นิราศท่าดินแดง/นิราศ
พระราชนิพนธ์นิราศท่าดินแดง
๏แสนรักสุดรักภิรมย์สมร |
ทุกอนงค์ทรงลักษณ์อันสุนทร |
สถาวรพูนสวาดิ์สวัสดี |
ประกอบศักดิสมบูรณ์จำรูญเนตร |
อัคเรศงอนงามจำเริญศรี |
แสนกระสันปั่นป่วนฤดีทวี |
มีมโนเสน่ห์น้อมถนอมนวล |
อันราคีมิให้เคืองระคางข้อง |
ปองประคองนิ่มเนื้อนวลสงวน |
หวังสวาดิ์มิรู้ขาดอารมณ์ครวญ |
เปนที่ชวนชูชื่นทุกอิริยา |
เกษมศุขภิรมย์สมสมาน |
เคยสำราญมิได้แรมนิราศา |
ไม่นิราศขาดชมสักเวลา |
บำเรอล้อมพร้อมหน้าไม่ราวัน |
นิจาเอ๋ยโอ้กรรมจึงจำไกล |
มาซ้ำให้ทุเรศร้างมไหสวรรย์ |
ก็เพราะมีอธิราชไภยัน |
เข้าหักหั่นด่านแดนบุรีรมย์ |
จึงต้องกรูกรีธาพลากร |
มาจำจรจากศุขเกษมสม |
สาระพัดสิ่งสวัสดิ์ที่เคยชม |
ก็นิยมให้วิโยคด้วยจำเปน |
เมื่อวันออกนาเวศทุเรศสถาน |
แสนสงสารสุดอาไลยใครจะเห็น |
พี่เคยทัศนาเจ้าทุกเช้าเย็น |
เพราะเกิดเข็ญจึงต้องละสละมา |
ครั้นถึงด่านดาลทเวศทวีถึง |
คนึงในให้หวนละห้อยหา |
ถึงนางนองเหมือนพี่นองชลนา |
ยิ่งอาทวาอาวรณ์สท้อนใจ |
ครั้นถึงโขลนทวาร[1] ยิ่งลานแล |
ให้หวาดแหวอารมณ์ดังจะล้มไข้ |
จนลุล่องคลองชลามหาไชย |
ย่านไกลสุดสายในตาแล |
เหมือนอกเราที่นิรามาทุเรศ |
เหลือสังเกตมุ่งหามาห่างแห |
รกำเดียวเปลี่ยวดิ้นฤดีแด |
จนล่วงกระแสสาครบุรีไป |
ลุสถานบ้านบ่อนาขวาง |
ให้อางขนางร้อนรนกระมลไหม้ |
ถึงย่านซื่อเหมือนพี่ซื่อสังวรใจ |
มิได้มีลำเอียงเที่ยงธรรม์ |
เมื่อถึงสามสิบสามคดแล้ว |
แคล้วแคล้วเหมือนจะกลับมารับขวัญ |
คล้ายคล้ายอัษฎงค์พระสุริยันต์ |
ก็บรรลุถึงคลองสุนักข์ใน |
พอชลาถอยถดลงลดฝั่ง |
เรือดั่งเคืองเขินไม่เดินได้ |
พลพายรายกันลงเข็นไป |
เหมือนเข็ญใจเคืองจิตรที่จากมา |
ครั้นเพลาสุริยาอรุณเรือง |
แสงประเทืองเบื้องบูรพ์ทิศา |
พอตกลึกแล้วให้ล่องนาวาคลา |
ประทับท่าเมืองสมุทบุรีรมย์ |
อันฝูงชนชาวบ้านย่านนั้น |
ผิวพรรณไม่รื่นรวยสวยสม |
ไม่เปนที่ชวนชื่นอารมณ์ชม |
ยิ่งเกรียบตรมสุดแสนรกำใจ |
ให้ปั่นป่วนหวนสวาดิประวัติหา |
จะดูใครไม่พาใจชื่นได้ |
จึงให้ออกนาวาคลาไคล |
รีบไปตามสายชลธี |
อันเรือหลังดั้งกันสิ้นทั้งหลาย |
ก็พายแซงแข่งขึ้นไปอึงมี่ |
โห่สนั่นครั่นครื้นทั้งนาวี |
มีแต่ความเกษมศุขไปทุกคน |
เสียงเส้าเร้าเร่งพลพาย |
เหมือนรักหมายสายสวาดิทุกขุมขน |
ให้อักอ่วนป่วนจิตรจลาจล |
ถึงตำบลบางกุ้งเปนคุ้งเลี้ยว |
ยิ่งลับไม้ไกลเนตรทุเรศสถาน |
ให้แดดาลหวั่นหวั่นกระสันเสียว |
ดังเอกามาแต่นาวาเดียว |
เปลี่ยวสวาดินิราศไร้ภิรมย์ชม |
มาถึงย่านนกแขวกแสกส่งเสียง |
ฟังสำเนียงถอนใจเพียงใจล่ม |
เคยยินเสียงประโคมขานสำราญรมย์ |
โอ้ครั้งนี้มาระงมแต่เสียงนก |
แสนทุเรศเวทนานิจาเอ๋ย |
นี่ใครเลยจะเลงเห็นในอก |
ได้ระกำช้ำใจมาหลายยก |
หวังจะป้องปิดปกให้พ้นไภย |
มิให้หมู่พาลาอาธรรม์ |
มาย่ำยีเขตรขัณฑ์บุรีได้ |
จึงสู้สละรักหักใจ |
มาทนเทวศอยู่ไกลเอกา |
ถึงบำหรุเหมือนพี่บำราศรัก |
ให้อักอ่วนครวญใคร่อาไลยหา |
ครั้นลุราชบุรีภิรมยา |
ที่อาทวาหักอารมณ์ค่อยสมประดี |
จึงรีบรัดจัดหมู่โยธา |
ให้อยู่รักษาบุรีศรี |
ครั้นอรุณเรืองแรงแสงรวี |
ก็จรลีนาเวศทุเรศจร |
ด่วนเดินทางโดยทางชลมารค |
แสนลำบากด้วยร้างแรมสมร |
กระหายหิวหวิวใจให้อาวรณ์ |
แต่ข้อนข้อนขุ่นเข็ญเปนนิรันดร์ |
ถึงท่าราบเหมือนพี่ทาบทรวงถวิล |
ยิ่งโดยดิ้นโหยหวนครวญกระสัน |
ด้วยได้ทุกข์ฉุกใจมาหลายวัน |
จนบรรลุเจ็ดเสมียนตำบลมา |
ลำลำจะใคร่เรียกเสมียนหมาย |
มารายทุกข์ที่ทุกข์คนึงหา |
จึงรีบเร่งนาเวศครรไลคลา |
พอทิวากรเยื้องจะสายัณห์ |
ก็ลุถึงวังศาลาท่าลาด |
ชายหาดทรายแดงดังแกล้งสรร |
จึงประทับแรมรั้งยังที่นั้น |
พอพักพวกพลขันธ์ให้สำราญ |
พรั่งพร้อมล้อมวงเปนหมู่หมวด |
ชาวมหาดตำรวจแลทวยหาญ |
เฝ้าแหนแน่นนันต์กราบกราน |
นุ่งห่มสครานจำเริญตา |
ต่างว่าจะเข้าโหมหักศึก |
ห้าวฮึกขอขันอาสา |
ไม่คิดกายขอถวายชีวา |
พร้อมหน้าถ้วนทั่วทุกตัวไป |
แต่ตริการที่จะผลาญอรินราช |
จนโอภาสแสงจันทร์จำรัสไข |
ให้ขุกคิดอาวรณ์สท้อนใจ |
ถึงอนงค์นางในไม่รู้วาย |
ด้วยเคยทอดทัศนาไม่รารัก |
ภิรมย์ภักตร์ร้องรำบำเรอถวาย |
บ้างเฝ้าแหนหมอบเมียงเรียงราย |
กรกรายโบกพัชนีพาน |
ยิ่งเร่าร้อนทอนทอดฤไทยทุกข์ |
เมื่อเคยศุขฤๅมาเสื่อมทุกสิ่งสมาน |
จนลืมหลงที่ดำรงดำริห์การ |
แต่เดือดดาลอารมณ์ไม่สมประดี |
จนเพลาสิบทุ่มยิ่งรุ่มร้อน |
ให้ยกพลนิกรออกจากที่ |
กระบวนทัพซับซ้อนมามากมี |
โห่มี่สเทือนก้องท้องวาริน |
ถึงม่วงชุมเหมือนเมื่อเคยประชุมเฝ้า |
ยิ่งร้อนเร่ารื้อกำหนัดประวัติถวิล |
ยามเสวยเคยเห็นเปนอาจิณ |
แดดิ้นถึงเนื้อวิมลมาลย์ |
แสนเทวศเสื่อมสิ้นสิ่งสวาดิ์ |
ด้วยนิราศแรมร้างห่างสถาน |
ถึงยามชื่นมิได้ชื่นสำราญบาน |
แต่นี้นานสวาดิเว้นไม่เห็นใคร |
ถึงปากแพรกซึ่งเปนที่ประชุมพล |
พร้อมพหลพลนิกรน้อยใหญ่ |
ค่ายคูเขื่อนขันธ์ทั้งนั้นไซ้ |
สารพัดแต่งไว้ทุกประการ |
จึงรีบรัดจัดโดยกระบวนทัพ |
สรรพด้วยพยุหทวยหาญ |
ทุกหมู่หมวดตรวจกันไว้พร้อมการ |
ครั้นได้ศุภวารเวลา |
ให้ยกขึ้นตามทางไทรโยคสถาน |
ทั้งบกเรือล้วนทหารอาสา |
จะสังหารอริราชพาลา |
อันสถิตย์อยู่ยังท่าดินแดง |
ครั้นเดือนสามวันแรมเก้าค่ำ |
ย่ำรุ่งสี่บาทอรุณแสง |
จึงให้ยกพหลรณแรง |
ล้วนกำแหงหาญเหี้ยมสงครามครัน |
ไปโดยพยุหบาตรรัถยา |
พลนาวาตามไปเปนหลั่นหลั่น |
สพรึบพร้อมน่าหลังดั้งกัน |
โห่สนั่นสเทือนท้องนทีธาร |
รีบเร่งพลพายให้เร่งพาย |
ฝืนสายชลเชี่ยวฉ่าฉาน |
ถึงตำแหน่งแก่งหลวงศิลาดาล |
ชลธารไหลเชี่ยวเปนเกลียวมา |
แต่จำเภาะเตราะตรอกซอกทาง |
แก่งเกาะขัดขวางอยู่หนักหนา |
แสนลำบากยากใจที่ไคลคลา |
ใครจะเห็นเวทนาบันดามี |
สองวันบรรลุถึงวังยาง |
คนึงวังอ้างว้างเกษมศรี |
เคยเปนศุขทุกทิวาราตรี |
โอ้ครานี้มีกรรมมาจำไกล |
ถึงบางลานยิ่งดาลทรวงสมร |
ให้ขุ่นข้อนอารมณ์หม่นไหม้ |
จึงเร่งรีบนาวาคลาไคล |
มาถึงไศลชลธีศีขรินทร์ |
สูงส่งตรงโตรกโดดเดี่ยว |
อยู่ริมสายชลเชี่ยวกระแสสินธุ์ |
พรายแพร้วดังแก้วแกมนิล |
ปักษินบินร้องร้องระงมไพร |
บ้างจับไม้รายเรียงบนเชิงเขา |
บ้างง่วงเหงาหาคู่พิศมัย |
นกเอ๋ยยังรู้มีอาไลย |
อกเราฤๅจะไม่เวทนา |
ครั้นบรรลุถึงศาลเทพารักษ์ |
อันพิทักษ์ปากน้ำประจำท่า |
มีแต่ศาลสันโดษอยู่เอกา |
คิดมาเหมือนอกพี่ที่จากจร |
เห็นอารักษ์แล้วคิดสังเวชจิตร |
มาไร้มิตรเหมือนพี่ร้างแรมสมร |
สารพัดจะวิบัติอนาทร |
แต่ร้อนแรมตามทางทุเรศมา |
ครั้นมาถึงวังนางตะเคียน |
พิศเพี้ยนมิ่งไม้ใบหนา |
คั่งเคียงเรียงเรียบริมชลา |
สาขารื่นร่มสำราญใจ |
ต้นไม้เปลาเปลาอยู่สล้าง |
เหมือนไม้กระถางวางเรียงงามไสว |
ชมพลางพลางรีบนาวาไป |
บรรลุล่วงมาได้หลายตำบล |
มาทางพลางแสนคนึงหา |
นัยนาแลลับไพรสณฑ์ |
ยิ่งแดดาลร่านร้อนทุรนทน |
จนลุดลเขาท้องไอยรารมย์ |
เปนช่องชั้นเชิงผาศิลาลาด |
รุกขชาติรื่นรวยสวยสม |
ไพจิตรพิศพรรณอยู่น่าชม |
ลมพัดพากลิ่นสุมาลย์มา |
มีท่อธารน้ำพุดุดั้น |
ตลอดลั่นไหลลงแต่ยอดผา |
เปนโปลงปล่องช่องชั้นบรรพตา |
เซนซ่าดังสายสุหร่ายริน |
บ้างเปนท่อแถวทางหว่างบรรพต |
เลี้ยวลดไหลมามิรู้สิ้น |
น้ำใสไหลซอกศิขรินทร์ |
แสนถวิลถึงสวาดิ์ไม่คลาศคลา |
เกษมศุขสรงสนานสำราญเริง |
บรรเทิงจิตรพิศวงหรรษา |
ชลอได้ก็จะใคร่ชลอมา |
ให้เปนที่ผาศุกทุกนางใน |
คิดเคยเมื่อเคยสรงสนาน |
สุธาธารทิพรศสดใส |
อันหอมหวนอวลอบสุมาไลย |
มาร้างไร้สุคนธกำจร |
เจ้าเคยถวายภูษาสุธาสรง |
อันบรรจงทิพรศเกสร |
เคยไพบูลย์ด้วยตรุณนิกร |
ทีนี้มาจำจรอยู่เอกา |
ชมเขาลำเนาพนาวาศ |
แสนสวาดิ์ไม่วายถวิลหา |
ถึงไทรโยคปลายแดนนัครา |
มิให้หยุดโยธาเร่งคลาไคล |
แต่เห็นทางท่าชลานั้น |
เปนเกาะแก่งขัดขั้นล้วนเนินไศล |
ยากที่นาวีจะหลีกไป |
จึงสั่งให้รอรั้งยั้งนาวา |
เร่งรีบคชสารอัศดร |
บทจรตามแถวแนวพฤษา |
ชมพรรณมิ่งไม้นานา |
บ้างทรงผลปนผกาเขียวขจี |
ลางต้นสาขาดูน่าชม |
รื่นร่มมิดแสงพระสุรศรี |
สดับเสียงปักษาสุวาที |
ลิงค่างบ่างชนีวิเวกดง |
เสนาะเสียงจักระจั่นสนั่นไพร |
แม่ม่ายลองไนในป่าระหง |
เรไรร้องหริ่งหริ่งอยู่ริมพง |
ส่งเสียงดังสำเนียงอนงค์นวล |
คิดคล้ายลม้ายเหมือนดนตรี |
จำเรียงรี่เรื่อยโรยโหยหวน |
ยิ่งซับซาบอาบชื่นอารมณ์ชวน |
กำสรวญว้าเหว่ทุเรโรย |
ฟังแต่เสียงสำเนียงนกวิหคร้อง |
วิเวกก้องเกริ่นไพรฤไทยโหย |
รุกขชาติแกว่งกวัดสบัดโบย |
ลมโชยคันธรศจรุงใจ |
ตวันรอนอ่อนแสงจะอัษฎงคต์ |
เหล่าจัตุรงค์เตรียมกายทั้งนายไพร่ |
แรมร้อนนอนแนวพนาไลย |
เขตรไศลป่าระหงดงดอน |
นอนเดียวเปลี่ยวเทวศทวีทุกข์ |
ไม่มีศุขเร่าร้อนสท้อนถอน |
แสงจันทร์ส่องสว่างกลางอัมพร |
ยิ่งอาวรณ์หวังสวาดิ์ไม่ขาดคิด |
วายุพัดพานดวงศศิธร |
เขจรจรบังเมฆมิดสนิท |
พิรุณโรยโปรยปรายใบไม้ชิด |
สท้านจิตรเจียนจักเปนไข้ใจ |
เย็นฉ่ำน้ำฟ้าลอองฝน |
มาทนเทวศครั้งนี้จะมีไหน |
ถึงทั้งหลายหนาวกายได้ผิงไฟ |
ไม่เหมือนพี่หนาวใจที่ในทรวง |
เห็นดาวดึกนึกหวนรัญจวนหา |
ในอุราเพียงทับด้วยเขาหลวง |
อันหาบหามที่เขาตามมาทั้งปวง |
ไม่หนักทรวงเหมือนพี่หนักอาไลยไกล |
เขาหนักหาบถึงที่ก็ได้พัก |
พี่หนักรักนี้ไม่ปลงเอาลงได้ |
มีแต่คอนข้อนทุกข์ทุกวันไป |
จะเห็นใจฤๅที่ใจการุญกัน |
แต่นอนนิ่งกลิ้งกลับไม่หลับสนิท |
ยิ่งคิดคิดก็ยิ่งโทมนัศสันต์ |
จนอรุณเรืองศรีระวีวรรณ |
จึงให้ยกพลขันธ์ยาตรา |
ออกจากเนินผาศิลาพนัศ |
เร่งรัดทวยหาญทั้งซ้ายขวา |
ไปตามแนวแถวในพนาวา |
พอสุริยาสายัณห์ลงรอนรอน |
ก็ถึงด่านท่าขนุนโดยหมาย |
ให้ตั้งค่ายตามเชิงศิขร |
แล้วรีบเร่งพหลพลนิกร |
ทั้งลาวมอญเขมรไทยเข้าโจมตี |
ทัพพม่าอยู่ยังท่าดินแดง |
แต่งค่ายรายไว้เปนถ้วนถี่ |
ทั้งเสบียงอาหารสารพันมี |
ดังสร้างสรรค์ธานีทุกประการ |
มีทั้งพ่อค้ามาขาย |
ร้านรายกระท่อมพลทุกสถาน |
ด้านหลังท่าทางวางตะพาน |
ตามลหานห้วยน้ำทุกตำบล |
ร้อยเส้นมีฉางระหว่างค่าย |
ถ่ายเสบียงมาไว้ทุกแห่งหน |
แล้วแต่งกองร้อยอยู่คอยคน |
จนตำบลสามสบครบครัน |
อันค่ายคูประตูหอรบ |
ตบแต่งสาระพัดเปนที่มั่น |
ทั้งขวากหนามเขื่อนคูป้องกัน |
เปนชั้นชั้นอันดับมากมาย |
ให้ทหารเข้าหักโหมโรมรัน |
สามวันพวกพม่าก็พังพ่าย |
แตกยับกระจัดพลัดพราย |
ทั้งค่ายคอยน้อยใหญ่ไม่ต่อดี |
ให้ติดตามไปจนแม่กษัตร |
เหล่าพม่ารีบรัดลัดหนี |
บ้างก็ตายก่ายกองในปัถพี |
ด้วยเดชะบารมีที่ทำมา |
ตั้งใจจะอุประถัมภก |
ยอยกพระพุทธสาสนา |
จะป้องกันขอบขัณฑสิมา |
รักษาประชาชนแลมนตรี |
จะบำรุงทั้งฝูงสุรางค์รัก |
ให้อัคเรศเปนศุขจำเริญศรี |
ครั้นเสร็จการผลาญราชไพรี |
ก็ให้กรีธาทัพกลับมา |
ทั้งทิวาราตรีไม่หยุดหย่อน |
ด้วยอาวรณ์ทนเทวศถวิลหา |
แสนคนึงถึงสวาดิ์ไม่คลาศคลา |
แต่พร่ำปรารภนั้นเปนอาจิณ |
จิตรเจ็บจะขาดด้วยนิราศรศ |
จะอดไว้ก็สุดอาไลยถวิล |
อันบำราบรบราชไพริน |
ถึงจะไร้ศรศิลป์ที่ชิงไชย |
ก็พอจะพยายามตามตี |
ให้ชนะไพรีจงได้ |
จะสู้สงครามรักนี้หนักใจ |
ด้วยไร้ศรรศสวาดิ์จะราวี |
อันแสนศึกทั้งหลายก็พ่ายแพ้ |
ยากแต่จะรบรักให้หน่ายหนี |
ที่ลำบากแต่หลังในครั้งนี้ |
สุดที่จะปรับทุกข์กับผู้ใด |
อันฝูงสุรางค์นางทั้งหลาย |
ยังค่อยอยู่ศุขสบายฤๅไฉน |
ฤๅในจิตรคิดอ่านประการใด |
อย่าอำไว้จงแจ้งแต่จริงเอย ฯ |
จบพระราชนิพนธ์
- ↑ ที่ตั้งโขลนทวารครั้งนั้น ว่า อยู่ตรงวัดไทร อำเภอบางขุนเทียร จังหวัดธนบุรี