ตำหนักทองที่วัดไทร/ผู้วายชนม์
พระครูถาวรสมณวงศ์ | |||
ชาตะ | ๒๕ | กุมภาพันธ์ | ๒๔๑๓ |
มรณะ | ๑๙ | ตุลาคม | ๒๕๐๑ |
พระครูถาวรสมณวงศ์ (ฉายา ยโส) นามเดิม อ๋อย นามสกุล ถาวรวยัคฆ์ ชาตะเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๓๒ ทางสุริยคติตรงกับวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๓ บิดาชื่อ นายเสือ มารดาชื่อ นางสำริด มีพี่น้องร่วมกัน ๗ คน คือ
๑. | นางจ๋ำ | มรณะแล้ว |
๒. | นายเบี้ยว | " |
๓. | นายหงี | " |
๔. | นายตี๋ | " |
๕. | นายชม | " |
๖. | พระครูถาวรสมณวงศ์ (อ๋อย) | |
๗. | นางโป๊ | ยังมีชีวิตอยู่ |
อุบัติภูมิ ตำบลกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เมื่ออายุสมควร ได้เข้าเรียนหนังสือไทยในสำนักวัดนางสาว ได้เรียนรู้อักขระสมัยแบบเก่าจนอ่านออกเขียนได้คล่องแคล่ว เมื่ออายุย่างเข้า ๒๒ ปี ก็ได้อุปสมบทในพัทธสีมาวัดนางสาวเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษาอยู่วัดนางสาว ๑ พรรษาเพื่อปฏิบัติอาจารย์และเพื่อโปรดญาติโยมด้วย ครั้นออกพรรษาแล้ว ได้ย้ายจากวัดนางสาวมาอยู่วัดไทร บางขุนเทียน ธนบุรี ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอันเป็นข้อปฏิบัติ แล้วได้เริ่มเรียนอักขระวิธีหนังสือขอมโดยช่ำชองมาก ได้จารหนังสือไว้หลายอย่าง ต่อจากนั้นแล้ว ท่านยังเป็นผู้ชำนาญในการเดินธุดงควัตรอีกด้วย เมื่อ:—
พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดไทร บางขุนเทียน ธนบุรี และได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะหมวด บางประทุน
พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระครูถาวรสมณวงศ์ ในตำแหน่งพระครูพิเศษ ชั้นตรี ผู้ช่วยเจ้าคณะแขวงล่าง
พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌายะ อยู่ในตำแหน่งอุปัชฌายะได้ ๒๙ ปี
พ.ศ. ๒๔๘๗ ได้รับเลื่อนเป็นพระครูพิเศษ ชั้นโท ในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลบางขุนเทียน
พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับเลื่อนเป็นพระครูพิเศษ ชั้นเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอ
ก่อนมรณภาพ ได้เริ่มมีอาการกระเสาะกระแสะมาแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๑ ด้วยโรคชรา นายแพทย์ก็พยายามรักษาเรื่อยมา อาการก็มิได้ดีขึ้น นายแพทย์ก็ประคับประคองอยู่ประมาณ ๕ เดือนเศษ อาการก็มีแต่ทรงกับทรุดหนักลงทุกที เป็นอันว่า หมดความสามารถที่นายแพทย์จะพึงเยียวยา ได้ถึงมรณภาพโดยความสงบเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ จุลศักราช ๑๓๒๐ เวลา ๔.๐๐ น. (หรือ ๑๐ ทุ่ม) สิริชนมายุได้ ๗๙ ปี
พ.ศ. ๒๔๖๑ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ
พ.ศ. ๒๔๖๓ สร้างศาลาธรรมสังเวช ๑ หลัง
พ.ศ. ๒๔๗๔ สร้างโรงเรียนปริยัติธรรม ๑ หลัง
พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้ทุนสร้างโรงเรียนประชาบาล (ถาวรพร⟨ห⟩มานุกูล) ๑ หลัง
พ.ศ. ๒๔๙๙ ให้ทุนสร้างมณฑปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระบาทจำลอง นอกจากนี้ ก็ได้บูรณะเสนาสนะให้เข้าระเบียบเป็นอันดี
จะทำการสิ่งใดที่ใหญ่ยศ
อย่ากลัวหมดเงินเบี้ยจะเสียหาย
หวังไว้ชื่อลือชาว่าฆ่าควาย
เฝ้าเสียดายพริกเข็ญไม่เป็นการ
แสวงหมั่นดั้นป่าไปหาหมู
กลับกลัวหอกว่าจะยู่เยินป้าน
รักเป็นมวยคาดเชือกจะเข้าชก
กลับกลัวฟกน่วมนี้เป็นไฉน
รักเรียนรู้อายครูนี้เพื่อใด
อายแก่ไทถอยทดไม่งดงาม
เรียนคัมภีร์หากเพียรเรียนช้า ๆ
ที่สงสัยไตร่ตราตรึกตรองถาม
ขึ้นต้นไม้สูงสู้พยายาม
อย่าผลีผลามซัดเซจะเสียตัว
การโลกีย์กามคุณอย่ามุ่นหมก
ผ่อนวิตกไว้ให้น้อยค่อยยังชั่ว
ถึงใหญ่ยศก็อย่าเฝ้าแต่เมามัว
ละเลิงตัวลอยเลิศจนเหลิงลม
รู้ประมาณนั้นแหละดีเป็นที่รัก
ถึงสูงศักดิ์เจียมศักดิ์จึงจักสม
เห็นกาน้ำป่วนกวนเป็นตม
พายุลมแรงก็แพไม้
อย่าดูเยี่ยงกาบกที่บาปหนา
เห็นกาน้ำดำปลาขึ้นมาได้
กำลังโลภห่อหุ้มไม่เห็นภัย
คิดจะใคร่เสพบ้างเหมือนอย่างกัน
จึงบินถลาลงในน้ำดำในสระ
ไม่พบปะปลาสักตัวก็เต็มกลั้น
ผุดขึ้นมาแหงนหงายสาหร่ายพัน
ดิ้นอั้นอั้นอยู่ในน้ำจำใจตาย
ดีประจบสอพลอ ดีล่อหลอก ดีแต่นอก ในเน่าเจ้าตัวผี ดีอิจฉา ดีกาลี ดีอย่างนี้ไม่ดี อัปปรีเอย
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงมีตัวเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่เนป็นที่พึ่งเลย
ความเพียรเป็นหน้าที่ที่ท่านทั้งหลายควรทำเอง ตถาคตเป็นแต่ผู้บอก นี้เป็นพุทธภาษิต
กุศลกรรมความดีงามที่ทำนั้นต่างหากจะช่วยส่งเสริมบุคคลให้เจริญรุ่งเรืองได้
แข่งเรือแพนาวากล้าแข่ง
ตะเบ็งแรงตะแคงจ้ำชำนะได้
แต่แข่งวาสนาเหลือสุดที่จะอาลัย
จึงปล่อยไปตาามกรรมที่ทำมา
แม้เคยสร้างคงสมอารมณ์คิด
อย่าร้อนจิตซนไปกระไรหนา
ชี้ให้เห็นดังเช่นว่าปุพเพกตปุญญตา
เคยสร้างมาแล้วไม่ร้างนิราสเอย
พระก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี เมื่ออยู่ในสถานใด เช่น พระอยู่วัด คฤหัสถ์อยู่บ้านหรือทำราชการเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ เราควรทำตนให้เป็นที่ไว้ใจของหมู่คณะและประชาชน คือ ทำกาย วาจา ใจ ด้วยความซื่อสัตย์เสมอ ผลแห่งความทำดีนั้น ถึงแม้เราจะจากไปจากที่นั้น ชนผู้อยู่ภายหลังเขาย่อมระฦกถึงความดีของเรา
ท่านคิดเอาเอง บอ บ้า ดุ ดื้อ อวดดี อย่างไหนหาดีไม่ได้
- พระครูสังฆรักษ์ บุญมี วัดไทร
- บางขุนเทียน ธนบุรี