ตำนานพระปริตรและพระปริตร/ตำนานที่ 11

ขัดตำนาน อภยปริตร

 ปุญฺญลาภํ มหาเดชํ วณฺณกิตฺติมหายสํ
สพฺพสตฺตหิตํ ชาตํ ตํ สุณนฺตุ อเสสโต
อตฺตปรหิตํ ชาตํ ปริตฺตนฺตมฺภณาม เห
 
ตำนานที่สิบเอ็ด อภยปริตร

 ยนฺทุนฺนิมิตฺตํ ฯลฯ สงฺฆานุภาเวน วินาสเมนฺตุ คาถานี้ยังมิได้พบที่มาโดยตรง แต่สันนิษฐานเทียบเคียงคาถาบางส่วนที่ตรงกับพระสูตรมีบ้าง พอเห็นได้ว่า เป็นคาถาที่แสดงว่า ถ้าอวมงคลอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น ให้เจริญพระปริตรคุ้มครอง อย่าให้ฆ่าสัตว์สิ่งละ ๔ ๆ บูชายัญเพื่อให้คุ้มโทษตามลัทธิพราหมณ์ จะได้ยกเรื่องในมหาสุบินชาดกมาแสดงไว้พอเป็นนิทัศน์ ความว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงพระสุบิน ๑๖ ข้อ แล้วให้เกิดความหวาดหวั่นต่อมรณภัย จึงทรงเล่าพระสุบินนั้นให้พราหมณ์ปุโรหิตฟัง พราหมณ์ปุโรหิตพยากรณ์ว่า จะเกิดเหตุอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่พระองค์และราชสมบัติหรือพระมเหสี และแสดงให้ทรงบำบัดอันตรายด้วยยัญญวิธี คือ เอาสัตว์สิ่งละ ๔ ๆ มาบูชายัญ ก็จะพ้นโทษ พระเจ้าปัสเสนทิโกศลโปรดให้เตรียมการบูชายัญตามถ้อยคำของพราหมณ์ ครั้งนั้น นางมัลลิกาเทวีได้ทราบความนี้แล้วจึงทูลพระราชสามีว่า ขอให้โปรดทูลถามเหตุที่เกิดอันตรายทั้งหลายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด พระเจ้าปัสเสนทิโกศลก็เสด็จไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าณเชตวันมหาวิหาร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภัยอันใดอันหนึ่งจะได้บังเกิดมีแก่พระเจ้าปัสเสนทิโกศลก็หาไม่ และได้ทรงพยากรณ์ถึงเหตุการณ์ที่จะเป็นไปในอนาคตกาลโดยแจ่มแจ้ง และในที่สุด ก็มีพระพุทธดำรัสให้พระเจ้าปัสเสนทิโกศลรื้อถอนยัญญวิธีนั้นเสีย

เรื่องที่กล่าวมานี้เป็นการสันนิษฐานความว่า ทุสฺสุปินํ อกนฺตํ สุบินชั่วอันไม่พอใจอันใดด้วย

ยังมีชาดกอีกเรื่องหนึ่ง ชื่อว่า อัฏฐสัททชาดก กล่าวว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปัสเสนทิโกศลได้ทรงสะดับเสียงสัตว์หลายชนิด มีนกเป็นต้น ส่งเสียงร้องแปลกประหลาด พระองค์ก็หวาดหวั่นต่อมรณภัย ได้เตรียมการจะทำยัญญกรรมเหมือนในพระสูตรก่อน และพระองค์ก็ได้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้าด้วย

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ให้พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทราบโดยพิสดาร แล้วทรงประทานพระพุทโธวาสให้รื้อถอนยัญญกรรมนั้นเสีย

เรื่องที่กล่าวมานี้เป็นการสันนิษฐานความว่า โย จามนาโป สกุณสฺส สทฺโท เสียงนกที่ไม่ชอบใจอันใดด้วย

เนื้อความบทอื่น ๆ ก็คงมีนัยที่มาแต่สูตรอื่นเช่นกัน พระอรรถกถาจารย์ถือเอาความที่แสดงไว้ในธชัคคสูตรว่า เมื่อความหวาดสะดุ้งเกิดขึ้น ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ก็จะขจัดความหวาดสะดุ้งเสียได้ และเพื่อจะกันเสียซึ่งลัทธิบูชายัญของพราหมณ์ตามที่กล่าวมาแล้วนั้นด้วย จึงได้รจนาพระปริตรบทนี้ไว้ให้เป็นประโยชน์สืบมา

 ทุกฺขปฺปตฺตา จ นิทฺทุกฺขา ฯลฯ รกฺขํ พนฺธามิ สพฺพโส คาถานี้ก็ยังไม่ได้พบที่มาจากพระสูตร มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นคาถาแผ่กรุณาพรหมวิหาร และให้ส่วนกุศล กับตักเตือนมนุษย์ทั้งหลายให้ประกอบการกุศล อนึ่ง เป็นคาถาสวดส่งเทวดา คือ เมื่อเชิญเทวามาด้วยบท สคฺเค ฯลฯ สุณนฺตุ ครั้นเสร็จการพิธีแล้ว จึงเชิญกลับด้วยคาถาบทนี้ เนื้อความนอกจากนี้ก็มีอยู่ในคาถาและคำแปลแล้ว

คาถาและคำแปล อภยปริตร ดังต่อไปนี้:—

ยนฺทุนฺนิมิตฺตํ อวมงฺคลญฺจ นิมิตรที่ชั่วร้ายอันใดด้วย อวมงคลอันใดด้วย
โย จามนาโป สกุณสฺส สทฺโท เสียงนกเป็นที่ไม่ชอบใจอันใดด้วย
ปาปคฺคโห ทุสฺสุปินํ อกนฺตํ บาปเคราะห์อันใดด้วย สุบินชั่วอันไม่พอใจอันใดด้วย มีอยู่
พุทฺธานุภาเวน วินาสเมนฺตุ ขอสิ่งเหล่านั้นจงถึงความพินาสไปด้วยอานุภาพพระพุทธเจ้า
ยนฺทุนฺนิมิตฺตํ อวมงฺคลญฺจ นิมิตที่ชั่วร้ายอันใดด้วย อวมงคลอันใดด้วย
โย จามนาโป สกุณสฺส สทฺโท เสียงนกเป็นที่ไม่ชอบใจอันใดด้วย
ปาปคฺคโห ทุสฺสุปินํ อกนฺตํ บาปเคราะห์อันใดด้วย สุบินชั่วอันไม่พอใจอันใดด้วย มีอยู่
ธมฺมานุภาเวน วินาสเมนฺตุ ขอสิ่งเหล่านั้นจงถึงความพินาสไปด้วยอานุภาพพระธรรม
ยนฺทุนฺนิมิตฺตํ อวมงฺคลญฺจ นิมิตที่ชั่วร้ายอันใดด้วย อวมงคลอันใดด้วย
โย จามนาโป สกุณสฺส สทฺโท เสียงนกเป็นที่ไม่ชอบใจอันใดด้วย
ปาปคฺคโห ทุสฺสุปินํ อกนฺตํ บาปเคราะห์อันใดด้วย สุบินชั่วอันไม่พอใจอันใดด้วย มีอยู่
สงฺฆานุภาเวน วินาสเมนฺตุ ขอสิ่งเหล่านั้นจงถึงความพินาสไปด้วยอานุภาพพระสงฆ์
 ทุกฺขปฺปตฺตา จ นิทฺทุกฺขา ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ถึงแล้วซึ่งทุกข์ จงเป็นผู้ไม่มีทุกข์
และถึงแล้วซึ่งภัย จงเป็นผู้ไม่มีภัย และถึงแล้วซึ่งโศก จงเป็นผู้
ไม่มีโศกเถิด
ภยปฺปตฺตา จ นิพฺภยา
โสกปฺปตฺตา จ นิสฺโสกา
โหนตุ สพฺเพปิ ปาณิโณ
เอตฺตาวตา จ อมฺเหหิ ขอเทพเจ้าทั้งปวงจงอนุโมทนาซึ่งความถึงพร้อม คือ บุญ
อันเราทั้งหลายก่อสร้างแล้วด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้
สมฺภตํ ปุญฺญสมฺปทํ
สพฺเพ เทวานุโมทนฺตุ
สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา เพื่ออันสำเร็จสมบัติทั้งปวง
ทานํ ททนฺตุ สทฺธาย มนุษย์ทั้งหลาย จงให้ทานด้วยศรัทธา
สีลํ รกฺขนฺตุ สพฺพทา จงรักษาศีลในการทั้งปวง
ภาวนาภิรตา โหนฺตุ จงเป็นผู้ยินดีแล้วในการภาวนา
คจฺฉนฺตุ เทวตาคตา เทวดาทั้งหลายที่มาแล้ว เชิญกลับไปเถิด
สพฺเพ พุทฺธา พลปฺปตฺตา พระพุทธเจ้าทั้งหลายล้วนทรงพระกำลังทั้งหมด
ปจฺเจกานญฺจ ยํ พลํ กำลังอันใดแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วย แห่งพระ
อรหนฺตานญฺจ เตเชน อรหันต์ทั้งหลายด้วย ข้าพเจ้าขอเหนี่ยวความรักษาด้วยเดช
รกฺขํ พนฺธามิ สพฺพโส แห่งกำลังทั้งหลายเหล่านั้น โดยประการทั้งปวง