ตำนานพระปริตรและพระปริตร/ตำนานที่ 9
๏ปริตฺตํ ยมฺภณนฺตสฺส | นิสินฺนฏฺฐานโธวนํ | |
อุทกมฺปิ วินาเสติ | สพฺพเมว ปริสฺสยํ | |
โสตฺถินา คพฺภวุฏฺฐานํ | ยญฺจ สาเธติ ตํขเณ | |
เถรสฺสงฺคุลิมาลสฺส | โลกนาเถน ภาสิตํ | |
กปฺปฏฺฐายิ มหาเดชํ | ปริตฺตนฺตมฺภณาเม เห. |
พระปริตรบทนี้มีเนื้อความว่า นางพราหมณี ภรรยาของปุโรหิตาจารย์อันเป็นอาจารย์ของพระเจ้าโกศลราช มีครรภ์ เมื่อถ้วนกำหนดแล้ว คลอดบุตร เวลาที่คลอดนั้นบังเกิดมหัศจรรย์ เครื่องศัสตราวุธของพราหมณ์ปุโรหิตและพระแสงศัสตราวุธของพระเจ้าโกศลก็บังเกิดลุกรุ่งเรืองดังเปลวไฟ ปุโรหิตนั้นดูฤกษ์บนเมื่อบุตรของตนคลอดนั้นแล้วก็ประหลาดใจหนักหนา จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโกศล ทูลว่า ศัสตราวุธที่ลุกขึ้นเป็นเปลวทั้งนี้ด้วยอานุภาพกุมารอันบังเกิดในเรือนข้าพระองค์จะเป็นโจรมีน้ำใจหยาบช้า นานไปจะพิฆาตหมู่ชนเสียเป็นอันมาก แต่ว่าหาประทุษร้ายต่อพระนครไม่ ขอพระองค์จงจับกุมารนั้นไปประหารชีวิตเสีย
พระเจ้าโกศลรับสั่งว่า จะฆ่ากุมารเสียบัดนี้เป็นการไม่สมควร ให้ปุโรหิตบำรุงรักษากุมารนั้นไว้เถิด ปุโรหิตก็รักษากุมารนั้นไว้ พอกุมารค่อยเจริญขึ้น จึงให้นามกรตามเหตุที่ศัสตราวุธรุ่งเรืองดังแสงเพลิงว่า อหิงสกกุมาร
เมื่ออหิงสกกุมารมีอายุสมควรแก่การเล่าเรียนศิลปศาสตร์แล้ว บิดามารดาจึงส่งเจ้าอหิงสกะไปเรียนวิชาในสำนักทิศาปาโมกข์อาจารย์ ณ เมืองตักกศิลา เจ้าอหิงสกะเป็นผู้ฉลาด เรียนศิลปศาสตร์ได้โดยเร็ว ทั้งการปรนนิบัติอาจารย์ก็ดียิ่ง เพื่อนศิษย์ด้วยกันมีความริษยา จึงพากันไปกล่าวแก่อาจารย์ว่า เจ้าอหิงสกะคิดอ่านประทุษร้ายอาจารย์ ทีแรก อาจารย์ก็หาเชื่อไม่ ครั้นพวกหลังมากล่าวอีก อาารย์ก็ตัดความรักเจ้าอหิงสกะนั้นเสีย แล้วกระทำอุบายเพื่อจะยืมอาวุธจากคนอื่นมาประหารชีวิตเจ้าอหิงสกะเสีย จึงบอกเจ้าอหิงสกะให้ไปฆ่าคน ตัดนิ้วมือมาคนละนิ้ว ให้ได้พันหนึ่ง จึงจะประสาทวิษณุมนต์ให้ เจ้าอหิงสกะตอบแก่อาจารย์ว่า การฆ่าคนผิดประเพณีแห่งพราหมณวงศ์ ตนมิอาจที่จะทำได้ อาจารย์ก็ตอบยืนคำว่า ต้องไปฆ่ามาให้ได้ จึงจะประสาือิทธิมนต์ได้ เจ้าอหิงสกะก็จำใจต้องออกไปสู่ชายป่า ฆ่าคนสัญจรไปมา ตัดเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงแขวนไว้ได้ถึง ๙๙๙ นิ้ว เหตุนี้ จึงเรียกกันว่า องคุลิมาลโจร ราษฎรได้รับความเดือดร้อนด้วยเรื่องโจรฆ่าคน จึงไปทูลพระเจ้าโกศลให้ทรงทราบ พระเจ้าโกศลก็ให้ตระเตรียมไพร่พลจะออกไปจับโจรฆ่าเสีย นางพราหมณีผู้มารดาองคุลิมาลได้ทราบว่า อันตรายจะพึงมีแก่บุตรของตน ก็รีบล่วงหน้าไปก่อนเพื่อจะบอกเหตุให้บุตรของตนทราบ
ครั้งนั้น พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณว่า องคุลิมาลมีอุปนิสัยแห่งพระอรหัตผล ถ้าพระองค์ไม่ทรงทรมานเสียก่อนแล้ว ก็จะทำมาตุฆาตและขาดเสียจากมรรคผล พระองค์จึงเสด็จไปทรงทรมานองคุลิมาลโดยอำนาจพุทธปาฏิหาริย์ องคุลิมานก็วิ่งไล่พระผู้มีพระภาค แต่หาทันไม่ จึงร้องบอกให้พระองค์หยุด พระองค์ก็ทรงพระดำเนินอยู่ แต่มีพุทธฎีกาว่า หยุดแล้ว องค์คุลิมานจึงหาว่า พระองค์ตรัสมุสาวาท พระองค์ตรัสว่า เราหยุดจากบรรดาอกุศลกรรมแล้ว แต่ตัวเธอยังไม่หยุดจากบาปกรรม พระสุรเสียงนั้นทำให้องคุลิมานได้สติเห็นโทษของตัว จึงเปลื้องอาวุธและองคุลีทั้ง ๙๙๙ ทิ้งเสีย และขออุปสมบท พระองค์ก็ทรงอนุญาติ แล้วนำไปสู่พระเชตุวัน
วันรุ่งขึ้น พระองคุลิมาลไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ชาวเมืองเห็นก็ตกใจกลัวต่อมรณภัย พากันหนีไปสิ้น ไม่มีใครใส่บาตรท่านเลย ครั้งนั้น มีหญิงคนหนึ่งท้องแก่ เห็นพระองคุลิมาลเข้า ก็มีความตกใจ จึงทำกิริยารอดรั้วหนี ด้วยเหตุท้องใหญ่รอดไปมิได้ และบังเอิญเจ็บท้องจะคลอดลูกในขณะนั้น แต่ยังทนลำบากอยู่ หาคลอดลูกได้ไม่ ญาติของหญิงนั้นคนหนึ่งคิดขึ้นว่า ถ้าพระองคุลิมาลท่านตั้งความสัจจาอธิษฐานให้หญิงนี้คลอดลูกสะดวกแล้ว ก็คงคลอดได้ง่าย จึงนิมนต์ท่านไปตั้งความสัจจาธิษฐาน พระองคุลิมาลก็ตั้งความสัตย์ เนื้อความเหมือนในคาถาสวดมนต์ หญิงนั้นก็คลอดลูกได้โดยง่ายดาย ที่ที่พระองคุลิมาลตั้งความสัตย์ ภายหลัง ได้ก่อเป็นแท่นไว้ แม้ว่าสัตว์เดียรัจฉานและสตรีที่คลอดบุตรมิได้สะดวกไปนอนบนแท่นนั้น ก็คลอดบุตรง่ายยิ่งนัก แม้ไปไม่ได้ เอาน้ำล้างแท่นนั้นมารดศีรษะสตรีที่คลอดบุตรไม่สะดวก ก็ว่า คลอดง่าย และว่า เป็นวัณโรค เมื่อเอาน้ำล้างแท่นนั้นรดศีรษะบ้าง ให้กินบ้าง ก็หายได้
เมื่อพระองคุลิมาลทำสัจจาธิษฐานแล้ว ก็ได้อาหารบิณฑบาตพอฉัน จึงกลับมาเจริญสมณธรรมต่อไป พระผู้เป็นเจ้าเจริญสมณธรรม ได้ความกำเริบร้อนใจยิ่งนัก ให้เห็นไปว่า อสุรกายที่ฆ่าไว้มาทวงเอาชีวิตเนือง ๆ ภายหลัง ได้รับพุทโธวาสว่า ให้กำจัดบาปกรรมให้ปราศจากสันดานเหมือนดังบุรุษเอาสาหร่ายและจอกแหนออกจากบ่อน้ำ พระผู้เป็นเจ้าก็ปฏิบัติตามพุทธฎีกา ในไม่ช้า ก็ได้บรรลุแก่พระอรหัตผลเป็นอริยบุคคลวิเศษในพระพุทธศาสนา
พระคาถาที่สวด สวดแต่เฉพาะพระคาถาที่พระองคุลิมาลอธิษฐาน สวด ๓ จบ มีคาถาที่สวดและคำแปลดังต่อไปนี้:—
ยโตหํ ภคินิ อริยาย | ดูกร พี่น้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วโดยชาติเป็นอริยะ | |
ชาติยา ชาโต | ||
นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ | มิได้รู้แกล้ง | |
ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา | เพื่อจะปลงสัตว์มีชีพจากชีวิต | |
เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต | ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน | |
โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส | ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่าน. |