ธรรมนูญลักษณปกครองคณะนคราภิบาล พระพุทธศักราช 2465/เรื่อง 1

ธรรมนูญลักษณปกครองคณะนคราภิบาล
พระพุทธศักราช ๒๔๖๑

ปรารภกรณีย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจยุติธรรมแลความเมตตาปราณีสูงสุด, ทรงพระกรุณาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเสมอหน้า; ทรงพระราชดำริห์ว่า ทวยนาครแห่งดุสิตธานีซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเปนที่ตั้งพระราชนิเวศน์, มีฐานะความเปนอยู่แลภูมิธรรมความรอบรู้สูงพอสมควรจะเริ่มศึกษาการปกครองตนเองได้ในกิจการบางอย่าง เพื่อยังความผาศุกสวัสดิ์ตามฐานะของตน ๆ ให้ยิ่งขึ้น จึ่งมีพระราชประสงค์จะประสาทธรรมนูญลักษณปกครองแก่ทวยนาครดุสิตธานีไว้ให้เปนหลักฐานต่อไป.

ธรรมนูญลักษณปกครองคณะนคราภิบาลนี้เปนกำหนดอำนาจอันพระราชทานแด่ชาวดุสิตธานีให้มีเสียงแลโอกาศแสดงความเห็นในวิธีจัดการปกครองตนเองในกิจการบางอย่าง ส่วนอำนาจในกิจการแพนกใดซึ่งยังมิได้ทรงพระกรุณาประสิทธิ์ประสาทให้, ก็ย่อมคงอยู่ในรัฐบาลกลางซึ่งมียอดรวมอยู่ในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามแบบฉบับในอารยะประเทศทั้งหลายที่จัดการนคราภิบาล.

อำนาจอันคงอยู่ในรัฐบาลกลางนี้ แม้ทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรจะพระราชทานเพิ่มให้แก่คณะนคราภิบาลดุสิตธานีอีกเมื่อใดอย่างไร ก็จะได้ทรงพระกรุณาพระราชทานต่อไปตามกาลตามสมัยที่ทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรแก่สถิติแลภูมิธรรมของตน.

อีกนัยหนึ่ง อำนาจกิจการในแพนกใดซึ่งได้ทรงพระกรุณาประสาทแล้ว, แต่มาปรากฎภายหลังว่า อำนาจเช่นนั้น ๆ ยังมิสมควรได้ โดยยังมิรู้จักใช้ก็ดี หรือโดยประการอื่นก็ดี ก็จะได้ทรงพระกรุณาเลิกถอนหรือแก้ไข เพื่อประโยชน์แลความดำรงอยู่ด้วยดีแห่งมหาชนหมู่ใหญ่.

บัดนี้ การตั้งพระราชธานี นับว่า จวนสำเร็จแล้วตามพระราชประสงค์ สพรั่งพร้อมด้วยเคหะสถานและที่ทำการประกอบอาชีพต่าง ๆ สมควรจะมีธรรมนูญจัดการนคราภิบาลขึ้นไว้เพื่อความไพศาลแห่งนคร จึ่งมีพระราชปกาสิตประสาทธรรมนูญจัดเปนบทมาตราดังต่อไปนี้:—

หมวดที่ ๑
ว่าด้วยนามแลการใช้ธรรมนูญ

มาตรา  ให้เรียกบทบัญญัตินี้ว่า ธรรมนูญลักษณปกครองคณะนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช ๒๔๖๑

มาตรา  ธรรมนูญนี้ให้ใช้ทั่วไปในจังหวัดดุสิตธานีตั้งแต่วันประกาศเปนต้นไป

มาตรา  บรรดากำหนดกฎข้อบังคับแต่ก่อนบทใดขัดกับข้อความในธรรมนูญนี้ ให้ยกเลิกเสีย, ใช้ธรรมนูญนี้แทนสืบไป.

มาตรา  การแพนกใดซึ่งบังคับไว้ว่า นคราภิบาลจะจัดไปได้แต่เมื่อได้รับอนุมัติจากกระทรวงทบวงการผู้เปนเจ้าน่าที่ คือ รัฐบาลกลาง แล้วนั้น; เพ่งความถึงพระบรมราชานุมัติในพระบาทสมเด็จพระเจ้าผู้ทรงเปนยอดแห่งรัฐบาล.

หมวดที่ ๒
บทวิเคราะห์ศัพท์

มาตรา  คำว่า บ้าน แล เจ้าบ้าน ที่กล่าวในพระธรรมนูญนี้, ให้พึงเข้าใจดังนี้ คือ:—

ข้อ  คำว่า บ้าน นั้น ท่านหมายความว่า เรือนหลังเดียวก็ตาม หลายหลังก็ตาม ซึ่งอยู่ในเขตที่มีเจ้าของเป็นอิศรส่วน ๑ นับในธรรมนูญนี้ว่า บ้าน ๑, ห้องแถว แลแพหรือเรือซึ่งจอดประจำอยู่ที่ใด ถ้ามีเจ้าของหรือผู้เช่าครอบครองเปนอิศรต่างหากห้อง ๑ หลัง ๑ ลำ ๑ หรือหมู่ ๑ ในเจ้าของหรือผู้เช่าคน ๑ นั้น, ก็นับว่า บ้าน ๑ เหมือนกัน.

ข้อ  เจ้าบ้าน นั้น ท่านหมายความว่า ผู้อยู่ปกครองบ้านซึ่งว่ามาแล้วในข้อก่อน จะครอบครองด้วยเปนเจ้าของก็ตาม. นับตามธรรมนูญนี้ว่า เปนเจ้าบ้าน.

ข้อ  วัด, โรงพยาบาล, ที่ทำการต่าง ๆ ของรัฐบาลหรือนคราภิบาล, สถานีรถไฟ, ที่เหล่านี้เปนสาธารณสถาน อยู่ในความปกครองของหัวหน้าในที่นั้น, ไม่นับเปนบ้านตามธรรมนูญนี้.

มาตรา  คำว่า นคราภิบาล นั้น ท่านให้เข้าใจว่า ผู้ซึ่งราษฎรในจังหวัดดุสิตธานีผู้มีสิทธิตามธรรมนูญนี้จะได้พร้อมใจกันเลือกตั้งขึ้นเปนผู้ปกครองชั่วปีหนึ่ง ๆ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติ.

มาตรา  คำว่า ปรับ นั้น, ท่านหมายความว่า จำนวนเงินซึ่งราษฎรผู้กระทำผิดจะต้องเสียให้แก่คณะนคราภิบาลเพื่อถ่ายโทษ.

หมวดที่ ๓
ว่าด้วยกำหนดแลการเลือกตั้งนคราภิบาล

มาตรา  ผู้ที่เปนนคราภิบาลนั้น ท่านกำหนดอายุให้เปนได้ชั่วปีเดียว, เมื่อถึงกำหนดจะสิ้นปี ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ทุกปี.

มาตรา  ผู้ที่เปนนคราภิบาลมาปี ๑ แล้ว จะรับเลือกให้เปนนคราภิบาลอีกปี ๑ ติด ๆ กันนั้นไม่ได้.

มาตรา ๑๐ เวลาที่จะประชุมเลือกนคราภิบาลคนใหม่ ควรจะเปนวันที่สุดของปี, หรือวันที่ใกล้ที่สุดของปี ตามแต่จะเหมาะแก่โอกาสที่จะเปนไปได้, แต่ให้เปนที่พึงเข้าใจว่า นคราภิบาลที่เปนอยู่ต้องทำการในหน้าที่จนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งนคราภิบาลคนใหม่เสร็จแล้วโดยเรียบร้อย.

มาตรา ๑๑ ให้ราษฎรซึ่งตั้งบ้านเรือนหรือจอดเรือแพประจำอยู่ในจังหวัดธานีทั้งชายหญิง ไม่ว่าโสดหรือแต่งงานแล้ว ประชุมพร้อมกันเลือกเจ้าบ้านผู้ใดผู้ ๑ ซึ่งเปนที่นับถือของตนขึ้นเปนนคราภิบาลสำหรับปกครองธานีนั้น, แลวิธีเลือกนคราภิบาลนั้น ให้ทำดังกำหนดต่อไปนี้:—

มาตรา ๑๒ เมื่อจวนจะถึงวันที่กำหนดจะเลือกนคราภิบาลใหม่ ให้ผู้ซึ่งรับอำนาจอำนวยการในการเลือกตั้งนคราภิบาลป่าวร้องทวยนาครชายหญิงให้ทราบว่า จะมีการประชุมเลือกตั้งนคราภิบาลที่ใดวันใด แลประกาศข้อความปรากฎด้วยว่า ถ้าผู้ใดมีความปราถนาจะสมมตผู้ใดให้เปนนคราภิบาลต่อไป ก็ให้เขียนนามผู้นั้นตรอกลงในแบบหนังสือสมมตดังที่ได้แนบไว้ท้ายธรรมนูญนี้, และต้องลงนามผู้นำ ๑ ผู้รับรอง ๑ และให้ยื่นหนังสือสมมตต่อผู้อำนวยการเลือกนคราภิบาลก่อนวันประชุม ๑ วัน.

มาตรา ๑๓ ผู้ที่จะลงนามเปนผู้นำและผู้รับรองในหนังสือสมมตตามมาตรา ๑๒ ต้องเปนคหบดีเจ้าบ้าน, และคน ๑ ๆ ห้ามมิให้นำและรับรองบุคคลผู้ใดให้เปนนคราภิบาลกว่า ๑ คน.

มาตรา ๑๔ ใหผู้อำนวยการเลือกนคราภิบาลเขียนนามผู้ที่ได้รับสมมตแล้วตามมาตรา ๑๒ นั้นโฆษนาไว้ณที่ทำการเพื่อให้สาธารณชนทราบด้วย.

มาตรา ๑๖ เมื่อถึงกำหนดวันที่ผู้อำนวยการได้ป่าวร้องไว้แล้วนั้น ให้นาครทั้งหมดมาประชุมพร้อมกันยังตำบลและเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนดไว้.

มาตรา ๑๗ ในเมื่อทวยนาครมาประชุมพร้อมตามกำหนดนั้นแล้ว ถ้าหากว่าได้มีผู้รับสมมตเปนนคราภิบาลแต่คนเดียวเท่านั้นไซร้ ก็ให้เจ้าพนักงานผู้รับอำนาจอำนวยการโฆษนาแก่ทวยนาครให้ทราบว่า ผู้นั้นได้รับเลือกเปนนคราภิบาลโดยถูกต้องตามธรรมนูญนี้แล้ว; แต่ว่าถ้าแม้ได้มีผู้รับสมมตแล้วตั้ง ๒ คนขึ้นไป ก็ให้เจ้าพนักงานซึ่งได้รับอำนาจอำนวยการไต่ถามความเห็นทวยนาครให้พร้อมกันเลือกผู้ ๑ ผู้ใดที่ได้จดนามโฆษนาได้ตามมาตรา ๑๔ นั้นโดยเปิดเผยก็ได้ หรือเมื่อเห็นว่า การที่เลือกโดยเปิดเผยจะไม่คล่องใจราษฎรที่เลือก จะใช้วิธีเลือกโดยลงคะแนนลับก็ได้ โดยวิธีใดวิธี ๑ ใน ๒ วิธีนี้ตามแต่ผู้อำนวยการจะเห็นสมควร.

มาตรา ๑๘ ถ้าราษฎรพร้อมใจกันเลือกโดยเปนการเปิดเผยแล้ว ก็ให้ผู้อำนวยการถามว่า จะเลือกผู้ใด เมื่อได้รับคำตอบจากราษฎรที่มาประชุมว่า จะเลือกผู้ใดแล้ว, ถ้ามีผู้เห็นชอบด้วย ก็ให้ยกมือขึ้น นับคะแนนเรียงตัวไป ฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นชอบ ให้นั่งนิ่งเสีย. ถ้าเปนการเลือกโดยคะแนนลับ ให้ผู้อำนวยการเรียกมาถามทีละคนโดยเงียบ ๆ ว่า จะเห็นสมควรให้ผู้ใดเปน แล้วจดชื่อผู้ที่ราษฎรเลือกนั้นไว้ หรือจะให้ราษฎรเขียนชื่อผู้ที่จะเลือกนั้นมาส่งคนละฉบับก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร.

มาตรา ๑๙ ผู้ที่ได้คะแนนสูงกว่าผู้อื่น หรือที่มีราษฎรโดยมากด้วยกันเลือกขึ้นนั้น ให้ถือว่า ผู้นั้นได้รับเลือกเปนนคราภิบาล, แลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุมัติแล้ว นับว่า ผู้นั้นเปนนคราภิบาลโดยชอบด้วยกฎหมาย.

มาตรา ๒๐ ผู้ที่ได้รับเลือกเปนนคราภิบาลแล้วนั้นต้องรับภาระทำการในน่าที่นั้นต่อไป ถ้าไม่เต็มใจรับ จะไม่รับก็ได้ แต่ต้องถูกปรับเปนเงิน ๕๐ บาท นอกจากกระทรวงผู้เปนเจ้าหน้าที่จะดำริห์ผ่อนผันให้โดยเหตุผลสมควร.

หมวดที่ ๔
ว่าด้วยอำนาจแลหน้าที่ของนคราภิบาล

มาตรา ๒๑ เมื่อผู้ใดได้เปนนคราภิบาลแล้ว ผู้นั้นมีอำนาจตามพระธรรมนูญนี้ทันทีในการที่จะเลือกตั้งคณะนคราภิบาล คือ เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ เช่น เจ้าพนักงานคลัง, เจ้าพนักงานโยธา, นายแพทย์สุขาภิบาล, ผู้รักษาความสดวกของมหาชน (Inspector of Nuisances) เปนต้น สำหรับจัดการให้เปนไปตามธรรมนูญนี้ ตามแต่จะเห็นสมควร.

มาตรา ๒๒ นคราภิบาลมีอำนาจปกครองบรรดาราษฎรที่อยู่ในเขตธารีของตน, แลให้ราษฎรผู้อยู่ในเขตนั้นจงเชื่อถ้อยฟังคำนคราภิบาลอันชอบด้วยกฎหมายและธรรมนูญที่ใช้อยู่จงทุกประการ.

มาตรา ๒๓ รัฐบาลมีหน้าที่:

ก. ดูแลรักษาเพิ่มพูลความผาศุกสำราญของราษฎรทั่วไป, ช่วยป้องกันทุกข์ภัยของประชาราษฎรในเขตของตน.

ข. ดูแลทางคมนาคม คือ ถนนหนทางทั้งแม่น้ำลำคลอง ให้ความสว่างไสว, จัดการไฟฟ้าและประปาในธานี.

ค. การดับเพลิงแลการรักษาสวนสำหรับนครให้เปนที่หย่อนกายสบายใจควรแก่ประโยชน์แลความสุขอันจะพึงมีได้สำหรับสาธารณะชน.

ฆ. จัดการในเรื่องโรงพยาบาล, สุสาน, แลโรงฆ่าสัตว์.

ง. ดูแลระเบียบการโรงเรียนราษฎร์, ห้องอ่านหนังสือ, และโรงเรียนหัตถกรรมต่าง ๆ.

มาตรา ๒๔ นคราภิบาลมีอำนาจที่จะตั้งพิกัดภาษีอากรขนอนตลาดเรือนโรงร้านเรือแพอันอยู่ในเขตหน้าที่ของนคราภิบาล, แต่เมื่อจะกำหนดพิกัดภาษีอากร นคราภิบาลจะต้องเรียกประชุมราษฎรเพื่อทำความตกลงในเรื่องเช่นนี้, แลเพื่อจะเปลี่ยนพิกัดภาษีใหม่ ก็ต้องเรียกประชุมใหม่ทุกครั้งนี้ แลประกาศให้รู้ทั่วกัน.

มาตรา ๒๕ นคราภิบาลมีอำนาจจะออกใบอนุญาตและเก็บเงินค่าใบอนุญาตสำหรับยานพาหนะ, ร้านจำหน่ายสุรา, โรงละคร, โรงหนัง, สถานที่สำเริงรมย์, เก็บเงินจากมหาชนคนดูทั้งปวง.

มาตรา ๒๖ เมื่อนคราภิบาลได้เรียกประชุมราษฎรเจ้าบ้านเพื่อกำหนดภาษีอากรและใบอนุญาตตามที่ว่ามาในมาตราข้างบนนั้นแล้ว ให้ราษฎรเจ้าบ้านทั้งหมดไปประชุมพร้อมกันตามที่นคราภิบาลนัดหมาย ถ้าเจ้าบ้านจะไปประชุมด้วยตนเองไม่ได้ ก็ต้องตั้งผู้แทนไปแทนตัว แลมีหนังสือมอบอำนาจให้ผู้นั้นไปในที่ประชุมแทนนั้นด้วย.

มาตรา ๒๗ ถ้ารัฐบาลจะประกาศหรือสั่งราชการอันใดให้ราษฎรทราบ เปนหน้าที่ของนคราภิบาลที่จะรับข้อความนั้น ๆ ไปแจ้งแก่ราษฎรที่อยู่ในปกครองของตนให้ทราบ.

มาตรา ๒๘ เปนหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำบาญชีสำมโนครัวราษฎรในปกครองของตน แลคอยแก้ไขบาญชีนั้นให้ถูกต้องตามที่เปนจริงอยู่เสมอ.

มาตรา ๒๙ กิจสาธารณะประโยชน์ซึ่งมีผลเปนกำไร เช่น การตั้งธนาคาร, โรงจำนำ, ตั้งตลาด, รถราง, เรือจ้าง, เหล่านี้เปนอาทิ นคราภิบาลจะดำริห์จัดไปในเวลาที่เห็นสมควรก็ได้ เปนทางหากำไรบำรุงเมืองเพื่อผ่อนภาษีอากรซึ่งราษฎรจะต้องเสีย แลเพื่อกระทำกิจเช่นว่านี้ คณะนคราภิบาลจะออกใบกู้ก็ควร เพราะณี่ประเภทนี้นับว่า ไม่ใช่ณี่ตายที่ไร้ผล.

มาตรา ๓๐ เปนหน้าที่ของนคราภิบาลจะกำหนดการปลูกสร้างวางแผนสำหรับนครเพื่อความงามและอานามัยความผาศุกแห่งธานีเคหะสถานบ้านเรือนที่ทำการต่าง ๆ เมื่อเจ้าของจะปลูกสร้างต้องได้รับอนุญาตจากนายช่างก่อสร้างของนคราภิบาลแล้วจึงปลูกได้.

ดังนี้ สถาปิตยะกรรมแห่งนครจึ่งจะสมานเจริญตา.

มาตรา ๓๑ การขยายเขตนคราภิบาลต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลาง.

หมวดที่ ๕
ว่าด้วยการบำรุงรักษาความสอาดแลป้องกันโรคภัย

มาตรา ๓๒ คณะนคราภิบาลมีหน้าที่จัดตั้งเจ้าพนักงานแพนกสุขาภิบาลเพื่อคอยดูแลรักษาความสอาดทั่วไปตลอดทั้งเมือง ว่ากล่าวคนในปกครองให้ระวังรักษาอย่าทอดทิ้งหรือปล่อยให้เกิดความโสโครกอันจะเปนเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชนทั่วไป.

มาตรา ๓๓ เมื่อนคราภิบาลเห็นว่า บ้านใดหมู่ใดชำรุดรุงรังหรือปล่อยให้โสโครกสมมมอาจจะเปนเหตุให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่อยู่ในที่นั้น หรือผู้ที่อยู่ใกล้เคียงกัน หรือผู้ที่ผ่านไปมา อันอาจจะให้เกิดอัคคีภัยหรือโรคร้ายขึ้น ถ้าเห็นสมควรจะบังคับให้เจ้าบ้านผู้ที่อยู่ในที่นั้นแก้ไขเสียให้ดี ก็มีอำนาจบังคับได้.

มาตรา ๓๔ เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดนคราภิบาลได้บังคับให้รื้อถอนจัดทำหรือซ่อมแซมบ้านเรือนใหม่ขัดขืนไม่กระทำตามบังคับของนคราภิบาลนั้น ก็ให้นคราภิบาลมีอำนาจร้องฟ้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาลงโทษตามพระราชกำหนดกฎหมาย.

หมวดที่ ๖
ว่าด้วยการสับเปลี่ยนและตั้งนคราภิบาล

มาตรา ๓๕ เมื่อถึงเวลาสับเปลี่ยนตัวนคราภิบาลใหม่ประจำปี ให้คณะนคราภิบาลเก่าแสดงบาญชีรายรับรายจ่ายยื่นต่อที่ประชุมราษฎร แลส่งเสียการงาน ยอดบาญชีสำมโนครัว แก่คณะนคราภิบาลใหม่จนสิ้นเชิง.

มาตรา ๓๖ ในเวลาเรียกประชุมใหญ่ประจำปีนั้น ให้สมุหเทศาภิบาลหรือผู้แทนเข้ามานั่งในที่ประชุมด้วย.

มาตรา ๓๗ คณะนคราภิบาลมีอำนาจที่จะจัดตั้งสภาเลขาธิการขึ้นแลเลขาธิการคงอยู่ในตำแหน่งตลอดไปจนกว่าจะลาออกหรือต้องออกด้วยเหตุอื่น.

หมวดที่ ๗
ว่าด้วยหน้าที่สภาเลขาธิการ

มาตรา ๓๘ สภาเลขาธิการนั้น เมื่อคณะนคราภิบาลได้เลือกตั้งขึ้นโดยชอบด้วยพระธรรมนูญแล้ว ให้มีอำนาจแลหน้าที่จัดการ ดังต่อไปนี้:—

 ให้มีหน้าที่บังคับบัญชาการแพนกหนังสือแลรายงานกิจการทั้งปวงของคณะนคราภิบาล.

 เปนที่ปฤกษาของคณะนคราภิบาลในทางระเบียบการทางกฎหมาย.

 มีหน้าที่เปนทนายแถลงคดีแทนคณะนคราภิบาลต่อศาลหรือจะตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเปนผู้แทนในหน้าที่นี้ก็ได้.

 สภาเลขาธิการมีสิทธิ์ที่นั่งในที่ประชุมคณะนคราภิบาลแลในที่ประชุมใหญ่ได้ทุกเมื่อ

 ถ้าสภาเลขาธิการเปนคหบดีเจ้าบ้านอยู่แล้ว เมื่อเวลาที่นั่งในที่ประชุมใหญ่ มีสิทธิ์ที่จะลงคะแนนความเห็นได้ด้วย.

หมวดที่ ๘
ว่าด้วยทุนแลการเงินทองของคณะนคราภิบาล

มาตรา ๓๙ เมื่อนคราภิบาลได้จัดตั้งคณะนคราภิบาลขึ้นแล้ว ท่านให้ถือว่า คณะนั้นเปนบุคคลโดยนิติสมมต มีสิทธิ์ที่จะถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ได้ มีอำนาจที่จะจ่ายทรัพย์นั้นในการบำรุงความรุ่งเรืองแห่งนคร แลในการป้องกันสิทธิ์แลทรัพย์สมบัติของตน.

มาตรา ๔๐ คณะนคราภิบาลมีอำนาจที่จะออกใบกู้เงินในนามของคณะนคราภิบาลได้ เพื่อเปนทุนใช้จ่ายในการปกครองตามพระธรรมนูญนี้ แต่อำนาจที่จะกระทำตามที่ว่ามาในมาตรานี้ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางเสียก่อนโดยเฉภาะเรื่องทุกคราวไป.

มาตรา ๔๑ เงินที่คณะนคราภิบาลเก็บได้จากราษฎรในทางภาษีอากรนั้น อนุญาตให้เก็บไว้ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ได้ แต่ต้องมีบาญชีหลักฐานแสดงรายรับรายจ่ายให้ชัดเจน.

มาตรา ๔๒ ให้มีคณะกรรมการ ๓ คนตรวจบาญชีในเวลาสิ้นปีทุกคราวไป กรรมการตรวจบาญชีนี้ รัฐบาลกลางเปนผู้ตั้ง ๒ นาย นคราภิบาลเปนผู้ตั้ง ๑ นาย กรรมการนี้มิได้รวมอยู่ในคณะนคราภิบาล.

หมวดที่ ๙
ว่าด้วยกำหนดโทษผู้ที่กระทำผิด

มาตรา ๔๓ ผู้ใดขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่งของนคราภิบาลเนื่องในระเบียบการปกครองเช่นว่ามาในมาตรา ๒๒ ก็ดี ตามมาตรา ๒๖ ก็ดี ท่านให้ลงโทษปรับเงินเปนพินัย คนหนึ่งครั้ง ๑ ไม่เกินกว่า ๑๐ บาท.

มาตรา ๔๔ ผู้ใดขัดขืนคำสั่งนคราภิบาลเนื่องในระเบียบการสุขาภิบาล เช่น ปล่อยบ้านเรือนให้ชำรุดรุงรัง แลเกิดการโสโครกตามที่กล่าวมาในมาตรา ๓๒ ก็ดี ตามมาตรา ๓๓ ก็ดี ท่านให้ลงโทษปรับเงินคนหนึ่งครั้งหนึ่งไม่เกิน ๕ บาทเปนพินัย.

มาตรา ๔๕ ถ้าผู้ใดถูกปรับเพราะได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดมาครั้งหนึ่งแล้ว มากระทำผิดขึ้นอีกครั้งนี้เปนครั้งที่ ๒ ท่านว่า ไม่เข็ดหลาบ โทษที่ท่านบัญญัติความผิดไว้นั้นเท่าใด เมื่อเวลากำหนดโทษนั้น ท่านให้เพิ่มโทษถานไม่เข็ดหลาบขึ้นอีก ๓ ใน ๕ ส่วนด้วย

มาตรา ๔๖ ผู้ใดถูกปรับเพราะได้กระทำความผิดมาครั้งหนึ่งแล้วไม่เข็ดหลาบมาทำความผิดขึ้นอีกคราวนี้เปนครั้งที่ ๒ แลความผิดครั้งหลังนี้ซ้ำประเภทเดียวกันกับความผิดในครั้งก่อนภายในเวลา ๖ เดือน ท่านว่า เวลากำหนดโทษนั้น ให้เพิ่มโทษถานไม่เข็ดหลาบขึ้นอีกเปนทวีคูณ

หมวดที่ ๑๐
ว่าด้วยการรักษาธรรมนูญ

มาตรา ๔๗ เมื่อราษฎรมีความไม่พอใจในคำสั่งในกฎข้อบังคับใด ๆ ของคณะนคราภิบาล ก็ให้ราษฎรมีอำนาจร้องเรียนต่อรัฐบาลกลางได้.

มาตรา ๔๘ ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งผู้ใดในคณะนคราภิบาลทำการเกินอำนาจที่มีอยู่ในธรรมนูญหรือผิดด้วยกฎหมาย, จนเปนเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายนั้น, มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องยังศาลหลวงได้ แม้พิจารณาสมฟ้องแล้ว ให้ปรับเจ้าหน้าที่ผู้ผิด สินไหมกึ่ง พินัยกึ่ง.

มาตรา ๔๙ ให้นคราภิบาลเปนผู้รักษาการให้เปนไปตามธรรมนูญนี้.

มาตรา ๕๐ การที่จะฟ้องผู้กระทำผิดตามธรรมนูญนี้ ให้สภาเลขาธิการเปนเจ้าหน้าที่ฟ้องร้องยังศาลหลวง.

มาตรา ๕๑ ให้นคราภิบาลมีอำนาจที่จะตั้งกฎข้อบังคับสำหรับจัดแลรักษาการให้เปนไปตามธรรมนูญนี้ เมื่อกฎข้อบังคับนั้นได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลาง แลได้โฆษนาแล้ว ก็ให้ใช้ได้เหมือนเปนส่วนหนึ่งแห่งธรรมนูญนี้.

ประกาศมาณวันที่ ๗ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ เปนปีที่ ๙ ในรัชกาลปัตยุบันนี้.