คำนำ

นิทานเหล่านี้มีที่มาเดิมในหนังสือสํสกฤตชื่อ เวตาลปัญจวึศติ แปลว่า นิทาน ๒๕ เรื่องของเวตาล ซึ่งศิวทาสได้แต่งไว้แต่โบราณ แลโสมเทวะได้นำเอามารวมเข้าไว้ในกถาสริตสาครในราวครึ่งต้นแห่ง ๑๐๐ ปีที่ ๑๒ แห่งคฤศต์ศักราช ต่อมาในรหว่าง ค,ศ, ๑๗๑๙ กับ ค,ศ, ๑๗๔๙ พระราชากรุงชัยปุระตรัสให้มีผู้แปลนิทานเวตาลจากภาษาสํสกฤตเปนพ๎รัชภาษา[1] แล้วมีผู้แปลเปนฮินดี ภายหลังเรียกว่า ไพตาลปัจจีสี แลทั้งแปลเปนภาษาอินเดียอื่น ๆ แทบทุกภาษา

นิทานเวตาลทั้งฉบับสํสกฤตแลฉบับฮินดีได้มีคนอังกฤษแปลเปนภาษาอังกฤษ แลทั้งนายร้อยเอก เซอร์ อาร์. เอฟ. เบอร์ตัน ได้นำเอาเรื่องมาแต่งยักเยื้องไปตามสำนวนโวหารของเขาสำหรับให้คนอังกฤษอ่านอีกชั้นหนึ่ง แต่ไม่เต็มทั้ง ๒๕ เรื่อง ถ้าใครอ่านนิทานเวตาลในภาษาอังกฤษ อ่านฉบับของเบอร์ตันสนุกกว่าฉบับอื่น ถ้าจะเปรียบกับเครื่องเพ็ชร์พลอยที่ทำเปนวัตถุสำหรับประดับกาย ก็เหมือนกับพลอยแขกอย่างดีที่ช่างฝรั่งเอาไปฝังในเรือนทองคำที่มีรูปแลลายงดงามถูกตาผู้ดูที่มิใช่แขก ถึงผู้อ่านไม่ใช่ฝรั่งก็เห็นดีอย่างฝรั่งได้เพราะอ่านภาษาอังกฤษ

ส่วนฉบับภาษาไทยนี้ได้ใช้ฉบับเบอร์ตันเปนหลักในการเรียบเรียง ถ้าจะเอาเทียบกับฉบับที่แปลตรงมาจากสํสกฤตหรือฮินดีจะเห็นผิดกันมาก เพราะในฉบับอังกฤษสำนวน ความคิด แลโวหารเบอร์ตันปะปนอยู่ก็มากชั้นหนึ่งแล้ว ซ้ำในภาษาไทยมี น.ม.ส. ปนลงไปอีกชั้นหนึ่งเล่า อนึ่ง เรื่องในฉบับไทยนี้ บางเรื่องไม่มีในฉบับเบอร์ตัน บางเรื่องในสมุดของเบอร์ตันไม่ได้เอามาลงในหนังสือนี้.

ลายมือชื่อของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
คลองบางกอกใหญ่
กรุงเทพฯ วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๑

  1. Braj Bhasha. The diaclect of Braj, a form of Hindi spoken in the neighbourhood of Mathura and other parts of the north-western provinces. (H.H. Wilson)