ธรรมนูญลักษณปกครองคณะนคราภิบาล พระพุทธศักราช 2465/เรื่อง 2

พระราชกำหนดเพิ่มเติมและแก้ไข
ธรรมนูญลักษณปกครองคณะนคราภิบาลดุสิตธานี
พระพุทธศักราช ๒๔๖๑

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจ, ยุติธรรม, และความเมตตาปราณีสูงสุด ทรงพระราชดำริห์ว่า ธรรมนูญลักษณปกครองคณะนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้มาแล้วตั้งแต่วันที่ ๗ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ นั้น เมื่อลองใช้มาแล้ว ก็ปรากฎว่า โดยมากนับว่า เปนการสดวกแก่วิธีดำเนินการเรียบร้อยดีอยู่ แต่ยังมีข้อขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง ซึ่งสมควรจะเพิ่มเติมให้บริบูรณ์หรือแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น.

จึ่งมีพระราชปกาสิตประสาทพระราชกำหนดนี้ขึ้นไว้เพื่อเติมแก้ไขธรรมนูญลักษณปกครองคณะนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ มีบทมาตราดังต่อไปนี้:—

หมวดที่ ๑
ว่าด้วยนามและการใช้พระราชกำหนด

มาตราให้เรียกบทบัญญัตินี้ว่า พระราชกำหนดเพิ่มเติมและแก้ไขธรรมนูญลักษณปกครองคณะนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช ๒๔๖๑

มาตราพระราชกำหนดนี้เปนเหมือนส่วนหนึ่งแห่งธรรมนูญลักษณปกครองแห่งคณะนคราภิบาลดุสิตธานี และให้ใช้ทั่วไปแต่วันประกาศนี้เปนต้นไป.

มาตราบรรดากำหนดกฎข้อบังคับแต่ก่อนบทใดขัดกับข้อความในพระราชกำหนดนี้ ให้ยกเลิกเสีย ให้ใช้พระราชกำหนดนี้สืบไป.

หมวดที่ ๒
ว่าด้วยตำแหน่งเชษฐบุรุษ

มาตราเพื่อประโยชน์และความสดวกแก่ทวยนาคร ให้ตั้งตำแหน่งกรรมการในคณะนคราภิบาลขึ้นอีก เรียกว่า เชษฐบุรุษ.

มาตราเชษฐบุรุษนั้น ให้ทวยนาครเจ้าบานสมมตและเลือกคหบดีนายบ้านผู้มีอายุเปนที่นับถือในเขตอำเภอที่ตนตั้งบ้านเรืออยู่นั้น อำเภอละคน เพื่อเปนผู้แทนทวยนาครในอำเภอนั้นไปเข้านั่งในสภากรรมการนคราภิบาล.

มาตราผู้ที่จะรับตำแหน่งเชษฐบุรุษสำหรับอำเภอใด ต้องเปนคหบดีที่ตั้งบ้านเรือนมั่นคงอยู่ในเขตอำเภอนั้น.

มาตราผู้ที่จะรับตำแหน่งเชษฐบุรุษสำหรับอำเภอใด ต้องเปนผู้ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตอำเภอนั้น, จะมีเสียงเลือกเชษฐบุรุษสำหรับอำเภออื่นนอกจากที่ตนตั้งบ้านเรือนอยู่นั้นไม่ได้เปนอันขาด แต่ถ้านาครผู้ใดมีบ้านเรือนอยู่ในเขตอำเภอกว่า ๑ อำเภอ ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเชษฐบุรุษสำหรับอำเภอที่ตนตั้งบ้านเรือนอยู่นั้นได้ทุกอำเภอ.

มาตราการเลือกเชษฐบุรุษสำหรับอำเภอ ให้กำหนดการกระทำก่อนการเลือกนคราภิบาลไม่น้อยกว่า ๗ วัน (ตามปฏิทิน) และวิธีเลือกเชษฐบุรุษนั้น ให้ทำดังกำหนดดังต่อไปนี้.

มาตราเมื่อจวนจะถึงกำหนดวันที่จะเลือกเชษฐบุรุษใหม่ ให้ผู้ซึ่งได้รับอำนาจอำนวยการเลือกเชษฐบุรุษป่าวร้องทวยนาครในอำเภอนั้น ๆ ให้ทราบว่า จะมีการเลือกตั้งเชษฐบุรุษที่ใดวันใด.

มาตรา๑๐เมื่อถึงวันกำหนดที่ผู้อำนวยการได้ป่าวร้องไว้แล้วนั้น ให้นาครทั้งหมดมาประชุมพร้อมกันยังตำบลและเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนดไว้.

มาตรา๑๑ในเมื่อทวยนาครมาประชุมพร้อมกันตามกำหนดนั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานผู้รับอำนาจอำนวยการถามความเห็นทวยนาครว่า ผู้ใดจะสมมตคหบดีผู้ใดให้เปนเชษฐบุรุษสำหรับอำเภอนั้น และผู้ใดจะรับรอง เมื่อผู้ใดมีผู้สมมตและรับรองผู้หนึ่งผู้ใดคนหนึ่งแล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานถามทวยนาครอีกว่า จะมีผู้ใดสมมตอีกคนหนึ่งหรือไม่ ถ้าแม้ไม่มีผู้ใดสมมตขึ้นอีกคนหนึ่งแล้ว ก็ถือว่า ผู้ที่ได้รับสมมตแรกนั้นเปนผู้ได้รับเลือกเปนเชษฐบุรุษโดยชื่นตาไม่มีผู้ใดคัดค้านทีเดียว แต่ถ้าแม้มีผู้ใดสมมตกว่า ๑ คน ก็ให้เจ้าพนักงานจัดการให้ทวยนาครลงคะแนนโดยวิธีใดวิธี ๑ ซึ่งจะเปนการสดวกและเหมาะที่สุด.

มาตรา๑๒ผู้ที่ได้คแนนเลือกสูงกว่าผู้อื่น ให้ถือว่า ผู้นั้นได้รับเลือกเปนเชษฐบุรุษโดยชอบด้วยกฎหมาย.

มาตรา๑๓ผู้ที่ได้รับเลือกเปนเชษฐบุรุษสำหรับอำเภอ ๑ แล้ว จะเปนเชษฐบุรุษสำหรับอีกอำเภอ ๑ ด้วยในคราวเดียวกันไม่ได้.

มาตรา๑๔ผู้ที่ได้รับเลือกเปนเชษฐบุรุษแล้วนั้น ต้องรับภาระทำการในหน้าที่นั้นต่อไป ถ้าไม่เต็มใจรับ จะไม่รับก็ได้ แต่ต้องถูกปรับเปนเงิน ๓๐ บาท นอกจากเจ้าพนักงานผู้อำนวยการเลือกจะยอมผ่อนผันให้โดยเหตุสมควร.

มาตรา๑๕ผู้ที่ได้รับเลือกเปนเชษฐบุรุษแล้ว ให้คงอยู่ในตำแหน่งโดยมีกำหนด ๑ ปี.

มาตรา๑๖เมื่อผู้ใดได้รับตำแหน่งเปนเชษฐบุรุษจนครบกำหนดเขตแล้ว เมื่อถึงกำหนดเลือกใหม่ จะรับตำแหน่งต่อไปก็ได้ ไม่มีข้อห้าม.

มาตรา๑๗ผู้ใดเปนเชษฐบุรุษแล้ว มีหน้าที่ดังต่อไปนี้.

(ก)เปนกรรมการที่ปฤกษาในสภาของนคราภิบาล และนคราภิบาลนัดให้ประชุมเมื่อใด ต้องไป และต้องแสดงความเห็นโดยสุจริต.

(ข)เปนหัวหน้าทวยนาครในเขตอำเภอของตน เพราะฉนั้น ต้องหมั่นสอดส่องดูทุกข์สุขของทวยนาคร และเปนผู้นำข้อความที่ทวยนาครปราถนาไปชี้แจงแถลงเหตุผลในสภานคราภิบาล และขอให้สภาปฤกษาและดำริห์การนั้น.

(ค)เมื่อมีเหตุการณ์อันเห็นควรที่จะนำปฤกษาในสภานคราภิบาล ให้เชษฐบุรุษแจ้งไปยังนคราภิบาลขอให้นัดประชุมสภานคราภิบาล

มาตรา๑๘ผู้ที่ได้รับตำแหน่งเปนเชษฐบุรุษ ไม่ได้รับเบี้ยหวัดเงินเดือนอย่างใดสำหรับตำแหน่งนั้นโดยเฉภาะ แต่จะรับเบี้ยหวัดเงินเดือนในตำแหน่งอื่นได้โดยไม่ขัดข้องต่อพระราชกำหนดนี้.

หมวดที่ ๓
ว่าด้วยสิทธิ์แห่งเชษฐบุรุษเนื่องในการเลือกนคราภิบาล

มาตรา๑๙ผู้ที่จะรับสมมตเปนนคราภิบาล ต้องเปนเชษฐบุรุษอยู่แล้วด้วย.

มาตรา๒๐ในการที่จะเลือกนคราภิบาลใหม่ ผู้ที่จะลงนามในหนังสือสมมตในนามผู้สมมต ต้องเปนเชษฐบุรุษอยู่แล้วด้วย แต่ผู้ที่จะลงนามเปนผู้รับรองนั้น ไม่จำต้องเปนเชษฐบุรุษด้วยหามิได้.

หมวดที่ ๔
ว่าด้วยเชษฐบุรุษกิติมศักดิ์

มาตรา๒๑บุคคลผู้ใดได้กระทำความชอบในราชการแผ่นดิน หรือมีคุณวิเศษเปนที่นับถือแห่งสาธารณชน อนุญาตให้คณะนคราภิบาลปฤกษากันเชิญให้รับตำแหน่งเปนเชษฐบุรุษกิติมศักดิ์ของดุสิตธานีได้ และให้อยู่ในตำแหน่งนั้นตลอดชีวิต.

มาตรา๒๒ผู้ใดได้รับเกียรติยศเปนเชษฐบุรุษกิติมศักดิ์ของดุสิตธานีแล้ว มีสิทธิ์ดังต่อไปนี้.

(ก)เข้านั่งในสภานคราภิบาลได้ในโอกาศอันควร.

(ข)รับสมมตเปนนคราภิบาลได้.

(ค)ลงนามเปนผู้สมมตนคราภิบาลใหม่ได้

ประกาศมาณวันที่ ๑๓ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ เปนปีที่ ๙ ในรัชกาลปัตยุบันนี้.