บันทึกรับสั่งฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล/เรื่อง 7

เรื่อง ศาลาสหทัยสมาคม

เหตุ ที่ถามเพื่อรู้ถึงประวัติของสิ่งก่อสร้างในพระบรมมหาราชวัง

ปัญหา ศาลาสหทัยในพระบรมมหาราชวังนั้นสร้างขึ้นเมื่อไร เพื่อประโยชน์อันใด

ตอบ ศาลาสหทัยสมาคมนั้นเป็นคลับทหารของฮอลันดาอยู่ที่เมืองบะเตเวีย ยังอยู่จนเดี๋ยวนี้ เรียกว่า คลับคองคอเดีย เขารับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อเสด็จประพาสชะวาครั้งแรก โปรดมาก เมื่อเสด็จกลับมา เป็นเวลากำลังจะตั้งกรมมหาดเล็ก จึงสร้างคลับคองคอเดียขึ้น ถ่ายแบบตามอย่างของเดิมที่เมืองบะเตเวีย และเรียกว่า หอคองคอเดีย อย่างที่เรียกที่เมืองบะเตเวีย ขึ้นอยู่ในกรมมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ ใช้เป็นที่รับแขกเมือง มีงานเต้นรำสโมสรสันนิบาต ต่อมาใช้เป็นราชพิพิธภัณฑสถาน

บันทึก เรื่อง ศาลาสหทัยสมาคม
ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรม
พระยานริศรานุวัติวงศ์ ประทานพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๘๕
ธานี

ดูรูปเขียนที่วัดราชประดิษฐ์เห็นเป็นเรื่องบวชนาคหลวงตรงศาลาสหทัยที่เธอถาม ดูตามที่ตาจะอำนวยได้ เห็นทีว่า โรงจากปะอยู่ข้างนอก หลังคากระเบื้องจีนอยู่ข้างใน ได้รำลึกชาติถึงเมื่อเล็ก ๆ นึกได้ว่า พระบรมรูปสี่พระองค์ซึ่งกาไหล่ทองอันตั้งอยู่ที่หอพระเทพบิดรเดี๋ยวนี้ กาไหล่ที่นั่น ที่นั่นเป็นโรงหล่อประจำในพระบรมมหาราชวัง แต่จะใช้เพียงโรงจากหรือไปถึงเพียงโรงมุงกระเบื้องจีนด้วยก็จำไม่ได้ แต่คงไม่มีการหล่อเสมอ จะมีหล่อก็แต่สิ่งที่โปรด เวลาไม่มีหล่อ คงทิ้งว่าง คงเป็นเพราะเหตุนั้น จึงสร้างเป็นตึกฝรั่ง เป็นแน่ว่า ในรัชกาลที่ ๕ แต่เดิมเป็นเฉลียงรอบเสาเล็ก ๆ เขาว่า พระยาเพ็ชรพิชัยทำ พระยาเพ็ชรพิชัยคนนั้นจะชื่ออะไรไม่ทราบ คือคนที่ได้เป็นราชทูตไทยไปอยู่เมืองนอก และมีบอกเป็นคำฉันท์ในกล่อมช้างเผือกตัวใดตัวหนึ่ง จำได้ว่า

"หอคงคอเดียดู ตระหง่านเงื้อมยยงฉาย
เสาหานระยะราย รเรียบรอบเฉลียงยล
เป็นที่ประชุมใหญ่ ปฤกษาราชกิจยล
รับต่างประเทศชน ชุมนุมเลี้ยงภุชาหาร"

ทีหลัง ทำแก้เป็นหอพระสมุดวชิรญาณ แต่แก้ทำอะไรเพิ่มเติมเพียงห้องข้างในเท่านั้น มีตู้สองชั้น มีเล่าเต๊งอย่างฝรั่งประกอบขึ้นเป็นต้น ต่อมาภายหลัง ยกหอพระสมุดวชิรญาณออกมาจากในพระบรมมหาราชวัง เข้าใจว่า รื้อตู้เวลานั้น แล้วจ้างนายกรัซซี ช่างก่อสร้างชาวอิตาเลียนผู้มีชื่อเสียง ให้ก่อสร้างแก้ใหม่ แต่แก้ก็แก้ไม่ทั่ว ทำแต่เสาเฉลียงให้ใหญ่ขึ้นเป็นสี่มุข นอกนั้น ก่อเป็นผนัง ส่วนห้องข้างในนั้น คงอยู่ที่ว่า ในรัชกาลที่ ๕ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ จำได้ว่า นายมันเฟรดีเป็นผู้ทำ แต่ไม่ได้แก้อะไรที่ตัวตึก เป็นแต่แต่งพื้นใหม่ ในการนั้น พระราชทานชื่อเป็น ศาลาสหทัยสมาคม แต่ก็ไม่เห็นใช้อะไรนอกจากขึ้นปีใหม่และเฉลิมพระชนมพรรษา จัดเป็นที่ประชุมเซ็นชื่อ แต่ดูเหมือนจะตกมาเป็นรัชชกาลที่ ๗ แล้ว เดี๋ยวนี้ จัดตั้งของเป็นราชพิพิธภัณฑ์ นึกได้เท่านี้

นริศ
วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕

อาว์ไม่ได้คิดเลยว่า ชื่อ ศาลาสหทัย นั้น จะทรงผูกตามคำ "คองคอร์ด" ที่ชื่อเก่าเรียก "หอคงคเดีย" นั้น อาว์ก็กราบทูลขึ้นไปเอง แต่ไม่ทราบว่า ทรงผูกตามชื่อเก่า เธอบอกให้ทราบทั้งทางที่ทรงผูกด้วยนั้นดีอย่างยิ่ง สิ่งที่ไม่รู้ก็ได้รู้ขึ้น เป็นการต่อความรู้

ในรัชชกาลที่ ๖ ทำอะไรในที่นั้นบ้าง ก็นึกไม่ออก นึกได้แต่พิธีแรกนาว่า ทำที่นั่นแน่ เลี้ยงการแซยิดเจ้าคุณพระประยูรวงศื ก็จำได้แต่ว่า มีเลี้ยง แต่จะเป็นที่ไหน จำไม่ได้ ในการเต้นรำ ก็สำคัญใจว่า เป็นรัชกาลที่ ๗ ส่วนการประชุมฝิ่น ประชุมองคมนตรี ทั้งการเลี้ยงแขกเมืองพิเศษ มีละครให้ดูนั้น เป็นรัชชกาลที่ ๗ แน่ ชะรอยจะทรงพระราชดำริว่า ว่างอยู่ ก็ใช้เสียบ้าง

นริศ