ทรัพยศาสตร์/คำนำพิมพ์ครั้งที่ 1

คำนำพิมพ์ครั้งที่ ๑

วิชาเศรษฐวิทยาซึ่งชี้แจงความละเอียดในหลักฐานของการสร้างทรัพย์ การจำหน่ายทรัพย์ การแลกเปลี่ยนและการใช้ทรัพย์ ซึ่งรวมทั้งสิ้นจะจัดได้ว่าเป็นความรู้ในการทำมาหากินของบุคคลทั่วไปโดยทางที่จะใช้ทรัพย์ให้เปลืองน้อย และให้ได้ประโยชน์มากที่สุดที่จะทำให้แก่บุคคลและบ้านเมืองนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าจนทุกวันนี้ยังไม่มีผู้ใดได้ริอ่านแต่งเรื่องหรือแปลออกจากตำราของชาวประเทศยุโรปพิมพ์ขึ้นเป็นภาษาไทยบ้างเลย และได้ทราบว่ากรมศึกษาของรัฐบาลก็จะจัดการสอนวิชานี้ขึ้นตามโรงเรียนในเร็ว ๆ นี้ด้วยข้าพเจ้าเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จัตั้งต้นศึกษาวิชาทางนี้อยู่บ้างจึงได้เรียบเรียงแต่งเศรษฐวิทยาเล่มนี้ขึ้นตามตำราที่ข้าพเจ้าได้ศึกษามา ถึงจะได้ความรู้ในหนังสือนี้แต่เล็กน้อยก็เชื่อว่าจะเป็นการแนะนำแก่ผู้ที่จะตั้งต้นศึกษา ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะหมั่นไปนั่งฟังเลคเชอร์ในโรงเรียนแต่วันละน้อยได้ หรือเมื่อได้ฟังเลคเชอร์มาแล้วจะอ่านเศรษฐวิทยานี้เป็นเครื่องประกอบความตรึกตรองต่อไปก็ได้ ม่ได้เป็นนักเรียนอ่านเข้าใจความมุ่งหมายของเข้าพเจ้าให้ง่ายขึ้น ไม่ให้เป็นการได้หน้าลืมหลัง ต้องพลิกดูหนังสือย้อนหลังขึ้นไปบ่อย ๆ นั้นเป็นต้น คิดเห็นว่าพูดให้ชัดเจนเสียทีเดียวดีกว่าที่จะพูดห้วน ๆ ให้เข้าใจยากไป

ในบรรดาผู้ที่ยังไม่ได้เคยศคกษวิชาทางนี้บ้างเลยนั้น ข้าพเจ้าขอแนะนำผู้ที่จะเรียนทำราชการ และผู้ที่จะเรียนทำการค้าขายหรือทำมาหากินเป็นผลประโยชน์นั้น ให้ได้อ่านเศรษฐวิทยานี้โดยจำเพาะ โดยที่เชื่อว่าเมื่อได้อ่านและได้ใช้สติปัญญาตรึกตรองดูตามข้อความต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ตามแบบแผนของนักปราชญ์แต่ก่อนและในปัจจุบันนี้แล้ว คงจะได้ความรู้ในตำรานี้ไปใช้เป็นประโยชน์ได้เป็นแน่ และถึงอย่างไรก็คงจะดีกว่าที่ไม่ได้ศึกษาวิชาทางนี้บ้างเลย

พวกไทยเราแทบทุกคนที่ได้เดินทางไกลไปนอกพระราชอาณาเขตสยามนั้น พอล่วงเข้าในเขตแดนของประเทศอื่นเห็นประชุมชนพลเมืองต่สงชาติต่างภาษา ที่นุ่งห่มผิดกันกับเรามีกิริยาอัธยาสัยถือธรรมเนียมและศาสนาผิดกับเราโดยทั่วไปแล้วคงจะนึกเห็นพวกเราพวกเขาชัดแจ้งขึ้นกว่าแต่ก่อนในทันใดนั้นเอง และเหตุที่พลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนของเราออกไปอยู่ในหมู่คนต่างประเทศ จนรู้สึกเปล่าเปลี่ยวเศร้าใจคิดถึงบ้านและญาติพี่น้องเพื่อนรักหนักขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นแหละจะเป็นเวลาที่จะรู้สำนึกได้ว่า อ๋อความรักชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์ของเราที่เป็นกันเองกับเราแท้นั้น มีแก่กล้าอยู่ในน้ำใจที่จริงของเราเพียงใด ในที่สุดเมื่อได้ไปพบปะไคนไทยชาติเดียวกันเมื่อใด ถึงจะไม่ได้รู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อน พอแลเห็นเข้าก็ให้นึกรักกันเสียแล้ว เกิดมีความเมตตาปรานีมีน้ำใจเอื้อเฟื้อแก่กันขึ้นในทันใดนั้นเอง ความรู้สึกอย่างนี้มีน้ำหนักผิดกันกว่าเมื่ออยู่ในเมืองไทยด้วยกัน เห็นหน้ากันชินตาอยู่เสมอ บรรดานักเรียนที่ออกไปศึกษาวิชาอยู่ในประเทศยุโรปและที่อื่น ๆ ก็คงรู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน และเมื่อได้อยู่ในนานาประเทศช้านานไป สังเกตเห็นความเจริญของเขาบางอย่างที่ดีกว่าของเรามากเท่าใด ก็อยากจะให้เราทำได้อย่างเขาบ้าง ความรักชาติมีแก่กล้าขึ้นแล้ว ความทะเยอทะยานใจที่อยากจะช่วยบ้านเมืองช่วยชาติของตัวให้เจริญยิ่งขึ้นจนเท่าเทียมกับชาติอื่นได้บ้างนั้น ก็คงจะแก่กล้าขึ้นตามกันเป็นธรรมดาอยู่เอง ในที่สุดแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ย่างออกไปนอกประเทศเลยได้เห็นแต่ชาวต่างประเทศในเมืองที่เขามีวิชาความรู้และมีความขยันการงาน หรือสักแต่ว่าได้อ่านหนังสือรู้ข่าวคราวและเรื่องการทำมาหากิน หรือวิชาจัดการปกครองบ้านเมืองของเขาว่าดีกว่าของเราข้อใด ก็คงจะอยากให้ชาติของเราทำได้ดีเสมอเขาบ้าง จะช่วยชาติของเราทางไหนได้บ้าง จะช่วยด้วยกำลังร่างกายหรือด้วยความคิดก็ดี แม้แต่จะเป็นประโยชน์แก่ชาติแต่สักเล็กน้อยเพียงใดถ้ามีโอกาสช่วยได้บ้างแล้ว ก็ไม่ควรจะรั้งรออยู่

เหตุที่ยกมากล่าวนี้เอง เป็นเหตุที่ได้ชักชวนให้ข้าพเจ้าริอ่านเรียบเรียงแต่งหนังสือเรื่องนี้ขึ้นโดยความหวังใจว่าเศรษฐวิทยาของข้าพเจ้านี้ จะตั้งต้นชักชวนให้ผู้อื่นที่มีความรู้ดีกว่า ริอ่านแต่งหนังสือและหาเรื่องมาแนะนำสั่งสอนและเพิ่มเติมข้อความบางข้อที่ข้าพเจ้าละเลยเสียนั้น ให้ดียิ่งขึ้นไปในภายหน้า เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่ชาติสยามยิ่งขึ้นเสมอไป ข้าพเจ้าต้องยอมรับเสียแต่เดี๋ยวนี้ว่าสำนวนที่ใช้นั้นเป็นสำนวนที่ออกจากความตรึกตรองในภาษาอื่นเป็นต้นมา เพราะเฉะนั้นจึงฟังไม่เรียบร้อยอย่างที่จะได้เขียนลงตามความตรึกตรองในภาษาไทยแท้ แต่เชื่อว่าเมื่อผู้ใดอ่านเข้าใจได้ดีแล้ว ถึงสำนวนจะไม่ดี ก็คงจะให้อภัยแก่ข้าพเจ้าบ้าง

พระยาสุริยานุวัตร