ประวัติของวัด

ไม่ทราบว่าจะสร้างมาแต่เมื่อใด ตามที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๖๔ เรื่องตำนักทองวัดไทร จึงได้สำเนามาจัดพิมพ์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูถาวรสมณวงศ์ ดังต่อไปนี้.

เรื่องตำหนักทองที่วัดไทร

เมื่อวันที่ ๒๓ แลที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ต่อจากนี้ให้คัดเอาจากสมุด เรื่อง ตำนักทองที่วัดไทร

เรื่องตำหนักทองที่วัดไทร

เมื่อวันที่ ๒๐ แลที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ กรรมการให้เปิดหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นการพิเศษสำหรับพระภิกษุสามเณรจะได้มาชมตามปราถนา พระครูถาวรสมณวงศ์ วัดไทร อำเภอบางขุนเทียน แขวงจังหวัดธนุบรี ได้มาชมหอพระสมุดฯ มาบอกว่า ที่วัดไทรมีตำหนักฝาเขียนทองลายรดน้ำอย่างตู้หนังสือในหอพระสมุดฯ อยู่หลัง ๑ ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่ากันสืบมาว่า เป็นตำหนักของขุนหลวงเสือทรงสร้างไว้ ได้ความดังนี้ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ข้าพเจ้าจึงไปดูตำหนักที่วัดไทร เห็นเปนตำหนักของโบราณจริง แลมีเรื่องราวในพงศาวดารประกอบกัน ควรนับว่า เปนสิ่งสำคัญอันหนึ่งซึ่งเนื่องในโบราณคดี ข้าพเจ้าจึงเรียบเรียงคำอธิบายฉบับนี้ขึ้นสำหรับท่านผู้ที่เอาใจใส่ในโบราณคดีจะได้อ่านทราบเรื่องตำหนักแห่งนี้

๑) วัดไทรอยู่ริมคลองสนามไชย (ที่เรียกกันเปนสามัญว่า คลองด่าน) ใกล้ตำบลบางขุนเทียนข้างฝั่งตวันตก ทางไปจากกรุงเทพฯ จะไปรถไฟสายท่าจีนก็ได้ ไปลงที่สถานที่บางขุนเทียน แล้วเดินต่อไปข้างใต้หน่อยหนึ่งก็ถึงเขตรวัดไทรซึ่งทางรถไฟผ่านไปข้างหลังวัด ถ้าไปเรือ จะไปทางคลองบางกอกใหญ่ฤๅคลองดาวคนองก็ได้ทั้ง ๒ ทาง แต่ต้องไปให้สบเวลาน้ำในคลองมีมากจึงจะสดวก ตำหนักของโบราณนั้นอยู่ริมคลองข้างหมู่กุฎีสงฆ์ เปนตำหนักไม้ ๓ ห้อง ยาว ๔ วาศอก กว้าง ๙ ศอก ปลูกยาวตามคลอง ทางด้านใต้กั้นฝาทึบห้อง ๑ มีน่าต่างกรอบจำหลักเปนซุ้มยอด ทางด้านเหนือฝาเปนช่องโถงสำหรับผูกม่านไม่มีบาน ๒ ห้อง เสาและเครื่องบนของเดิมผุเปลี่ยนใหม่เสียหมดแล้ว ยังเหลือแต่ฝา ฝานั้นข้างนอกเขียนทองรดน้ำพื้นดำลายเปนกระหนกเครือ แต่ลายทองยังคงเหลืออยู่เพียงข้างบนที่ชายคาบังฝน ตอนล่างที่ถูกแดดถูกฝนนั้นลายทองชำรุดซ่อมทาสีเสียแล้ว เครื่องบนยังมีของเดิม แต่กรอบกระจังจำหลักที่น่าบันเหลืออยู่ท่อน ๑ ข้างในตำหนักฝารอบทาสีพื้นขาวเขียนสีลายพุ่มเข้าบิณฑ์ สงสัยว่า จะเขียนเปลี่ยนลายเมื่อซ่อมชั้นหลังบ้าง พระบอกว่า เสาเดิมเปนลายรดน้ำปิดทองเหมือนกับฝาด้านนอก ฝาประจันห้องที่ยังคงเหลืออยู่จนบัดนี้เขียนทองลายรดน้ำเหมือนลายฝาข้างนอก มีประตูฝาประจันห้อง ๒ ช่อง ที่บานเขียนทองรูปเทวดา แต่ดูจะเปนฝีมือช่างครั้งกรุงเทพฯ ซ่อมชั้นหลัง ลักษณของตำหนักเปนดังกล่าวมานี้ พิเคราะห์ดูเห็นว่า เดิมคงเปนตำหนักของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งได้ทรงสร้างไว้จริง อย่างนี้ที่เรียกว่า ตำหนักทอง ซึ่งผู้อื่นจะสร้างอยู่นั้นไม่ได้ โดยถ้าสร้างถวายวัดเปนพุทธบูชา ก็ได้แต่เปนโบสถ์วิหารฤๅหอไตร ที่ผู้อื่นจะทำเป็นเรือนทองถวายเปนเสนาสนสงฆ์ฤๅเปนศาลาอาไศรยนั้นหามีอย่างธรรมเนียมไม่ ความที่กล่าวนี้มีอุทาหรณ์ในพงศาวดารครั้งรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปรารภจะทดแทนทรกรรมที่พระเจ้ากรุงธนบุรีลงพระราชอาญาสมเด็จพระสังฆราช สี เพราะเหตุที่ไม่ยอมถวายบังคม โปรดฯ ให้รื้อตำหนักทองของพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปลูกถวายเปนตำหนักของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นให้เปนเกียรติยศสถานหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ว่า แต่โบราณนับถือตำหนักทองว่าเปนของสูงศักดิ์เพียงไร ถ้าเปนตำหนักเจ้านายในพระราชวงศ์ ก็เพียงใช้แต่ทาสี ดังเช่นที่เรียกนามตำหนักของสมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ ๑ ว่า ตำหนักเขียว และตำหนักแดง นั้นเปนตัวอย่าง ด้วยมีหลักฐานดังอธิบายมานี้ จึงเห็นว่า ตำหนักทองที่วัดไทรเปนของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างเป็นแน่

๒) คำที่ชาวบ้านในตำบลนั้นบอกเล่ากันสืบมาว่า เปนตำหนักของขุนหลวงเสือ ข้อนี้ก็มีเรื่องพงศาวดารประกอบชอบกลอยู่ ในหนังสือพระราชพงศาวดารปรากฏว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดเสด็จประพาศทรงอ่าวทเลลงไปจนถึงตำบลโตนดหลวงในแขวงจังหวัดเพ็ชร์บุรี ทางเสด็จในสมัยนั้น กระบวรเรือพระที่นั่งต้องผ่านไปทางคลองสนามไชยนี้ จึ่งเปนทางเสด็จมาแต่โบราณ แต่ต่อมา การเสด็จประพาศทางทเลมาหยุดเสียระยะ ๑ ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๖๓) จนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๔๔๖) เห็นจะเปนตั้งแต่พบรอยพระพุทธบาทเปนต้นมา ก็เปลี่ยนที่เสด็จประพาศไปเปนทางข้างเหนือ คือ ที่เขาพระพุทธบาทแลเมืองลพบุรี หาเสด็จทางทเลเหมือนแต่ก่อนไม่ มาจนถึงรัชกาลสเมด็จพระสุริเยนทราธิบดี ซึ่งเสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยาแต่ พ.ศ. ๒๒๔๖ จน พ.ศ. ๒๒๕๑ คนทั้งหลายเรียกกันเปนสามัญว่า "ขุนหลวงเสือ" ฤๅ "พระเจ้าเสือ" โปรดเสด็จประพาศทเล การเสด็จประพาศทางทเลจึงกลับมีขึ้นอีกตั้งแต่รัชกาลนั้นตลอดมาจนในรัชกาลสมเด็จพระภูมินทราชา ซึ่งเรียกกันว่า "ขุนหลวงท้ายสระ" แลรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ซึ่งเรียกกันว่า "ขุนหลวงบรมโกษฐ์" อันเปนราชโอรสของพระเจ้าเสือทั้ง ๒ พระองค์.

มีเรื่องปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๗ พระเจ้าเสือเสด็จทางคลองสนามไชยนี้ (เวลานั้นเสวยราชย์ได้ปี ๑ เห็นจะเปนครั้งแรกเสด็จ) ถึงตำบลโคกขาม พันท้ายคัดท้ายไม่ดี เรือพระที่นั่งเกยตลิ่งจนหัวเรือหัก (เรือก็เห็นจะจวนล่ม) ตามกฎหมายในสมัยนั้น พันท้ายต้องระวางโทษถึงสิ้นชีวิตร แต่พระเจ้าเสือทรงพระปรานี ดำรัสว่า เหตุเกิดด้วยคลองคดนั้น จะไม่ลงพระราชอาญาแก่พันท้าย พันท้ายคนนั้นเปนชาวบ้านนรสิงห์ แขวงจังหวัดอ่างทอง เรียกกันว่า พันท้ายนรสิงห์ ทูลวิงวอนขอให้ประหารชีวิตรตนรักษาพระราชกฤษฎีกาไว้อย่าให้เสื่อมเสีย จึงได้โปรดให้ประหารชีวิตร ยังมีศาลเทพารักษ์ที่ตำบลโคกขามว่า สร้างตรงที่ประหารชีวิตรพันท้ายนรสิงห์ปรากฏอยู่จนบัดนี้ เพราะเหตุที่เรือพระที่นั่งโดนครั้งนั้น เมื่อพระเจ้าเสือเสด็จกลับคืนพระนคร จึงมีรับสั่งให้พระราชสงคราม (ซึ่งต่อมาได้ชลอพระนอนวัดป่าโมกข์ในรัชกาลหลัง) เปนนายงานคุมไพร่ลงไปขุดคลองนั้นเสียให้ตรง พระราชสงครามให้ขุดแต่ปากคลองทางลำน้ำท่าจีนมาจนตำบลโคกขาม แต่การขุดค้างอยู่ มาสำเร็จต่อในรัชกาลหลัง ยังเปนคลองตรงแลกว้างใหญ่ เรียกว่า คลองมหาไชย อยู่บัดนี้

ในระยะเวลา ๕๕ ปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๔๖ จน พ.ศ. ๒๓๐๑ คลองสนามไชยนี้เปนทางที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จผ่านไปมาเนือง ๆ ทั้ง ๓ รัชกาล คงต้องมีตำหนักพลับพลาที่ประทับร้อนประทับแรมสร้างไว้ในระยะทางหลายแห่ง พวกชาวเพ็ชรบุรีเคยชี้บอกข้าพเจ้าที่ปากน้ำบางตะบูนว่า มีพลับพลาครั้งกรุงเก่าอยู่ที่นั่นแห่ง ๑ แต่ตัวตำหนกหักพังเสียหมดแล้ว พลับพลาที่ปากน้ำบางตะบูนก็คือที่ประทับแห่ง ๑ ในระยะทางสายนี้นั่นเอง แบบอย่างตำหนักทองที่วัดไทรซึ่งทำเป็นตำหนัก ๓ ห้อง กั้นฝาห้อง ๑ แลโถง ๒ ห้อง ดูสมจะเปนตำหนักที่ประทับร้อน คงสร้างในครั้งรัชกาลพระเจ้าเสือดังพวกชาวบ้านว่า ฤมิฉนั้น ก็สร้างใน ๒ รัชกาลหลังต่อมาเมื่อครั้งกรุงเก่าเปนแน่.

๓) ยังมีข้อจะต้องวินิจฉัยต่อไปอิกข้อ ๑ ว่า เหตุใดตำหนักทองหลังนี้จึงอยู่ในวัดไทร จะสร้างตรงที่นั้นแต่เดิมฤๅ ๆ ว่ารื้อย้ายมาจากที่อื่น ได้ถามพระครู ๆ ว่า ไม่เคยได้ยินว่ารื้อมาจากไหน อนึ่ง เมื่อพระครูสร้างเขื่อนวัด ก็ขุดพบเสาไม้แก่นปักเป็นแถวอยู่ตรงตำหนัก ดังนี้ เมื่อคิดใคร่ครวญดู เห็นว่า ถ้าตำหนักสร้างตรงนั้นมาแต่เดิม ที่ตรงนั้นเมื่อเวลาสร้างตำหนักคงต้องอยู่นอกเขตรวัด ที่จะสร้างตำหนักทองที่ประทับร้อนของพระเจ้าแผ่นดินในวัดนนั้น เห็นใช่วิไสยที่จะเปนได้ จึงพิจารณาดูทำเลที่วัดไทร เห็นที่เปน ๒ แปลง ที่แปลงใหญ่ข้างใต้ สร้างโบสถ์วิหารการเปรียญ ของเดิมหักพังพระครูปฏิสังขร์ใหม่โดยมากแล้ว แต่ยังเหลือพระเจดีย์ที่น่าวิหารกับธรรมาศน์ที่ในการเปรียญเปนฝีมือช่างครั้งกรุงเก่ารุ่นเดียวกันฤๅก่อนฝีมือที่สร้างตำหนักทองเปนหลักฐานว่า วัดไทรนี้เปนวัดเก่า มีมาแล้วก่อนสร้างตำหนักทองเปนแน่ ที่ดินแปลงเล็กซึ่งสร้างตำหนักทองอยู่ข้างเหนือ คลองคู่คั่นกับที่แปลงซึ่งสร้างโบสถ์วิหาร ถ้าจะอยู่นอกเขตรวัดในสมัยเมื่อสร้างตำหนักทอง พึ่งมาถวายเปนที่วัดต่อภายหลัง ก็อาจจะเปนได้ แต่เมื่อพิจารณาดูที่ตรงสร้างตำหนักทอง เห็นอยู่ชิดคูเคียงเขตรวัดนัก ถ้าหากว่าที่แปลงนั้นอยู่นอกเขตรวัดในสมัยเมื่อสร้างตำหนัก คงสร้างตำหนักกลางแปลงที่ห่างคูไปข้างเหนืออิก จะหาไปสร้างชิดเขตรวัดอย่างเช่นเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ไม่ จึงสันนิษฐานว่า ตำหนักทองนี้เดิมเห็นจะสร้างไว้ที่อื่น แต่คงอยู่ในแถวริมคลองสนามไชยนั้นเอง คิดประมาณดูว่า พลับพลาประทับแรมคงตั้งที่เมืองธนบุรี กระบวรเรือพระที่นั่งออกจากเมืองธนบุรีเวลาเช้า ไปทางคลองนี้ ถึงเวลากลางวันตรงไหน ตำหนักทองหลังนี้เดิมคงสร้างไว้ตรงนั้นอันเปนที่ประทับร้อน ตอนบ่ายออกจากนั้นก็ไปประทับแรมที่ท่าจีน ความสันนิษฐานข้อนี้สมด้วยลักษณะของตำหนักในเวลานี้ซึ่งเปลี่ยนรูปทรงไปเปนอย่างอื่น คงเหลือของเดิมแต่ฝากับตัวไม้น่าบันอยู่ท่อน ๑ คงเปนเพราะตำหนักทองนี้ทิ้งร้างซุดโซมอยู่ตลอดสมัยอันหนึ่งจนจวนจะปรักหักพังหักทั้งหมด มีผู้เสียดายจึงไปรื้อเอาฝาและตัวไม้ที่ยังเหลืออยู่มาปรุงปลูกถวายเปนพุทธบูชา เพราะฉนั้น รูปทรงตำหนักจึงไม่เหมือนของเดิม และมีรอยซ่อมแซมเปนฝีมือช่างในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ ดังเช่นรูปเทวดที่บานประตูฝาประจันห้อง แลเขียนลายสีที่กระดานกรุจั่วฝาประจันห้องเปนพระพุทธรูปต่าง ๆ อันเข้าใจได้ชัดว่า เปนของเขียนเมื่อมาปลูกไว้ในวัดแล้ว เหตุที่เอามาปลูกไว้ที่วัดไทร ก็คงเปนด้วยเจ้าอธิการวัดไทรในครั้งนั้นได้เปนผู้อำนวยการย้ายตำหนักนี้มาปฏิสังขรณ์ ทำนองจะเอามาสร้างเปนหอสวดมนต์ จึงได้ปลูกไว้ในหมู่กุฎีสงฆ์

วินิจฉัยเรื่องตำหนักทองที่วัดไทร เห็นว่า เรื่องตำนานจะเปนดังแสดงมา. การที่พระสงฆ์วัดไทรได้เอาใจใส่รักษาตำหนักทองไว้ก็ดี แลที่พระครูถาวรสมณวงศ์ได้ปฏิสังขรณ์วัดมาจนบัดนี้ก็ดี สมควรจะได้รับความสรเสรีญ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าท่านผู้ใดได้ไปเห็น คงจะอนุโมทนาไม่เว้นตัว

  • โรงพิมพ์มหากุฏราชวิทยาลัย ถนนพระสุเมรุ จังหวัดพระนคร
  • นายพินิจ อู่สำราญ ผู้พิมพ์โฆษณา ๒๕/๒/๒๕๐๒