ธรรมาธรรมะสงคราม

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

คำนำ

แก้ไข

เรื่อง "ธรรมาธรรมะสงคราม" นี้ ฃ้าพเจ้าได้แต่งขึ้นแต่เมื่อเดือนมกราคม, พ.ศ. ๒๔๖๑, เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนามงคลวิเศษ, ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแสดงในงานเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้น. ฃ้าพเจ้ารู้สึกว่าสมเด็จพระมหาสมณะทรงเลือกอุทาหรณเหมาะสมหนักหนา เพื่อแสดงหลักแห่งธรรมว่าธรรมะกับอธรรมให้ผลไม่เหมือนกัน อีกทั้งเมื่อพิจารณาดูเรื่องที่ทรงยกมาแสดงนั้น ช่างคล้ายจริงๆ กับกิจการที่เป็นไปแล้วในงานมหาสงครามในยุโรป อันพึ่งจะยุติลงในศกนั้นด้วยความปราชัยแห่งฝ่ายผู้ที่ละเมิดธรรมะ.

ครั้นเมื่อแต่งบทพากย์ขึ้นเสร็จแล้ว ฃ้าพเจ้าได้อ่านให้มิตรสหายบางคนฟัง, ก็ต่างคนต่างชมกันว่าดี, และวิงวอนให้จัดพิมพ์ขึ้นเปนเล่ม. เมื่อฃ้าพเจ้าได้ยอมตามคำขอของมิตรสหายแล้ว จึงนึกขึ้นว่าถ้าได้มีภาพประกอบบทพากย์ด้วยจะชูค่าแห่งหนังสือขึ้น. ข้าพเจ้าจึงทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ทรงคิดประดิษฐ์ภาพขึ้นประกอบเรื่อง, เพราะเห็นว่าจะหาช่างใดในกรุงสยามที่เฃ้าใจความมุ่งหมายและความตั้งใจของฃ้าพเจ้าไม่ได้ดีเท่าเปนแน่แท้. และสมเด็จจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ทรงเฃ้าพระทัยความประสงค์ของฃ้าพเจ้าดีปานใด ภาพทั้งหลายในสมุดนี้ย่อมเปนพยานปรากฏอยู่เองแล้ว.

ในชั้นเดิมฃ้าพเจ้าคิดไว้ว่าจะจัดการพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นจำหน่ายเฉยๆ, แต่ก็หาได้จัดการให้ดำเนินไปตามความคิดนั้นไม่, เพราะได้มีเหตุขัดข้องต่างๆ ซึ่งฃ้าพเจ้าไม่จำจะต้องนำมากล่าวในที่นี้. ครั้นมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ นี้, ฃ้าพเจ้ามารำพึงว่า ฃ้าพเจ้าจะมีอายุครบ ๔๐ ปีบริบูรณณวันที่ ๑ มกราคม, เห็นว่าเปนการสมควรที่จะมีของแจกเปนพิเศษสักหน่อย, ฃ้าพเจ้าจึ่งได้จัดการให้พิมพ์หนังสือนี้ขึ้น.

ฃ้าพเจ้าหวังใจว่า ท่านที่จะได้พบได้อ่านหนังสือนี้จะมีความพอใจ, เพราะจะได้อ่านทราบความคิดความเห็นและภูมิธรรมของคนโบราณว่ามีอยู่สูงเหมือนกัน. และจะได้มีโอกาสดูภาพอันวิจิตร์งดงาม เปนตัวอย่างอันดีแห่งภาพที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นโดยใช้ความพิจารณาอย่างดี, ควรถือเปนแผนแห่งศิลปะของไทยเราได้โดยไม่ต้องน้อยหน้าชาติอื่นๆ นอกจากนี้ฃ้าพเจ้าหวังใจว่าหลักธรรมะอันประกอบเรื่อง "ธรรมาธรรมะสงคราม" นี้ จะพอเปนเครื่องเตือนใจผู้ใฝ่ดีให้รำพึงถึงพุทธภาษิตว่า:-

"น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ อุโภ สมวิภาคิโน
อธมฺโม นิรยํ เหติ ธมฺโม ปาเปติ สุคตึ"

"ธรรมกับอธรรมให้ผลหาเสมอกันไม่; อธรรมย่อมจักนำชนไปสู่นรก, แต่ธรรมย่อมจักนำชนให้ฃ้ามพ้นบาปไปสู่สุคติ." - ด้วยอำนาจสัจจะวาจาภาษิตนี้ ขอความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลอิฐวิบุลผลจงบังเกิดมีแด่ท่านผู้ที่อ่านเรื่องนี้จงทุกเมื่อเทอญ ฯ

ราม ร.
วังพญาไท, วันที่ ๑ มกราคม, พ.ศ. ๒๔๖๓.

คำพากย์

แก้ไข
ธรรมะเทวบุตร ผู้พิสุทธิโสภา
สถิตอยู่ ณ กามา- พจรภพแผ่นดินสรวง
ครองทิพยพิมาน บริวารอมรปวง
ปองธรรมะบ่ล่วง ลุอำนาจอกุศล
เมตตาการุญรัก- ษะพิทักษ์ภูวดล
ปรานีนิกรชน ดุจดังปิโยรส
ครั้นถึง ณ วันเพ็ญ ที่เป็นวันอุโบสถ
เธอมุ่งจะทรงรถ ประพาศโลกเช่นเคยมา
เข้าที่สนานทรง เสาวคนธธารา
แล้วลูบพระกายา ด้วยวิเลปนารม
ทรงเครื่องก็ล้วนขาว สวิภูษณาสม
สำแดงสุโรดม สุจริต ณ ไตรทวาร
ทรงเพรชราภรณ์ พระกรกุมพระขรรค์กาญจน์
ออกจากพิมานสถาน ธ เสด็จ ณ เกยพลันฯ

(บาทสกุณี แล้ว กลม)

ขึ้นทรงรถทองผ่องพรรณ งามงอนอ่อนฉัน
เฉกนาคราชกำแหง
งามกงวงจักรรักต์แดง งามกำส่ำแสง
งามดุมประดับเพรชพราย
เลิศล้วนมวลมาศฉลุลาย เทพประนมเรียงราย
รับที่บัลลังก์เทวินทร์
กินนรฟ้อนรำร่ายบิน กระหนกนาคิน
ทุกเกล็ดก็เก็จสุรกานต์
งามเทวธวัชชัชวาลย์ โบกในคัคนานต์
แอร่มอร่ามงามตา
พรั่งพร้อมทวยเทวเสนา ห้อมแห่แหนหน้า
และหลังสะพรั่งพร้อมมวล
จามรีเฉิดฉายปลายทวน หอกดาบปลาบยวน
ยั่วตาพินิจพิศวง
แลดูรายริ้วทิวธง ฉัตรเบญจรงค์
ปี่กลองสนั่นเวหน
อีกมีทวยเทพนฤมล ฟ้อนฟ่องล่องหน
เพื่อโปรยบุปผามาลี
ครั้นได้ฤกษ์งามยามดี เคลื่อนขบวนโยธี
ไปโดยวิถีนภาจรฯ

(กลองโยน แล้ว เชิด)

ครั้นถึงชมพูดูสลอน สล้างนิกร
ประชามาชมบารมี
หยุดรถอยู่หว่างเมฆี แลยังปัถพี
พระองค์ก็ยิ้มพริ้มพราย
กษัตริย์พราหมณ์แพทย์ศูทรทั้งหลาย ต่างมาเรียงราย
ระยอบบังคมเทวัญ
ต่างคนปลื้มเปรมเกษมสันต์ ต่างคอยเงี่ยกรรณ
เพื่อฟังพระเทวบัญชา
จึ่งธรรมเทพนาถา ตรัสเผยพจนา
เพื่อแนะทำนองคลองธรรมฯ
ดูก่อนนิกรชน อกุศลบทกรรม
ทั้งสิบประการจำ และละเว้นอย่าเห็นดี
การฆ่าประดาสัตว์ ฤ ประโยชน์บ่พึงมี
อันว่าดวงชีวี ย่อมเป็นสิ่งที่ควรถนอม
ถือเอาซึ่งทรัพย์สิน อันเจ้าของมิยินยอม
เขานั้นเสียดายย่อม จิตตะขึ้งเป็นหนักหนา
การล่วงประเวณี ณ บุตรีและภรรยา
ของชายผู้อื่นลา- มกกิจบ่บังควร
กล่าวปดและลดเลี้ยว พจนามิรู้สงวน
ย่อมจะเป็นสิ่งควร นรชังเป็นพ้นไป
ส่อเสียดเพราะเกลียดชัง บ่มิยังประโยชน์ใด
เสื่อมยศและลดไม- ตริระหว่างคณาสลาย
พูดหยาบกระทบคน ก็ต้องทนซึ่งหยาบคาย
เจรจากับเขาร้าย ฤ ว่าเขาจะตอบดี
พูดจาที่เพ้อเจ้อ วจะสาระบ่มี
ทำตนให้เป็นที่ นรชนเขานินทา
มุ่งใจและไฝ่ทรัพ- ยะด้วยโลภเจตนา
ทำให้ผู้อื่นพา กันตำหนิมิรู้หาย
อีกความพยาบาท มนะมุ่งจำนงร้าย
ก่อเวรบ่รู้วาย ฤจะพ้นซึ่งเวรา
เชื่อผิดและเห็นผิด สิจะนิจจะเสื่อมพา
เศร้าหมองมิผ่องผา สุกะรื่นฤดีสบาย
ละสิ่งอกุศล สิกมลจะพึงหมาย
เหมาะยิ่งทั้งหญิงชาย สุจริต ณ ไตรทวาร
จงมุ่งบำเพ็ญมา- ตุปิตุปัฏฐานการ
บำรุงบิดามาร- ดรให้เสวยสุข
ใครทำฉะนี้ไซร้ ก็จะได้นิราศทุกข์
เนานานสราญสุข และจะได้คระไลสวรรค์
ยศใหญ่จักมาถึง กิตติพึงจักตามทัน
เป็นนิจจะนิรัน- ดรย่อมจะหรรษาฯ
ครั้นเสด็จประทานเทศนา ฝูงชนต่างสา-
ธุเทิดประนตประนมกร
ธรรมเทพจึงอวยพร ให้ปวงถาวร
ในอายุวรรณสุขพล
แล้วสั่งขบวนเดินหน ประทักษิณวน
ชมพูทวีปมหาสถานฯ

(เชิดฉิ่ง)

ปางนั้นอธรรมะ เทวบุตรผู้ใจพาล
เนาในพิมานสถาน ณ กามาพจรสวรรค์
ครองพวกบริวาร ล้วนแต่พาลประดุจกัน
โทโสและโมหันธ์ บ่มิพึงบำเพ็ญบุญ
เห็นใครน้ำใจซื่อ สุจริตะการุญ
เธอก็มักจะหันหุน เพราะพิโรธและริษยา
ถึงวันที่จันทร์เพ็ญ ธก็มักจะไคลคลา
ขับรถะยานมา ณ ชมพูทวีปพลัน
แต่งองค์ก็ทรงล้วน พัสตระดำทุกสิ่งอัน
อาภรณ์ก็เลือกสรร- พะสัมฤทธิ์และพลอยดำ
หัสถ์สดำพระกำขวาน อันมหิทธิกำยำ
จรจากวิมานอัม- พรตรงมาทรงรถ

(คุกพาทย์ แล้ว กราว)

รถทรงกงกำทั้งหมด ตลอดงอนรถ
ล้วนแล้วด้วยไม้ดำดง
บัลลังก์มียักษ์ยรรยง ยืนรับรองทรง
สลับกระหนกมังกร
ลายสิงห์เสือสีห์มีสลอน หมาไนยืนหอน
อีกทั้งจระเข้เหรา
งอนรถมีธวัชตวัดร่า สีดำขำน่า
สยดสยองพองขน
แลดูหมู่กองพยุหพล สลับสับสน
ล้วนฤทธิ์คำแหงแรงขัน
กองหน้าอารักขะไพรสัณฑ์ ปีกซ้ายกุมภัณฑ์
คนธรรพ์เป็นกองปีกขวา
กองหลังนาคะนาคา สี่เหล่าเสนา
ศาสตราอาวุธวาวแสง
พวกพลทุกตนคำแหง หาญเหิมฤทธิ์แรง
พร้อมเพื่อผจญสงคราม
พาหนคำรนคำราม เสือสิงห์วิ่งหลาม
แลล้วนจะน่าสยดสยอน
ให้เคลื่อนขบวนพลจร ไปในอัมพร
ฟากฟ้าคะนองก้องมาฯ

(เชิด)

ครั้นถึงชมพูแดนประชา ให้หยุดโยธา
ลอยอยู่ที่ในอัมพร
เหลือบแลเห็นชนนิกร ท่าทางสยดสยอน
อธรรมก็ยิ่งเหิมหาญ
ทะนงจงจิตคิดพาล ด้วยอหังการ
ก็ยิ่งกระหยิ่มยินดี
เห็นว่าเขาเกรงฤทธี จึ่งเปล่งพจี
สนั่น ณ กลางเวหน
ดูราประชาราษฎร์ นรชาตินิกรชน
จงนึกถึงฐานตน ว่าตกต่ำอยู่ปานใด
ไม่สู้อมรแมน ฤ ว่าแม้นปีศาจได้
ฝูงสัตว์ ณ กลางไพร ก็ยังเก่งกว่าฝูงคน
ทั้งนี้เพราะขี้ขลาด บ่มิอาจจะช่วยตน
ต่างมัวแต่กลัวชน จะตำหนิและนินทา
ผู้ใฝ่ซึ่งอำนาจ ก็ต้องอาจและหาญกล้า
ใครขวาง ณ มรรคา ก็ต้องปองประหารพลัน
อยากมี ณ ทรัพย์สิ่ง จะมานิ่งอยู่เฉยฉะนั้น
เมื่อใดจะได้ทัน มนะมุ่งและปราถนา
กำลังอยู่กับใคร สิก็ใช้กำลังคร่า
ใครอ่อนก็ปรา- ชิตะแน่มิสงสัย
สตรีผู้มีโฉม ศุภลักษณาไซร้
ควรถือว่ามีไว้ เป็นสมบัติ ณ กลางเมือง
ใครเขลาควรเอาเปรียบ และมุสาประดิษฐ์เรื่อง
ลวงล่อบ่ต้องเปลือง ธนะหากำไรงาม
เมื่อเห็นซึ่งโอกาส ผู้ฉลาดพยายาม
ส่อเสียดและใส่ความ และประโยชน์ ณ ตนถึง
ใครท้วงและทักว่า ก็จงด่าให้เสียงอึง
เขานั้นสิแน่จึ่ง จะขยาดและกลัวเรา
พูดเล่นไม่เป็นสา- ระสำหรับจะแก้เหงา
กระทบกระเทียบเขา ก็สนุกสนานดี
ใครจนจะทนยาก และลำบากอยู่ใยมี
คิดปองซึ่งของดี ณ ผู้อื่นอันเก็บงำ
ใครทำให้ขัดใจ สิก็ควรจะจดจำ
ไว้หาโอกาสทำ ทุษะบ้างเพื่อสาใจ
คำสอนของอาจารย์ ก็บุราณะเกินสมัย
จะนั่งไยดีไย จงประพฤติตามจิตดู
บิดรและมารดา ก็ชราหนักหนาอยู่
เลี้ยงไว้ทำไมดู นับจะเปลืองมิควรการ
เขาให้กำเนิดเรา ก็มิใช่เช่นให้ทาน
กฎธรรมดาท่าน ว่าเป็นของไม่อัศจรรย์
มามัวแต่กลัวบาป ก็จะอยู่ทำไมกัน
อยากสุขสนุกนัน- ทิก็ต้องดำริแสวง
ใครมีกำลังอ่อน ก็ต้องแพ้ผู้มีแรง
ใครเดชะสำแดง ก็จะสมอารมณ์ปอง
พูดเสร็จแล้วเล็งแลมอง เห็นคนสยดสยอง
อธรรมก็ยิ่งยินดี
ตบหัตถ์ตรัสสั่งเสนี ให้เริ่มจรลี
ออกเดินขบวนพลกาย
ขบวนก็พลันผันผาย เป็นแถวเรียงราย
เวียนซ้ายชมพูพนาลัย ฯ

(เชิด)

ขบวนสองเทพคลาไคล เวียนขวาซ้ายไป
ประสบกันกลางเวหา
ต่างกองต่างหยุดรอรา อยู่กลางมรรคา
เพื่อคอยอีกฝ่ายหลีกทาง
ต่างกองต่างยืนอยู่พลาง ต่างไม่ให้ทาง
แก่กันเพื่อเดินกองไป
ธรรมะเทวบุตร์เปนใหญ่ จึ่งกล่าวคำไป
ด้วยถ้อยสุนทรอ่อนหวาน
ดูราอธรรมมหาศาล เราขอให้ท่าน
หลีกทางให้เราเดินไป
อธรรมตอบว่าฉันใด เราจะหลีกให้
เราก็ไม่หย่อนศักดิ์ศรี
ธรรมะจึ่งว่าเรานี้ สิทธิย่อมมี
ที่ควรจะได้ทางจร
เพราะเราชวนชนนิกร ให้จิตสุนทร
บำเพ็ญกุศลจรรยา
เราทำให้ชนนานา ได้มียศฐา-
นะเลิศประเสริฐทุกสถาน
สมณะอีกพราหมณาจารย์ สรรเสริญทุกวาร
เพราะเรานี้เที่ยงธรรมา
อีกทั้งมนุษย์เทวา น้อมจิตบูชา
ทุกเมื่อเพราะรักความดี
อธรรมตอบว่าข้านี้ รี้พลมากมี
ไม่ต้องประหวั่นพรั่นใจ
ไม่เคยยอมให้แก่ใคร วันนี้เหตุไฉน
จักยอมให้ทางท่านจร
ธรรมะว่าเราเกิดก่อน ในโลกอัมพร
อธรรมเธอเกิดตามมา
ตัวเราเก่ากว่าแก่กว่า ยิ่งใหญ่ยศฐา
ผู้น้อยควรให้ทางจร
อธรรมว่าคำอ้อนวอน หรือพจนากร
อ้างเหตุสมควรใดๆ
ไม่ทำให้เรานี้ไซร้ ยอมหลีกทางให้
เพื่อธรรมะเทพจรลี
มาเถิดรบกันวันนี้ ใครชนะควรมี
สิทธิได้เดินทางไป
ธรรมะว่าเออตามใจ อันเรานี้ไซร้
ประกอบด้วยสรรพคุณา
มีทั้งกำลังวังชา เกียรติยศหา
ผู้ใดเสมอไป่มี
ทั่วทิศบันลือฤทธี อธรรมเธอนี้
จักเอาชำนะอย่างไร
อธรรมยิ้มเย้ยเฉลยไป ว่าธรรมดาไซร้
เขาย่อมเอาเหล็กตีทอง
เอาทองตีเหล็กเป็นของ ไม่สามารถลอง
เพราะเหตุว่าผิดธรรมดา
แม้นเราฆ่าท่านมรณา เหล็กก็จักน่า
นิยมประดุจทองคำ
ว่าแล้วต้อนพลกำยำ ตรูเข้ากระทำ
ประยุทธ ณ กลางอัมพร

(เชิด)

ฝ่ายทัพอธรรมราญรอน ห้าวหาญชาญสมร
ฝ่ายธรรมะอิดหนาระอาใจ
ธรรมะสลดหฤทัย คิดว่าตนไซร้
จะไม่ชนะดั่งถวิล
จะต้องทนดูคำหมิ่น และต้องยอมยิน
ให้ทางแก่ฝ่ายอธรรม
แต่ว่าเดชะกุศลกรรม มาช่วยฝ่ายธรรม
แลเห็นถนัดอัศจรรย์
อธรรมหน้ามืดโดยพลัน มิอาจนั่งมั่น
อยู่บนบัลลังก์รถมณี
พลัดตกหกเศียรทันที ถึงพื้นปัถพี
และดินก็สูบซ้ำลง ฯ

(รัว)

ธรรมะมีขันตีทรง กำลังจึ่งยง
แย่งยุทธะชิตชัยชาญ
ลงมาจากกลางคัคนานต์ ฟาดฟันประหาร
อธรรมะผู้ปราชัย
แล้วสั่งเสนีย์ผู้ใหญ่ ฝังอธรรมไว้
ในพื้นผ่นดินบันดล
กลับขึ้นรถทรงโสภณ แล้วตรัสแด่ชน
ผู้พร้อมมาชมบารมี
ดูราประชาราษฏร์ ท่านอาจเห็นคติดี
แห่งการสงครามนี้ อย่าระแวงและสงสัย
ธรรมะและอธรร- มะทั้งสองสิ่งนี้ไซร้
อันผลจะพึงให้ บ่มิมีเสมอกัน
อธรรมย่อมนำสู่ นิรยาบายเป็นแม่นมั่น
ธรรมะจักนำพลัน ให้ถึงสุคตินา
เสพธรรมะส่งให้ ถึงเจริญทุกทิวา
แม้เสพอธรรมพา ให้พินาศและฉิบหาย
ในกาลอนาคต ก็จักมีผู้มุ่งหมาย
ข่มธรรมะทำลาย และประทุษฐ์มนุษย์โลก
เชื่อถือกำลังแสน- ยะจะขึ้นเป็นหัวโจก
หวังครองประดาโลก และเป็นใหญ่ในแดนดิน
สัญญามีตรามั่น ก็จะเรียกกระดาษชิ้น
ละทิ้งธรรมะสิ้น เพราะอ้างคำว่าจำเป็น
หญิงชายและทารก ก็จะตกที่ลำเค็ญ
ถูกราญประหารเห็น บ่มิมีอะไรขวาง
ฝ่ายพวกอธรรมเหิม ก็จะเริ่มจะริทาง
ทำการประหารอย่าง ที่มนุษย์มิเคยใช้
ฝ่ายพวกที่รักธรรม ถึงจะคิดระอาใจ
ก็คงมิยอมให้ พวกอธรรมได้สมหวัง
จะชวนกันรวบรวม พลกาจกำลังขลัง
รวมทรัพย์สะพรึบพรั่ง เป็นสัมพันธไมตรี
ช่วยกันประจัญต่อ พวกอธรรมเสนี
เข้มแข็งคำแหงมี สุจริตธรรมะสนอง
ลงท้ายฝ่ายธรรมะ จะชนะดังใจปอง
อธรรมะคงต้อง ปราชัยเป็นแน่นอน
อันว่ามนุษย์โลก ยังโชคดีไม่ย่อหย่อน
อธรรมะราญรอน ก็ชำนะแต่ชั่วพัก
ภายหลังข้างฝ่ายธรรม จะชำนะประสิทธิ์ศักดิ์
เพราะธรรมะย่อมรักษ์ ผู้ประพฤติ ณ คลองธรรม
อันคำเราทำนาย ชนทั้งหลายจงจดจำ
จงมุ่งถนอมธรรม เถิดจะได้เจริญสุข
ถึงแม้อธรรมข่ม ขี่อารมณ์ให้มีทุกข์
ลงท้ายเมื่อหมดยุค ก็จะได้เกษมศานต์
ถือธรรมะผ่องใส จึ่งจะได้เป็นสุขสราญ
ถือธรรมะเที่ยงนาน ก็จะได้ไปสู่สวรรค์ ฯ
ฝ่ายฝูงสิริเทพกัญญา ก็โปรยบุปผา
มาเกลื่อน ณ พื้น ปัถพี
แล้วธรรมะเทพฤทธี ตรัสสั่งเสนีย์
ให้เคลื่อนขบวนโยธา
ลอยล่องฟ่องในเวลา ดำเนินเวียนขวา
ไปรอบทวีปชมพู ฯ

(เชิด)


ราม ร.

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์, สนามจันทร์, วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์, พ.ศ. ๒๔๖๑


 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก