ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์/เรื่อง



เครื่องดีดสีตีเป่าของไทยเรา โดยมากได้แบบอย่างมาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ เช่นเดียวกันกับพวกเขมร มอญ พะม่า และชะวา มะลายู เพราะเช่นนั้น เครื่องดีดสีตีเป่าของชนชาวประเทศเหล่านี้จึงคล้ายคลึงกัน ยังสังเกตเห็นได้จนทุกวันนี้

ก็เครื่องดิดสีตีเป่าของชาวอินเดียอันเป็นต้นตำราเดิมนั้น เขาเรียกรวมกันว่า เครื่องสังคีต มีคัมภีร์ชื่อ สังคีตรัตนากร[1] จำแนกเป็น ๔ ประเภทต่างกัน เรียกในภาษาสังสกฤตดังนี้ คือ

๑)ตะตะ เป็นเครื่องประเภทที่มีสายสำหรับดีดสีเป็นเสียง

๒)สุษิระ เป็นเครื่องประเภทที่เป่าเป็นเสียง

๓)อะวะนัทธะ เป็นเครื่องประเภทที่หุ่มหนังตีเป็นเสียง

๔)ฆะนะ เป็นเครื่องประเภทที่กระทบเป็นเสียง

เครื่อง ๔ ประเภทที่กล่าวมานี้ ในคัมภีร์สังคีตรัตนากรบอกอธิบายต่อไปว่า เครื่องประเภทตะตะ (เครื่องสาย) กับสุษิระ (เครื่องเป่า) นั้น สำหรับทำให้เป็นลำนำ เครื่องประเภทอะวะนัทธะ (เครื่องตี) นั้น สำหรับประกอบเพลง ส่วนเครื่องประเภทฆะนะ (เครื่องกระทบ) นั้น สำหรับทำจังหวะ

เครื่องในประเภทหนึ่ง ๆ มีมากมายหลายอย่าง เช่น ประเภทเครื่องสายนั้น พิณสายเดียว (คือ พิณน้ำเต้า ยังมีตัวอย่างอยู่) เป็นของเดิม ครั้นต่อมา มีผู้คิดเพิ่มเติมเป็นสองสาย สามสาย เจ็ดสาย เก้าสาย จนถึงยี่สิบเอ็ดสาย และเรียกชื่อต่าง ๆ กัน แต่พิณทุกชะนิดย่อมเป็นเครื่องสำหรับดีดลำนำประสานกับเสียงขับร้อง ใครขับร้องก็ถือพิณดีดเอง ดังเช่นที่กล่าวว่า คนธรรพ "จับพิณเข้าประสานสำเนียงครวญ" ขับเย้ยพระยาครุฑในเรื่องกากี เป็นตัวอย่าง เมื่อพิณทำเป็นหลายสาย ตัวพิณก็ย่อมเขื่องขึ้นและหนักขึ้นทุกที บางอย่างจะถือดีดไม่ไหว ต้องเอาลงวางดีดกับพื้น จึงเกิดเครื่องวางดีด เช่น จะเข้ เป็นต้น แล้วเกิดเครื่องวางสี เช่น ซอ ต่อมา ล้วนเนื่องมาแต่พิณทั้งนั้น ในตำราสังคีตรัตนากรจึงนับไว้ในประเภทเดียวกัน เรียกว่า ตะตะ ไทยเราเรียกว่า เครื่องดีดสี (ดู รูปที่ ๑ รูปที่ ๒)

เครื่องในประเภทพวกสุษิระ คือ เครื่องเป่า นั้น ก็มีหลายอย่างต่างกัน เป็นต้นแต่ผิวปาก เป่าใบไม้ เป่าหลอด เป่าสังข์ เป่าแตร เป่าขลุ่ย เป่าปี่ เป่าแคน ตลอดจนเป่าเขาสัตว์ให้เป็นเสียง ก็นับอยู่ในพวกสุษิระทั้งนั้น (ดู รูปที่ ๗)

เครื่องในประเภทอะวะนัทธะนั้น คือ กลองต่าง ๆ ทั้งจำพวกที่ขึ้นหนังหน้าเดียว ดังเช่น ทับ (ซึ่งเรียกกันเป็นคำสามัญว่า โทน) รำมะนา และกลองยาว เหล่านี้ และจำพวกที่ขึ้นหนังทั้งสองหน้าด้วยร้อยผูก ดังเช่น บัณเฑาะว์ โทน (ซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า ตะโพน) เปิงมาง กลองชะนะ กลองแขก กลองมะลายู เหล่านี้ และจำพวกกลองที่ขึ้นหนังกรึงแน่นทั้งสองหน้า ดังเช่น กลองโขน กลองละคอน (ซึ่งเรัยกกันว่า กลองทัด) ก็นับเป็นอะวะนัทธะทั้งสิ้น (ดู รูปที่ ๖ แต่บัณเฑาะว์อยู่ใน รูปที่ ๓)

เครื่องในประเภทฆะนะนั้น นับตั้งแต่ตบมือเป็นจังหวะ เรียกว่า กรดาล ถ้าใช้เครื่องทำจังหวะ มักทำด้วยโลหะเป็นพื้น มีมากมายหลายอย่าง คือ ฉิ่ง (ภาษาสังสกฤตเรียกว่า กังสดาล) ฉาบ ลูกพรวน กระดิ่ง ระฆัง ฆ้อง บางสิ่งทำด้วยไม้ เช่น กรับคู่ และกรับพวง ก็นับในพวกฆะนะ เพราะเป็นเครื่องสำหรับทำจังหวะเช่นเดียวกัน (ดู รูปที่ ๓)

เครื่องสำหรับทำลำนำบางสิ่งพิจารณาเห็นได้ว่า คงมีผู้คิดแก้ไขเครื่องทำจังหวะมาเป็นชั้น ๆ จนเลยกลายเป็นเครื่องทำลำนำ เช่น ฆ้องวง เดิมก็เห็นจะแก้ฆ้องเดี่ยวเป็นฆ้องคู่ให้มีเสียงสูงต่ำ (อย่างฆ้องที่เล่นละคอนชาตรี) แล้วแก้ฆ้องคู่เป็นฆ้องราวสามใบให้มีเสียงเป็นหลั่นกัน (อย่างฆ้องที่เล่นระเบง) แล้วเติมฆ้องให้ครบเจ็ดเสียง เป็นฆ้องวงสิบหกใบ ก็เลยกลายเป็นเครื่องสำหรับใช้ลำนำ ระนาดก็น่าจะแปลงมาแต่กรับโดยทำนองเดียวกัน เครื่องที่กล่าวมาทั้งนี้มีในอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ทั้งนั้น (ดู รูปที่ ๔ รูปที่ ๕)

กระบวนจัดเครื่องสังคีตเข้าประสมวงก็ดี ที่กำหนดว่าเครื่องสังคีตประสมวงอย่างไร ควรเล่นในการงานอย่างไรก็ดี ก็เป็นของมีมาแล้วในอินเดียแต่โบราณ พวกชาวอินเดียได้นำแบบแผนมาสู่ประเทศนี้ตั้งแต่ครั้งขอมยังเป็นใหญ่ ครั้นไทยได้มาปกครอง ก็รับต่อมาจากพวกขอม แล้วมาคิดแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยลำดับมา จนเป็นเครื่องดีดสีตีเป่าที่ไทยเราเล่นกันในทุกวันนี้

เครื่องสังคีตที่ไทยได้แบบจากอินเดียนั้น ถ้าว่าโดยลักษณะประสมวงและกระบวนที่ใช้ ต่างกันเป็น ๒ อย่าง เรียกว่า "ดนตรี" คือ เครื่องดีดสีซึ่งมากลายเป็นมะโหรี อย่าง ๑ เรียกว่า "ดุริย" คือ เครื่องตีเป่าซึ่งมากลายเป็นปี่พาทย์ อย่าง ๑ เครื่อง ๒ อย่างนี้ใช้ในการต่างกัน เพราะเครื่องดนตรีเสียงอ่อนหวาน จึงใช้เข้ากับการขับร้องอันมักมีในห้องเรือนเป็นปกติ ส่วนเครื่องดุริยนั้นเสียงย่อมก้องกังวาล จึงใช้เข้ากับการฟ้อนรำอันมักมีกลางแจ้งเป็นปกติ ต้นเค้าของมะโหรีปี่พาทย์มีดังกล่าวนี้

กระบวนเล่นเครื่องดีดสีใมประเทศสยามนี้มีเค้าของเดิมเป็น ๒ อย่าง เรียกในภาษาไทยว่า "บรรเลงพิณ" อย่าง ๑ "ขับไม้" อย่าง ๑ บรรเลงพิณนั้นใช้แต่พิณน้ำเต้าสิ่งเดียว ผู้ใดเป็นคนขับร้อง ก็ดีดพิณเอง ทำเพลงเข้ากับลำนำที่ตนร้อง (ดู รูปที่ ๙) พิณน้ำเต้าเดี๋ยวนี้ผู้ที่ดีดได้มีน้อยเสียแล้ว ด้วยเปลี่ยนใช้ซอแทน ตามหัวเมืองยังมีเล่นอยู่บ้าง

ขับไม้นั้น คนเล่น ๓ คนด้วยกัน เป็นคนขับร้องลำนำคน ๑ คนสีซอสามสายประสานเสียงคน ๑ คนไกวบัณเฑาะว์ให้จังหวะคน ๑ (ดู รูปที่ ๑๐) เดี๋ยวนี้ยังมีแต่ของหลวงสำหรับเล่นในงานสมโภช เช่น สมโภชพระมหาเศตวฉัตร เป็นต้น บรรเลงพิณและขับไม้ ๒ อย่างนี้เป็นของผู้ชายเล่นทั้ง ๒ อย่าง.

เครื่องดีดสีซึ่งมาคิดประดิษฐ์ขึ้น เรียกว่า "มะโหรี" นั้น เห็นจะเป็นของพวกขอมคิดขึ้นก่อน ไทยรับแบบอย่างและแก้ไขต่อมา เดิมก็เป็นของผู้ชายเล่น แต่ต่อมาเมื่อเกิดชอบฟังมะโหรีกันแพร่หลาย ผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งมีบริวารมากจึงมักหัดผู้หญิงเป็นมะโหรี ๆ ก็กลายเป็นของผู้หญิงเล่นมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี มะโหรีชั้นเดิมวงหนึ่งคนเล่นเพียง ๔ คน เป็นคนขับร้องลำนำและตีกรับพวงให้จังหวะเองคน ๑ คนสีซอสามสายประสานเสียงคน ๑ ดีดกระจบปี่ให้ลำนำคน ๑ ตีทับประสานจังหวะลำนำคน ๑ (ดู รูปที่ ๑๑) เครื่องมะโหรีทั้ง ๔ สิ่งที่พรรณนามานี้ พึงสังเกตเห็นได้ว่า มิใช่อื่น คือ เอาเครื่องบรรเลงพิณกับเครื่องขับไม้มารวมกันนั้นเอง เป็นแต่ใช้ดีดกระจับปี่แทนพิณ ตีทับแทนไกวบัณเฑาะว์ และเติมกรับพวงสำหรับให้จังหวะเข้าอีกอย่าง ๑

ตั้งแต่มะโหรีผู้หญิงเกิดมีขึ้น ก็เห็นจะชอบเล่นกันแพร่หลาย จึงเกิดเป็นเหตุให้มีผู้คิดเพิ่มเติมมะโหรีขึ้นโดยลำดับมา เครื่องมะโหรีที่เพิ่มเติมขึ้นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี (สังเกตตามที่ปรากฎในรูปภาพเขียนแต่สมัยนั้น) คือ รำมะนา สำหรับตีประกอบกับทับ อย่าง ๑ ขลุ่ย สำหรับเป่าให้ลำนำ อย่าง ๑ มะโหรีวงหนึ่งจึงกลายเป็น ๖ คน มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ เพิ่มเติมเครื่องมะโหรีขึ้นอีกหลายอย่าง เอาเครื่องปี่พาทย์เข้าเพิ่มเป็นพื้น เป็นแต่ทำขนาดย่อมลงไห้สมกับผู้หญิงเล่น เล่ากันมาว่า เมื่อในรัชชกาลที่ ๑ เติมระนาดไม้กับระนาดแก้วเป็นเครื่องมะโหรีขึ้นอีก ๒ อย่าง รวมมะโหรีวงหนึ่งเป็น ๘ คน มาในรัชชกาลที่ ๒ เลิกระนาดแก้วเสีย ใช้ฆ้องวงแทน และเพิ่มจะเข้เข้าในเครื่องมะโหรีอีกสิ่ง ๑ รวมมะโหรีวงหนึ่งเป็น ๙ คน[2] ถึงรัชชกาลที่ ๓ เมื่อคิดทำระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กเพิ่มขึ้นในเครื่องปี่พาทย์ ก็เพิ่มของ ๒ สิ่งนั้นเข้าในเครื่องมะโหรี กับทั้งใช้ฉิ่งแทนกรับพวงให้เสียงจังหวะดังขึ้นสมกับเครื่องมากสิ่ง และเพิ่มฉาบเข้าในมะโหรีด้วย รวมมะโหรีวงหนึ่งเป็น ๑๒ คน ถึงรัชชกาลที่ ๔ เมื่อคิดทำระนาดทองและระนาดเล็กขึ้นใช้ในเครื่องปี่พาทย์ ของ ๒ สิ่งนั้นก็เพิ่มเข้าในเครื่องมะโหรีด้วย มะโหรีในชั้นหลังวงหนึ่งจึงเป็น ๑๔ คนคล้ายกับปี่พาทย์ เป็นแต่มะโหรีมีเครื่องสายและไม่ใช้กลอง และผิดกันเป็นข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มะโหรีเป็นของผู้หญิงเล่น ปี่พาทย์เป็นของผู้ชายเล่นเป็นพื้น มาถึงรัชชกาลที่ ๕ เครื่องมโหรีลดกระจับปี่ กับฉาบมิใคร่ใช้กัน จึงกลับคงเหลือ ๑๒ คน (ดู รูปที่ ๑๒)

ในรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเล่นละคอน การนั้นเป็นปัจจัยตลอดมาถึงการเล่นมะโหรี คือ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีพระราชกำหนดห้ามมิให้ผู้อื่นหัดละคอนผู้หญิง มีได้แต่ของหลวง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีบริวารมาก เช่น เจ้านายและขุนนาง เป็นต้น จึงมักหัดผู้หญิงเป็นมะโหรี หัดผู้ชายเป็นละคอนและเป็นปี่พาทย์ เป็นประเพณีมา ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เลิกพระราชกำหนดนั้นเสีย พระราชทานอนุญาตว่า ใคร ๆ จะหัดละคอนผู้หญิง ก็ให้หัดได้ตามชอบใจ เมื่อมีพระบรมราชานุญาตดังนั้น การที่เคยหัดผู้หญิงเป็นมะโหรีก็ไปหัดเป็นละคอนเสียเป็นพื้น คนทั้งหลายชอบดูละคอนผู้หญิง ก็หาใคร่จะมีใครหัดมะโหรีผู้หญิงอย่างแต่ก่อนไม่.

เมื่อมะโหรีผู้หญิงร่วงโรยลงครั้งนั้น ผู้ชายบางพวกซึ่งหัดเล่นเครื่องสายอย่างจีน จึงคิดกันเอาซอด้วง ซออู้ จะเข้กับปี่อ้อเข้าเล่นประสมกับเครื่องกลองแขก (สิ่งซึ่งจะอธิบายต่อไปข้างหน้า) เครื่องประสมวงอย่างนี้เรียกกันว่า "กลองแขกเครื่องใหญ่"[3]

ครั้นต่อมา เอากลองแขกกับปี่อ้อออกเสียใช้ทับกับรำมะนาและขลุ่ยแทน เรียกว่า "มะโหรีเครื่องสาย" บางวงก็เติมระนาดและฆ้องเข้าด้วย จึงเกิดมีมะโหรีเครื่องสายผู้ชายเล่นแทนมะโหรีผู้หญิงอย่างเดิมสืบมาจนทุกวันนี้ (ดูรูปที่ ๑๖) ที่ผู้หญิงหัดเล่นก็มีแต่น้อยกว่าผู้ชายเล่น แต่การเล่นมะโหรีเครื่องสายในชั้นหลังมาดูไม่มีกำหนดจำนวนเครื่องเล่น เช่น ซอด้วงและซออู้ เป็นต้น แล้วแต่มีคนสมัคจะเข้าเล่นเท่าใดก็เข้าเล่นได้ ดูเป็นแต่ให้เสียงกึกก้อง ไม่ถือเอาการประสานเสียงเป็นสำคัญ มาถึงสมัยปัจจุบันนี้ บางวงแก้ไขเอาซอด้วง ซออู้ ออกเสีย ใช้ขินจีนและฮาโมเนียมฝรั่งเข้าประสมแทนก็มี เรื่องตำนานเครื่องมะโหรีมีมาดังนี้.

ตำราปี่พาทย์ที่เราได้แบบมาจากอินเดียนั้นกำหนดว่า วงหนึ่งมีเครื่อง ๕ สิ่ง คือ สุษิระ ได้แก่ ปี่ เป็นเครื่องทำลำนำ ๑ อาตะตะ ได้แก่ กลองขึ้นหนังหน้าเดียว ๑ วิตะตะ ได้แก่กลองขึ้นหนังทั้งสองหน้าด้วยร้อยผูก ๑ อาตะวิตะตะ ได้แก่ กลองขึ้นหนังสือกรึงแน่นทั้งสองหน้า ๑ เป็นเครื่องทำเพลงรวม ๓ สิ่ง ฆะนะ ได้แก่ ฆ้องโหม่ง เป็นเครื่องทำจังหวะ ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้เรียกรวมกันว่า "เบ็ญจดุริยางค์" ปี่พาทย์เครื่อง ๕ ที่ไทยเราใช้กันมาแต่โบราณมาแต่เบ็ญจดุริยางค์ที่กล่าวมา แต่มีต่างกันเป็น ๒ ชะนิด เป็นเครื่องอย่างเบา ใช้เล่นละคอนกันในพื้นเมือง (เช่น พวกละคอนชาตรีทางหัวเมืองปักษ์ใต้ยังใช้อยู่จนทุกวันนี้) ชะนิด ๑ เครื่องอย่างหนัก สำหรับใช้เล่นโขน ชะนิด ๑ ปี่พาทย์ทั้ง ๒ ชะนิดที่กล่าวมานี้ คนทำวงละ ๕ คนเหมือนกัน แต่ใช้เครื่องผิดกัน ปี่พาทย์เครื่องเบาวงหนึ่งมีปี่เป็นเครื่องทำลำนำ ๑ ทับ ๒ กลอง ๑ ฆ้องคู่ เป็นเครื่องทำจังหวะ ๑ ลักษณะตรงตำราเดิม ผิดกันแต่ใช้ทับแทนโทนใบ ๑ เท่านั้น ส่วนปี่พาทย์เครื่องหนักนั้น วงหนึ่งมีปี่ ๑ ระนาด ๑ ฆ้องวง ๑ กลอง ๑ โทน (ตะโพน) ๑ ใช้โทนเป็นเครื่องทำเพลงและจังหวะไปด้วยกัน ถ้าทำลำนำที่ไม่ใช้โทน ก็ให้คนโทนตีฉิ่งให้จังหวะ เหตุที่ผิดกันเช่นนี้ เห็นจะเป็นเพราะการเล่นละคอนมีขับร้องและเจรจาสลับกับปี่พาทย์ ๆ ไม่ต้องทำพักละช้านานเท่าใดนัก แต่การเล่นโขนต้องทำปี่พาทย์พักละนาน ๆ จึงต้องแก้ไขให้มีเครื่องทำลำนำมากขึ้น แต่การเล่นละคอน ตั้งแต่เกิดมีละคอนในขึ้น เปลี่ยนมาใ้ชปี่พาทย์เครื่องหนักอย่างโขน ปี่พาทย์ที่เล่นกันในราชธานีจึงใช้แต่ปี่พาทย์เครื่องหนักเป็นพื้น.

เรื่องตำนานการที่แก้ไขเพิ่มเติมเครื่องปี่พาทย์ไทย พิเคราะห์ดูตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่ ดูเหมือนจะแก้ไขมาเป็นชั้น ๆ ทำนองดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ ปี่พาทย์เครื่องหนักในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีปี่เลา ๑ ระนาดราง ๑ ฆ้องวง ๑ ฉิ่งกับโทนใบ ๑ กลองใบ ๑ รวมเป็น ๕ ด้วยกัน (ดู รูปที่ ๑๓) แต่ปี่นั้นใช้ขนาดย่อมอย่างที่เรียกว่า "ปี่นอก" กลองก็ใช้ขนาดย่อมอย่างเช่นเล่นหนัง แก้ไขชั้นแรก คือ ทำปี่และกลองให้เขื่องขึ้นสำหรับใช้กับเครื่องปี่พาทย์ที่เล่นในร่มเพื่อเล่นโขนหรือละคอนใน ปี่ที่มีขึ้นใหม่นี้เรียกว่า "ปี่ใน" ส่วนปี่และกลองขนาดย่อมของเดิมคงใช้ในเครื่องปี่พาทย์เวลาทำกลางแจ้ง เช่น เล่นหนัง จึงเกิดปี่นอก ปี่ใน ขึ้นเป็น ๒ อย่าง การแก้ไขที่กล่าวมานี้ จะแก้ไขแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หรือมาแก้ไขในกรุงรัตนโกสินทร ข้อนี้ไม่ทราบแน่.

เมื่อในรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯ ทั้งละคอนและเสภา มีคำเล่ากันสืบมาว่า เมื่อก่อนรัชชกาลที่ ๒ ประเพณีที่จะส่งปี่พาทย์หามีไม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริให้เสภาขับส่งปี่พาทย์ (อย่างเช่นมะโหรี) ขึ้นเป็นปฐม ดังนี้ ที่เอาเปิงมางสองหน้าเข้าใช้ในเครื่องปี่พาทย์ ก็คงเอาเข้าในคราวนี้นั้นเองสำหรับตีรับเสภาเป็นเดิมมา ด้วยเสียงเบาเข้ากับขับร้องดีกว่าโทน (ตะโพน) ปี่พาทย์รับเสภาจึงใช้เปิงมางสองหน้ามาจนทุกวันนี้ การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแก้ไขกระบวนเสภาเช่นว่ามา ชวนให้คิดเห็นว่า บางทีปี่พาทย์ละคอนก็จะทรงแก้ไขให้เสียงปี่พาทย์เข้ากับละคอนดีขึ้น ถ้าเช่นนั้น ปี่ในและกลองขนาดเขื่องกว่ากลองหนังที่ว่ามาแล้ว ก็เห็นจะเป็นของเกิดขึ้นในรัชชกาลที่ ๒ แต่เครื่องปี่พาทย์ก็ยังคงเป็นแต่เครื่อง ๕ ต่อมา.

ได้กล่าวมาข้างต้นว่า ปี่พาทย์เดิมเป็นเครื่องอุปกรณ์การฟ้อนรำ เช่น เล่นหนังและโขนละคอน เป็นต้น หรือทำเป็นเครื่องประโคมให้ครึกครื้น ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริให้เสภาขับส่งปี่พาทย์ ๆ ก็กลายเป็นเครื่องสำหรับให้ไพเราะโดยลำพัง เพราะฉะนั้น เมื่อเล่นเสภาส่งปี่พาทย์กันแพร่หลายต่อมาถึงรัชชกาลที่ ๓ จึงมีผู้คิดเครื่องปี่พาทย์เพิ่มเติมขึ้นให้เป็นคู่หมดทุกอย่าง คือ

เอาปี่นอกมาเป็นคู่กับปี่ใน

คิดทำระนาดทุ้มขึ้นเป็นคู่กับระนาดเอก

คิดทำฆ้องวงเล็กขึ้นเป็นคู่กับฆ้องวงใหญ่

เอาเปิงมางสองหน้าให้คนกลองตีเป็นคู่กับโทน (ตะโพน)

เอาฉาบเติมขึ้นให้คนกลองตีเป็นคู่กับฉิ่ง

เติมกลองขึ้นอิกใบหนึ่งให้เป็นคู่[4]

ปี่พาย์แต่เดิมวงหนึ่ง ๕ คน ก็กลายเป็นวงละ ๘ คน เรียกว่า "ปี่พาทย์เครื่องคู่" ปี่พาทย์อย่างเดิมที่ยังใช้กันอยู่ในพื้นเมือง เรียกว่า "ปี่พาทย์เครื่องห้า"

มาถึงรัชชกาลที่ ๔ มีผู้คิดระนาดทองขึ้นเป็นอุปกรณ์ระนาดเอก และคิดระนาดเหล็กขึ้นเป็นอุปกรณ์ระนาดทุ้ม เพิ่มขึ้นอิก ๒ อย่าง คนทำปี่พาทย์วงหนึ่งจึงเป็น ๑๐ คน เรียกว่า "ปี่พาทย์เครื่องใหญ่" เล่นกันสืบมาจนทุกวันนี้. (ดู รูปที่ ๑๔ ในรูปเพิ่มฆ้องโหม่งสำหรับการเล่นละคอน)

ตำนานปี่พาทย์เครื่องห้า ปี่พาทย์เครื่องคู่ และปี่พาทย์เครื่องใหญ่่ มีเรื่องราวดังแสดงมา.

ในเครื่องปี่พาทย์ที่ไทยเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นเครื่องได้มาจากแขก ๒ อย่าง เรียกว่า "กลองมะลายู" ได้มาจากพวกมะลายู อย่าง ๑ เรียกว่า "กลองแขก" เข้าใจว่า ได้มาจากพวกชะว่า อย่าง ๑ เครื่องปี่พาทย์แขก ๒ อย่างนี้คล้ายกัน แต่ลักษณะประสมวง กลองมะลายูใช้กลอง ๔ ใบ ปี่เลา ๑ ฆ้องโหม่งใบ ๑ รวมคนวงละ ๖ คน กลองแขกใช้กลอง ๒ ใบ กับปี่เลา ๑ ฆ้องโหม่งใบ ๑ รวมคนวงละ ๔ คน (ดู รูปที่ ๑๕) แต่กลอง ๒ ชะนิดนั้นผิดกัน กลองมะลายูใช้ร้อยโยงด้วยสายหนัง รูปยาวกว่ากลองแขก ตีด้วยไม้หน้า ๑ ตีด้วยมือหน้า ๑ กลองแขกนั้นใช้ร้อยโยงด้วยหวายและตีด้วยมือทั้ง ๒ หน้า

พิเคราะห์ดูตามลักษณะที่ไทยเราใช้กลองมะลายูและกลองแขก เข้าใจว่า เครื่อง ๒ อย่างนี้เห็นจะได้มายังประเทศนี้ต่างคราวต่างเรื่องกัน ไทยเราจึงเอามาใช้ต่างกัน เครื่องกลองมะลายูนั้น เดิมทำนองจะใช้ในกระบวนพยุหยาตราซึ่งเกณฑ์พวกมะลายูเข้ากระบวน ไทยจึงได้ใช้เครื่องกลองมะลายูในกระบวนแห่ เช่น แห่คเชนทรสนาน เป็นต้น จนถึงแห่พระบรมศพและพระศพเจ้านาย ลงปลายเลยใช้เป็นเครื่องประโคมศพ เช่น ใช้โดยลำพัง เรียกว่า ตีบัวลอย และใช้ในปี่พาทย์นางหงส์มาจนบัดนี้ เครื่องกลองแขกนั้น เดิมเมื่อได้มา เห็นจะใช้ในการฟ้อนรำ เช่น รำกระบี่กระบอง ทำนองจะมาแต่แขกรำกฤชก่อน แต่ในการแห่ก็ใช้ เช่น นำกระบวนแห่โสกันต์ และนำเสด็จพระราชดำเนิรกระบวนช้างและกระบวนเรือ เป็นต้น แต่ลดฆ้องโหม่งเสีย สงสัยว่า เดิมก็จะใช้กลองมะลายูในการแห่เช่นว่า แต่ชั้นหลังมา เมื่อใช้กลองมะลายูเพรื่อไปจนการศพ เกิดรังเกียจ จึงเอากลองแขกมาใช้ในกระบวนแห่และลดฆ้องเสีย ทำนองจะเป็นเช่นว่านี้

ที่เอากลองแขกเข้าผสมกับเครื่องปี่พาทย์ไทย เห็นจะเป็นเมื่อเอาเรื่องอิเหนาของชะวามาเล่นละคอนไทยในครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ใช้เมื่อละคอนรำเพลงแขก เช่น รำกฤช เป็นต้น ครั้นต่อมาเมื่อปี่พาทย์ทำเพลงอันใดซึ่งเนื่องมาแต่เพลงแขก เช่น เพลงเบ้าหลุด และสระบุหรง เป็นต้น ก็ใช้กลองแขกทำกับเครื่องปี่พาทย์แทนโทน ตลอดไปจนถึงเพลงที่เอามาแต่มะโหรี เช่น เพลงพระทอง ก็ใช้กลองแขกแทนทับและรำมะนา กลองแขกจึงเลยเป็นเครื่องอุปกรณ์อันหนึ่งอยู่ในเครื่องปี่พาทย์ สิ้นเรื่องตำนานกลองแขกเพียงเท่านี้.

ยังมีเครื่องดุริยอยู่นอกเรื่องตำนานที่ได้แสดงมาอีกบางอย่าง สันนิษฐานว่า จะเป็นแบบของชนชาติไทยมาแต่เดิม (ดู รูปที่ ๘) อย่าง ๑ เรียกว่า ปี่ซอ ทำด้วยไม้รวกขนาดต่าง ๆ เป่าเข้าชุดกันประสานเสียงคนขับ อย่างนี้มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ พึงสังเกตได้ที่กล่าวถึง "ขับซอ" ในลิลิตเรื่องพระลอ แต่เดี๋ยวนี้ ชอบเล่นเพียงในหัวเมืองมณฑลพายัพ อีกอย่าง ๑ เรียกว่า แคน เอาไม้ซางมาผูกเรียงต่อกับเต้าเสียงเป่าเป็นเพลงประสานเสียงกับคนขับ อย่างนี้ชอบเล่นทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก กระบวนขับเข้ากับปี่ซอก็ดี เข้ากับแคนก็ดี คนขับเป็นชายฝ่ายหนึ่ง หญิงฝ่ายหนึ่ง มักขับโต้ตอบกันในทางสังวาส มาถึงในรัชชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทรนี้ แตรวงมหาดเล็กคิดทำแคนต่างขนาดกัน เป่าประสมวงราว ๑๐ คันเป็นทำนองแตรวงอย่างฝรั่ง ฟังก็เพราะดี ยังมีเล่นอยู่จนทุกวันนี้

ในเครื่องประเภทนี้มีอีกชะนิด ๑ เอาไม้ซางต่อกับเต้าเป่าเป็นเสียง อย่างที่หนึ่งเรียกว่า "เรไร" เป่าได้เสียงเดียว (เห็นเคยใช้เป็นเครื่องประโคมเวลาพระลงพระอุโบสถที่วัดบวรนิเวศมาก่อน แต่ในพื้นเมืองเขาจะใช้เพื่อกิจอันใดมาแต่เดิมหาทราบไม่) อย่างที่ ๒ เรียกว่า "นอ" ของพวกมูเซอ อย่างที่ ๓ เรียกว่า "เต้ง" ของพวกแม้ว ยังเล่นเข้ากับฟ้อนรำ อยู่ทางเมืองชายพระราชอาณาเขตต์ข้างเหนือ.

ยังมีเครื่องดนตรีอีกอย่าง ๑ ซึ่งไทยเราชอบเล่นกันแต่โบราณ แต่จะเป็นแบบของชาติไทยมาแต่เดิม หรือได้มาแต่ประเทศอื่น ข้อนี้สงสัยอยู่ เรียกว่า "จ้องหน่อง" เอาไม้ไผ่มาเหลาให้บาง แล้วแกะเป็นลิ้นให้กระเทือนได้ด้วยเอามืดดีดหรือผูกเชือกกะตุก ผู้เล่นเอาปากอมตรงที่ลิ้น เอามือดีดที่หัว หรือกะตุกเชือก และทำอุ้งปากให้เกิดกังวานเป็นเสียงสูงต่ำ ทำเป็นลำนำได้ เป็นเครื่องสำหรับเล่นคนเดียว เล่นกันมาว่า สำหรับเจ้าบ่าวไปเกี้ยวเจ้าสาว ใช้ดีดจ้องหน่องที่นอกบ้านให้สัญญาแก่เจ้าสาว แต่เดี๋ยวนี้ก็มิใคร่มีใครเล่นได้เสียแล้ว ที่สงสัยว่า อาจจะเป็นแบบมาแต่ต่างประเทศนั้น เพราะเคยเห็นเครื่องเล่นทำนองเดียวกันนี้ แต่ทำด้วยเหล็กอันย่อม ๆ เรียกกันว่า "เพี้ยเหล็ก" มีเข้ามาขายนานมาแล้ว

หมดอธิบายเครื่องมะโหรีปี่พาทย์เพียงเท่านี้.


  1. คัมภีร์นี้เปนภาษาสังสกฤต พราหมณ์กุปปุสวามี อารย ช่วยแปลอธิบายให้.
  2. ที่เรียกว่า ระนาดแก้ว นั้น ของเดิมจะเป็นอย่างไร ผู้แต่งหนังสือนี้ไม่เคยเห็น สืบถามก็ไม่ได้ความชัดว่า เอาแก้วหล่อเป็นลูกระนาดวางในรางอย่างระนาดทองที่ทำกันชั้นหลัง หรือตัดแผ่นกระจกเจาะรูร้อยเชือกแขวนกับรางอย่างระนาดไม้ไผ่ แต่อย่างไรเสียงก็คงไม่เพราะ จึงได้ปรากฏว่า เลิกเสีย เอาฆ้องวงเข้าใช้แทน จะเข้กับฆ้องวงนั้น แต่เดิมเป็นเครื่องสังคีตของมอญ เล่ากันมาว่า เมื่อจะเอามาใช้ในเครื่องมะโหรีไทย จะให้ผู้หญิงไทยซึ่งปกติห่มสะไบเฉียงตีฆ้องวงอย่าง (ปี่พาทย์) มอญขัดข้อง จึงได้คิดแก้เปนฆ้องวงราบ.
  3. ข้าพเจ้าได้กล่าวในคำอธิบาย เรื่อง ประชุมบทมะโหรี ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ตามคำบอกเล่าว่า กลองแขกเครื่องใหญ่เกิดมีในรัชชกาลที่ ๓ แต่เมื่อพิจารณาต่อมาเห็นว่า จะเกิดขึ้นในตอนปลายรัชชกาลที่ ๔ ด้วยเมื่อตอนต้นรัชชกาลที่ ๕ ยังถือกันว่า เป็นของเกิดมีขึ้นใหม่.
  4. การที่เติมกลองเป็นคู่ บางทีจะเติมมาแต่ในรัชชกาลที่ ๒