ตำนานเมือง
ราชบัณฑิตยสถาน รวบรวม
พิมพ์ใช้ในกิจการของราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. ๒๔๘๑
พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์

๑. กระบี่ หน้า
๒. กำแพงเพชร "
๓. ขุขัน "
๔. จันทบุรี "
๕. ฉะเชิงเทรา "
๖. ชัยภูมิ "
๗. ตราด "
๘. ตาก "
๙. นครนายก "
๑๐. นครปฐม "
๑๑. นครพนม " ๑๐
๑๒. นครสวรรค์ " ๑๐
๑๓. นราธิวาส " ๑๑
๑๔. น่าน " ๑๑
๑๕. บุรีรัมย์ " ๑๒
๑๖. ประจวบคีรีขันธ์ " ๑๓
๑๗. ปัตตานี " ๑๔
๑๘. พังงา " ๑๖
๑๙. พัทลุง " ๑๗
๒๐. พิจิตร " ๒๐
๒๑. เพชรบูรณ์ " ๒๑
๒๒. มหาสารคาม " ๒๒
๒๓. ยะลา " ๒๒
๒๔. ระยอง " ๒๓
๒๕. ราชบุรี " ๒๓
๒๖. ลพบุรี " ๒๕
๒๗. ลำปาง " ๒๗
๒๘. เลย " ๒๘
๒๙. สกลนคร " ๒๘
๓๐. สงขลา " ๓๐
๓๑. สตูล " ๓๔
๓๒. สมุทรสาคร " ๓๕
๓๓. สระบุรี " ๓๕
๓๔. สุพรรณบุรี " ๓๗
๓๕. อุดรธานี " ๓๘
๓๖. อุทัยธานี " ๓๙
๓๗. อุบลราชธานี " ๔๐

จังหวัดนี้เดิมเป็นตำบลแขวงของจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาได้ตัดเอาท้องที่ในแขวงอำเภอปากลาวจากจังหวัดสุราษฎรฯ (บัดนี้รวมอยู่ในอำเภออ่าวลึก) มารวมกับอำเภอเมือง อำเภอคลองพน (บัดนี้ยุบเป็นตำบลขึ้นอำเภอคลองท่อม) อำเภอเกาะลันตา แขวงจังหวัดนครศรีธรรมราช ยกขึ้นเป็นจังหวัด ตั้งภายหลังตั้งจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต ในเขตต์แขวงจังหวัดนี้มีทางขนสินค้าแต่โบราณข้ามแหลมมะลายู เรียกว่า ปากพะนม มาลงทางแม่น้ำตาปี.

จังหวัดกำแพงเพชรเป็นเมืองโบราณสมัยสุโขทัย เป็นเมืองลูกหลวงและเมืองหน้าด่าน เดิมมี ๒ เมือง เมืองหนึ่งเรียกว่า ชากังราว อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำปิง พญาเลอไทย โอรสพ่อขุนรามกำแหง สร้าง อีกเมืองหนึ่งชื่อ เมืองนครชุม อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำปิงตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชรเก่า ตัวเมืองกำแพงเพชรเก่าอยู่ทางหลังศาลากลางจังหวัดเดี๋ยวนี้ ยังมีกำแพงและโบราณสถานปรักหักพังอยู่มาก ด้วยเหตุเมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านดังกล่าวแล้ว มาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี ระหว่างที่เกิดสงครามกับพะม่า จึงเป็นเมืองที่ถูกเหยียบย่ำทำลายอยู่เสมอ เคยตกเป็นทำเลที่พักปลูกยุ้งฉางและเป็นที่ทำนาของข้าศึกหลายคราว.

จังหวัดขุขันนี้ปรากฏในพงศาวดารอีสานว่า ตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๒ คือ ให้ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนขึ้นเป็นเมืองขุขัน ดังนี้ และมาปรากฏชื่อในพงศาวดารสมัยกรุงธนบุรีอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ พระยานางรองไปคบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอิน และอุปฮาดเมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นกบฏต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี กองทัพกรุงออกไปปราบ และตั้งเกลี้ยกล่อมได้เขมรป่าดงเมืองตะลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขัน ดังนี้ แต่นักโบราณคดีเห็นกันว่า จังหวัดขุขันน่าจะเป็นเมืองสมัยขอม เพราะมีโบราณสถาน เช่น ปรางค์กู่สมัยขอม อยู่ในเขตต์จังหวัดหลายแห่ง เช่น ปรางค์กู่ที่บ้านกำแพง เป็นต้น เล่ากันว่า เมืองขุขันนี้เดิมชื่อ ศรีนครลำดวน ตั้งอยู่ที่ตำบลดวนใหญ่ อำเภอศรีษะเกษ ค่ายคูและกำแพงที่ยังปรากฏอยู่แสดงให้เห็นว่า สร้างสมัยเดียวกับเมืองสุรินทร์ เพราะคล้ายคลึงกันมาก ภายหลัง เมืองนครศรีลำดวนนี้กันดารน้ำ จึงย้ายไปตั้งที่ตำบลห้วยเหนือ อำเภอห้วยเหนือ ให้ชื่อว่า เมืองขุขัน คือ ที่ตั้งอำเภอห้วยเหนือเดี๋ยวนี้ ในพงศาวดารอีสานยังมีชื่อเจ้าเมืองขุขันว่า พระไกรภักดีศรีนครลำดวน อยู่ เพิ่งย้ายเมืองขุขันไปตั้งที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอศรีษะเกษ ในรัชชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗

จังหวัดจันทบุรีเป็นเมืองโบราณ มีชื่อปรากฏในพงศาวดารมาแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา มีซากเมืองเก่าอยู่ ๒ แห่ง แห่งหนึ่งอยู่ในตำบลพุงทะลาย อำเภอเมืองจันทบุรี ยังมีคูเมืองและเชิงเทินพอสังเกตได้ อีกเมืองหนึ่งอยู่ในตำบลคลองนารายณ์ ชาวบ้านเรียก เมืองพะเนียด บ้าง เมืองกาไว บ้าง มีผู้ขุดพบศิลาจารึกที่วัดพะเนียดซึ่งเป็นวัดโบราณ อยู่ทางทิศใต้กำแพงเมืองราว ๔๐๐ ม. (ศิลาจารึกอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) ในบริเวณเมืองยังมีศิลาแผ่นใหญ่ ๆ สลักเป็นลวดลายอย่างโบราณเหลืออยู่บ้าง และยังมีเค้าเชิงเทินและถนนใหญ่ ๒ สาย ผู้มีสันนิษฐานกันว่า คงเป็นเมืองที่รุ่งเรืองในสมัยโบราณ และน่าจะเป็นเมืองเดียวกับที่มองสิเออร์เอยโมเมอรเขียนเรื่องราวไว้ในหนังสือ "แคมโบร" ค.ศ. ๑๙๐๑ ว่า มีบาดหลวงคนหนึ่งได้พบแผ่นศิลาจารึกอักษรสันสฤตที่ตำบลเขาสระบาป มีข้อความว่า จังหวัดจันทบุรีได้ตั้งมาช้านานประมาณ ๑๐๐๐ ปีแล้ว ในเวลานั้นเรียกชื่อว่า ควรคราบุรี (น่าจะเป็น จันทบุรี แต่ที่เขียนไว้เช่นนี้ คงจะเป็นด้วยผู้เขียนแปลผิดหรือเขียนผิดอย่างหนึ่ง) ผู้สร้างเมืองชื่อ หาง หรือ แหง คนพื้นเมืองเป็นชอง เมื่อประมาณ ๙๐๐ ปีมาแล้ว ไทยยกกองทัพไปตี เจ้าเมืองได้มอบเมืองให้แก่ไทยชื่อ วาปสเตน และอาคารยา

อีกเมืองหนึ่งเรียก เมืองใหม่ สร้างในรัชชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗ อยู่ในตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทรบุรี จังหวัดจันทบุรี ได้อยู่ในความครองงำชั่วคราวของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๗.

จังหวัดฉะเชิงเทราตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี รัชชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เป็นที่ระดมพลในเวลาสงคราม เคยเป็นที่ตั้งศาลารัฐบาลมณฑลปราจิน.

จังหวัดชัยภูมิ เดิมขึ้นนครราชสีมา แต่ไม่ปรากฏว่า เป็นเมืองสำคัญญอย่างใด สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๒ ปรากฏว่า เป็นเมืองร้าง มีชาวเวียงจันทร์คนหนึ่งชื่อ แล มาตั้งทำมาหากินอยู่ที่ตำบลชีลอง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ครั้นมีผู้คนมากขึ้น นายแลจึงบังคับเอาผ้าขาวจากชายฉกรรจ์คนละ ๑๐ วาส่งเป็นส่วยไปยังเวียงจันทร์ เจ้าอนุเวียงจันทร์จึงตั้งให้เป็นขุนภักดีชุมพล ครั้นมีผู้คนอพยพมาอยู่มากเข้า ขุนภักดีจึงย้ายบ้านไปตั้งที่หนองปลาเฒ่า เรียกว่า บ้านหลวง ต่อมา ขุนภักดีฯ พบบ่อทองคำที่เชิงเขาขี้เถ้า ได้นำไปถวายเจ้าอนุเวียงจันทร์ เจ้าอนุโปรด จึงเลื่อนให้เป็นพระยาภักดีชุมพล ยกบ้านหลวงที่หนองปลาเฒ่าขึ้นเป็นเมืองชัยภูมิ ต่อมา ย้ายไปตั้งที่โนนปอบิด คือ ที่คูหนองบัว (เมืองเก่า) แล้วย้ายไปตั้งที่บ้านหินอยู่จนทุกวันนี้.

จังหวัดนี้ ที่ได้นามว่า ตราด นั้น เล่ากันว่า เดิมเป็นป่าไม้ชะนิดหนึ่งเรียกว่า ไม้กราด คือ ไม้ชนิดที่ทำไม้กวาด เมื่อสร้างเมืองลงในที่นั้น จึงให้ชื่อว่า เมืองตราด เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อยังเป็นพระยาวิเชียรปราการอยู่ ตีเมืองจันทบุรีได้ แล้วยกทัพไปเมืองตราด ชาวเมืองตราดไม่สู้รบ ยอมอ่อนน้อมโดยดี ในขณะที่พระเจ้ากรุงธนบุรีประทับอยู่ที่เมืองตราด ปรากฏว่า มีสำเภาจีนมาอยู่ในลำแม่น้ำตราดหลายลำ พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้หาหัวหน้ามาเฝ้า พวกจีนไม่ยอม และยังได้ยิงทหารของพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีให้เรือออกไปล้อมจับ พวกจีนต่อสู้ และในที่สุดก็แพ้ พระเจ้ากรุงธนบุรีจับเรือสำเภาได้หมด แล้วจึงยกกองทัพเข้ามากู้อิสสระภาพของสยาม ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองขึ้นกรมท่า ด้วยเหตุที่จังหวัดตราดอยู่ต่อแดนเขมร จึงเป็นเมืองหน้าศึกทางด้านนั้น เมื่อองเชียงสือหนีจากกรุงเทพฯ มาพักที่เกาะกูด เมื่อรบรวมกำลังตีเอาเมืองญวนคืนจากพวกกบฏ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการเมืองตราดช่วยเหลืออุปการะองเชียงสือกับพวก จังหวัดตราดได้ตกอยู่ในความครอบงำของฝรั่งเศสครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๐.

จังหวัดตาก เดิมตั้งที่ว่าการอยู่บนดอยเล็ก ๆ ที่หลังวัดพระธาตุ ตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก ห่างลำน้ำปิงประมาณ ๔๐๐ ม. เหนืออำเภอบ้านจากเดี๋ยวนี้ราว ๔ กม. ยังมีรอยเขื่อนปรากฏอยู่ สันนิษฐานกันว่า เดิมเป็นของมอญสร้างขึ้นไว้ เพราะอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำปิง เดิมลำน้ำแม่ปิงไหลชิดดอย แล้วเปลี่ยนทางห่างไปอีกราว ๔๐๐ ม. ประมาณกันว่า ได้ย้ายเมืองมาตั้งที่ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดเดี๋ยวนี้ในรัชชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา เพื่อให้ตรงกับช่องทางที่พะม่ามักเดินทัพเข้ามาทำศึกกับไทย แล้วย้ายมาตั้งทางฝั่งซ้ายแม่น้ำปิงที่ตำบลระแหงในรัชชกาลที่ ๒ จนเดี๋ยวนี้ ชาวบ้านเรียกกันเป็นสามัญว่า เมืองระแหง ชั้นเดิมเข้าใจว่า เป็นเมืองเล็กน้อย ขึ้นกำแพงเพชร

จังหวัดตากเป็นเมืองตั้งอยู่ชายแดน เป็นทางหนึ่งที่ชาวอินเดียเดินเข้ามาสู่สยามในสมัยโบราณ และเป็นเมืองหน้าด่านสำหรับชุมพลที่จะยกไปทางเชียงใหม่ในสมัยก่อน เป็นย่านกลางแห่งการค้า ติดต่อระหว่างเชียงใหม่กับปากน้ำโพสมัยเมื่อยังไม่มีรถไฟ.

จังหวัดนครนายก ตามคำเล่าสืบกันมาว่า ในสมัยโบราณ ชาวบ้านทำไร่นาได้ข้าวไม่พอกิน ด้วยภูมิประเทศเป็นป่าดงและเนินสูง พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดให้ยกเว้นอากรค่านา ราษฎรก็พากันมาจับจองที่นา ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมากขึ้น จนมีฐานะเป็นเมือง เรียกว่า เมืองนายก และคำว่า เมือง นั้นเองเป็น นคร รวมกันเข้าเป็นนครนายก

เมืองนครนายกเป็นเมืองโบราณสมัยขอมเมืองหนึ่ง โดยมีเทวสถานฝีมือขอมเป็นพะยาน ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ในตำบลลงละคร ซึ่งเป็นเนินสูง เป็นด่าดงพงชัฏ ชาวบ้านเรียกกันว่า เมืองลับแล ยังมีแนวกำแพงเป็นเนินดินและคูปรากฏอยู่ แล้วย้ายมาตั้งใหม่ที่ฝั่งขวาแม่น้ำนครนายกอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดทุกวันนี้ สันนิษฐานกันว่า คงจะได้ย้ายมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตั้งเป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกสำหรับป้องกันศัตรูฝ่ายเขมร เดิมมีกำแพงป้อมคูแขงแรง และมารื้อเสียในรัชชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เมื่อทำศึกกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง คราวเดียวกับเมื่อรื้อกำแพงเมืองสุพรรณและเมืองลพบุรี บัดนี้ ยังเหลือซากอยู่บางตอน.

นครปฐมเป็นเมืองเก่าที่สุดเมืองหนึ่งในประเทศสยาม มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งมาตั้งแต่สมัยเมื่อพุทธศาสนาแผ่มาถึงสุวรรณภูมิ แต่การขุดค้นโบราณวัตถุ ปรากฏว่า มีศิลปวัตถุสมัยคุปตะ (ราวพุทธสตวรรษที่ ๑๒) ทั้งบนศิลาจารึกต่าง ๆ ที่ขุดได้ทางแถบนี้ก็มักเป็นอักษรคฤนถ์ราวสมัยพุทธสตวรรษที่ ๑๑ จึงสันนิษฐานได้ว่า เมืองนี้อยู่ในอาณาจักรทวาราวดีของมอญในพุทธสตวรรษที่ ๑๑ (ก่อนนี้อาจตกอยู่ในอาณาจักรพนมโคตรบูรซึ่งจีนเรียกว่า ฟูนัน ก็เป็นได้) ครั้นถึงราว พ.ศ. ๑๕๔๕ กษัตริย์แห่งอาณาจักรนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัยมีอำนาจขึ้น ตั้งเป็นเอกราช แล้วแผ่อาณาเขตต์มาครองทวารวดีและประเทศเขมร นครปฐมจึงตกอยู่ในอำนาจชาวนครศรีธรรมราช แล้วเลยตกเป็นของเขมรสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (ผู้มีสมญาว่า พระบรมนิรวาณบาท) ครั้นต่อมาราวพุทธศักราช ๑๖๐๐ พระเจ้าอนุรุธมหาราช (อโนรธามังฉ่อ) มาตีละโว้ของเขมรได้ จึงน่าจะยกมาตีเอาบริเวณเมืองนครปฐมนี้ไปได้ด้วย ฉะนั้น จึงมีผู้สันนิษฐานว่า ที่ปรากฏในพงศาวดารพะม่าว่า พระเจ้าอนุรุธมาได้แบบอย่างสร้างพระสถูปเจดีย์ไปจากมอญเพื่อไปสร้างที่กรุงพุกามนั้น คงจะได้มาจากนครปฐม เพราะที่เมืองสะเทิมของมอญไม่ปรากฏซากพระเจดีย์ที่เป็นของโบราณสถานถึงสมัยนั้นเลย อนึ่ง การที่พะม่ามาตีได้ดินแดนเขมรนั้น ทำให้เขมรถอยอำนาจ ฉะนั้น ต่อมา ไทยจึ่งอพยพเข้ามาอาศัยในดินแดนเขมรได้เป็นอันมาก ครั้นถึง พ.ศ. ๑๗๓๑ อาณาจักรเชียงแสนถูกพระเจ้าเสือหาญฟ้า (คำฟ้า ก็เรียก) กษัตริย์ไทยใหญ่ผู้ครองแสนหวี มาตีแตก กษัตริย์ไทยจึงยกรี้พลอพยพลงมาอยู่ในดินแดนเขมร ต่อมา ปรากฏว่า อาณาจักรซึ่งมีเมืองนครปฐมนี้ได้ตกเป็นของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนผู้สืบเชื้อพระวงศ์มาจากพระเจ้าพรม แต่เป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ฉะนั้น เมืองนครปฐมจึงถูกทิ้งร้างในคราวเมื่อพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ ๑ ต้องย้ายไปตั้งราชธานีที่เวียงเหล็ก เพราะแถบนี้ก็คงจะกันดารน้ำเช่นเดียวกับที่เมืองอู่ทอง ต่อมา ไม่ใคร่ปรากฏเรื่องราวเมืองนครปฐม นอกจากว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์โปรดให้แบ่งท้องที่เมืองราชบุรีกับเมืองสุพรรณบุรีมารวมตั้งเป็นเมืองนครชัยศรีขึ้นที่คลองบางแก้วเพื่อสะดวกในการเกณฑ์พลสำหรับต่อสู้พระเจ้าหงสาวดี ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าฯ เมื่อยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จมาทางนครชัยศรี ทรงเห็นพระสถูปเจดีย์ซึ่งขอมสร้างสวมพระสถูปเดิมซึ่งมีรูปเป็นอย่างอินเดีย ทรงสันนิษฐานว่า เป็นโบราณสถานครั้งสมัยเมื่อพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในแถบนี้ จึงทรงตั้งนามว่า เมืองนครปฐม ครั้นเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ จึงโปรดให้ตั้งต้นปฏิสังขรณ์ แต่มาทำเสร็จในรัชชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ทรงปฏิสังขรณ์ต่อมา และมักเสด็จไปประทับที่พระราชวังสนามจันทรซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในรัชชกาลนั้นเนือง ๆ ในสมัยเมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑล จังหวัดนครปฐมเป็นที่ตั้งศาลารัฐบาลมณฑลนครชัยศรี.

จังหวัดนครพนมอยู่ชายแดนตรงข้ามกับเมืองท่าแขกของฝรั่งเศส เป็นเมืองด่านและชุมทางสำคัญทั้งทางบกทางน้ำ เป็นท่าเรือติดต่อกับเมืองต่าง ๆ ตามฝั่งแม่น้ำโขง เคยเป็นราชธานีอาณาจักรโคตรบูร ต่อมาเมื่อขึ้นกรุงสยาม เคยมีเจ้าครองจนถึงรัชชกาลที่ ๕ จึงได้จัดการปกครองอย่างมณฑลเทศาภิบาล.

จังหวัดนครสวรรค์เป็นเมืองโบราณ ในจารึกพ่อขุนรามกำแหงเรียกว่า เมืองพระบาง ตั้งอยู่ในที่ดอน มีเขตต์ตั้งแต่ชายเขาขาดลงมาจนจดหลังตลาดปากน้ำโพ ยังมีเชิงเทินดินเป็นแนวกำแพงปรากฏอยู่ เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เรียกว่า นครพังคา ต่อมาย้ายที่ทำการไปตั้งทางฝั่งซ้ายใต้เมืองเก่าลงมาประมาณ ๘ กม. ถึงรัชชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร จึงย้ายไปตั้งทางฝั่งซ้ายอีก เมืองนครสวรรค์เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในการสงครามมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาทำสงครามกับกรุงสุโขทัย แม้ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร ก็เป็นที่ตั้งรับทัพพะม่าซึ่งยกมาทางเหนือ.

จังหวัดนี้ เดิมเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอบางนรา ขึ้นเมืองสายบุรี แล้วโอนไปขึ้นเมืองระแงะ ครั้น พ.ศ. ๒๔๔๕ ย้ายศาลากลางเมืองระแงไปตั้งที่อำเภอบางนรา เรียกว่า เมืองบางนรา ตั้งระแงเป็นอำเภอไป เมืองบางนราเปลี่ยนชื่อเป็นนราธิวาสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘.

จังหวัดน่านนี้ ในพงศาวดารเมืองน่าน (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๐) กล่าวว่า ท้าวผากอง ราชวงศ์ภูคา เมืองปัว เป็นผู้สร้างเมื่อ "ปีรวายซง้า จุลศักราชได้ ๗๓๐ ตัว เดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ วันอังคาร ยามแถหั้นแล" เมื่อสร้างเมืองน่านแล้ว ราชวงศ์ภูคาก็ครอบครองต่อมาได้ ๑๖ ชั่ว ในระยะเหล่านี้ เมืองน่านได้มาฝักใฝ่อยู่กับพญาเชลียง จึงเสียเมืองแก่พระเจ้าติโลกราชเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๓ (ในรัชชกาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) เมื่อสิ้นรัชชสมัยของพระเจ้าติโลกราชแล้ว อำนาจเชียงใหม่เสื่อมลงจนตกไปเป็นของพะม่า เมืองน่านก็ขึ้นแก่พะม่าต่อมา บางคราว เมืองไทยมีอานุภาพ ก็กลับได้ลานนาไทยคืนมา จนสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อลานนาไทยมาขึ้นแก่ไทยแล้ว เมืองน่านก็มาสวามิภักดิ์ต่อไทยด้วย.

ที่ตั้งเมืองเดี๋ยวนี้เป็นเมืองโบราณ เรียกว่า เมืองแปะ เล่ากันว่า ตั้งตามชื่อต้นไม้ใหญ่ชะนิดหนึ่ง เรียกว่า ต้นแปะ ซึ่งขึ้นอยู่กลางเมือง จังหวัดบุรีรัมย์เดี๋ยวนี้รวมเมืองเก่าเข้าไว้หลายเมือง คือ เมืองแปะ เมืองนางรอง เมืองตะลุง เมืองพุทไธสง เมืองเหล่านี้สันนิษฐานกันทางโบราณคดีว่า เป็นเมืองขอม มีเจ้าเมืองปกครองทุกเมือง เพิ่งมารวมตั้งเป็นเมืองบุรีรัมย์ในรัชชกาลที่ ๕ ราว พ.ศ. ๒๔๔๑ ลดเมืองต่าง ๆ ที่กล่าวนามมาแล้วลงเป็นอำเภอ

มีประวัตการณ์ซึ่งเป็นเกียรติของชาวบุรีรัมย์อยู่ตอนหนึ่งซึ่งควรบันทึกไว้ คือ เมื่อเจ้าอนุเวียงจันทรเป็นกบฏในรัชชกาลที่ ๓ เจ้าราชวงศ์ยกกองทัพมากวาดต้อนผู้คนและเสบียงอาหารแถบเมืองพุทไธสง เมืองแปะ และเมืองนารอง พระนครภักดี (หงส์) เจ้าเมืองแปะ ควบคุมชาวเมืองออกต่อสู้ สู้ไม่ได้ จึงจะหนีไปเมืองผไทสมัน พวกเวียงจันทรติตดามทันที่ช่องเสม็ด จับตัวพระนครภักดีได้ พวกเวียงจันทรกวาดต้อนครอบครัวชาวบุรีรัมย์ไปให้เจ้าราชวงศ์ คืนวันหนึ่ง พระนครภักดีคบคิดกับครอบครัวพวกชาวบุรีรัมย์ต่อสู้กับพวกเวียงจันทร แต่ถูกฆ่าตายหมด ว่า พระนครภักดีนั้นอยู่คงกะพันฟันแทงไม่เข้า ถึงกับต้องเอาหลาวเสียบทวารหนักจึงตาย นับว่า เป็นผู้จงรักภักดีสมชื่อผู้หนึ่ง.

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นเมืองโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า เมืองนารัง ตั้งอยู่ริมลำน้ำบางนางรม อยู่ในบริเวณสถานีขั้นกระได แต่ได้เลิกร้างเสียคราวหนึ่ง และมาตั้งขึ้นในรัชชกาลที่ ๒ ที่ปากคลองบางอีรม เรียกว่า เมืองบางนางรม ย้ายที่บัญชาการไปตั้งที่เมืองกุย ถึงรัชชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ โปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองบางนางรมเป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ (คู่กับเกาะกง ซึ่งพระราชทานนามว่า เมืองประจันตคีรีเขตต์) รวมท้องที่เมืองกุย เมืองครองวาฬ เข้าเป็นท้องที่เดียวกัน ถึงรัชชกาลที่ ๕ เมื่อจัดการปกครองท้องที่เป็นมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ. ๒๔๓๗ เมืองประจวบคีรีขันธ์ถูกยุบเป็นอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นจังหวัดเพชรบุรี แต่ยังคงตั้งที่ว่าการอยู่ที่เมืองกุย ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ จึงย้ายที่ว่าการมาตั้งที่อ่าวเกาะหลัก ครั้น พ.ศ. ๒๔๔๙ โปรดให้รวมอำเภอ ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองปราณบุรี ซึ่งขึ้นอยู่แก่จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอเมืองกำเนิดนพคุณ ซึ่งขึ้นแก่จังหวัดชุมพร ตั้งขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า เมืองปราณบุรี แต่ไปตั้งศาลากลางจังหวัดที่ตำบลเกาะหลัก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นอำเภอเมืองของจังหวัดปราณบุรี ต่อมาถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ โปรดให้เปลี่ยนชื่อจังหวัดปราณบุรีเป็นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์.

จังหวัดปัตตานี เรียกกันว่า เมืองตานี บ้าง เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งในแหลมมะลายู มีเรื่องกล่าวว่า เป็นเมืองผู้หญิงสร้าง ในสมัยเมื่อไทยแผ่อาณาเขตต์ลงไปถึงแหลมมะลายูนั้น จังหวัดปัตตานีขึ้นแก่ไทย เป็นเมืองประเทศราชส่งบรรณาการเป็นคราว ๆ เช่นเดียวกับเมืองมะละกา เมืองปัตตานีใช้วิธีปกครองโดยเลือกสตรีในวงศ์ตระกูลเจ้าเมืองซึ่งมีอายุสูงพ้นเขตต์ที่จะมีบุตรแล้วเป็นนางพระยาว่าราชการเมืองเป็นประเพณีกันสืบมาดังเช่นในเกาะสุมาตราบางแห่ง และใช้ประเพณีนี้ตลอดมาในสมัยสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่คราวใดศรีอยุธยาอ่อนอำนาจลง เมืองปัตตานีก็งดส่งบรรณาการและแสดงอาการกระด้างกระเดื่อง เช่น ในรัชชสมัยพระเจ้าปราสาททองใน พ.ศ. ๒๑๗๕ นางพระยาปัตตานีเห็นว่า พระเจ้าปราสาททองชิงราชสมบัติจากเจ้านายในราชวงศ์เดิม ก็ถือโอกาสงดส่งบรรณาการ แสดงความกระด้างกระเดื่อง โปรดให้กองทัพกรุงออกไปปราบถึงสองครั้ง ก็ยังปราบไม่ได้ จนถึง พ.ศ. ๒๑๗๙ เตรียมกองทัพจะไปปราบอีก แต่พวกฮอลันดาแนะนำนางพระยาให้อ่อนน้อมเสีย เมืองปัตตานีจึงกลับเป็นของไทยดังเก่า.

ครั้นเมื่อเสียกรุงแก่พะม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ นางพระยาปัตตานีก็ถือโอกาสปลีกตัวจากไทยอีก จนถึง พ.ศ. ๒๓๒๙ เมื่อเสร็จศึกจากพระเจ้าปะดุงในรัชชกาลที่ ๑ แล้ว กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้เสด็จยกทัพหลวงไปขับไล่พะม่าทางแหลมมะลายูไปหมดแล้ว มีพระบัณฑูรออกไปให้บรรดาหัวเมืองมะลายูที่เคยขึ้นแก่ไทยมาอ่อนน้อมตามเดิม พระยาปัตตานีขัดแข็งไม่ยอมอ่อนน้อม ต้องให้กองทัพไปปราบ จึงได้เมืองปัตตานีคืน และได้ปืนใหญ่อันเป็นศรีเมือง เรียกว่า ปืนนางพระยาตารี มาด้วย (บัดนี้ อยู่ที่หน้าศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม) เมื่อได้เมืองปัตตานีแล้ว ชะรอยจะตั้งผู้เป็นเชื้อวงศ์ของพระยาปัตตานีคนใดคนหนึ่งให้เป็นเจ้าเมือง แต่พระยาปัตตานีคนใหม่ไม่ซื่อสัตย์ เพราะปรากฏว่า ใน พ.ศ. ๒๓๓๒ พระยาปัตตานีได้ไปชักชวรองเชียงสือ ซึ่งเป็นพระเจ้าเวียดนัมเกียลอง จะให้มาตีหัวเมืองในพระราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดให้กองทัพไปตีเมืองปัตตานีอีกครั้งหนึ่ง แล้วถอดเจ้าเมืองเก่าเสีย ตั้งข้าราชการไทยเป็นเจ้าเมืองแทน ครั้นต่อมาในรัชชกาลที่ ๒ พะม่าคิดจะยกกองทัพมาตีเมืองไทยอีก ได้ให้ไปชักชวนหัวเมืองมะลายูที่ขึ้นแก่ไทยให้ก่อการกบฏขึ้น แต่เจ้าเมืองปัตตานีเป็นคนไทย จึงปราบปรามไว้ได้ แต่นั้นต่อมา จึงโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง คือ ๑. ปัตตานี ๒. ยะลา ๓. ยะหริ่ง หรือยิหริ่ง ๔. ระแงะ ๕. ราห์มัน ๖. สายบุรี ๗. หนองจิก มีพระยาเมืองปกครองขึ้นต่อเมืองสงขลามาจนถึงรัชชกาลที่ ๕ โปรดให้จัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล แต่เมืองบางเมืองที่มีเชื้อสายเจ้านายเก่า ๆ ปกครองอยู่ เช่น หัวเมืองในมณฑลภาคพายัพบ้าง มณฑลภาคอีสานบ้าง มณฑลปักษ์ใต้บ้าง ได้จัดการปกครองเป็นบริเวณ เชื้อสายเจ้านายเก่า ๆ เป็นผู้ปกครองเมือง และตั้งข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้ทำงานแทนผู้ครองเมือง เมืองปัตตานีที่ได้แยกเป็น ๗ หัวเมืองก็ได้จัดการปกครองเป็นบริเวณ เรียกว่า บริเวณ ๗ หัวเมือง ขึ้นต่อข้าหลวงใหญ่มณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๙ จึงให้ตั้งบริเวณ ๗ หัวเมืองนั้นเป็นมณฑลปัตตานี และให้มีจังหวัดเพียง ๔ จังหวัด คือ รวมเมืองปัตตานี เมืองหนอกจิก และเมืองยะหริ่ง เข้าเป็นเมืองปัตตานี รวมเมืองยะลากับเมืองราห์มันเข้าเป็นเมืองยะลา ส่วนเมืองระแงะกับเมืองสายบุรีคงอยู่ตามเดิมจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงยุบเมืองสายบุรีเป็นเมืองตะลุบัน ขึ้นจังหวัดปัตตานี และแบ่งท้องที่ไปขึ้นจังหวัดนราธิวาส (เมืองระแงเดิม) บ้าง.

ตัวเมืองปัตตานี เดิมตั้งอยู่บ้านมะนา ซึ่งบัดนี้เป็นตำบลบานา ขึ้นอำเภอสบารัง ยังมีป่าช้าเก่า ๆ ปรากฏอยู่.

ตั้งขึ้นในรัชชกาลที่ ๓ มีโบราณวัตถุ คือ กำแพงเมืองเก่าที่ตำบลลาดเหนือ อำเภอตะกั่วป่า มีหินสลักรูปพระนารายณ์ พระลักษณ์ และนางสีดา แผ่นละรูป อยู่ที่ตำบลเหล อำเภอกะปง.

จังหวัดพัทลุง เดิมตั้งเมืองที่อำเภอจะทิ้งพระ แขวงจังหวัดสงขลา ได้มีการโยกย้ายที่ตั้งเมืองมากแห่ง สมัยราว ๑๐๐๐ ปีล่วงมานี้ มีตำนานปรัมปราว่า ตาสามโม และยายเพชร สองผัวเมีย อยู่ตำบลปละทา เป็นหมอลำดำหมอเถ้านายกองช้างของเจ้าพระยากองทอง ผู้คะนองเมืองพัทลุง ต่อมา ตายายได้กุมารจากป่าไผ่เสลียง และได้กุมารีจากป่าไผ่ดง ได้ชื่อว่า นางเลือดขาว เด็กทั้งสองเมื่อเติบโตขึ้นก็ได้เป็นสามีภรรยากัน สามีได้เป็นนายกองส่วยช้างแทนตายายจนมีกำลังมากขึ้น และได้ชื่อว่า พระยากุมาร พระยากุมารกับนางเลือดขาวเป็นผู้ใจบุญ ได้สร้างพระพุทธรูป และสร้างวัดพระพุทธสิหิงค์ที่เมืองตรังสำหรับเป็นที่พักพระพุทธรูปองค์นั้น และสร้างวัดอื่น ๆ อีกหลายวัดที่ในจังหวัดพัทลุง ข่าวทราบไปถึงกรุงศรีอยุธยามหานครฝ่ายเหนือ (ในที่นี้หมายถึงกรุงสุโขทัย) โปรดให้พระยาพิษณุโลกกับกับนางทองจันทน์มารับนางเลือดขาวไปเป็นมเหสี แต่นางตั้งครรภ์มาก่อนแล้ว พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไม่ได้ยกขึ้นเป็นมเหสี เมื่อนางเลือดขาวคลอดบุตรเป็นกุมาร พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงขอไว้เป็นราชบุตรบุญธรรม แล้วส่งนางเลือดขาวกลับมาอยู่กับสามีที่พัทลุงตามเดิม

เรื่องเมืองพัทลุงที่ปรากฏเป็นตำนานปรัมปราเหลือสืบมาก็เพียงเรื่องข้างต้นนี้ เรื่องไม่สู้เกี่ยวกับตำนานจังหวัดนัก นอกจากผู้ครองเมือง อย่างไรก็ดี จังหวัดพัทลุงเมืองเดิมนั้นเป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งทางภาคใต้ อาณาจักรศรีวิชัย (พ.ศ. ๑๒๐๐–๑๔๐๐) ก็เคยมีอำนาจแผ่ขึ้นมาตลอดแหลมมะลายู เพราะฉะนั้น เมืองพัทลุงซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลในอำเภอจะทิ้งพระก็คงเป็นเมืองขึ้นอาณาจักรศรีวิชัยเมืองหนึ่งด้วย จังหวัดพัทลุงมีเรื่องปรากฏในพระราชพงศาวดารอยู่มากแห่ง พ.ศ. ๑๙๒๗ สมเด็จพระราเมศวรได้ส่งชะเลยชาวเชียงใหม่มาไว้ที่เมืองพัทลุง พ.ศ. ๒๐๕๗ ปรากฏว่า พระธรรมรังคัลได้เป็นเจ้าเมือง (เวลานั้น ยังตั้งที่อำเภอจะทิ้งพระตามเดิม) ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ มีตำนานเล่าว่า ผู้หนึ่งชื่อ เจ้าอินทร์ ชาวเมืองพัทลุง อุปสมบทเป็นภิกษุอยู่ณเมืองนครศรีธรรมราช รับอาสาทำเวทมนต์ให้ข้าศึกที่ยกมาล้อมกรุงศรีอยุธยางวยงงมีความกลัวถอยกลับไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงตั้งภิกษุเจ้าอินทร์เป็นที่พระครูอินทโมลีศรีนันทราชฉัททันต์จุฬามุนีราชปัญญาปรมาจาริยานุชิตพิพิธรัตนราชวรวงษพงษภักดีศรีสากยบุตรอุประดิษเถระ คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง พ.ศ. ๒๒๙๑ แผ่นดินสมเด็จพระบรมโกษ โปรดให้พระยาบังวัน (ตะตา) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุงเป็นทำนองประเทศราช ถวายต้นไม้เงินทอง เป็นเมืองชั้นตรี มีเมืองขึ้น ๔ เมือง คือ ปะเหลียน จะนะ เทพา และสงขลา (แต่เดิม สงขลาเป็นปากน้ำเมืองพัทลุง ตาตุมะระหุ่ม แขกอิสลาม ปู่ของพระยาราชบังสัน (ตะตา) เป็นผู้มาตั้งเมืองขึ้น) สมัยธนบุรี พระปลัดตั้งตัวเป็นเจ้านครศรีธรรมราช ให้หลานชายมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่ท่าเสม็ดหรือตำบลปราณ แล้วต่อมา เจ้านครให้พระยาพิมลขันธ สามีท้าวเทพสตรีเมืองถลาง มาเป็นเจ้าเมือง ตั้งเมืองที่ตำบลควนมะพร้าว พ.ศ. ๒๓๑๒ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ โปรดให้นายจันท์ มหาดเล็ก มาเป็นเจ้าเมือง ตั้งเมืองที่บ้านม่วง ภายหลัง นายจันท์ มหาดเล็ก มีโทษ ต้องถูกถอด พ.ศ. ๒๓๑๕ ทรงตั้งนายขุน บุตรพระยาราชบังสัน (ตะตา) ต้นสกุล ณพัทลุง หรือพระยาพัทลุง ขุนคางเหล็ก เป็นพระยาแก้วเการพพิชัย ผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชชกาลที่ ๑ โปรดให้เมืองพัทลุงและเมืองอื่น ๆ อีก ๑๙ เมืองทางปักษ์ใต้ซึ่งเดิมขึ้นกรมท่ามาขึ้นกลาโหม พ.ศ. ๒๓๒๘ พะม่ายกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เจ้าเมืองกรมการหลายเมืองยกครอบครัวหนีพะม่าเข้าป่า เพราะทางกรุงเทพฯ ก็ติดพันทำศึกกับพะม่าอยู่ ยกมาช่วยไม่ได้ แต่พระมหาช่วย เป็นอธิการอยู่วัดเขาแดง แขวงเมืองพัทลุง ได้แจกผ้าประเจียดและตระกรุดแก่กรมการนายแขวงนายบ้านและชาวเมืองที่มีความเลื่อมใสนับถือ แล้วให้พระมหาช่วยขึ้นคามหามคุมกันเป็นกองทัพ มีคน ๑๐๐๐ เศษ ยกเข้ามาขัดตาทัพพะม่าอยู่กลางทางที่คลองปันแต เขตต์พัทลุงต่อกับนคร ไม่หนีทิ้งเมืองไปซ่อนอยู่ในป่าเหมือนเมืองอื่น แต่พะม่าที่ยกมาคราวนั้นถูกทัพกรุงเทพฯ ที่ยกลงมาตีแตกเสียก่อน พระมหาช่วยเป็นผู้มีความชอบ กรมพระราชวังบวรฯ โปรดให้ออกจากสมณเพศ แล้วทรงพระกรุณาตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร ช่วยราชการเมืองพัทลุง พ.ศ. ๒๓๓๔ โปรดให้พระยาแก้วโกรพพิชัย (ทองขาว บุตรพระยาพัทลุง ขุนคางเหล็ก) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่อำเภอลำปำ ริมทะเลสาบ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ ย้ายเมืองมาตั้งที่อำเภอคูหาสวรรค์จนบัดนี้

เป็นเมืองโบราณสมัยขอม ในพงศาวดารเหนือว่า โอรสพระยาโคตระบองสร้าง ในจารึกของพ่อขุนรามกำแหงเรียกเมืองนี้ว่า สระหลวง บางตำนานเรียกว่า โอฆบุรี ตัวเมืองเก่าตั้งอยู่ที่แม่น้ำพิจิตรเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอท่าหลวง อยู่ทางทิศตะวันตกของศาลากลางจังหวัดเดี๋ยวนี้ ห่างประมาณ ๖ กม. เป็นป่ารกร้าง ยังมีกำแพงอิฐและโบสถ์วิหารที่ปรักหักพังเหลืออยู่พอสังเกตได้บ้าง ในสมัยสุโขทัย จังหวัดพิจิตรเป็นหัวเมืองด่านทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นกรุงสุโขทัย ครั้นอำนาจทางสุโขทัยเสื่อมลงตกเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา เมืองพิจิตรจึงเป็นหัวเมืองชั้นนอกขึ้นเมืองพิษณุโลก มาในสมัยรัชชกาลที่ ๕ แม่น้ำพิจิตรตื้นเขินมาก ด้วยสายน้ำเปลี่ยนไปเดินเสียทางคลองเรียง เป็นเหตุให้เมืองพิจิตรกันดารน้ำ ทางการจึงย้ายศาลากลางจังหวัดมาตั้งที่คลองเรียง ตำบลในเมือง อำเภอท่าหลวง และคลองเรียงนั้นเอง เมื่อกระแสน้ำกัดกว้างออกไป ก็เลยกลายเป็นแม่น้ำน่าน แม่น้ำน่านที่ตั้งเมืองพิจิตรเก่าก็คงชื่อเป็นแม่น้ำพิจิตรและตื้นเขินอยู่จนบัดนี้

เหตุให้เมืองพิจิตรกันดารน้ำ ทางการจึงย้ายศาลากลางจังหวัดมาตั้งที่คลองเรียง ตำบลในเมือง อำเภอท่าหลวง และคลองเรียงนั้นเอง เมื่อกระแสน้ำกัดกว้างออกไป ก็เลยกลายเป็นแม่น้ำน่าน แม่น้ำน่านที่ตั้งเมืองพิจิตรเก่าก็คงชื่อเป็นแม่น้ำพิจิตรและตื้นเขินอยู่จนบัดนี้

จังหวังมหาสารคามตั้งขึ้นในรัชชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ คือ โปรดให้ยกบ้านลาดกุดนางใยในแขวงเมืองร้อยเอ็ดขึ้นเป็นเมืองมหาสารคาม ตั้งที่ว่าการที่หนองกระทุ่ม ถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงย้ายไปตั้งที่ตำบลตลาด อำเภอตลาด ห่างที่เดิมราว ๑๕ เส้น ในพระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๔ ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า ยกบ้านลาสกายางใหญ่ขึ้นเป็นเมืองมหาสารคาม ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๕ ว่า ตั้งบ้านยางใหญ่เป็นเมืองมหาสารคาม

จังหวัดยะลานี้เป็นคำเรียกตามเสียงของพวกมะลายูทางไทรบุรีและปินัง แปลว่า แห เพราะที่ตำบลยะลาซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองเก่า มีเขาลูกหนึ่งสัณฐานคล้ายจอมแห ส่วนเสียงชาวพื้นเมืองจังหวัดนี้ว่า ยาลอ แปลว่า แห เหมือนกัน

จังหวัดยะลา เดิมเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี ได้แยกตั้งเป็นเมืองต่างหากในรัชชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๔ คราวแยกเมืองปัตตานีเป็นบริเวณ ๗ หัวเมือง มีพระยาเมืองปกครองขึ้นเมืองสงขลา ถวายต้นไม้เงินทองอย่างประเทศราช มาถึงรัชชกาลที่ ๕ เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ได้ยุบเมืองราห์มันรวมเข้ากับเมืองยะลา ตั้งศาลากลางที่ตำบลยะลา ขึ้นมณฑลปัตตานี ยกเลิกการถวายต้นไม้เงินทอง เก็บส่วยสาอากรแทน แต่คงใช้หลักการของเก่าบางอย่างซึ่งเกี่ยวกับลัทธิศาสนาเป็นพิเศษอยู่บ้าง เช่น ตัดสินคดีพิพาทด้วยเรื่องผัวเมียมฤดกซึ่งไทยอิสลามเป็นคู่ความ ภายหลังจึงย้ายศาลากลางจังหวัดมาตั้งที่ตำบลสะเตง อำเภอสะเตง จนบัดนี้

จังหวัดระยองไม่ปรากฏว่า สร้างแต่ครั้งไร มีชื่อในพระราชพงศาวดารมาแต่ พ.ศ. ๒๑๑๓ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อพระยาละแวกยกกองทัพเข้ามาย่ำยีประเทศสยาม ได้กวาดต้อนชาวระยองไปด้วย จังหวัดนี้เดิมตั้งอยู่ตำบลใดไม่ปรากฏ ตามที่สืบสวนได้ความเพียงว่า ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอบ้านค่าย ต่อมา ชายฝั่งทะเลงอกออกไป จึงได้เลื่อนเมืองตามลงไปตั้งอยู่ที่ตำบลท่าประดู่ อำเภอท่าประดู่ จนบัดนี้ มีเกาะที่สำคัญ คือ เกาะเสม็ด และแม่น้ำสามสาย คือ แม่น้ำระยอง แม่น้ำประแส และแม่น้ำพังราด นอกจากนี้ มีที่เที่ยว คือ ถ้ำโบสถ์ และถ้ำสาแหรก ที่เขาลงใน อำเภอแกลง สุนทรภู่ กวีเอกของสยาม เกิดที่บ้านกล่ำ อำเภอแกลง ในจังหวัดนี้

จังหวัดราชบุรีเป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง แต่ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่า สร้างมาแต่เมื่อไร ยังเหลือโบราณสถานที่ถือเป็นหลักฐานได้ว่า เป็นเมืองโบราณสมัยขอม คือ พระปรางค์วัดหน้าพระธาตุ ลักษณะและฝีมือรุ่นเดียวกับปรางค์ที่วัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี มาปรากฏหลักฐานแน่นอนในสมัยสุโขทัย ด้วยมีชื่อในศิลาจารึกพ่อขุนรามกำแหง ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำกลอง ยังมีเนินดินซึ่งเป็นกำแพงเมืองเก่าและค่ายคูปรากฏอยู่ บริเวณเมืองเก่านี้กว้างประมาณ ๑ กม. ยาวประมาณ ๒ กม. ปรากฏว่า เคยเป็นที่ตั้งรบทัพพะม่าในครั้งกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้เรียกเมืองเก่านี้ว่า ค่ายหลุมดิน เป็นตำบลหนึ่งอยู่ในอำเภอเมือง

มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชชกาลที่ ๒ โปรดให้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำกลองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงทหารในบัดนี้ ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๕ เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล จึงไดตั้งย้ายเมืองไปตั้งทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลองอีก พ.ศ. ๒๔๔๐ แต่ตั้งต่อเมืองลงไปทางใต้ซึ่งปรากฏอยู่ทุกวันนี้

เมืองราชบุรีเป็นเมืองด่านสำคัญเมืองหนึ่งซึ่งเคยเป็นสนามรบในระหว่างไทยกับพะม่ามามาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ว่าสำคัญนั้น คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ ในรัชชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี งุยอคงหวุ่นคุมกองทัพพะม่าจำนวน ๓,๐๐๐ คนแยกมาตั้งค่ายที่บางแก้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ตั้งค่ายล้อมไว้โดยไม่ออกรบเพื่อจะจับพะม่าเป็นชะเลยให้ได้มาก ๆ เพราะเมื่อไทยมาตั้งค่าย พะม่าดูหมิ่นคนไทยว่า ไม่สามารถจะรบพะม่าให้ชะนะได้ แต่พะม่าพยายามตีหักออกไม่ได้จนอดอยาก ต้องยอมให้จับเป็นทั้งกองทัพ เป็นเหตุให้พะม่าเกรงขาม และทำให้ไทยมีน้ำใจองอาจกล้าหาญไม่ย่อท้อต่อพะม่าเหมือนแต่ก่อน

จังหวัดลพบุรีเป็นเมืองเก่าสมัยทวารวดีในระยะราว พ.ศ. ๕๐๐–๑๒๐๐ ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาฬวรรณดิศทรงสร้าง ดูก็มีเค้า เพราะได้ขุดค้นพบเครื่องดินเผาและเสาศิลาแปดเหลี่ยมอยู่ที่ศาลสูง จารึกเป็นภาษามอญชะนิดอย่างเก่าแก่รุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๒ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเมืองสำคัญและเก่ากว่าเมืองอื่น ๆ ในประเทศนี้ เว้นแต่เมืองที่นครปฐมแห่งเดียว เมื่อก่อนสมัยศรีอยุธยา เมืองลพบุรีมีชื่อว่า ละโว้ นัยว่า เดิมเป็นเมืองหลวงของละว้าทางตะวันออก ครั้นมาถึงสมัยเมื่อพวกขอมซึ่งตั้งราชธานีอยู่ที่นครธมมีอำนาจมากขึ้น ก็แผ่อำนาจรุกเข้ามาโดยลำดับ จนได้เมืองละโว้และเมืองที่นครปฐมไว้ในอำนาจเมื่อราว พ.ศ. ๑๔๐๐ จึงตั้งเมืองละโว้เป็นราชธานีของขอมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อราว พ.ศ. ๑๕๕๐ พะม่ามีอำนาจขึ้น ยกทัพเข้ามาตีแดนขอมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ได้ทั้งหมด เมื่อพะม่าเสื่อมอำนาจลง เมืองละโวก็ตั้งเป็นอิสสระหาขึ้นแก่นครธมไม่ จนไทยขยายลงมาตั้งเป็นอิสสระได้ที่เมืองสุโขทัยราว พ.ศ. ๑๗๐๐ ราชวงศ์พระร่วงมีอำนาจมากขึ้น ได้เขตต์แดนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ทั้งหมด เมืองละโว้อยู่ปลายแดนไทยจึงกลายเป็นเมืองด่านสำหรับรับศึกทางด้านตะวันออก

ครั้นราชวงศ์ของพระร่วงเสื่อมอำนาจลง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นอิสสระเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ แล้ว ให้พระราเมศวร ราชโอรสพระองค์ใหญ่ ขึ้นไปครองเมืองลพบุรี โดยเป็นที่สำคัญขึ้น เพราะเป็นหน้าด่านต่อแดนขอมและราชอาณาจักรสุโขทัย เพราะเหตุเมืองลพบุรีเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งดังกล่าวแล้ว จึงสร้างป้อมคูประตูหอรบแข็งแรง เพิ่งมารื้อเสียเมื่อรัชชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พร้อมกับรื้อเมืองสุพรรณ เมืองนครนายก และเมืองพระประแดง ด้วยทรงเห็นว่า ถ้ามีศึกใหญ่มารับไม่อยู่ ก็กลับเป็นที่มั่นของข้าศึก

ครั้นมาถึงรัชชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงปรารภเหตุที่ฝรั่งต่างชาติซึ่งเข้ามามีอาณาเขตต์ทางตะวันออกมักเที่ยวรุกรานประเทศใหญ่น้อย ทรงพระราชดำริว่า พระนครศรีอยุธยาอยู่ใกล้ทะเล เรือกำปั่นขึ้นไปถึงได้ ถ้าเกิดสงครามกับฝรั่งจะไม่เป็นที่มั่น จึงโปรดให้สร้างเมืองลพบุรีไว้เป็นราชธานีอีกแห่งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๘ ในครั้งนั้น มีช่างฝรั่งเศสเข้ามาอาสาราชการ ได้ให้แบบอย่างก่อสร้างหลายอย่าง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปประทับในฤดูแล้งทุกปี และสวรรคตที่เมืองลพบุรีนั้น

มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้ไปซ่อมแซมเมืองลพบุรี และโปรดให้สร้างพระที่นั่งและตำหนักขึ้นไว้เป็นที่ประพาส เมืองลพบุรีจึงนับว่า เป็นเมืองสำคัญเป็นลำดับมาจนบัดนี้

จังหวัดลำปาง เดิมเรียกว่า เมืองผากอง ต่อมาเปลี่ยนชื่อว่า เขลางคนคร อยู่ทางฝังขวาแม่น้ำวัง และมีเมืองอีกเมืองหนึ่งอยู่ตรงกันข้าม คือ อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำวัง มีตำนานกล่าวไว้ในหนังสือจามเทวีวงศ์ (บริเฉทที่ ๙ และที่ ๑๐) ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า นครเขลางคนั้น พระพรหมฤษีสร้างถวายพระเจ้าอนันตยศ โอรสที่สองของพระนางจามเทวี ต่อมา พระเจ้าอนันตยศยกนครเขลางคถวายเป็นที่ประทับของพระนางจามเทวี ราชมารดา พระพรหมฤษีจึงสร้างพระนครถวายพระเจ้าอนันตยศใหม่ตามทิวเขาอันยื่นไปจากนครเขลางค ให้นามว่า อาลัมพางคนคร คือ ลำปาง นครเขลางคและนครลำปางอยู่คนละฝั่งน้ำเป็นประดุจเมืองเดียวกัน ชนทั้งหลายจึงเรียกว่า นครเขลางคลำปาง นานเข้าคำต้นหายไป เหลือแต่ นครลำปาง (พงศาวดารโยนก หน้า ๑๙๕)

จังหวัดลำปางในสมัยเชียงแสนราว พ.ศ. ๑๖๐๐–๑๘๐๐ ตกอยู่ในอำนาจของพวกมอญเขมร ครั้นถึงสมัยสุโขทัย เมื่อขุนเม็งรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว คิดอุบายรวบเอานครลำปางมาขึ้นอยู่ในอำนาจได้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จังหวัดลำปางบางคราวเป็นประเทศราชขึ้นพะม่า บางคราวขึ้นสยาม บางคราวเชียงใหม่ปกครอง ถึงสมัยกรุงธนฯ เมื่อพระเจ้ากรุงธนฯ ตีได้เชียงไหม่ โปรดให้พระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองลำปาง ครั้นถึงกรุงรัตนโกสินทร เมื่อพระยากาวิละย้ายไปเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ และต่อมาได้ทรงยกย่องให้มีเกียรติเป็นพระเจ้าเชียงใหม่แล้ว ตระกูลของพระเจ้ากาวิละก็ได้ครองนครลำปางเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรสยามต่อมา

จังหวัดเลย เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ขึ้นเวียงจันทร์ ในรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้พระท้ายน้ำเป็นข้าหลวงไปสำรวจตำบลต่าง ๆ ตั้งเป็นเมืองขึ้นที่บ้านแฮ่ ในรัชชกาลที่ ๕ ย้ายที่ว่าการเมืองไปตั้งที่ตำบลกุดป่อง ริมแม่น้ำเลยจนบัดนี้

จังหวัดสกลนครเป็นเมืองโบราณ ตามนิยายและตำนานกล่าวว่า โอรสเจ้ากรุงอินทปัตต์ ชื่อ ขุนขอม พาบริวารมาสร้างเมืองขึ้นที่หนองหาน ตั้งชื่อตามตำบลว่า เมืองหนองหาน ขึ้นต่อเมืองอินทปัตต์ เมื่อขุนขอมสิ้นชีพแล้ว เจ้าสุระอุทก โอรส ได้เป็นเจ้าเมืองต่อมา เจ้าสุระอุกมีโอรส ๒ องค์ ชื่อ ปิงคละ องค์ ๑ ชื่อ คำแดง องค์ ๑ ต่อมา เจ้าสุระอุทกทำสงครามกันขึ้นกับพระยานาคชื่อ ธนะมูล พระยานครบันดาลให้น้ำท่วมเมืองหนองหาน เจ้าสุระอุทกจมน้ำตาย เจ้าปิงคละและเจ้าคำแดงหนีไปพักอยู่ทางทิศใต้หนองหาน เที่ยวตรวจหาที่สร้างเมืองใหม่ พบทำเลดีที่คูน้ำรอดธาตุเชิงชุม จึงสร้างเมืองลงในที่นั้น ตั้งชื่อว่า เมืองหนองหาน ตามเดิม แล้วทำพิธีภิเษกเป็นเจ้าเมือง มีนามว่า สุวรรณปิงคละ มีมเหสีชื่อ นางนารายเจงเวง พระยาสุวรรณปิงคละได้สร้างพระเจดีย์สวมรอยพระพุทธบาท ๔ รอยลงไว้ที่คูน้ำรอดธาตุเชิงชุม นางนารายเจงเวงได้สร้างพระธาตุนาเวงไว้ที่สวนนอกเมือง เมื่อพระยาสุวรรณปิงคละสิ้นชีพไปแล้ว ก็มีผู้ปกครองสืบมา จนถึงสมัยหนึ่ง ฝนแล้งไป ๗ ปี ชาวบ้านอดอยาก พากันอพยพไปอยู่เขมร เมืองหนองหานร้างอยู่ช้านาน จนชาวบ้านที่อยู่ในเมืองนั้นไม่เรียกว่า เมือง เรียกกันแต่ว่า บ้านธาตุเชิงชุม

จังหวัดสกลนครนี้ ถ้าดูตามวัตถุพะยานแห่งโบราณสถานที่มีอยู่ จะเห็นได้ว่า เป็นเมืองโบราณซึ่งพวกขอมได้สร้างขึ้นสำหรับปกครองท้องที่ในแผ่นดินสูงตอนเหนือแห่ง ๑ ในสมัยเมื่อขอมเป็นใหญ่อยู่ในแผ่นดินนี้ แต่ชะรอยจะได้สร้างไปเสียนานอย่างที่กล่าวไว้ในนิยาย เพิ่งจะมาตั้งขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ เปลี่ยนชื่อเป็น สกลทวาปี แล้วเปลี่ยนอีกครั้ง ๑ เป็น เมืองสกลนคร ในรัชชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ หลังจากการปราบกบฏเวียงจันทรแล้ว

เจ้าสุระอุทกจมน้ำตาย เจ้าปิงคละและเจ้าคำแดงหนีไปพักอยู่ทางทิศใต้หนองหาน เที่ยวตรวจหาที่สร้างเมืองใหม่ พบทำเลดีที่คูน้ำรอดธาตุเชิงชุม จึงสร้างเมืองลงในที่นั้น ตั้งชื่อว่า เมืองหนองหาน ตามเดิม แล้วทำพิธีภิเษกเป็นเจ้าเมือง มีนามว่า สุวรรณปิงคละ มีมเหสีชื่อ นางนารายเจงเวง พระยาสุวรรณปิงคละได้สร้างพระเจดีย์สวมรอยพระพุทธบาท ๔ รอยลงไว้ที่คูน้ำรอดธาตุเชิงชุม นางนารายเจงเวงได้สร้างพระธาตุนาเวงไว้ที่สวนนอกเมือง เมื่อพระยาสุวรรณปิงคละสิ้นชีพไปแล้ว ก็มีผู้ปกครองสืบมา จนถึงสมัยหนึ่ง ฝนแล้งไป ๗ ปี ชาวบ้านอดอยาก พากันอพยพไปอยู่เขมร เมืองหนองหานร้างอยู่ช้านาน จนชาวบ้านที่อยู่ในเมืองนั้นไม่เรียกว่า เมือง เรียกกันแต่ว่า บ้านธาตุเชิงชุม

จังหวัดสกลนครนี้ ถ้าดูตามวัตถุพะยานแห่งโบราณสถานที่มีอยู่ จะเห็นได้ว่า เป็นเมืองโบราณซึ่งพวกขอมได้สร้างขึ้นสำหรับปกครองท้องที่ในแผ่นดินสูงตอนเหนือแห่ง ๑ ในสมัยเมื่อขอมเป็นใหญ่อยู่ในแผ่นดินนี้ แต่ชะรอยจะได้สร้างไปเสียนานอย่างที่กล่าวไว้ในนิยาย เพิ่งจะมาตั้งขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ เปลี่ยนชื่อเป็น สกลทวาปี แล้วเปลี่ยนอีกครั้ง ๑ เป็น เมืองสกลนคร ในรัชชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ หลังจากการปราบกบฏเวียงจันทรแล้ว

ครั้นถึงสมัยจลาจล เจ้านครศรีธรรมราชได้ให้ญาติของตนคนหนึ่ง มีนามว่า วิเถียน มาครองเมืองสงขลา ครั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปราบก๊กเจ้านครได้ เจ้านครกับหลวงสงขลา (วิเถียน) ก็พากันหนีไปปัตตานี พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งกองทัพตามลงไปจับได้ทั้ง ๒ คน แล้วเสด็จลงไปประทับที่สงขลา ทรงตั้งชาวเมืองสงขลาคนหนึ่ง มีนามว่า โยน เป็นพระสงขลา แต่ภายหลัง มีพระราชดำริว่า พระสงขลาหย่อนความสามารถ จึงทรงตั้งจีนเหยี่ยง แซ่เฮา ชาวเมืองเจียงจิ้วยา ซึ่งเป็นนายอากรรังนก และเป็นที่เคารพนับถือของราษฎรทั่วไป (ราษฎรเรียกกันว่า ตั้วแป๊ะ บ้าง ขรัวแป๊ะ บ้าง) ทั้งเป็นผู้ที่ได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์มานั้น ให้เป็นหลวงอินทคีรีสมบัติครองเมืองสงขลา ต่อมา ให้เปลี่ยนราชทินนามเป็น หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (ต้นสกุล ณสงขลา) ส่วนพระสงขลา (โยม) ให้หาเข้าไปรับราชการในกรุงธนบุรี ให้เมืองสงขลาคงขึ้นอยู่แก่นครศรีธรรมราช ครั้นมาในตอนปลายรัชชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชให้เป็นเจ้าประเทศราช เจ้าพระยานครให้เรียกเอาผู้หญิงช่างทอหูกและบุตรีกรมการเมืองสงขลาไปเมืองนครศรีธรรมราชเป็นจำนวนมาก เจ้าเมืองสงขลาจึงร้องทุกข์เข้าไปยังกรุงธนฯ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้เมืองสงขลามาขึ้นกรุงธนบุรีโดยตรง.

ครั้นเมื่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราชถึงพิลาไลยในรัชชกาลที่ ๑ กรมพระราชวังบวรฯ จึงทูลขอให้เมืองสงขลากลับไปขึ้นนครศรีธรรมราชตามเดิม โดยทรงอ้างว่า เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนใหม่ชอบพอกับเจ้าเมืองสงขลา ต่อมาเมื่อพะม่ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้คราวศึกพระเจ้าปะดุงมิน เจ้าเมืองสงขลาก็ตั้งค่ายเตรียมป้องกันเมือง แต่พวกเจ้าเมืองจะนะ ซึ่งเป็นบุตรพระสงขลา (โยม) ได้คบคิดกันเป็นกบฏตีค่ายหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุ้นหุ้ย) บุตรหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยียง) นั้นได้ หลวงสุวรรณคีรีสมบัติจึงต้องหนีไปกรุงเทพฯ ครั้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จออกมาปราบปรามหัวเมืองปักษ์ใต้ราบคาบแล้ว ได้เสด็จไปประทับที่เมืองสงขลา หลวงสุวรรณคีรีสมบัติมีความชอบที่สืบสวนเหตุการณ์เมืองปัตตานีที่กำลังจะยกลงไปปราบนั้นได้ผลดี จึงโปรดให้ครองเมืองสงขลาต่อไป ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๓๔ โต๊ะสาหยิด มาจากอินเดีย เป็นคนเคร่งครัดศาสนา ได้มายุให้พระยาปัตตานีเป็นกบฏยกกองทัพมาตีเมืองสงขลา แต่เจ้าเมืองสงขลากับพระยานครศรีธรรมราชปราบชาวปัตตานีราบคาบลงได้ เจ้าเมืองสงขลาจึงได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุวรรณคีรีสมบัติ ยกเมืองสงขลาเป็นเมืองเอกขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ยกหัวเมืองไทรบุรี ปัตตานี ตรังกานู กลันตัน และตำบลปะตง กับการำ ซึ่งไทรบุรีอ้างว่า เป็นเมืองขึ้นของไทรบุรีนั้น มาขึ้นแก่สงขลาทั้งหมดเพื่อเป็นบำเหน็จความชอบ

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๗๔ ตนกูเดนแงะ ซึ่งเป็นกบฏต่อไทยแล้วต้องหนีไปเกาะปินังกับเจ้าพระยาไทรปะแงะรันผู้เป็นบิดานั้น ได้ลอบมาชักชวนพวกมะลายูในไทรบุรีและหัวเมืองแขกอื่น มีปัตตานี ยิริง ยะลา ให้เป็นกบฏยกทัพมาตีเมืองสงขลา แต่พอเจ้าพระยาพระคลังยกกองทัพลงไปปราบ พวกแขกก็ไม่คิดต่อสู้ ต่างแตกหนีไป ไทยตามลงไปปราบจนถึงเมืองเประ การกบฏจึงสงบไปคราวหนึ่ง ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๓๘๑ ตนกูหมัดสะวะ หลานเจ้าพระยาไทรปะแงะรัน ข้ามมาจากเกาะปินัง มาชักชวนให้ชาวไทรบุรี ปัตตานี และหัวเมืองแขก ซึ่งเจ้าเมืองเป็นไทยนั้น ให้ก่อการกำเริบขึ้นอีก พวกแขกได้เผาเมืองจะนะเสียแล้วยกเข้ามาตั้งค่ายประชิดเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณสงขลา) ได้ระดมพวกจีนพวกไทยช่วยกันป้องกันเมืองสงขลาเป็นสามารถ พวกมะลายูตีไม่ได้ ก็ตั้งมั่นอยู่ ครั้นกองทัพกรุงและนครศรีธรรมราชยกหนุนลงไป จึงตีพวกมะลายูแตกพ่ายไป เจ้าพระยาพระคลังอยู่ที่สงขลาสองปี จัดการหัวเมืองแขกสงบแล้ว จึงกลับกรุง ในระหว่างนี้ ได้โปรดให้ยกเมืองสะตูลมาขึ้นแก่เมืองสงขลาด้วย ถึง พ.ศ. ๒๓๘๕ ได้โปรดให้ส่งไม้ชัยพฤกษและเทียนชัยไปพระราชทานเจ้าเมืองสงขลา ให้ปักหลักเมืองอีกครั้งหนึ่ง (ครั้งแรกปักในรัชชกาลที่ ๑) ต่อมา พระยาวิเชียรคีรีเห็นว่า การปกครองหัวเมืองมะลายู ๗ เมืองก็เป็นการยากอยู่แล้ว ยังจะต้องปกครองเมืองสตูลซึ่งมักจะมีข้อวิวาทกับเมืองปลิศอยู่เนือง ๆ อีกด้วย ก็ยิ่งลำบากขึ้น จึงได้มีหนังสือมากราบบังคมทูลขอให้ยกเมืองสะตูลไปขึ้นแก่นครศรีธรรมราชตามเดิม.

เมืองสงขลากับนครศรีธรรมราชเองก็มีการแข่งขันกันอยู่เสมอ เพราะพลเมืองในสงขลาโดยมากเป็นชาวเมืองอื่น แต่เมืองสงขลาตั้งอยู่ปากช่องทะเลใน มีคมนาคมติดต่อกับเมืองพัทลุงและหัวเมืองชายทะเลอื่น ๆ คนเมืองอื่นจึงพากันมาอาศัยและตั้งการค้าขายอยู่เป็นอันมาก เจ้าเมืองกรมการก็อยากจะกันพวกที่อพยพมานั้นไว้เป็นพลเมืองของตน แต่เมืองอื่น เช่น นครศรีธรรมราช และพัทลุง ก็อยากได้คนของตนคืนมา กระทำให้เกิดวิวาทกับเมืองสงขลาเนือง ๆ ในรัชชกาลที่ ๔ สงขลาจัดการรับเสด็จเป็นการใหญ่แข่งกับนครศรีธรรมราช เป็นเหตุให้เมืองสงขลาขึ้นหน้าตั้งแต่นั้นมา.

ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๕ เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล เมืองสงขลาจึงได้เป็นที่ตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชต่อมา และเลิกการส่งต้นไม้เงินทองด้วย.

จังหวัดสตูล เดิมเป็นอำเภอขึ้นเมืองไทรบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ ในรัชชกาลที่ ๓ เมืองไทรเป็นกบฏ โปรดให้กองทัพออกไปปราบราบคาบแล้ว ให้แบ่งเมืองไทรเป็น ๔ หัวเมือง ยกอำเภอสตูลขึ้นเป็นเมืองหนึ่ง โอนมาขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช เป็นทำนองเมืองประเทศราชถวายต้นไม้เงินทอง (ดู จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๘) ถึง พ.ศ. ๒๔๕๒ เมื่อสยามทำสัญญาปักปันเขตต์แดนใหม่กับอังกฤษ ได้ยกเลิกการถวายต้นไม้เงินทอง จัดวางระเบียบปกครองท้องที่เช่นเดียวกับหัวเมืองอื่น ๆ ต่อมา.

จังหวัดสมุทรสาคร เรียกกันเป็นสามัญว่า ท่าจีน เป็นเมืองเก่า เดิมชื่อ สาครบุรี ตั้งขึ้นในรัชชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ มาเปลี่ยนชื่อเป็น สมุทรสาคร เมื่อในรัชชกาลที่ ๔ มีสิ่งสำคัญ คือ วัดใหญ่ท่าจีน เป็นวัดโบราณ หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า วัดจอมประสาท มีบานประตูหน้าต่างสลักงดงาม มีศาลเจ้าพันท้ายพระนรสิงห์ (นายท้ายเรือพระที่นั่งสมเด็จพระสรรเพ็ชญที่ ๘ คือ พระเจ้าเสือ) ชาวบ้านนับถือว่า ศักดิ์สิทธิ ยังมีโขนเรือพระที่นั่งอยู่ที่ศาล ยังมีบุษบกเรือพระที่นั่งของพระเจ้าเสืออยู่ในวัดโคกคาม ใช้เป็นธรรมาสน์อยู่ทุกวันนี้ มีป้อมวิเชียรโชฎกซึ่งสร้างในสมัยรัชชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๐ ในป้อมนี้มีปืนบาเรียมอยู่หลายกระบอก

เป็นเมืองสำคัญ ตั้งอยู่ตรงทางคมนาคมระหว่างอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตกับกรุงศรีอยุธยา ฉะนั้น จึงมักปรากฏในประวัติศาสตร์ตอนซึ่งเกี่ยวกับอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตบ่อย ๆ เช่น ในปี พ.ศ. ๒๑๑๒ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมาตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยา (คราวเสียกรุงครั้งที่ ๑) พระเจ้าไชยเชษฐาได้ยกทัพศรีสัตนาคนหุตลงมาช่วย แต่พระมหาอุปราชาได้ยกไปขัดตาทัพที่สระบุรี พอทัพศรีสัตนาคนหุตมาถึงตำบลหมากสองต้นใกล้สระบุรี ก็ยกออกจู่โจมตีทัพศรีสัตนาคนหุตแตกไป ในรัชชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตีได้เมืองเวียงจันทร์แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๒ ก็เชิญพระแก้วมรกตและกวาดต้อนผู้คนครอบครัวชาวเวียงจันทร์ลงมาไว้ที่สระบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกตถึงเมืองสระบุรี ให้ตั้งพลับพลาทำการสักการะที่นั่น แล้วจึงแห่มาทางชลมารคลงมากรุงธนบุรี

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุเจ้าอนุวงศคิดกบฏเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ แล้ว เจ้าราชวงศเง่ายกลงมาเกลี้ยกล่อมครัวเวียงจันทร์ที่สระบุรี จะพากลับไปเวียงจันทร กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเสด็จขึ้นไปปราบ ได้ไปตั้งทัพที่วัดเขาแก้ว ใกล้เมืองสระบุรี เจ้าราชวงศเง่าไม่กล้าต่อสู้ ก็รีบถอยหนีไปทางเมืองหล่มเก่า

จังหวัดสระบุรี นัยว่า ตั้งขึ้นในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ตัวเมืองเดิมอยู่ในตำบลศาลารีลาว ย้ายมาตั้งที่ตำบลปากเพรียวเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๓๖.

จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเมืองโบราณ นักโบราณคดีกล่าวกันว่า คำว่า "สุพรรณบุรี" นี้ตั้งขึ้นจากคำว่า "อู่ทอง" หรือ "สุวรรณภูมิ" ในศิลาจารึกพ่อขุนรามกำแหงเรียกชื่อว่า "สุพรรณภูมิ" เป็นเมืองสมัยทวารวดี เมื่อพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑) ย้ายมาตั้งนครหลวงที่นครศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๒ แล้ว ได้โปรดให้ขุนหลวงพะงัว (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑) ซึ่งเป็นพี่พระมเหสี ไปครองเมืองสุพรรณบุรี (คือ เมืองอู่ทอง หรือสุพรรณภูมิ) แต่ย้ายเมืองมาตั้งที่ริมแม่น้ำใหญ่ (แม่น้ำท่าจีนในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอท่าพี่เลี้ยง เดี๋ยวนี้) เมืองที่ย้ายมาใหม่นั้นยังมีคูเมืองเป็นคันรอบเห็นได้ชัดเจนอยู่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมืองสุพรรณบุรีเป็นที่ประทับลูกหลวงตลอดเวลาจนกรุงศรีอยุธยาได้หัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นเมืองขึ้น เพราะฉะนั้น จึงสร้างเป็นเมืองมั่นคงแข็งแรง มีกำแพงป้อมคูประตูหอรบเป็นเมืองหน้าศึกด้านตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา และเป็นที่ประชุมพลซึ่งมีวัดชื่อนี้ปรากฏเป็นพะยานอยู่ ต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ กษัตริย์พะม่า ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ ทัพกรุงออกไปตั้งรับที่เมืองสุพรรณบุรี ทานกำลังไม่อยู่ เพราะเป็นศึกใหญ่ ทัพข้าศึกจึงเข้ามาได้ถึงชานพระนคร พอข้าศึกถอยทัพกลับไปแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงเห็นว่า เมืองสุพรรณบุรี แม้จะมีป้อมคูประตูหอรบ เมื่อมีศึกใหญ่มา ก็รับไม่อยู่ ซ้ำกลับเป็นที่อาศัยอันมั่นคงของข้าศึกเสียอีก จึงตรัสให้รื้อป้อมกำแพงเสีย ต่อมาก็ไม่ได้รักษาเป็นเมืองสำคัญ เพราะตกเป็นเมืองชั้นใน ถ้ามีศึกมาทางนั้นเป็นศึกใหญ่ เหลือกำลังที่จะรับในแดนนั้นได้ ก็ถอยมาตั้งรับในพระนคร ถ้าพอรับได้ ก็ยกออกไปต่อสู้ อย่างที่เรียกว่า ศึกกลางแปลง คือ ตั้งค่ายคูขึ้นใหม่แล้วแต่จะเหมาะ ดังครั้งสมเด็จพระนเรศวรชนช้างกับพระมหาอุปราชเป็นต้น

จังหวัดอุดรธานี เดิมเป็นบ้านร้าง เรียกว่า บ้านหมากแข้ง ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะบ้านนั้นมีต้นหมากแข้ง (มะเขือพวง) ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง วัดผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ ๔๐ ซม. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ กรมหลวงประจักษศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์ ซึ่งทรงบัญชาการมณฑลลาวพวน ได้ย้ายที่บัญชาการจากจังหวัดหนองคายมาตั้งท่าบ้านหมากแข้ง เพราะเหตุว่า รัฐบาลสยามได้ทำสัญญากับฝรั่งเศส ฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) อันมีข้อความตอนหนึ่งขีดขั้นไม่ให้สยามตั้งกองทหารภายในบริเวณ ๒๕ กม. จากฝั่งแม่น้ำโขง (สัญญานี้ได้ยกเลิกแล้ว) แต่ครั้งนั้น แต่ก็ยังมิได้ตั้งเมืองเพราะมีแต่ที่ประทับในค่ายทหารเท่านั้น ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ กรมหลวงประจักษศิลปาคมเสด็จกลับกรุงเทพฯ ประจวบกับที่จัดการปกครองท้องที่เป็นมณฑลเทศาภิบาลแล้ว ข้าหลวงเทศาภิบาลที่ออกไปใหม่ก็ไปตั้งที่บัญชาการมณฑลที่บ้านหมากแข้ง แต่ก็ยังมิได้เป็นเมือง เป็นแต่ยกบ้านหมากแข้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้นอำเภอหนองหาน จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ จึงโปรดให้ยกบ้านหมากแข้งขึ้นเป็นเมืองอุดรธานี หมากแข้งยังเป็นชื่อตำบลและอำเภออยู่ในบัดนี้.

เป็นเมืองโบราณ ยังมีหลักเมืองและพระปรางค์ที่วัดแจ้งเป็นสำคัญ สันนิษฐานกันว่า เก่าถึงสมัยลพบุรี ตัวเมืองตั้งอยู่ในตำบลอุทัยเก่า อำเภอหนองฉาง แต่เห็นจะเป็นเพียงเมืองหน้าด่าน ปรากฏชื่อในครั้งแผ่นดินพระเอกาทศรถ และสมัยกรุงธนบุรี คราวอะแซหวุ่นกี้ถอยทัพจากเมืองพิษณุโลก ได้ให้กะละโบ่ตั้งทัพอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรคอยช่วยมังแยยางูซึ่งยกไปทางเมืองเพชรบูรณ์ กะละโบ่เที่ยวหาเสบียงอาหารไม่ได้พอ จึงไปปล้นและเผาเมืองอุทัยธานีเสีย แล้วยกไปตั้งที่เมืองนครสวรรค์ เมืองอุทัยเก่าจึงเป็นเมืองร้างไปชั่วคราว สืบได้ความว่า เมื่อรัชชกาลที่ ๓ ผู้ที่ไปเป็นเจ้าเมืองอุทัยกลัวความไข้ ไม่กล้าขึ้นไปอยู่เมืองอุทัยเก่า จึงขออนุญาตตั้งบ้านเรือนและว่าราชการอยู่ที่บ้านสะแกกรังซึ่งเวลานั้นอยู่ในเขตต์ของเมืองชัยนาท ครั้นต่อมาในรัชชกาลที่ ๔ มีผู้อพยพไปตั้งอยู่ที่บ้านสะแกกรังมากขึ้น และมีพ่อค้าไปตั้งซื้อขายข้าวมากขึ้น เจ้าเมืองจึงเลยตั้งที่ว่าการที่นั้นตลอดมา ถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ จึงได้โปรดให้ยกบ้านสะแกกรังขึ้นเป็นจังหวัดอุทัย เลยตั้งศาลากลางจังหวัดอยู่ในที่นั้นจนบัดนี้.

เดิมเป็นตำบล เรียกว่า ตำบลห้วยแจะละแมะ ครั้งนั้น เจ้าไชยกุมาร เจ้านครจำปาศักดิ์ ได้ให้พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) เป็นนายกองใหญ่ พระประทุมได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ห้วยแจะละแมะเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๓๓๒ ในรัชชกาลที่ ๑ โปรดให้ยกตำบลห้วยแจะละแมะขึ้นเป็นเมือง ชื่อว่า เมืองอุบลราชธานี โดยแปลงจากนามของพระประทุมซึ่งเป็นนายกองใหญ่อยู่ที่ตำบลนั้น และตั้งพระประทุมให้เป็นเจ้าเมือง แต่พระประทุมหาได้ตั้งเมืองในที่เดิมไม่ ย้ายมาตั้งที่ตำบลบ้านร้างที่ริมแม่น้ำมูลใต้ห้วยแจะละแมะลงมาประมาณ ๕ ก.ม. คือ ที่ตั้งจังหวัดอุบลราชธานีอยู่ในบัดนี้.

บรรณานุกรม

แก้ไข
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2481). ตำนานเมือง. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์. (พิมพ์ใช้ในกิจการของราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2481).
 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก