๑ ว่าด้วยหนังสือสามก๊ก

หนังสือสามก๊กไม่ใช่เปนพงศาวดารสามัญ จีนเรียกว่า "สามก๊กจี" แปลว่า จดหมายเหตุเรื่องสามก๊ก เปนหนังสือซึ่งนักปราชญ์จีนคนหนึ่งเลือกเอาเรื่องในพงศาวดารตอนหนึ่งมาแต่งขึ้น โดยประสงค์จะให้เปนตำราสำหรับศึกษาอุบายการเมืองแลการสงคราม แลแต่งดีอย่างยิ่ง จึงเปนหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งนับถือทั่วไปในประเทศจีน แลตลอดไปจนถึงประเทศอื่น ๆ

ต้นตำนานของหนังสือสามก๊กนั้น ทราบว่า เดิมเรื่องสามก๊กเปนแต่นิทานสำหรับเล่ากันอยู่ก่อน เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑–๑๔๔๙) เกิดมีการเล่นงิ้วขึ้นในเมืองจีน พวกงิ้วก็ชอบเอาเรื่องสามก๊กไปเล่นด้วยเรื่องหนึ่ง ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์หงวน (พ.ศ. ๑๘๒๐–๑๙๑๐) การแต่งหนังสือจีนเฟื่องฟูขึ้น มีผู้ชอบเอาเรื่องพงศาวดารมาแต่งเปนเรื่องหนังสืออ่าน แต่ก็ยังไม่ได้เอาเรื่องสามก๊กมาแต่งเปนหนังสือ[1] จนถึงสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง (พ.ศ. ๑๘๑๑–๒๑๘๖) จึงมีนักปราชญ์จีนชาวเมืองฮั่งจิ๋วคนหนึ่งชื่อ ล่อกวนตง คิดแต่งหนังสือเรื่องสามก๊กขึ้นเปนหนังสือ ๑๒๐ ตอน ต่อมามีนักปราชญ์จีนอีก ๒ คน คนหนึ่งชื่อ เม่าจงกัง คิดจะพิมพ์หนังสือสามก๊ก จึงแต่งคำอธิบายแลพังโพย[2] เพิ่มเข้า แล้วให้นักปราชญ์จีนอีกคน ๑ ชื่อ กิมเสี่ยถ่าง อ่านตรวจ กิมเสี่ยถ่างเลื่อมใสในหนังสือสามก๊ก ช่วยแก้ไขคำพังโพยของเม่าจงกัง แล้วแต่งคำอธิบายของกิมเสี่ยถ่างเองเปนทำนองคำนำ[3] มอบให้เม่าจงกังไปแกะตัวพิมพ์ตีพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กขึ้น หนังสือสามก๊กจึงได้มีฉะบับพิมพ์แพร่หลายในประเทศจีน แล้วได้ฉะบับต่อไปถึงประเทศอื่น ๆ


  1. ในคำนำเรื่องสามก๊กภาษาอังกฤษของมิสเตอรบริเวตเตเลอว่า หนังสือสามก๊กแต่งครั้งสมัยราชวงศ์หงวน แต่พระเจนจีนอักษรได้สอบว่า หาเปนเช่นนั้นไม่
  2. พังโพยนั้นเปนทำนองฟุตโน้ต มักเรียกในภาษาไทยว่า "คำกลาง" แปลไว้ในหนังสือสามก๊กภาษาไทยหลายแห่ง แต่ว่าไม่หมดที่เม่าจงกังได้แต่งไว้
  3. คำอธิบายของกิมเสี่ยถ่างจะปรากฎในหนังสือนี้ต่อไปข้างหน้า