๓ ว่าด้วยสำนวนแปลหนังสือสามก๊ก

ลักษณะการแปลหนังสือจีนเปนภาษาไทยแต่โบราณ (หรือแม้จนชั้นหลังมา) อยู่ข้างลำบาก ด้วยผู้รู้หนังสือจีนไม่มีใครชำนาญภาษาไทย ผู้ชำนาญภาษาไทยก็ไม่มีใครรู้หนังสือจีน การแปลจึงต้องมีพนักงานเปนสองฝ่ายช่วยกันทำ ฝ่ายผู้ชำนาญหนังสือจีนแปลความออกให้เสมียนจดลง แล้วผู้ชำนาญภาษาไทยเอาความนั้นเรียบเรียงแต่งเปนภาษาไทยให้ถ้อยคำแลสำนวนความเรียบร้อยอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงต้องมีผู้ซึ่งทรงความสามารถ เช่น กรมพระราชวังหลัง แลเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เปนต้น จนเมื่อชั้นหลัง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเปนผู้อำนวยการแปล ท่านผู้อำนวยการบางทีจะไม่ได้เปนผู้แต่งภาษาไทยเองทุกเรื่อง แต่เห็นจะต้องสันนิษฐานทักท้วงแก้ไขทั้งข้อความแลถ้อยคำที่แปลมากอยู่ ข้อนี้พึงสังเกตได้ในบรรดาหนังสือเรื่องพงศาวดารจีนที่แปลนั้น ถ้าเปนเรื่องที่ผู้มีบันดาศักดิ์สูงอำนวยการแปล สำนวนมักดีกว่าเรื่องที่บุคคลสามัญแปล แต่สำนวนแปลคงจะไม่สู้ตรงกับสำนวนที่แต่งไว้ในภาษาจีนแต่เดิม เพราะผู้แปลมิได้รู้สันทัดทั้งภาษาจีนแลภาษาไทยรวมอยู่ในคนเดียวเหมือนเช่นแปลหนังสือฝรั่งกันทุกวันนี้

ในบรรดาหนังสือเรื่องพงศาวดารจีนที่ได้แปลเปนภาษาไทย นับถือกันว่า สำนวนหนังสือสามก๊กดีกว่าเรื่องอื่น ด้วยใช้ถ้อยคำแลเรียงความเรียบร้อยสม่ำเสมอ อ่านเข้าใจง่าย ถึงมีผู้ชอบยกเอาประโยคในหนังสือสามก๊กไปพูดเล่นเปนภาษิตในเมื่อจะกล่าวถึงสำนวนหนังสือเรื่องอื่นซึ่งไม่ยักเยื้อง มักกล่าวว่า เปนสำนวนอย่าง "สามเพลงตกม้าตาย" หรือ "ได้ฟังดังนั้นก็โกรธ" ดังนั้น แต่มิใช่ติเตียนสำนวนหนังสือสามก๊ก ยอมว่าเปนสำนวนดีด้วยกันทั้งนั้น จึงได้ใช้หนังสือสามก๊กเปนแบบสำหรับหัดเรียงความในโรงเรียน แต่เมื่อข้าพเจ้าอ่านหนังสือสามก๊กคราวหลัง มาสังเกตเห็นขึ้นใหม่อย่างหนึ่งซึ่งมิได้เคยรู้มาแต่ก่อนว่า หนังสือสามก๊กนั้น สำนวนที่แต่งคำแปลเปนสองสำนวน สำนวนหนึ่งแต่งตั้งแต่ต้นไปจนในสมุดพิมพ์เล่มที่ ๓ ตามฉะบับเดิม หรือที่เปลี่ยนเปนตอนที่ ๕๕ ในฉะบับพิมพ์ใหม่นี้ แต่นั้นไปจนหมดเรื่องเปนอีกสำนวนหนึ่งต่างหาก แต่งก็ไม่เลว แต่ไม่ดีเหมือนสำนวนที่แต่งตอนต้น[1] ซึ่งหนังสือสามก๊กเปนสองสำนวนดังกล่าวนี้ น่าสันนิษฐานว่า จะเปนเพราะเจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปลอยู่ไม่ทันตลอดเรื่อง ถึงอสัญกรรมเสีย (เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗) มีผู้อื่นอำนวยการแปลต่อมา สำนวนจึงผิดกันไป

อนึ่ง การแปลภาษาจีนเปนภาษาไทยผิดกับแปลภาษาอื่นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยจีนต่างเหล่าอ่านหนังสือจีนสำเนียงผิดกัน เช่น หนังสือเรื่องสามก๊กนี้ จีนต่างเหล่าต่างเรียกชื่อเมืองแลชื่อบุคคลผิดกัน ดังจะแสดงพอให้เห็นเปนตัวอย่างต่อไปนี้

ราชอาณาเขตต์ของพระเจ้าโจผี คำหลวง (คือ จีนเมืองหลวงเดิม)[2] เรียกว่า ไวโกวะ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า วุยก๊ก จีนแต้จิ๋วเรียกว่า งุ่ยก๊ก จีนกวางตุ้งเรียกว่า ง่ายโกะ จีนไหหลำเรียกว่า หงุ่ยก๊ก

ราชอาณาเขตต์ของพระเจ้าเล่าปี่ คำหลวงเรียกว่า จ๊กโกวะ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า จ๊กก๊ก จีนแต้จิ๋วเรียกว่า จ๊วกก๊ก จีนกวางตุ้งเรียกว่า ซกโกะ จีนไหหลำเรียกว่า ต๊กก๊ก

ราชอาณาเขตต์ของพระเจ้าซุนกวน คำหลวงเรียกว่า อู๋โกวะ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า ง่อก๊ก จีนแต้จิ๋วเรียกว่า โหง็วก๊ก จีนกวางตุ้งเรียกว่า อื้อโกะ จีนไหหลำเรียกว่า โง่วก๊ก

เล่าปี่ คำหลวงเรียก ลิ่วปิ๋ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า เล่าปี่ จีนแต้จิ๋วเรียกว่า เล่าปิ๋ จีนกวางตุ้งเรียกว่า เหล่าปี๋ จีนไหหลำเรียกว่า ลิ่วปี่

โจโฉ คำหลวงเรียก เฉาเช่า จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า โจโฉ จีนแต้จิ๋วเรียกว่า เช่าเฉา จีนกวางตุ้งเรียกว่า โช่วเชา จีนไหหลำเรียกว่า เซาเซ่า

ซุนกวน คำหลวงเรียกว่า ซุนขยง จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า ซุ่นกวน จีนแต้จิ๋วเรียกว่า ซึงขวน จีนกวางตุ้งเรียกว่า ซุนคิ่น จีนไหหลำเรียกว่า ตุนเขียน

ขงเบ้ง คำหลวงเรียกว่า ข้งหมิ่ง จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า ขงเบ้ง จีนแต้จิ๋วเรียกว่า ขงเหมง จีนกวางตุ้งเรียกว่า หงเม่ง จีนไหหลำเรียกว่า ขงเหม่ง

สุมาอี้ คำหลวงเรียกว่า ซือม้าอี๋ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า สุมาอี้ จีนแต้จิ๋วเรียกว่า ซือเบอี๋ จีนกวางตุ้งเรียกว่า สือหมาอี้ จีนไหหลำเรียกว่า ซีมาอี๋

จิวยี่ คำหลวงเรียกว่า เจียวหยี จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า จิวยี่ จีนแต้จิ๋วเรียกว่า จิวหยู จีนกวางตุ้งเรียกว่า จาวหยี จีนไหหลำเรียกว่า จิวยี่

กวนอู คำหลวงเรียกว่า กวานอี้ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า กวนอู จีนแต้จิ๋วเรียกว่า กวนอู๊ จีนกวางตุ้งเรียกว่า กวานยี่ จีนไหหลำเรียกว่า กวนยี่

เตียวหุย คำหลวงเรียกว่า เจียงฟุย จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า เตียวหุย จีนแต้จิ๋วเรียกว่า เตียฮุย จีนกวางตุ้งเรียกว่า จง
จาง
ฟุย จีนไหหลำเรียกว่า เจียงฮุย ดังนี้

หนังสือเรื่องจีนที่แปลเปนภาษาไทย บางเรื่องเรียกชื่อตามสำเนียงฮกเกี้ยน บางเรื่องเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋ว เพราะจีนในประเทศสยามนี้มีจีนเหล่าฮกเกี้ยนกับเหล่าแต้จิ๋วมากกว่าเหล่าอื่น ผู้แปลเปนจีนเหล่าไหน อ่านหนังสือสำเนียงเปนอย่างใด ไทยเราก็จดลงอย่างนั้น หนังสือสามก๊กที่แปลเปนไทยเรียกชื่อต่าง ๆ ตามสำเนียงฮกเกี้ยน เมื่อเทียบกับหนังสือสามก๊กที่แปลเปนภาษาอื่น ชื่อที่เรียกจึงผิดเพี้ยนกัน เพราะเขาเรียกตามสำเนียงจีนเหล่าอื่น มักทำให้เกิดฉงนด้วยเหตุนี้


  1. ข้าพเจ้าได้ชวนพระยาพจนปรีชาให้ช่วยพิเคราะห์อีกคนหนึ่ง ก็เห็นว่าเปนสองสำนวนเช่นเดียวกันกับข้าพเจ้า
  2. เมืองหลวงเดิมอยู่แถวเมืองน้ำกิ่ง เมืองปักกิ่งเปนเมืองหลวงชั้นหลัง สำเนียงชาวปักกิ่งเพี้ยนไปอีกอย่างหนึ่ง