แต่ที่จะเลิกทหารทีเดียวนั้นหาได้ไม่
ก็แลการเกณฑ์ทหารนั้น ไม่ว่าวิธีของชาติใด ฤๅเปนวิธีเกณฑ์ในสมัยใด ถ้าว่าโดยเค้ามูลก็เปนอย่างเดียวกันทั้งนั้น คือเลือกสรรเอาคนหนุ่มฉกรรจ์อันเปนเวลามีกำลังมากมาเปนทหารประการ ๑ จัดการควบคุมให้เรียกออกรบพุ่งพรักพร้อมกันได้โดยเร็วประการ๑ ฝึกหัดลัทธิให้เข้มแขงในการรบประการ ๑ แต่กระบวรที่จัดการเหล่านี้ต่างประเทศจัดต่างกัน ตามความสามารถแลเหตุการณ์ในพงศาวดารประเทศนั้น ๆ ที่มนุษย์ชาวดงบางชาติกำหนดให้บรรดาชายทั้งปวง เปนแต่พนักงานสำหรับรบพุ่ง ให้ผู้หญิงเปนพนักงานประกอบกิจการหาเลี้ยงผู้ชายดังนี้ก็เปนวิธีเกณฑ์ทหารอย่าง ๑ ฝ่ายประเทศที่เจริญอาริยภาพก็ใช้วิธีเกณฑ์เปนอย่างอื่นตามสมควรแก่ความเจริญของบ้านเมือง ดังเช่นจำกัดเวลาให้ชายฉกรรจ์ต้องเปนทหารแต่เพียงระยะอันหนึ่งแล้วปลดปล่อยให้พ้นน่าที่บางชาติอาจจะหาคนรับจ้างเปนทหารได้พอต้องการ ก็เกณฑ์เก็บเงินจากพลเมืองมาจ้างชายฉกรรจ์แต่ที่มีใจสมัคเอามาเปนทหาร แต่ในหนังสือนี้มิได้มีประสงค์จะกล่าวถึงลักษณเกณฑ์ทหารประเทศอื่น จะอธิบายเฉภาะวิธีเกณฑ์ทหารไทยในสยามประเทศของเรานี้ แต่จำต้องบอกไว้เสียก่อน ว่าหนังสือเก่าซึ่งจะได้อธิบายถึงวิธีการเกณฑ์ทหารไทยแต่โบราณไว้โดยชัดเจนนั้นหามีไม่แต่เค้าเงื่อนมีปรากฏอยู่ในที่ต่าง ๆ คือในหนังสือพงศาวดารบ้างในกฎหมายแลทำเนียบบ้าง ข้าพเจ้าตรวจเก็บเอามาประกอบกับความสันนิฐานแต่งหนังสือเรื่องนี้ขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะฉนั้นความที่อธิบายต่อไปอาจจะผิดพลั้งมิมากก็น้อย ขอให้ท่านทั้งหลายที่อ่านหนังสือนี้จงใส่ใจไว้ด้วย
ว่าด้วยต้นเหตุการเกณฑ์ทหารไทยแต่โบราณ
แก้ไขลักษณการเกณฑ์ทหารไทยแต่โบราณ สังเกตตามเค้าเงื่อนที่มีปรากฏอยู่ หลักของวิธีเกณฑ์บังคับบันดาไทยที่เปนชายฉกรรจ์ให้เปนทหารทุกคนมาแต่ดั้งเดิม การเปลี่ยนแปลงในวิธีเกณฑ์ทหารซึ่งปรากฏมาในพงศาวดาร เปนแต่แก้ไขส่วนพลความเปนครั้งเปนคราว หันหาความสดวกในเวลาที่บ้านเมืองมีเหตุการณ์ต่างกัน ส่วนหลักของวิธีเกณฑ์ยังคงอยู่ทุกเมื่อ ส่วนลักษณวิธีการควบคุมทหารไทยนั้น ดูเหมือนชั้นเดิมจะเอาสกุลวงศ์เปนหลัก เปนต้นว่าถ้าหัวน่าสกุลสังกัดเปนทหารหมู่ไหน ลูกหลานของผู้นั้นที่มีต่อมาก็สังกัดอยู่ในหมู่นั้นตามกัน วิธีควบคุมโดยกำหนดเอาท้องที่ ๆ ตัวคนอยู่เปนหลักของการควบคุม เปนวิธีเกิดขึ้นต่อชั้นหลัง เหตุใดไทยเราจึงใช้วิธีเกณฑ์แลควบคุมทหารแต่โบราณเช่นกล่าวมาดูเหมือนพอจะพิจารณาเห็นได้โดยเรื่องพงศาวดารของไทย เพราะฉนั้นจะนำเรื่องพงศาวดารมาอธิบายพอให้เห็นเค้าความประกอบกับวิธีการทหารเปนชั้น ๆ ไป
๑) ว่าด้วยพงศาวดารตอนไทยมาจากเมืองเดิม
แก้ไขแดนดินที่เปนสยามประเทศนี้ เดิมทีเดียวได้เปนที่อยู่ของชน ๓ ชาติ ซึ่งพูดภาษาคล้ายคลึงกัน คือพวกขอม (ซึ่งเรียกกันบัดนี้ว่าเขมร) อยู่ข้างใต้ตอนแผ่นดินต่ำในลุมแม่น้ำโขง ที่เปนแดนกรุงกัมพูชาเดี๋ยวนี้ชาติ ๑ พวกลาว ( คือชนชาติที่เรียกกันในปัจจุบันนี้ว่าละว้า) อยู่ตอนกลาง คือในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ ตลอดไปทางตวันออกจนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนแผ่นดินสูง ( คือมณฑลนครราชสิมาและมณฑลอุดรร้อยเอ็จอุบลบัดนี้ ) ชาติ ๑ พวกมอญอยู่ทางตวันตกเฉียงเหนือตอนลุ่มแม่น้ำสลวิน ตลอดไปจนถึงลุ่มแม่น้ำเอราวดีข้างตอนใต้ ที่เปนแดนประเทศพม่าบัดนี้ชาติ ๑ แดนดินที่กล่าวมานี้ชาวอินเดียแต่โบราณเรียกกันว่า "สุวรรณภูมิ" เพราะเหตุเปนที่มีบ่อทอง อยู่มาเมื่อราว พ.ศ. ๓๐๐ มีชาวอินเดียครั้งถือพระพุทธศาสนาพากันมาตั้งภูมิลำเนาในสุวรรณภูมินี้ พวก ๑ มาขึ้นที่แดนมอญแล้วหาที่ตั้งภูมิลำเนาเปนลำดับมาจนในแดนลาว (ถึงท้องที่ซึ่งเปนมณฑลราชบุรีแลมณฑลนครไชยศรีบัดนี้ ) อิกพวก ๑ แล่นเรืออ้อมแหลมมลายูไปตั้งภูมิลำเนาในประเทศจาม ซึ่งเปนเมืองญวนเดี๋ยวนี้ ในสมัยนั้นประเทศอินเดียได้ถึงความเจริญรุ่งเรืองมาแล้วช้านาน พวกชาวอินเดียที่มาตั้งภูมิลำเนาในประเทศนี้ รอบรู้วิชาต่างๆ ยิ่งกว่าพวกพวกแลลาวมอญซึ่งเปนชาวเมืองเดิม ก็สามารถแสดงคุณวิเศษให้พวกชาวเมืองนิยมนับถือจนยกย่องยอมให้เปนครูบาอาจารย์ พระพุทธศาสนาจึงได้มาประดิษฐานในประเทศนี้ ยังมีเจดีย์สถาน คือพระปฐมเจดีย์เปนต้น อันเปนของเกิดขึ้นในชั้นนั้นปรากฏอยู่หลายแห่ง ต่อมาอิกประมาณ ๔๐๐ ปี มีชาวอินเดียมาตั้งภูมิลำเนาทางปากน้ำโขงในแดนขอมอิกพวก ๑ พวกที่มาทีหลังนี้ถือศาสนาพราหมณ์มาได้เปนภัศดาของนางพระยาเมืองขอม เปนเหตุให้ราชวงศ์ขอมกลายเปนเชื้อชาติชาวอินเดีย แต่นั้นก็บังคับให้พวกขอมรับประพฤติลัทธิศาสนาและประเพณีตามคติพราหมณ์ปนกับพระพุทธศาสนาซึ่งพวกชาวอินเดียที่มาก่อนได้มาสอนให้นับถือกันแพร่หลายแล้วนั้น การถือพระพุทธศาสนากับไสยศาสตรจึงปะปนกันแต่นั้นมา เมื่อพวกชาวอินเดียอันฉลาดรอบรู้วิชาการต่างๆ ดีกว่าพวกชาวเมืองเดิมดังกล่าวมาแล้วได้ปกครองเมืองขอม ก็สามารถจะแผ่อำนาจเหนือชนชาติอื่นขยายอาณาเขตรขอมต่อออกไปโดยลำดับ จนได้ดินแดนของพวกลาวทั้งที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแลในลุ่มแม่น้ำโขงเปนอาณาเขตรขอม พวกลาวต้องตกอยู่ในอำนาจขอมหลายร้อยปี ตลอดสมัยนี้พวกขอมพากันเข้ามาตั้งบ้านอยู่ในแดนลาว ยังมีเทวสถานฤๅที่เรียกกันเปนสามัญว่าปรางบ้างกู่บ้าง ซึงพวกขอมสร้างไว้ด้วยศิลา ตามท้องที่ที่ได้ตั้งเมืองปรากฏอยู่จนบัดนี้หลายแห่ง ที่เปนเมืองใหญ่เทวสถานก็สร้างเปนขนาดใหญ่ เมืองน้อยก็สร้างเปนขนาดย่อม ข้อนี้เปนเค้าเงื่อนให้รู้ลักษณการที่พวกขอมปกครองแดนลาวในสมัยนั้นได้อย่าง ๑ คือที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ ตั้งเมืองลพบุรีเปนเมืองหลวงปกครองเขตรแดนข้างตอนใต้เปนมณฑล ๑ เรียกกันว่าแดนละโว้ เหนือขึ้นไปตั้งเมืองศุโขไทยปกครองเขตรแดนข้างตอนเหนืออิกมณฑล ๑ เรียกกันว่าแดนสยามทางแดนลาวในลุ่มแม่น้ำโขงมีจำนวนเมืองที่พวกขอมขึ้นมาตั้งมากกว่าในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ สังเกตตามขนาดเทวสถานที่ยังปรากฏ อยู่ดูเหมือนจะจัดการปกครองเปน ๒ มณฑล คือมณฑลทางตวันตกตั้ง เมืองพิมายเปนเมืองหลวงมณฑล ๑ มณฑลทางตวันออกตั้งเมืองสกลนครเปนเมืองหลวงมณฑล๑ อาณาเขตรที่พวกขอมมาตั้งปกครองเองนั้นในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีเทวสถานขอมปรากฏเพียงเมืองชะเลียง ( คือเมืองสวรรคโลก ) เปนเหนือที่สุด ในลุ่มแม่น้ำโขงนั้นได้ยินว่ามีเทวสถานขอมปรากฏอยู่เพียง เมืองเวียงจันทร์เปนที่สุดข้างฝ่ายเหนือแต่เขตรแดนของพวกขอมในสมัยเมื่อมีอำนาจมากยังต่อขึ้นไปทางฝ่ายเหนือ ตลอดมณฑลภาคพายัพแลแดนเมืองหลวงพระบางบัดนี้ จนข้ามไปถึงฝั่งแม่น้ำโขงฟากโน้น เหตุใดจึงมิได้มีเทวสถานของขอมปรากฏอยู่ ข้อนี้สันนิฐานว่าเห็นจะเปนแต่เมืองที่พวกลาวยอมเสียส่วยต่อขอม พวกขอมหาได้ไปตั้งปกครองเองไม่ ความสันนิฐานข้อนี้ก็สมด้วยเรื่องพงศาวดารที่ปรากฏมา ว่าพระยาขอมเมืองละโว้ (ลพบุรี) ให้นางจามเทวีราชธิดาขึ้นไปครองเมืองหริภุญไชย (เมืองลำพูน ) เห็นได้ว่าเปนวิธีการที่พวกขอม ขยายอำนาจเอาเมืองส่วยเปนเมืองปกครองเองต่อออกไป แต่เรื่องนางจามเทวีเปนการชั้นหลัง นางจามเทวีขึ้นไปเมื่ออำนาจขอมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจวนจะเสื่อมอยู่แล้วพวกขอมขยายการปกครองขึ้นไปได้ถึงเมืองหริภุญไชยไม่ช้านานเท่าใดพระเจ้าอนุรุธมหาราช ฤๅเรียกอิกอย่างหนึ่งว่าพระเจ้าอโนรธามังช่อซึ่งครองเมืองพุกามในประเทศพม่าก็ปราบปรามเมืองมอญไว้ได้ในอำนาจ แล้วยกกองทัพมาตีเมืองลาว ปราบปรามทั้งพวกขอมแลลาวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ในอำนาจพม่าประมาณร้อยปี พออำนาจพม่าอ่อนลงก็ถึงสมัยซึ่งชนชาติไทยลงมาเปนใหญ่ในประเทศนี้
ชนชาติไทยนั้นแต่เดิมตั้งบ้านเมืองอยู่ในประเทศที่เปนแดนจีนข้างฝ่ายใต้บัดนี้ คือมณฑลที่เรียกกันว่าฮุนหนำ กุยจิ๋ว กวางใส กวางตุ้ง ๔ มณฑล นี้เปนบ้านเมืองเดิมของไทย ปกครองกันอยู่เปนอิศระหลายพวกหลายเหล่า (แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีไทยพูดภาษาเดียวกับเราอยู่ใน ๔มณฑลนั้นเปนอันมาก ) ครั้นจีนมีอำนาจขึ้นก็ค่อยรุกแดนไทยมาโดยอันดับ ความที่กล่าวในเรื่องสามก๊กว่าขงเบ้งทำสงครามปราบปรามพวกฮวนนั้น ที่แท้ ก็คือการที่จีนรุกแดนไทยนั้นเอง เมื่อไทยถูกจีนรุกรานเดือดร้อน พวกที่ไม่อยากอยู่ในอำานจจีนจึงพากันอพยพมาหาบ้านเมืองอยู่ใหม่ตั้งแต่เมื่อราว พ.ศ. ๘๐๐ มาหาที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ทางทิศตวันตกได้หลายแห่ง เมื่อความนั้นปรากฏก็มีพวกไทยทิ้งเมืองเดิมติดตามกันเรื่อยมาพวก ๑ ไปรวบรวมกันตั้งบ้านเมืองเปนภูมิลำเนาอยู่ในมี่ลุ่มแม่น้ำสลวิน พวกนี้ต่อมาได้นามว่า "ไทยใหญ่ " ฤๅที่เรียกอิกอย่างหนึ่งว่าเงี้ยวในบัดนี้ อิกพวก ๑ อพยพแยกลงมาทางทิศใต้ มาตั้งบ้านเรือนเปนภูมิลำเนาอยู่ตอนลุ่มแม่น้ำโขง พวกนี้ได้นามว่า " ไทยน้อย " คือไทยพวกเรานี้แล ไทย ๒ พวกที่กล่าวมานี้ต่างมีเจ้านายเปนชาติไทยด้วยกันเองปกครองแยกกันเปนหลายอาณาจักรเมืองที่พวกไทยใหญ่ไปตั้งทางลุ่มแม่น้ำสลวินได้นามสืบมาว่า " สิบเก้าเจ้าฟ้า " ส่วนเมืองที่พวกไทยน้อยมาตั้งทางทิศใต้ได้นามว่า " สิบสองเจ้าไทย " (เรียกกันเปนสามัญตามสำเนียงชาวเมืองว่าสิบสองจุไทยอยู่เหนือเมืองหลวงพระบางเดี๋ยวนี้ ) ตอนต่อไปทางตวันตกได้นามว่า "สิบสองปันนา " (คือเมืองเชียงรุ้งเปนต้น ) อาณาจักรไทยทั้งปวงนี้เปนอิศระแก่กันบ้าง เปนสัมพันธมิตรบ้านพี่เมืองน้องเกี่ยวเนื่องกันบ้างเปนไปตามเวลาที่ผู้เปนใหญ่ในอาณาเขตรนั้นๆ มีอภินิหารมากแลน้อยหาได้ปกครองรวบรวมกันเปนประเทศใหญ่ยั่งยืนไม่ อยู่มาจนประมาณพ.ศ. ๑๔๐๐ พวกไทยน้อยที่ตั้งอยู่ในแว่นแคว้นสิบสองเจ้าไทยมีคนสำคัญเปนเจ้าเมืองแถง เรียกกันว่า "ขุนบรม " สามารถชักนำพวกไทยน้อยให้ขยายอาณาเขตรรุกแดนขอมลงมาข้างใต้ ได้เขตรแดนข้ามแม่น้ำโขงมาทางฝั่งขวา แต่นั้นพวกไทยน้อยก็พากันขยายภูมิลำเนาต่อลงมา จึงเกิดเปนแดนไทยขึ้นทางริมแม่น้ำโขงอิก ๒ มณฑล ทางตวันออกได้ชื่อว่าแดน "ลานช้าง " เพราะมีช้างชุมหาช้างใช้เปนพาหนะได้ง่าย มณฑลทางตวันตกเรียกว่าแดน "ลานนา " เพราะมีที่ราบ สำหรับทำไร่นามาก ตั้งเมืองเซ่า (คือเมืองหลวงพระบางเดี๋ยวนี้ ) เปนเมืองหลวงในแดนลานช้าง ส่วนแดนลานนานั้นเดิมตั้งเมืองไชย (เรียกตามสำเนียงในพื้นเมืองไจ) เปนเมืองหลวงแล้วจึงสร้างเมืองเชียงแสนเปนเมืองหลวงในแดนลานนาต่อมา เมื่อไทยลงมาตั้งใน ๒มณฑลนั้น พวกขอมพยายามขึ้นไปขับไล่ ต้องรบพุ่งกันอยู่ช้านานจึงได้มณฑลทั้ง ๒ นั้นเปนสิทธิ์แก่ไทย
เรื่องพงษาวดารในตอนนี้ส่อให้เห็นว่า เหตุใดไทยจึงใช้ประเพณีบังคับบรรดาชายไทยให้เปนทหาร แลเหตุใดจึงใช้สกุลวงศ์เปนหลักของการควบคุมทหาร เหตุเพราะไทยขยายเขตรแดนลงมาครั้งนั้นความมุ่งหมายจะมาตั้งภูมิลำเนาเอาเปนที่อยู่ มิใช่จะตั้งหน้ามาเที่ยวปล้นทรัพย์จับเชลยไปใช้สอยเหมือนอย่างเช่น ที่พม่ามาตีกรุงศรีอยุทธยาเมื่อชั้นหลังพวกไทยที่ลงมาครั้งนั้นย่อมมาเปนพวกๆ ที่รวมใจเปนอันหนึ่งอันเดียวกันในพวก ๑ คงร่วมเชื้อสายวงศ์สกุลอันเดียวกันเปนพื้น มาตั้งภูมิลำเนาที่ไหนก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ด้วยกัน พวกที่มาด้วยกันนั้นนับถือใครมาก คนนั้นก็ได้เปนเจ้าหมู่ รองลงมาใครเปนหัวน่าในครัวเรือนไหนก็ควบคุมลูกหลานว่านเครือของตน ทั้งในเวลาอยู่เปนปรกติแลเวลารวบรวมกันไปทำการสงคราม ครั้นได้ภูมิลำเนาแห่งใดเปนที่มั่นแล้ว ยังต้องคอยป้องกันสัตรูที่พยายามจะขับไล่ เพราะฉนั้นกำลังมีเท่าใดต้องเตรียมไว้เต็มที่อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ก็จำเปนอยู่เองที่จะต้องบังคับบรรดาชายให้เปนทหารทุกคน แลให้ควบคุมกันโดยวงศ์สกุล ทำนองการทหารที่เปนอยู่ในหมู่ไทยชั้นสมัยนั้น เมื่อพวกไหนไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ในตำบลใด ผู้ที่เปนหัวน่าของพวกนั้นก็จะเปนทั้งนานบ้านแลนายกองทหารทั้ง ๒ สถาน ขึ้นอยู่ในเมืองซึ่งเปนเจ้าของอาณาเขตรนั้น เวลาเจ้าเมืองจะต้องการกำลังไปรบพุ่งที่แห่งใด ก็สั่งนายบ้านให้เกณฑ์กำลังไปเข้ากองทัพ เอาเครื่องสาตราวุธยุธภัณฑ์พาหะนะแลสเบียงอาหารของตนไปเองทั้งสิ้น ผลประโยชน์ที่ได้ในการไปรบนั้น ถ้ามีไชยชนะก็ได้ส่วนแบ่งทรัพย์สมบัติของข้าศึก แลได้ตัวข้าศึกซึ่งจับเปนเชลยมาใช้สอย เปนพระเพณีมีแต่ดั้งเดิมมาดังนี้
๒) ว่าด้วยพงศาวดารตอนไทยมาสู่แดนสยาม
แก้ไขเรื่องพงศาวดารต่อมามีเนื้อความในหนังสือตำนานโยนกว่า อยู่มามีคนสำคัญเกิดขึ้นในพวกไทยที่มาตั้งอยู่ในแดนลานนาอิกคนหนึ่ง เรียกว่า " ท้าวมหาพรหม " เปนเจ้าเมืองเชียงแสน สามารถขับไล่พวกขอมชิงเอาดินแดนได้ต้องลงมาในตอนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงเมืองชะเลียง (คือเมืองสวรรคโลก) ได้ที่มั่นในแดนสยามเปนทีแรกเมื่อราว พ.ศ.๑๗๐๐ในสมัยนั้นพม่าเมืองพุกามเสื่อมอำนาจ พวกขอมกลับได้ปกครองเมืองลาวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอิก แต่อำนาจขอมก็อ่อนลงไม่เหมือนแต่ก่อน คงเปนด้วยเหตุนี้ขอมจึงต้องทำไมตรีดีกับไทยยอมยกดินแดนตอนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไทยปกครองเปนประเทศราชลงมาจนเมืองชะเลียง ต่อมาเมื่อใกล้จะถึง พ.ศ.๑๘๐๐ พวกขอมกับไทยเกิดรบกันขึ้นอิก ไทยมีไชยชนะพระร่วงก็ได้เปนใหญ่ในแดนสยาม (คือ มณฑลพิศณุโลก กับมณฑลนครสวรรค์บัดนี้ ) ครองเมืองศุโขไทยเปนราชธานี มีพระนามเรียกในศิลาจารึกว่า "พ่อขุนศรีอินทราทิต" เปนต้นราชวงศ์ ซึ่งครองกรุงสุโขไทยสืบมา
การที่ไทยลงมาได้แดนสยามเปนหัวต่อข้อสำคัญในพงศาวดาร ผิดกับเมื่อได้แดนลานนาแลลานช้าง เหตุด้วยแดนลานนากับลานช้างนั้นเปนแต่เมืองส่วยของขอม พวกลาวปกครองอยู่ตามประเพณีดั้งเดิมแต่แดนสยามเปนเมืองที่พวกขอมได้ ไปตั้งภูมิลำเนาปกครองมาหลายร้อยปี พลเมืองมีทั้งขอมทั้งลาว แลพวกเชื้อสายอันเกิดแต่ชน ๒ ชาตินั้นปะปนกัน ถือขนบธรรมเนียมตามแบบอย่างซึ่งพวกขอมได้รับรู้มาแต่ชาวอินเดียดังกล่าวมาแล้ว เมื่อไทยลงมาได้แดนสยาม มาได้เปนใหญ่ในบ้านเมืองอันมีวิธีการปกครองเปนระเบียบแบบแผนไม่ เหมือนกับเมืองลาวตอนเหนือ เพราะเหตุนี้เมื่อไทยได้มารู้เห็นขนบธรรมเนียมของพวกขอม เห็นอย่างใดดีก็รับประพฤติตาม เพื่อให้สดวกแก่การปกครองแลโดยเลื่อมใสต่อประโยชน์ของการนั้นๆ ประเพณีแลภาษาของไทยเมืองใต้จึงจับแผกผิดกับไทยเมืองเหนือที่อยู่ทางแดนลานนา แลลานช้างเปนเดิมแต่นี้มา แต่การที่ เกิดแผกผิดกันนั้นค่อยเกิดค่อยเปนมาโดยอันดับมิได้รวดเร็ว ข้อนี้จะพึงสังเกตเห็นได้ในหนังสือโบราณจะยกตัวอย่างเช่นศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงอันเปนรัชกาลที่ ๓ ในราชวงศ์พระร่วง จารึกเมื่อราว พ.ศ. ๑๘๔๐ คำจารึกนั้นยังเปนภาษาไทยเก่ามีคำขอมเช่นว่า " บำเรอ" แล "พนม" เปนต้น เจือปนไม่มากนัก ถึงประเพณีในราชสำนักที่ปรากฏในจารึกนั้น ดูก็เปนทำนองประเพณีอย่างไทยอยู่เปนพื้น ดังเช่นให้ผูกสายกระดึ่งไว้ที่ประตูวัง ใคร "เจ็บท้องข้องใจ" จะใคร่เพ็ดทูลร้องทุกข์เมื่อใดก็ให้ไปชักสายกระดึ่งเปนสัญญาถึงพระองค์ได้ทุกเมื่อดังนี้เปนต้น อิกอย่าง ๑ เช่นทำพระแท่นมนังศิลาตั้งไว้ในดงตาล ให้พระเถระนั่งแสดงธรรมแก่สัปรุษในวันธรรมสวนะ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประทับบนพระแท่นมนังคศิลาว่าราชการกลางดงตาลนั้นในวันอื่นๆ อันนี้ดูน่าจะเปนประเพณีเดิมของพวกไทย ครั้นต่อมาอิกประมาณ๖๕ ปีถึงรัชกาลที่๕ ในราชวงศ์พระร่วง พระเจ้าธรรมราชาลิไทยทำศิลาจารึกอิก คราวนี้จารึกมีทั้งภาษาไทยแลภาษาขอม ประเพณี ในราชสำนักที่ปรากฏในจารึกชั้นนี้ก็ปรากฏการพิธีขอมเข้าในราชประเพณีมีพิธีราชาภิเศกเปนต้น เห็นได้ว่าไทยรับลัทธิต่างๆ แต่พวกขอมยิ่งขึ้นโดยลำดับมา การที่ทหารไทยเปนกรมต่างๆ เห็นจะเกิดขึ้นในชั้นนี้ แต่มีเฉภาะในราชธานี ที่ห่างออกไปก็คงเปนอยู่อย่างเดิม
๓) ว่าด้วยพงศาวดารตอนไทยตั้งประเทศสยาม
แก้ไขลักษณที่ไทยขยายอาณาเขตรลงมาข้างใต้ตามที่กล่าวมา ในชั้นแรกมีเค้าเงื่อนว่าความมุ่งหมายเปนข้อสำคัญเพียงจะตั้งบ้านเมืองอยู่ให้เปนอิศระแก่ตน ความข้อนี้เห็นได้โดยแผนที่ เช่นแว่นแคว้นสิบเก้าเจ้าฟ้าก็ดี สิบสองเจ้าไทยก็ดี แลสิบสองปันนาก็ดี ไทยตั้งบ้านเมืองหลายอาณาเขตรในมณฑลที่อันน้อย ถึงชั้นเมื่อมาตั้งเปนอิศระอยู่ในแดนลานนา พระเจ้าเม็งรายกับพระเจ้างำเมืองตั้งราชอาณาจักรเปนอิศระแก่กันอยู่ที่เมืองเชียงใหม่แห่ง ๑ แลที่เมืองพเยา (อันเปนเมืองขึ้นของเมืองนครลำปางบัดนี้ ) แห่ง ๑ ก็อยู่ในแดนดินน้อย เห็นได้ว่าถือตามประเพณีเดิมของไทย ไทยพวกพระร่วงที่ลงมาได้แดนสยามชั้นเดิมก็ปกครองอาณาเขตร อย่างเดียวกับพวกไทยที่ตั้งเปนอิศระในแดนลานนา คือถือเอาการที่ควบคุมกันให้มั่นคงในเขตรที่อันน้อยเปนสำคัญกว่าที่จะขยายอาณาเขตรให้ใหญ่โต ข้อนี้เห็นได้ด้วยปรากฏว่ามีอาณาเขตรเมืองฉอดเปนอิศระอยู่ใกล้ ๆ (คือที่อยู่ด่านแม่สอดแขวงเมืองตากทางทิศตวันตก ) แลขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดสามารถยกกองทัพมาตีถึงเมืองตากในเวลาเมื่อพระเจ้าศรีอินทราทิตครองกรุงศุโขไทย ต้องรบพุ่งกันเปนโกลาหล พวกชาวศุโขไทยเกือบจะพ่ายแพ้ หากมีนักรบสำคัญเปนราชโอรสที่ ๓ ของพระเจ้าศรีอินทราทิตเข้าชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด พวกชาวศุโขไทยจึงมีไชย ครั้นราชโอรสองค์นั้นได้เสวยราชย์ครองแดนสยามเปนรัชกาลที่ ๓ ทรงพระนามว่าพระเจ้ารามกำแหงมีอานุภาพมากจึงขยายอาณาเขตรออกไปกว้างขวางทางทิศเหนือได้เมืองแพร่เมืองน่านตลอดไปจนแม่น้ำโขง ทางทิศตวันออกได้แดนขอมทางฝ่ายเหนือ (ที่เปนมณฑลอุดรบัดนี้ ) ไปจนเมืองเวียงจันท์คำ ทางทิศใต้ได้บ้านเมืองเปนราชอาณาเขตรลงไปจนสุดแหลมมลายู ทางทิศตวันตกได้หัวเมืองมอญทั้งปวงไปจนถึงเมืองหงษาวดี พระเจ้ารามกำแหงเปนพระเจ้าราชาธิราชผู้ตั้งสยามประเทศเปนของไทยสืบมาจนบัดนี้แต่เมื่อครั้งพระเจ้ารามกำแหงนั้นแดนลานนายังเปนสิทธิ์อยู่แก่ไทยพวกอื่น พระเจ้าเม็งรายครองเมืองเชียงใหม่มีอาณาเขตรขึ้นไปจนเมืองเชียงรายเชียงแสนเปนอิศระอยู่ก๊ก ๑ พระเจ้างำเมืองครองพเยา (เข้าใจว่ามีอาณาเขตรลงมาจนเมืองนครลำปาง) เปนอิศระอยู่อิกก๊ก๑ ในพงศาวดารฝ่ายเหนือว่าพระเจ้าเม็งรายพระเจ้างำเมืองเปนมหามิตรสนิทสนมกับพระเจ้ารามกำแหงเห็นจะเปนโดยถือว่าเปนว่านเครือเชื้อไทยพวกเดียวกันมาแต่เดิม ส่วนทางตวันออกข้างตอนใต้ ( คือเมืองลพบุรีแลมณฑลปราจิณบุรีมณฑลจันทบุรีบัดนี้ ทั้งมณฑลร้อยเอ็จมณฑลอุบลแลมณฑลนครราชสิมา ) ยังคงเปนอาณาเขตรขอม เห็นจะเปนเพราะพระเจ้าแผ่นดินขอมที่พระนครหลวงขอไว้โดยทางไมตรี พระเจ้ารามกำแหงจึงหาได้ไปรุกราญไม่
เมื่อพระเจ้ารามคำแหงแผ่ราชอาณาเขตรได้กว้างใหญ่ไพศาลถึงปานนั้น คงต้องจัดวางระเบียบการปกครองพระราชอาณาเขตรเปนอย่างใดอย่างหนึ่ง แลลักษณการปกครองพระราชอาณาเขตรครั้งพระเจ้ารามคำแหงนั้น สังเกตตามเค้าเงื่อนอันมีอยู่ในที่ต่างๆ ดูเหมือนจะเปนเช่นนี้ คือกำหนดท้องที่เปนเขตร ๓ ชั้น ราชธานีเปนเขตรชั้นในเมืองรายรอบราชธานีเปนชั้นกลาง เมืองชั้นนอกออกไปเปนประเทศราชวิธีปกครองราชธานีนั้นก็ปกครองโดยรูปลักษณการที่ปกครองตำบลตามแบบเดิมดังได้กล่าวมานั้นเอง คือพระเจ้าแผ่นดินเปนทั้งเจ้าเมืองแลเปนจอมพลกองทัพหลวง บรรดาชายฉกรรจ์ในราชธานีก็เปนทั้งพลเมืองแลทหารในกองทัพหลวง เว้นแต่คนต่างชาติต่างภาษาไม่เอาเปนทหาร ด้วยไม่ไว้ใจ ราชการทั้งฝ่ายทหารแลพลเรือนบันดามีใช้ทหารทำทั้งนั้นเมืองชั้นกลางนั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเจ้านายเชื้อพระวงศ์ฤๅท้าวพระยาที่มีบำเหน็จความชอบออกไปครองปกครองตามพระราชกำหนดกฎหมายซึ่งตั้งขึ้นในราชธานี เปนแต่จัดระเบียบการปกครองแยกไปเมืองหนึ่งเปนส่วนหนึ่งต่างหาก ถ้ามีสงครามรี้พลอยู่ในเมืองไหนก็รวมเข้ากองทัพเมืองนั้น แล้วแต่ราชธานีจะมีคำสั่งให้ยกไปแต่โดยลำพังฤๅให้ไปสมทบเข้ากระบวนทัพหลวง เมืองชั้นนอกที่เปนเมืองประเทศราชนั้น เพราะเหตุที่มักเปนเมืองต่างชาติต่างภาษา ยอมให้เจ้านายของชนชาตินั้น ๆ ปกครองตามประเพณีของชาตินั้นๆเองเปนต่างภาษายอมให้เจ้านายของชนชาตินั้นๆ เอง เปนแต่ให้ส่งเครื่องราชแต่ให้ส่งเครื่องราชบรรณาการ มีต้นไม้ทองเงินเปนต้น กับส่วยสิ่งของต่างๆอันมีมากในเมืองนั้น ๆ มาถวายเปนกำหนดมิให้ขาด แม้มีกาสงครามจะเกณฑ์กองทัพให้ยกมาช่วยราชการ ก็มักเกณฑ์แต่ที่เปนศึกใหญ่ โดยปรกติต้องการเพียงให้เมืองชั้นนอกรักษาชายพระราชอาณาเขตรมิให้ประเทศอื่นมารุกราญยิ่งกว่าอย่างอื่น เข้าใจว่าระเบียบการปกครองเช่นว่ามานี้ จะจัดตั้งแต่ครั้งพระเจ้ารามคำแหงเปนต้นมา
๔) ว่าด้วยพงศาวดารตอนกรุงศรีอยุธยาได้เปนใหญ่ในประเทศสยาม
แก้ไขราชอาณาเขตรกรุงศุโขไทยอันแผ่ไพศาลเมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหงนั้น แม้จะได้วางวิธีการปกครองอย่างใดก็ดี ที่แท้นั้นคงเปนปรกติอยู่ได้ด้วยความยำเกรงพระเดชานุภาพของพระเจ้ารามคำแหงเปนข้อสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่น ข้อนี้เห็นได้โดยเรื่องพงศาวดารตอนต่อมา พอพระเจ้ารามคำแหงสวรรคต พระยาเลอไทย ราชโอรสได้รับรัชทายาทเปนรัชกาลที่ ๔ ในราชวงศ์พระร่วง หัวเมืองมอญที่เปนประเทศราชก็เป็นขบถ กองทัพกรุงศุโขไทยออกไทยออกไปปราบปรามเอาไชยชนะไม่ได้ หัวเมืองมอญจึงเลยเปนอิศระแต่นั้นมา หัวเมืองไทยทางข้างเหนือ เช่นเมืองเวียงคำก็เห็นจะพลอยเปนอิศระในคราวนี้ด้วย แต่หัวเมืองไทยที่เปนชั้นกลางอยู่ทางใต้นั้น เห็นจะเปนราชธานียังคงขึ้นกรุงศุโขไทยอยู่อย่างเดิม
เมืองขึ้นที่อยู่ข้างตอนใต้ ในครั้งพระเจ้ารามคำแหงนั้น มีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหง คือ เมืองแพรก (เมืองสรรค์บัดนี้ ) ๑ เมืองสุวรรณภูมิ (เรียกแปลเปนภาษาไทยว่าเมืองอู่ทอง เดี๋ยวนี้เปนร้างอยู่ในแขวงอำเภอจรเข้สามพันจังหวัดสุพรรณบุรี ) ๑ เมืองราชบุรี ๑ เมืองเพ็ชรบุรี ๑ เมืองนครศรีธรรมราช ๑ เมืองอู่ทองเปนเมืองสำคัญยิ่งกว่าเมืองอื่น เพราะเปนเมืองเก่าตั้งมาแต่ก่อนพวกขอมเข้ามาเปนใหญ่ (รุ่นเดียวกับเมืองนครปฐม แต่เมืองนครปฐมนั้นร้างไปเสียก่อน คงเหลืออยู่แต่เมืองอู่ทอง ) ทำเลที่มีไร่นาบริบูรณ แลอยู่ใกล้ปากน้ำมีทางไปมากับนา ๆ ประเทศได้สดวก เปนเหตุให้มีกำลังกว่าเมืองเพ็ชรบุรีราชบุรีแลเมืองสรรค์ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน จึงเปนที่ยำเกรงของเจ้าเมืองเหล่านั้น เมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหงเห็นจะให้เจ้าเมืองอู่ทองรักษาราชอาณาเขตรที่ต่อแดนขอมทางเมืองละโว้ แต่การที่รุกแดนขอมทางนี้ไม่ปรากฏในจารึกของพระเจ้ารามคำแหง จึงประมาณว่าเห็นจะเปนในสมัยเมื่อพระเจ้าเลอไทยครองกรุงศุโขไทยในรัชกาลที่ ๔ เจ้าเมืองอู่ทองจึงชิงแดนขอมทางตวันออกได้ทั้งเมืองลพบุรีแลหัวเมืองทั้งปวงอันอยู่ในมณฑลปราจิณบุรีบัดนี้ ขยายแดนเมืองอู่ทองต่อมาทางตวันออก ได้ปากน้ำของเมืองเหนือ คือปากน้ำเจ้าพระยาเปนต้น ไว้ในอาณาเขตรทั้งหมด พอพระเจ้าเลอไทยสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐ พระเจ้าอู่ทองก็ย้ายมาอยู่เมืองอโยธยา ต่อมาอิก ๓ ปีก็สร้างกรุงศรีอยุธยาตั้งเปนอิศระไม่ยอมขึ้นต่อพระเจ้าธรรมราชาลิไทยราชโอรสของพระเจ้าเลอไทย ซึ่งได้ครองกรุงศุโขไทยเปนรัชกาลที่ ๕ ในราชวงศ์พระร่วง เมื่อพระเจ้าอู่ทองประกาศเปนอิศระนั้นพวกเจ้าเมืองทางฝ่ายใต้ ตั้งแต่เมืองสวรรค์ลงมาอ่อนน้อมเปนพรรคพวกของพระเจ้าอู่ทองหมดทุกเมือง พระเจ้าอู่ทองมีกำลังมากจนสามารถตีเมืองนครหลวง อันเปนราชธานีของประเทศขอมได้ ก็ได้หัวเมืองขอมที่ต่อติดกับเขตรแดนกรุงศรีอยุธยา (คือมณฑลนครราชสิมาแลมณฑลจันทบุรีบัดนี้ ) มาไว้ในราชอาณาเขตร พระเจ้าธรรมราชาลิไทยกรุงศุโขไทยเห็นจะเอากรุงศรีอยุธยาไว้ ในอำนาจไม่ได้แต่ก่อน จึงยอมเปนไมตรีอย่างเปนบ้านพี่เมืองน้องกับกรุงศรีอยุธยา ทำนองเช่นกรุงศุโขไทยเคยเปนไมตรีกับเมืองเชียงใหม่มาแต่ก่อน แต่นั้นไทยที่มาเปนใหญ่ในประเทศนี้ก็แยกกันเปน ๒ อาณาจักร เรียกกันเปนสามัญว่าเมืองเหนือก๊ก ๑ เมืองใต้ก๊ก ๑แต่ว่าเปนไมตรีปรองดองกันมาเพียงตลอดรัชกาลพระเจ้าธรรมราชาลิไทยแลพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งทรงพระนามประกาสิต ว่าสมเด็จพระรามาธิบดี อันเปนปฐมกระษัตริย์ในกรุงศรีอยุธยา ครั้นกระษัตริย์ ๒ พระองค์นั้นสวรรคตทางไมตรีก็ขาดกัน เกิดสงครามขึ้นในระหว่างสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงัว) ที่ ๑ ซึ่งได้ครองกรุงศรีอยุธยากับพระมหาธรรมราชาไสยฦาไทยราชโอรสของพระเจ้าธรรมราชาลิไทยซึ่งได้เสวยราชย์ครองราชย์ครองศุโขไทย รบกันอยู่ ๗ ปีพวกกรุงศุโขไทยสู้กำลังกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ต้องยอมแพ้ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงแบ่งแดนราชอาณาจักรฝ่ายเหนือออกเปน ๒ มณฑลตั้งเมืองกำแพงเพ็ชรเปนเมืองหลวงปกครองหัวเมืองทางลำแม่น้ำพิงมณฑล ๑ ให้เมืองศุโขไทยคงเปนเมืองหลวงปกครองหัวเมืองทางลำแม่น้ำแควใหญ่มณฑล ๑ แต่นั้นราชอาณาจักรกรุงศุโขไทยก็ลดลงเปนแต่ประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา เจ้านายเชื้อราชวงศ์พระร่วงยังได้ปกครองเปนประเทศราชต่อมาอิกประมาณ ๕๐ ปี ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา ) ที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๖๗ ไม่มีเจ้านายในราชวงศ์พระร่วงซึ่งจะสามารถปกครองบ้านเมืองต่อไป สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงทรงอภิเศกพระราเมศวรราชโอรสซึ่งจะรับรัชทายาทให้เปนพระมหาอุปราชขึ้นไปครองหัวเมืองทั้งปวงอยู่ณเมืองพิศณุโลกรวมการปกครองพระราชอาณาจักรทั้งปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือเปนอันหนึ่งอันเดียวกันแต่นั้นมา
๕) ว่าด้วยเรื่องพงศาวดารตอนจัดวิธีการทหาร
แก้ไขความในหนังสือพระราชพงศาวดารยุติต้องกับกฎหมายเก่า ปรากฏว่าการจัดตั้งแบบแผนกระทรวงทะบวงการทหารพลเรือนพึ่งจัดต่อเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชสามพระยาซึ่งเสวยราชย์เมื่อพ.ศ. ๑๙๙๑ ก่อนนั้นหาปรากฏว่าจัดอย่างใดไม่ แต่เมื่อพิเคราะห์ตามเรื่องพงศาวดารจำเดิมแต่พระเจ้าอู่ทองตั้งเปนเอกราชมา กรุงศรีอยุธยาได้ทำสงครามเนือง ๆ ที่เปนศึกใหญ่ก็หลายครั้ง เช่นไปตีนครธมราชธานีขอม ตีกรุงศุโขไทยแลขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ถ้าทหารไทยในครั้งนั้นไม่มีแบบแผนวิธีจัดการควบคุม ตลอดจนยุทธวิธีเปนอย่างดีแล้ว ที่ไหนจะสามารถทำสงครามได้ไชยชนะดังปรากฏมาในเรื่องพงศาวดาร จึงสันนิฐานว่าพวกชาวกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น เห็นจะได้แบบอย่างทั้งวิธีการทหารแลพลเรือนของขอมมาพิจารณาเปรียบเทียบกับของไทย เลือกสรรเอาที่ดีทั้ง ๒ ฝ่ายปรุงประสมกันเปนวิธีการของชาวกรุงศรีอยุธยา จึงสามารถรบพุ่งเอาไชยชนะได้ทั้งพวกขอมแลไทยพวกอื่นๆ ทั้งนี้ก็เปนธรรมดาเพราะพวกชาวกรุงศรีอยุธยาอยู่ใกล้ชิดติดต่อกับแดนขอมมาแต่เดิมแล้วตีได้ราชธานีขอม ได้ผู้คนมาเปนอันมาก คงมีผู้รู้ราชประเพณีแลตำหรับตำราวิชาการต่างๆ ของขอมมาอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากด้วยกัน ชาวกรุงศรีอยุธยาจึงสามารถล่วงรู้ประเพณีการต่าง ๆ ของพวกขอม การอันใดเห็นว่าดีก็เลือกสรรเอามาใช้เปนแบบอย่างตามนิยมข้อนี้ยังมีเค้าเงื่อนที่จะเปนอุทาหรณ์ให้เห็นได้จนในเวลาปัจจุบันนี้ เปนต้นว่าลวดลายการช่างของไทยเราก็ได้แต่ขอม แม้ภาษาที่เราพูดกันก็มีภาษาขอมเจือปนเปนอันมาก โดยเฉภาะภาษาที่เราเรียกว่า" ราชาศัพท์ " ซึ่งมักเข้าใจกันว่าเปนภาษาสูงสำหรับเจ้านาย ที่แท้นั้นก็มิใช่อื่น คือเอาคำพูดของขอมมาใช้นั่นเอง มูลเหตุที่ใช้ราชาศัพท์ คงเปนเพราะเมื่อได้พวกข้าราชการขอมเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยาพวกนั้นมาเพททูลเจ้านายตามแบบอย่างซึ่งเคยใช้ในราชประเพณีกรุงขอมข้าราชการไทยเอาเยี่ยงอย่างมาประพฤติตาม เพราะฉนั้นวิธีใช้ราชาศัพท์จึงเปนแต่ภาษาสำหรับผู้น้อยเพททูลเจ้านายซึ่งเปนผู้ใหญ่ ส่วนผู้ใหญ่เช่นพระเจ้าแผ่นดินก็ดี ฤๅแม้แต่เปนเจ้านายที่รองลงมาก็ดี ที่จะตรัสใช้ราชาศัพท์สำหรับพระองค์เอง เช่น "ฉันจะเสวย" ฤๅ "ฉันหาวบรรธม" ฤๅแม้แต่จะเรียกอวัยวะของพระองค์เองโดยราชาศัพท์ เช่นว่า "พระขนงแลพระขนองของฉัน" ดังนี้หาไม่ ย่อมตรัสใช้ภาษาไทยอย่างสามัญอยู่เปนนิจ ข้อนี้ยกมาพอให้เห็นเปนตัวอย่างว่าไทยเรานิยมแบบอย่างขอมแต่ชั้นนั้น เลยเปนมรฎกตกต่อมาจนกาลบัดนี้ ถ้าว่าแต่เฉภาะการทหาร ดูเหมือนประเพณีที่แบ่งราชการเปนฝ่ายทหารแลฝ่ายพลเรือนจะมีมาแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่จะเปนแบบอย่างได้มาจากประเพณีขอมฤๅไทยคิดขึ้นเอง ข้อนี้หาทราบชัดไม่ ลักษณการที่แบ่งเปนฝ่ายทหารพลเรือนนั้น ถ้าว่าโดยใจความก์คือกำหนดกองทหารไว้ประจำน่าที่สำหรับทำการทหาร เช่นการปราบปรามเสี้ยนศัตรูที่จะเกิดขึ้น แลรักษาเครื่องสรรพาวุธตลอดรักษาพระองค์พระเจ้าแผ่นดินส่วน ๑ กองทหารอิกส่วน ๑ ให้ทำการฝ่ายพลเรือน เปนพนักงานปกครองท้องที่ (เช่นตำรวจนครบาล ) บ้าง เปนพนักงานทำการต่างๆ ในพระราชวังบ้าง เปนพนักงานรักษาคลังต่าง ๆ บ้าง แลเปนพนักงานดูแลทำนุบำรุงการทำไร่นาบ้าง แต่การที่แบ่งเปนฝ่ายทหารแลพลเรือนดังกล่าวนี้ เฉภาะสำหรับในเวลาบ้านเมืองเปนปรกติ ถ้าถึงเวลามีการทัพศึกก็สมทบกันเปนทหารหมด หาได้เลิกการเกณฑ์ชายฉกรรจ์เปนทหารทุกคนไม่
ตามเรื่องพงศาวดารที่ได้กล่าวมาแล้วกรุงศรีอยุธยาพึ่งรวบรวมอาณาเขตรทั้งปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือเข้าเปนอันหนึ่งอันเดียวกันได้ต่อเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) แต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์นั้นสวรรคตเสีย มิทันจะได้ทรงจัดตั้งแบบแผนวิธีปกครองพระราชอาณาเขตรที่รวมกัน พระราเมศวรราชโอรสซึ่งได้รับรัชทายาท ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ จึงทรงจัดการต่อมา ดังปรากฏในหนังสือพงศาวดารแลกกฎหมายเก่า แลการที่จัดครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถนั้น พิเคราะห์ดูโดยลักษณการเปน ๓ อย่าง คือตั้งทำเนียบน่าที่กระทรวงทะบวงการอย่าง ๑ ตั้งกำหนดยศศักดิ์อย่าง ๑ แลตั้งทำเนียบหัวเมืองอย่าง ๑ เกี่ยวแก่การทหาร ทั้ง ๓ อย่าง จะอธิบายเปนลำดับไป
ทำเนียบกระทรวงทะบวงการที่ตั้งขึ้นนั้น ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวความแต่โดยย่อว่า "เอาทหารเปนสมุหพระกลาโหม เอาพลเรือนเปนสมุหนายก เอาขุนเมืองเปนพระนครบาล เอาขุนวังเปนพระธรรมาธิกรณ์ เอาขุนคลังเปนพระโกษาธิบดี เอาขุนนาเปนพระเกษตรา (ธิบดี)" ดังนี้ ก็คือเอาการที่ราชการเปนฝ่ายทหารพลเรือนเเต่ก่อนนั้น ตั้งเปนหลักจัดระเบียบกระทรวงทะบวงการฝ่ายพลเรือนให้มีอรรคหาเสนาบดีที่สมุหนายกกรมมหาดไทยเปนหัวน่าราชการฝ่ายพลเรือนทั้งปวงคน ๑ แลเอาหัวน่าพนักงานการพลเรือนที่มีประจำพระนครมาแต่ก่อน ยกขึ้นเปนเสนาบดีชั้นรองลงมาในฝ่ายพลเรือนอิก ๔ คน เรียกว่าจตุสดมภ์ มีนามแลน่าที่ต่างกัน คือ พระนครบาลตำแหน่งบัญชาการรักษาสันติศุขในจังหวัดพระนครคน ๑ พระธรรมาธิกรณ์ตำแหน่งบัญชาการ ในพระราชสำนักแลการศาลยุติธรรมคน ๑ พระโกษาธิบดีตำแหน่งบัญชาการคลังเก็บส่วยรักษาพระราชทรัพย์คน ๑ พระเกษตราธิการตำแหน่งบัญชาการทำนุบำรุงกสิกรรม สะสมสเบียงอาหารแลเก็บอากรอันเกิดแต่ที่ดินคน ๑ ฝ่ายทหารก็ให้มีอรรคมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหมคน ๑ เปนตำแหน่งหัวน่าข้าราชการทั้งปวงในฝ่ายทหาร มีเสนาบดีเปนชั้นแม่ทัพประจำการรองลงไป คือตำแหน่งสีหราชเดโช แลตำแหน่งท้ายน้ำเปนแม่น้ำทัพใหญ่ รองลงมามีนายกองพลทหารช้าง คือ ตำแหน่งเพทราชา แลตำแหน่งสุรินทราชา แลนายกองพลทหารราบ คือตำแหน่งพิไชยสงคราม ตำแหน่งรามกำแหง ตำแหน่งพิไชยชาญฤทธิ์ ตำแหน่งวิชิตณรงค์เปนต้น ทำเนียบนามข้าราชการซึ่งใช้เรียกประจำสำหรับตำแหน่งเช่นว่าสมุหพระกลาโหมมีนามว่าเจ้าพระยามหาเสนาบดีแลสมุหนายกมีนามว่า เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์เปนต้น ก็เกิดขึ้นในคราวนี้ แต่ข้าราชการตลอดจนพลไพร่ทั้งฝ่ายทหาร แลพลเรือนยังคงเปนทหารทำการรบพุ่งในเวลามีการศึกสงครามอยู่เหมือนอย่างเดิม แลวิธีเกณฑ์คนคงยังเปนอย่างเดียวกันทั้งฝ่ายทหารพลเรือนตลอดมา
การตั้งทำเนียบยศนั้น เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าตั้งทำเนียบศักดินา คือตั้งอัตราในกฏหมายว่าบุคคลมียศชั้นใด จะมีที่นาได้เท่าใด เปนต้นแต่กำหนดว่าไพร่พลเมืองคน ๑ จะมีได้เพียง ๑๐ ไร่ เปนอย่างมาก ผู้ที่มียศสูงขึ้นไปก็มีน่าได้ โดยอัตราจำนวนไร่มากขึ้นไปโดยลำดับ จนถึงเจ้าพระยาเสนาบดีมีได้คนละ ๑๐,๐๐๐ ไร่ แลมหาอุปราชมีนาได้ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ เปนอย่างมากที่สุด อันวิธีกำหนดจำนวนนาสำหรับผู้มียศต่าง ๆ กันนี้ได้ยินว่าประเพณีจีนก็มี เพราะฉนั้น การที่ตั้งทำเนียบศักดินาเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ จะได้เค้าเงื่อนมาแต่จีนฤๅจะคิดขึ้นใหม่ในประเทศนี้หาทราบชัดไม่ แต่เมื่อพิจารณาดูทำเนียบศักดิตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เห็นว่าไม่ใช่แต่กำหนดให้มีไร่นาได้คนละเท่าใดเท่านั้น ที่แท้ทำเนียบศักดินานั้นตัวชั้นยศข้าราชการในสมัยนั้น อย่างที่กำหนดเปนนายพลนายพันนายร้อยฤๅที่กำหนดเปนมหาอำมาตย์แลรองอำมาตย์ในปัจจุบันนี้ แลปลาดที่เกือบจะตรงกันทีเดียว จะลองเทียบพอให้เห็นเปนตัวอย่าง
- ชั้นที่ ๑ ศักดินา ๑๐,๐๐๐ เทียบด้วยนายพลเอก
- ชั้นที่ ๒ ศักดินา ๕,๐๐๐ เทียบด้วยนายพลโท
- ชั้นที่ ๓ ศักดินา ๓,๐๐๐ เทียบด้วยนายพลตรี
- ชั้นที่ ๔ ศักดินา ๒,๐๐๐ เทียบด้วยนายพันเอก
- ชั้นที่ ๕ ศักดินา ๑,๐๐๐ เทียบด้วยนายพันโท
- ชั้นที่ ๖ ศักดินา ๘๐๐ เทียบด้วยนายพันตรี
- ชั้นที่ ๗ ศักดินา ๖๐๐ เทียบด้วยนายร้อยเอก
- ชั้นที่ ๘ ศักดินา ๔๐๐ เทียบด้วยนายร้อยโท
- ชั้นที่ ๙ ศักดินา ๒๐๐ เทียบด้วยนายร้อยตรี
ตำแหน่งที่ศักดินาในทำเนียบที่อยู่ในระหว่างชั้นคือศักดินา ๒,๔๐๐ ฤๅ ๑,๕๐๐ แล ๕๐๐มีบ้าง แต่ไม่เปนพื้นเหมือนอัตราที่ยกมาเรียงไว้นี้อาจจะเปนของเพิ่มขึ้นภายหลังก็เปนได้ ในทำเนียบศักดินาบ่งความให้เห็นชัด ว่าแต่โบราณมิได้ถือเอาบันดาศักดิ์ ซึ่งเปนพระหลวงขุนเปนสำคัญเท่ากับศักดินา ข้อนี้จะสังเกตเห็นได้ในทำเนียบ ถ้าเปนตำแหน่งอันอยู่ในน่าที่สำคัญแล้ว ถึงจะเปนออกญาถือเปนพระศักดินาก็คงสูง ถ้าน่าที่ไม่สำคัญศักดินาคงต่ำ ส่วนศักดินาพระราชวงศ์นั้น มีบานแพนกในทำเนียบบอกชัดว่าตั้งขึ้นภายหลัง
การจัดทำเนียบหัวเมืองนั้น แต่ครั้งกรุงศุโขไทยเปนราชธานีกำหนดเมืองขึ้นเปน ๓ชั้นคือเมืองชั้นในการปกครองรวมอยู่ในราชธานีเมืองชั้นกลางการปกครองจัดเปนแพนกต่างหากเฉภาะเมือง เมืองชั้นนอกเปนเมืองประเทศราช เมื่อกรุงศรีอยุธยาแรกเปนใหญ่ มณฑลกรุงศุโขไทยยังเปนประเทศราช แม้เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชสามพระยาให้พระราเมศวรราชโอรสขึ้นไปครอง ก็ครองเปนอย่างประเทศราชครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เพราะพระองค์ได้เคยทรงครองมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อยังเปนพระราเมศวร จึงให้เลิกวิธีปกครองอย่างเช่นเปนประเทศราชเสีย ให้หัวเมืองเหนือต่างขึ้นตรงต่อพระนครศรีอยุธยาอย่างหัวเมืองชั้นกลางเรียกว่า "เมืองพระยามหานคร" เจ้าเมืองต้องถือน้ำพระพิพัฒนสัจจาเหมือนข้าราชการทั้งปวงว่าโดยลักษณการปกครองหัวเมืองที่จัดเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ มีเค้าเงื่อนอยู่ในทำเนียบเก่า ทำนองการเห็นจะเปนเช่นนี้ คือขยายอำนาจการปกครองของราชธานี ให้กว้างขวางออกไป บรรดาหัวเมืองชั้นกลางที่ปกครองเปนแพนกหนึ่งต่างหากอยู่แต่ก่อน เช่นเมืองสุพรรณบุรีเปนต้น เมืองใดซึ่งสามารถจะเอาไว้ในการปกครองของราชธานีได้ เอามาเปนหัวเมืองชั้นใน ตรวจตราว่ากล่าว จากราชธานีทั้งหมด เมืองที่อยู่ห่างออกไป จะตรวจตราว่ากล่าวจากราชธานีไม่ถึง จึงจัดเปนเมืองพระยามหานคร ให้ผู้ว่าราชการมีอำนาจบังคับบัญชาการสิทธิ์ขาดเปนเมือง ๆ มีชื่อเมืองพระยามหานครปรากฏอยู่ในต้นกฎมณเฑียรบาล คือ เมืองนครราชสิมา๑เมืองนครศรีธรรมราช ๑ เมืองตะนาวศรี ๑ เมืองทวาย ๑ กับเมืองซึ่งแยกออกจากมณฑลราชธานีฝ่ายเหนือ คือเมืองพิศณุโลก ๑ เมืองสุโขไทย ๑ เมืองสวรรคโลก ๑ เมืองกำแพงพ็ชร ๑ รวมคงเปนหัวเมืองชั้นกลางอยู่แต่ ๘ เมือง เมืองภายนอกนั้นออกไปก็ให้เปนประเทศราชคงอยู่อย่างแต่ก่อน การปกครองหัวเมืองที่จัดเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถนั้น ตามเหตุการณ์ที่ปรากฏในเรื่องพงศาวดาร ได้ผลทั้งเปนการดีแลเปนการร้าย ที่เปนการดีคือราชธานีกำลังรี้พลขึ้นกวาแต่ก่อนเปนอันมาก เพราะเหตุที่เจ้าน่าที่ทั้งฝ่ายทหารแลพลเรือนที่ได้จัดตั้งขึ้น จัดการแพนกของตนติดต่อแต่ราชธานีตลอดออกไปจนถึงหัวเมืองปวงอันกำหนดว่าเปนเมืองชั้นใน ที่ผลเปนการร้ายนั้นคือพวกพระยามหานครทางเมืองเหนือเกิดแย่งอำนาจกัน ในที่สุดพระยายุธิศฐิระเจ้าเมืองสวรรคโลกเปนขบถ เอาเมืองไปขึ้นต่อพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระบรมโลกนารถต้องทำสงคราม อยู่หลายปีจึงได้เมืองกลับคืนมา ทรงเห็นว่าที่ด่วนเลิกมณฑลราชธานีฝ่ายเหนือผิดไป จึงเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลกรวมเปนเมืองเปนมณฑลราชธานีดังแต่ก่อน แต่นั้นก็กลับมีเจ้านายเปนพระมหาอุปราชไปครองเมืองพิศณุโลกต่อมาอีกช้านาน
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งเปนราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ทรงสามารถการปกครองทำนองเดียวกับสมเด็จพระราชบิดา ได้เสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๓๔ อยู่จน พ.ศ. ๒๐๗๒ เปนเวลา ๓๘ ปี แม้ว่างศึกสงครามตลอดรัชกาลก็จริงแต่ปรากฏทั้งในหนังสือพระราชพงศาวดารแลในกฎหมายเก่ายุติต้องกันว่าได้ทรงจัดนั้นอิกหลายอย่าง แลเปนการฝ่ายทหารเปนพื้น กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารแต่โดยย่อว่า ทำตำราพิไชยสงครามอย่าง ๑ ทำสารบาญชีอย่าง ๑ ทำพิธีตามหัวเมืองอย่าง ๑ ตำราพิไชยสงครามของสมเด็จพระรามาธิบดีที่๒ยังมีปรากฏอยู่บัดนี้ แต่กฎอาญาศึก (อันรวมไว้ในลักษณขบถศึก) นอกจากนั้นจะมีอะไรอิกบ้างหาทาบชัดไม่ ด้วยตำราพิไชยสงครามที่มีอยู่บัดนี้เปนของรวบรวมชั้นหลังและชำระแก้ไขมาเสียหลายคราว ของเดิมเห็นจะไม่เหลือเท่าใดนัก การทำสารบาญชีนั้น คือ จัดวิธีทำบาญชีรี้พลให้เรียกคนเข้ากระบวรทัพสดวกขึ้น แลบางทีจะถึงแก้ไขระเบียบการควบคุมผู้คนเปนหมวดกองแลกรมต่างๆ ด้วย เรื่องทำบาญชีรี้พลนี้ ทำนองแต่ก่อนมากลาโหมจะเปนพนักงานทำบาญชีคนฝ่ายทหาร มหาดไทยเปนพนักงานทำบาญชีคนฝ่ายพลเรือน แยกกันอยู่การไม่เรียบร้อย จึงตั้งกรมพระสุรัสวดีขึ้นเปนพนักงานทำบาญชีพลทั้งฝ่ายทหารพลเรือนเลยเปนแบบแผนสืบมาจนชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ น่าที่กรมพระสุรัสวดีไม่แต่เฉภาะทำบาญชีพลเดียว เปนทั้งพนักงานเร่งรัดตรวจตรา ให้ผู้บังคับกรมต่างๆ ขวนขวายหาผู้คนเข้าทะเบียนแลเปนพนักงานกะเกณฑ์รี้พลในเวลามีการทัพศึกด้วย จึงเปนกรมสำคัญกรม ๑
ที่เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าทำพิธีทุกเมืองนั้นคงเปนการจัดระเบียบกองทหารตามหัวเมือง เนื่องด้วยการสารบาญชีที่ได้กล่าวมา ข้อนี้เค้าเงื่อนอยู่ในทำเนียบตำแหน่งกรมการหัวเมืองชั้นเดิม มีตำแหน่งสัสดีเปนพนักงานกรมพระสุรัสวดีอยู่ประจำทุกเมือง แต่ตำแหน่งขุนพลขุนมหาดไทยมีแต่เมืองพระยามหานคร เมืองชั้นในหามีไม่ คงเปนเพราะรี้พลเมืองชั้นในจัดระเบียบเข้ากองทัพหลวงในราชธานี แต่เมืองพระยามหานครนั้นจัดระเบียบเปนกองทัพต่างหากตามลักษณการที่กล่าวมาแล้ว ชั้นนี้จัดลงตำราให้รู้จำนวนพลแลกระบวรทัพหัวเมืองได้ในราชธานีอยู่เสมอ จึงเรียกว่าทำพิธีทั่วทุกหัวเมือง ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มีการสำคัญในฝ่ายทหารอิกอย่าง ๑ เหตุด้วยฝรั่งโปร์ตุเกศแล่นเรืออ้อมแหลมอาฟริกามาถึงประเทศทางตวันออก มาได้เมืองชายทเลในอินเดียแลเมืองมละกาในแหลมมลายูเปนที่มั่น แล้วเข้าลาขอเปนไมตรีกับไทย เมื่อพ.ศ. ๒๐๖๑ เพื่อจะไปมาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีโปรดพระราชทานอนุญาตให้มาค้าขายตามประสงค์ จึงมีฝรั่งโปร์ตุเกศเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแต่นั้น พวกโปร์ตุเกศเปนผู้นำวิธีใช้ปืนไฟแลวิชาทหารอย่างฝรั่งเข้ามาให้ไทยเปนทีแรก
เรื่องตำนานการใช้ปืนนี้ ในหนังสือพงศาวดารเหนืออ้างว่าที่เมืองสวรรคโลกมีปืนใหญ่ใช้ลูกดินเผามาแต่ก่อนพระร่วง แลหนังสือพระราชพงศาวดารก็กล่าวว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระราเมศวรไปตีเมืองเชียงใหม่ ได้เอาปืนใหญ่ยิงกำแพงเมืองจนหักทำลาย แต่ในตำนานของฝรั่ง ว่าปืนใหญ่พึ่งมีใช้ในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๘ อิกประการ ๑ ในพงสาวดารของประเทศที่ใกล้เคียงกับเมืองเรา ก็หาปรากฏเปนหลักฐานว่าประเทศใดมีปืนไฟใช้เมื่อก่อนพวกโปร์ตุเกศมาถึงไม่ ที่แท้เพราะพวกโปร์ตุเกศมีปืนไฟใช้รบพุ่ง จึงสงครามชิงเอาบ้านเมืองของพวกชาวตวันออกได้ จึงเห็นว่าปืนที่กล่าวในพงศาวดารของเราว่ามีมาแต่ก่อนนั้นเห็นจะมิใช่ปืนไฟ อันศัพท์ว่า "ปืน" แต่โบราณเปนชื่อสำหรับเรียกอาวุธซึ่งสามารถจะส่งเครื่องประหารได้ไกล ศรก็เรียกว่าปืน มีอุทาหรณ์เช่นตรารูปพระนารายน์ถือศรสำหรับพระมหาอุปราชแต่ก่อน เรียกว่าตรานารายน์ทรงปืนฉนี้เปนต้น เมื่อเกิดปืนอย่างใหม่จึงได้เกิดคำประกอบสำหรับเรียกว่าให้ต่างกัน เรียกปืนอย่างใหม่ว่าปืนไฟเพราะใช้ยิงด้วยไฟ เรียกธะนูกุทัณฑ์ซึ่งเปนปืนอย่างเก่าว่าปืนยา เพราะลูกอาบยาพิษ แต่ดินปืนนั้นได้ยินว่าเปนของจีนคือทำขึ้นก่อน ฝรั่งได้ไปจากจีน
การทหารที่จัดเมื่อครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แม้ไม่สามารถจะทราบรายการถ้วนถี่ได้ในปัจจุบันก็ดี แต่เห็นได้โดยเรื่องพงศาวดารว่าการที่จัดนั้นจัดดีได้ประโยชน์จริงด้วยต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช ราชบุตรของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งเสวยราชย์เมื่อพ.ศ. ๒๐๗๗ มังตราพม่าเจ้าเมืองตองอูปราบปรามรามัญประเทศไว้ได้ในอำนาจ แล้วราชาภิเศกทรงพระนามว่าพระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้มีอานุภาพขึ้นทางตวันตก ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกรานปลายแดนไทย สมเด็จพระไชยราชาธิราชยกกองทัพหลวงออกไป ได้รบกับพระเจ้าหงษาวดีเปนสามารถ กองทัพน่ามอญพ่ายแพ้แตกหนี ไทยได้อาณาเขตรคืนหมด มีจดหมายเหตุ ปรากฏว่าในสงครามครั้งที่กล่าว พวกโปร์ตุเกศที่เข้ามาค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยาได้รับอาสาไปในกองทัพหลวง๑๒๐คน ไปรบพุ่งมีความชอบสมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงพระราชทานที่ในตำบล บ้านดินทางฝั่งตวันตกข้างเหนือคลองตะเคียน ให้พวกโปร์ตุเกศตั้งภูมิลำเนาอยู่ประจำในกรุงศรีอยุธยาแต่นั้นมา เข้าใจว่าเปนครั้งที่จะรับชาวต่างประเทศเปนทหารอาสาในคราวนี้ จึงเปนเยี่ยงอย่างที่จะเกิดพวกอาสายี่ปุ่นแลอาสาจามในชั้นหลัง
ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชอนุชาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ พระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้ซึ่งรบแพ้สมเด็จพระไชยราชาธิราชที่เมืองเชียงกราน รวบรวมกำลังเปนกองทัพใหญ่ยกเข้ามาด่านพระเจดีย์สามองค์ หมายจะมาตีพระนครศรีอยุธยาลบล้างความอัปรยศอดสู ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาแต่ก่อนมาเคยแต่ไปรบบุกรุกประเทศอื่น ครั้งนี้ทำสงครามต่อสู้ข้าศึกซึ่งยกกองทัพใหญ่เข้ามาโดยมุ่งหมายจะตีราชธานีเปนทีแรก ตามความที่ปรากฏในเรื่องการสงครามครั้งนี้ ไทยต่อสู้แขงแรงน่าชม แม้พระสุริโยไทยอรรคมเหษีก็แต่งพระองค์เปนชายออกสงคราม ถึงเข้าชนช้างกับข้าศึกโดยลำพังพระองค์ แก้ไขพระราชสามีในเวลาเสียทีข้าศึก ยอมสละพระชนมชีพด้วยความภักดีกระบวรยุทธวิธีของไทยในครั้งนี้ เมื่อออกไปต่อสู้ข้าศึกที่เมืองสุพรรณบุรีเห็นว่าจะรับไม่อยู่ ชิงถอยทัพกลับเข้ามาตั้งมั่นที่พระนครศรีอยุธยาได้โดยมิได้โดยมิได้พ่ายแพ้ครั้นข้าศึกเข้ามาตั้งประชิดอยู่ ให้กองทัพหัวเมืองเหนือลงมาตีโอบหลัง ข้าศึกจำต้องถอยทัพกลับไปแลเสียรี้พลเปนอันมาก ล้วนส่อให้เห็นว่าวิชาการทหารของไทยในสมัยนั้นไม่เลวเลยทีเดียว เมื่อข้าศึกเลิกทัพกลับไปแล้วก็มิได้ประมาท เอาความคุ้นเคยที่ได้ในการสงครามนั้น จัดข้อที่ยังบกพร่องในวิธีทหารไทยคิดแก้ไขเปน หลายอย่าง มีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารโดยย่อแต่พอรู้ลักษณการ คือรื้อป้อมปราการตามหัวเมืองซึ่งเห็นไม่เปนไชยภูมิในการต่อสู้ข้าศึก เช่นเมืองสุพรรณบุรีเปนต้นเสียหมดทุกอย่าง แล้วสร้างป้อมปราการขึ้นใหม่ในที่มีไชยภูมิเช่นพระนครศรีอยุธยาแลเมืองพิศณุโลกศุโขไทยเปนต้น ให้มั่นคงแขงแรงกว่าแต่ก่อน ให้สำรวจสัมโนครัวแลแก้ไขวิธีเรียกคนขึ้นทะเบียนเปนทหาร อันเรียกว่าเลขสมสังกัดพรรค์ ดังจะอธิบายในวิธีเกณฑ์ทหารไทยต่อไปข้างน่า แล้วตั้งเมืองชั้นเพิ่มเติมขึ้นอิกหลายเมือง คือ เมืองนนทบุรีเมืองสาครบุรีแลเมืองนครไชยศรีเปนต้น สำหรับเปนที่รวบรวมคนในเวลามีการทัพศึกให้ได้รวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน ช้างม้าพาหะนะสำหรับใช้ในการศึกษาก็หาเพิ่มเติมขึ้นให้มาก มีการที่จัดในตอนนี้อย่าง ๑ ซึ่งเปนการแปลกใหม่ กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารแต่ว่า "แปลงเรือแซเปนเรือไชยแลเรือศีร์ษะสัตว์ต่าง ๆ " ที่แท้นั้นคือคิดสร้างเรือรบขึ้นเปนทีแรก ด้วยแต่ก่อนมาใช้เรือยางอย่างที่เรียกว่าเรือแซ เปนแต่พาหนะสำหรับบรรทุกผู้คนแลเครื่องยุทธภัณฑ์ในเวลายกทัพไปทางแม่น้ำลำคลอง ครั้นมีข้าศึกเข้ามาตั้งติดพระนครศรีอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบ จึงเริ่มใช้วิธีเอาปืนลงเรือไปเที่ยวยิงข้าศึกมิให้อาจรุกกระชั้นพระนครเข้ามา เห็นได้ประโยชน์ดีจึงได้คิดแปลงเรือแซ คือเสิมกราบทำแท่นที่ตั้งปืนใหญ่ไว้สำหรับใช้รบข้าศึก เรือรูปสัตว์ เช่นเรือครุธแลเรือกระบี่ที่ยังมีอยู่ทุกวันนี้ก็มีปืนใหญ่อยู่หัวเรือทุกลำ คงเปนแบบแผนมาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงนับว่าเรือรบไทยมีขึ้นครั้งนั้นเปนแรกที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดาร แต่การทั้งปวงที่ตระเตรียมดังกล่าวมา หาเปนคุณแก่ไทยดังประสงค์ไม่เพราะพเอิญบุรุษพิเศษขึ้นข้างฝ่ายข้าศึก คือพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง อันนับในพงศาวดารว่าเปนมหาราชองค์ ๑ เดิมเปนพระญาติแลเปนแม่ทัพคนสำคัญของเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้ ได้เคยมาตีเมืองไทยมารู้ภูมิลำเนาบ้านเมือง แลคุ้นเคยกับวิธียุทธของไทยไปเจนใจ ครั้นได้เสวยราชย์พยายามแผ่ราชอาณาเขตรกว้างขวางไปทุกทิศ มีอำนาจตลอดมาถึงเมืองไทยใหญ่สิบเจ้าเก้าเจ้าฟ้าแลเมืองเชียงใหม่ ได้กำลังรี้พลมากกว่าครั้งพระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้อิกเปนอันมาก พระจ้าหงษาวดีบุเรงนองเห็นจะตีเมืองไทยได้สำเร็จ จึงแกล้งขอช้างเผือกสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพอให้เปนเหตุ ครั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่ยอมประทานก็ยกกองทัพมา ความขัดข้องอันใดซึ่งเปนเหตุให้เสียทีไทยเมื่อครั้งพระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้ยกมาคราวก่อน พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองคิดแก้ไขมาทุกข้อ คือ ข้อที่ไทยเคยตั้งรับที่ราชธานีแล้วให้กองทัพเมืองเหนือลงมาตีโอบหลัง คราวนี้พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองคิดเปลี่ยนทางเดินทัพเข้ามาตีหัวเมืองเหนือตัดกำลังที่จะช่วยเสียก่อนแล้วจึงมาตีราชธานี ข้อที่ขัดสนเสบียงอาหารเมื่อคราวก่อน คราวนี้ได้เมืองเชียงใหม่ไว้อำนาจแล้ว ให้เมืองเชียงใหม่ส่งเสบียงไม่ต้องขนข้ามเข้าภูเขามาเหมือนแต่ก่อน ข้อที่กรุงศรีอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบข้าศึกมาทางบกไม่สามารถจะเข้าไปใกล้พระนครได้ พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองพยายามขนปืนใหญ่อย่างมีกำลังอาจจะยิงได้ไกลกว่าแต่ก่อนมาด้วยหลายร้อยกระบอกแลจ้างพวกโปร์ตุเกศมาเปนทหารปืนใหญ่ ๔๐๐ คน แล้วเกณฑ์เรือเมืองเชียงใหม่ลงมาจัดเปนกระบวรทัพเรือเพิ่มขึ้นอิกทัพ๑ ศึกหงษาวดีครั้งนี้ดูเหมือนฝ่ายไทยจะไม่ได้คาดว่าข้าศึกจะยกเข้ามาทางตากอันเปนทางอ้อม จึงมิได้จัดกองทัพกรุงเตรียมไปช่วยเมืองเหนือให้ทันท่วงที ถึงกระนั้นก็ปรากฏว่าไทยต่อสู้แขงแรง พระยาศุโขไทยต่อสู้จนตัวตายในจึงเสียเมืองแก่ข้าศึก พระเจ้าหงษาวดีฃไปตีเมืองพิศณุโลกก็ตีไม่ได้ ต้องล้อมไว้จนข้างในเมืองหมดสะเบียงอาหารแลเกิดไข้ทรพิษขึ้น พระมหาธรรมราชาจึงได้ยอมแพ้ กองทัพเรือรบที่สร้างใหม่ในกรุงศรีอยุธยายกขึ้นไป ได้รบกับข้าศึกที่ราวปากน้ำโพธิ์ แต่ทานกำลังเรือของข้าศึกไม่ไหว ด้วยปืนใหญ่ของข้าศึกมีกำลังกว่าต้องล่าถอยลงมา เมื่อกองทัพพระเจ้าหงษาวดีลงมาถึงชานพระนครศรีอยุธยา ก็เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปถึงในพระนคร ถูกบ้านเรือนพังทลายแลผู้ล้มตายลงทุกวัน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเห็นจะสู้ไม่ไหวจึงยอมเปนไมตรี ประทานช้างเผือกแลรับข้อขอร้องในการอย่างอื่นตามประสงค์ของพระเจ้าหงษาวดี การสงครามครั้งนี้ปรากฏว่าแพ้ชนะกันด้วยปืนใหญ่เปนครั้งแรกที่ปรากฏในพงศาวดารไทย แต่การที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมประทานช้างเผือกไปครั้งนั้นไม่ตัดความรำคาญได้จริงด้วยพระเจ้าหงษาวดีประสงค์จะเอาเมืองไทยไปเปนเมืองขึ้น เมื่อยังไม่ได้เปนเมืองขึ้นก็ตั้งหน้าใช้อุบายยุยงพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิศณุโลก ซึ่งเปนราชบุตรเขยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ให้แตกร้าวกับกรุงศรีอยุธยาจนเกิดเปนอริกันขึ้นเอง ลงที่สุดพระมหาธรรมราชาก็พาพวกชาวเมืองเหนือไปเปนพรรคพวกพม่ามอญพระเจ้าหงษาวดีเห็นได้ทีจึงยกกองทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา คราวนี้ทั้งไทยถอยกำลังเสียเปรียบข้าศึกไม่มีประตูที่จะได้ไชยชนะแล้วยังต่อสู้แขงแรง ตระเตรียมการรักษาพระนครไว้ครบครัน พระเจ้าหงษาวดีมาตั้งล้อมพระนครให้เข้าตีหักเอาเท่าใดก็ไม่ได้ จนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรสวรรคต สมเด็จพระมหินทราธิราช ราชโอรสได้ผ่านพิภพในเวลาข้าศึกกำลังล้อมพระนครเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๑ พระเจ้าหงสาวดีให้พระยาจักรีเข้าไปเปนไส้ศึก สมเด็จพระมหินทราธิราชไม่รู้เท่าจึงเสียพระนคร พระเจ้าหงษาวดีได้กรุงศรีอยุธายาแล้วให้กวาดรี้พลแลเครื่องสาตราวุธเอาไปเมืองหงษาวดีเสียเปนอันมากเหลือคนไว้แต่ ๑๐,๐๐๐แล้วอภิเศกให้พระมหาธรรมราชาครอบครองกรุงศรีอยุธยาต่อมา กำลังกองทัพไทยที่จัดวางแบบแผนมาโดยลำดับ ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอู่ทอง นับว่าเปนหมดเพียงนี้ในเรื่องพงศาวดาร
๖) ว่าด้วยเรื่องพงศาวดารตอนทหารสมเด็จพระนเรศวร
แก้ไขเมื่อครั้งพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองตีเมืองพิศณุโลกคราวศึกเรื่องช้างเผือก พระมหาธรรมราชาต่อสู้จนสิ้นกำลังจึงต้องยอมแพ้ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีก็ยกย่องยอมให้เกียรติยศตามประเพณีสงคราม ให้พระมหาธรรมราชาถือน้ำกระทำสัตย์แล้ว ปล่อยให้คงครองบ้านเมืองอยู่อย่างเดิม ครั้นเมื่อเสร็จศึกพระเจ้าหงษาวดีจะเลิกทัพกลับไป ตรัสขอพระนเรศวรโอรสพระองค์ใหญ่ของพระมหาธรรมราชาไปเลี้ยงเปนราชบุตรบุญธรรม พระมหาธรรมราชาก็ถวาย เมื่อพระนเรศวรเสด็จไปเมืองหงษาวดีนั้นพระชัณษาได้ ๙ ขวบ เสด็จอยู่ในราชสำนักพระเจ้าหงษาวดี ๖ ปีทรงทราบภาษาแลนิสัยของพม่ารามัญเจนพระหฤไทย ครั้นพระเจ้าหงษาวดีตีได้กรุงศรีอยุธยา อภิเศกพระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติ ในคราวนี้พระมหาราชาถวายพระสุวรรณเทวีพี่นางของสมเด็จพระนเรศวรเปนมเหษี พระเจ้าหงษาวดีจึงให้สมเด็จพระนเรศวรกลับมาอยู่เมืองไทย เพื่อจะได้ช่วยพระราชบิดาปกครองราชอาณาเขตร สมเด็จพระนเรศวรพระชัณษาได้ ๑๕ ปี พระราชบิดาให้ขึ้นไปครองเมืองเหนืออยู่ณเมืองพิศณุโลก แลครั้งนั้นเมืองไทยต้องเปนประเทศราชนี้พระเจ้าหงษาดีอยู่ ๑๕ ปี ไปมาถึงกันกับเมืองหงษาวดีอยู่เปนนิจ แม้สมเด็จพระนเรศวรเห็นจะได้เสด็จไปเนือง ๆ จึงปรากฏว่าไทยได้รับขนบธรรมเนียมแต่เมืองหงษาวดีมาใช้เปนประเพณีหลายอย่าง คือจุลศักราชแลกฎหมายมนูสารเปนต้นก็ปรากฏเค้าเงื่อนว่าใช้ในตอนนี้ ส่วนการทหารนั้นเชื่อได้เปนแน่ว่า สมเด็จพระนเรศวรคงได้เอาพระไทยใส่ศึกษาแบบอย่างวิชาการทหารพม่ามาตั้งแต่ยังพระเยาว์ ด้วยพระองค์มีอุปนิสัยเปนนักรบ แลทหารของพระเจ้าหงษาวดีในสมัยนั้นก็ถือกันทั่วไปว่าหาชาติอื่นสู้มิได้ (เห็นจะนับถือกันคล้าย ๆ กับนับถือทหารเยอรมันเมื่อก่อนเกิดมหาสงคราม) ความที่กล่าวนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในหนังสือพิไชยสงครามของเก่าที่ยังมีฉบับอยู่บัดนี้ ข้อนิติสาตรเปนต้นดูคล้ายกับพม่า แลมีรูปแผนที่เมืองพิศณุโลก บอกระยะทางที่จะไปเมืองใดใกล้ไกลเท่าใด ติดอยู่ในหนังสือพิไชยสงคราม ส่อให้เห็นว่าคงเปนของสมเด็จพระนเรศวรทรงคิดทำขึ้นเพื่อจะแก้ไขตำราพิไชยสงครามของไทยให้ดีทันสมัย (ทำนองเดียวกับที่กรมเสนาธิการคิดแบบเผยยุทธวิธี แต่ตำราพิไชยสงครามไทยที่มีอยู่บัดนี้ มีรอยแก้ชั้นหลังมาอิก หาใช่ของสมเด็จพระนเรศวรทั้งนั้นไม่ ) ว่าโดยย่อ เชื่อได้ว่าวิธีการทหารไทยมาจัดใหม่เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรอิกครั้ง ๑ แต่การทหารไทยที่ จัดครั้งพระเจ้าอู่ทองกับครั้งสมเด็จพระนเรศวรผิดกันเปนข้อสำคัญโดยเหตุการณ์บ้านเมืองต่างกัน เมื่อครั้งพระเจ้าอู่ทองเปนเวลากรุงศรีอยุธยากำลังเจริญ การที่จัดไม่มีผู้ใดขัดขวาง ก็ตั้งหน้ามุ่งหมายขยายอำนาจแลอาณาเขตรให้กว้างขวางต่อออกไปภายเดียว แต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรเปนเวลาบ้านเมืองตกต่ำต้องอยู่ในอำนาจของสัตรู กำลังรี้พลก็มีเหลืออยู่น้อยความมุ่งหมายแม้แต่เพียงที่จะให้ไทยกลับเปนอิศระ แก่ตนดังแต่ก่อนก็มีสัตรูซึ่งกำลังมากกว่าคอยขัดขวางทางที่จะให้สำเร็จดังประสงค์จึงลำบากยิ่งนัก จะสามารถทำได้แต่ด้วยอุบาย ๒ ประการ คือ ต้องคิดอ่านให้คนน้อยสู้คนมากได้ประการ ๑ ต้องคอยทีทำต่อในเวลาที่มีโอกาศเหมาะแก่การประการ ๑ สมเด็จพระนเรศวรทรงดำเนินในอุบายทั้ง ๒ ประการที่กล่าวมานี้ตั้งแต่ต้นจนตลอดเรื่องที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารเรื่องสงครามของสมเด็จพระนเรศวรเปนเรื่องน่าฟังมิรู้เบื่อ แต่มิใช่ต้องเรื่องของหนังสือนี้จึงจะยกไว้ไม่พรรณา แลเชื่อว่าท่านทั้งหลายที่ได้รับหนังสือนี้ไป ก็เห็นจะได้เคยอ่านกันเจนใจแล้วโดยมากถ้าใครอยากจะอ่านอิกขอแนะนำให้อ่านในหนังสือเรื่องพงศาวดารเรารบพม่าเล่ม ๑ ซึ่งว่าด้วยรบเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะเรื่องราวแลคำอธิบายบริบูรณกว่าในหนังสืออื่นที่มีอยู่บัดนี้ จะกล่าวในที่นี้แต่โดยย่อพอให้รู้เรื่องราว คือ สมเด็จพระนเรศวรทรงพยายามฝึกหัดจัดทหารอยู่๑๕ ปี ในระหว่างนั้นคงทำดีต่อพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองมิให้มีเหตุระแวงสงสัย พอพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ มังไชยสิงห์ราชโอรสผู้เปนพระมหาอุปราชาได้รับรัชทายาท ทรงพระนามว่าพระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรง ผู้คนไม่นับถือยำเกรงเหมือนพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรได้โอกาศก็ประกาศเมืองไทยเปนอิศระภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๗ ขับไล่พวกพม่าที่มากำกับกลับไปหมด พระเจ้าหงษาวดีก็ให้กองทัพมาปราบปรามหลายครั้ง สมเด็จพระนเรศวรก็ตีแตกไปทุกที จนถึงพระเจ้าหงษาวดียกกองทัพใหญ่มาเอง ก็มาเสียทีสมเด็จพระนเรศวรต้องเลิกทัพกลับไป สมด็จพระนเรศวรเสด็จผ่านพิภพเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๓ ต่อมาพระเจ้าหงษาวดีให้พระมหาอุปราชายกกองทัพมาอิกก็มาสิ้นชีพเพราะชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวร แต่นั้นพระเจ้าหงษาวดีก็เข็ดขยาด สมเด็จพระนเรศวรได้ทีจึงยกออกไปตีเมืองหงษาวดีบ้าง ได้หัวเมืองมอญตลอดไปจนเมืองหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดีต้องอพยบหนีไปอาไศรยเมืองตองอู ผเลยไปสิ้นพระชนม์อยู่ที่นั้น วิธีทำสงครามของสมเด็จพระนเศวรที่ใช้กำลังคนน้อยต่อสู้คนมากได้ เพราะเอาพระองค์ออกน่านำพลเข้ารบประจันบานเอง ดังเช่นเมื่อครั้งทรงคาบพระแสงดาบนำพลเข้าปีนค่ายพระเจ้าหงษาวดี ครั้งนั้นถึงพระเจ้าหงษาวดีออกพระโอษฐว่า "พระนเรศวรทำสงครามกล้าหาญเกินนัก เหมือนเอาพิมเสนมาแลกเกลือ" ดังนี้ เพราะไม่เคยมีประเพณีที่นายทัพพม่าฤๅไทยจะออกนำพลด้วยตนเองมาแต่ก่อน ดูเปนวิธีที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประพฤติขึ้นในสมัยนั้นอิกประการ๑ สมเด็จพระนเรศวรไม่ยอมให้ข้าศึกมีโอกาศทำได้ก่อน ข้อนี้มีตัวอย่างดังเช่นครั้งพระเจ้าหงษาวดีให้พระยาพสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่ยกมา๒ทาง ให้มาสมทบกันตีพระนครศรีอยุธยา พอพระยาพสิมยกลวงแดนไทยเข้ามาทางตวันตก สมเด็จพระนเรศวรก็ชิงไปตีเสียที่เมืองสุพรรณมิให้ทันพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาถึง แล้วจึงยกไปตีกองทัพเมืองเชียงใหม่ที่ปากน้ำบางพุดซาทางข้างเหนือ ข้าศึกไม่สามารถจะรวมกำลังกันได้ก็พ่ายแพ้ไปทั้ง ๒ ทาง แต่วิธีการสงครามของสมเด็จพระนเรศวรนั้นถ้าไม่ได้ท่วงทีก็ไม่ทำ ดังเช่นครั้งพระเจ้าหงษาวดียกกองทัพใหญ่มาเอง สมเด็จพระนเรศวรเห็นข้าศึกมีกำลังมากยกมาพรักพร้อมกันก็ไม่ออกรบ เปนแต่รักษาพระนครมั่นไว้ แต่งแต่กองโจรให้เที่ยวคอยตีลำเลียงสเบียงอาหารมิให้ส่งมาถึงกองทัพข้าศึกได้สดวก จนข้าศึกขัดสนสเบียงอาหารเกิดความไข้เจ็บไข้ขึ้นในกองทัพพอเห็นข้าศึกรวนเรก็ออกปล้นทัพกระหน่ำไปทุกวัน มิให้ข้าศึกรู้ตัวว่าจะปล้นทัพไหนทางไหนเมื่อใด ต้องระวังตัวไม่มีเวลาที่จะพักผ่อนนอนใจได้ ไม่ช้าพระเจ้าหงษาวดีก็ต้องเลิกทัพกลับไป กระบวนศึกของสมเด็จพระนเรศวรนับว่าเปนวิธีใหม่มีขึ้นในยุทธวิธีไทย ได้เปนแบบแผนใช้สืบมาจนครั้งกรุงธนบุรี แลในชั้นกรุงรัตนโกสินทร เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทรบพม่าหลายคราว แต่ส่วนวิธีการกะเกณฑ์ผู้แลวิธีจัดหมวดกองกรมทหารครั้งสมเด็จพระนเรศวร จะแก้ไขแบบเดิมประการใดหาปรากฏไม่ ปรากฏแต่ลักษณปกครองหัวเมือง เลิกมณฑลฝ่ายเหนือแลเมืองพระยามหานคร จัดหัวเมืองเปนเมืองขึ้นกรุง ฯ ทั้งนั้น กำหนดเมืองเปนชั้นเมืองเอกเมืองโทเมืองตรี แลเมืองชั้นใน (เรียกกันว่าเมืองจัตวา ) เมืองชั้นเอกโทตรีมีเมืองน้อยขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง การปกครองรวมเปนส่วนเฉภาะเมือง (คล้ายมณฑลทุกวันนี้ ) เมืองชั้นในเจ้าน่าที่ต่าง ๆ ปกครองจากราชธานีเหมือนอย่างเดิม
๗) ว่าด้วยเรื่องพงศาวดารตอนตั้งกองทหารชาวต่างประเทศ
แก้ไขเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทำสงครามกู้อิศรภาพแลมีชัยชนะพระเจ้าหงษาดีครั้งนั้น พระเกียรติยศเลื่องลือแพร่หลายไปในนานาประเทศเปนเหตุให้ต่างชาติต่างภาษาพากันนิยมไทย ที่หนีความเดือดร้อนมาพึ่งพระบารมี เช่นพวกมอญพวกจามแลพวกมลายูเปนต้นก็มีที่เข้ามาค้าขายเช่นพวกแขกชาวอินเดีย แขกชาวเอเชียแลฝรั่งชาวฮอลันดาเปนต้นก็มี มีความปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่าในสมัยนั้นประเทศจีนเกิดเปนอริกับยี่ปุ่น แลว่าสมเด็จพระนเรศวรรับจะให้กองทัพไทยไปช่วยจีนตีเมืองยี่ปุ่น แต่จะไม่ได้ไปเพราะเหตุไรหากล่าวต่อไปไม่ แต่ไปปรากฏในจดหมายเหตุทางเมืองยี่ปุ่นว่า ยี่ปุ่นได้มาเปนไมตรีกับไทยในครั้งนั้น แลมีพวกยี่ปุ่นมาค้าขายถึงเมืองไทยแต่ครั้งนั้นเปนต้นมา สมเด็จพระนเรศวเสวยราชย์อยู่ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๘ สมเด็จพระเอกาทศรถราชอนุชาได้รับรัชทายาทก็มีพระเกียรติยศเปนที่ยำเกรงของนานาประเทศต่อมา ด้วยพระองค์ได้ทรงทำสงครามเปนคู่พระราชหฤทัย ของสมเด็จพระเชษฐาธิราชปรากฏพระเกียรติยศมาด้วยกันแต่เมื่อถึงแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถผลร้ายอันเกิดแต่การสงครามจับปรากคือที่กำลังบ้านเมืองร่อยหรอลง เพราะธรรมดาทำสงครามถึงจะมีชัยชนะผู้คนพลทหารย่อมล้มตายมิมากก็น้อยทุกคราวไป ถ้าการสงครามทำติดต่อช้านานผู้คนก็ยิ่งเปลืองไปทุกทีเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถจำนวนทหารไทยน้อยลงด้วยเหตุนั้น จึงยอมรับพวกชาวต่างประเทศที่เข้ามาตั้งภูมิลำเนาพึ่งพระบาระมีอยู่ในพระนคร บรรดามีใจสมัคให้เข้าเปนทหาร เรียกว่าทหารอาสาคือกรม อาสายี่ปุ่นเปนต้น กรมทหารอาสาจาม แลพวกเชื้อสายฝรั่งโปรตุเกศที่จัดเปนกรมทหารแม่นปืน ก็เห็นจะมีขึ้นในสมัยนี้ แลบางทีจะมีกรมอาสาพวกชาติอื่นอิก มีจดหมายเหตุของพวกฮอลันดาปรากฏว่าเจ้าออเรนชซึ่งครองประเทศฮอแลนด์ได้ส่งปืนใหญ่มาถวายสมเด็จพระเอกาทศรถชุดหนึ่ง อยู่มามีการทัพได้ โปรดให้พวกฮอลันดาเข้ากองทัพไปสำหรับประจำปืนราชบรรณการเข้าใจว่ากองทหารอาสาซึ่งเปนชาวต่างประเทศเกิดมีขึ้นเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถเปนทีแรก เพราะฉนั้นวิธีการทหารอย่างแขกฝรั่งแลยี่ปุ่นก็คงมีแซกแซงเข้ามาบ้างในสมัยนั้น มีการแปลกปรากฏในตอนนี้อย่างหนึ่งที่ไทยทำปืนได้เอง จะเปนปืนใหญ่ฤๅปืนเล็กข้อนี้สงสัยอยู่ แต่ได้ส่งเปนของบรรณาการตอบแทนไปยังเมืองยี่ปุ่น มีสำเนาหนังสือโชคุณผู้สำเร็จราชการแผ่นดินยี่ปุ่นตอบสรรเสริญปืนไทย แลว่าจะใคร่ได้รับพระราชทานเพิ่มเติมอิกดังนี้นับว่าเกียรติยศการทหารไทยที่เกิดขึ้นในครั้งสมเด็จพระนเรศวรยังมีต่อมาตลอดรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ จนสวรรคตเมื่อพ.ศ. ๒๑๖๓ แต่นั้นก็จับเกิดเหตุร้ายในเมืองไทย เพราะแย่งชิงราชสมบัติติดต่อกันมาหลายครั้ง ตั้งแต่แผ่นดินเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคยราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ จนสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ พวกข้างแพ้ถูกฆ่าฟันก็หมดสิ้นนายทหารไทยเปลืองไปทุกที แม้พวกไพร่พลฝ่ายไหนแพ้ก็ถูกลดศักดิ์ให้เลวลง เปนเหตุให้ผู้คนเกิดระอาน่าที่ทหาร การทหารจึงต้องอาไศรยพวกทหารอาสาชาวต่างประเทศยิ่งขึ้นทุกที เมื่อถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ ได้ทำสงครามชนะพม่าก็จริง แต่แม่ทัพนายกองที่เปนคนสำคัญ เปนชาวต่างชาติเข้าเจือปนเปนอันมาก ในที่สุดถึงหาคนอังกฤษแลฝรั่งเศสมาใช้เปนทหารการเปนประโยชน์อยู่เพียงในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ด้วยพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในรัฏฐาภิปาลโนบายครั้นสิ้นรัชกาลเมื่อพ.ศ. ๒๒๓๑ ก็เกิดวุ่น จวนจะเสียแก่ฝรั่งต่างประเทศ หากว่าไทยรวมกันเข้าเปนกำลังของพระเพทราชา จึงสามารถขับไล่ทหารฝรั่งไปจากบ้านเมืองได้.
๘) ว่าด้วยเรื่องพงศาวตอนกรุงศรีอยุธยาถึงความเสื่อม
แก้ไขตามเรื่องพงศาวดาร การที่พระเพทราชาคิดกำจัดทหารฝรั่งซึ่งเข้ามาอยู่ในเมืองไทยเมื่อสมเด็จพระนารายน์สวรรคตนั้น เดิมคิดจะถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัยทศราชอนุชา เพราะสมเด็จพระนารายน์ไม่มีพระราชโอรส ถ้าเปนไปได้ดังพระเพทราชาประสงค์แต่เดิม การต่อมาก็เห็นจะไม่วุ่นวายใหญ่หลวง แต่หลวงสรศักดิ์บุตรพระเพทราชามักใหญ่ใฝ่สูง จะใคร่ได้ราชสมบัติแก่ตนในภายหลัง จึงให้ลอบปลงพระชนม์พระราชอนุชาสมเด็จพระนารายน์ เสียทั้ง ๒ พระองค์ ให้หมดรัชทายาทที่จะสืบพระราชวงศ์มาเด็จพระนารายน์ฝืนใจให้พระเพทราชาต้องตั้งตัวเปนพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติคนทั้งหลายโดยมากก็ลงเนื้อเห็นว่าพระเพทราชาคิดขบถ การที่ทำมาหาได้คิดจะกำจัดแต่ศัตรูบ้านเมืองโดยสุจริตไม่ ผู้ที่ได้เข้าเปนพวกพากันเอาใจออกหากเสียเปนอันมาก ที่เปนเจ้าเมืองมีกำลังเช่นเมืองนครราชสิมาแลเมืองนครศรีธรรมราชก็ตั้งแขงเมือง ไม่ยอมเข้ามาถือน้ำกระทำสัตย์ต่อพระเพทราชาเกิดกระด้างกระเดื่องทั่วไปในครั้งนั้นตลอดจนถึงราษฎรพลเมือง มีเรื่องปรากฏเปนตัวอย่างอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่ามหาดเล็กของเจ้าฟ้าทศที่ถูกปลงพระชนม์คน ๑ ชื่อว่าธรรมเฐียร ออกไปยังเมืองนครนายก ไปหลอกลวงพวกชาวเมืองว่าตัวเปนเจ้าฟ้าอภัยทศหนีรอดออกไปได้ ก็มีพวกชาวเมืองเชื่อถือพากันมาเข้าด้วย อ้ายธรรมเฐียรจึงเข้ามาตั้งซ่องสุมรี้พลที่เมืองสระบุรี ผู้คนที่ไม่รู้ความจริงก็พากันอ้ายธรรมเฐียรเปนอันมาก ด้วยความซื่อตรงต่อพระราชวงศ์ จนรวมคนได้เปนกองทัพยกเข้ามาตั้งติดพระนครศรีอยุธยา แต่มาพ่ายแพ้ในเวลารบพุ่ง ในครั้งนั้นพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ไม่รู้ว่าศัตรูจะมีอยู่ที่ไหนบ้าง สงสัยใครก็ฆ่าเสีย แม้จนหลานชายซึ่งยกขึ้นเปนกรมพระราชวังหลัง แลเจ้าพระยาสุรสงครามซึ่งเปนคู่คิดกันมาแต่ก่อนก็ถูกกำจัด พระเพทราชาต้องปราบปรามเสี้ยนศัตรูอยู่หลายปีจึงราบคาบผลของการครั้งนั้นตลอดไปจนถึงต้องแก้ไขประเพณีการปกครองบ้านเมือง โดยไม่วางใจในข้าราชการเหมือนอย่างแต่ก่อน ยกเปนตัวอย่างดังเช่นการปกครองหัวเมือง แต่ก่อนมาราชการกระทรวงไหนกระทรวงนั้นว่ากล่าวออกไปหัวเมือง เปลี่ยนเปนแบ่งหัวเมืองฝ่ายเหนือให้ขึ้นมหาดไทย หัวเมืองปักษ์ใต้ให้ขึ้นกลาโหม ให้เจ้าน่าที่มีอำนาจพอไล่เลี่ยกัน ระเบียบราชการในกรุง ฯ หลวงสรศักดิ์ซึ่งได้เปนกรมพระราชวังบวร ฯ มหาอุปราช ก็ตั้งทำเนียบขุนนางวังน่าเพิ่มเติมขึ้นเพื่อเปนกำลังรักษาพระองค์แยกออกไปอิกฝ่าย๑ว่าโดยย่อแบบแผนวิธีราชการก่อนนั้นมา ตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหมายต่อสู้ศัตรูภายนอก เปลี่ยนแปลงมาเปนความมุ่งหมายต่อสู้ศัตรูภายในก็เปนธรรมดาที่จะมีผลไปข้างความเสื่อมทราม แลผลนั้นก็แลเห็นในไม่ช้า พอสิ้นรัชกาลพระเจ้าท้ายสระเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๕ เจ้าฟ้าพรพระมหาอุปราชราชอนุชากับเจ้าฟ้าอภัยเข้าฟ้าปรเมศวร์ราชโอรสแย่งราชสมบัติกัน พวกวังน่ากับพวกวังหลวงเกิดรบกันขึ้นกลางเมือง ฆ่าฟันกันเปนเบือ พระมหาอุปราชมีไชยชนะ พวกวังหลวงถูกกำจัดพินาศไปในคราวนั้นอิก กำลังบ้านเมืองก็อ่อนแอลงอิกชั้น ๑ ข้อนี้มีความปรากฏในเรื่องพงศาวดารแลจดหมายเหตุครั้งแผ่นดินเจ้าฟ้าพร ซึ่งเสวยราชย์ทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชา (ที่ ๒) แต่เรียกกันเปนสามัญในชั้นหลังว่าพระเจ้าบรมโกษฐ์ ให้แลเห็นเปนอุทาหรณ์หลายเรื่อง เช่นครั้งหนึ่ง เสด็จไปประพาศเมืองลพบุรีทางในกรุง ฯ พวกจีนรวมกันสัก ๓๐๐ คน บังอาจถึงเข้าปล้นพระราชวังหลวง อิกครั้งหนึ่งจะทำพระเมรุกลางเมืองกระบวรแห่ขาดจำนวนไปเพียง ๖๐ คน ถึงเสนาบดีนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอเรียนพระราชปฏิบัติ ต้องโปรด ฯ ให้ชักคนที่อยู่ประจำน่าที่เอาไปเปนเกณฑ์แห่ดังนี้ การทหารในสมัยนั้นเห็นจะเสื่อมทรามลงกว่าแต่ก่อนเปนอันมาก ประเพณีการทหารบางอย่างอันเปนปรปักษ์แก่ยุทธวินัย ดังเช่นยอมให้ไพร่พลเสียเงินจ้างคนเข้าเวรรับราชการแทนตัวได้นั้นเปนต้น ก็เห็นจะมีขึ้นในสมัยนี้ โดยจะมีเหตุอันใดอันหนึ่ง เกิดขึ้น ดังเช่นมูลนายไม่สามารถจะติดตามเอาตัวคนมารับราชการได้เต็มจำนวน จึงเห็นประโยชน์ในการที่จะผ่อนผันเอาใจไพร่แล้วก็เลยเปนธรรมเนียมต่อมา เพราะในระยะเวลา ๗๐ ปี ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชามาจนสิ้นรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์ต่างประเทศที่ใกล้เคียงกับเมืองไทยพากันซุดโทรมด้วยเรื่องรบพุ่งกันบ้างเกิดจลาจลภายในบ้าง ทั้งพม่ามอญลาวเขมร เมืองไทยปราศจากเหตุที่จะต้องกริ่งเกรงศัตรูต่างประเทศ ยิ่งมาถึงเมื่อแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ์ มีแต่ต่างประเทศมาอ่อนน้อมฤๅมาขอเปนไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ภายในก็สิ้นเสี้ยนศัตรูราบคาบทั่วพระราชอาณาเขตร จึงยกย่องกันมาแต่ก่อนว่า เมื่อแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ์นั้นบ้านเมืองรุ่งเรือง มักอ้างกันในสมัยเมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทรว่าเปน "ครั้งบ้านเมืองดี " ดังนี้ เพราะต่อมาถึงแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศพระที่นั่งสุริยามรินทร์ครองกรุงศรีอยุธยา การทั้งปวงเลวทรามหนักลงไป เมื่อมีศึกพม่าเข้ามาการที่ต่อสู้เลวทราม เช่นหลงเชื่อวิทยาคุณเปนใหญ่ยิ่งกว่ายุทธวิธี จึงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๐ ด้วยประการฉนี้ เล่าเรื่องพงศาวดารที่เกี่ยวแลการเกณฑ์ทหารมาพอให้แลเห็นเหตุการณ์
ว่าด้วยลักษณเกณฑ์ทหารอย่างโบราณ
แก้ไขข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ข้างต้นหนังสือนี้ ว่าไม่มีหนังสือเก่าเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่จะได้แสดงวิธีเกณฑ์ทหารไทยอย่างโบราณไว้ชัดเจน การที่เรียบเรียงหนังสือเรื่องนี้ ข้าพเจ้าตรวจเห็นเค้าเงื่อนอันมีอยู่ในหนังสือต่าง ๆ คือ พงศาวดาร กฏหมาย แลทำเนียบเก่าเปนต้น คิดเรียบเรียงขึ้นตามอัตโนมัติ เพราะฉนั้นอาจจะวิปลาศพลาดพลั้งได้ ขอบอกซ้ำสำหรับที่จะอธิบายวิธีเกณฑ์ทหารต่อไปนี้อิกครั้ง๑ อิกประการ ๑ วิธีการทหารไทยได้จัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตามเหตุการณ์หลายครั้งหลายคราว การอย่างใดจะได้จัดในคราวไหนเพียงใด ทราบแน่ไปกว่าในเรื่องพงศาวดารที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นไม่ได้ จำต้องรวมแสดงแต่พอแลเห็นรูปลักษณการดังจะกล่าวต่อไปนี้
๑) ว่าด้วยบุคคลที่ต้องเปนทหาร
แก้ไขการเกณฑ์ทหารแต่โบราณกำหนดบุคคลเปน ๔ พวก คือ ไทยพวก ๑ นักบวชพวก ๑ คนต่างชาติพวก ๑ ทาษพวก ๑
บรรดาชายไทยไม่ว่ายศศักดิ์ฤๅสกุลอย่างใดต้องเปนทหารทั้งนั้น เชื้อสายคนชาติอื่นอันเกิดในประเทศนี้นับว่าเปนไทย แต่คนชาติไทยที่ตกเปนทาษไม่นับว่าเปนไทยในวิธีเกณฑ์ทหาร
นักบวชนั้น ไม่ว่าบวชในพระพุทธสาสนาฤๅไสยสาตร ยกเว้นไม่เกณฑ์เปนทหาร ความข้อนี้มีเรื่องกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ให้สึกพระภิกษุสามเณรออกมารับราชการ (ทหาร) แต่มีจดหมายเหตุของฝรั่งแต่งไว้ในครั้งนั้นว่า มีคนหลีกเลี่ยงราชการทหารออกบวชเปนพระภิกษุสามเณรมากนัก สมเด็จพระนารายน์โปรดให้หลวงสรศักดิ์เปนแม่กองพิจารณาเลือกสึกเสียเปนอันมากดังนี้ น่าจะจริงอย่างฝรั่งว่า เพราะวิชเยนทร์เปนคฤศตัง สมเด็จพระนารายน์เห็นจะไม่โปรดให้มีอำนาจเหนือพระภิกษุสามเณรในพระพุทธสาสนา
คนต่างประเทศแต่โบราณกำหนดเปน ๓ จำพวกคือ (๑) จำพวกที่ไปมาค้าขายชั่วคราว เปนแต่เรียกใช้ฤๅเรียกเงินแทนแรงเปนครั้งเปนคราวไม่เกณฑ์เปนทหาร (๒) จำพวกที่มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ประจำในพระนคร ถ้าใครสมัคก็ยอมรับเปนทหารอาสา (๓) จำพวกลูกหลานเชื้อสายของชาวต่างประเทศอันเกิดในเมืองไทย (เช่นพวกเชื้อสายโปร์ตุเกศที่อยู่กฎีจีน) เกณฑ์เหมือนกับไทย
คนที่เปนทาษเปนเชลยนั้น จะเปนไทยฤๅเปนคนชาติอื่นก็ตาม ถือว่าเปนคนชั้นเลวคล้ายกับปสุสัตวสำหรับแต่จะเปนบ่าวไพร่จึงเปนแต่เกณฑ์ใช้แรง ไม่ให้มีศักดิ์เปนทหาร
๒) กำหนดเวลารับราชการ
แก้ไขการเกณฑ์ทหารนับว่าคนอายุ ๑๘ ปีถึงกำหนดจะต้องเปนทหารต้องรับราชการอยู่จนอายุ ๖๐ ปี จึงปลดปล่อย แต่ถ้ามีลูกชายเข้ารับราชการ๓ คน ก่อนพ่ออายุ ๖๐ ปี ก็ปลดปล่อยดุจกัน กำหนดเช่นกล่าวนี้อนุโลมถึงบุคคลจำพวกซึ่งมีน่าที่รับราชการอย่างอื่น เช่นเสียเงินแทนแรงเปนต้น อันมิต้องเปนทหารด้วย
การที่เข้าทะเบียนเกณฑ์นั้น เมื่ออายุยังอยู่ในระหว่าง๑๘ปี ไปหา ๒๐ ปี เรียกว่าไพร่สม ให้มูลนายฝึกหัดไปก่อนยังมิต้องรับราชการ เมื่ออายุพ้น ๒๐ ปีแล้วจึงยกขึ้นเปนตัวทหาร เรียกว่าไพร่หลวง
ไพร่หลวงมีน่าที่ต้องมาอยู่ประจำราชการปีละ ๖ เดือนเปนนิจ กำหนดนี้ภายหลังลดลงมาเปนปีละ๔เดือน(มาถึงกรุงรัตนโกสินทรลงลดคงแต่ปีละ ๓ เดือน)
เมื่อเกิดวิธียอมให้ไพร่เสียเงินจ้างคนรับราชการแทนตัวได้ในเวลาปรกติ ไพร่หลวงต้องเสียค่าจ้างเดือนละ ๖ บาท ทาษเพียงปีละ ๖ สลึง (คือบาท ๑ กับ ๕๐ สตางค์) เงินค่าจ้างคนแทนเช่นนี้ ชั้นแรกเห็นจะให้มูลนายจัดจ้างคนแทนจริง ๆ แต่ชั้นหลังมารัฐบาลยอมรับเงินนั้นในเวลาบ้านเมืองเปนปรกติ จึงเลยเรียกว่าค่าราชการ มีเงินอิกประเภท ๑ เรียกว่าส่วย เกิดแต่รัฐบาลยอมให้ไพร่พลอันอยู่ห่างไกล แต่อยู่ในที่เกิดสิ่งของซึ่งต้องการใช้ในราชการ ยกตัวอย่างเช่นดินประสิวอันต้องการใช้ทำดินปืนเปนต้น จึงยอมใหไพร่พลซึ่งตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามหมู่เขาหาดินประสิวตามถ้ำมาส่งเปนส่วยแทนตัวมารับราชการได้ มีส่วยต่าง ๆ ซึ่งตั้งขึ้นในครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานีมากมายหลายอย่าง ครั้นนานมาก็ยอมให้ส่งเปนเงินแทนดินประสิวได้อย่างเดียวกับค่าราชการ แต่อัตราต่ำกว่า อยู่ราวปีละ ๖ บาท แต่การที่ยอมให้เสียค่าราชการแลส่วยแทนรับราชการดังกล่าวมานี้ ยอมเฉภาะแต่เวลาที่บ้านเมืองเปนปรกติ ถ้ามีการทัพศึกก็เกณฑ์เรียกตัวมารับราชการ
๓) การควบคุมรี้พล
แก้ไขลักษณการควบคุมทหารไทยแต่โบราณ กำหนดเอาครัวเรือนเปนชั้นต่ำเบื้องต้นของการควบคุม เปนประเพณีมีมาเก่าแก่แต่ดั้งเดิม คู่กับข้อที่เกณฑ์ไทยทุกคนให้ต้องเปนทหาร เพราะฉนั้นจึงถือเปนหลักว่าบิดาสังกัดอยู่กรมไหนบุตรหลานต้องอยู่กรมนั้นตามกันการควบคุมต่อขึ้นมาอิกชั้นหนึ่งเรียกว่ากองคือหลายครัวเรือนรวมกัน หลายกองรวมกันกำหนดว่าเปนกรม บรรดากรมนั้นมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันโดยพระราชบัญญัติ เช่นเรียกว่ากรมตำรวจ แลกรมฝีพายเปนต้น เพราะกรมเปนหลักของการทำทเบียนหมายหมู่ผู้คน กรมจึงต้องมีแต่เฉภาะที่ลงชื่อไว้ในทำเนียบ ถ้าแลมิได้มิพระราชบัญญัติจะรวบรวมคนตั้งกรมขึ้นใหม่ไม่ได้ ความข้อนี้ยังมีอุทาหรณ์เห็นได้ในการตั้งกรมเจ้านาย ที่แท้นั้นคือประกาศพระราชบัญญัติให้ตั้งกรมทหารขึ้นใหม่ เรียกนามว่า "กรมโยธาทิพ" ฤๅ "กรมเทพามาตย์" เปนต้น แลโปรดให้ขึ้นอยู่ในเจ้านายพระองค์นั้น ๆ นามกรมเปนแต่นามสำหรับเรียกกรมทหาร อย่างเดียวกับเช่นเรียกว่ากรทหมารราบที่ ๔ ที่ ๕ ทุกวันนี้ มิใช่พระนามของเจ้านาย เพราะฉนั้นแต่โบราณเมื่อขานพระนามเจ้านายต่างกรม จึงใช้คำ "เจ้า" นำน่านามกรม เช่นว่า "เจ้ากรมหมื่นสุรินทรรักษ" ดังนี้เปนต้น หมายความว่าเปนเจ้าของทหารกรมสุรินทรรักษนั้น.
บรรดากรมทั้งปวงกรม ๑ มีเจ้ากรมเปนผู้บังคับการคน ๑ ปลัดกรมเปนผู้ช่วยคน ๑ แลสมุห์บาญชีเปนผู้ทำบาญชีพลคน ๑ แลมีนายกองรองลงมา (เรียกว่าขุนหมื่น) สำหรับดูแลควบคุมไพร่พลในกรมนั้นมากบ้างน้อยบ้าง พวกขุนหมื่นมักอยู่ตามท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของไพรพล เพราะวิธีการควบคุมคนแต่โบราณไม่ได้ใช้กำหนดท้องที่เปนหลัก จึงไม่อาไศรยกำนันผู้ใหญ่บ้านพนักงานปกครองท้องที่ถึงไพร่พลจะไปอยู่ที่ไหน ๆ ก็ต้องอยู่ในปกครองนายกองของตน นายกองเปนผู้เรียกหาไพร่พลในเวล ต้องการตัวเข้ามารับราชการ การควบคุมคนในกรม เจ้ากรมเปนผู้รับผิดชอบทั้งที่จะต้องควบคุมผู้คนที่ลงทเบียนแล้ว แลที่จะต้องสืบสาวเอาลูกหมู่คนในกรม แลเกลี้ยกล่อมหาคนที่หลบเลี่ยงลอยตัวอยู่มาขึ้นทเบียนเพิ่มเติม อย่าให้จำนวนคนในกรมของตนลดน้อยถอยลงได้ แต่จำนวนที่จะกำหนดเปนอัตราว่า กรม ๑ แลกอง ๑ จะต้องมีคนมากน้อยเท่าใดนั้นหาปรากฏไม่ กรมทหารแต่โบราณนั้นดูเหมือนจะกำหนดเปน ๔ ชั้น คือกรมพระ เช่นกรมตำรวจในซ้ายขวา เจ้ากรมเปนพระมหาเทพพระมหามนตรีนี้ เปนต้น เปนกรมชั้นที่ ๑ กรมหลวง เช่นกรมตำรวจนอกขวาซ้าย เจ้ากรมเปนหลวงราชนรินทร หลวงอินทรเดชะนี้เปนต้น เปนกรมชั้นที่ ๒ กรมขุนเช่นกรมทนายเลือกขวาซ้าย เจ้ากรมเปนขุนภักดีอาสา ขุนโยธาภักดีนี้เปนต้น เปนกรมชั้นที่ ๓ กรมหมื่น เช่นกรมแตรขวาซ้าย เจ้ากรมเปนหมื่นเสน่ห์ราชา หมื่นจินดาราชนี้เปนต้น เปนกรมชั้นที่ ๔ ลักษณที่จัดกรมชื่อเดียวกันเปนกรมขวาแลกรมซ้าย ดูเปนทำนองเดียวกับจัดกรม ๑ เปน ๒ กองพัน เพราะฉนั้นที่เปนกรมชั้นสูง เช่นกรมคชบาลแลกรมตำรวจเปนต้น จึงมีตำแหน่งจางวางเปนนายพล บังคับรวมกันอิกชั้น ๑แต่กรมชั้นต่ำนั้นไม่มีตำแหน่งจางวางในทำเนียบเห็นจะเปนเพราะจำนวนพลน้อย ฤๅแต่เดิมมีแล้วเลิกเสียเพราะเหตุนั้นก็เปนได้.
ในเวลามีการทัพศึกลักษณกะเกณฑ์รี้พลเกณฑ์เรียกเปนกรม ๆ เกณฑ์ไปหมดทั้งกรมฤๅแบ่งเกณฑ์ แต่ส่วนหนึ่งตามควรแก่เหตุการณ์ไปจัดเข้าเปนกองทัพอิกชั้น ๑ระเบียบการควบคุมทหารอย่างโบราณเข้าใจว่าเปนอย่างกล่าวมานี้.
๔) ลักษณจัดประเภททหาร
แก้ไขทหารไทยแต่โบราณมีแต่ทหารบก ทหารเรือหามีไม่ เรือรบที่สร้างขึ้นอย่างเรือพาย ก็ใช้ทหารบกเปนทั้งพลพายแลพลรบด้วยในตัว ถ้ายกกองทัพไปทางทเลใหญ่ก็เอาทหารบกบรรทุกเรือไปรบพุ่งพวกเดินเรือเปนพลเรือนไม่นับในทหาร ประเพณีในยุโรป แม้ประเทศอังกฤษ แต่เดิมทีเดียวก็มีแต่ทหารบกทำนองเดียวกัน ทหารเรือเปนของเกิดขึ้นต่อชั้นหลัง
ทหารบกตามตำราพราหมณ์ กำหนดเปน ๔ เหล่า คือพลช้างเหล่า ๑ พลม้าเหล่า ๑ พลรถเหล่า ๑ พลราบเหล่า ๑ เรียบรวมกันว่าจตุรงค์เสนา ทหารไทยแต่โบราณก็จัดประเภทต่างกันเปน ๔ เหล่า คือ ทหารช้างเหล่า ๑ ทหารม้าเหล่า ๑ ทหารราบเหล่า ๑ ทหารช่างเหล่า ๑ ไม่มีทหารรถ เห็นจะเปนเพราะมิใคร่มีที่ใช้ในการรบ แลทหารปืนใหญ่นั้นรวมอยู่ในทหารราบ หาได้แยกออกเปนเหล่าหนึ่งต่างหากไม่
กรมทหารทั้งปวงแบ่งสังกัดเปนฝ่ายทหารพวก ๑ เปนฝ่ายพลเรือนพวก ๑ กรมพวกฝ่ายทหารขึ้นอยู่ในกลาโหม รับราชการทหารซึ่งมีประจำอยู่เปนนิจ กรมพวกฝ่ายพลเรือนขึ้นอยู่ในมหาดไทย รับราชการต่าง ๆ อันเปนการพลเรือนซึ่งมีประจำอยู่เปนนิจ ถ้าเวลามีการศึกสงครามก็สมทบกันทั้งกรมฝ่ายทหารแลฝ่ายพลเรือน
อนึ่งกรมทหารทั้งปวงนั้นจัดเปนทหารสำหรับรักษาพระองค์พวก ๑ คือ กรมช้างต้น กรมม้าต้น กรมตำรวจ แลกรมช่างทหารใน เปนต้น อิกพวก ๑ เปนทหารสำหรับราชการสามัญ เช่นกรมคชบาล กรมอัศวราช กรมอาสาหกเหล่า แลกรมช่างสิบหมู่ เปนต้น.
พนักงานบัญชาการทหารทั้งปวง (ทำนองน่าที่เสนาธิการในบัดนี้) นั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเปนประธาน รองลงมาก็อรรคมหาเสนาบดีที่สมุหนายก กับอรรคมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหม ในกรมมหาดไทยแลกลาโหม มีเจ้าพนักงานสำหรับการต่าง ๆ ในกระบวรทัพเปนหลายแพนก คือ แพนกพล มีทั้ง ๒ กรม แพนกช่าง แพนกม้า แพนกทาง ๓ แพนกนี้อยู่ในมหาดไทย แพนกเรือ แพนกตำหนัก (ที่สำนัก) แพนกเครื่องสรรพยุทธ ๓ แพนกนี้อยู่ในกลาโหม กรมพระสุรัสวดีเปนพนักงานทำทเบียนบาญชีพลทั้งในกรุงแลหัวเมือง ส่วนหัวเมืองนั้น เจ้าเมืองมักเปนนายทหารทั้งนั้น แต่ทหารเมืองชั้นในรวมการปกครองอยู่ในกองทัพราชธานี ส่วนหัวเมืองเอก โท ตรี จัดกระบวรพลเปนกองทัพเฉภาะเมืองนั้น ๆ เจ้าเมืองเปนนายพลผู้บัญชาการกองทัพเมืองนั้น ๆ ด้วย ระเบียบกระบวรทัพในราชธานีกำหนดเปน ๓ ทัพ คือพระมหาอุปราชเปนทัพน่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเปนทัพหลวง กรมพระราชวังหลังเปนทัพหลัง กองทัพหัวเมือง เอก โท ตรี เปนกองอิศระ แล้วแต่ในราชธานีจะสั่งให้ยกไปแต่โดยลำพัง ฤๅให้มาสมทบกองทัพราชธานี
ลักษณการทหารแต่โบราณปรากฏเค้าเงื่อนว่า จัดโดยแบบแผนดังได้แสดงมา เรียบเรียงเรื่องตำนานการเกณฑ์ทหารไทยแต่โบราณยุติความเพียงนี้.