ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๗ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๕

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)



ประกาศของคณะปฏิวัติ

ฉบับที่ ๓๗[1]
_______________



โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ทำความตกลงกับองค์การดังกล่าวตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทย ลงนามเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ซึ่งกำหนดให้ประเทศไทยให้เอกสิทธิและความคุ้มกันดังที่ระบุไว้ ในการนี้จำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อดำเนินการตามความตกลงนั้น หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์

(๑) ให้ยอมรับนับถือว่า องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย

(๒) ให้องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้แทนของรัฐสมาชิก ผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่ขององค์การหรือพนักงานใดๆ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ทำการแทนผู้อำนวยการ พนักงานระหว่างประเทศ พนักงานอื่นๆ ของสำนักงานใหญ่ขององค์การ รวมตลอดถึงผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อสำนักงานใหญ่ขององค์การ ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทย ลงนามเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ทั้งนี้ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยหรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อ ๒  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

ข้อ ๓  ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป



ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
จอมพล ถ. กิตติขจร

หัวหน้าคณะปฏิวัติ

ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทย

กับ

องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทย

ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๗ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

_______________

รัฐบาลแห่งประเทศไทย

(ซึ่งต่อไปในความตกลงนี้เรียกว่า “รัฐบาล”)

และ

องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(ซึ่งต่อไปในความตกลงนี้เรียกว่า “องค์การ”)

_______________

โดยคำนึงถึงความปรารถนาขององค์การรัฐมนตรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะจัดตั้งสำนักงานใหญ่ (ซึ่งต่อไปในความตกลงนี้เรียกว่า “ซีเมส”) ขึ้นในกรุงเทพฯ ในประเทศไทย และเพื่อที่จะให้ความสะดวกแก่การปฏิบัติการหน้าที่ของสำนักงานใหญ่อย่างมีประสิทธิผล รัฐบาลกับองค์การจึงได้ทำความตกลงกันดังต่อไปนี้

ข้อ ๑

รัฐบาลยอมรับนับถือสภาพนิติบุคคล และความสามารถขององค์การที่จะ

ก) ทำสัญญา

ข) ได้มาและจำหน่ายซึ่งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์

ค) เป็นคู่กรณีในการดำเนินคดีของศาล

ข้อ ๒

๑) รัฐบาลให้โดยไม่คิดมูลค่าแก่องค์การ และองค์การรับนับแต่วันที่เริ่มใช้บังคับ และชั่วอายุของความตกลงนี้ ซึ่งการใช้และครอบครองที่ที่จัดให้ เริ่มแรกในสถานที่ส่วนหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ จนกว่าจะถึงเวลาที่ได้สร้างสถานที่ขึ้นใหม่ เพื่อการใช้ของซีเมส และการใช้สิ่งติดตั้ง เครื่องเรือนและบริภัณฑ์ประจำสำนักงานซึ่งมีอยู่ ณ สถานที่นั้น ตลอดจนความสะดวกอื่นๆ ด้วย สถานที่ สิ่งติดตั้ง บริภัณฑ์ และเครื่องเรือนเช่นว่านั้น ตลอดจนความสะดวกอื่นๆ จะได้ทำความตกลงกันในรายละเอียดต่อไประหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องกับองค์การ

๒) ในส่วนที่เกี่ยวกับซีเมส และสิ่งติดตั้ง ณ สถานที่นั้นซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดหาให้

ก) เว้นแต่ในกรณีความผิดเนื่องมาจากองค์การรัฐบาลจะรับผิดชอบสำหรับค่าซ่อมแซมรายใหญ่ๆ ที่มีลักษณะไม่เกิดเสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ่อมแซมความเสียหายอันเกิดจากอัคคีภัย เหตุสุดวิสัย ข้อบกพร่อง หรือการเสื่อมสภาพในทางโครงสร้าง และจะรับผิดชอบสำหรับการหาสิ่งติดตั้งเช่นว่านั้นมาแทน เมื่อและหากจำเป็นและสำหรับการหาอาคารใดๆ หรือส่วนแห่งอาคารนั้นในซีเมสซึ่งอาจถูกทำลายไปทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนมาแทน

ข) องค์การจะรับผิดชอบสำหรับการซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ ทุกรายเพื่อการทนุบำรุงและรักษาส่วนของสถานที่ที่ซีเมสได้ครอบครองอยู่

ข้อ ๓

๑) รัฐบาลยอมรับนับถือความละเมิดมิได้ของซีเมส เจ้าพนักงานหรือข้าราชการของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ตุลาการ ทหารหรือตำรวจ จะเข้ามาในซีเมสเพื่อปฏิบัติหน้าที่ราชการใด ๆ ในที่นั้นมิได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมและเป็นไปตามเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการซีเมส ได้ตกลงด้วยแล้ว

๒) เจ้าหน้าที่ของไทยที่เหมาะสมจะใช้ความพยายามอันควรที่จะรับรองว่าความสงบสุขของซีเมสจะไม่ถูกรบกวนจากบุคคลหรือคณะบุคคลที่พยายามจะเข้ามาโดยมิได้รับอำนาจหรือก่อความไม่สงบขึ้นในบริเวณใกล้ชิดกับซีเมส

๓) หากได้รับการขอร้องจากซีเมส เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของไทยที่เหมาะสมจะจัดตำรวจมีจำนวนเพียงพอเพื่อรักษากฎหมายและความสงบในซีเมส และเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดออกไปจากที่นั้น

๔) องค์การจะป้องกันมิให้ใช้ซีเมสเป็นที่ลี้ภัยของบุคคลผู้หลบหนีการจับกุมตามกฎหมายใดๆ ของประเทศไทย หรือผู้ซึ่งรัฐบาลต้องการตัวเพื่อการส่งข้ามแดนไปยังอีกประเทศหนึ่ง หรือผู้ที่พยายามจะหลีกเลี่ยงไม่รับกระบวนการทางกฎหมายหรือการดำเนินคดีของศาล

ข้อ ๔

บรรณสารของซีเมส และโดยทั่วไป เอกสารทั้งปวงที่เป็นของซีเมส จะถูกละเมิดมิได้ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด

ข้อ ๕

รัฐบาลรับที่จะรับรองว่า องค์การจะได้รับบริการสาธารณะที่จำเป็น และจะได้อุปโภคผลประติบัติเช่นเดียวกับองค์การระหว่างประเทศอื่นที่ตั้งอยู่ในประเทศ สำหรับการสื่อสารเป็นทางการขององค์การ

ข้อ ๖

ตามมูลฐานแห่งการไม่ค้ากำไร สินทรัพย์ รายได้และทรัพย์สินอื่นขององค์การจะได้รับยกเว้น

ก) จากการเก็บภาษีอากรทางตรงไม่ว่าในรูปใด อย่างไรก็ตาม องค์การจะไม่เรียกร้องให้มีการยกเว้นภาษี ซึ่งอันที่จริงมิได้มากไปกว่าค่าภาระเพื่อบริการสาธารณูปโภค

ข) จากศุลกากรและภาษีใดๆ นอกเหนือจากค่าบริการที่ได้ให้ และจากข้อห้ามและข้อกำกัดใดๆ ในเรื่องการนำเข้าและส่งออกในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งของที่องค์การนำเข้าหรือส่งออกเพื่อการใช้เป็นทางการขององค์การ โดยเป็นที่เข้าใจกันว่าสิ่งของที่นำเข้าโดยได้รับยกเว้นเช่นว่านี้ หากได้ใช้เพื่อความมุ่งประสงค์อย่างอื่น หรือได้จำหน่ายไปในภายหลัง หรือได้โอนไปภายในประเทศไทยให้แก่บุคคลอื่นใดซึ่งไม่มีสิทธิได้รับการยกเว้น สิ่งของนั้นๆ จะอยู่ในบังคับแห่งศุลกากรและภาษีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

ค) รัฐบาลจะให้ส่วนแบ่งสำหรับน้ำมันและน้ำมันหล่อลื่นสำหรับยานพาหนะที่ซีเมสจำเป็นต้องใช้อย่างเป็นทางการในปริมาณและอัตราที่ให้แก่คณะทูตานุทูตในประเทศไทย

ข้อ ๗

โดยไม่อยู่ในบังคับแห่งการควบคุมทางการเงิน ข้อบังคับหรือคำสั่งประวิงการชำระหนี้ใดๆ องค์การอาจ

ก) รับและถือครองกองทุนและเงินตราต่างประเทศทุกชนิด และดำเนินการทางบัญชีเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศทุกสกุล

ข) โอนกองทุน และเงินตราต่างประเทศขององค์การภายในประเทศไทยและจากประเทศไทยไปยังอีกประเทศหนึ่งได้โดยเสรี

ในการใช้สิทธิขององค์การตามข้อนี้ องค์การจะรับฟังข้อทักท้วงใดๆ ที่มีมาจากรัฐบาลเท่าที่จะให้ผลตามข้อทักท้วงเช่นว่านั้นได้ โดยไม่เสียผลประโยชน์ขององค์การ

ข้อ ๘

รัฐบาลจะให้การตรวจลงตราซึ่งอาจจำเป็นในการเข้าประเทศไทยโดยไม่คิดค่าธรรมเนียมแก่บุคคลดังต่อไปนี้

ก) ผู้แทนของรัฐสมาชิก

ข) พนักงานของซีเมส คู่สมรส และบุตรที่พึ่งพิงตน

ค) บุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ซีเมส

ข้อ ๙

ผู้แทนของรัฐสมาชิกซึ่งมีส่วนร่วมในงานขององค์การหรือในการประชุมใดๆ ซึ่งอาจเรียกประชุมโดยองค์การ ณ ที่ทำงาน จะมีสิทธิได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันในอาณาเขตประเทศไทยขณะปฏิบัติการหน้าที่ของตน และระหว่างการเดินทางไปยังและมาจากที่ทำงานเช่นเดียวกับที่ได้ประสาทให้แก่สมาชิกของคณะทูตานุทูตในชั้นที่เทียบกันได้

เอกสิทธิและความคุ้มกันที่ระบุไว้ข้างต้นจะไม่ขยายไปถึงบุคคลที่มีสัญชาติไทย

ข้อ ๑๐

๑. ผู้อำนวยการซีเมส หรือพนักงานใดๆ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ทำการแทนผู้อำนวยการจะได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันในระหว่างพำนักอยู่ในประเทศไทย เช่นเดียวกับสมาชิกของคณะทูตานุทูตในชั้นที่เทียบกันได้

๒. บุคคลที่กล่าวถึงในวรรค ๑ ของข้อนี้ ถ้ามีสัญชาติไทยจะไม่เรียกร้องความ คุ้มกันในศาลไทยในส่วนการดำเนินคดีของศาลเกี่ยวกับเรื่องใดๆ ที่อยู่นอกหน้าที่เป็นทางการของบุคคลนั้นๆ

ข้อ ๑๑

ความคุ้มกันซึ่งบัญญัติไว้ในข้อ ๙ และ ๑๐ ได้ประสาทให้ก็เพื่อผลประโยชน์ขององค์การและมิใช่เพื่อคุณประโยชน์ส่วนตัวของปัจเจกบุคคลนั้นๆ เอง ความคุ้มกันเช่นว่านั้นอาจสละเสียได้โดยรัฐบาลของรัฐที่เกี่ยวข้องในส่วนที่เกี่ยวกับผู้แทนและโดยคณะมนตรีรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อำนวยการ

ข้อ ๑๒

๑) พนักงานระหว่างประเทศซึ่งมีชื่อส่งไปและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ของไทยที่เหมาะสมแล้ว จัก

ก) ได้รับความคุ้มกันจากกระบวนการทางกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรมทั้งปวงที่พนักงานนั้นได้ปฏิบัติไปในการปฏิบัติการหน้าที่เป็นทางการของตน (รวมถึงถ้อยคำที่ได้กล่าวหรือได้เขียนด้วย)

ข) ได้รับยกเว้นจากภาษีทางตรงทั้งปวงสำหรับเงินเดือนและรายได้ ซึ่งองค์การได้จ่ายให้

ค) ได้รับยกเว้นพร้อมทั้งคู่สมรสและบุตรที่พึ่งพิงตนจากข้อกำกัดในการเข้าเมืองและการจดทะเบียนคนต่างด้าว

ง) ได้รับความสะดวกในส่วนที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเช่นเดียวกันกับที่ได้ให้แก่สมาชิกของคณะทูตานุทูตที่อยู่ในประเทศในชั้นที่เทียบกันได้

จ) ได้รับความสะดวกพร้อมทั้งคู่สมรสและบุตรที่พึ่งพิงตนในการกลับประเทศ ในขณะมีวิกฤติกาลระหว่างประเทศเช่นเดียวกันกับที่ได้ประสาทให้แก่สมาชิกของคณะทูตานุทูตที่ประจำอยู่ในประเทศไทย

ฉ) ได้รับยกเว้นจากศุลกากรสำหรับสิ่งของซึ่งได้นำเข้าภายในหกเดือนหลังจากได้เดินทางมาถึงครั้งแรกเพื่อเข้ารับหน้าที่ในประเทศไทย หรือหลังจากที่ความตกลงนี้เริ่มมีผลบังคับ แล้วแต่กรณีใดจะเกิดทีหลัง ได้แก่

๑. ของใช้ส่วนตัว

๒. ของใช้ในครัวเรือน

๓. ยานยนต์หนึ่งคันสำหรับพนักงานคนหนึ่งในบังคับแห่งข้อบังคับเกี่ยวกับการนำรถยนต์เข้า การโอน และการเปลี่ยนรถยนต์ดังที่ใช้บังคับแก่สมาชิกของคณะทูตที่อยู่ในประเทศในชั้นที่เทียบกันได้

๒) พนักงานอื่นๆ ของซีเมสจะได้รับเอกสิทธิตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑ (ข), (ค) และ (ฉ) ๑ - ๒

ข้อ ๑๓

ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษานอกจากพนักงานของซีเมสผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อซีเมสจักได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันดังที่ระบุไว้ในข้อ ๑๒ วรรค ๑, เว้นแต่เอกสิทธิและความคุ้มกันใน (ฉ) ๒ - ๓

ข้อ ๑๔

๑) ชื่อของพนักงานและบุคคลที่กล่าวถึงในข้อ ๑๒ และ ๑๓ จะได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ของไทยที่เหมาะสมเป็นครั้งคราว

๒) พนักงานทั้งปวงของซีเมสจะได้รับบัตรประจำตัวพิเศษรับรองว่าเป็นพนักงานของซีเมส ผู้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันดังที่ระบุไว้ในความตกลงนี้

ข้อ ๑๕

ผู้อำนวยการซีเมสตกลงจะสละความคุ้มกันของพนักงานหรือบุคคลใด ที่อ้างถึงในข้อ ๑๒ และ ๑๓ ในกรณีใดๆ ที่ความคุ้มกันเช่นว่านั้นจะขัดขวางกระบวนความยุติธรรมและอาจสละเสียได้โดยไม่เสียหายต่อผลประโยชน์ของซีเมส

ข้อ ๑๖

ซีเมสและพนักงานของซีเมสจะร่วมมือในทุกโอกาสกับเจ้าหน้าที่ของไทยที่เหมาะสม ในการให้ความสะดวกแก่การรักษาความยุติธรรมที่ถูกต้อง ประกันการปฏิบัติตามข้อบังคับของตำรวจและป้องกันมิให้เกิดการใช้ในทางที่ผิดอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับเอกสิทธิและความคุ้มกันที่ได้ให้ไว้ในความตกลงนี้

ข้อ ๑๗

ความตกลงนี้จะเริ่มมีผลบังคับในวันที่สามสิบหลังจากการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารโดยรัฐบาลกับตราสารให้ความเห็นชอบโดยองค์การแล้ว

ความตกลงนี้และความตกลงเพิ่มใดๆ ที่ได้กระทำกันระหว่างรัฐบาลกับองค์การโดยอนุวัตตามความตกลงนี้จะเลิกใช้บังคับเมื่อครบสิบสองเดือน หลังจากที่รัฐบาลหรือองค์การฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบความตกลงใจของตนที่จะเลิกความตกลงนี้

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้แทนซึ่งได้รับอำนาจจากรัฐบาลและองค์การผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ได้ลงนามความตกลงนี้

ทำคู่กันเป็นสองฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ณ กรุงเทพฯ วันที่เก้าเดือนตุลาคม พุทธศักราชสองพันห้าร้อยสิบสาม ตรงกับคริสต์ศักราชหนึ่งพันเก้าร้อยเจ็ดสิบ

สำหรับรัฐบาลแห่งประเทศไทย                       สำหรับองค์การ

พลตำรวจตรี ส. กิตติขจร                        พลเอก น. เขมะโยธิน

(สง่า กิตติขจร)                                (เนตร เขมะโยธิน)

รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ รักษาราชการแทน                ผู้อำนวยการองค์การซีเมส

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ     

รับรองว่าเป็นคำแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง

บุญถิ่น อัตถากร

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ใช้อำนาจของ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๓ มกราคม ๒๕๑๕

ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"